เรามีสุภาษิต น้ำขึ้นให้รีบตัก และเราก็มีภาษิต ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม
ทั้งสองสุภาษิตนี้ขัดแย้งกัน แล้วเราควรจะเชื่อภาษิตไหนกันดี
อันที่จริง เรื่องนี้หลายคนน่าจะตอบได้ว่า จริงๆ แล้ว สุภาษิตทั้งสองข้อได้ใช้ทั้งคู่ แต่ต้องใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์
กฎหรือเคล็ดลับอะไรก็ตามก็มักมีลักษณะแบบนี้ การที่เรามีกฎหรือเคล็ดลับเป็นวลีสั้นๆ ก็เพื่อช่วยให้สื่อสารกันได้ง่าย จดจำได้ง่าย นำมาใช้ได้เร็ว แต่ในเวลาเดียวกัน มันก็เป็นการลดทอนความเป็นจริงลง เพื่อให้มันง่าย และการทำแบบนั้น บางทีมันก็ก่อให้เกิดการตีความผิด หรือนำมาใช้โดยไม่ถูกกับสถานการณ์ได้
ในตลาดหุ้นก็มีคำคมอยู่เยอะ อย่างเช่น บางคนก็บอกว่า ต้องรู้จัก cut loss ให้ไว ถึงจะอยู่รอดได้ในตลาด แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีคำแนะนำทำนองว่า ต้องถือหุ้นให้ยาว ยิ่งถือยาวยิ่งมีโอกาสที่จะกำไรหุ้นมากขึ้น คำแนะนำเหล่านั้น โดยตัวของมันเองโดดๆ ตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิง แล้วอันไหนล่ะที่ถูก
ภาษาอังกฤษมีวลีหนึ่งบอกว่า a little bit of knowledge is dangerous หมายความว่า บางทีการรู้แบบผิวเผินกลับจะอันตรายมากกว่าการไม่รู้อะไรเลยเสียอีก เพราะสุ่มเสี่ยงที่จะถูกเอาไปใช้อย่างผิดๆ คำแนะนำสั้น ๆในตลาดหุ้นก็มีลักษณะคล้ายกัน การยึดติดกับวลีเหล่านั้นแบบแข็งๆ ไม่ได้มองบริบทหรือสถานการณ์อะไรเลย อาจจะมีข้อดีอยู่บ้างในบางแง่มุม แต่ในเวลาเดียวกัน มันก็นำไปสู่การนำไปใช้อย่างผิดวิธี ไม่เหมาะกับบริบทหรือสถานการณ์ได้ด้วย
นักลงทุนคนหนึ่ง ซื้อหุ้นแล้วติดดอย ก็โทรไปถามนักวิเคราะห์ว่าเอาไงดี นักวิเคราะห์แนะนำว่า ให้ถือต่อ ปรากฎว่า หุ้นลงต่ออย่างหนัก นักลงทุนคนนั้นก็อาจจะจำฝังใจไปเลยว่า การถือยาวเป็นเรื่องที่ผิด ในขณะที่ นักลงทุนอีกคนหนึ่ง ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน แล้วคัทลอส ปรากฎว่า หุ้นลงต่อ ก็อาจจะจำไปตลอดชีวิตว่า การ cut loss เป็นเรื่องที่ถูกต้องเสมอ อันที่จริง ทั้งสองคนอาจคิดถูกหรือผิด เพราะว่าบังเอิญหุ้นขึ้นหรือลงในครั้งนั้นพอดี แต่ก็จดจำฝังใจไปตลอด แล้วคิดว่า มันจะต้องใช้ได้ในครั้งต่อๆ ไป เสมอ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะไม่จริงเลย กรณีแบบนี้ก็เช่นเดียวกัน นักลงทุนทั้งสองพิสูจน์ว่าวลีใดถูกหรือผิดเพราะสับสนกับเรื่องของความบังเอิญ (fooled by randomness)
อันนี้จริง คนที่ถือคติ cut loss ให้เร็ว ถ้าหากบังเอิญว่าเป็นคนที่ชอบเล่นหุ้นเบต้าสูงๆ พื้นฐานหุ้นไม่จำเป็นต้องดี ชอบเล่นหุ้นเทิร์นอะราว ชอบถือหุ้นตัวเดียวทั้งพอร์ต คตินี้ก็อาจใช้งานได้ค่อนข้างดี เพราะช่วยลิมิตความเสี่ยงซึ่งสูงอยู่แล้วได้
ในขณะเดียวกัน คนที่ถือคติ ถือยาวๆ ถ้าบังเอิญว่า เป็นคนเล่นแต่หุ้นพื้นฐานดีๆ เท่านั้น มีการกระจายหุ้นในระดับสูง ตัดสินใจโดยวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน คตินี้ก็อาจจะใช้ได้ผล เพราะว่าถือยาวแล้ว โอกาสที่หุ้นพื้นฐานดีๆ จะกลับมาได้มีสูง ทำให้ตัวที่ตัดสินใจผิดพลาดไปอย่างน้อยก็จะไม่ได้ขาดทุนมาก เป็นต้น
ดังนั้น การจะบอกว่าวลีใดในตลาดหุ้นถูกหรือผิดนั้น จริงๆ แล้วโดยวลีนั้นโดดๆ เราไม่อาจตอบได้เลย ต้องขึ้นอยู่กับพฤติกรรมในส่วนอื่นๆ ทั้งหมดของนักลงทุนคนนั้นด้วยว่า จะเหมาะกับวลีนั้นมากแค่ไหน บางทีการมานั่งเถียงกันหน้าดำหน้าแดงว่า คำพูดให้ผิดหรือถูก โดยไม่ได้พิจารณามิติอื่นๆ ประกอบเลย เหมือนวลีนั้นเป็นวลีโดดๆ ที่ลอยอยู่ในสูญญากาศ เป็นเรื่องที่เสียเวลาเปล่า เพราะเป็นการหลงประเด็น เป็นการตั้งคำถามที่ผิด และก็อาจทำให้ผิดใจกันได้ไม่จำเป็นเลย
จะให้ดีกว่า ลองมาทบทวนดูว่า นิสัยการเล่นหุ้น หรือความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับลงทุนของเรามีอะไรบ้าง แล้วความเชื่อหรือนิสัยเหล่านั้น สอดคล้อง เกื้อหนุน กันทั้งหมดหรือเปล่า จะเป็นการใช้เวลาที่เกิดประโยชน์มากกว่าครับ
ใช่ครับ ต้องดูบริบทของการแนะนำความคิดนั้นไปใช้ด้วย