Skip to content

112: 0405: การออมเพื่อเกษียณต้องออมในหุ้นด้วยเสมอ

แนวคิดออมเงินเพื่อให้เกษียณได้อย่างสุขสบาย สำหรับคนธรรมดาทั่วไป ที่ไม่ได้เกิดคาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิดนั้น ดูเหมือนจะต้องออมโดยมีเงินออมส่วนหนึ่งอยู่ในตลาดหุ้นด้วยเท่าน้ัน มิฉะนั้นจะเป็นเรื่องที่ไม่มีทางเป็นไปได้เลย ผมจะลองคำนวณให้ดูเป็นตัวอย่างนะครับ

ผมจะลองสมมติตัวอย่างของ Typical Person คนหนึ่ง ที่จบปริญญาตรี แล้วก็ทำงานในองค์กรเอกชนไปเรื่อยๆ ตั้งแต่อายุ 22 ยัน 60 ปี และตำแหน่งสุดท้ายในองค์กรคือ mid-level manager นะครับ

เรื่องนี้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสมมติฐานว่าต้องพยายามทำให้ realistic ที่สุด เริ่มต้นด้วยเงินเดือน Start ซึ่งผมตั้งไว้ที่ 10, 000 บาท ซึ่งน่าจะพอเป็นไปได้สำหรับ คนจบปริญญาตรี เริ่มทำงานเมื่ออายุ 22 และเกษียณเมื่ออายุ 60 ก็แสดงว่า Mr.Typical มีเวลาออมเงิน 38 ปีนะครับ

สมมติฐานต่อมาที่ยากคือ อัตราการขึ้นเงินเดือนตลอดช่วงวัยทำงาน ในช่วงชีวิตของคนเรามักขึ้นเงินเดือนเป็นขั้นๆ ไม่ใช่อัตราที่คงที่ทุกปี เช่นปีไหนในขีวิตที่ได้เลื่อนตำแหน่ง ก็อาจจะได้ขึ้นเยอะหน่อย แต่ปีอื่นๆ ก็คงขึ้นแบบทีละนิด ทำให้การใส่สมมติฐานค่อนข้างยุ่งยาก อย่างไรก็ตาม ผมเลือกใช้วิธีใส่อัตราการขึ้นเงินเดือนแบบคงที่ที่ 6% ต่อปีดู แล้วเช็คดูว่า เงินเดือนสุดท้ายตอนที่เกษียณจะเป็นเท่าไร สมเหตุผลรึเปล่า ปรากฏว่า ตอน 60 Mr.Typical จะได้เงินเดือนประมาณ 91, 500 บาท ซึ่งก็ถือว่าสมเหตุผลสำหรับผู้จัดการ เมื่อผมลอง cross check ดูจากพวกแบบสำรวจเงินเดือนนะครับ

ตำราการเงินมักแนะนำว่า คนเราควรออมเงินหนึ่งในสามของรายได้ทุกเดือน ดังนั้น Mr.Typical ของเราก็จะกันเงินเดือนไว้ 1 ใน 3 ของทุกปีตลอดชีวิตเพื่อการออมเพื่อวัยเกษียณ ตามคำแนะนำทางการเงินเปี๊ยบ

ทีนี้ลองมาตั้งเป้าหมายสุดท้ายดูว่า เขาควรมีเงินเก็บเท่าไรเมื่อถึงปีเกษียณ ตามตำราเขาบอกว่า คนเราควรมี passive income เท่ากับ 50% ของเงินเดือนสุดท้าย นั่นก็คือประมาณ 45, 750 บาท จึงจะเกษียณได้อย่างมั่นคง ถ้าเช่นนั้น สมมติว่าเมื่อ Mr.Typical อายุครบ 60 เขาจะย้ายเงินออมทั้งหมดที่ได้ของเขา (ไม่ว่าเขาจะออมไว้ที่ไหนมาก่อน) เข้าพันธบัตรรัฐบาลให้หมด เพื่อความมั่นคงสูงสุด ในวัยที่ทำงานหนักไม่ไหวแล้ว แล้วก็รอรับดอกเบี้ยจากพันธบัตรให้ได้เท่ากับ 45, 750 บาทต่อเดือน พอดี

