a little bit of knowledge is dangerous

เรามีสุภาษิต น้ำขึ้นให้รีบตัก และเราก็มีภาษิต ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม

ทั้งสองสุภาษิตนี้ขัดแย้งกัน แล้วเราควรจะเชื่อภาษิตไหนกันดี

อันที่จริง เรื่องนี้หลายคนน่าจะตอบได้ว่า จริงๆ แล้ว สุภาษิตทั้งสองข้อได้ใช้ทั้งคู่ แต่ต้องใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์

Continue reading “a little bit of knowledge is dangerous”

ส่ิงที่เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้หรือรู้ผิด

ปกติคนเรามักแบ่งความรู้หรือข้อมูลออกเป็นแค่สองแบบ คือ ข้อมูลหรือความรู้ที่เรารู้ และ ข้อมูลหรือความรู้ที่เรายังไม่รู้

และเราก็จัดการกับเรื่องที่เรายังไม่รู้ได้ด้วยการไปหาความรู้นั้นๆ มา ให้เพียงพอกับการแก้ไขปัญหาที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ที่จริงยังมีความรู้อีกแบบหนึ่งที่เราละเลย หรือมองไม่เห็น และมักเป็นอันตรายมากกว่า นั่นคือ ข้อมูลหรือความรู้ที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เราไม่รู้ หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เรารู้ผิดๆ เพราะเราจะนิ่งเฉยต่อความรู้ในส่วนนี้ เนื่องจากไม่รู้หรือตระหนักว่ามันเป็นปัญหา ซึ่งบ่อยครั้งทำให้เราล้มเหลวซ้ำซาก เพราะพยายามแก้ไขปัญหาภายใต้กรอบความรู้เดิมๆ เพราะคิดว่านั่นคือทั้งหมดแล้ว Continue reading “ส่ิงที่เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้หรือรู้ผิด”

วิธีมองการซื้อหุ้น

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราซื้อหุ้นอะไรแล้วถือไว้ไม่ได้นาน คือ วิธีที่เรามองการลงทุนในหุ้น

ตอนเริ่มต้นลงทุนใหม่ๆ ผมมักจะติดกับความคิดที่ว่า การซื้อหุ้นให้ได้กำไรคือ ซื้อหุ้นแล้วพอราคามันขึ้นไปมากๆ เราก็ขายออกมา แล้วก็จะได้กำไร

ในเมื่อเรามีมุมมองแบบนี้ พอหุ้นขึ้นไปมากๆ เราก็อดรนทนไม่ได้ ต้องขายออกมา เพื่อ “ล็อค”กำไร เอาไว้ ฯลฯ  สุดท้ายแล้วก็จะถือหุ้นไม่ได้นาน เพราะถ้าไม่ได้ขายทำกำไร จะรู้สึกผิดอะไรบางอย่าง

ที่จริงแทนที่เราจะมีมุมมองกับหุ้นแบบนั้น เราน่าจะคิดว่า เราไม่ได้ซื้อหุ้น เพื่อที่จะทำกำไรส่วนต่าง แต่เราซื้อหุ้น เพื่อ “สะสม” Wealth ของเราไว้ในตราสารทางการเงิน ที่ให้ผลตอบแทนได้มากกว่าเงินสดในระยะยาว เราจึงมุ่งที่จะสะสมหุ้นให้เยอะขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ใช่คิดว่าวันหนึ่งจะต้องขายออกมาเพื่อ “ทำกำไร”

ก็ในเมื่อหุ้นเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในระยะยาว แล้วเราจะขายหุ้นเพื่ออะไร ขายแล้วจะหนีไปไหน หนีไปหาเงินสด เพื่อให้เงินของเราทำงานให้เราน้อยลงอย่างนั้นหรือ ทำไมเราไม่คิดว่าจะเก็บความมั่งคั่งของเขาเอาไว้ในหุ้นให้ได้มากที่สุดและตลอดไป เพื่อให้เงินของเราทำผลตอบแทนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

