0345: ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

จุดอ่อนอย่างหนึ่งของตลาดหุ้นบ้านเราคือ บ้านเราไม่ใช่สังคมแบบทุนนิยม บริษัทจำนวนมากจึงไม่อยู่ในโหมดของการแสวงหาการเติบโตแบบต่อเนื่อง ทำให้หาหุ้นเติบโตที่จะลงทุนในระยะยาวได้ยาก พวกที่บอกว่าจะโตเยอะๆ ก็มักเป็นพวกหน้าใหม่ ต้นทุนทางสังคมต่ำ ลงทุนระยะยาวแล้วเสียวมาก เพราะที่ปรากฏว่าโตได้ปีเดียวแล้ว แต่หลังจากนั้นก็ขาดทุนหนักมีเยอะ พวกที่มีฐานธุรกิจที่มั่นคงแล้วก็มักไม่อยู่ในโหมดของการเติบโตแล้ว จะหาแบบที่พื้นฐานดีๆ และในเวลาเดียวกันก็โตไปเรื่อยๆ ด้วย (best of both worlds) ยาก ต้องเฟ้นกันหนัก

ผมว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเริ่มสนใจบริษัทนี้ เพราะไมเนอร์เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีฐานธุรกิจที่ค่อนข้างมั่นคงแล้ว แต่ก็ยังมี “สัญญาใจ” กับผู้ถือหุ้นที่จะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ ให้ได้ปีละ 20% โดยไม่มีวันหยุด (ระบุไว้ในวิสัยทัศน์ของบริษัทด้วย) มันจึงเป็น candidate ของ 7LTG ที่น่าสนใจมาก การลงทุนในบริษัทที่ยังต้องพึ่งพาตลาดทุนในการขยายธุรกิจอยู่เสมอ ยังมีข้อดีอีกตรงที่บริษัทยังต้องแคร์ความรู้สึกของผู้ถือหุ้นอยู่ ถามอะไรก็รีบตอบ ตีหัวเข้าบ้านยังไม่ได้ ต่างกับบริษัทที่ธุรกิจอิ่มตัวแล้ว พึ่งตัวเองในเรื่องเงินทุนได้ อาจมองผู้ถือหุ้นเป็นแค่ยุงรำคาญที่รอแต่จะเอาเงินปันผลจากบริษัท

แต่ก็ไม่ได้แปลว่าแค่มีสัญญาใจว่าจะโตไปเรื่อยๆ แล้วจะทำให้ผมตัดสินใจลงทุนได้ บริษัทต้องมี Growth Strategy ที่มีความเป็นไปได้ด้วย นอกเหนือจากประวัติศาสตร์อันยาวนานของบริษัท

รายได้กว่าครึ่งของไมเนอร์นั้นมาจากการทำธุรกิจเชนร้านอาหารตามห้างฯ ตัวอย่างเช่น Burger King, DQ, Swensens, Sizzler, The Pizza Company เป็นต้น ธุรกิจแบบนี้โตไปเรื่อยๆ ได้ไม่ยาก เพราะมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นทุกปี ตามการขยายตัวของห้างฯ แรกๆ ก็ต้องลงทุนขยายสาขาเองก่อนซึ่งจะใช้เงินทุนมากหน่อย เมื่อแ่บรนด์ไหนติดตลาดแล้วก็จึงสามารถขาย Franchise เพื่อให้การขยายสาขาไม่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะมากได้ นับเป็นการเอา intellectual property ที่สร้างมาในช่วงแรกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในภายหลัง ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ นอกจากนี้บริษัทยังมีการขยายสาขาไปต่างประเทศ โดยวิธีเข้าไปถือหุ้นแบรนด์ที่เห็นว่ามีศักยภาพ เช่น the Coffee Club (Australia), Thai Express (Singapore) แล้วเติบโตไปกับเขา เป็นต้น เหตุที่การขยายธุรกิจไปต่างประเทศควรใช้วิธีนี้เพราะในต่างประเทศแบรนด์สากลก็มักจะมีคนอื่นถือสิทธิ์อยู่แล้ว เลยต้องโตไปกับ local brand ของประเทศนั้นๆ ที่เห็นว่ามีศักยภาพแทน

ปัจจุบันบริษัทมีแล้ว 1133 ร้านสาขา (เป็น Franchise 39%) เทียบกับเมื่อ 8 ปีที่แล้วที่มีแค่ 354 สาขาและเป็นร้านของตัวเองเกือบทั้งหมด การที่สาขาเป็นแบบ Franchise มากขึ้นย่อมแสดงถึง intellectual property ที่เพิ่มขึ้นของบริษัท ภายในปี 2015 บริษัทจะมีให้ได้ 2174 สาขา และเป็น Franchise ให้ถึง 64% ให้ได้ ธุรกิจอาหารเป็นส่วนที่ผมชอบที่สุดของไมเนอร์ เพราะที่ผ่านมาสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างสม่ำเสมอ และเราเห็นได้ชัดเจนว่าเขาทำตลาดได้เก่งกว่าคู่แข่งของเขาเป็นส่วนใหญ่ (Pizza Hut, Baskin Robbins, etc.) จะแย่หน่อยตรงที่ต่างประเทศเวลานี้ยังแย่อยู่ เช่น The Pizza Company ที่จีน ทุกวันนี้ยังขาดทุนอยู่, Thai Express ยังหดตัว เป็นต้น แต่ผมก็มองว่า ถ้าให้เวลาบริษัทแก้ปัญหาสักพักต้องดีขึ้น เหมือนอย่างสมัยก่อนตอนที่เขาเริ่มทำตลาด Pizza Hut ใหม่ๆ เขาต้องใช้เวลาอยู่นานหลายปีกว่าจะประสบความสำเร็จเหมือนอย่างเช่นทุกวันนี้ ส่วนการซื้อแบรนด์ต่างประเทศที่ผ่านมาแม้จะดูเหมือนเป็นแบรนด์ที่ยังไม่ค่อยเวิร์คเท่าไร แต่ผมก็มองว่านั่นคือกลยุทธ์ที่ถูกต้อง เพราะคุณควรซื้อแบรนด์ที่ยัง mismanaged อยู่แล้วเอา know-how ของคุณเข้าไปปรับปรุงเพื่อ unlock value ออกมา มากกว่าที่จะซื้อแบรนด์ที่สมบูรณ์แบบอยู่แล้วตั้งแต่แรกด้วยราคาแพงๆ

ธุรกิจอีกส่วนของไมเนอร์คือ ธุรกิจโรงแรม ซึ่งมีอยู่หลายแบรนด์เช่นกัน เช่น Anantara, Four Seasons, JW Marriott เป็นต้น โมเดลเติบโตก็เป็นแบบเดียวกันเปี๊ยบคือขยายสาขาไปเรื่อยๆ แต่ต่างกันตรงที่ ธุรกิจโรงแรมนั้นลงทุนเริ่มต้นสูงกว่ามาก แต่กลับคืนทุนได้ช้ากว่า สรุปก็คือ ห่วยกว่าธุรกิจอาหารนั่นเอง เพราะโรงแรมเป็นธุรกิจที่เข้ามาได้ง่ายมาก ลองนึกดูสิว่าแต่ละปีมีโรงแรมใหม่ๆ เกิดขึ้นมากขนาดไหน ฉะนั้นต่อให้เป็นโรงแรมหรูๆ ก็ยังคาดหวัง IRR ไ้ด้แค่ระดับสิบกว่าเปอร์เซนต์เท่านั้น อีกทั้งโรงแรมยังเป็นธุรกิจที่อ่อนไหวต่อ consumer sentiment อย่างมากอีกต่างหาก ช่วงสองปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามบริษัทก็พยายามใช้โมเดลรับจ้างบริหารแทนการลงทุนสร้างโรงแรมเอง เพื่อช่วยลดเงินลงทุน (asset-light strategy) และเพิ่ม ROI แต่วิธีนี้ก็มีจุดอ่อนตรงที่ตัวเลขรายได้ที่เข้ามาจะค่อนข้างเล็ก ทำให้สร้างการเติบโตแบบเป็นกอบเป็นกำตามเป้าไม่ได้ บริษัทจึงยังต้องเน้นการสร้างโรงแรมเองควบคู่ไปกับการรับจ้างบริหารต่อไป ธุรกิจโรงแรมของบริษัทเป็นส่วนที่ผมไม่ค่อยชอบเอาเสียเลย แม้ว่า EBITDA จะดูสูงกว่าอาหาร แต่ที่จริงแล้วก็เป็นเรื่องหลอกตา เพราะว่า CAPEX ของมันสูงมาก ผมว่าที่บริษัททำธุรกิจนี้ส่วนหนึ่งมาจาก passion ส่วนตัวของเจ้าของเองด้วยจึงเป็นเรื่องที่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่าแค่เหตุผลทางธุรกิจ

ช่วงหลังบริษัทพบว่าการทำ Residence แบบขายขาด จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการทำเป็นโรงแรม (แม้ว่าจะเป็นรายได้ที่ขึ้นๆ ลงๆ) บริษัทจึงหันมาทำ Property เสริมด้วยอีกส่วนหนึ่งในนาม St.Regis ขายขาดยูนิตละ 70-200 ล้านบาท ก็เลยเพิ่มมาอีกสายธุรกิจหนึ่ง ในอนาคตบริษัทก็ยังคิดทำ Timeshare เพื่อช่วยดึง Occupancy Rate ให้ stable ขึ้น (at the expense of room rate) เรื่องการเติบโตด้วย room rate นั้นในกรุงเทพตอนนี้หวังยากเพราะ oversupply การแข่งขันรุนแรงราคามาก ที่หวังขึ้นได้บ้างก็คงเป็นส่วนของต่างจังหวัดและต่างประเทศมากกว่า เวลานี้บริษัทเริ่มมองลูกค้าจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง ที่มีกำลังสูง เพื่อมาทดแทนลูกค้ายุโรปที่กำลังซื้อตกลงไปจากวิกฤต ในอนาคตบริษัทกำลังพิจารณาขายโรงแรมในพอร์ตบางส่วนที่เห็นว่ามี market value สูงกว่า book value มากๆ เพื่อเป็นการ unlock value ในส่วนที่ตลาดหุ้นไม่ได้ให้พรีเมี่ยมด้วย

จะเห็นว่าแม้ธุรกิจโรงแรมจะมีปัญหาต่อเนื่องแต่ บริษัทก็พยายามหาทางแก้ไขตลอด และ occupancy rate ของบริษัทนั้นสูงกว่าระดับเฉลี่ยของอุตสาหกรรมตลอด แสดงว่าพอร์ตของบริษัทค่อนข้างดีกว่าคู่แข่ง ทำให้บริษัทก็ยังคงมีกำไรได้แม้ในช่วงที่ยากลำบากที่สุด ซึ่งคู่แข่งล้วนติดตัวแดงกันไปหมดแล้ว เลยพอจะให้อภัยในส่วนนี้ได้

ปัจจุบันบริษัทมีห้องพักรวม 3655 ห้อง เป็นรับจ้างบริหาร 18% เทียบกับแปดปีก่อนที่ี 2055 ห้องลงทุนเองหมด ภายในปี 2015 บริษัทจะมีให้ได้ 5791 ห้อง และเป็นรับจ้างบริหารให้ได้ถึง 40% (ผมว่า aggressive ไปนิด)

ธุรกิจส่วนสุดท้ายคือร้านเสื้อผ้าแบรนด์เนม เช่น GAP, Esprit, Bossini เป็นต้น ธุรกิจส่วนนี้ยังขาดทุนอยู่ แต่เป็นสัดส่วนที่เล็กจึงไม่น่ากลัวเท่าไร และผมก็มองว่า ในอนาคตน่าจะดีขึ้น เพราะคนไทยน่าจะมีความเป็นอยู่สูงขึ้น ค่าเงินบาทก็แข็ง ธุรกิจแบบนี้จึงน่าจะได้ประโยชน์ในอนาคตอันใกล้นี้นะครับ

ช่วงสองปีที่ผ่านมา บริษัทโดนมรสุมอย่างหนักทั้งวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบธุรกิจของบริษัทโดยตรงแทบทุกสายธุรกิจ จึงไม่สามารถเติบโต 20% ได้ตามสัญญา ต่างกับแต่ก่อนนี้ที่บริษัทเติบโตได้ 20% ทุกปี ติดต่อกัน 6-7 ปีเลยทีเดียว (ไม่รู้ทำไม พอเราเริ่มสนใจทีไร มันต้องเริ่มไ่ม่ดีพอดีทุกที) เท่าที่ทราบมา ไตรมาส 4/53 ที่จะถึงนี้ ก็จะยังไม่ดีขึ้น เพราะถ้าคำนวณจากยอดจองห้องพักที่เข้ามาตอนนี้แล้วเทียบกับปีก่อน บริษัทคาดว่า occupancy rate ปลายปีน่าจะแค่เท่าๆ กับปีที่แล้วเท่านั้น ถัดจากนี้ไป ผมก็ยังไม่คิดว่าปัญหาการเมืองบ้านเราจะจบ มันแค่หยุดไปพักหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นการจะหวังว่าบริษัทจะดีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้คงจะยังหวังมากไม่ได้ อีกสักพักก็คงกลับมาใหม่

แต่ผมยังไงผมก็ยังเชื่อว่า ที่สุดแล้ว บริษัทนี้จะสามารถบรรลุเป้าหมายในระยะยาวได้ (แต่คงเป็นแบบ bumpy ไปตลอดทาง) บริษัทตั้งเป้าจะมีรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นให้ได้อย่างน้อยเป็น 40% ภายในปี 2015 นั่นจะช่วยให้ผลประกอบการของบริษัทไม่ต้องผูกอยู่กับประเทศไทยประเทศเดียวเหมือนอย่างเดิม ในระยะยาวกำไรน่าจะเสถียรขึ้นได้ และผมก็มองว่า ในอนาคต บริษัทไทยที่จะยิ่งใหญ่ต่อไปได้ จะต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาคให้ได้ การที่บริษัทเริ่มไปต่างประเทศตั้งแต่วันนี้ น่าจะช่วยให้บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ยิ่งใหญ่ในอนาคตต่อไปได้ด้วยครับ และการที่บริษัทยังคงมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องยังทำให้เมื่อไรก็ตามที่การเมืองนิ่งๆ ได้สักพักใหญ่ๆ สิ่งที่บริษัทได้สร้างเอาไว้ตลอดสองปีก็จะมีโอกาสได้ฉายประกายออกมาด้วยครับ ที่จริงแล้วบริษัทเคยเจอมรสุมที่หนักกว่าสองปีนี้มากตอนที่ไม่ได้ต่อสัญญา Pizza Hut กับทาง Yum ตอนนั้นใครๆ ก็คิดว่าบริษัทนี้คงหมดทุกอย่างแล้ว แต่ปรากฏว่ากลับการเป็นแรงผลักดันให้บริษัทฮึดกลับขึ้นมาใหม่จนยิ่งใหญ่กว่าเดิมมาก สองปีนี้จึงถือว่าเด็กๆ ครับ บริษัทที่มีทัศนคติที่ดียังไงก็ต้องกลับมาดีได้ครับ

สรุปแล้ว แม้ว่าดูเหมือนจะยังไม่มีอะไรดีขึ้นเลยเร็วๆ นี้ แต่ยังมองว่าในระยะยาวบริษัทนี้ต้องยิ่งใหญ่กว่าในปัจจุบันอย่างมากแน่นอน เหมือนกับที่ทุกวันนี้บริษัทยิ่งใหญ่กว่าเมื่อแปดปีก่อนมาก เพราะเป็นบริษัทที่มีการแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา ผมจึงยังมีความมั่นใจในอนาคตระยะยาวของบริษัทนี้อยู่ เลยตัดสินใจให้บริษัทนี้ยังได้ไปต่อใน 7LTG นะครับ แต่ถ้าจะให้เกรดคงให้แค่ B+

คำเตือน : บทวิจารณ์นี้เป็นแค่การมองภาพใหญ่ของบริษัทในระยะยาวเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับทิศทางของผลประกอบการระยะสั้นของบริษัทเลยแม้แต่น้อย ผู้อ่านจึงไม่อาจนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในระยะสั้นได้เลย (7LTG สนใจแต่ภาพใหญ่ในระยะยาวของบริษัทที่จะลงทุนเท่านั้น) อีกทั้งข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์เป็นข้อมูลที่หาได้ในช่วงที่เขียนบทวิจารณ์เท่านั้น ในอนาคตปัจจัยต่างๆ อาจเปลี่ยนแปลงไปได้อีก จึงไม่อาตยึดถือได้ตลอดไป

0329: หุ้นพื้นฐาน?

ที่จริงผมไม่ค่อยอยากแตะเรื่องนี้เท่าไร แต่ไม่ทราบว่าทำไมช่วงนี้ถึงได้มีนักลงทุนมาบ่นกับผมเรื่องขาดทุนหุ้นเป็นจำนวนมากจนผิดปกติ เลยอยากฝากมุมมองบางอย่างไว้ เผื่อว่าบางมุมอาจจะเป็นประโยชน์กับท่านนักลงทุนบ้างนะครับ

แต่ไหนแต่ไรมาเป็นที่รู้กันดีว่าตลาดหุ้นไทยมีขาใหญ่ที่เป็นขบวนการปั่นหุ้นสิงสถิตย์อยู่ คนกลุ่มนี้มีข้อได้เปรียบนักลงทุนทุกรูปแบบ ตั้งแต่สามารถบอกให้สื่อช่วยเขียนข่าวตามใจได้ มีช่องทางประจำสำหรับการปล่อยข่าวลือในห้องค้า และที่เด็ดสุดคือมีการจับมือกับผู้บริหารของหุ้นที่จะปั่นด้วย คือต่อให้เทรดหุ้นผิดพลาดเองก็ยังบอกให้บริษัทช่วยออกข่าว ออกวอแรนต์ เพิ่มทุน หรือตัดขาดทุนรายการพิเศษ เพื่อให้ตัวเองพลิกกลับมากำไรได้อีก นักลงทุนกลุ่มนี้จึงเล่มเกมที่ตัวเองมีข้อได้เปรียบนักลงทุนคนอื่นอย่างมากมาย 

แต่ที่จริงผมกลับไม่ค่อยเป็นห่วงเรื่องนี้เท่าไร เพราะสมัยนี้ หุ้นที่ขบวนการพวกนี้ปั่นอยู่มักเป็นที่รู้และพูดถึงกันทั่วไปในตลาดหุ้น ถ้านักลงทุนอยากรู้ว่ามีตัวไหนบ้างก็มักหาคำตอบได้โดยง่าย รายย่อยที่เกรงกลัวภัยพวกนี้มักจะไม่เข้าไปยุ่งกับหุ้นพวกนี้กันอยู่แล้ว ส่วนรายย่อยอีกจำพวกหนึ่ง ที่หากได้ยินว่าขาใหญ่จะปั่นตัวไหนก็จะรีบเข้าไปเล่นด้วยทันที (ยิ่งมีเจ้า ข้ายิ่งชอบ) กลุ่มนี้ผมก็ไม่ห่วงเช่นกัน เพราะพวกนี้มักจะเข้าไปโดยรู้อยู่แล้วว่ามีอันตราย จึงมีการระวังตัวแจ พวกนี้ถ้าเจ็บตัวมา ผมไม่ค่อยรู้สึกว่าน่าสงสารมากเท่าไร เหมือนเวลาดูมวย เราไม่ได้สงสารนักมวยบนเวทีเวลาที่เขาโดนต่อยเพราะเรารู้ว่าเขาเลือกอาชีพของเขาเองและเขารู้ดีก่อนเลือกว่าการเป็นนักมวยจะต้องเจ็บตัว

แต่ยุคหลังๆ นี้ คนที่ขาดทุนมากๆ กลับไม่ใช่แบบที่ว่ามา แต่กลับเป็นคนที่ขาดทุนจากหุ้นที่เขาซื้อเพราะคิดว่าเป็นหุ้นพื้นฐาน คนขาดทุนหุ้นในลักษณะนี้เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นแบบที่ผมรู้สึกสลดใจมากกว่าแบบดั่งเดิมมาก เพราะเป็นการขาดทุนที่มาจากความเข้าใจผิด ความหลงผิด หรือความไม่รู้ เป็นการขาดทุนที่มีต้นเหตุมาจากความศรัทธามากกว่าความโลภ คนที่มาปรับทุกข์กับผมคนหนึ่งบอกว่า เขาเพิ่งจะสิ้นเนื้อประดาตัวไปกับหุ้นตัวเดียวที่คิดว่าซื้อได้เต็มที่เพราะว่าเป็นหุ้นพื้นฐาน

