0312: Recency Bias

สมองของมนุษย์มีจุดอ่อนอยู่อย่างหนึ่ง (ที่จริง มีหลายอย่าง) คือ เรามีแนวโน้มจะให้น้ำหนักกับเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นหมาดๆ มากกว่าเรื่องอื่นๆ (Recency Bias)

ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเพิ่งมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นใจกลางกรุงเทพฯ หมาดๆ มีตึกถล่ม มีคนเสียชีวิตมากมาย หลังจากนั้น ยอดผู้ซื้อประกันภัยอาคารจากแผ่นดินไหวมักจะสูงขึ้นอย่างมาก พอผ่านไปสัก 2 เดือนก็จะค่อยๆ ลดลงจนเท่ากับระดับปกติ ทั้งที่ Probability ที่จะเกิดแผ่นดินไหวของเมืองหนึ่งๆ มีค่าเท่าเดิมเสมอไม่ว่าจะเป็นช่วงหลังเกิดแ่ผ่นดินไหวใหม่ๆ หรือในช่วงเวลาปกติ (ไม่นับพวก Aftershock ซึ่งถือเป็นครั้งเดียวกัน) เรามักกลัวแผ่นดินไหวมากกว่าปกติในช่วงที่แผ่นดินไหวเพิ่งจะเกิดไปหมาดๆ

เวลามีข่าวเครื่องบินตกใหม่ๆ การเดินทางด้วยเครื่องบินมักจะลดลงอย่างมาก แต่หลังจากข่าวเริ่มเงียบหายไป ก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม เวลามีข่าวผับไฟไหม้มีคนตายเพียบ คนเที่ยวผับก็จะน้อยลงไปสองอาทิตย์ จากนั้นก็กลับไปเหมือนเดิมอีก

พวกนักการเมืองรู้จัก Recency Bias เป็นอย่างดี เวลาใกล้จะเลือกตั้งใหม่ พวกเขาก็จะทำตัวขยันเป็นพิเศษ เพราะรู้ดีว่า ประชาชนจะจำแต่สิ่งที่พวกเขาทำในช่วงใกล้โค้งสุดท้ายมากที่สุด ถ้านักการเมืองคนไหนพลาดท่าเสียที มีข่าวฉาวเพียงหนเดียว ในช่วงใกล้เลือกตั้ง ความดีทั้งหมดที่มีมากกว่าที่เคยทำมาอดีตจะแทบไม่มีผลอะไรเลย เพราะโดนข่าวล่าสุด กลบผลของมันไปจนหมด

นักลงทุนในตลาดหุ้นก็มีลักษณะเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน ในช่วงหลังจากเกิดวิกฤตตลาดหุ้นใหม่ๆ นักลงทุนมักจะกลัววิกฤตมากเป็นพิเศษ ตลาดหุ้นจะเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับพวกเขา ไม่ว่าหุ้นจะถูกแค่ไหนหรือเศรษฐกิจจะดีขึ้นอย่างไร นักลงทุนจะยังไม่กล้าซื้อหุ้นอยู่ดี ต่อเมื่อเวลาผ่านไปอีกนานๆ ความกลัวเหล่านั้นก็จะเริ่มจางหายไปเอง ทั้งที่จริงๆ แล้ว เราควรทำตรงข้าม กล่าวคือ หลังตลาดหุ้นเกิดวิกฤตใหม่ๆ เราไม่ควรจะกลัวที่จะซื้อหุ้นแต่เป็นเวลาที่เราควรจะกล้าซื้อหุ้นมากกว่า 

เวลาหุ้นพื้นฐานดีๆ บางตัวมีข่าวร้ายมากระทบ ความรู้สึกของเราเกี่ยวกับพื้นฐานโดยรวมของหุ้นตัวมักแย่ลงไปด้วย เราจะเริ่มไม่ค่อยแน่ใจกับปัจจัยพื้นฐานของหุ้นตัวนั้นที่เราเคยเชื่อว่าดีจนทำให้เราตัดสินใจลงทุน ทั้งที่เราก็รู้ดีว่าข่าวร้ายเหล่านั้นจะไม่ได้ติดตัวหุ้นนั้นไปแบบถาวร แต่เีราอดไม่ได้ที่จะให้น้ำหนักข่าวร้ายนั้น มากกว่าสิ่งดีๆ ทั้งหมดของหุ้นตัวนั้นที่เคยเป็นมาตลอดและยังไม่ได้เปลี่ยนไปเพราะข่าวร้ายนั้นเลยแม้แต่น้อย

ความยากของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ เรามักไม่รู้ตัวว่าเรากำลังลำเอียงอยู่ เพราะเวลาที่เราลำเอียง เรามักใช้อารมณ์ของเราฟันธงไปก่อน แล้วสมองของเราจึงค่อยหาเหตุผลมาสนับสนุนการตัดสินใจของเรานั้น เราจึงมักรู้สึกว่าเรากำลังใช้เหตุผลอยู่ เวลาที่เราลำเอียง ที่จริงแล้ว เหตุผลเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลที่สมองของเราคัดเลือกมาเพื่อสนับสนุนอารมณ์ของเราเท่านั้นโดยคัดกรองเหตุผลอื่นๆ ที่ขัดแย้งออกไป เราจึงไม่รู้ตัวว่าเราลำเอียง ใครก็ตามที่มีสติรู้ทันจิตใจของตัวเองได้ดีกว่าคนอื่น คนนั้นจะสามารถเล่นหุ้นได้ดีกว่าคนอื่น ทั้งที่ไม่ได้มีความรู้อะไรมากมายเลย

Recency Bias เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักลงทุนมักขายหุ้นในเวลาที่ไม่ควรขายที่สุด และไม่ยอมซื้อหุ้นในเวลาที่ควรซื้อหุ้นมากที่สุดด้วย

0311: ตำนานปูน

หลายท่านน่าจะเคยได้ยินเรื่องราวการลงทุนหุ้นปูนซิเมนต์ไทยของคุณวิกรม เกษมวุฒิ กันมาบ้าง ผมว่าเรื่องนี้สามารถเป็นตำนานในตลาดหุ้นไทยได้เลยทีเดียว 

ในวันแรกที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดเมื่อ 34 ปีที่แล้ว คุณวิกรมนำเงินจำนวน 16, 700 บาท ไปซื้อหุ้นปูนซิเมนต์ไทยจำนวน 100 หุ้น แล้วนั่งทับใบหุ้นเอาไว้ อีกสามสิบเอ็ดปีต่อมา ปูนซิเมนต์ไทยแตกพาร์ไปทั้งหมดสองครั้ง ทำให้ 100 หุ้นของคุณวิกรมกลายเป็น 1 หมื่นหุ้น หุ้นจำนวนนั้นจึงมีมูลค่า 2, 340, 000 บาท (234 บาทต่อหุ้น ข้อมูล ณ ปี 2549) หรือเพิ่มขึ้นมา 140 เท่าตัว นี่ยังไม่รวมเงินปันผลที่คุณวิกรมได้รับมาระหว่างทางตลอด 31 ปีเป็นเงินอีก 7.4 แสนบาท กลายเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 3.08 ล้านบาทเข้าไปแล้ว   

ถ้าหากคิดว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยปีละ 5% เงินจำนวน 16, 700 บาทเมื่อ 31 ปีก่อน ก็คงมีค่าประมาณ 75, 000 บาทของเงินสมัยนีหรือเท่ากับเงินเดือนประมาณ 3-4 เดือนเท่านั้น นั่นก็หมายความว่า เงินเดือนแค่ 3-4 เดือนเมื่อ 30 ปีที่แล้วของคุณวิกรมสามารถทำงานได้มากกว่าหลายๆ คนที่ทำงานหาเงินตลอดชีวิต 30 ปี เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ทำงานตลอดชีวิตแล้วยังเก็บเงินไม่ได้ถึง 3 ล้านบาทเลย

คุณวิกรมเพียงแค่กลั้นใจไม่เอาเงินเดือนสักสามเดือนมาใช้ แต่นำเงินก้อนนี้ไปซื้อหุ้นเก็บไว้เฉยๆ 100 หุ้น แค่เนี่ย ไม่ต้องออกแรงอะไรเลย

บางคนอาจแย้งว่า หุ้นในตลาดมีตั้งมากมาย แล้วจะรู้ได้ไงว่าต้องซื้อหุ้นปูน ถ้าซื้อหุ้นตัวอื่นไปอาจจะเจ๊งไปกับวิกฤตต้มยำกุ้งแล้วก็ได้ แต่ถ้าไปดูข้อมูลจะเห็นได้ว่า ในวันที่เปิดตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 34 ปีก่อน มีหุ้นในตลาดแค่ 8 ตัวเท่านั้น สมมติว่า คุณไม่รู้อะไรเลย จึงใช้เงิน 16, 700 บาทของคุณ แบ่งซื้อไปหมดทั้ง 8 ตัวเท่ากัน แล้วสมมติว่า อีก 7 ตัวที่เหลือเจ๊งหมด คุณก็ยังได้ผลตอบแทนจากหุ้นปูน 3.85 แสนบาท จากเงินลงทุน 16, 700 บาท หรือยังกำไรอยู่ถึง 23 เท่าตัวเลยทีเดียว ซึ่งในความเป็นจริง หุ้นทั้ง 8 ตัว ในปัจจุบันเหลือแค่ 4 ตัว คือ SCC, BBL, BJC และ DTC ซึ่ง BBL ก็ให้กำไรถึง 20 เท่า ส่วน BJC และ DTC ให้กำไรถึง 10 เท่า