เป้าหมายนี้จะต้องมีการกำหนดสมมติฐานเรื่องอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรด้วย ซึ่งการคาดเดาอัตราดอกเบี้ยในเวลานั้นคงเป็นเรื่องยากเกินคาดการณ์ แต่คิดว่าร้อยละ 3% ต่อปี น่าจะสมเหตุผมและอนุรักษ์มากพอ ลองคำนวณกลับเข้าไปจะได้ว่า เมื่ออายุ 60 ปี Mr.Typical จะต้องมีเงินออมประมาณ 18.3 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อพันธบัตร เขาจึงจะมี passive income 45750 บาทต่อเดือน ตามเป้าหมายที่ต้องการนี้ได้

ได้สมมติฐานทุกอย่างมาครบแล้ว ลองใช้ Excel คำนวณดูโดยใช้สูตร IRR จะพบว่า ในการออมเงิน 38 ปี ตามแผนนั้น Mr.Typical จะต้องทำผลตอบแทนของเงินออมเฉลี่ยให้ได้ 7.5% ต่อปี ถึงจะบรรลุเป้าหมายการเงินได้

ตัวเลขผลตอบแทนเฉลี่ย 7.5% ต่อปีนี้ นับว่าไม่มีทางเป็นไปได้เลยสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ เพราะฉะนั้น แนวคิดเรื่องการออมเงินเพื่อวัยเกษียณจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีการออมเงินส่วนหนึ่งไว้ในตลาดหุ้นด้วยเท่านั้น ถือเป็น a must สำหรับ typical person ทุกคนเลยครับ อาจไม่จำเป็นต้องออมไว้ในหุ้นทั้งหมด แต่อย่างน้อยจะต้องมีส่วนหนึ่งเสมอ เพื่อให้เฉลี่ยผลตอบแทนของทั้งพอร์ตแล้วได้ 7.5% ต่อปี ตามเป้าหมาย

โปรดสังเกตว่า เวลาทดสอบสมมติฐาน ผมไม่ได้คำนึงถึงเรื่องเงินเฟ้อเลย ซึ่งทำได้ครับ เพราะเป้าหมายที่เรากำหนดก็มองเป็นมูลค่าเงินในปัจจุบันด้วยเหมือนกัน (ได้ดอกเบี้ยเดือนละ 4 หมื่นกว่าบาทน่าจะพอใช้สำหรับมูลค่าเงินสมัยนี้) ในการวางแผนการออมจึงใช้เป็นค่าเงินปัจจุบันด้วยนะครับ ไม่ผิดครับ

ส่วนใครบังเอิญเริ่มต้นออมช้าหรือฐานเงินเดือนต่ำกว่า Mr.Typical ก็คงต้องเพิ่มสัดส่วนการออมต่อเดือนให้มากหน่อย ถ้าใครจะลอง plug-in สมมติฐานใหม่ให้ตรงกับของกรณีของตัวเองดู ก็ลองดาวน์โหลดไฟล์ Excel ของผมไปดูได้นะครับ

15 thoughts on “112: 0405: การออมเพื่อเกษียณต้องออมในหุ้นด้วยเสมอ”

  1. property fund คือคำตอบครับ 7.5 %

    ปัญหาของ PVD คือเงินเข้าปรับขึ้นเรื่อยๆตามอายุ เเต่ return ที่ใช้เป็น เฉลี่ย

  2. ไม่มีเอาเงินเฟ้อ มาคิดด้วยเลยครับ

    เมื่อ 10 ก่อน ผมซื้ิอข้าวจานละ 20 ตอนนี้ 30 บาทครับ

    1. ไม่ต้องสนเงินเฟ้อครับ เพราะว่าเป้าที่ตั้งไว้ตอน 60 คิดเป็นกำลังซื้อปัจจุบันเหมือนกัน

      ถ้าเป้าที่ตั้งไว้คิดเป็นกำลังซื้ออนาคต ถึงจะต้องคิดเงินเฟ้อด้วย

  3. ผมมีข้อสงสัยนิดนึงครับว่าในการคิดเงินเพื่อใช้ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ถึงมักคิดแบบใช้เงินจากดอกเพียงอย่างเดียว ไม่ใช้เงินต้นเลยครับ
    (หรือว่าต้องการเก็บเงินต้นให้ลูกหลานเป็นมรดก หรือถึงยังไงตอนนั้นคงมีเหตุเจ็บป่วยจนต้องใช้เงินก้อนใหญ่อยู่ดี เลยเก็บเงินต้นเป็นหลักประกันไว้ก่อน (อันนี้ถ้าทำประกันสุขภาพก็น่าจะลดความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง รึเปล่า?)

