ธีมการลงทุน 2019

ช่วงปลายปีก็เป็นโอกาสอันดีที่จะทบทวนการลงทุนของเรา ผลตอบแทนของปีที่แล้ว บทเรียนของปีที่ผ่านมา ปรับพอร์ตการลงทุน รีวิวกลยุทธ์ ตลอดจนมองหาหุ้นใหม่ๆ ที่อาจจะกลายเป็นหุ้นที่เข้ามาอยู่ในพอร์ตของเราได้

ในเรื่องของการหาหุ้นเพื่อลงทุนนั้น ก็มีหลากหลายวิธีที่ใช้คัดสรร บางคนชอบวิธีแบบ Top-down บางคนชอบ Bottom-up บางคนพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานล้วนๆ บางคนดูสัญญาณเทคนิคประกอบ บางคนดูโอกาสของธุรกิจแบบ qualitative บางคนขุดงบการเงิน หรือบางคนก็อาศัย ratio ต่างๆ ในการตัดสินใจและคัดกรองหุ้น

วิธีหนึ่งที่อาจใช้เป็นทางเลือกในการคัดเลือกหุ้นได้ คือ การคิดถึงธีมของการลงทุนในช่วงเวลานั้นๆ ว่า มีธีมอะไรใหญ่ๆ ที่น่าสนใจบ้าง แล้วมองหาหุ้นที่เข้ากันได้กับธีมนั้นๆ เพื่อคัดกรองในชั้นแรกก่อนที่จะเจาะลึกในเรื่องความแข็งแรงของธุรกิจและฐานะการเงินของบริษัทในขั้นตอนถัดไป การคัดเลือหุ้นโดยอาศัยธีมการลงทุนถือว่าเป็นการเลือกหุ้นแบบ Top-down อย่างหนึ่ง

ในช่วงนี้ก็มีอยู่ 3-4 ธีมการลงทุนที่ผมคิดออกว่ามันน่าจะเป็นธีมสำคัญที่บอกทิศทางของธุรกิจโดยรวมได้ หรือถ้าหากไม่ได้ใช้ธีมเหล่านี้ในการคัดหุ้นก็อาจใช้มันเพื่อตรวจสอบหุ้นในพอร์ตปัจจุบันว่ามีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับธีมเหล่านี้มากหรือน้อยแค่ไหนก็ได้

ธีมแรกคือ ดิจิทัล Disruption เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของทศวรรษเลยก็ว่าได้ เพราะเรากำลังอยู่ในช่วงที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ แทบจะเรียกได้ว่า ต่อไปเราจะทำทุกอย่างในชีวิตของเราผ่านหน้าจอ เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่อาจละเลยได้ในการลงทุนช่วงนี้

หลายคนบอกว่า ดิจิทัล จะเกี่ยวกับหุ้นไทยสักแค่ไหน ในเมื่อเราเป็นแค่ผู้ใช้เทคโนโลยี ไม่มีบริษัทแบบ Apple/Google/Facebook อยู่ในตลาดหุ้นไทย แต่ผมกลับคิดว่า ธีมนี้ส่งผลต่อบริษัทในตลาดหุ้นไทยค่อนข้างรุนแรง อย่างเช่น ช่วงที่ผ่านมา ดิจิทัล Disruption ได้เข้ามาทำลายอุตสาหกรรมสื่อของบ้านเราแบบที่เรียกได้ว่า ราบเป็นหน้ากลองเลย

ที่ผ่านมาจะพบว่า ธีมนี้ค่อนข้างจะทำให้เห็นถึงอันตรายมากกว่าจะเป็นโอกาส เพราะ Disruption หมายความว่า เข้ามาทำลายระบบเก่า ซึ่งเจ้าตลาดเดิมในอุตสาหกรรมนั้นๆ เคยนอนกินอยู่ โอเคว่า มันก็เปิดโอกาสให้มีหน้าใหม่เข้ามาเติบโตหรือเจาะตลาดได้ด้วย แต่โดยรวมแล้ว แม้แต่คนที่กลายเป็นผู้ชนะ ก็ยังมีกำไรน้อยลง เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่ประโยชน์ตกอยู่กับผู้บริโภค (ได้ใช้ฟรี) มากกว่าฝั่งผู้ประกอบการ อย่างธุรกิจสื่อเราก็เห็นแล้วเป็นตัวอย่างว่า ทีวีดิจิตอลทุกช่องกำไรแย่ลงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะ คนที่เข้ามาแย่งธุรกิจส่วนใหญ่ไปคือสื่อใหม่ (ใหม่กว่าทีวีดิจิตอล) คือสื่อโซเซียล ซึ่งเม็ดเงินกลายเป็นตกอยู่กับบริษัทข้ามชาติอย่างเฟซบุ้กและกูเกิ้ล แถมเม็ดเงินยังเล็กลงด้วย อุตสาหกรรมโดยรวมหดลง เพราะประสิทธิภาพที่สูงขึ้น

