0219: การทดลองครั้งยิ่งใหญ่

หลังจากที่ผมได้พยายามค้นหาวิธีที่ดีที่สุดสำหรับคนที่ต้องการลงทุนแบบ ระยะยาวในตลาดหุ้นไทยมาได้สักพัก ถึงเวลาแล้วที่ผมจะลองทำการทดลองอะไรบางอย่าง

เป้าหมายของผมคือการออกแบบ “วิธีการลงทุน” ในตลาดหุ้นไทยที่

  1. ให้ผลตอบแทนในระยะยาวเกิน 10% ต่อปีขึ้นไป (คิดแบบ IRR) และเอาชนะตลาดได้
  2. เป็นวิธีการที่ไม่ยาก average person สามารถทำได้ทุกคน
  3. ไม่ต้องติดตามตลาดแบบใกล้ชิด (ข้อนี้สำคัญ)

จากการค้นคว้าของผม ผมคิดว่าวิธีการลงทุนต่อไปนี้น่าจะทำให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

ขั้นตอนแรก คัดเลือกหุ้นไทยจำนวน 7 ตัว โดยพิจารณาจากคุณสมบัติต่อไปนี้เป็นสำคัญ

  1. เป็นธุรกิจที่น่าจะยังมีการเติบโตอยู่ต่อไปในระยะยาว (สำคัญที่สุด)
  2. ต้องเป็นบริษัทที่ established แล้วพอสมควร
  3. ไม่มีหุ้นที่อยู่ใน sector เดียวกันเกิน 3 ตัว

มีการปรับออกเป็นระยะๆ ได้ ถ้าหากเชื่อว่า หุ้นตัวดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวอีกต่อไป

ขั้นตอนที่สอง จากนั้นก็เริ่มทยอยซื้อเดือนละหนึ่งตัว สลับกันไปเรื่อยๆ ด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันในแต่ละครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 15 ปี อย่างเคร่งครัดแบบหุ่นยนต์ ห้ามเปลี่ยนลำดับ และห้ามขายเลยก่อนครบกำหนด 

เพื่อพิสูจน์ศักยภาพของวิธีการนี้ ผมจึงคิดจะสร้างพอร์ตการลงทุนที่ลงทุนด้วยวิธีการนี้ขึ้นมาสักพอร์ต และเพื่อความสนุกสนาน ผมเพิ่งไปเปิดบัญชีใหม่กับโบรกขึ้นมาอีกหนึ่งบัญชี เพื่อใช้สร้างพอร์ตดังกล่าวด้วยเงินจริงๆ ด้วย จะดูว่าอีก 15 ปีข้างหน้า มันจะเป็นยังไง

กฏการลงทุนของพอร์ตนี้

  1. หุ้น 7 ตัวแรกที่จะลงทุนได้แก่ ADVANC, BANPU, BGH, CPN, HMPRO, MINT, PS (ต่อไปสามารถปรับรายชื่อได้ ถ้าเห็นว่าไม่ใช่ธุรกิจที่เติบโตอีกต่อไป หรือหุ้นถูก delist หรือโดน merge)
  2. ซื้อหุ้นหนึ่งตัว ทุกวันที่ 15 ของเดือน (หรือวันทำการถัดไปถ้าตลาดปิด) ตอนปิดตลาด เป็นเงิน 25, 000 บาท (ปัดเศษลงให้ Lot size ลงตัว) หรือไม่เกิน 100 หุ้น โดยซื้อสลับตัวไปเรื่อยๆ ตามตัวอักษร (ในอนาคตหุ้นตัวใหม่มาแทนตัวไหน ก็จะได้ลำดับของตัวนั้นไปแทน)
  3. เมื่อได้รับเงินปันผลให้นำกลับไปลงทุนอีกเสมอ โดยลงทุนครั้งละ 25, 000 บาทเช่นกัน รอซื้อพร้อมเดือนถัดไป หรืออาจสำรองล่วงหน้าไว้ในกรณีที่กำลังจะมีการเพิ่มทุนก็ได้
  4. หุ้นตัวใดที่มีน้ำหนักในพอร์ตมากกว่า 30% จะโดนหยุดซื้อชั่วคราวจนกว่าน้ำหนักจะลดลง
  5. ลงทุนต่อเนื่องเป็นเวลา 15 ปี  

ธุรกรรมทั้งหมดของพอร์ตจะถูกนำมาบันทึกไว้ในบล็อกแห่งนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 2552 นี้เป็นต้นไปครับ

0206: 50 ไอเดียการลงทุนในตลาดหุ้นไทย

50covergif

ขอแนะนำหนังสือเล่มใหม่ของผมนะครับ “50 ไอเดียการลงทุนในตลาดหุ้นไทย” เล่มนี้ก็คือการรวมเล่มเนื้อหาในบล็อกเซ็ตเทรด ในช่วงปี 50-51 นั่นเอง พร้อมด้วยคอมเมนท์ของผู้อ่านทุกท่าน จัดพิมพ์ขึ้นเป็น Limited Edition สำหรับผู้ที่ต้องการเก็บสะสมบทความตามคำเรียกร้อง 

ตอนนี้มีวางจำหน่ายแล้ว ที่สาขาของร้านบีทูเอสเท่านั้นครับ

0011 : People>Process>Value

บริษัทเกิดใหม่คุณค่ามักอยู่ที่ “คน” (People) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ก่อตั้งบริษัท ถ้านายคนนี้เก่งพอ บริษัทก็จะแจ้งเกิดได้ ในช่วงเริ่มต้นถ้าคนที่เป็นกำลังหลักเกิดตีจากไปสักคนหนึ่ง บริษัทมักได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงถึงขั้นเจ๊งได้เลยทีเดียว

ถ้าบริษัทผ่านช่วงเริ่มต้นมาได้ และต้องการจะเติบโตต่อไป การพึ่งพา “คน” เป็นหลักจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป เพราะพนักงานจะต้องมีมากขึ้น ถ้าใครลาออกทีแล้วบริษัทก็วิกฤตที ก็คงไม่ไหว บริษัทจะต้องมีการสร้าง “ระบบ” (Process) ขึ้นมาเพื่อลดการพึ่งพาตัวบุคคล สมัยนี้ทางลัดของการสร้างระบบขึ้นมาแทนคนคือการใช้พวก ERP ทั้งหลาย เวลาที่ฝ่ายจัดซื้อลาออกไปคนนึง คนใหม่เข้ามาจะสามารถสานงานต่อได้ทันที เพราะกดหน้าจอทีเดียว ข้อมูลทุกอย่างก็จะโชว์ออกมาหมด คุณค่าของบริษัทจึงหันมาอยู่ที่ “ระบบ” มากกว่า “คน” อันที่จริง บริษัทก็ยังต้องพึ่งพาผู้ก่อตั้งอยู่ แต่เป็นการพึ่งพาเฉพาะเรื่อง direction เท่านั้น ไม่ใช่เรื่อง operation ส่วนใหญ่แล้วพวกบริษัทเกิดใหม่ที่ก้าวมาถึงจุดนี้แล้วไปไม่รอดคือบริษัทที่ผู้ก่อตั้งมีบุคลิกแบบ “นายจ้างสันดานเสมียน” คือไม่ยอมปล่อยวางเรื่อง micromanagement บริษัทเติบโตต่อไปได้ยาก

ในระดับสุดท้าย บริษัทที่จะสามารถอยู่ให้ได้แบบยั้งยืนชั่วลูกชั่วหลาน ประมาณว่าชื่อของบริษัทเป็นชื่อสามัญประจำบ้านของคนไทย บริษัทจะต้องสร้าง “ค่านิยม” (Value) ขึ้นมาให้ได้ ค่านิยมที่ว่านี้จะเรียกว่า “วัฒนธรรมองค์กร” ก็ได้ แต่ผมไม่ชอบคำว่าวัฒนธรรมองค์กรเพราะมันให้ความหมายทั้งในแง่บวกและลบได้ด้วย ค่านิยมทำให้เกิดคาร์แรกเตอร์ประจำตัวบริษัทซึ่งจะไม่เปลี่ยนแปลงไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้บริหารของบริษัท พนักงานทุกคนรวมทั้งผู้บริหารจะมีความชัดเจนว่าอะไรบ้างที่ “ใช่” อะไรบ้างที่ “ไม่ใช่” บริษัท ในระยะนี้บริษัทมักบริหารโดย “มือปืนรับจ้าง” แล้วซึ่งเป็นมืออาชีพ ผู้ก่อตั้งมักถอยออกมาเป็นผู้ถือหุ้นอย่างเดียว ตัวอย่างของบริษัทพัฒนาตัวเองไปถึงขึ้นสร้าง Value ได้แล้วก็เห็นจะได้แก่ ปูนซีเมนต์ไทย เป็นต้น