นั่นแหละถึงจะเป็นวิธีมองการลงทุนที่ถูกต้อง

ที่จริงทุกครั้งที่คุณ “ซื้อ” คุณจะกำไรหรือขาดทุน มันได้ถูกกำหนดเอาไว้ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ไม่เกี่ยวกับว่าตอนหลังคุณจะขายมันออกมาเพื่อทำให้กำไรเป็นจริง (realize gain) หรือทิ้งมันไว้ให้อยู่ในรูปของหุ้นต่อไปก็ตาม เพราะถ้าคุณซื้อธุรกิจที่ดี ในราคาที่เหมาะสม คุณคิดถูกแล้วตั้งแต่ตอนที่ซื้อ (หรือถ้าคิดผิดก็ผิดตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว) ถ้ากิจการนั้นไปไม่รอด การขายขาดทุนทิ้งออกมาตอนหลัง ก็ไม่ได้ช่วยอะไร ดังนั้นจะได้กำไรหรือขาดทุนไม่ได้เกี่ยวกับว่าคุณจะขายหรือไม่ขาย แต่เกี่ยวกับว่า ตอนที่คุณซื้อ มันเป็นการตัดสินใจที่ดีแค่ไหนมากกว่า

แน่นอนว่าเมื่อคุณซื้อไปแล้ว บางครั้งคุณคิดถูก บริษัทกำไรดีขึ้น แต่ราคาหุ้นกลับตกลง หรือบางครั้งราคาหุ้นก็ขึ้นสะท้อนผลกำไรเกินไปมากๆ ถ้าคุณไม่รีบขายออกมาก่อน คุณก็อาจจะรู้สึกเสียดายโอกาสที่จะทำกำไร Windfall เหล่านั้น ความคิดทั้งหลายเหล่านี้มักจะเป็นข้ออ้างให้หัวที่ทำให้เราขายหุ้นออกมาในที่สุด ถือหุ้นได้ไม่นาน  แต่อันที่จริง การที่เรามีความคิดทำนองนี้อยู่ เป็นเพราะ เรามีทัศนคติทำนองว่า ราคาหุ้นที่เคลื่อนไหวในระยะสั้นเป็นเรื่องที่ทำนายได้ แต่ในความเป็นจริง ถ้าคุณลอง track ผลงานการทำกำไรระยะสั้นของคุณดู คุณจะรู้ว่า คุณไม่ได้ทำนายเก่งเลย แทนที่จะหวังกำไรที่เกิดขึ้นจากโชคช่วย แต่คาดการณ์ไม่ได้เหล่านั้น เราควรเลิกสนใจมัน และคิดว่า ราคาหุ้นในกระดานก็เป็นแค่ความคิดของคนอื่นๆ ในตลาดที่เกิดจากการคาดหวังของพวกเขา ซึ่งอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับธุรกิจนั้นในอนาคตก็ได้ ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา สิ่งที่เราควรจะ bet มากกว่าคือ ความคิดหรือการวิเคราะห์ของเราเอง เทียบกับผลประกอบการจริงของหุ้นตัวนั้นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าตรงหรือห่างกันแค่ไหน ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับราคาที่คุณ “ซื้อ”​ล้วนๆ ไม่ได้เกี่ยวกับราคาในกระดานหลังจากนั้นแต่อย่างใด

แน่นอนว่าทัศนคติแบบมองการซื้อหุ้นให้เป็นการ “สะสม” หุ้นให้เยอะขึ้นเรื่อยๆ นั้น ไม่ใช่ทัศนคติที่เหมาะกับการเล่นหุ้นทุกสไตล์ แต่คนที่ควรจะมีทัศนคติแบบนี้ควรเป็นคนที่ซื้อแต่หุ้นที่มีพื้นฐานปานกลางขึ้นไปจนถึงดีเยี่ยมเท่านั้น ไม่สนใจธุรกิจแบบด้อยคุณภาพ ไม่สนใจหุ้นแนวกลับตัว และเป็นคนที่บริหารพอร์ตที่มีการกระจายหุ้นในระดับหนึ่งด้วยเสมอ เพราะคนที่ลงทุนแบบนี้ โอกาสที่จะเสียหายรุนแรงเพราะไม่ขายหุ้นนั้นมีน้อยมากๆ จึงสามารถคิดว่าการซื้อหุ้นเป็นการสะสมเพิ่มไปเรื่อยๆ ได้ นี่ไม่ได้หมายความว่า ถ้ามีวิกฤตการเงินเกิดขึ้นแล้ว พอร์ตของพวกเขาจะไม่ลงอย่างรุนแรง แต่หมายความว่า ต่อให้ลงรุนแรง แต่เมื่อเมฆฝนผ่านไปแล้ว แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ขายหุ้นเพื่อหนีวิกฤตเลย พอร์ตก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมได้อีก เพราะพอร์ตของธุรกิจที่ดีจำนวนมาก ย่อมกลับมาได้เสมอ ตราบใดที่ประเทศนั้นยังต้องการผู้ผลิตสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อการดำรงชีวิตของพลเมืองในประเทศนั้นอยู่