ดังนั้นต่อให้ไม่รู้ว่าต้องเป็นหุ้นปูนใหญ่ เรื่องราวนี้ก็ยังเป็นตำนานที่น่าทึ่งอยู่ดี

แล้วทำไมคุณจะไม่ลอง Bet อะไรอย่างนี้กับการลงทุนในหุ้นระยะยาวๆ ดูบ้าง แค่ลองนำเงินเก็บเท่ากับเงินเดือนสัก 3-4 เดือนไปซื้อหุ้นอะไรก็ได้ที่คุณคิดว่ามีความมั่นคงในระดับเดียวกับ SCC ไว้ สัก 4-5 ตัว แล้วสัญญากับตัวเองว่า จะไม่ขายเลยตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เหมือนซึ้อทิ้ง  แกล้งสมมติว่า คุณบังเอิญทำเงินเดือน 3 เดือนนี้หายไป การ Bet อย่างนี้ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงอะไรเลย แต่ถ้าหากมัน “ใช่” ขึ้นมา ผลตอบแทนของมันจะคุ้มเกินคุ้มเลยทีเดียว และการเจียดเงินเล็กๆ ส่วนหนึ่งมาทำแบบนี้ ก็ไม่ได้แปลว่า คุณจะต้องเลิกเก็งกำไรตามแบบที่คุณชอบทำอยู่ พอร์ตหลักของคุณจะลงทุนยังไงก็ลงทุนต่อไปเหมือนเดิม ไม่ได้มีผลกระทบอะไร 

อีกทั้งมันยังเป็นหลักประกันด้วยว่า ถ้าพอร์ตเก็งกำไร ซึ่งเป็นพอร์ตหลักของคุณ ซึ่งคุณใช้เงินจำนวนมากกว่า เพราะคุณหวังกับมันว่า มันจะทำให้คุณกลายเป็นเศรษฐีได้ในเวลาแค่สองสามปี แต่มันเกิดเจ๊งขึ้นมา ทำให้คุณหมดตัว อย่างน้อยคุณก็ยังคงมีตรงนี้เป็นที่พึ่งพาได้อยู่ 

สาเหตุที่ที่ผ่านมาเรื่องนี้ไม่ค่อย “โดน” ใจนักลงทุนไทยมากนัก ผมว่าน่าจะเป็นเพราะ วิธีนี้เป็นการถือหุ้นยาว คำว่า ถือหุ้นยาว ทุกวันนี้เป็นคำที่ค่อนข้างแสลงในความรู้สึกของนักลงทุนไทยส่วนใหญ่  

แต่ถ้าเป็นการพิจารณาโดยเปรียบเทียบ Upside/Downside ด้วย ผมดูแล้วยังไงๆ วิธีนี้ก็เป็นวิธีที่คุ้มเหลือคุ้มที่ทุกคนจะลองทำดูไว้สักหนึ่งครั้งในชีวิตครับ เพราะแม้จะเป็น small probability of very large gain แต่ต้นทุนในการทดลองมันต่ำมากครับ 

0310: กลยุทธ์ของเฮดจ์ฟันด์

ทุกวันนี้ถ้าไม่นับ กองทุนบริหารความมั่งคั่งแห่งรัฐฯ และกองทุนบำเหน็จบำนาญต่างๆ แล้ว “ขาใหญ่” ของตลาดทุนโลกอันดับถัดมาคงหนีไม่พ้น พวกเฮดจ์ฟันด์ ต่างๆ

เฮดจ์ฟันด์ ตามความหมายดั่งเดิม คือ กองทุนที่ลงทุนด้วยการเสาะหาช่องว่างในการทำกำไรที่ปราศจากความเสี่ยง (Riskless) ถ้าจะยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คงหนีไม่พ้น วิธีของกองทุน Long-term Capital Managment ที่อื้อฉาวในอดีต

ในทางทฤษฏี พันธบัตรรัฐบาลสองตัวที่มีอายุเท่ากันจ่ายดอกเบี้ยเท่ากันจะต้องมีราคาเท่ากันด้วย แต่ในความเป็นจริงอาจมีราคาต่างกันเพราะสภาพคล่องของตลาดในช่วงสั้นที่ไม่สมบูรณ์แบบ LTCM ใช้วิธียืมพันธบัตรรัฐบาลจากกองทุนอื่นที่มีราคาตลาดสูงกว่ามาขาย แล้วเอาเงินที่ได้มาซื้อพันธบัตรตัวที่ถูกกว่ามาถือไว้แทน การถือไว้ทั้ง short และ long position ในราคาที่ต่างกันเล็กน้อยเช่นนี้ จะทำให้เกิดกำไรเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของราคา เมื่อใดก็ตามที่ส่วนต่างของราคาในตลาดบีบเข้าหากัน ก็จะเกิด net gain ขนาดเล็กๆ ขึ้น เป็นโอกาสให้ LTCM ล้างสถานะทั้งหมดเพื่อทำกำไรได้

การลงทุนด้วยวิธีนี้มีความเสี่ยงต่ำมาก เนื่องจากโอกาสที่ราคาพันธบัตรทั้งสองจะหนีออกจากกันมากๆ (เกิด net loss) มีน้อยมาก ต่อให้เกิดขึ้นจริง ก็ไม่น่ากลัว เพราะสามารถถือต่อไปแล้วรอให้พันธบัตรทั้งสองตัวหมดอายุก็ได้ ราคาจะกลับมาเท่ากันเอง และพันธบัตรก็เป็นสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงยิ่ง การลงทุนด้วยวิธีนี้จึงมีลักษณะคล้ายกับ “โอกาสที่ไม่มีความเสี่ยง” 

แม้ว่า net gain ที่มีโอกาสเกิดขึ้นจะมีขนาดเล็กมากๆ เพราะผลต่างของราคาพันธบัตรสองตัวที่เหมือนกันคงต่างกันไม่ได้มากนัก แต่ LTCM ก็ทำกำไรด้วยวิธีการนี้ได้อย่างมหาศาล เพราะไม่ได้ใช้เงินของตัวเอง LTCM เพียงแต่ขอยืมพันธบัตรของคนอื่นมาขาย แล้วเอาเงินก้อนนั้นแหละมาซื้อพันธบัตรอีกตัวหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง LTCM จะต้องถือเงินส่วนตัวไว้จำนวนหนึ่งด้วย เพื่อให้เจ้าของพันธบัตรเชื่อเครดิต เงินจำนวนนี้จึงเป็นส่วนทุนที่แท้จริงของ LTCM ซึ่งก็น้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดพันธบัตรที่ยืมมาหลายสิบเท่าตัว ฉะนั้น แม้ net gain จะแคบมาก แต่ LTCM ก็ได้กำไรหลายสิบเท่าตัวเมื่อเทียบกับทุนที่ใช้ ตลาดพันธบัตรเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มหึมาและมีสภาพคล่องสูง LTCM จึงสามารถเพิ่ม position ได้โดยไม่จำกัด

แต่สุดท้ายแล้ว LTCM ก็ยังเจ๊งได้ยังไงนั้น ทุกท่านสามารถหาหนังสืออ่านได้ทั่วไป แต่ประเด็นที่ผมอยากจะเขียนถึงในบทความนี้คือ กลยุทธ์ในการลดความเสี่ยงของพวกเฮดจ์ฟันด์ต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีการที่น่าเรียนรู้

กลยุทธ์ลดความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งของพวกเฮดจ์ฟันด์ ที่จะขอยกมาเขียนถึงเป็นตัวอย่างเรียกว่า market neutral strategy กลยุทธ์นี้มีแนวคิดว่า บ่อยครั้งที่เราค้นพบหุ้นตัวหนึ่ง ที่มีสตอรี่ที่ดีมาก ทำให้ราคาหุ้นมีโอกาสที่จะขยับขึ้นได้ในอนาคต แต่พอเราลงทุนไป ปรากฏว่า ภาวะตลาดเกิดเลวร้ายลง ทำให้แม้หุ้นที่เราลงทุนจะมีสตอรี่ที่ดี แต่ก็ฝืนภาวะตลาดไม่ไหว ทำให้ต้องขาดทุนอยู่ดี ภาวะตลาดจึงเป็นความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ที่สำคัญสำหรับการลงทุนแบบ bottom up

เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะตลาด (Market Risk) ลง แทนที่จะซื้อหุ้นตัวนั้นเฉยๆ ก็ให้ short index ไปพร้อมกันด้วย ถ้าหากเกิดโชคร้ายตลาดลงแรง แต่ถ้าเราคิดได้ถูกต้องเกี่ยวกับสตอรี่ของหุ้นตัวนั้น แม้หุ้นจะลงด้วยตามภาวะตลาด แต่เนื่องจากมันลงน้อยกว่าตลาด เพราะมีสตอรี่ที่ดีของตัวเองช่วยเอาไว้ เมื่อ net กับ short index position แล้ว เราจึงยังคงได้กำไรอยู่ แม้ตลาดจะลง วิธีจึงช่วยให้เราลงทุนแบบ bottom up ได้โดยไม่ว่าภาวะตลาดจะเป็นอย่างไร เพราะตราบได้ที่หุ้นของเรา outperform ตลาด เราจะยังได้กำไรเสมอ

อย่างไรก็ตาม market neutral strategy ไม่ถือว่าเป็น riskless opportunity อย่างแท้จริง เพราะหลักทรัพย์ที่ long กับที่ short นั้นไม่ได้เหมือนกันทุกประการเหมือนอย่างในกรณีของ LTCM วิธีนี้จึงช่วยลดความเสี่ยงลงได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด บางกองทุนจึงเพียงแต่ short index ไว้แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เช่น เท่ากับ 30% ของหุ้นที่ซื้อ แทนที่จะ short เต็มทั้งจำนวน เพราะการลดความเสี่ยงของตลาดลงส่วนหนึ่ง แต่ไม่ถึงกับเต็มอัตรา

อีกกลยุทธ์หนึ่งที่น่าสนใจของพวกเฮดจ์ฟันด์มีชื่อว่า 130/30 กลยุทธ์นี้มาจากแนวคิดที่ว่า บางครั้งตลาดอยู่ในภาวะฟองสบู่ หุ้นส่วนใหญ๋ในตลาดแพงหมด ถ้าเรามีนโยบายลงทุน 100% ของพอร์ตตลอดเวลา ก็เท่ากับเป็นการบังคับให้เราต้องถือหุ้นบางตัว ทั้งที่เราคิดว่ามันแพงมากแล้ว ดังนั้น แทนที่เราจะซื้อหุ้นอย่างเดียว 100% ของพอร์ต เราเปลี่ยนมาเป็นการซื้อหุ้นในตลาดที่เราคิดว่าถูก 130% ของพอร์ต (ยืมมาร์จิ้นมา) และ short หุ้นในตลาดที่เราคิดว่าแพงอีก 30% แบบนี้ net position ของเราก็ยังคงเท่ากับ 100% อยู่ เช่นเดิม แต่แทนที่เราจะต้องฝืนใจถือหุ้นแพงเข้าพอร์ตทั้งหมด เราหาผลตอบแทนด้วยการ short หุ้นที่แพงไปได้ด้วยอีกส่วนหนึ่ง ในระยะยาวน่าจะทำผลตอบแทนได้สูงกว่า การซื้ออย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ตลาดหุ้นแพงเรื้อรัง

ที่ยกตัวอย่างมาเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของพวกเฮดจ์ฟันด์ที่มีอยู่อย่างมากมายในปัจจุบัน แต่ละกลยุทธ์ก็แสนพิสดารสุดที่จะคิดกันขึ้นมาได้ สมัยนี้เฮดจ์ฟันด์หลายกองก็ไม่ได้มีกลยุทธ์มุ่งลดความเสี่ยงตามนิยามที่ดั่งเดิมอีกต่อไปแล้วด้วย (วิธีอะไรก็ได้ที่คิดว่าจะดึงดูดเม็ดเงินของนักลงทุนได้เป็นใช้ได้)

การเรียนรู้วิธีการใหม่ๆ ของพวกเฮดจ์ฟันด์นั้น ช่วยทำให้เห็นว่าโลกนี้ยังมีวิธีการลงทุนแบบอื่นๆ อยู่อีกมากมาย อย่างไรก็ตาม ผมคงไม่แนะนำให้นักลงทุนหน้าใหม่เลียนแบบวิธีการของเฮดจ์ฟันด์ แม้ว่าบางหลายวิธีจะดูมีเหตุผลดีทีเดียว แต่การทำธุรกรรม short นั้นต้องการวินัยอย่างสูง บางครั้งวิธีการดี แต่จิตใจยังไม่หนักแน่นพอ ก็พลาดได้ง่ายๆ  

ผมเชื่อว่า ทุกวันนี้การที่ตลาดทุนโลกเต็มไปด้วยเฮดจ์ฟันด์ ทำให้ราคาหุ้นขึ้นอยู่กับนโยบายการเงินของรัฐฯ มากกว่าปัจจัยพื้นฐานของตัวหุ้นเข้าไปทุกที เพราะกลยุทธ์ส่วนใหญ่ของเฮดจ์ฟันทำกำไรจาก noise จึงสามารถทำกำไรได้เสมอโดยไม่ต้องสนใจว่าหุ้นที่ซื้อจะแพงหรือไม่เมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐาน ดังนั้นเวลาที่เฟดใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เฮดจ์ฟันด์ก็จะหาทุนได้มากขึ้น ก็จะนำมาสร้าง position ในตลาดหุ้นมากขึ้นทันที โดยไม่เกี่ยวกับ outlook ของหุ้น และเมื่อเฟดใช้นโยบายการเงินตึงตัวก็จะให้ผลตรงกันข้าม เงินที่ไหลเข้าออกจากตลาดหุ้นจึงเป็นไปตามภาวะตลาดเงินมากกว่าจะเป็นไปตามตามความคิดของนักลงทุนเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานของตัวหุ้นในขณะนั้น

0309: เรื่องของเดือนวาด

เมื่อสี่ปีที่แล้ว เดือนวาดได้รับมรดกก้อนหนึ่งจากบิดา มันอาจไม่ใช่เงินจำนวนมากนักสำหรับใครหลายๆ คน แต่สำหรับข้าราชการชั้นผู้น้อยอย่างเธอแล้ว ถือว่ามากโขทีเดียว เธอหวังจะใช้มันเพิ่มความมั่นคงทางการเงินให้กับเธอ

ดอกเบี้ยเงินฝากในเวลานั้นต่ำมาก เธอจึงยังไม่สามารถอยู่เฉยๆ ได้ด้วยดอกเบี้ยจากเงินก้อนนี้ล้วนๆ เธอจึงมองหาวิธีอื่นที่จะทำให้เงินก้อนนี้ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เธอได้ยินมาว่า ตลาดหุ้นให้เงินปันผลสูงกว่าดอกเบี้ยธนาคารมาก

เธอไม่ใช่คนที่ชอบความเสี่ยง เธอเคยได้ยินคนเจ๊งหุ้นมาเยอะมาก เธอจึงตัดสินใจว่า การซื้อหุ้นครั้งนี้ของเธอ จะต้องอนุรักษ์นิยมให้มากที่สุด เธอหาหนังสือเรื่องการลงทุนในตลาดหุ้นมาอ่าน 3-4 เล่ม และยังเข้าร่วมฟังสัมมนาหุ้นอีกหลายครั้ง ในที่สุด เธอก็ได้พบเคล็ดลับมาว่า หุ้นที่ปันผลสูงๆ และมีพีอีและพีบีต่ำมากๆ เป็นหุ้นราคาถูก เธอจึงคัดเลือกหุ้นที่มีลักษณะดังกล่าว 10 ตัว แล้วใช้เงินมรดกทั้งหมดที่ได้มาซื้อหุ้นเหล่านั้น 

อัตราเงินปันผลเฉลี่ยของตลาดหุ้นในเวลานั้น สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากค่อนข้างมาก ด้วยเหตุนี้ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เธอจึงได้รับเงินปันผลในระดับที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากอย่างมีนัยสำคัญ เงินปันผลจำนวนนี้ช่วยค่าใช้จ่ายประจำวันของเธอได้มาก แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้สามารถลาออกจากราชการไปอยู่บ้านเฉยๆ ได้ แต่อย่างน้อยมันก็สร้างความอุ่นใจให้กับเธอได้มาก เธอถึงกับกล่าวกับตัวเองว่า “เรามาถูกทางแล้ว”

แต่เรื่องที่ดูจะแย่หน่อยก็คือว่า หลายปีที่ผ่านไป หุ้นที่เธอซื้อไว้หลายตัว กลับมีราคาในกระดานที่ลดลงเรื่อยๆ จนทำให้พอร์ตของเธอติดตัวแดง เธอแปลกใจมากที่ทำไมซื้อหุ้นที่พีอีต่ำมากขนาดนั้นแล้ว ราคาหุ้นก็ยังตกต่อไปได้อีก นี่คงจะเป็นเพราะว่า ตลาดไม่มีเหตุผลอย่างที่ตำราว่าไว้  เรื่องนี้ทำให้เธอรู้สึกสะเทือนใจไม่น้อย เพราะตลอดชีวิตเธอยังไม่เคยเห็นเงินก้อนใหญ่ต้องขาดทุนเป็นสีแดงขนาดนี้มาก่อน แต่เธอก็พยายามบอกตัวเองว่า ไม่เป็นไร เพราะเราซื้อหุ้นเพื่อกินเงินปันผลเป็นหลัก เราควรมองระยะยาว ตราบใดที่ยังไม่ได้ขายออกมา ยังถือว่า ไม่ขาดทุน เธอไม่แน่ใจว่าคิดอย่างนี้ได้หรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ วิธีคิดแบบนี้ ช่วยทำให้เธอสบายใจได้มาก 

เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อนสนิทคนหนึ่งของเธอได้ชักชวนให้เธอไปเซ้งทำเลเปิดร้านขายของกระจุ๊กกระจิกซึ่งเป็นสิ่งที่เธอรัก เดี๋ยวนี้เธอมีความกล้ามากกว่าเมื่อสี่ปีที่แล้วมาก เธอจึงตัดสินใจที่จะลองทำการค้าดูสักตั้ง ครั้งหนึ่งเธอเคยอ่านเจอในหนังสือการลงทุนว่า เวลาซื้อหุ้นให้คิดเหมือนกับเวลาลงทุนทำกิจการ เธอคิดต่อไปว่า ถ้าอย่างนั้นเวลาจะลงทุนทำกิจการก็ควรคิดให้เหมือนกับเวลาซื้อหุ้นด้วย เธอหวังว่าความรู้เรื่องการลงทุนในหุ้นที่เธอมีจะช่วยเธอในการลงทุนทำกิจการครั้งนี้ได้ด้วย

คิดได้ดังนั้น เธอจึงรีบไปติดต่อศูนย์การค้าแห่งหนึ่งเพื่อขอเลือกเซ้งพื้นที่ทำร้าน เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายพาเธอไปยังโซนร้านขายของกระจุ๊กกระจิกของทางห้างฯ ซึ่งมีบูทขนาดเล็กให้ผู้เช่ารายย่อยเช่าขายของอยู่เป็นจำนวนมาก

เมื่อไปถึง เจ้าหน้าที่ก็ชี้ให้เธอดูบูทที่กำลังว่างอยู่บูทหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในมุมที่ค่อนข้างจะดีมาก เพราะอยู่ใกล้กับบันไดเลื่อนทำให้มี Traffic ผ่านตลอด แต่ยังไม่ทันที่เจ้าหน้าที่จะหยิบเอกสารที่แสดงสถิติของจำนวนลูกค้าที่เดินผ่านบูทนี้ในแต่ละวันออกมาอธิบาย เดือนวาดก็ถามตัดบทขึ้นว่า  “เจ้าของบูทคนเดิม ปีที่แล้ว บริษัทเขาปันผลเท่าไร?” 

เจ้าหน้าที่ฟังแล้วก็รู้สึกงงๆ กับคำถาม “ผมไม่ทราบเหมือนกันครับ เพราะเป็นเรื่องภายในของลูกค้าเอง แต่ถ้าให้ผมคิดเอาเอง ผมว่าเขาคงแทบจะไม่ได้ปันกำไรออกมาใช้เลย เมื่อปีที่แล้ว เพราะเขาพึ่งจะย้ายไปอยู่อีกมุมหนึ่ง ที่ค่าเช่าแพงกว่านี้มาก แล้วขยายร้านให้ใหญ่ ขึ้นเป็นสองเท่า เขาคงต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มเยอะมากทีเดียว ผมเลยเดาว่า เมื่อปีที่แล้วสงสัยบริษัทของเขาคงจะไม่ได้ปันผลเลยสักบาท และน่าจะต้องเอาเงินใหม่ใส่ลงไปอีกด้วยซ้ำ” เดือนวาดพังแล้วก็ส่ายหัวทันที

เจ้าหน้าที่พูดกับเดือนวาดต่อไปว่า เขามีข้อมูลที่แจกแจงกลุ่มลูกค้าที่เดินผ่านบูทนี้โดยแยกตามเวลา วันของสัปดาห์ เพศ อายุ และยอดใช้จ่าย ซึ่งเขาสามารถอธิบายรายละเอียดของข้อมูลให้เดือนวาดฟังได้ แต่พอเจ้าหน้าที่จะเริ่มอธิบาย เดือนวาดก็ตัดบทอีกว่า เรื่องพวกนั้นไม่จำเป็น  

เธอสอบถามเจ้าหน้าที่เรื่องค่าเช่าต่อตรม. เธอพบว่า บูทนี้ค่อนข้างจะแพงมากทีเดียว เจ้าหน้าที่อธิบายว่าเป็นเพราะทางห้างจะคิดค่าเช่าไปตามจำนวน Traffic ที่ผ่านหน้าบูทในแต่ละวันเป็นหลัก บูทนี้ Traffic ค่อนข้างมาก ค่าเช่าก็เลยสูง เธอส่ายหัวอีกครั้ง แล้วขอให้เจ้าหน้าที่เอาค่าเช่าต่อตรม.ของทุกบูทที่ยังว่างอยู่ออกมาดูให้หมดทุกบูท

เมื่อเธอดูเสร็จ เธอก็ตัดสินใจเลือกเซ้งบูทที่มีค่าเช่าต่อตรม.ต่ำที่สุด บูทนี้ตั้งอยู่ในช่องสุดท้ายของแถวสุดท้ายซึ่งเป็นแถวที่เป็นทางตันไม่มีทางทะลุออกไปยังอีกด้านอื่นของชั้น เจ้าหน้าที่ได้แต่งง ที่เธอรีบตัดสินใจอย่างนั้น เขารู้สึกอยากจะแย้งเธอ เพราะประสบการณ์ของเขาบอกว่า วิธีเลือกบูทของเธอนั้นไม่เวิร์ค แต่เขาเห็นเธอยืนกรานอย่างแข็งขันมาก ก็เลยคิดว่า อย่าขัดใจลูกค้า จะดีกว่า เราเป็นแค่เจ้าหน้าที่ มีหน้าที่ทำให้ลูกค้าพอใจ 

เดือนวาดตัดสินใจขายหุ้นทั้งพอร์ตออกมาทั้งที่ยังแดงอยู่ แล้วนำเงินทั้งหมดที่ได้ไปเซ้งบูทที่เธอเลือกด้วยตนเอง เธอมั่นใจและตั้งคาดหวังกับการลงทุนครั้งนี้ของเธออย่างมาก เพราะบูทที่เธอค้นพบเป็นบูทที่มีค่าเช่าต่อตรม.ที่ต่ำที่สุดในห้างฯ เท่าที่เธอ เคยได้ยินมา เธอดีใจมากที่ได้เจอเข้ากับของถูกสุดๆ เข้าแล้ว เธอคิดว่าไม่เสียแรงที่เธอศึกษาหาความรู้เรื่องการลงทุนในตลาดหุ้น เงินส่วนที่ขายหุ้นขาดทุนไปถือว่าเป็นค่าครู 

ดึกแล้ว แต่เดือนวาดยังนอนไม่หลับ เธอรอไม่ไหวแล้วที่พรุ่งนี้ เธอจะได้ไปขายของที่เธอรักที่ห้างฯ แห่งนั้นเป็นวันแรก เธอคิดว่างานนี้มีแต่ได้กับได้…  

     

0308: Dickson G.Watts

ผมได้อ่านหนังสือโบราณเล่มหนึ่ง ซึ่งเขียนโดย Dickson G.Watts นักเก็งกำไรในตลาด New York Cotton Exchange เมื่อ 85 ปีที่แล้ว ท่านผู้นี้ร่ำรวยขึ้นมาจากมือเปล่าด้วยการเป็นนักเก็งกำไรราคาฝ้าย และในวัยสูงอายุได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานของ NYCE ในระหว่างปี 1878 – 1880 อีกด้วย

หนังสือเล่มนี้หายสาบสูญไปนาน แต่มันกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งเมื่อ Edwin Lefevre ผู้เขียนหนังสือชื่อ Reminiscences of a Stock Operator ซึ่งเป็นชีวประวัติของ Jesse Livermore นักเก็งกำไรผู้โด่งดังในช่วงปี 1900-1930 กล่าวถึงกฏของ Watts ไว้ในหนังสือ

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีขนาดเล็กมาก มันมีกฏทองของการเก็งกำไรเพียงไม่กี่ข้อ ซึ่งเป็นการสรุปจากประสบการณ์การเก็งกำไรทั้งชีวิตของผู้เขียน ผมเห็นว่ามันมีประสบการณ์ที่ทรงคุณค่า ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดเวลาในการเรียนรู้เกี่ยวกับตลาดหุ้นของเราได้ โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าเทอมเองด้วย อย่างไรก็ตาม มันเป็นหลักสำหรับการเก็งกำไรเป็นหลัก ต้องระวังเวลานำไปใช้กับการลงทุน เพราะแม้ว่าจะใช้ได้บ้างในบางส่วน แต่ไม่ว่าทั้งหมด

กฏของ Watts มีทั้งหมด 10 ข้อ 4 ข้อแรก เป็นกฏที่เป็นจริงเสมอ (Laws Absolute)
อีก 6 ข้อหลังเป็นกฏที่โดยปกติให้ยึดถือเอาไว้ แต่ในบางสถานการณ์ก็สามารถยืดหยุ่นได้ (Rules Conditional) ผมขออนุญาตเริ่มจาก Rule Conditional ทั้ง 6 ข้อก่อน

Rule Conditional #1 : การซื้อเฉลี่ย “ขาขึ้น” ดีกว่าการซื้อเฉลี่ย “ขาลง”

ธรรมเนียมทั่วไปนิยมเชื่อว่าการเฉลี่ยขาลงดีกว่าเพราะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยลดลงเรื่อยๆ แม้ว่าสี่ในห้าครั้งที่เฉลี่ยขาลง ราคาหุ้นจะพลิกกลับขึ้นมา ทำให้มีกำไรได้ แต่จะมีอีกหนึ่งในห้าครั้งที่ ราคาหุ้นลงแบบถาวรไม่กลับขึ้นมาอีกเลยตลอดไป ซึ่งจะนำไปสู่การขาดทุนมหาศาลได้