โครงสร้างผู้ถือหุ้นในอุดมคติของบริษัทที่คุณค่าอยู่ที่ Value แล้ว คือ จะต้องไม่มีใครเลยที่ถือหุ้นใหญ่ (กลุ่มที่ถือหุ้นมากที่สุดควรถือไม่เกิน 25%) กรรมการบริษัทเป็นลูกจ้างทั้งหมดไม่ใช่ผู้ถือหุ้น โครงสร้างแบบนี้มีความน่าเชื่อถือเพราะผู้ถือหุ้นทุกรายจะไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกันเนื่องจากไม่มีใครมีอำนาจควบคุมบริษัทหรือรู้ข้อมูลภายในมากกว่าคนอื่น บริษัทประเภทนี้เป็นบริษัทที่เหมาะที่จะใช้ ESOP ในการเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานให้กับผู้บริหาร

แต่ถ้าเป็นบริษัทที่คุณค่ายังอยู่ที่ตัว People อยู่ โครงสร้างผู้ถือหุ้นที่น่าเชื่อถือคือ ผู้บริหารต้องถือหุ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ บริษัทแบบนี้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเปรียบเหมือน “เหาฉลาม” ที่ไม่เคยช่วยฉลามว่ายน้ำเลยแต่รอเอาปันผลเงินอย่างเดียว ถ้าเหาฉลามตัวเล็ก แม้ฉลามจะรู้ว่าเหาเอาเปรียบ แต่ฉลามก็จำใจต้องปล่อยเพราะการว่ายน้ำสำคัญกว่า แต่ถ้าเหาตัวใหญ่มากๆ ฉลามย่อมรู้สึกโง่ที่ว่ายน้ำให้คนอื่น ฉลามจึงมีแรงจูงใจสูงที่จะหันมาจ้องเล่นงานเหาแทน ซึ่งอันนั้นก็ตัวใครตัวมันล่ะครับ ดั้งนั้นผู้บริหารจึงควรถือหุ้นให้มากกว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยมากๆ ผลประโยชน์ของผู้บริหารกับของบริษัทจะได้ไปในทิศทางเดียวกันให้มากที่สุด

เวลาจะซื้อหุ้นบริษัทใดสักบริษัทหนึ่งก็ลองดูคิดก่อนว่าบริษัทนี้คุณค่าส่วนใหญ่อยู่ที่ Value หรืออยู่ที่ People ถ้าคุณค่าอยู่ที่ People แต่ People ดันถือหุ้นน้อยมาก ก็ต้องทำใจไว้บ้างว่า People คงมีแรงจูงใจน้อยที่จะทำเพื่อบริษัทนะครับ

นอกจากบริษัทเกิดใหม่ที่คุณค่ามักอยู่ที่ People แล้ว ธุรกิจบางอย่าง คุณค่าจะอยู่ที่ People ค่อนข้างมาก ไม่ว่าบริษัทยังเล็กอยู่หรือใหญ่แล้วก็ตาม ตัวอย่างเช่น ธุรกิจที่ต้องอาศัย connection ส่วนตัวในการทำธุรกิจสูง เป็นต้น พิจารณากันให้ดีๆ นะครับ

0027: Fat Tail กับการลงทุน

ในทางสถิตินั้น ถ้าเราไม่รู้ว่าตัวแปรสุ่มมีการกระจายเป็นอย่างไร เรามักสมมติว่ามันมีการกระจายเป็นโค้งปกติเพื่อความง่าย ในทางการเงินเราก็มักสมมติว่าผลตอบแทนของการลงทุนในหุ้นมีการกระจายเป็นโค้งปกติด้วย

แต่จากการนำ Daily return ของดัชนี S&P 500 ในช่วง 30 ปีมา plot ลงบนแผนภูมิแจกแจงความถี่พบว่า การกระจายมีลักษณะคล้ายโค้งปกติแต่มียอดเขาทีสูงชันกว่าและมีหางที่อ้วนกว่า พูดง่ายๆ ก็คือ ผลตอบแทนของหุ้นมีลักษณะของ Fat Tail

fattail

ถ้าเราลองสังเกตราคาปกติของดัชนีตลาดหุ้นเราจะพบว่าส่วนใหญ่แล้ว ถ้าไม่มีข่าวใหญ่ในวันนั้น ดัชนีมักเปลี่ยนอยู่ในช่วงไม่เกินหนึ่งเปอร์เซนต์ ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดบ่อยทีสุด แต่ถ้าวันไหนมีข่าวใหญ่มากดัชนีก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ถึงในระดับสองหรือสามเปอร์เซนต์ แต่ก็ไม่บ่อยนัก นี่ก็เป็นลักษณะที่เหมือนกับโค้งปกติทั่วไป

แต่เนื่องจากผลตอบแทนของหุ้นเป็น Fat Tail ด้วย มันจึงมีกรณีสุดโต่งที่ซ่อนอยู่บ่อยกว่าที่เราคิด กรณีสุดโต่งเหล่านี้คือกรณีที่ดัชนีหุ้นเปลี่ยนแปลงในวันเดียวเกิน 10% กรณีเหล่านี้แม้จะเกิดขึ้นได้น้อยแต่ก็เกิดขึ้นได้บ่อยกว่าที่นักลงทุนคิดเนื่องจาก Fat Tail

พวก Financial Engineer ที่คำนวณ VaR มักสมมติให้ผลตอบแทนของหุ้นเป็นโค้งปกติ การทำเช่นนี้จะทำให้ผลที่ได้มักจะ underestimate กรณีสุดโต่งไปมาก พวกเขาจะรู้สึกประหลาดใจมากในวันที่กรณีสุดโต่งมาถึง เพราะพวกเขาจะพบว่ากลไกป้องกันความเสี่ยงที่ตนได้คำนวณไว้แล้วอย่างดีมักจะเอาไม่อยู่

นอกจากนี้ Fat Tail ยังหลอกให้นักลงทุนรู้สึกว่าการเล่นมาร์จินนั้นจะช่วยทำให้ risk-adjusted return ของนักลงทุนสูงขึ้นได้ Leverage ช่วยทำให้ผลตอบแทนในวันส่วนใหญ่ที่เป็นวันปกติของการเล่นมาร์จินสูงกว่าการไม่เล่นมาร์จิน ผลตอบแทนที่สูงขึ้นนี้แลกมาด้วยความเสี่ยงที่จะขาดทุนหนักขึ้นเป็นทวีคูณในวันที่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ความเสี่ยงที่ว่านี้ก็คือความเสี่ยงที่จะโดน Force sell ในช่วงที่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดกับตลาดหุ้นเลยติดต่อกันหลายๆ ปี นักลงทุนจะค่อยๆ เริ่มรู้สึกว่า การเล่นมาร์จินนั้นมี Value added มากขึ้นทีละน้อย

margin2.gif 

อันที่จริงผมสังเกตเห็นว่า การลงทุนแทบทุกชนิดมีลักษณะเป็น Fat Tail อย่างรุนแรง ลองคิดถึงการ write options ดูสิครับ เวลาคุณ write call options ให้ใครสักคนหนึ่ง คุณจะได้กิน premium เปล่าๆ ประมาณ 95% of the time ส่วนอีก 5% of the time นั้น options ที่เขียนไว้จะ in the money และทำให้เจ้ามืออย่างคุณต้องขาดทุนมหาศาล เป็นต้น

ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย Fat Tail ที่เกิดขึ้น 3 ครั้งติดต่อกันในเวลาอันสั้นทำให้ผลตอบแทนที่เคยรุ่งโรจน์ของทุกคนลดฮวบลงอย่างน่าใจหาย แต่เอาเถอะ Fat Tail มีทั้งทางลบและทางบวก ผมสังเกตเห็นว่าคนที่ประสบความสำเร็จกับหุ้นอย่างสูงส่วนใหญ่แล้วมักจะรวยมาจากการซื้อหุ้นครั้งสำคัญแค่ไม่กี่ครั้งในชีวิตทั้งสิ้น อย่างวอเรน บัฟเฟต เองก็รวยมาจากการซื้อหุ้นแค่ 5-6 ครั้ง เท่านั้น ครั้งอื่นๆ อีกนับครั้งที่ไม่ถ้วนที่เขาซื้อตลอดชีวิตของเขานั้นแทบจะไม่มีนัยสำคัญอะไรเลย (ต่อให้เขาไม่ซื้อครั้งเหล่านั้นเลยก็ไม่ได้ทำให้ความรวยของเขาผิดไปจากตอนนี้มากนัก) ดังนั้น การซื้อหุ้นครั้งที่ทำให้คุณรวยขึ้นอย่างมหาศาลนั้นแต่ละคนเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน บางคนเข้ามาปีแรกเจอเลย บางคนขาดทุนสิบปีติดต่อกันมาได้ปีที่ 11 ปีเดียวรวยไปเลยก็มี ดวงใครดวงมันไม่ต้องไปอิจฉาคนอื่น ช่วงนี้ทุกท่านอย่าพึ่งถอดใจคิดว่าตัวเองล้มเหลว ที่จริงแล้วอาจเป็นเพราะครั้งสำคัญในชีวิตของคุณยังมาไม่ถึงเท่านั้นเองครับ

สู้ต่อไปนะครับ เจงกิ

0033 : ความเสี่ยงของหุ้นแบบต่างๆ

หุ้นแต่ละตัวในตลาดหุ้นนั้นล้วนมี story ที่แตกต่างกันไป การประเมินความน่าสนใจลงทุนจาก story ของหุ้นแต่ละตัวนั้นเป็นเรื่องเชิงคุณภาพล้วนๆ อย่างไรก็ตาม ผมมีเทคนิคอย่างหนึ่งที่ช่วยทำให้การมองโอกาสและความเสี่ยงของหุ้นจาก story ของคุณนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หลังจากที่เราได้ศึกษา story ของหุ้นนั้นอย่างละเอียดแล้ว เราควรถามตัวเองว่า story นั้นมีทั้ง “ขนาด” และ “ความน่าจะเป็น” ที่ story นั้นจะเกิดขึ้น “ใหญ่” หรือ “น้อย” ? ตัวอย่างเช่น บริษัทรับเหมาขนาดเล็กที่กำลังรอผลการประมูลโครงการขนาดใหญ่จากทางการน่าจะเป็น โอกาสที่มีขนาด “ใหญ่” แต่มีความน่าจะเป็น “น้อย” เป็นต้น

หุ้นชนิดหนึ่งที่ผมอยากแนะนำให้ท่านนักลงทุนหลีกเลี่ยง คือ หุ้นที่มี low probability of big loss เช่น หุ้นที่กำลังอยู่ในระหว่างการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมีโทษถึงขั้นล้มละลาย หุ้นพวกนี้มักล่อตาล่อใจแมงเม่าเป็นอย่างยิ่งเพราะราคาหุ้นจะดูต่ำถ้าเทียบกับหุ้นต้วอื่นในตลาด แต่ที่จริงแล้ว ราคาที่ดูต่ำนั้นจะต่ำจริงๆ ก็ต่อเมื่อ สุดท้ายแล้ว เหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนั้นไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าหากมันเกิดขึ้น ก็ยังนับว่าราคาหุ้นนั้นแพงอยู่มาก ขนาดของความสูญเสียที่รุนแรงมากนี้ถ่วงให้กำไรคาดหวังของการซื้อหุ้นชนิดนี้มีค่าติดลบแม้ว่าความน่าจะเป็นที่จะเกิดความสูญเสียรุนแรงนั้นจะไม่ได้สูงก็ตาม หุ้นพวกนี้เป็นหุ้นที่เล่นแล้ว “ได้ไม่คุ้มเสีย” ครับ ท่านนักลงทุนคงได้เห็นตัวอย่างของหุ้นแบบนี้แล้วจากกรณีของหุ้นสื่อตัวหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา

มีหุ้นอีกประเภทหนึ่งที่ดูไม่น่าสนใจแต่ที่จริงแล้วเป็นหุ้นที่น่าสนใจก็คือหุ้นที่มี low probability of high gain เช่น พวกบริษัทวิจัยยา (biotech firms) บริษัทพวกนี้ถ้าสามารถเข็นยาตัวสำคัญให้ผ่านการรับรองได้ก็จะมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล แต่โดยปกติแล้ว โอกาสที่ยาตัวหนึ่งจะสามารถผ่านด่านอรหันต์ของ FDA ได้นั้นมีน้อยมาก หุ้นพวกนี้บ่อยครั้งเป็นหุ้นที่มีกำไรคาดหวังเป็นบวกเพราะนักลงทุนในตลาดไม่สนใจเพราะรู้สึกว่าเสี่ยง ที่จริงแล้วเราสามารถลงทุนในหุ้นแบบนี้ได้เพียงแต่ต้องใช้วิธีซื้อไว้หลายๆ ตัวและซื้อตัวละไม่มากเมื่อเทียบกับขนาดของพอร์ตโดยรวม การทำเช่นนี้ช่วยทำให้ผลตอบแทนโดยรวมลู่เข้าหากำไรคาดหวังได้ หุ้นพวกนี้ถ้าซื้อตัวเดียวจะมีโอกาสขาดทุนสูงมาก แต่พอร์ตที่เต็มไปด้วยหุ้นเหล่านี้กลับให้ผลตอบแทนที่ดีทีเดียว

หุ้นประเภทสุดท้ายที่อยากกล่าวถึงก็คือหุ้นที่มี high probability of small loss and low probability of big gain แต่มีกำไรคาดหวังของหุ้นนั้นเป็นบวก นักจิตวิทยาการลงทุนบอกว่าหุ้นลักษณะนี้มักจะ undervalued อยู่เสมอ เพราะธรรมชาติของนักลงทุนมักเกลียดการขาดทุน โอกาสที่จะขาดทุนน้อยๆ แต่เกือบจะแน่นอนเป็นเรื่องที่ไม่น่าดึงดูด นักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่จึงมองข้ามหุ้นลักษณะนี้ไป ตัวอย่างของหุ้นแบบนี้ก็เช่น หุ้นที่กำไรกำลังลดลงเพราะมีปัจจัยมหภาคระยะสั้นบางอย่างเข้ามากระทบทำให้ตลาดเททิ้งหุ้นเหล่านี้ไปก่อนทั้งที่ภาพการเติบโตของกำไรในระยะยาวยังเหมือนเดิม ที่จริงแล้วหุ้นพวกนี้เป็นหุ้นที่น่าลงทุนครับ

0022: Growth Potential

สิ่งที่คนที่เล่นหุ้นเติบโตอยากรู้มากที่สุดไม่ใช่กำไรของบริษัทในอีก 3-5 ปีข้างหน้า แต่เป็นคำถามที่ว่า เมื่อบริษัทขยายกิจการอย่างเต็มที่จนธุรกิจเข้าสู่จุดอิ่มตัวแล้ว บริษัทจะมีขนาดใหญ่แค่ไหน เพราะถ้าหากบริษัทยังอยู่ห่างไกลจากจุดอิ่มตัวเป็นอย่างมาก การซื้อหุ้นเติบโต ณ วันนี้ ที่พีอี 30 เท่าก็อาจจะยังถูกเกินไป

เมื่อครั้งที่ แม็คโคร เปิดสาขาแรกผมก็ไปเดินมาเหมือนกัน ความรู้สึกในตอนนั้นรู้สึกว่า ร้านนี้มันช่างใหญ่เกินตัวเสียจริงๆ คนเดินก็พอจะมีอยู่แต่ก็น้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดของร้าน ตอนนั้นผมคิดว่ากำลังซื้อของคนในประเทศไทยคงรองรับร้านที่มีขนาดใหญ่เกินตัวแบบนี้ได้อีกอย่างมากก็ไม่เกิน 2-3 แห่ง…

ทุกวันนี้ แม็คโคร มีมากกว่า 29 สาขาทั่วประเทศ ยังไม่นับโลตัส คาร์ฟูร บิ๊กซี ซึ่งทุกรายมีสาขามากกว่าแม็คโครเสียอีก เห็นมั้ยครับว่า การประเมิน Growth Potential ของหุ้นเติบโตนั้นมันยากขนาดไหน เพราะเราไม่สามารถหลุดออกจากภาพที่เรามองเห็นแค่ในปัจจุบันได้

สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวจำกัด Growth Potential ของธุรกิจก็คือ economics ของสินค้านั้นเอง เช่น ราคาต่อชิ้น ขนาด น้ำหนักต่อชิ้น ราคาต่อค่าขนส่ง ปริมาณการบริโภค การบ่อยในการบริโภค ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการเติบโตที่เป็นไปได้ของธุรกิจทั้งสิ้น ว่ากันว่าสาเหตุหนึ่งที่ Dell เติบโตจากการขายพีซีผ่านเน็ตได้มากกว่า Amazon มากเป็นเพราะพีซีมีค่าส่งคิดเป็นเปอร์เซนต์ต่อราคาของทั้งชิ้นต่ำกว่าหนังสือมาก การขายคอมพิวเตอร์ทางเน็ตจึงสิ่งที่มีเหตุผลมากกว่าหนังสือ

วิธีหนึ่งที่อาจช่วยให้เราประเมิน Growth Potential ได้ก็คือ การแอบไปดูธุรกิจเหล่านั้นที่เติบโตเต็มที่แล้วในประเทศที่มีธุรกิจเหล่านั้นมาก่อน ข้างล่างนี้คือมูลค่าตลาดในปัจจุบันของบริษัทที่ขายสินค้าบางประเภทในสหรัฐฯ

ชื่อบริษัท……….. ประเภทของสินค้า……………Mkt Cap.
Target…………โมเดิร์นเทรด…………………49 billions
Home Depot…..ของแต่งบ้าน…………………77 billions
Circuit City……. ไอที………………………. 4 billions
Barnes and Noble.. หนังสือ………………… 2.6 billions

บริษัทเหล่านี้มีอายุกว่า 20 ปีแล้วทั้งสิ้น พวกมันจึงได้ใช้เวลาไปมากแล้วพอสมควรในการ “เบ่ง” ตัวเองให้เติบโตอย่างเต็มที่ จะเห็นได้ว่าถ้าคุณอยู่ในธุรกิจหนังสือ ต่อให้คุณเก่งขนาดไหน คุณก็ไม่สามารถเบ่งตัวเองได้เท่ากับธุรกิจโชว์ห่วย เพราะเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ของสินค้าที่คุณเลือกทำเป็นสิ่งที่คอยจำกัดศักยภาพของการเติบโตเอาไว้

ทีนี้มาลองเปรียบเทียบกับของพี่ไทยกันดูบ้าง
ชื่อบริษัท…… ประเภทของสินค้า……….. Mkt Cap.
Big C………. โมเดิร์นเทรด…………. 37 พันล้าน
Homepro…… ของแต่งบ้าน………… 10 พันล้าน
IT………….. ไอที………………… 3 พันล้าน
SE-ED………. หนังสือ ……………..2.5 พันล้าน

ผมพบว่า relative size ของทั้งสองประเทศมีล้กษณะที่ล้อเลียนกันอย่างน่าประหลาด (ยกเว้นร้านขายของแต่งบ้านเท่านั้น) นี่อาจแสดงให้เห็นว่า ราคาในปัจจุบันของหุ้นเหล่านี้วิ่งไปรอที่มูลค่าของบริษัทเมื่อบริษัทเหล่านี้เติบโตเต็มที่แล้ว (ยกเว้นว่าทั้งยวงจะยังเติบโตขึ้นไปได้อีก) จะมีก็แต่ Homepro เท่านั้นที่ยังดูเล็กอยู่มากเมื่อเทียบกับ Home Depot นอกจากนี้ ยังดูเหมือนว่า BigC อาจจะยังโตได้อีกบ้าง แม้ว่าตอนนี้เราจะรู้สึกว่ามันน่าจะอิ่มตัวแล้วก็ตาม

ตราบใดที่สัดส่วนนี้ยังดูไล่เลี่ยกันอยู่ เราอาจรู้สึกอุ่นใจขึ้นบ้างว่าตลาดไม่ได้กำลัง overoptimistic กับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป แต่อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงแค่ Reality Check อย่างหนึ่งเท่านั้น ห้ามมิให้นำสัดส่วนนี้ไปเทียบบัญญัติไตรยางค์เพื่อหาว่าหุ้นตัวไหนยังถูกอยู่บ้างเมื่อเทียบกับจุดอิ่มตัวของมันโดยเด็ดขาด เพราะยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายอย่างที่ทำให้สิ่งที่จะเกิดขึ้นในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันได้มาก ตัวอย่างเช่น คนอเมริกานั้นได้ชื่อว่ามี passion เรื่อง Home Improvement มากกว่าคนชาติอื่นๆ เป็นพิเศษ นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ร้านขายของแต่งบ้านในอเมริกาโตได้มากกว่าปกติก็เป็นได้ (แต่ถึงกระนั้น คนที่ถือ Homepro อยู่ตอนนี้ก็คงรู้สึกใจชื้นเพราะสัดส่วนที่ยังห่างกันนั้นเป็นการห่างกันแบบหลายช่วงตัว)

หมายเหตุ : นี่ไม่ใช่การเชียร์ให้ซื้อโฮมโปร ใครแอบไปซื้อแล้วขาดทุนไม่ต้องมาบ่นกับผมเลยนะจะโดนตีซ้ำ ขอบอก