ปกติแล้ว คนที่ซื้อหุ้นที่คิดว่าเป็นหุ้นปั่น มักจะซื้อแบบยั้งๆ เพราะตระหนักดีว่า มีอันตรายอะไรอยู่ แต่คนที่ซื้อหุ้นเพราะคิดว่าเป็นหุ้นพื้นฐานนั้น น่ากลัวกว่ามาก พวกเขาจะกล้าซื้อแบบทุ่มสุดตัว เพราะคิดว่ามีพื้นฐานรองรับอยู่ ถ้าซื้อแล้วลง ก็กล้าซื้อหนักขึ้นอีก เพราะเชื่อว่าหุ้นพื้นฐานดี ยิ่งตก ต้องยิ่งซื้อ ขนาดความเสียหายของคนที่ขาดทุนหุ้นพื้นฐานนั้นมักจะรุนแรงมากเป็นพิเศษ

อยากเตือนเพื่อนนักลงทุนทุกคนว่า ไม่มีหุ้นส่วนหนึ่งในตลาดหุ้นที่เรียกว่า “หุ้นพื้นฐาน” ซึ่งจะปลอดภัยจากภาวะฟองสบู่ หรือการสร้างราคาใดๆ หรอกครับ (จะมีก็แต่แนวการลงทุนแบบวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเท่านั้น) หุ้นทุกตัวในตลาดสามารถกลายเป็น “หุ้นปั่น” หรือเกิดภาวะฟองสบู่ได้ทั้งสิ้นถ้าหากมีคนสนใจหุ้นตัวนั้นมากๆ

เวลาหุ้นที่ไม่ได้มี “ภาพลักษณ์” ว่าเป็นหุ้นพื้นฐานปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงในระยะเวลาอันสั้น เรามักอธิบายกันว่าเป็นเพราะมีคน “ปั่น” อยู่ แต่ถ้าหากเป็นหุ้นที่คนดังในเว็บหุ้นแนว “พื้นฐาน” เชียร์ ปรับตัวขึ้นแบบเดียวกันบ้าง เรามักอธิบายกันว่า เป็นการขึ้นเพราะ “พื้นฐาน” ที่ดี แต่ที่จริงแล้วผมอยากจะโต้แย้งว่าหุ้นที่ขึ้นได้มากๆ หลังจากที่มีการเชียร์กันตามเว็บหุ้นพื้นฐานนั้น ไม่ได้ขึ้นได้เพราะพื้นฐานแต่ขึ้นได้เพราะเกิดภาวะ “แห่ตามกัน” ของนักลงทุน แบบเดียวกับเวลาที่หุ้นเก็งกำไรปรับตัวขึ้นได้แรงเลยครับ   

เหตุผลหนึ่งที่ชอบอ้างกันก็คือว่าขึ้นได้เพราะเป็นหุ้นที่ยังมีพีอีเรโชที่ต่ำมาก แต่ผมอยากจะแย้งว่า หุ้นที่มีพีอีที่ต่ำมากนั้น มีอยู่อย่างดาษดื่นตลอดเวลาในตลาดหุ้นไทย และกี่ปีกี่ปี พวกมันก็ยังมีพีอีต่ำมากอยู่อย่างนั้น ไม่เห็นว่าจะขึ้น การที่หุ้นมีพีอีต่ำมากจึงไม่ใช่เหตุผลที่หุ้นจะต้องขึ้น บ่อยครั้งที่หุ้นบางตัวมีพีอีที่ต่ำมากเป็นเพราะพวกมันมีอะไรบางอย่างที่ไม่ดีอยู่ เช่น เป็นธุรกิจที่กำไรค่อนข้างเปราะบาง อุตสาหกรรมที่เป็นวัฏจักรผันผวนสูง หรืออาจเกิดจากสถานะทางการเงินที่อ่อนแอ ต่างหาก การที่พวกมันมีพีอีต่ำมาก จึงเป็นพีอีต่ำที่มีเหตุผลของมันอยู่ แต่การที่หุ้นพีอีต่ำมากขึ้นได้หลังจากที่เซียนเชียร์นั้นเป็นเพราะว่าเกิดภาวะที่นักลงทุนแห่ซื้อตามเซียนต่างหาก หุ้นพวกนี้พอมีข่าวร้ายเกิดขึ้นเมื่อไร บารมีของเซียนเอาไม่อยู่ พีอีก็จะตกกลับลงมาต่ำเหมือนเดิมใหม่ แต่ราคาหุ้นจะต่ำยิ่งกว่าเดิม เพราะว่าข่าวร้ายทำให้ E ลดลงด้วย นักลงทุนที่แห่ซื้อตามเซียนไป ก็มักจะขาดทุนเสียหายกันเป็นจำนวนมาก เพราะต้นทุนสูงกว่าเซียนมาก

ฟองสบู่ในหุ้นพื้นฐานบางทีก็ไม่ได้เกิดจากเหตุผลเรื่องพื้นฐานของหุ้นตัวนั้นเอง แต่เกิดจากการศรัทธาในตัวบุคคลของผู้ที่เชียร์หุ้นตัวนั้นมากกว่า ชื่อของเซียนบางคนเป็นแบรนด์ที่ทรงพลัง แค่ข่าวรั่วออกไปว่าเข้าไปถือหุ้นตัวไหน คนจำนวนมหาศาลก็พร้อมที่จะซื้อหุ้นตัวนั้นตามทันทีโดยไม่ต้องถามเหตุผล เพราะเลื่อมใสในเซียนผู้นั้นมาก แบบว่าถ้าเซียนคนนี้คิดว่าดี ยังไงก็ต้องดีแน่ๆ ไม่มีทางพลาด เก่งออกขนาดนั้น ชื่อนี้การันตี ตกลงว่าพื้นฐานดีจริงหรือเปล่ายังไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ๆ ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปก่อนแล้วแน่นอนเพราะเกิดจากแรงซื้อของสาวกนั่นแหละ

ถ้าใครชอบไปตามดูของเก่าจะพบว่า หุ้นหลายตัวที่ราคาเคยทะยานได้อย่างมากมายช่วงหนึ่งในอดีต เพราะมีเซียนคนนั้นคนนี้ออกมาบอกว่า จะได้โปรเจ็คใหญ่ ทำให้กำไรก้าวกระโดดเท่านั้นเท่านี้ แต่สุดท้ายแล้ว ผลประกอบการกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยนั้น มีอยู่เยอะมาก ที่กลับตาลปัตร กลายเป็นขาดทุนแถมยังเจอเพิ่มทุนอีกมหาศาลก็มีไม่ใช่น้อยๆ เลย ถ้าลองทำตัวเป็นนักสืบย้อนรอยตามไปเก็บผลงานเก่าๆ ดูจะตกกะใจว่า ที่จริงแล้ว ความถี่ที่เซียนคิดถูกนั้นน้อยพอๆ กับคนธรรมดาเลยทีเดียว แต่ก่อนที่ผลสอบจะออกมา ราคาหุ้นก็มักปรับตัวขึ้นไปได้อย่างมากมายแล้ว นั่นก็เพราะแรงศรัทธาในตัวเซียนล้วนๆ 

ผมไม่ได้เป็นห่วงทุกคนที่ซื้อหุ้นตามเซียนหุ้นพื้นฐานหรือหุ้นที่กำลังเชียร์ๆ กันในเว็บหุ้นพื้นฐานหรอกครับ ที่จริงแล้วมีนักเก็งกำไรจำนวนมากที่ได้กำไรไปอย่างมากมายจากการฉกฉวยโอกาสกับหุ้นเหล่านี้ เพราะคนที่เข้าใจว่า หุ้นพื้นฐานเหล่านี้ขึ้นมาแรงเพราะเกิดสภาวะแห่ตามกันเท่านั้นเอง ส่วนของจริงจะดีอย่างที่เชียร์กันหรือไม่ยังไม่มีใครรู้ ไม่น่าห่วงหรอกครับ หรือคนที่เห็นด้วยกับเหตุผลด้านพื้นฐาน แต่ก็เข้าใจด้วยว่า ราคาที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วนี้เกิดจากการแห่ตามกันของนักลงทุนไปก่อนเท่านั้น ก็ไม่น่าเป็นห่วงเช่นกัน แต่คนที่หลงผิดคิดว่าหุ้นปรับตัวขึ้นมาแรงได้เป็นเพราะว่าพื้นฐานมันดีจริงแล้วนั้น เป็นพวกที่ผมห่วงที่สุด เพราะผมพบว่า คนที่เจ็บตัวจากหุ้นพื้นฐานแล้วมาปรับทุกข์ให้ผมฟังนั้นล้วนเป็นคนที่คิดแบบนี้กันทั้งนั้น

0327: Growth Investing Defined

มีหลายท่านสังเกตออกว่า ผมมักเน้นลงทุนในหุ้นเติบโตเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็ค่อนข้างจะตรง ผมก็เลยอยากถือโอกาสคุยเรื่อง Growth Investing สักหน่อยนะครับ

ทุกวันนี้สไตล์การลงทุนหลายแนวถูกนำชื่อไปใช้อ้างชื่อกันมาก ทำให้ความหมายของมันค่อยๆ เปลี่ยนไปจนในที่สุดก็ไม่เหลือใครที่มีบารมีมากพอที่จะผูกขาดนิยามของแนวการลงทุนเหล่านั้นได้อีกต่อไป Growth Investing ก็เช่นกัน เวลาจะใช้คำนี้จึงต้องขยายความให้ชัดหน่อยว่าหมายถึงอย่างไรกันแน่ มิฉะนั้นจะเกิดการเข้าใจผิดกันได้ง่าย

นิยามของ Growth Investing ที่ผมไม่ชอบมากที่สุดตั้งแต่เคยได้ยินมาคือนิยามที่บอกว่า Growth Investing คือการลงทุนในหุ้นที่มีค่าพีอีเรโชสูง นิยามนี้แบ่งหุ้นออกเป็นสองจำพวกชัดเจนคือ Growth Stock vs. Value Stock โดยใช้ค่าพีอีเรโชเป็นตัวแบ่ง หุ้นเติบโตคือหุ้นที่มีพีอีสูง หุ้นคุณค่าคือหุ้นที่มีพีอีต่ำ  