    ถ้าผมสมมุติว่าอายุยืน 100 ปี แล้วคำนวนว่า ณ เดือนสุดท้ายของปีนั้น ผมจะใช้เงินจากดอก+ต้นจนเกือบหมด (อาจเหลือไว้บ้างก็ได้ เช่น ประมาณ 10-20% ของเงินต้น เพื่ออะไรก็แล้วแต่) จะเป็นโมเดลที่ประหลาดไปมั้ยครับ

    1. ก็น่าจะได้ ถ้าแน่ใจว่าอยู่ไม่ถึง 100 ปี

      การตั้งเป้าว่าจะไม่แตะเงินต้นเลยคงเป็นโมเดลแบบ conservative

      และอย่าลืมว่าต้องเผื่อกรณีที่ผลตอบแทนจริงทำได้ต่ำกว่าเป้าด้วย เช่น คำนวณว่าต้องให้ได้ X% แต่ทำได้แค่ X-1% หรือ X-2% จึงอาจต้องตั้งเป้าเผื่อไว้สักระดับหนึ่งด้วย

  4. เยี่ยมครับ ท่านแม่ทัพ เป็นการคำนวณทางวิทยาศาสตร์มากๆ หลายๆคนจะได้ตาสว่างว่าการออมในหุ้นสำคัญเพียงใด
    เสริมเล็กน้อย…ในโมเดล ลืมหักค่าภาษีรึเปล่าครับ สมมติฐานอีกข้อคือ Mr.Typical ต้องไม่จ่ายภาษีเลยด้วยเลย???

  5. ขอบคุณมากครับที่อธิบาย

    ผมเข้าใจว่า ko_hisashi อาจจะหมายถึงเงินเฟ้อหลังอายุ 60 รึเปล่าครับ เช่นว่า 40,000 กว่าอาจจะไม่พอกินตอนอายุ 90 (ว่าแต่จะอยู่ถึงรึเปล่าเนี่ยสิ อิอิ) แต่ยังไงก็มีเงินต้นเหลืออยู่อีกตั้งเยอะนี่เนอะ ถึงดอกไม่พอกิน ก็มีอดตายแน่นอน 😀

  6. *ไม่อดตายแน่นอน
    (ที่นี่ไม่มีนโยบาย edit ผิดเหรอครับ อิอิ)

  7. แ่ก่กว่า 22 นี่เหนื่อยเลยคับ
    ขอบคุณคับ ไม่ได้เข้ามาอ่านซะนาน

  8. เบิร์ด รอง สว.

    คนแก่ควรมีหลักประกันในชีวิต อย่างน้อยค่าใช้จ่ายทุกอย่างของคนแก่ก็ไม่ควรเป็นตัวเป็นหนี้อุปการะของลูกหลาน ถ้าจะให้ดีควรมีเงินถึงขนาดลูกหลานอยากเอาอกเอาใจด้วย การสร้างหลักประกันในชีวิต(วัยแก่ชรา)เหล่านี้ เป็นแนวคิดที่สำคัญ

  9. ผมเห็นด้วยครับยังไงก็ต้องลงทุนในหุ้นด้วยสำหรับพนักงานกินเงินเดือน แต่เงินออม 1ใน 3 นี่ไม่น่าจะทำได้ในทางปฏิบัติ นี่ขนาดเก็บเยอะขนาดนี้ยังจะไม่พอเลย

  10. เรียนถามคุณNarinครับ ว่าช่อง “เงินเก็บเมื่ออายุ60” สูตรคำนวนยังไงหรอครับ
    รบกวนอธิบายหน่อย ว่าทำไหมเราต้องเอา (Passive Income ที่ต้องการต่อเดือน/ดอกเบี้ยฝากbank 3%*12
    ผมงงตรง*12อะครับ thx in advance

    1. เงินที่ต้องการใช้ต่อเดือน แต่ 3% เป็นอ้ตราดอกเบี้ยต่อปี เลยต้องคูณ 12 ให้ช่วงเวลาเท่ากัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *