ช่วงนี้ขอเขียนเกี่ยวกับการลงทุนแบบ Active บ้าง ซึ่งซีรีส์นี้น่าจะเป็นซีรีส์สุดท้ายแล้ว หลังจากที่เขียนบล็อกมานานหลายปี คิดว่าน่าจะถ่ายทอดสิ่งที่อยากเล่าไปค่อนข้างจะครบถ้วนแล้ว หลังจากซีรีส์นี้ คงไม่มีความถี่ในการออกบทความที่แน่นอนเหมือนเก่า แต่จะเขียนเมื่อมีเรื่องที่อยากเล่ามากกว่า (ไว้เขียนซีรีส์นี้จบค่อยว่ากันอีกที)
ไหนๆ ถ้านักลงทุนสักคนหนึ่งจะเลือกลงทุนแบบ Active แล้ว ก็แสดงว่า เขาไม่ได้เชื่อว่าการเล่นหุ้นควรเป็นไปตามกฎเกณฑ์หรือวิธีการที่ตายตัว แต่เปลี่ยนแปลงไปตามโอกาสและสถานการณ์ได้ การลงทุนแนว Active จีงมักต้องมีระดับของความ subjective สูงโดยปริยาย กล่าวคือ ขึ้นอยู่กับวิจารญาณ การใช้ดุลยพินิจ เป็นการลงทุนที่ต้องพึงพา judgement ของผู้ลงทุนมากกว่าการลงทุนแบบ Passive ดังนั้นการเขียนถึงการลงทุนแบบ Active ให้ได้แบบครบถ้วนชัดเจนจึงเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะยากอยู่ แต่ถึงกระนั้น ผมเชื่อว่าคนที่ลงทุน Active ส่วนใหญ่จะต้องมีกฎอะไรบางอย่างที่กรอบหลวมๆ ที่คอยกำกับการใช้ดุลยพินิจด้วย คงไม่มีใครใช้ Free thinking เอาทั้งหมด เพราะนั่นดูเหมือนเล่นมั่วมากกว่า
โดยส่วนตัว เวลาผมลงทุนแบบ Active ผมก็ยังมีกฎส่วนตัวที่เป็นกรอบที่มาจำกัดการใช้ดุลยพินิจอยู่ด้วยเหมือนกัน
ประการแรก ไม่ว่าผมจะใช้ดุลยพินิจแล้วเกิดความมั่นใจกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากขนาดไหน ผมก็จะไม่ใช้เงินทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อซื้อหุ้นตัวนั้นแน่นอน เพราะยังไงๆ ดุลยพินิจของเราก็ผิดได้เสมอ คำพูดทำนองว่า “ถ้าเจอหุ้นแบบโคคาโคล่า ก็ให้เอาขายบ้านเอาเงินทั้งหมดมาซื้อ” ทำนองนี้ ใครจะเชื่อก็ไม่ว่ากัน แต่ผมไม่เชื่อเด็ดขาด ไม่มีอะไรที่ชัวร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ในตลาดหุ้น ดังนั้น อย่างมากที่สุด ผมก็คงซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งไม่เกิน 30% ของพอร์ตเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่แล้วจะต้องน้อยกว่านั้นอีก เช่นแค่ 10-15% เผื่อต้องซื้อเพิ่มในอนาคตจะได้ยังมีโควต้าเหลืออยู่ และถ้าซื้อถึง 30% แล้วยังลงต่อ ผมก็ไม่ซื้อเพิ่มอีกเด็ดขาด ต่อให้ยังมั่นใจอยู่ก็ตาม ถ้าอยากได้ผลตอบแทนต่อปีสูงๆ ก็ต้องหาหุ้นที่มีอัพไซด์สูงๆ หลายตัวมาแบ่งเงินลงทุนให้ได้ ไม่ทุ่มกับหุ้นอัพไซด์สูงๆ แค่หนึ่งตัวแน่นอน ไม่ว่าจะมั่นใจขนาดไหน เราผิดได้เสมอ
ประการที่สอง ไม่ซื้อหรือขายหุ้นบ่อยเกินไป ต่อให้การลงทุนแบบ Active เป็นการลงทุนที่มักหวังทำกำไรเพิ่มขึ้นจากการ Buy low Sell high ก็ตาม แต่ถึงกระนั้น ก็จะไม่ซื้อๆ ขายๆ บ่อยมากจนเกินไป ไม่ใช่เพราะว่ากลัวเปลืองค่าคอมฯ แต่เพราะว่า Overtrading คืออุปสรรคที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น คนเรามักอยู่เฉยๆ ไม่ค่อยได้ ทำให้มักเทรดโดยไม่จำเป็น บางทีเราก็จะมโนไปเองว่าหุ้นกำลังจะลง แต่ขายไปแล้วก็ขึ้นต่ออยู่บ่อยๆ
ใน 10 ครั้งที่คุณคิดว่าต้องขายหุ้น ให้ทำเฉพาะครั้งที่คิดว่าจำเป็นจริงๆ เหลือแค่ 2-3 ครั้งก็พอแล้ว นี่เป็นวิธีที่จะช่วยทำให้คุณได้ผลตอบแทนดีขึ้นได้อย่างน่าประหลาด การเล่นหุ้นแบบ Day-Trading นั้น ยากมากที่จะได้กำไรในระยะยาว ระยะเวลาถือหุ้น 6 เดือน – 3 ปีต่อตัวนั้น ถือเป็นช่วงที่ค่อนข้างโอเค ถ้าหากเป็นธุรกิจที่แข็งแกร่งจริงๆ ก็ถือได้ยาวกว่านั้นอีก
ประการที่สาม เป็น bias ส่วนตัวของผมที่จะจำกัด Universe ของการลงทุนไว้แต่เฉพาะหุ้นที่มีพื้นฐานปานกลางจนถึงดี เท่านั้น วิธีนี้ช่วยลดการขาดทุนได้ เพราะต่อให้เราคิดผิดหรือซื้อแพงไป ความเสียหายก็มักจะไม่รุนแรงมากนัก หรือถ้าใช้วิธีทนถือต่อไป โอกาสที่จะกลับมาใหม่ได้ก็มีสูง เพราะว่าเป็นธุรกิจที่มีพื้นฐานที่แข็งแรง การลงทุนของเราจึงมี downside risk ต่ำกว่านักลงทุนทั่วไปในตลาด คนที่เล่นหุ้นทุกตัวในตลาดซึ่งรวมไปถึงหุ้นปั่นหรือพวกบริษัทที่ใกล้เจ๊ง เวลาคิดผิดขึ้นมา ความเสียหายจะรุนแรงมากๆ และมักจะถาวรด้วย
โอกาสที่มี upside ปานกลางแต่ downside ต่ำจริงๆ แล้วดีกว่าโอกาสที่ upside สูงและ downside ก็สูงด้วย ปีเตอร์ ลินซ์บอกว่า หุ้นเติบโตและหุ้นกลับตัวเป็นหุ้นสองจำพวกที่ทำให้คุณมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงๆ แต่โดยส่วนตัวผมนิยมหุ้นเติบโตอย่างเดียวเท่านั้น เพราะหุ้นกลับตัวสำหรับผมแล้วมี downside risk ที่สูงมากครับ มีคำพูดหนึ่งที่บอกว่า แค่เราดูแล downside ของพอร์ตเราให้ดี upside จะจัดการตัวของมันให้เราเอง ถือเป็นคติพจน์ที่ดีสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นเลยครับ
ใครที่มีกรอบสามประการนี้ครอบดุลยพินิจของตัวเองอีกที ผมเชื่อว่า พอร์ต Active ของเขาจะเป็นพอร์ตที่มีความปลอดภัยและมีผลตอบแทนที่ยั่งยืนอย่างแน่นอน ส่วนการใช้ดุลยพินิจในการเลือกหุ้น หรือการตัดสินใจว่าจะซื้อหรือขายหุ้นของแต่ละคนนั้น จะมีวิธีการ หลักการ ลัทธิ หรือแม้แต่ใช้ความรู้สึกส่วนตัวอย่างไร ผมกลับไม่ว่ามันไม่ได้สำคัญมากนัก แค่มีกรอบสามประการนี้ คุณสามารถสนุกกับการเลือกหรือซื้อขายหุ้นของคุณได้เลยด้วยซ้ำ
ขอบคุณมากคร้บน่าเสียดายคร้บถ้าคุณนรินไม่เขียน
เพิ่มสมัครสมาชิกได้วันเดียว พี่สุมาอี้จะเลิกเขียนแล้วเหรอครับ T_T
ก็ยังเขียนต่อครับ เพียงแต่ความถี่จะไม่แน่นอนเหมือนที่ผ่านมาแล้ว ถ้ามีเรื่องอยากเล่าค่อยเอามาเล่าครับ
กฎ 3 ข้อ เยี่ยมมากครับ
รออ่านเสมอครับ
ได้อะไรเสมอในบทความของพี่ครับ 🙂
30%ของพอร์ตพี่โจ๊ก นี่ต้นทุน หรือ ยอดสุทธิครับ
ถ้าต้นทุน ต้นทุนของพี่คิดจากเงินทุนก้อนแรกเลย หรือปรับต้นทุนทุกปี เพราะทุกปีต้องทำการสรุปยอดกำไรขาดทุน
30% ของมูลค่าพอร์ตรวม ณ เวลานั้นๆ ครับ (mark-to-market)
รบกวนพูด เงินสด ด้วยนะ
แก้ไข * รบกวนพูดเรื่อง เงินสด ในพอร์ต ด้วยนะครับ
จัดไปครับ ในตอนที่ 3
ขอบคุณครับ
ได้อ่านบทความของคุณสุมาอี้มานานหลายปีแล้ว ผมคิดว่าแนวทางการลงทุนที่คุณสุมาอี้แนะนำต่อพวกเรา มีประโยชน์อย่างมากมาตลอดเลยครับ และผมคิดว่าแนวทางการลงทุนของคุณสุมาอี้เองก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยเช่นกันครับ
ขอบคุณครับ
พี่โจ๊กคะ การทำ rebalancing ในพอร์ต active (ขายเฉพาะส่วนกำไร) มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้างคะ
ปล.รออ่านบทความพี่เสมอค่า :))
กลัวว่าทำแบบนั้น สุดท้ายจะเหลือแต่หุ้นติดตัวแดงเต็มพอร์ต
รออ่านอยู่เสมอครับ
ขอถามเพิ่มหน่อยครับ สำหรับพอร์ต active ควรมีจุด Stop Loss ไว้ไหมครับ ไว้เป็นการกำหนด downside ของพอร์ตไปในตัว
คงขึ้นอยู่กับเล่นแบบไหน คาดหวังอะไรด้วย แต่ถ้าหากฟังความเห็นของ Lynch เขาไม่ค่อยเห็นด้วยกับการ cut loss เพราะตลาดหุ้นทุกวันนี้ผันผวนมาก ถ้ากำหนดจุด cut loss ไว้ มีโอกาสได้ cut loss ทุกตัวแน่ เขาเห็นว่าถ้าเรากระจายหุ้นพอสมควรแล้ว ก็ไม่ควรพึ่งพาการ cut loss อีก
ดังนั้น คนที่กระจายหุ้นน้อย หรือมีการซื้อเฉลี่ยขาลง ก็ควรจะ cut loss เพราะไม่มีการกระจายหุ้นมาช่วยลดความเสี่ยงมากพอ
เขียนแบบ active ให้อ่านเยอะๆครับ รอเพิ่มความรู้จากผู้รู้
ขอบคุณครับ
คุณสุมาอี้ครับ ช่วงเวลาหลังจากที่ลินซ์วางมือไป เขาไม่ได้เขียนบทความ หรือ ให้สัมภาษณ์อะไรเลยหรือครับ
จำได้ว่าหลังจากวางมือมีเขียนให้นิตยสารหนึ่งนะครับ แต่ไม่แน่ใจว่าถึงเดี๋ยวนี้ยังเขียนอยู่รึเปล่า
ช่วงหลังๆ เจอบทสัมภาษณ์ของลินซ์อยู่บ้าง นานๆ ที แต่ดูเหมือนตอนหลังจะทำมูลนิธิอะไรสักอย่าง มักพูดเรื่องมูลนิธิมากกว่า
ผมชอบอ่านบทความของคุณนรินทร์มากนะครับ แต่อยากถามเพิ่มเติมว่าหนังสือที่เลิกพิมพ์แล้วยังมีโอกาสกลับมาพิมพ์จำหน่ายอีกไหมครับ เพราะบางเล่มก็ยังน่าอ่านอยู่เลยครับ
โอกาสมีน้อยครับ เพราะว่าเลิกทำหนังสือเล่มแล้ว คงเหลือแต่เวอร์ชั่นอีบุ้คใน Ookbee App เท่านั้น
อ่านๆไป log out ประจำแล้วก็เข้าไม่ใด้ มันเป็นอะไรเหรอครับ
มัน ขึ้น ที่หน้า profile personal option อะครับ
มันมี bug บางอย่างที่ผมหาไม่เจออยู่ เกิดขึ้นกับบางเครื่องเท่านั้น ถ้าเป็นไปได้ลองใช้เบราเซอร์ตัวอื่น หรือเครื่องอื่นเข้าแทนครับ
คือพอรต์ส่วนตัวของพี่ ไม่ลงทุนหุ้น Turnaround หรือหุ้นพวกวัฏจักรใช่ป้าวครับ?
-ขอบคุณครับ ^^
ใช่ครับ ไม่ถนัดเลย
คุณนรินทร์ใช่คนเดียวกับ WildRabbit ในเว็บ Pantip ไหมครับ แล้วใช้นามแฝง สุมาอี้ ไหมครับ
ไม่ใช่ครับ
พี่กระต่ายป่าอายุมากกว่าคุณสุมาอี้ประมาณ20ปีครับ
สรุปคุณนรินทร์คือคุณสุมาอี้ใช่ไหมครับ ผมสับสนนิดหน่อยน่ะครับ
ผมใช้ชื่อ สุมาอี้ สมัยที่โพสต์ใน thaivi ก็เลยถูกเรียกชื่อนี้มาตลอด แต่เป็นคนละคนกับสุมาอี้ในห้องสินธรครับ ชื่อ สุมาอี้ เป็นชื่อที่ใครๆ ก็คงเอาไปใช้ก็ได้
ขอบคุณครับเป็นบทความที่เยี่ยมเจงๆ
พี่โจ๊กเป็นไอดอลในการลงทุนของผม พอร์ทกระจ้อยร่อยน้อยนิดของกระผมและภรรยา เติบโตได้ตามที่คาดหวัง ส่วนใหญ่ (เกินกว่า ๘๐%) มาจากการติดตามแนวคิดเรื่องการลงทุนที่พี่โจ๊กเขียนในช่วง ๓-๔ ปีหลัง เลยอยากแสดงขอบคุณมา ณ ที่นี้ครับ (ถึงแม้ว่าพี่โจ๊กจะเขียนน้อยลง แฟนคลับคนนี้ขอติดตามอ่านเรื่อยๆ ไปนะครับ ^^)
บทความนี้เหมือนจะคล้ายๆ กับแนะนำว่า portfolio management จะสำคัญมากกว่า knowledge ใดๆเลยนะครับ
เพราะว่าเราไม่สามารถวิเคราะห์ได้ถูกต้องตลอดเวลา การบริหารความผิดพลาดจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก
ขอถามเพิ่มหน่อยค่ะ ถ้าเราใช้ ebit เป็นตัววัดการเติบโต ค่า pe ใช้ ebit ต่อหุ้น ได้หรือเปล่า
ขอบคุณค่ะ ^^
ไม่ค่อยดีครับ เพราะว่า EBIT เป็นของทั้งเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้น
ใช้ EBIT ประมาณการเติบโตไปในอนาคต แต่วัดมูลค่าคงต้องใช้วิธีอื่นเช่น P/E หรือ DCF เอา
ขอรบกวนสอบถามเกี่ยวกับ PEG ในการลงทุนของพี่ ในบทความ Active investing #2 นะครับ พอดีไม่มีช่องให้คอมเม้นท์ ^^
พี่โจ๊กเคยซื้อหุ้นที่ P/E 30 เท่ารึป่าวครับ? เพราะเราต้องมองไปในอนาคต ว่าระยะยาวกำไรต้องโตได้ถึง 30% (ใช้ PEG) เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3-5 ปี ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่จะทำได้อย่างต่อเนื่อง …อย่างหุ้นกลุ่มพวกโรงพยาบาล หรือค้าปลีก เทรดที่ P/E 30 เท่า หรือเกินตลอดเวลา ทั้งๆที่หลายๆปี กำไรก็ไม่ได้โต 30% ได้ต่อเนื่องหลายๆปี แต่เหมือนนักลงทุนก็ยังให้พรีเมียมอยู่ จากคุณภาพของกำไรที่ดีและมั่นคง
ขอบคุณมากๆครับพี่ ^^
P/E 30 เท่า ก็ต้องมี Growth Story รองรับที่ชัดเจนมาก ถึงจะกล้าซื้อ
อย่างการโตด้วย M&A ถ้าหากเรามั่นใจในความรอบคอบของบริษัท เราก็สามารถซื้อที่ 30 เท่า ได้ เพราะว่า การเติบโตจะมาค่อนข้างไว
Test
ขอถามคุณนรินทร์เพิ่มเติมค่ะ ในหนังสือวัดมูลค่าฯ PEG ตัว growth ไม่แน่ใจว่าเป็น growth 12 เดือนที่ผ่านมา หรือ 3- 5 ปี forcast อ่ะค่ะ
ขอบคุณมากๆค่ะ ^^
สมมุติ pe 10.75 growth เฉลี่ยต่อปี 20 % peg จะเป็น 10.75/.20 = 53 ถูกรึเปล่า
thank you very much ค่ะ
20% ควรเป็น 20% ต่อปี เฉลี่ย 3 ปีข้างหน้า หรือ เท่ากับ โตได้ 73% ภายในสามปี
73% คิดอย่างไร คะ ไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกหรือเปล่าค่ะคือ peg มาจาก pe/อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (เฺฉลี่ย 3 ปีข้างหน้า)
ขอบคุณค่ะ ^_^
1.2 x 1.2 x 1.2 = 1.728 krub > 72.8% in 3 years
พอเข้าใจแล้วค่ะ ขอบคุณมาก ^_^
เรียนคุณนรินทร์ค่ะ แสดงว่าค่า peg เราเอาไว้เปรียบเทียบหุ้น 2 ตัว ที่มีค่า pe ต่างๆ ว่าตัวใหนมีราคาแพงกว่า ส่วนหุ้นตัวใดควรซื้อหรือไม่ก็ต้องดู pe
คุณนรินทร์ครับ ในกรณีของห้างค้าปลีกที่ยังมีการขยายสาขาอยู่ ถ้างบการเงินออกมาว่า
1. ยอดขายยังเพิ่มขึ้น แต่ อัตรากำไรขั้นต้นกลับลดลง ลักษณะนี้เรา ควร ติดตามดูไปอีกซักกี่ไตรมาสดีครับ
ในงบกำไรขาดทุน ถ้ามี รายการค่าใช้จ่ายทางการเงินเกิิดขึ้น แสดงว่า บ. มีการกู้เงิน หรือ ออกหุ้นกู้ ? มีเทคนิคดู ค่าใช้จ่ายดังกล่าวว่าแนวโน้ม จะเป็นในลักษณะอย่างไรได้บ้างครับ เช่น ตัวเลขที่ทรงตัว หรือเพิ่มขึ้นไปเรือยๆ
ถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจกลับสู่ปกติเมื่อไรก็ควรจะกลับมาโตได้
ค่าใช้จ่ายทางการเงินก็คือดอกเบี้ยจ่ายนั่นเอง ปกติแทบทุกบริษัทก็ต้องมีหนี้บางส่วนอยู่แล้วอย่างน้อยก็วงเงิน O/D กับแบงก์ ก็ต้องมีดอกเบี้ยจ่าย แต่ตัวเลขนี้คงไม่ต้องไปดูแนวโน้ม