นิยามนี้เป็นนิยามที่ทำให้ความหมายของคำว่าการลงทุนผิดเพี้ยน เพราะพีอีเป็นอัตราส่วนทางการเงินที่มีราคาตลาดของหุ้นมาเกี่ยวข้อง (P) แต่ราคาหุ้นนั้นเป็นเรื่องของตลาดหลักทรัพย์ ไม่เกี่ยวกับตัวกิจการเลย พีอีเรโชจึงไม่ได้บ่งบอกถึง “การเติบโต” (หรือแม้แต่คุณค่า) ของบริษัทเลยแม้แต่น้อย หุ้นตัวหนึ่งจะเป็นหุ้นเติบโตหรือไม่นั้นจะต้องดูจากตัวธุรกิจได้แก่การเติบโตของธุรกิจเป็นหลัก ไม่เกี่ยวกับค่าพีอี  หุ้นที่มีค่าพีอีเรโชต่ำๆ ก็เป็นหุ้นเติบโตได้หากกำไรของธุรกิจนั้นเติบโตสูง ผมเองเน้นลงทุนในหุ้นเติบโตเป็นหลัก แต่ผมไม่ได้ชอบหุ้นพีอีสูงแต่อย่างใด ถ้าหากกำไรเติบโตสูงแล้วพีอีต่ำด้วยก็ยิ่งดีใหญ่ (เพียงแต่โอกาสดีๆ ขนาดนั้น มักไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักสำหรับหุ้นเติบโต) 

ที่จริงแล้ว Growth กับ Value เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด เพราะ แม้แต่ Growth Investor เอง ก็ยังต้องซื้อหุ้นให้ได้ในราคาที่ยังต่ำกว่า Growth Potential ของมันอยู่ดี (แบบเดียวกับ value investing) มิฉะนั้นซื้อไปแล้วก็จะไม่ได้อะไรจากการเติบโตอยู่ดี เพราะราคาหุ้นสะท้อนการเติบโตไปหมดแล้ว  

โดยรวมๆ Growth Investing หมายถึง การลงทุนที่ให้น้ำหนักกับ “โอกาสในการเติบโตของกิจการ”  ในการประเมินค่าหุ้นมากเป็นพิเศษ เท่านั้นเอง วิธีการลงทุนในหุ้นคุณค่าหรือหุ้นเติบโตนั้นจึงไม่ต่างกัน

แต่เหตุที่ผมสนใจหุ้นเติบโตมากกว่าหุ้นแบบอื่นมาจากเป้าหมาย, ความถนัด ตลอดจนความเชื่อส่วนตัวของผมเป็นสำคัญ โดยส่วนตัว ผมอยากซื้อหุ้นแล้วถือทิ้งไว้ในพอร์ตได้นานๆ โดยไม่ต้องคอยหาตัวใหม่อยู่เรื่อยๆ จะได้ไม่ต้องเหนื่อยกับการบริหารพอร์ตมากเกินไป ซึ่งผมคิดว่า หุ้นเติบโตตอบโจทย์ข้อนี้ได้ดีกว่าหุ้นแบบอื่น เพราะหุ้นเติบโตแม้เราถือทิ้งไว้เฉยๆ โดยไม่หาทางทำกำไรด้วยการซื้อๆ ขายๆ กินส่วนต่าง มูลค่าของหุ้นก็ยังสามารถเพิ่มขึ้นได้ในระยะยาว เพราะกิจการยังมีการลงทุนใหม่ๆ อยู่ ทำให้กำไรเพิ่มขึ้นได้อีก มูลค่ากิจการก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้ในระยะยาว แค่ถ้าเราซื้อหุ้นคุณค่าในราคาที่คิดว่าต่ำกว่ามูลค่าของกิจการแล้วถือไว้ สมมติว่าผ่านไปแค่สองเดือนราคาหุ้นเกิดปรับตัวขึ้นจนสะท้อนมูลค่าหมดแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะถือต่อไปอีกด้วยเหตุผลอะไร เพราะว่ากำไรของกิจการเท่าเดิม มูลค่าของกิจการก็เท่าเดิม ราคาหุ้นก็ต้องเท่าเดิม ถือทิ้งไว้ พอร์ตก็ไม่โตขึ้น เราจึงต้องขาย ออกมาแล้วหาตัวใหม่เข้าลงทุนแทนอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้เงินของเรายังทำงานอยู่ตลอดเวลาได้ ผมมีความเชื่อว่า หุ้นคุณค่าเมื่อราคาสะท้อนแล้ว ควรขายออกไปได้เลย ไม่ควรถือต่อไปในระยะยาว หุ้นที่ควรถือในระยะยาวมีเพียงหุ้นเติบโตประเภทเดียวเท่านั้น (ความเชื่อส่วนบุคคล)

นี่เป็นเหตุผลเดียวกันด้วยที่ทำให้ผมไม่นิยมลงทุนในหุ้นกลับตัว (Turnaround) ด้วย เพราะแม้ว่าหุ้นกลับตัว (ถ้าเล่นเก่งๆ) มักให้ผลตอบแทนที่สูงมาก แต่ก็ต้องเหนื่อยหาตัวใหม่อยู่เรื่อยๆ เพราะเมื่อหุ้นกลับตัวได้แล้ว ก็มักไม่มีเหตุผลที่จะถือต่อไป (ส่วนใหญ๋แล้ว หุ้นกลับตัวมักเป็นกิจการที่อ่อนแอ มิฉะนั้นมักคงไม่แย่ให้เราซื้อตั้งแต่แรก)  

ภายใต้คำว่า Growth Investing ด้วยกันเองยังมีแนวทางแยกย่อยได้อีกหลายแนว แต่ละแนวก็มีวิธีที่ค่อนข้างต่างกันมาก ราวกับเป็นคนละแนวทางเลยทีเดียว  ระยะหวังผล ของนักลงทุนแต่ละคนคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ Growth Investing แต่ละแนวมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป 

Growth Investing แบบที่แพร่หลายมากที่สุดคือ การเลือกหุ้นโดยดุจากแผนการเติบโตของบริษัทนั้นๆ เป็นหลัก วิธีนี้คือดูว่าบริษัทนั้นๆ มีแผนเติบโตธุรกิจอย่างไร เช่น โรงงานอาจมีแผนเพิ่มกำลังการผลิต ธุรกิจค้าปลีกอาจมีแผนขยายสาขา ผู้รับเหมาอาจมีโปรเจ็คใหม่ๆ ที่กำลังวิ่งอยู่ เป็นต้น จากนั้นก็คำนวณหากำไรที่เพิ่มขึ้นที่น่าจะเป็นไปได้ ลองดูว่าราคาหุ้นปัจจุบันคิดเป็น P/E กี่เท่าเมื่อเทียบกับกำไรที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ถ้าค่าพีอีนี้ยังไม่สูงก็ลงทุนได้ ถ้าสูงจนสะท้อนการเติบโตไปหมดแล้ว ก็ไม่เอา วิธีนี้เหมาะกับนักลงทุนที่มีระยะหวังผล 1-3 ปี เพราะธุรกิจส่วนใหญ่มักวางแผนธุรกิจล่วงหน้าไว้ 1- 3 ปี ทำให้หาข้อมูลมาสนับสนุนการวิเคราะห์หุ้นได้ง่าย วิธีนี้ถือว่ามีเหตุมีผลมีที่มาที่ไปชัดเจน เพราะมีแผนธุรกิจของบริษัทรองรับการตัดสินใจลงทุน ทำให้เป็นที่นิยมของนักลงทุนสถาบัน เป็นการให้มูลค่าหุ้นไปตามการเติบโตเฉพาะที่มองเห็นได้เท่านั้น เรื่องที่ต้องระวังคือต้องคิดด้วยว่า แผนของผู้บริหารมีความเป็นไปได้แค่ไหน ไม่ใช่ผู้บริหารวาดฝันยังไงก็เชื่อตามทุกอย่าง หากดูแล้ว aggressive เกินไป ก็ต้องลดทอนความคาดหวังลงมาเองด้วย   

Growth Investing อีกแบบหนึ่งเป็นการมองหาแนวโน้มการเติบโตใหญ่ (Megatrends) ที่กินระยะเวลายาวนาน แล้วลงทุนไปกับบริษัทที่คิดว่าน่าจะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มใหญ่นั้นแบบถือยาวไปเลย ตัวอย่างเช่น ถ้ามองว่า แนวโน้มใหญ่ของคนกรุงเทพคือการหันมาอยู่คอนโดมากขึ้น เพราะการเกิดขึ้นของโครงการรถไฟฟ้าต่างๆ เราก็ซื้อหุ้นคอนโดเก็บไว้ หรือถ้าเชื่อใน aging economy ก็ซื้อหุ้นโรงพยาบาลเก็บไว้ เป็นต้น วิธีนี้ดีตรงที่ไม่ต้องเหนื่อยทำการบ้านมาก เพราะไม่จำเป็นต้องคอยติดตามข่าวบริษัทอย่างใกล้ชิดทุกไตรมาส ใช้วิธีอดทนกับความผันผวนของราคาหุ้นระหว่างทางแทน ตราบใดที่ภาพใหญ่ยังไม่เสีย หุ้นจะขึ้นบ้างลงบ้างก็ช่างมัน เพราะยังไงเสียในระยะยาว แนวโน้มใหญ่ก็จะช่วยพาบริษัทให้เติบโตขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญอยู่แล้วจะไปวิตกกับความผันผวนระหว่างทางไปทำไม ระยะหลังนี้ ผมหันมาเน้นการลงทุนด้วยวิธีการนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะตรงกับเป้าหมายส่วนตัวของผมที่อยากเล่นหุ้นแบบไม่ต้องเหนื่อยมาก ถ้าเราสามารถหาแนวโน้มใหญ๋ให้ได้สัก 4-5 แนวแล้วกระจายการลงทุนออกไป เราก็สามารถลงทุนแบบใจสงบได้แล้ว ระยะหวังผลของหุ้นแต่ละตัวที่ซื้ออาจเป็น ได้ตั้งแต่ 3 ถึง 10 ปี แล้วแต่ความต่อเนื่องของแนวโน้มใหญ่

สุดท้ายคือ Growth Investing แนวบู๊ล้างผลาญ วิธีนี้มีระยะหวังผลไม่เกิน 3-6 เดือนต่อหุ้นแต่ละตัวที่ซื้อ เมื่อได้กำไร 20-100% แล้วก็หาตัวเล่นใหม่เปลี่ยนสร้างผลตอบแทนอย่างไม่หยุดนิ่ง คาดหวังผลตอบแทนต่อปีในระดับที่ค่อนข้างสูง

“ข้อมูลข่าวสาร” คืออาวุธที่สำคัญที่สุดของแนวบู๊ล้างผลาญ ข้อมูลที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึง “ข้อมูลอินไซด์” เสมอไป แต่หมายถึง “ข่าวสาธารณะ” นั่นแหละครับ (ที่จริงแล้ว พวกข่าวอินไซด์กลับจะน่ากลัว เพราะเราอาจตกเป็นเหยื่อได้ด้วย) ยิ่งเราเข้าถึงข้อมูลได้มาก-ลึก-เร็วและแม่นยำกว่าคนอื่นเท่าไร เราก็จะยิ่งได้เปรียบในการลงทุนแบบนี้มากขึ้นเท่านั้น ที่จริงแล้ว วิธีนี้ไม่ต้องรู้เรื่องอะไรเลยเกี่ยวกับการวิเคราะห์ธุรกิจเลยก็ยังได้ เพราะในระยะแค่ 3-6 เดือน การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นแทบไม่เกี่ยวกับอะไรกับปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจ แต่เกี่ยวกับข่าวที่เข้ามากระทบหุ้นตัวนั้นๆ เป็นสำคัญ หุ้นที่พื้นฐานไม่ค่อยดีกลับน่าสนใจมากกว่าหุ้นพื้นฐานดีเสียด้วยซ้ำ เพราะหุ้นพวกนี้มักจะมีกำไรระยะสั้นที่ผันผวนสูงมากกว่า ทำให้เราสามารถทำกำไรระยะสั้นได้เยอะกว่า

ตามความเห็นของผม การลงทุนในวิธีนี้สามารถให้ผลตอบแทนสูงได้จริงสำหรับตลาดหุ้นไทย แต่จะต้องขยันทำการบ้านให้มาก ลงทุนตามข้อมูลเป็นหลัก ไม่ใช่ลงทุนตามความรู้สึก ผลตอบแทนที่ได้จะแปรผันตามไปข้อได้เปรียบเรื่องข้อมูลของเรา ยิ่งได้เปรียบเรื่องข้อมูลมากเท่าไร เราก็ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จมากเท่านั้น ไม่มีปฏิหารย์ครับ

คนที่ใช้วิธีนี้บางคนใช้วิธีมองหาหุ้นที่ EPS รายไตรมาสกำลังจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญมากๆ เช่น +100% yoy แล้วรีบเข้าไปถือก่อนคนอื่น รอให้ข่าวค่อยๆ กระจายออกสู่นักลงทุนในวงกว้างมากขึ้นจนราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมามากๆ ในช่วงเวลาอันรวดเร็ว แล้วก็รีบขายทิ้งทำกำไรออกมาตั้งแต่ก่อนที่ข่าวที่ดีที่สุดจะออกมา ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ให้ได้หลายๆ รอบในหนึ่งปี คนที่ขยันหาข่าวจริงๆ จะทำผลตอบแทนได้สูงมากจากวิธีการลงทุนแบบนี้ 

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียสำคัญของ Growth Investing แนวสุดท้ายนี้ก็คือ ในระยะสั้น ตลาดหุ้นคือ Money Game จึงหลีกเลี่ยงไม่เราจะต้องเข้าไปเล่นในเกมนี้ด้วย คนที่จะเล่นหุ้นด้วยวิธีนี้ได้จึงต้องมีภูมิต้านทานสูง รู้เท่าทันคนอื่นจึงจะเอาตัวรอดได้ 

โดยส่วนตัว ผมไม่ได้ลงทุนด้วยวิธีนี้เลย เพราะไม่ใช่ทางของผมครับ

0315: Notes on Valuation

  การที่คุณมีเกณฑ์ในการคัดหุ้นเหมือนอย่างเช่นในบทความที่แล้ว จะทำให้คุณมีรายชื่อหุ้นจำนวหนึ่งที่เหมาะแก่การลงทุนในระยะยาว งานต่อไปของนักลงทุนระยะยาวก็คือ แล้วเราควรจะซื้อหุ้นเหล่านั้นเมื่อไร?

บางคนบอกว่า สำหรับการลงทุนระยะยาวแล้ว จะซื้อเมื่อไรเลยก็ได้ แต่ในความคิดส่วนตัวของผม ผมยังมองว่าการซื้อหุ้นตูมเดียวด้วยเงินออมส่วนใหญ่ของเรา โดยไม่ต้องสนใจว่าราคาหุ้นในเวลาที่ซื้อนั้น เหมาะสมหรือไม่ ไม่ใช่แนวคิดที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตลาดหุ้นสมัยนี้ที่นโยบายการเงินของธนาคารกลางเป็นแบบผ่อนคลายแทบตลอดเวลา ถ้าคุณบังเอิญเข้าซื้อหุ้นไทยตอน 1700+ จุด แล้วสามารถถือยาวมาได้ถึงเดียวนี้ สิบกว่าปี คุณก็ยังขาดทุนอยู่ดี ยังไงๆ ผมก็คิดว่า ราคาที่เข้าซื้อ ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นดีแค่ไหน หรือถือยาวขนาดไหนก็ตาม 

แต่หากคุณขี้เกียจรอซื้อที่ราคาเหมาะสมจริงๆ หรือคิดว่าการหาราคาที่เหมาะสมเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเกินไป ผมแนะนำให้คุณใช้วิธีทยอยซื้อทีละนิดไปเรื่อยๆ เป็นช่วงระยะเวลายาวๆ จะดีกว่าการเข้าซื้อทีเดียวด้วยเงินก้อนใหญ่ๆ เพราะการแบ่งช่วงเวลาที่ซื้อออกไปนานๆ จะช่วยให้คุณได้ต้นทุนเฉลี่ยที่ไม่แพงเกินไปโดยอัตโนมัติ น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ปลอดภัยกว่า (ถ้าสนใจวิธีนี้จริงๆ ลองดูตัวอย่างหนึ่งใน https://dekisugi.net/7thltg ก็ได้ครับ)

แต่ถ้าคุณสามารถลงทุนโดยมีการประเมินราคาที่เหมาะสมก่อนเข้าซื้อร่วมด้วยจะทำให้คุณมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น การซื้อเฉลี่ยนั้นแม้จะปลอดภัยก็จริงแต่ต้นทุนเฉลี่ยที่ได้ก็มักจะไม่ถูกไม่แพง แต่เป็นกลางๆ ทำให้ผลตอบแทนอยู่ในระดับกลางๆ ไปด้วย ไม่ถึงขั้นดีมาก ต่างกับคนที่มีการระมัดระวังเรื่องต้นทุนที่เข้าซื้อลงทุนร่วมด้วย ถ้าเขาสามารถทำได้ดี จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนได้อีกมาก

วิธีประเมินมูลค่าหุ้น ที่ง่ายที่สุดน่าจะเป็น P/E ซึ่งใช้ได้ดีเป็นพิเศษกับกิจการที่มีกำไรที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ (easy to predict) ทุกปี อย่างไรก็ตาม ควรตรวจสอบด้วยว่า บริษัทมีกำไรพิเศษในปีนั้นทำให้ P/E ดูต่ำผิดปกติหรือไม่ เช่น มีการขายสินทรัพย์ครั้งใหญ่ในปีนั้นทำให้เกิดกำไรพิเศษ และการขายสินทรัพย์นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นทุกปี อย่างนี้เราต้องตัดกำไรพิเศษเหล่านั้นออกไปก่อน เพื่อมิให้เกิดภาพที่บิดเบือนได้ เป็นต้น

หากเป็นหุ้นที่อยู่ในโผของเราอยู่แล้ว (พื้นฐานดีเหมาะกับการลงทุนระยะยาว) พีอีที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับ อัตราการเติบโตในอนาคตที่เราเชื่อว่าเป็นไปได้เป็นสำคัญ เช่น ถ้าเราคิดว่า บริษัทนั้นน่าจะโตได้อย่างน้อยปีละเท่าๆ กับเงินเฟ้อ พีอีที่เหมาะสมก็น่าจะอยู่ที่ 10 เท่า (อันนี้เป็นมาตรฐานของผมเอง) แต่ถ้าบริษัทน่าจะเติบโตได้เกิน 10-15% ต่อปีอาจให้พีอีเหมาะสมมากขึ้น เช่น 12 เท่า ถ้าโตได้ถึง 20% ต่อปี ก็อาจให้พีอี 15-18 เท่าก็ได้ แต่ที่สำคัญ การเติบโตที่ว่านั้นต้องเป็นอัตราการเติบโตที่บริษัทน่าจะทำได้ต่อเนื่องกันหลายปี เช่น 3-5 ปีข้างหน้า ไม่ใช่เห็นว่าปีหน้าบริษัทมีโครงการใหญ่ทำให้กำไรก้าวกระโดด 50% ในปีเดียว ก็จะคิดว่าบริษัทนั้นโตได้ 50% ต่อเนื่องทุกปี ปกติแล้วการเติบโตในระดับ 10-20% ต่อปีนั้นอาจทำให้ต่อเนื่องในระยะยาวได้ไม่ยากนัก แต่ถ้า 50% ต่อปีนั้นมักเป็นไปได้ยากมากๆ ในกรณีเช่นนี้ เราต้องปรับความคาดหวังลงมาสักหน่อย เช่น อาจจะลดลงมาเหลือ 20% จะปลอดภัยกว่า (คิดว่าปีหน้า 50% หลังจากนั้น 10% ทำให้เฉลี่ยๆ แล้วเหลือ 20% ต่อปีในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า) ส่วนถ้าเป็นหุ้นนอกโผ ผมคงไม่ลงทุนระยะยาวอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้พีอีที่เหมาะสม ผมก็คงให้แค่ 7 เท่าเสมอ ไม่ว่าจะโตได้มากแค่ไหน เพราะถือว่าพื้นฐานสอบไม่ผ่านที่จะลงทุนระยะยาวได้ ส่วนการให้พีอีหุ้นตัวทุกในโผเท่ากันหมดโดยไม่คำนึงถึง Growth Potential ที่แตกต่างกันเลยนั้น เป็นวิธีการที่ผมไม่ชอบ เพราะผมมองว่าเป็นการไม่ยุติธรรมกับธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงกว่า

การใช้ P/E ในภาวะผิดปกติต้องระวัง เช่น ในช่วงเศรษฐกิจซบเซา หรือบริษัทกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ เพราะพีอีมักให้ภาพที่บิดเบือน ตัวอย่างเช่น บริษัท ABC ในยามปกติมี Net Margin 3% พีอี 10 เท่า แต่เมื่อเกิดเศรษฐกิจซบเซาทำให้ Net Margin ลดลงชั่วคราวเหลือ 1% (แต่รายได้คงที่) สมมติว่าตลาดกดราคาหุ้นลง 30% พีอีใหม่จะกลายเป็น 21 เท่า ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าแพงอย่างมาก แต่ที่จริงแล้ว ส่วนลด 30% เป็นโอกาสทองของนักลงทุนระยะยาวที่จะซื้อ เพราะยอมทนรอหน่อย เมื่อทุกอย่างกลับมา มาร์จิ้นกลับมาที่ 3% ก็เท่ากับเราซื้อได้ที่พีอีแค่ 7 เท่าเท่านั้น ยิ่งถ้ารายได้กลับมาสูงกว่าเดิมด้วย (ซึ่งมักจะเป็นเช่นนั้น) ต้นทุนเราอาจเท่ากับพีอีแค่ 5-6 เท่าเท่านั้น แต่ถ้าเราคิดง่ายๆ แค่พีอี 21 เท่าแปลว่าแพงเสมอ ไม่รู้จักการพลิกแพลง เราก็พลาดโอกาสได้

