0342: อย่าลืมหยิบเงินที่หล่นอยู่

เวลาเข้าทำงานใหม่ บริษัทมักจะมาให้กรอกว่า จะยอมให้หักเงินเดือนเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เดือนละกี่เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ก็จะมีให้เลือกได้ตั้งแต่ 2%-15% ถ้าหากทำงานอยู่กับบริษัทนานเกินเวลาที่กำหนดไว้ เวลาลาออกหรือเกษียณก็จะได้รับเงินก้อนเท่ากับ เงินที่หักไว้ บวกเงินที่บริษัทสมทบให้เท่ากัน และบวกด้วยผลตอบแทน

บางคนกรอกน้อยที่สุด (2%) เพราะไม่ชอบให้หักเงินเดือนไปเยอะ หรือบางคนก็มองว่ากองทุนอาจทำผลตอบแทนไม่ดีก็ได้ เช่น ขาดทุน เป็นต้น แต่อย่าลืมว่า ยิ่งเราเลือกหักมาเท่าไร เราจะยิ่งได้เงินสมทบจากนายจ้างมากเท่านั้นด้วย เท่ากับว่าต่อให้กองทุนทำผลตอบแทนไม่ได้เลย 0% อย่างน้อยเรายังได้กำไรจากการได้เงินสมทบจากนายจ้างเท่ากันด้วย เทียบได้กับผลตอบแทน 100% ซึ่งที่จริงแล้วเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงมาก ต่อให้กองทุนทำผลงานขาดทุนไปสัก 20% ก็ยังได้ผลตอบแทนสุทธิ 60% เลยทีเดียว

ครั้งหนึ่ง ผมเคยเลือกไป 15% เต็ม ปรากฏว่าอีกสองวันต่อมา HR มาบอกว่าสูงสุดให้ได้แค่ 6% เท่านั้น สงสัยคนอื่นจะเลือกกันต่ำมากๆ จน HR งงที่ผมเลือก 15% เพราะไม่มีใครเคยเลือกมาก่อน (และบริษัทก็คงไม่อยากจ่ายเงินสมทบเยอะๆ ด้วย)

ที่จริงพวกเงินกองทุนสวัสดิการพนักงานรูปแบบต่างๆ มักให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าอย่างมาก เพราะว่าเป็นส่วนหนึงของสวัสดิการที่บริษัทให้กับพนักงาน ตัวอย่างของเงินกองทุนที่มักจะให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงอีกก็เช่นพวกเงินสหกรณ์ต่างๆ (ถ้ามี) สหกรณ์มักปันผลสูงมากเพราะสหกรณ์ขององค์กรส่วนใหญ่มักอยู่ในสถานะที่ผูกขาดได้ทำให้มีกำไรดี

อันที่จริง เงินสะสมกองทุนประกันสังคมก็มีเงินสมทบของนายจ้างด้วยเช่นกัน ที่จริงแล้วเราจึงได้ผลตอบแทน 100% เข้ากระเป๋าด้วยสำหรับในกรณีของประกันสังคม คิดแบบนี้จะได้เลิกเสียดายเงินส่วนนี้ได้ เพราะหลายคนแทบไม่เคยเบิกประกันสังคมเลย อย่างน้อยเราก็ได้รับผลตอบแทนด้วย ซึ่งเราจะได้คืนในส่วนของเงินชราภาพ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของเงินประกันสังคมอาจมีจุดอ่อนตรงที่ ทุกวันนี้กองทุนประกันสังคมยังมีสภาพเป็น underfunded อยู่ หมายความว่าเงินที่จ่ายออกนั้นมากกว่าเงินที่ให้สมทบเข้าไป แสดงว่าสักวันหนึ่งกองทุนอาจมีเงินไม่พอจ่าย (คาดกันว่าอีก 40 ปีข้างหน้า) ดังนั้น แม้เราว่าจะได้เงินสมทบจากนายจ้างมาด้วย แต่เราอาจได้หรือไม่ได้รับผลตอบแทนเลยก็ถ้า ถ้าสุดท้ายแล้วกองทุนไม่เหลือเงินจ่าย (แต่คนที่เกษียณก่อนเงินกองทุนมีปัญหาน่าจะยังคุ้มแน่ๆ)

ยังไงก็อย่าลืมหยิบเงินที่หล่นอยู่พวกนี้ด้วยนะครับ

14 Replies to “0342: อย่าลืมหยิบเงินที่หล่นอยู่”

  1. ขอบคุณครับ

    บางคนมองข้ามจุดนี้ไปจริงๆ

    บริษัทผมให้แค่ 3% ถ้าได้ 15% จะแล่มมาก 🙂

  2. บางที่บริษัทจะสมทบเป็นขั้นบันได (ยิ่งอยู่นานยิ่งสมทบให้เยอะ) โดยไม่สนใจว่าเราเลือกสมทบกี่ % ครับ ดังนั้นกรณีนี้เลือกน้อยที่สุดน่าจะดีกว่า

  3. เห็นด้วยกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครับ ดีมากๆเลย
    แต่สำหรับกองทุนประกันสังคมนี่ ผมพยายามมากๆเลยครับที่จะมองให้มันเป็นบวก
    🙂

  4. ผมคิดแบบนี้เหมือนกันครับ เลยออมทางนี้อีกส่วนหนึ่ง เพื่อกระจายความเสี่ยง
    และเป็นไปตามนโยบาย “ออมก่อนใช้” มีทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ สหกรณ์ออมทรัพย์
    แต่ิติดที่ว่าเงินเดือนยังน้อยน่ะสิครับ ^^
    :laugh:

  5. สมัยทำงานใหม่ๆไม่ค่อยเห็นความสำคัญของ Provident Fund เพราะเงินเดือนน้อย เพิ่งเริ่มสะสมจึงไม่เห็นเป็นชิ้นเป็นอัน ตั้งแต่ปี 2002 ถึงเริ่มสะสมแบบ 5% ต่อเนื่อง จึงได้เห็นความมหัศจรรย์ของการทบต้นและการลงทุนระยะยาว แม้ว่ามีการย้าย office แต่ก็สามารถทำเรื่องโอนย้ายกองทุนจากบริษัทเก่า ไปยังบริษัทใหม่ได้ ตอนนี้สะสมต่อเนื่อง 9 ปี เห็นตัวเลขก็ชื่นใจ

    เสริมนิดครับ ในสาย engineer จะอิจฉา Provident Fund plan ของ SCG PTT มากๆ บริษัทใจกว้างเป็นดินฟ้ามหาสมุทร

  6. provident fund ของ ptt ก็เว่อด้วยหรือครับ นึกว่าเขาเว่อแค่เรื่องอีสปอย่างเดียว 🙂

  7. สหรัฐอเมริกากำลังมีปัญหาเรื่องเงินประกันสังคม เพราะรัฐเล่นเอาเิงินที่ว่าไปหมุน จนไม่มีปัญญาคืนกลับมาให้ผู้ประกันตนได้

    ผมกำลังรอดูอยู่ว่าเมืองไทยจะเดินตามรอยสหรัฐอเมริกาหรือเปล่า

  8. ในสาย engineer จะอิจฉา Provident Fund plan ของ SCG PTT มากๆ บริษัทใจกว้างเป็นดินฟ้ามหาสมุทร
    ^
    ^
    ^
    จริงเหรอครับ !! provident fund ของ SCG เขามีเงื่อนไขที่ ต้องทำงานในองค์กรเขาอย่างน้อยเป็นเวลา 5 ปีนะครับ จึงจะได้เงินในส่วนของนายจ้าง+เงินของเรา+ผลตอบแทน

    ผมเคยอยู่เครือมาก่อน แต่ไม่ถึงเกณฑ์ เลยได้แต่เงินในส่วนของตัวเอง+ผลตอบแทน 🙁

  9. ในเครือ SCG สาย engineer จะให้เยอะครับ แต่ต้องมีอายุงานที่สูงขึ้นตาม เช่นถ้าสิบปี ก็ได้ 10% นึกถึงว่าทำงานสิบปี ก็เงินเดือน 100,000 บาท หัก 10,000 แล้วบริษัทสมทบอีก 10,000 บาท เท่ากับมีเงินเก็บเดือนละสองหมื่นบาทสบายๆ ครับ

    ส่วนที่คุณโจ๊กยกตัวอย่างมา ผมว่าบริษัทคงไม่สมทบ 15% ตั้งแต่ปีแรกมั๊งครับ น่าจะเป็นไปตามอายุงาน เช่น 5%, 7%, 10% แล้วแต่กฎของบริษัท

    พูดถึง SCG และ PTT อีกครั้ง ให้เงินเดือนและสวัสดิการดีมากๆ ที่มาบตาพุต วิศวกรอายุ 30 มีรายได้เหยียบแสนต่อเดือน (รวมโบนัส)ทำให้ค่าครองชีพที่ระยองสูงตามไปด้วย แย่งคนท้องถิ่นกินท้องถิ่นใช้

    ตัวบริษัทเองก็กำไรจากมาบตาพุตปีละ หมื่นกว่าล้านบาท แต่พอดูข่าว CSR ที่เปิดศูนย์ชุมชนสัมพันธ์ ที่อำเภอบ้านฉาง ปรากฎว่า ต้องร่วมหุ้นกับบริษัทอื่น เป็นมูลค่า ร้อยล้านบาท ทำกิจกรรมสัมพันธ์ กับคนในท้องถิ่น เห็นแล้วก็ขำดีครับ

  10. ประกันสังคมเนี่ย คนใหญ่คนโตไปดูงานเมืองนอกแล้วได้อะไรกลับมาบ้างคร้าบ เจ้านายยยย :thunder:

  11. @Voldtrest การที่อายุงานไม่ถึงเกณฑ์ จึงได้แต่เงินในส่วนของตัวเอง ของผมก็เหมือนกันครับ จากประสบการณ์การทำงาน 15 ปี 4 บริษัท ไม่มีที่ไหน offer provident fund program สู้ SCG ได้เลยครับ บางที่ต้องทำงาน 7 ปี บางที่กำหนดให้สมทบไม่เกิน 3%-5% แถม SCG ยังมีแบบสมทบให้มากกว่าที่พนง.ยอมให้หักด้วย

    SCG เป็นองค์กรใหญ่ สวัสดิการดี ออฟฟิศที่บางซื่อมีทั้งคอร์ทเทนนิส ลู่วิ่งธรรมชาติ สนามบาสฯ ห้องสควอช ลู่drive golf เล็กๆ ห้องฟิตเนส โต๊ะปิงปอง สนามเปตอง สนามบอล ตู้น้ำดื่ม ฯลฯ หิวก็มาซื้อก๋วยจั๊บสามทุ่มกิน 555

    ข้อด้อยที่ผมเห็นคือ คนเยอะมากครับ ถ้าเข้าไปทำงาน เงยหน้าขึ้นมองก็จะเจอรุ่นพี่วิศวะมากมายเรียงรุ่นกันจนถึงรุ่นเดอะที่ยอดพิรามิด แต่เราเป็นคนชอบความเปลี่ยนแปลงเลยอาจไม่เหมาะครับ

    แต่ต้องยอมรับว่าทั้ง Training, ทุนการศึกษา, Provident Fund ของ SCG/PTT เค้าดีจริง อะไรจริงครับ

  12. ตอนผมเริ่มเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผมเลือกให้หัก 15% แต่ฝ่ายบุคคลบอกว่าเลือกได้มากสุดแค่ 3% เท่านั้นครับ
    กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากมองปีเดียว ผลตอบแทนต่อปีจะสูงมาก เพราะนายจ้างสมทบให้ 100% ของเงินที่เราจ่ายเข้ากองทุน แต่กองทุนส่วนใหญ่มักมีนโยบายการลงทุนที่ too conservative อย่างของผมปีที่แล้ว ผลตอบแทนทั้งปี 1.4%
    ทำให้เมื่อทิ้งกองทุนเอาไว้นานๆ ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ได้ น่าจะอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

    ตอนนี้ที่ผมกะไว้ก็คือ
    1. กดดันให้นายจ้างปรับเปลี่ยนนโยบายการลงทุน ให้เป็นแบบ Employee’s choice คือให้ลูกจ้างเลือกเองว่า รับความเสี่ยงได้แค่ไหน แต่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเท่าที่ดูมา ลงทุนหุ้นอย่างมากก็แค่ 35%-40% ของสินทรัพย์ทั้งหมดเท่านั้น (ทั้งที่ระยะเวลาลงทุนยาวนานระดับ 20+ปี ยิ่งควรจะลงหุ้นมากกว่านี้มาก)
    2. หากไม่สำเร็จ การถอนเงินออกจากกองทุนหลังครบ 5 ปี เพื่อนำไปซื้อ RMF หรือ ลงทุนเอง อาจจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าก็เป็นได้ครับ

  13. ชอบมากๆครับ ขอเก็บไปอ่านเเละส่งต่อนะครับ
    ผมเองก็เลือกให้ บ.หักที่10% แล้ว HR ก็ไม่ยอมเช่นกัน
    ขอบคุณครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *