0011 : People>Process>Value

บริษัทเกิดใหม่คุณค่ามักอยู่ที่ “คน” (People) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ก่อตั้งบริษัท ถ้านายคนนี้เก่งพอ บริษัทก็จะแจ้งเกิดได้ ในช่วงเริ่มต้นถ้าคนที่เป็นกำลังหลักเกิดตีจากไปสักคนหนึ่ง บริษัทมักได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงถึงขั้นเจ๊งได้เลยทีเดียว

ถ้าบริษัทผ่านช่วงเริ่มต้นมาได้ และต้องการจะเติบโตต่อไป การพึ่งพา “คน” เป็นหลักจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป เพราะพนักงานจะต้องมีมากขึ้น ถ้าใครลาออกทีแล้วบริษัทก็วิกฤตที ก็คงไม่ไหว บริษัทจะต้องมีการสร้าง “ระบบ” (Process) ขึ้นมาเพื่อลดการพึ่งพาตัวบุคคล สมัยนี้ทางลัดของการสร้างระบบขึ้นมาแทนคนคือการใช้พวก ERP ทั้งหลาย เวลาที่ฝ่ายจัดซื้อลาออกไปคนนึง คนใหม่เข้ามาจะสามารถสานงานต่อได้ทันที เพราะกดหน้าจอทีเดียว ข้อมูลทุกอย่างก็จะโชว์ออกมาหมด คุณค่าของบริษัทจึงหันมาอยู่ที่ “ระบบ” มากกว่า “คน” อันที่จริง บริษัทก็ยังต้องพึ่งพาผู้ก่อตั้งอยู่ แต่เป็นการพึ่งพาเฉพาะเรื่อง direction เท่านั้น ไม่ใช่เรื่อง operation ส่วนใหญ่แล้วพวกบริษัทเกิดใหม่ที่ก้าวมาถึงจุดนี้แล้วไปไม่รอดคือบริษัทที่ผู้ก่อตั้งมีบุคลิกแบบ “นายจ้างสันดานเสมียน” คือไม่ยอมปล่อยวางเรื่อง micromanagement บริษัทเติบโตต่อไปได้ยาก

ในระดับสุดท้าย บริษัทที่จะสามารถอยู่ให้ได้แบบยั้งยืนชั่วลูกชั่วหลาน ประมาณว่าชื่อของบริษัทเป็นชื่อสามัญประจำบ้านของคนไทย บริษัทจะต้องสร้าง “ค่านิยม” (Value) ขึ้นมาให้ได้ ค่านิยมที่ว่านี้จะเรียกว่า “วัฒนธรรมองค์กร” ก็ได้ แต่ผมไม่ชอบคำว่าวัฒนธรรมองค์กรเพราะมันให้ความหมายทั้งในแง่บวกและลบได้ด้วย ค่านิยมทำให้เกิดคาร์แรกเตอร์ประจำตัวบริษัทซึ่งจะไม่เปลี่ยนแปลงไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้บริหารของบริษัท พนักงานทุกคนรวมทั้งผู้บริหารจะมีความชัดเจนว่าอะไรบ้างที่ “ใช่” อะไรบ้างที่ “ไม่ใช่” บริษัท ในระยะนี้บริษัทมักบริหารโดย “มือปืนรับจ้าง” แล้วซึ่งเป็นมืออาชีพ ผู้ก่อตั้งมักถอยออกมาเป็นผู้ถือหุ้นอย่างเดียว ตัวอย่างของบริษัทพัฒนาตัวเองไปถึงขึ้นสร้าง Value ได้แล้วก็เห็นจะได้แก่ ปูนซีเมนต์ไทย เป็นต้น

โครงสร้างผู้ถือหุ้นในอุดมคติของบริษัทที่คุณค่าอยู่ที่ Value แล้ว คือ จะต้องไม่มีใครเลยที่ถือหุ้นใหญ่ (กลุ่มที่ถือหุ้นมากที่สุดควรถือไม่เกิน 25%) กรรมการบริษัทเป็นลูกจ้างทั้งหมดไม่ใช่ผู้ถือหุ้น โครงสร้างแบบนี้มีความน่าเชื่อถือเพราะผู้ถือหุ้นทุกรายจะไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกันเนื่องจากไม่มีใครมีอำนาจควบคุมบริษัทหรือรู้ข้อมูลภายในมากกว่าคนอื่น บริษัทประเภทนี้เป็นบริษัทที่เหมาะที่จะใช้ ESOP ในการเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานให้กับผู้บริหาร

แต่ถ้าเป็นบริษัทที่คุณค่ายังอยู่ที่ตัว People อยู่ โครงสร้างผู้ถือหุ้นที่น่าเชื่อถือคือ ผู้บริหารต้องถือหุ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ บริษัทแบบนี้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเปรียบเหมือน “เหาฉลาม” ที่ไม่เคยช่วยฉลามว่ายน้ำเลยแต่รอเอาปันผลเงินอย่างเดียว ถ้าเหาฉลามตัวเล็ก แม้ฉลามจะรู้ว่าเหาเอาเปรียบ แต่ฉลามก็จำใจต้องปล่อยเพราะการว่ายน้ำสำคัญกว่า แต่ถ้าเหาตัวใหญ่มากๆ ฉลามย่อมรู้สึกโง่ที่ว่ายน้ำให้คนอื่น ฉลามจึงมีแรงจูงใจสูงที่จะหันมาจ้องเล่นงานเหาแทน ซึ่งอันนั้นก็ตัวใครตัวมันล่ะครับ ดั้งนั้นผู้บริหารจึงควรถือหุ้นให้มากกว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยมากๆ ผลประโยชน์ของผู้บริหารกับของบริษัทจะได้ไปในทิศทางเดียวกันให้มากที่สุด

เวลาจะซื้อหุ้นบริษัทใดสักบริษัทหนึ่งก็ลองดูคิดก่อนว่าบริษัทนี้คุณค่าส่วนใหญ่อยู่ที่ Value หรืออยู่ที่ People ถ้าคุณค่าอยู่ที่ People แต่ People ดันถือหุ้นน้อยมาก ก็ต้องทำใจไว้บ้างว่า People คงมีแรงจูงใจน้อยที่จะทำเพื่อบริษัทนะครับ

นอกจากบริษัทเกิดใหม่ที่คุณค่ามักอยู่ที่ People แล้ว ธุรกิจบางอย่าง คุณค่าจะอยู่ที่ People ค่อนข้างมาก ไม่ว่าบริษัทยังเล็กอยู่หรือใหญ่แล้วก็ตาม ตัวอย่างเช่น ธุรกิจที่ต้องอาศัย connection ส่วนตัวในการทำธุรกิจสูง เป็นต้น พิจารณากันให้ดีๆ นะครับ

5 Replies to “0011 : People>Process>Value”

  1. เวลานี้ คุณค่าส่วนใหญ่ของ PS อยุ่ใน people (ฮาทองเมีย ซึ่งก็ถือหุ้นเยอะและเท่าที่ตามข่าวบริษัทก็กำลังพยายามอบรมพนักงานสร้างคน) หรือ process (pre-fab system) หรือ value (ยังนึกไม่ออกว่าจะทำยังไงให้พฤกษาเป็นตัวเลือกแรกๆในใจคนคิดจะซื้อบ้าน เหมือนที่ LPN ทำได้ใน condo)

  2. PS ลงทุนไปกับระบบ SAP (จ้าง IBM ทำ) เพือพัฒนาประสิทธิภาพของระบบงานปีๆ นึงก็ 50 ล้าน ด้วยครับ

    PS คงเน้นทำสินค้ามาตรฐานในราคาถูกเป็นหลักน่ะครับ

  3. ผมชอบบริษัทที่ผลิตสินค้าซ้ำ ๆ ไม่ต้องวิจัยพัฒนาซักเท่าไหร่ ขายได้เรื่อย ๆ แล้วก็สร้างแบรนด์แบบค่อยเป็นค่อยไปครับ แต่ทว่า บริษัทเหล่านั้น ล้วนอยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ครับ T-T

  4. อ่านแล้วได้ความรู้ดีมากๆครับ

    ขอบคุณครับ

Comments are closed.