P/E ไม่ใช่ตัวชี้วัดมูลค่าที่ดีสำหรับธุรกิจที่มีกำไรไม่แน่นอน เพราะถ้าปีนี้ P/E ต่ำ ไม่ได้แปลว่า ปีหน้า P/E จะต่ำ เพราะปีหน้ากำไรอาจร่วงลงอย่างแรงทำให้ P/E สูงขึ้นอย่างผิดหูผิดตาก็ได้ ถ้าผมจะตีมูลค่าหุ้นพวกนี้ ผมมักหาวิธีการอย่างอื่นแทน ตัวอย่างเช่น หุ้นโรงกลั่นในภาวะที่ค่าการกลั่นตกต่ำ บริษัทอาจขาดทุนทำให้พีอีติดลบ ผมจะหันไปใช้วิธีหาตัวเลขว่า ทุกวันนี้โรงกลั่นน้ำมันสร้างใหม่ต้องใช้เงินลงทุนเท่าไรต่อกำลังการผลิต 1 ล้านบาร์เรล แล้วตีราคาบริษัทตามกำลังการผลิต (Replacement Cost Method) แทน (อย่าลืมดูด้วยว่าโรงกลั่นของบริษัทมีสัดส่วน output ชนิดต่างๆ ใกล้เคียงกับ benchmark มากแค่ไหน) เช่นนี้เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ที่จริงแล้ว การตีราคาหุ้นนั้นไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ต้องเลือกเครื่องมือให้ได้เหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า เราต้องการอะไรสักอย่างที่ทำให้เรามั่นใจว่า ราคาเท่าไรถึงจะไม่แพง ถ้าเป็นธุรกิจที่มีความแน่นอนต่ำมาก หาวิธีที่ทำให้เรามั่นใจมูลค่าไม่ได้ อย่าลงทุนระยะยาวดีที่สุด ถ้าจะซื้อก็เล่นสั้น ๆก็พอ

สำหรับ P/B นั้น โดยส่วนตัว ผมแทบไม่ได้ใช้เลย ผมมองว่ามูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์ทุกวันนี้ สะท้อนมูลค่าของธุรกิจได้น้อยมากๆ

ส่วน P/S นั้น ใช้ประโยชน์ได้เหมือนกัน เพราะใช้แทน พีอี ในช่วงที่บริษัทขาดทุนได้ ผมมักจะดูว่า P/S ของบริษัทสูงหรือต่ำเมื่อเทียบกับ P/S ในอดีต ประกอบการตัดสินใจด้วย เป็นต้น

ส่วนการศึกษา DCF นั้นช่วยทำให้เราเข้าใจได้ลึกขึ้นว่า มูลค่าของธุรกิจขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง (เช่น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกำไรปีนี้หรือปีหน้าปีเดียว แต่ปีต่อๆ ไปอีก อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ย อัตราการเติบโต และ investment ratio ของธุรกิจนั้นๆ อีกด้วย เป็นต้น) แต่ในสถานการณ์จริง โอกาสที่จะได้ใช้ DCF จะมีไม่มากนัก เพราะคุณต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทนั้นๆ แบบค่อนข้างละเอียดและครบถ้วนมากทีเดียวจึงจะทำ DCF ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วเรามักไม่สามารถหาข้อมูลได้ครบถ้วนถึงขนาดนั้น

ธุรกิจกับความไม่แน่นอนเป็นของคู่กัน ดังนั้นหุ้นจึงเป็นหลักทรัพย์ที่หามูลค่าที่แน่นอนไม่ได้อยู่แล้วโดยธรรมชาติ มีแค่ “ช่วง” ที่เป็นไปได้หรือเหมาะสมเท่านั้น ฉะนั้น การวัดมูลค่าหุ้นจึงเป็นศิลปะมากกว่าวิทยาศาสตร์ ผมใช้หลักถ้าไม่แน่ใจก็ไม่เอาไว้ก่อน เช่น หุ้นตัวหนึ่งดีมาก เราเชื่อว่าโตได้ 50% ต่อปี แต่ถ้าราคาหุ้นแพงมากๆ แบบนี้เราก็อาจจะไม่เอาไว้ก่อน เพราะต้องเสี่ยงซื้อของแพง สู้เอาเงินไปซื้อหุ้นที่โตได้แค่ 10% ต่อปี แต่ราคาหุ้นต่ำมากจนดูเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แบบนี้เป็นต้น ใช้การวัดมูลค่าเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในกับการลงทุนของเราก็พอ ไม่ใช่กฏเหล็กตายตัว (เพราะเราไม่ได้ซื้อหุ้นตัวเดียวด้วยเงินทั้งหมดอยู่แล้ว เรามีการกระจายความเสี่ยงช่วยด้วย)

สำหรับพอร์ตลงทุนระยะยาว ผมไม่คิดว่าจะต้องซื้อหุ้นให้ได้ถูกมากๆ เพราะเน้นหุ้นดีอยู่แล้ว ต่อราคามากๆ อาจไม่มีวันได้ซื้อ แต่ผมจะหลีกเลี่ยงการซื้อแพงๆ ถ้าหุ้นดีมากๆ แต่ต้องซื้อในราคาที่ไม่แน่ใจว่าแพงไปหรือไม่ ผมมักจะขอเลือกหุ้นที่ดีน้อยลงมาสักหน่อย แต่ซื้อได้ในราคาที่ทำให้เกิดความสบายใจได้เป็นหลักครับ

0311: ตำนานปูน

หลายท่านน่าจะเคยได้ยินเรื่องราวการลงทุนหุ้นปูนซิเมนต์ไทยของคุณวิกรม เกษมวุฒิ กันมาบ้าง ผมว่าเรื่องนี้สามารถเป็นตำนานในตลาดหุ้นไทยได้เลยทีเดียว 

ในวันแรกที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดเมื่อ 34 ปีที่แล้ว คุณวิกรมนำเงินจำนวน 16, 700 บาท ไปซื้อหุ้นปูนซิเมนต์ไทยจำนวน 100 หุ้น แล้วนั่งทับใบหุ้นเอาไว้ อีกสามสิบเอ็ดปีต่อมา ปูนซิเมนต์ไทยแตกพาร์ไปทั้งหมดสองครั้ง ทำให้ 100 หุ้นของคุณวิกรมกลายเป็น 1 หมื่นหุ้น หุ้นจำนวนนั้นจึงมีมูลค่า 2, 340, 000 บาท (234 บาทต่อหุ้น ข้อมูล ณ ปี 2549) หรือเพิ่มขึ้นมา 140 เท่าตัว นี่ยังไม่รวมเงินปันผลที่คุณวิกรมได้รับมาระหว่างทางตลอด 31 ปีเป็นเงินอีก 7.4 แสนบาท กลายเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 3.08 ล้านบาทเข้าไปแล้ว   

ถ้าหากคิดว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยปีละ 5% เงินจำนวน 16, 700 บาทเมื่อ 31 ปีก่อน ก็คงมีค่าประมาณ 75, 000 บาทของเงินสมัยนีหรือเท่ากับเงินเดือนประมาณ 3-4 เดือนเท่านั้น นั่นก็หมายความว่า เงินเดือนแค่ 3-4 เดือนเมื่อ 30 ปีที่แล้วของคุณวิกรมสามารถทำงานได้มากกว่าหลายๆ คนที่ทำงานหาเงินตลอดชีวิต 30 ปี เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ทำงานตลอดชีวิตแล้วยังเก็บเงินไม่ได้ถึง 3 ล้านบาทเลย

คุณวิกรมเพียงแค่กลั้นใจไม่เอาเงินเดือนสักสามเดือนมาใช้ แต่นำเงินก้อนนี้ไปซื้อหุ้นเก็บไว้เฉยๆ 100 หุ้น แค่เนี่ย ไม่ต้องออกแรงอะไรเลย

บางคนอาจแย้งว่า หุ้นในตลาดมีตั้งมากมาย แล้วจะรู้ได้ไงว่าต้องซื้อหุ้นปูน ถ้าซื้อหุ้นตัวอื่นไปอาจจะเจ๊งไปกับวิกฤตต้มยำกุ้งแล้วก็ได้ แต่ถ้าไปดูข้อมูลจะเห็นได้ว่า ในวันที่เปิดตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 34 ปีก่อน มีหุ้นในตลาดแค่ 8 ตัวเท่านั้น สมมติว่า คุณไม่รู้อะไรเลย จึงใช้เงิน 16, 700 บาทของคุณ แบ่งซื้อไปหมดทั้ง 8 ตัวเท่ากัน แล้วสมมติว่า อีก 7 ตัวที่เหลือเจ๊งหมด คุณก็ยังได้ผลตอบแทนจากหุ้นปูน 3.85 แสนบาท จากเงินลงทุน 16, 700 บาท หรือยังกำไรอยู่ถึง 23 เท่าตัวเลยทีเดียว ซึ่งในความเป็นจริง หุ้นทั้ง 8 ตัว ในปัจจุบันเหลือแค่ 4 ตัว คือ SCC, BBL, BJC และ DTC ซึ่ง BBL ก็ให้กำไรถึง 20 เท่า ส่วน BJC และ DTC ให้กำไรถึง 10 เท่า

ดังนั้นต่อให้ไม่รู้ว่าต้องเป็นหุ้นปูนใหญ่ เรื่องราวนี้ก็ยังเป็นตำนานที่น่าทึ่งอยู่ดี

แล้วทำไมคุณจะไม่ลอง Bet อะไรอย่างนี้กับการลงทุนในหุ้นระยะยาวๆ ดูบ้าง แค่ลองนำเงินเก็บเท่ากับเงินเดือนสัก 3-4 เดือนไปซื้อหุ้นอะไรก็ได้ที่คุณคิดว่ามีความมั่นคงในระดับเดียวกับ SCC ไว้ สัก 4-5 ตัว แล้วสัญญากับตัวเองว่า จะไม่ขายเลยตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เหมือนซึ้อทิ้ง  แกล้งสมมติว่า คุณบังเอิญทำเงินเดือน 3 เดือนนี้หายไป การ Bet อย่างนี้ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงอะไรเลย แต่ถ้าหากมัน “ใช่” ขึ้นมา ผลตอบแทนของมันจะคุ้มเกินคุ้มเลยทีเดียว และการเจียดเงินเล็กๆ ส่วนหนึ่งมาทำแบบนี้ ก็ไม่ได้แปลว่า คุณจะต้องเลิกเก็งกำไรตามแบบที่คุณชอบทำอยู่ พอร์ตหลักของคุณจะลงทุนยังไงก็ลงทุนต่อไปเหมือนเดิม ไม่ได้มีผลกระทบอะไร 