Rule Conditional #2 ตลาดโวลุ่มหาย แนวต้านไม่แข็งแรง คือตลาดที่ควรจะขาย
เพราะตลาดเช่นนี้มักจะพัฒนาไปสู่ตลาดขาลง แต่เมื่อไรก็ตามที่ตลาดเช่นนี้ได้ผ่านไปสู่ภาวะที่มีโวลุ่มหนาแน่นและเป็นขาลงแล้วต่อด้วยแรงขายแบบตื่นตระหนกเรียบร้อยแล้วก็ถึงเวลาที่ควรจะซื้อมากๆ

ในทางตรงกันข้ามตลาดที่โวลุ่มหายแต่แนวต้านมั่นคงมักจะพัฒนาไปสู่ตลาดที่มีโวลุ่มหนาแน่นและมีฐานที่แข็งแรง หลังจากนั้นถ้าตลาดกลายเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยอารมณ์ตื่นเต้น ก็ควรจะขายออกมาอย่างมั่นใจ

 
Rule Conditional #3
ในการสร้างมุมมองเกี่ยวกับตลาด ปัจจัยด้านความน่าจะเป็นจะละเลยไม่ได้ จงคิดถึงความน่าจะเป็นเสมอ นโปเลียนวางแผนการรบจะเผื่อกรณีสุดวิสัยเอาไว้เสมอ อุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นมาทำลายหรือหักล้างการคิดคำนวณที่ดีที่สุดได้ การคิดคำนวณจึงต้องรวมสิ่งที่คาดไม่ได้เอาไว้เสมอ คนที่คิดคำนวณความน่าจะเป็นไว้ด้วยคือยอดคน

จงสร้างมุมมองจากข้อมูลต่างๆ เช่น สภาวะของประเทศ ผลผลิตทางการเกษตร ตัวเลขการผลิต ฯลฯ สถิติเก่าๆ นั้นเป็นสิ่งที่มีค่า แต่จะต้องไม่มีอิทธิพลเหนือข้อมูลในการสร้างมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ข้างหน้า คนที่ยึดติดกับสถิติเก่าๆ มากเกินไปจะหลงทาง เคนนิ่งกล่าวว่า “there is nothing so fallacious as facts, except figures.”

ดังนั้น จึงควรเริ่มซื้อแต่น้อย เมื่อราคาหุ้นไต่ระดับขึ้นก็ค่อยๆ ซื้อเพิ่มอย่างเฝ้าระวัง เมื่อไรที่ราคาหุ้นปรับฐานลงจนชนต้นทุนเฉลี่ยเมื่อไรก็ควรขายหนีทันที เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดทุน ถ้าทำเช่นนี้ตลอด จะมีบางครั้งที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปอย่างมากทำให้ได้กำไรมหาศาลในครั้งนั้น กลยุทธ์นี้มีความเสี่ยงต่ำ และเมื่อใดก็ตามที่สำเร็จจะได้กำไรสูง ควรใช้กลยุทธ์ซื้อเฉลี่ยขาขึ้นเมื่อคาดว่าตลาดกำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญและในจังหวะที่คุณมีเงินทุนพอเพียงที่จะทำเช่นนั้น

Rule Conditional #4
ในสถานการณ์ทั่วไป คำแนะนำของเราคือการซื้อในครั้งเดียวให้ได้จำนวนที่เหมาะสมกับทุนที่มีอยู่ไปเลย การ Cut loss หรือการ Take Profit ก็ให้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณ หลักก็คือ Stop lossess and let profits run. ถ้าหากกำไรขนาดเล็กเรา Take ได้ ขาดทุนขนาดเล็ก เราก็ต้องกล้า Take ด้วย การขาดความกล้าที่จะขาดทุนขนาดเล็กและการรีบร้อนเกินไปที่จะ Take Profit คือหายนะ มันทำให้เสียงานมามากแล้ว
Rule Conditional #5
การซื้อขาลงต้องอาศัยกระเป๋าเงินที่ลึกและจิตใจที่มั่นคง บ่อยครั้งที่ความหายนะมาเยือนผู้ที่มีทั้งสองสิ่ง ยิ่งจิตใจมั่นคง โอกาสที่จะถือหุ้นไว้นานเกินไปยิ่งมาก อย่างไรก็ดี มีคนจำพวกหนึ่ง ที่ประสบความสำเร็จในการซื้อขาลงแล้วถือไว้เฉยๆ พวกนี้ซื้อทีละน้อย เข้าอย่างรอบคอบ และถือเอาไว้นานๆ พวกเขาเป็นคนที่ไม่รู้สึกถูกรบกวนใจเพราะความผันผวนของราคา พวกเขาเป็นนักตัดสินใจซึ่งซื้อในยามที่ตลาดแย่มากๆ แล้วถือไว้จนธุรกิจพลิกฟื้นตัวได้ แบบนี้เป็นการลงทุนไม่ใช่การเก็งกำไร

Rule Conditional #6
ความเห็นของตลาดนั้นจะละเลยไปเลยไม่ได้ เมื่อเกิดกระแสการเก็งกำไร เราควรเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด หลักก็คือ ตัดสินใจอย่างรอบคอบตลาดกระแสตลาด ถ้าจะสวนตลาดก็ให้ทำอย่างกล้าหาญ การแห่ตามตลาดแม้ว่าทุกอย่างจะดูดีนั้นเป็นเรื่องที่อันตราย เมื่อทิศทางพลิกกลับเราจะลำบาก นักเก็งกำไรตระหนักดีถึงอันตรายของ “การมีเพื่อนมากเกินไป” ในขณะเดียวกันก็ต้องรอบคอบอย่างยิ่งในการสวนตลาด ตลาดมีชีพจรที่นักเก็งกำไรควรวางมือของตนไว้บนข้อมือของตลาดแบบเดียวกับแพทย์ ชีพจรนี้คือสิ่งที่จะบ่งบอกเราว่าควรทำเช่นไรและเมื่อใด

คราวนี้ ขอกล่าวถึง Law Absolute ที่เหลืออีก 4 ข้อ ของ Dicksons G.Watts บ้าง

Law Absolute 1: Never Overtrade
การเปิดสถานะโดยมิประเมินทุนที่มีอยู่นำมาซึ่งหายนะ ความผันผวนที่รุนแรงจะปั่นหัวของนักลงทุนทำให้การตัดสินใจผิดพลาดไปหมด

 
Law Absolute #2 : Never “Double Up”
ห้ามกลับสถานะทีเดียวทั้งหมดในทันที ตัวอย่างเช่น กำลัง long อยู่ ห้ามขายทิ้งหมดแล้วเปลี่ยนมา short ทันทีในปริมาณที่เท่ากัน ในบางครั้งการทำเช่นนี้อาจประสบความสำเร็จแต่นับว่าอันตราย หากตลาดพลิกกลับมาขึ้นต่อ ใจกลับไปเก็งทิศทางเดิม นักเก็งกำไรจะทิ้ง short แล้วหันมา long ใหม่อีกครั้ง ถ้าหากว่าหนนี้ผิดพลาด ความปั่นป่วนในใจจะเกิดขึ้น

ดังนั้นเมื่อต้องการกลับทิศทางควรทำทีละน้อยอย่างระมัดระวัง ทั้งหมดก็เพื่อรักษาความสามารถในการตัดสินใจของเราให้ปลอดโปร่งอยู่เสมอ สร้างสมดุลของจิตใจ

Law Absolute #3 : Run Quickly or Not at All
ลงมือจัดการทันทีที่เห็นอันตรายเริ่มเคลือบคลานเข้ามาเป็นครั้งแรก แต่หากพลาดที่จะลงมือแต่เนิ่นๆ จนกระทั้งคนอื่นในตลาดเห็นอันตรายนั้นกันหมดแล้วก็จงอยู่เฉยๆ เหมือนเดิม หรือมิฉะนั้นก็ปิดสถานะเพียงแค่บางส่วน

Law Absolute #4: เมื่อลังเล ลดสถานะ
หากรู้สึกใจคอไม่ดีกับสถานะที่เปิดอยู่ หรือสถานะใหญ่เกินกว่าที่จะรู้สึกปลอดภัย ชายคนหนึ่งบอกชายอีกคนหนึ่งว่าเขานอนไม่หลับเลยเพราะสถานะของเขา ชายอีกคนตอบง่ายๆ ว่า “Sell down to a sleeping point.”
ผมเห็นว่า กฏของ Watts นั้นมีอะไรที่ลึกซึ้งซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดเยอะ หลายอย่างเกิดจากประสบการณ์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ทำให้มือใหม่อาจยังเข้าใจไม่ได้ในทันที ลองค่อยๆ อ่านทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ จะได้หลักการอะไรดีๆ หลายอย่างมาปรับใช้ให้เราอยู่ในตลาดได้อย่างคนฉลาดมากขึ้นครับ

 

0307: เบน แกรม เปลี่ยนแนว

เบนจามิน แกรม เป็นผู้บุกเบิกแนวการลงทุนโดยอาศัยการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน แนวทางหนึ่งที่เบนแนะนำคือให้นักลงทุนเลือกซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่า net current asset ของมันมากๆ แล้วถือไว้จนกว่าราคาหุ้นจะขึ้นมาเท่ากับค่าดังกล่าว เป็นต้น คำสอนต่างๆ ของเบนถือว่าเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วในหมู่นักลงทุนแนว Value Investing

อย่างไรก็ตาม เรื่องหนึ่งที่นักลงทุนอาจไม่เคยทราบคือ ในช่วงบั้นปลายชีวิต เบนจามิน แกรม ได้ละทิ้งวิธีการลงทุนเหล่านั้นไปโดยสิ้นเชิง ข้อความต่อไปนี้แปลมาจากบทสัมภาษณ์ของเบนจามิน แกรม ใน Financial Analyst Journal เมื่อหลายปีที่แล้ว 

“I am no longer an advocate of elaborate techniques of security analysis in order to find superior value opportunities. This was a rewarding activity, say, 40 years ago, when our textbook “Graham and Dodd” was first published; but the situation has changed a great deal since then. In the old days any well-trained security analyst could do a good professional job of selecting undervalued issues through detailed studies; but in the light of the enormous amount of research now being carried on, I doubt whether in most cases such extensive efforts will generate sufficiently superior selections to justify their cost. To that very limited extent I’m on the side of the “efficient market” school of thought now generally accepted by the professors.”

“ผมไม่แนะนำให้ใช้เทคนิควิเคราะห์หลักทรัพย์ต่างๆ ที่ผมได้อธิบายไว้ในการเสาะหาคุณค่าในตลาดอีกต่อไปแล้ว นั่นเป็นวิธีการที่ได้ผลดีเยี่ยมเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว เมื่อตำราของเราถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรก แต่สถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปมากแล้ว สมัยก่อนนักวิเคราะห์ที่มีความรู้คนไหนๆ ก็สามารถประกอบอาชีพค้นหาหุ้นด้วยการทำงานหนัก แต่ด้วยปริมาณบทวิจัยที่ออกมาอย่างมากมายในปัจจุบัน ผมสงสัยว่าการทำงานหนักเหล่านั้นจะสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับต้นทุนของมันได้หรือไม่ ในแง่นี้ ผมอยู่ข้างเดียวกันกับแนวคิดเรื่อง ตลาดมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันได้รับการยอมรับโดยบรรดานักวิชาการ”

(อ่านเวอร์ชั่นเต็มได้ที่ http://www.bylo.org/bgraham76.html )

ใครที่อ่านบทสัมภาษณ์อาจมองว่าเบนเป็นคนโลเล แต่ผมกลับไม่ได้คิดอย่างนั้น บทความนี้กลับทำให้ผมได้เห็นว่า เบนเป็นคนที่มุ่งมั่นที่จะแสวงหาความรู้อย่างแท้จริง เพราะโดยปกติแล้ว คนเราถ้าคิดหลักการอะไรขึ้นมาจนมีชื่อเสียง มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย แล้ววันหนึ่ง เกิดได้รับข้อมูลใหม่ว่า หลักการเดิมของตนใช้ไม่ได้ผลแล้ว ก็มักหรี่ตาเสียข้างหนึ่ง แล้วยืนกระต่ายขาเดียวต่อไปว่าหลักการเดิมของตนยังใช้ได้อยู่ หาไม่แล้วจะถูกลูกศิษย์ลูกหามองว่าเป็นอาจารย์ที่ล้มเหลว แต่เบนไม่ได้เป็นคนเช่นนั้นเลยแม้แต่น้อย แม้เบนจะแก่มากแล้ว และอยู่ในตลาดมามากกว่าหกสิบปี แต่เบนก็ยังคงเป็นคนที่เรียนรู้ความคิดใหม่ๆ อยู่เสมอ แม้แต่ความคิดเรื่องตลาดประสิทธิภาพ ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดของเขาอย่างสิ้นเชิง เบนก็ยังสามารถเปิดใจรับฟังได้ นับว่าเป็นบุคคลที่หาได้ยากยิ่ง เป็นทองแท้ครับ

เรื่องที่วิธีการของเบนใช้ไม่ได้แล้ว ผมมองว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยไม่แต่น้อย เพราะในสมัยที่เบนเริ่มลงทุนนั้น นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดยังไม่รู้จักอาศัยข้อมูลงบการเงินในการตัดสินใจเลือกหุ้น ช่องว่างในการทำกำไรด้วยวิธีแบบใหม่นี้จึงยังมีอยู่มาก ต่อมาแนวทางของเบนมีชื่อเสียง มีผู้ลอกเลียนแบบวิธีการของเบนในการหากำไรในตลาดหุ้นเป็นจำนวนมาก ประกอบกับตลาดหุ้นพัฒนาขึ้น ข้อมูลเหล่านี้จึงแพร่หลายทั่วไป อีกทั้งยังมีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยค้นหาหุ้นกันอย่างแพร่หลาย ช่องว่างที่เคยมีอยู่อย่างมากมายจึงหายไปหมด ในตลาดหุ้น วิธีการใดๆ ก็ตามที่มีผู้นำไปใช้มากเกินไปจะใช้ไม่ได้ในที่สุด 

แม้ว่าวิธีการของเบนจะไม่เหมาะกับตลาดทุนยุคใหม่แล้ว แต่บุคลิกของเบนที่เป็นคนพร้อมรับความรู้ใหม่ได้อยู่ตลอดเวลาทั้งที่เป็นนักลงทุนระดับตำนานแล้ว ไม่ว่าความรู้ใหม่นั้นจะขัดแย้งกับความเชื่อเดิมหรือไม่ก็ตาม ถือเป็นคุณลักษณะที่นักลงทุนน่าจะนำไปเป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนที่ลงทุนในแนวเน้นคุณค่า ซึ่งถือเป็นลูกศิษย์สายตรงของเบน แกรม ประสบการณ์ในตลาดทุนต้องใช้เวลาสะสมตลอดชีวิต นักลงทุนจึงต้องหาทางพัฒนาฝีมือของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ควรหยุดอยู่กับที่ครับ

0306: บิล มิลเลอร์

บิล มิลเลอร์ ผู้จัดการกองทุน Value Trust แห่ง Legg Mason Capital Management ถือเป็นผู้จัดการกองทุนคนเดียวที่สามารถเอาชนะดัชนี S&P500 ได้ติดต่อกันยาวนานที่สุดคือ 15 ปี (เขาเพิ่งจะเสียสถิติไปเมื่อปี 2006) แม้ว่าเขาจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนน้อยลงมากหลังจากที่เขาเสียสถิติไปแล้วและผลงานของเขาหลังจากนั้นก็ยังคงดูไม่ค่อยดีนัก แต่วิธีคิดของผู้จัดการกองทุนคนเดียวที่เคยชนะตลาดติดต่อกัน 15 ปีได้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง (เนื้อหาต่อจากนี้ไปมีบางส่วนเป็นความเห็นต่าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกับความเชื่อที่มีอยู่เดิมของผู้อ่านได้ หากไม่ต้องการอ่านต่อ กรุณาคลิก ที่นี่ )  

บิล มีประวัติที่แปลกกว่าผู้จัดการกองทุนทั่วไป เขาไม่ได้เรียนมาทางการเงินเลย แต่เขาจบปริญญาเอกทางด้านปรัชญา ซึ่งเขาบอกว่า วิธีคิดแบบปรัชญามีอิทธิพลต่อวิธีการมองตลาดทุนของเขาอย่างมาก

เดิมที บิลไม่ได้ทำงานด้านการเงิน แต่เขาต้องไปรับส่งภรรยาของเขา ซึ่งทำงานอยู่ที่ Legg Mason ทุกวัน เขาจึงชอบไปนั่งอ่านหนังสือในห้องสมุดของบริษัท เมื่อประธานบริษัทเห็นเขาเป็นประจำก็เกิดความสนใจว่าทำไมคนนี้จึงชอบใช้ห้องสมุดทางการเงินที่เขาอุตส่าห์สร้างขึ้นมาเพื่อหวังให้พนักงานบริษัทอ่านหนังสือมากๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ แต่กลับไม่ค่อยมีพนักงานของบริษัทมานั่งอ่าน เมื่อได้คุยกัน ก็ถูกใจในความคิดความอ่านจึงได้ชวนบิลมาทำงาน แล้วชีวิตของบิลก็เดินเข้าสู่วงการการเงินนับแต่นั้น จนกลายมาเป็นผู้จัดการกองทุน ที่มีชือเสียงระดับตำนานในเวลาต่อมา

บิล บริหารกองทุน Value Trust ซึ่งเขาบอกว่าเป็นกองทุนที่ยึดหลัก Value Investment แต่เขามักถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอว่าไม่ได้ใช้หลักการดังกล่าวจริงๆ เนื่องจากหุ้นส่วนใหญ่ในพอร์ตเป็นหุ้นที่ตลาดมองว่าเป็น Growth Stocks เป็นส่วนใหญ่ (Amazon, Google, EBay, etc) 

บิลแย้งว่า สำหรับเขา Value Investment คือการซื้อหุ้นที่เทรดต่ำกว่าคุณค่าของมันมากๆ ไม่ว่าหุ้นเหล่านั้นจะเป็นหุ้นอะไร ที่พอร์ตของเราถือหุ้นเทคโนโลยีไว้มาก เป็นเพราะเรามองว่า หุ้นเทคโนโลยีในปัจจุบันจำนวนมากเป็นหุ้นที่ยังเทรดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของมันมาก พีอีไม่ใช่สิ่งที่เขาใช้มองหาคุณค่า เขามองว่าพีอีใช้บอกคุณค่าได้แค่เพียงบางด้านเท่านั้น เมื่อตอนที่เขาลงทุนใน Dell เทรดที่พีอี 35 เท่า ในขณะที่ Gateway เทรดที่ 12 เท่า แต่บิลเลือก Dell เพราะในเวลานั้นธุรกิจของ Dell สร้างผลตอบแทนได้ 200% ของเงินลงทุนทุกปี (Return on investment) ในขณะที่ Gateway ทำได้แค่ 40% การที่ Dell เทรดสูงกว่า Gateway แค่ 3 เท่าทั้งที่สามารถสร้างผลตอบแทนของเงินลงทุนได้สูงกว่าถึง 5 เท่า จึงแสดงว่า Dell เป็นหุ้นที่ undervalued มากกว่าเมื่อเทียบกับ Gateway

ในการหา intrinsic value บิลจะใช้หลายโมเดลเสมอเพื่อพิจารณาประกอบกันเสมอ แทนที่จะใช้ตัวชี้วัดตัวใดตัวหนึ่งเพียงแค่ตัวเดียว 

นอกจาก การเลือกลงทุนแต่หุ้นที่ประเมินว่ายังเทรดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากๆ แล้วเท่านั้น บิลยังอาศัยการมองธุรกิจโดยเน้นที่ภาพระยะยาวมากเป็นหลัก บิลอธิบายว่า หุ้นที่มีรายได้เติบโตสูงในระยะยาว ราคาหุ้นมักผันผวนมากในระยะสั้น เพราะคุณค่าของมันขึ้นอยู่กับการเติบโตในอนาคต ราคาจึงอ่อนไหวกับความคาดหวังของตลาดมาก นักลงทุนจึงมักรู้สึกว่าเป็นหุ้นที่เสี่ยง แต่ที่จริงแล้ว หุ้นที่สามารถสร้างรายได้ให้เติบโตสูงในระยะยาวได้เท่านั้นที่จะทำให้ราคาหุ้นวิ่งไปได้ไกลที่สุดในระยะยาว มันจึงเป็นหุ้นที่น่าถือไว้ในระยะยาวมากที่สุด การลงทุนที่มองภาพในระยะยาวมากเป็นหลักทำให้ Va lue Trust เป็นกองทุนที่มีอัตราการเทรดที่ต่ำมาก คือประมาณ 20% ของทั้งพอร์ตต่อปีเท่านั้น (เทียบกับค่าเฉลี่ยของทั้งอุตสาหกรรมกองทุนรวมในสหรัฐฯ ซึ่งเกิน 100% ต่อปี) บิลต้องการให้พอร์ตโตไปด้วยกันกับกิจการที่เขาลงทุน

ในการลงทุน บิลไม่ให้ความสำคัญกับข้อมูล forecast เพราะ บิลเชื่อว่า forecast ที่อยู่ในหนังสือพิมพ์ทั้งหมด ถูก discount ไปในราคาหุ้นหมดแล้ว (if it’s in the newspaper, it’s in the price) ข้อมูลเกี่ยวกับ forecast จึงเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถช่วยให้ชนะตลาดได้ บิลมองว่ากำไรในอีก 12 เดือนข้างหน้ามักไม่ค่อยมีผลต่อราคาหุ้นในวันนี้ เพราะตลาดมัก forecast ไปล่วงหน้า 12 เดือน กำไรในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะมีผลต่อราคาหุ้นก็ต่อเมื่อกำไรที่ออกมาผิดจาก forecast ไปมากๆ เท่านั้น เขายกตัวอย่างว่า สมมติว่า IBM ถูกคาดหมายว่าจะกำไร $5 ในอนาคตอันใกล้ แต่พอถึงเวลานั้นจริงๆ หาก IBM กลับทำกำไรได้แค่ $3 บางคนอาจคิดว่าราคาหุ้น IBM คงจะลง แต่ปรากฏว่าราคาหุ้น IBM อาจปรับเพิ่มขึ้นถึง 50% เลยก็ได้ถ้าหากตลาดคิดต่อไปแล้วว่าในช่วงเวลาถัดจากอีก 12 เดือนออกไป IBM จะกลับมามีกำไร $7 ปรากฏการณ์ในลักษณะเช่นนี้มีให้เห็นได้บ่อยๆ ในตลาดหุ้น

บิลเชื่อว่า ตลาดหุ้นไม่ได้มีประสิทธิภาพในแง่ที่ว่าราคาหุ้นสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของกิจการตลอดเวลา แต่ตลาดหุ้นก็มีประสิทธิภาพสูงมากในแง่ของการซึมซับข่าวอย่างรวดเร็ว (informationally efficient) หมายความว่า คุณไม่มีทางเอาชนะตลาดได้โดยการรู้ข่าวก่อนคนอื่น ผลกำไรส่วนเกินในตลาดหุ้นต้องมาจากการ exploit ความลำเอียงของตลาดซึ่งเป็นผลมาจาก Psychological Bias อันเป็นข้อบกพร่องของมนุษย์ ซึ่งกลไกตลาดไม่สามารถขจัดออกไปได้ (เพราะตลาดประกอบด้วยมนุษย์) เขาจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่อง Bias ของมนุษย์มาก เพราะมองว่าคือหนทางสำคัญที่จะทำให้ชนะตลาดได้ เขายังเป็นประธาน SantaFe Institute ซึ่งวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกด้วย 

บิลกล่าวว่า วิธีเอาชนะตลาดนั้นมีอยู่หลายวิธี แต่วิธีที่ไม่ใช่แน่นอนคือวิธีการลงทุนที่เหมือนกับคนส่วนใหญ่ในตลาด     

0305: วอเรน บัฟเฟต

วอเรน บัฟเฟต จัดว่าเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก 

วอเรน ซื้อหุ้นครั้งแรกเมื่ออายุได้เก้าขวบ ราคาหุ้นที่ร่วงลง ทำให้เขาวิตกกังวลมาก เมื่อราคาหุ้นเด้งกลับมาจนมีกำไร เขาก็ขายหุ้นนั้นด้วยความโล่งอก แต่หลังจากนั้น หุ้นดังกล่าวก็ทะยานขึ้นอย่างมากมาย ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้วอเรนเห็นข้อเสียของการขายหุ้น

ในวัยหนุ่ม วอเรน เริ่มมีแนวการลงทุนที่ชัดเจนเป็นครั้งแรก เมื่อได้ศึกษาแนวทางของ เบนจามิน แกรม ที่เรียกว่า Value Investment ซึ่งสอนให้มองการซื้อหุ้นให้เหมือนการซื้อธุรกิจจริงๆ มากกว่าการซื้อเศษกระดาษ วอเรนกล่าวว่า แนวคิดนี้ช่วยทำให้เขาตาสว่าง

ในช่วงแรก วอเรนยึดมั่นในวิธีของเบน แกรมอย่างเหนียวแน่น เขาเลือกลงทุนในหุ้นก้นบุหรี่ ซึ่งหมายถึง หุ้นที่มีราคาต่ำกว่าสินทรัพย์ของบริษัทอย่างมากเสียจน ซื้อแล้วแทบไม่มีอะไรจะเสียได้อีกแล้ว

แต่ต่อมา เขาก็ค้นพบว่า ที่จริงแล้ว ธุรกิจจะมีบางสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่มีค่ามากมายกว่าสินทรัพย์ในงบดุล เป็นอย่างมาก เขาเรียกมันว่า Franchise Value หลังจากนั้น วอเรน ก็เริ่มลงทุนด้วยการค้นหาบริษัทที่มี Franchise Value เป็นหลัก นี่เองที่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผลตอบแทนของวอเรนในช่วงหลัง แซงหน้าเบนจามิน แกรม อย่างมีนัยสำคัญ

ในช่วงนี้ เขายังได้ศึกษาแนวการลงทุนของ Philip Fisher อีกด้วย ซึ่งเน้นให้ลงทุนในธุรกิจที่มีอนาคตที่ยาวไกล และให้ความสำคัญกับการประเมินคุณภาพของผู้บริหารเป็นอย่างยิ่ง ทำให้วอเรน เริ่มมีแนวการลงทุนเป็นของตนเอง ซึ่งเขาบอกว่า เป็นการผสมแนวของแกรมและฟิชเชอร์ในสัดส่วน 70:30

การลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาคือการใช้เงินจำนวนมากเข้าซื้อหุ้นโคล่าโคล่า ซึ่งวอเรนมองว่าเป็นกิจการที่มี Franchise Value คือ ตราสินค้าที่ไม่มีใครเทียบเคียงได้ เขาซื้อมันที่พีอีเรโชประมาณ 16 เท่า ซึ่งสูงกว่าพีอีตลาดในขณะนั้นถึงเกือบสองเท่าตัว แต่หลังจากนั้น บริษัทโคล่าโคล่าก็มีอัตราการเติบโตของกำไรที่อย่างต่อเนื่องยาวนานหลายปี ขยายกิจการไปทั่วโลก ทำให้มันมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย

หุ้นโคล่าเคยมีราคาสูงสุดในช่วงปี 2000 ที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ บูมสุดขีด ซึ่งทำให้หุ้นของวอเรนมีมูลค่าตลาดสูงกว่าต้นทุนที่ซื้อมามากถึง 16 เท่าตัว ก่อนที่จะถอยกลับลงมาเหลือประมาณ 9 เท่าตัวในปัจจุบัน แม้จะตกลงมามาก แต่เพราะกำไรที่เพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาติดต่อกันที่ยาวนานมากในช่วงระยะเวลาหนึ่งหลังจากบัฟเฟตเข้าลงทุน ทุกวันนี้แม้ว่าโค้กจะไม่เติบโตมากเท่ากับสมัยก่อน แต่หุ้นโค้กก็ยังให้เงินปันผลแก่เขา ปีละประมาณถึง 1/3 ของต้นทุนที่เขาได้ลงทุนไปทุกๆ ปี

0304: Sir John Templeton

Sir John Templeton เป็นนักลงทุนระดับตำนานที่ก่อตั้งกองทุน Templeton ซึ่งมี มาร์ค โมเบียส เป็นหนึ่งในผู้จัดการกองทุน

JT เกิดในครอบครัวเกษตรกรที่ยากจน ในวัยเด็กเขาได้เห็นปู่ของเขาซึ่งชอบการเก็งกำไรตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแบบแมงเม่า และหมดตัว ทำให้เขามีทัศนคติว่า อนุพันธ์คือสิ่งที่ทำให้คุณเป็นเศรษฐีได้ในไม่เวลาไม่กี่วัน และวันต่อมาคุณก็หมดตัว เขาสนใจการลงทุนในหุ้นสามัญมากกว่า

JT เริ่มต้นตำนานการลงทุนของเขาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งในเวลานั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในภาวะที่ซบเซาอย่างเรื้อรัง อันเป็นผลพวงที่ต่อเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 1929 เมื่อสหรัฐฯ ตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง นักลงทุนพากันทิ้งหุ้นเพื่อหนีภาวะสงคราม แต่ JT กลับมองว่า การเข้าร่วมสงครามของสหรัฐฯ จะทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจถูกนำออกมาใช้ และจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ หลุดออกจากภาวะซบเซาได้ เมื่อคิดได้ดังนั้น แต่ตัวเองไม่มีเงินเลย เขาจึงขอยืมเงินจากเจ้านายของเขา มาจำนวนหนึ่ง แล้วนำเงินนั้นทั้งหมดมาซื้อหุ้นของบริษัทที่อยู่ในภาวะย่ำแย่กว่า 100 บริษัทสวนทางกับคนอื่นในตลาดในราคาที่ถูกแสนถูก

หลังจากนั้นปรากฏว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งจริงๆ อย่างที่ JT คิดไว้ เขาถือหุ้นเหล่านั้นไว้อีก 4 ปีก่อนที่จะขายพวกมันออกมาทั้งหมด ซึ่งทำให้เขาได้กำไรอย่างมากมายมหาศาล เขาคืนเงินต้นให้กับเจ้านาย แล้วเก็บกำไรทั้งหมดเอาไว้กับตัวเอง และเขาก็เปลี่ยนเป็นบุคคลที่ร่ำรวยนับแต่นั้นมา

JT เป็นนักลงทุนสไตล์คอนทราเรียนตัวยง เขาบอกว่า เวลาที่การมองโลกในแง่ร้ายของผู้คนถึงขีดสุด คือเวลาที่ควรเข้าซื้อหุ้นให้เต็มที่

JTเป็นเจ้าของวลีดังที่ว่า “ตลาดกระทิงเกิดขึ้นท่ามกลางการมองโลกในแง่ร้าย เติบโตภายใต้ความระแวงสงสัย บรรลุวุฒิภาวะด้วยการมองโลกในแง่ดี และล่มสลายด้วยความมั่นใจที่สุดขีด”

JT ยังเป็นเจ้าของอีกวลีหนึ่งที่ว่า “บางครั้งราคาหุ้นเพิ่มขึ้น เพียงเพราะราคาเพิ่มขึ้น” หมายความว่า หุ้นที่ราคาขึ้นจะทำให้คนรู้สึกอยากซื้อ ราคาหุ้นจึงขึ้นไปอีก ทั้งที่ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตัวกิจการทั้งสิ้น   

JT มีความชำนาญในการมองภาวะตลาดหุ้นโดยรวม เขาไม่ซื้อหุ้นบ่อยนัก แต่เมื่อถึงเวลาซื้อ จะซื้อครั้งละมากๆ แล้วขายทั้งหมดออกไปในอีกสามถึงสี่ปีต่อมา เพราะเขามองว่า แนวโน้มมหภาคมักจะกินเวลานานเป็นสิบปี แต่เมื่อถึงเวลากลับตัว จะรวดเร็วและเหนือความคาดหวังของนักลงทุนในตลาดเสมอ

กองทุนของเขามีความชำนาญในการลงทุนในต่างประเทศเป็นอย่างมาก เขาได้กำไรครั้งใหญ่หลายครั้งจากการมองออกว่า ประเทศใดกำลังจะเข้าสู่ยุคทองแล้วเข้าไปลงทุนก่อนคนอื่น ในการเลือกประเทศที่จะลงทุน เขาชอบประเทศที่เริ่มเข้าสู่ช่วงที่มีนโยบายเป็นเสรีมากขึ้นเรื่อยๆ มากที่สุด  

0303: John Neff

John Neff เป็นนักลงทุนแนวเน้นคุณค่าที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่ง กลยุทธ์การลงทุนของเขาคือ “ซื้อหุ้นที่ไม่อยู่ในความสนใจของตลาดแต่มีโอกาสเติบโตในอนาคตที่น่าสนใจ และขายเมื่อตลาดกลับมาเห็นด้วยกับคุณอย่างสมบูรณ์แล้ว” นับเป็นกลยุทธ์ที่ผมได้ยินแล้วรู้สึกชอบมากๆ เป็นการส่วนตัว Neff เกลียดการซื้อหุ้นที่กำลังเป็นที่สนใจของตลาดมาก  

จุดเด่นอย่างหนึ่งของ Neff คือ เขามีหลักการซื้อขายหุ้นที่ทำตามได้ไม่ยากและเป็นรูปธรรม เขากล่าวว่า ความน่าสนใจของหุ้นตัวหนึ่งจะถูกวัดจาก อัตราการเติบโตที่คาดบวกด้วยอัตราเงินปันผล หารด้วย พีอี ของมัน เขาเรียกมันว่า PYG ยิ่งมีค่ามากเท่าไร ยิ่งน่าสนใจ

เวลาคิดจะซื้อหุ้นสักตัวหนึ่งให้เปรียบเทียบ PYG ของมัน กับ PYG ของพอร์ตเดิมที่มีอยู่ ถ้าหาก PYG ของหุ้นตัวนั้นมีค่าสูงกว่า PYG ของพอร์ตปัจจุบัน การซื้อหุ้นนั้นเข้าพอร์ตจะเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับพอร์ต นักลงทุนควรหาโอกาสเพิ่มค่า PYG ของพอร์ตให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการเติมหุ้นที่มี PYG สูงกว่าพอร์ตเข้าไปในพอร์ต ไม่ต้องไปสนใจ PYG ของตลาดมากนัก ยกเว้นในยามที่ PYG ของตลาดสูงมากจริงๆ อาจเปลี่ยนมาเงินสดไว้สัก 20% ก็ได้

นักลงทุนระดับตำนานมักร่ำรวยมาจากการซื้อหุ้นเพียงไม่กี่ครั้งในชีวิตที่เขามั่นใจมากๆ และทุ่มซื้อด้วยเงินที่เป็นสัดส่วนที่สูงมากของทุนทั้งหมดที่เขามีอยู่ Neff ซื้อ Ford ที่พีอีแค่ 2.5 เท่าที่ราคาเฉลี่ย $14 ในช่วงที่ทุกคนกังวลว่าบริษัทกำลังจะล้มละลาย เขาถือมันไว้ 3 ปี ราคากลับขึ้นไป $50 ทำให้เขาได้กำไรมากถึง 500 ล้านเหรียญจากหุ้นตัวเดียว  

ผลงานตลอดชีวิตของ Neff เป็นตัวเลขที่ไม่ได้สูงมาก เฉลี่ยเพียง 13.7% ต่อปีเท่านั้น แต่เป็นระยะเวลาลงทุนที่ยาวนานถึง 32 ปี มันจึงเป็นผลตอบแทนที่มหาศาล นี่แสดงให้เห็นว่าการจะเป็นนักลงทุนระดับตำนานนั้นไม่จำเป็นต้องได้ผลตอบแทนต่อปีสูงๆ ขอให้เป็นการลงทุนที่มีความมั่นคงพอสมควรเพื่อให้พอร์ตสามารถดำรงอยู่ได้เป็นระยะเวลานานโดยไม่ blow ไปเสียก่อน คุณก็สามารถสร้างตำนานได้แล้วครับ