จะต้องกลัวอะไรถ้าหากไม่ได้ล้างพอร์ต สะสมความมั่งคั่งของเราให้อยู่ในรูปของตลาดสารที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดในระยะยาวให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ

การสะสมหุ้นให้มากขึ้นเรื่อยๆ นั้น ไม่ได้หมายความว่าห้ามขายหุ้นอะไรเลย ถ้าหากหุ้นในพอร์ตบางตัวมีโอกาสเติบโตน้อยลง เห็นตัวอื่นที่ดีกว่า ถูกกว่า จะสลับตัวบ้างก็ได้ แต่ทำไปเพื่อปรับปรุงพอร์ตของเราให้แข็งแรงขึ้น ต้นทุนถูกลง ไม่ใช่ขายด้วยเหตุผลว่าต้องการจะได้กำไร

สุดท้ายคือความคิดของเราในตอนที่ซื้อหุ้น ควรถามตัวเองว่า หุ้นนั้นดีพอที่เราจะกล้าซื้อ ณ ราคานั้น แล้วไม่ขายอีกเลยหรือไม่ (ภายใต้สถานะที่เรามีหุ้นดีๆ หลายๆ ตัวในพอร์ตด้วยนะ ไม่ใช่มีหุ้นตัวนั้นแค่ตัวเดียวทั้งพอร์ต) ถ้าหากคำตอบคือ ไม่ ก็ยังไม่ควรจะซื้อหุ้นตัวนั้น แต่ถ้าจะซื้อ ก็ไม่ต้องคิดเรื่องลงทุน ไม่ต้องคิดเรื่องถือยาว ไม่ต้องผูกพัน ไม่ต้องคิดว่าเป็นการสะสม เพราะว่าเรา “ซื้อ” เข้ามา ในราคาที่ซื้อไม่ได้ครับ  

จิตวิทยากับการไหลเข้าออกของเงินในกองทุนรวมไทย

การวิจัยที่จัดทำโดย Prof.Dr.Thorsten Hens เรื่อง Behavioural Finance and Mutual Fund Flows: an international study พบว่า

ในการให้นักลงทุนในประเทศต่างๆ ตอบแบบสอบถาม นักลงทุนไทยโดยเฉลี่ย ที่ยินดีจะถือหุ้นยาวขึ้นอีกหนึ่งเดือน เพื่อรอให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Patience Index) มีอยู่น้อยที่สุดเป็นอันดับที่หก จาก 53 ประเทศ และมีระดับของความไม่ชอบขาดทุน (Loss-aversion) สูงเป็นอันดับ 3 จากทั้งหมด Screen Shot 2557-05-26 at 11.34.52 AM

Screen Shot 2557-05-26 at 11.35.22 AM
การวิจัยยังพบด้วยว่า ยิ่งประเทศมีระดับ Loss-aversion ของนักลงทุนสูงเท่าไร ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่เงินจะไหลเข้ากองทุนรวม ในช่วงที่กองทุนรวมเป็นขาขึ้น และไหลออกเมื่อกองทุนรวมเป็นขาลงมากเท่านั้น และทั้ง Loss-aversion กับ Patience Index ล้วนสัมพันธ์กับ ระดับความผันผวนของ net inflow/outflow ของกองทุนรวมของประเทศนั้นๆ ด้วย