อีกทั้งมันยังเป็นหลักประกันด้วยว่า ถ้าพอร์ตเก็งกำไร ซึ่งเป็นพอร์ตหลักของคุณ ซึ่งคุณใช้เงินจำนวนมากกว่า เพราะคุณหวังกับมันว่า มันจะทำให้คุณกลายเป็นเศรษฐีได้ในเวลาแค่สองสามปี แต่มันเกิดเจ๊งขึ้นมา ทำให้คุณหมดตัว อย่างน้อยคุณก็ยังคงมีตรงนี้เป็นที่พึ่งพาได้อยู่ 

สาเหตุที่ที่ผ่านมาเรื่องนี้ไม่ค่อย “โดน” ใจนักลงทุนไทยมากนัก ผมว่าน่าจะเป็นเพราะ วิธีนี้เป็นการถือหุ้นยาว คำว่า ถือหุ้นยาว ทุกวันนี้เป็นคำที่ค่อนข้างแสลงในความรู้สึกของนักลงทุนไทยส่วนใหญ่  

แต่ถ้าเป็นการพิจารณาโดยเปรียบเทียบ Upside/Downside ด้วย ผมดูแล้วยังไงๆ วิธีนี้ก็เป็นวิธีที่คุ้มเหลือคุ้มที่ทุกคนจะลองทำดูไว้สักหนึ่งครั้งในชีวิตครับ เพราะแม้จะเป็น small probability of very large gain แต่ต้นทุนในการทดลองมันต่ำมากครับ 

0297: SET กับเศรษฐกิจไทย

ลักษณะจำเพาะอย่างหนึ่งของตลาดหุ้นไทยคือ มีหุ้นพลังงานเป็นองค์ประกอบที่ใหญ่มาก ยิ่งถ้านับรวมพวกหุ้นปิโตรเคมีซึ่งมีน้ำมันเป็นวัตถุดิบเข้าไปอีก ก็อาจจะมากถึง 1 ใน 3 ดังนั้นเวลาที่ราคาน้ำมันผันผวน ราคาน้ำมันก็สามารถลาก SET ให้วิ่งไปในทิศทางเดียวกันได้ไม่ยาก

บังเอิญว่าราคาน้ำมันทุกวันนี้ก็ผันผวนมากเสียด้วย มันเคยวิ่งจาก 140 ลงมาเหลือแค่ 30 กว่าแล้วกลับขึ้นไปใหม่ที่ 70 เหรียญ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในเวลาแค่ปีเดียว เมื่อราคาน้ำมันผันผวนขนาดนี้ หุ้นพลังงานก็ยิ่งมีอิทธิพลต่อทิศทางของ SET มากเข้าไปใหญ่ 

เวลาหุ้นพลังงานขึ้นแรงจนทำให้ SET ปรับตัวขึ้นไปมากๆ หุ้นบิ๊กแคปในกลุ่มอื่นๆ จะ lag SET มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พวก Trader รีบเข้าไปซื้อเก็บ เพื่อปิด gap ระยะสั้น ทั้งที่หุ้นบิ๊กแคปเหล่านั้นไม่ใช่หุ้นที่เกี่ยวข้องอะไรกับน้ำมัน ทำให้ SET ยิ่งวิ่งขึ้นไปอีก สุดท้ายแล้ว SET ทั้งตัวก็เลยเคลื่อนไหวไปตามราคาน้ำมันซะงั้น เรื่องนี้ทำให้เราต้องนั่งงงกันอยู่บ่อยๆ ว่าทำไมเวลาน้ำมันแพงเอาๆ หุ้นธนาคารกลับยิ่งขึ้นเอาๆ ไม่รู้ว่าน้ำมันแพงมันไปช่วยให้ธนาคารดีขึ้นได้อย่างไร 

หันมามองเศรษฐกิจของประเทศไทย ลักษณะจำเพาะของเศรษฐกิจบ้านเราก็คือเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก แต่หากไปพิจารณาที่ SET แล้วกลับเห็นว่า หุ้นส่งออก ได้แก่ กลุ่มยานยนต์และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งสองกลุ่มรวมกันกลับมีน้ำหนักน้อยมากใน SET (ไม่ถึง 10%) ในขณะที่ เมื่อน้ำมันแพงขึ้น การนำเข้าน้ำมันเมื่อคิดเป็นมูลค่าจะสูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีกับหุ้นน้ำมันและดีกับ SET แต่การนำเข้าเป็นสิ่งที่หักออกจากจีดีพี ดังนั้นยิ่งน้ำมันแพงมากเท่าไร กลับทำให้จีดีพีของประเทศยิ่งดูไม่ดีมากเท่านั้น

สรุปแล้ว ทุกวันนี้ SET จึงสะท้อนภาพรวมของเศรษฐกิจไทยน้อยมาก บางคนเห็นธุรกิจรอบๆ ตัวซบเซา คนเดินห้างน้อยลง แล้วจะเอามาใช้เป็นเหตุผลในการมองว่า SET จะเป็นยังไงต่อไปนั้น ก็ต้องบอกว่า เป็นวิธีที่ใช้ไม่ได้ผล เพราะตลาดหุ้นไทยมีหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศน้อยมากๆ บ้านเรายังไปไม่ถึงจุดที่การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็น norms ของบริษัททั่วไป เหมือนอย่างในประเทศที่พัฒนาแล้ว หุ้นอุปโภคบริโภคที่เป็นที่นิยมจำนวนมากของบ้านเรายังคงเลือกที่จะอยู่นอกตลาดหุ้นอยู่ เมื่อปีที่แล้ว เราก็ได้เห็นกันแล้วว่า ราคาน้ำมันที่ 140 เหรียญทำเอาเศรษฐกิจในประเทศซบเซาหนัก เงินเฟ้อพุ่งไม่หยุด แต่แทนที่จะทำให้ SET แย่ SET กลับวิ่งไปสร้างสถิติสูงสุดใหม่ที่ 925 จุด เพราะราคาน้ำมันตัวเดียว นี่ย่อมพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้น้ำมันจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมแย่ลง แต่เมื่อ net กันแล้ว น้ำมันแพงกลับเป็นผลบวกกับ SET มากกว่า   

ไปๆ มาๆ การใช้ปัจจัยพื้นฐานวิเคราะห์ SET ทั้งตัว เช่น ถ้าจีดีพีไม่ดีแล้ว SET จะต้องไม่ดีตามนั้น เป็นอะไรที่ไม่น่าจะเวิร์ค ปัจจัยพื้นฐานควรเอาไว้ใช้วิเคราะห์หุ้นเป็นรายตัวหรืออย่างน้อยก็เป็นรายกลุ่มเท่านั้น บอกอะไรเกี่ยวกับ SET ไม่ได้ครับ     

    

0285: adaptive vs. rational

สมมติฐานเกี่ยวกับการตัดสินใจภายใต้ความไม่แน่นอนของมนุษย์มี 2 แบบด้วยกัน แบบแรกเชื่อว่ามนุษย์ตัดสินใจแบบ Adaptive แบบที่สองเชื่อว่ามนุษย์ตัดสินใจแบบ Rational

Adaptive คือ เมื่อได้รับข้อมูลใหม่ ถ้าข้อมูลใหม่เปลี่ยนแปลงไปทางไหน ก็ค่อยปรับลดประมาณการไปทางนั้นลงทีละนิด เช่น GDP ปีล่าสุดอยู่ที่ 3% ก็ประมาณว่า GDP ปีหน้าจะอยู่ที่ 2.5-3.5% ด้วย ถ้า GDP ไตรมาสล่าสุดออกมาลดลง ก็ปรับประมาณการ GDP ปีหน้าใหม่ให้ลดลงตาม เช่น 2.3-3.3% เป็นต้น พูดอีกอย่างก็คือ ประมาณการจะค่อยๆ เรื่อยไปตามตัวเลขใหม่ที่ออกมาทีละนิด

Rational คือ เมื่อได้รับข้อมูลใหม่ก็นำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลแล้วตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับอนาคตขึ้นมาจากข้อมูลเหล่านั้น เช่น แม้ GDP ปีล่าสุดจะอยู่ที่ 3% แต่ถ้ามีข่าวว่าสหรัฐฯ มีวิกฤตซับไพร์ม ทำให้เชื่อว่ากำลังซื้อจากต่างประเทศน่าจะกำลังหายไปเร็วๆ นี้ ประเทศไทยพึ่งการส่งออกถึง 70% เพราะฉะนั้น ปีหน้าคงกระทบหนัก แบบนี้ไม่ต้องรอให้ GDP รายไตรมาสออกมาแล้วค่อยๆ ปรับประมาณการลงตาม แต่มองข้ามช็อตไปได้เลยว่า GDP ปีหน้าน่าจะติดลบมากแน่นอนเช่น -4% แบบนี้เป็นต้น

ทุกวันนี้ดูเหมือนหน่วยงานของรัฐฯ จะตั้งประมาณการแบบ Adaptive เพราะตอนที่เกิดซับไพรม์ใหม่ๆ ก็บอกว่า จีดีพีปีหน้าน่าจะลดลง แต่คงเป็นบวก เช่น 3% แต่พอถึงไตรมาสสี่ออกมาติดลบเยอะมากก็ปรับประมาณการปีหน้าใหม่เป็น 0-2% ต่อมาเมื่อเร็วๆ นี้ พอเริ่มเห็นตัวเลขไตรมาสหนึ่งว่าจะแย่กว่าไตรมาสสี่ก็บอกว่าจะพิจารณาปรับประมาณการปีหน้าใหม่ให้อยู่ในแดนลบ การค่อยๆ ปรับประมาณการลงทีละนิดแบบนี้อาจมีข้อดีตรงที่ไม่ทำให้คนตกใจมากเกินไป

แต่ดูเหมือนว่าตลาดทุนจะตัดสินใจแบบ Rational เพราะตลาดปรับตัวลงมารวดเดียวอย่างหนักตั้งแต่ตอนครึ่งหลังของปีที่แล้วไปแล้ว ตลาดไม่รอให้ตัวเลขจริงออกมาแย่ลง ก่อนแล้วค่อยปรับตัวลงตาม

