on Active Investing #2

หลักการหนึ่งที่ใช้เป็นหลักของนักลงทุนแนว Value Investing คือ ซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่ากิจการที่ประเมินได้ เวลาปฏิบัติจริง หลักการข้อนี้ มีความ Subjective ค่อนข้างสูง เพราะมูลค่ากิจการที่ประเมินได้ของแต่ละคนนั้น ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน

บางคนประเมินมูลค่าจากปัจจัยพื้นฐานระยะสั้น เช่น แผนธุรกิจของปีหน้า เพื่อ Forecast EPS ปีหน้า แล้วหา Forward PE ที่เหมาะสม หรือบางคนก็อาจจะประเมินจากปัจจัยพื้นฐานระยะยาว เช่น ดู Durable Competitive Advantage และหรือ Megatrend แล้วกำหนด P/E ที่เหมาะสมขึ้นมา เป็นต้น ซึ่งก็แน่นอนว่า ไม่จำเป็นต้องออกมาเท่ากัน 

หุ้นรับเหมาที่กำลังรอผลประมูลโปรเจ็คใหญ่ อาจจะมี P/E ที่เหมาะสมในระยะสั้นที่ 40-50 เท่าเลยก็ได้ ถ้าหากโปรเจ็คนั้นใหญ่กว่าขนาดของบริษัทมากๆ และบริษัทมีโอกาสสูงที่จะได้งาน ในขณะที่ คนที่มองพื้นฐานระยะยาว หุ้นรับเหมาอาจจะมี P/E ที่เหมาะสมแค่ 7 เท่าเท่านั้น ไม่ว่าจะมีงานใหญ่รออยู่หรือไม่ เพราะในระยะยาวแล้ว เราไม่รู้เลยว่า บริษัทจะมีลุ้นงานใหญ่เช่นนี้ทุกปีหรือเปล่า นักลงทุนระยะสั้น กลาง และยาว จึงให้ราคาหุ้นที่เหมาะสมไม่เหมือนกัน (อย่างไรก็ตาม ระยะหวังผลกับปัจจัยพื้นฐานที่เลือกใช้ ก็ควรจะสอดคล้องกัน)

นักลงทุนควรตระหนักว่า มูลค่าเหมาะสม (intrinsic value) ของกิจการนั้น ไม่ใช่อะไรที่มีค่าที่แน่นอนค่าหนึ่งอยู่จริงๆ แต่เป็นค่าที่ขึ้นอยู่กับสมมติฐาน และโมเดล ที่นักลงทุนแต่ละคนใช้  แน่นอนว่า คนที่มีข้อมูลที่ดีกว่าย่อมประเมินค่าได้สมเหตุสมผลกว่า แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามีคำตอบที่ถูกอยู่ ฉะนั้น บางครั้งเราอาจไม่จำเป็นต้องซีเรียสกับมูลค่าที่เหมาะสมมากนัก เช่น ไม่จำเป็นต้องคิดละเอียดถึงจุดทศนิยม หรือ อาจคิดออกมาเป็นช่วงราคาก็ได้ รวมทั้งอาจคิดออกมาเป็นหลายๆ ค่า แต่ละค่าแทนแต่ละ scenario ก็ได้ด้วย สิ่งนี้จึงมีความเป็นศิลป์ไม่น้อยกว่าศาสตร์ และเราไม่อาจคาดหวังว่าเราจะประเมินมูลค่าหุ้นได้แม่นยำกับหุ้นทุกตัว แต่ถ้าคุณวัดมูลค่าหุ้นได้ดีมีเหตุมีผล ผลลัพธ์ของทั้งพอร์ตโดยเฉลี่ยก็น่าจะออกมาดีกว่าคนที่วัดได้แย่ 

ธุรกิจขึ้นอยู่กับทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้ ปัจจัยที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ และที่คาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ ดังนั้น ไม่ว่าเราจะวัดมูลค่าจากปัจจัยที่คาดการณ์ล่วงหน้าทั้งหมดได้อย่างครบถ้วนแม่นยำมากแค่ไหน สุดท้ายแล้ว ก็ยังต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยที่คาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้อีกส่วนหนึ่ง นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เราไม่มีความจำเป็นต้องวัดมูลค่าหุ้นให้ละเอียดถี่ยิบขนาดจุดทศนิยม เพราะสุดท้ายแล้วความไม่แน่นอนก็จะมาทำให้มันผิดเพี้ยนไปอีกอยู่ดี วิธีที่ไม่ละเอียดยิบ แต่ว่าจับประเด็นที่เป็นประเด็นสำคัญของธุรกิจนั้นๆ ได้ตรงจุดมากกว่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า

ในการลงทุน สุดท้ายแล้วเรามักจะพบเสมอว่า ตัวที่เรามั่นใจกับมันสุดๆ จริงๆ กลับทำผลงานได้ธรรมดาๆ แต่บางตัวที่เราแค่คิดว่ามันพอใช้ได้ เอามาเสริมพอร์ตให้เกิดการกระจายเฉยๆ อาจสร้างผลตอบแทนให้เราได้ดีมากจนเหนือความคาดหมาย กรณีแบบนี้เป็นเรื่องปกติมากสำหรับการลงทุนในหุ้น อย่าคาดหวังว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะตรงกับที่เราคิดทั้งหมด 

ในการวัดมูลค่าหุ้นโดยส่วนตัวแล้วผมใช้ PEG ratio เป็นตัววัดมูลค่าบ่อยที่สุด เช่น ธุรกิจแบบนี้น่าจะเติบโตได้ปีละเท่าไรในระยะยาว (เช่น 3-5 ปีติดต่อกัน) ถ้าโตได้แค่ 10% ผมก็ให้ PE แค่ 10 เท่า ถ้าคิดว่าโตได้ 20% พีอี 20 เท่าผมก็ซื้อ (อย่าลืมตรวจเช็คด้วยว่า กำไรที่เราเห็นในปีปัจจุบันเป็นกำไรปกติหรือไม่) วิธีนี้เพียงพอสำหรับกรณีการวัดมูลค่าของหุ้นส่วนใหญ่ แต่เราต้องลงทุนกับหุ้น 4-5 ตัวขึ้นไปเสมอ เพื่อถัวเฉลี่ยความไม่แน่นอนที่เราประเมินล่วงหน้าไม่ได้ครับ  

CategoriesDG

18 Replies to “on Active Investing #2”

  1. “ในการลงทุน สุดท้ายแล้วเรามักพบว่า ตัวที่เรามั่นใจสุด กลับทำผลงานได้ธรรมดาๆ แต่ตัวที่เอามาเสริมพอร์ตเฉยๆ ให้เกิดการกระจายกลับสร้างผลงานได้ดีเหนือความคาดหมาย”
    เป็นเหมือนอย่างที่ลินบอกไว้จริงๆครับ ผมเจอเป็นประจำเลย ยังดี ที่ตัวที่มั่นใจ ยังไม่เคยลงเกิน 20% ของพอรต ไม่งั้นคงฉุดผลตอบแทนลงหลุม ทีตัวที่มองแล้วไม่น่าดีเท่าๆไร ซื้อเล็กๆน้อยๆ หลายๆครั้งกลับวิ่งเอาๆ
    บางครั้งถึงเราซื้อหุ้นที่ตั้งใจแกะมาว่าดีมาก แต่ถ้าคนเค้าไม่เห็นด้วยกับเราเป็นเวลานานมากๆ มันก็ไม่ขึ้นซักทีครับ

  2. หุ้นพลังงานทางเลือกช่วงนี้ กำไรอาจจะโตเยอะในช่วง2 -3ปีข้างหน้า แบบนี้จะยอมซื้อในพี อี ที่สูงกว่าปกติได้ไหมครับ ขอบคุณครับ

    1. ถ้ามีโรงไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอยู่ ก็สามารถประมาณรายได้ในอนาคตได้ ก็หา forward P/E ซื้อที่ราคาสูงได้ครับ

  3. หุ้นรับเหมาที่มีโอกาสได้งานโปรเจคใหญ่ P/E 40-50 เท่านี่หมายถึง Current PE หรือเปล่าครับ เพราะ หากคิด Forward PE ต้องเอา EPS ปีถัดไปมาคิด ซึ่งกำไรน่าจะโตมาก ทำให้เมื่อหารราคาปัจจุบันแล้ว Forward PE ต้องต่ำลงมามาก ไม่แน่ใจว่าผมเข้าใจถูกต้องไหมครับ

  4. ขอบคุณครับ

    ผมก็พบเหมือนกันว่า หุ้นที่ไม่ค่อยมีน้ำหนักในพอร์ต ราคากลับวิ่งไปเร็วกว่า ตัวที่เป็นหลักๆของพอร์ตเสียอีกครับ

  5. บางทีตัวที่เราคาดไม่ถึงว่าจะดีกลับดีเหลือเชื่อนะครับ

  6. สวัสดีครับ
    อยากจะสอบถามว่าที่คุณโจ๊กบอกว่า ควรลงทุนใน 4-5 ตัวนี่ โดยปกติแล้วเราควรกระจายหุ้นหนึ่งตัวคนละเป็นคนละกลุ่มอุตสาหกรรมกัน ใช่ไหมครับ
    ขอบคุณครับ

  7. ในย่อหน้าสุดท้ายที่กล่าวถึงค่า PEG ค่า G นี่คืออัตราการเติบโตของกำไรสุทธิหรือครับ

  8. การคำนวณหาforward pe ไม่ทราบมีวิธียังไงครับ
    ใช่ตรงที่บอกว่า (ถ้าใน3-5ปี) หากกำไรโต10% ให้forward pe=10
    ถ้ากำไรโต20% ให้forward pe =20 หรือเปล่าครับ

    ขอบคุณมากครับ

  9. ขอบคุณสำหรับคำตอบข้างบนครับ

    พอดีผมไปอ่านเพิ่มเติมจากหนังสือ”วัดมูลค่าหุ้นด้วยตัวคุณเอง”ของพี่

    จากตารางในหน้า158 เรื่อง วิธีคิดค่าพีอีเรโชที่เหมาะสมเมื่อคำนึงถึงอัตราการเติบโตและ roe ของบริษัท

    เช่น ถ้า roe=10%และมีgrowthเฉลี่ย5ปีข้างหน้าที่20% จะมีforward peที่เหมาะสม(โชว์ในตาราง)ที่10.4

    มีสูตรหรือวิธีคิดมาอย่างไรครับ อยากให้ยกตัวอย่างวิธีคิดด้วยครับ เผื่อจะได้ไปปรับใช้เองได้ครับ

    ขอบคุณมากครับ
    โอ

  10. ผมสนใจข้อมูลที่คุณนรินทร์เขียน อยากจะจัดอบรมให้แก่นักลงทุน คุณนรินทร์สนใจไหมครับ 094-1192492 เอ็ม

    1. เดี๋ยวนี้เลิกทำงานสอน การขึ้นเวที งานพูด หมดแล้วครับ ชอบเขียนอย่างเดียว

Comments are closed.