ถ้านักลงทุนตัดสินใจแบบ Adaptive ตอนที่ตลาดหุ้นดิ่งอย่างหนักเมื่อปีที่แล้ว แต่งบไตรมาส 4 ออกมายังดีอยู่ นักลงทุนก็อาจจะคิดไปว่า เป็นเรื่องของอารมณ์ตลาด พื้นฐานไม่เห็นเปลี่ยนมากขนาดนั้น ทำให้นักลงทุนเข้าไปช้อนซื้อ แต่เมื่อถึงเวลานี้ เราก็ตระหนักได้แล้วว่า ตลาดคิดแบบ Rational สถานการณ์ของโลกไม่ได้เลวร้ายน้อยไปกว่าราคาหุ้นเลย และดูเหมือนจะเลวร้ายลงได้อีกมาก ในตลาดหุ้น ผลประกอบการมักปรับตัวตามหลังราคาหุ้นเสมอ ถ้าใครจะต้องรอให้งบการเงินแสดงว่ากำไรลดลงก่อน แล้วจึงค่อยตัดสินใจ กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้หมดแล้ว

งบการเงินมีไว้เพื่อตรวจสอบความผิดปกติในบริษัทมากกว่าที่จะใช้เพื่อตัดสินใจลงทุนหรือวัดมูลค่าหุ้น สิ่งที่ตลาดสนใจคือผลประกอบการจะวิ่งไปทางไหนในอนาคต ไม่ใช่ผลประกอบการเป็นอย่างไรในปัจจุบัน 

  

0251: Economist Watchdog

Thailand’s 2010 GDP Forecast (as of now)

  • ธปท. 3.3-5.3%
  • สภาพัฒน์ 3-4%
  • สศค. 3.3%
  • ศูนย์วิจัยกสิกร 2.5-3.5%
  • ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ม.หอการค้าไทย 3.2%
  • ธนาคารโลก 3.5%
  • ADB 3.5%
  • มาร์ค โมเบียส 2-3%
  • โอบามาร์ค 3.5%

ไว้สิ้นปี 2553 เรามาดูกันครับ

Result : สภาพัฒน์.ประกาศ actual GDP 2553 ออกมาแล้ว อยู่ที่ 7.8% ผิดทุกสำนัก ( http://bit.ly/ePdD13 )

ที่จริงควรทดลองต่ออีกสักสองสามปี แต่ขี้เกียจทำต่อแล้ว ใครจะลองทำต่อดูเองก็ได้ แล้วจะแปลกใจว่าการคาดการณ์จีดีพีล่วงหน้า 12 เดือนนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปแทบไม่ได้เลย)

0227: Mutual Funds Watchdog

คาใจมากกับข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ที่ระบุว่า ผลตอบแทนห้าปีของกองทุนหุ้น “ทุก” กองทุนในประเทศไทยชนะดัชนีตลาดหลักทรัพย์

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง บลจ.บ้านเราก็ถือได้ว่าเก่งที่สุดในโลก เพราะไม่มีประเทศไหนทำได้ถึงขนาดนี้ ส่วนใหญ่แล้วกองทุนหุ้นส่วนมากชนะดัชนีไม่ได้ในระยะยาวด้วยซ้ำ

สงสัยว่า วิธีการสร้าง Benchmark ของบ้านเรา น่าจะมีอะไรแปลกๆ แน่เลย

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงได้ไปเปิด portal สำหรับซื้อกองทุนทุกบลจ.ในหน้าจอเดียวมา

สิ้นปีนี้ จะลองซื้อกองทุนหุ้นของทุกบลจ.กองทุนละหมื่นบาทดู มา track เองให้เห็นของจริงไปเลย โดยจะขอ track ผลตอบแทนไปเรื่อยๆ 1yr/2yr/3yr…..

สิ่งที่จะวัดคือผลตอบแทนเทียบกับ TMBSET50 ซึ่งเป็น index fund เป็นสำคัญ เอาให้เห็นกันจะจะไปเลยว่า บลจ.ไหนบ้างที่ destroy weath ของผู้ถือหน่วยในระยะยาว เพราะถ้าคุณสร้างผลตอบแทนหลังหักค่าธรรมเนียมแล้ว เอาชนะ TMBSET50 ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ไม่ได้ ก็ควรพิจารณาตัวเองว่า ทำไมลูกค้าต้องจ่ายค่า fee ให้คุณด้วย

กองทุนบ้านเราแทบทุกกอง major holdings จะเหมือน SET50 อย่างมาก ดังนั้นที่จริงแล้วกองทุนส่วนใหญ่ไม่ได้เอาชนะตลาดด้วยการเลือกหุ้นให้ดีกว่าดัชนี แต่ผลงานที่แตกต่างจากดัชนีจึงเกิดมาจากการเพิ่ม/ลดพอร์ตในระหว่างปี หรือก็คือการ timing market นั่นเอง

กองทุนที่ผมคัดเลือกมามอนิเตอร์เป็นกองทุนหุ้น (แบบยืดหยุ่นหรีอพวกประหยัดภาษีไม่เอา) ซึ่งเป็นที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมของบลจ.นั้นๆ และถ้าไม่ปันผลได้ด้วยก็จะดีมาก (เพราะคิดผลตอบแทนง่ายดี ขี้เกียจว่างั้นเถอะ) ดังนี้

KASSET KFEQ, BBLAM BKA, SCBTS3, TMBSET50, ONEAM ONEG, ABERDEEN ABG, MFC TNP, ING INGTEF, TBANK N-SET, TISCOEGF, UOBSAS100, AYFSEQ 

เนื่องจากผมไม่ค่อยคุ้นเคยกับกองทุนเท่าไร ใครคุ้นเคยกับบลจ.ไหนช่วยแนะนำหน่อยว่า กองหุ้นไหนสมควรเป็นตัวแทนที่ดีของบลจ.นั้น ผมจะได้เปลี่ยนตัวให้เหมาะสมกว่า ก่อนวันดีเดย์ วันที่ 4 มค 53

0223: the first five years

2860127362_5d83182fce

ถึงตอนนี้ผมก็ลงทุนในตลาดหุ้นไทยมาได้เกินห้าปีแล้วครับ…

ข่วงที่ผมเริ่มลงทุน ผมกำหนดเป้าหมายว่า ในห้าปีแรก เป้าหมายของผมยังไม่ใช่ Wealth แต่คือการสะสมประสบการณ์และความรู้ ผมเพียงแต่สัญญากับตัวเองว่า ถ้าหากมีวิกฤตในห้าปีนี้ ผมจะต้องเป็นคนหนึ่งที่รอด

ผมมองว่า ตลาดหุ้นนั้นคล้ายภูเขาน้ำแข็ง ที่มีคนจำนวนน้อยมากๆ ที่เข้ามาในตลาดหุ้นแล้วสามารถอยู่ได้ถึงปีที่ 5 คนส่วนใหญ่หายไประหว่างทาง เพราะเจ๊ง เนื่องจากบังคับตัวเองไม่ให้ take excessive risk ไม่ได้ ดังนั้น คนที่อยู่ในตลาดได้ถึง 5 ปี ต่อให้เท่าทุน ก็ถือได้ว่า เป็นคนอันดับต้นๆ แล้วล่ะครับ

ผมเคยไปฟังอบรมเทคนิคอยู่ครั้งหนึ่ง วิทยากรบอกว่า ห้าปึแรกในตลาดหุ้น ทุกคนจะต้อง “จ่ายค่าเทอม”ก่อน เมื่อผ่านห้าปีแรกไปได้แล้ว ถึงจะเริ่มคาดหวังผลตอบแทนได้ (แต่ถ้าจะให้ดีต้องสิบปี) เพราะคนที่เคยเห็น “รอบใหญ่” ของตลาดหุ้นทั้งรอบแล้วเท่านั้น ที่จะรู้จักตลาดหุ้นอย่างแท้จริง ผมว่านี่เป็นวรรคทองเลยทีเดียว (แต่วรรคนี้ก็ทำเอานักเรียนในห้องหลายคนหน้าบูดไปเลย “อะไร จ่ายค่าทงค่าเทอมอะไรกัน พูดจาอัปมงคล”)

ในช่วงห้าปีนี้ ผมได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างมากเกี่ยวกับตลาดหุ้น ได้ศึกษาหาความรู้มากมาย ได้รู้จักบริษัทในตลาดมากขึ้น ได้เห็นเล่ห์เหลี่ยมหลายครั้งในตลาดหุ้น ได้รู้จักนิสัยของคน ได้รู้ว่าสังคมคนเล่นหุ้นมีด้านมืดซ่อนอยู่เยอะมาก ได้เห็นความอนิจจัง และที่สำคัญได้รู้จักตัวเอง คือได้รู้ว่า ผมมีจุดอ่อนตรงไหนบ้าง มันเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าครับ

ตลอดห้าปีที่ผ่านมา ผมพยายามเปิดใจกว้างเพื่อรับแนวคิดที่แตกต่าง จึงไม่พยายามเรียกตัวเองว่าเป็นนักลงทุนแนวอะไรทั้งสิ้น เพราะผมไม่เชื่อว่า เราจะโชคดีมากถึงขนาดเจอหลักการลงทุนที่ดีจริงได้ตั้งแต่ห้าปีแรกที่เริ่มต้นลงทุน ดังนั้นเราจึงควรเปิดใจไว้ก่อน รอให้ประสบการณ์ที่ค่อยๆ มีเพิ่มขึ้นของเราช่วยแยกแยะผิดถูกในปีหลังๆ จะเลือกแนวทางได้ดีกว่า ถ้าเราเป็นคนไม่ยืดหยุ่นตั้งแต่ต้น แล้วซวยดันไปเชื่อในแนวที่ผิด เส้นทางการลงทุนตลอดชีวิตของเราจะไม่ต่างจากการเดินทางไกลเพื่อไปสู่ปากเหว

เมื่อปีที่แล้วผมได้ล้างพอร์ตไป ดังนั้นในปีนี้จึงเป็นปีเริ่มต้นของเส้นทางการลงทุนในเฟสที่ 2 ของผม ผมจึงรู้สึกเหมือนว่า ผมกำลังเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด แต่หนนี้ ผมมีทุนตั้งต้นมากกว่าครั้งก่อน และแนวการลงทุนของผมจะมี scope ที่ชัดเจนมากขึ้น โดยอาศัยสิ่งที่ผมได้จากเฟสแรกเป็นวัดถุดิบในการกำหนดสไตล์การลงทุนที่เหมาะกับตัวผมเองให้มากที่สุดครับ

until the next five years.