ส่วนตัวมองว่า อุตสาหกรรมต่อไปที่จะโดน Disrupt อย่างแรง น่าจะได้แก่ ธนาคารและค้าปลีก เพราะการเกิดขึ้นของ fintech และ อีคอมเมิร์ซ ที่บูมมาก นักลงทุนควรสำรวจหุ้นกลุ่มเหล่านี้ในพอร์ตของตัวเองว่า บริษัทเหล่านั้นปรับตัวให้เข้ากับโลกใหม่ได้ดีแค่ไหน บริษัทที่เคยเข้มแข็งมากๆ ในกลุ่มนี้อาจกลายเป็นอ่อนแอในชั่วข้ามไปได้เลยถ้าหากไม่ปรับตัว เพราะดิจิตัลจะเข้ามาเปลี่ยนเกมการแข็งขันใหม่ เป็นการเปิดช่องให้ผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาโจมตีอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน ตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนเราอาจคิดว่าร้านสะดวกซื้อแข็งแกร่งมากๆ เพราะดักลูกค้าไว้ที่หน้าซอย ท้ายซอย กลางซอย แต่พออีคอมเมิร์ซมา คู่แข่งรายใหม่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ด้วยการดิลิเวอรี่ และการส่งพัสดุถึงหน้าบ้าน ถ้าหากผู้บริโภคเริ่มคุ้นชิน และเปลี่ยนพฤติกรรมจากซื้อของที่ร้านใกล้บ้าน กลายเป็นนั่งอยู่กับบ้านเปิดเน็ตสั่งให้ส่งของมาที่บ้านแทน สุดท้ายแล้ว การมีร้านดักอยู่ที่หัวซอยท้ายซอยก็อาจไม่ใช่ข้อได้เปรียบอีกต่อไป

ช่วงที่ผ่านมาธนาคารก็แข่งขันกันแย่งลูกค้าทางเน็ตมากขึ้น อยากให้ลูกค้าที่เริ่มหัดทำรายการทางเน็ตเลือกแพลตฟอร์มของธนาคารมากๆ ทำให้ต้องมีข้อเสนอที่ดึงดูดใจจนกระทั้งต้องฟรีค่าธรรมเนียมทั้งหมด จากเดิมที่ค่าธรรมเนียมเคยเป็นกำไรหลักของธนาคารก็ไม่ได้แล้ว ต้องยอมเสียกำไรเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ก่อน ก็เท่ากับว่า กำไรของทุกธนาคารมีแนวโน้มลดลง ไม่ว่าจะเป็นรายที่แย่งลูกค้ามาได้มากกว่าหรือน้อยกว่า ธนาคารจะปรับตัวยังไงเพื่อประคองกำไรไว้ไม่ให้ลดลงมากในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ถือเป็นโจทย์ที่หินทีเดียว

ธีมที่สองที่คิดถึงคือ การท่องเที่ยว ในระยะยาวดูแล้วยังไงๆ ไทยก็จะต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักแน่ๆ ท่ามกลางอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จะลดความโดดเด่นลงไป เพราะเรามีจุดแข็งที่ชัดเจนมากในเรื่องการท่องเที่ยว แต่ในระยะสั้น เราก็กำลังได้รับผลกระทบจากยอดนักท่องเที่ยวที่ชะลอลงมาก และยังไม่รู้เลยว่า ทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติได้เมื่อไร

สถานการณ์เช่นนี้ก็อาจเป็นโอกาสทองที่จะเข้าเก็บหุ้นท่องเที่ยวในช่วงที่กำลังแย่ลงในระยะสั้นรึปล่า? ซึ่งหากเราเชื่อมั่นว่าสุดท้ายแล้ว การท่องเที่ยวก็จะต้องกลับมาในที่สุด ซึ่งก็ควรจะเป็นเช่นนั้น มีโอกาสน้อยมากที่นักลงทุนหนีไปแล้วก็ไม่มีวันกลับมาอีกเลย แต่หุ้นเหล่านี้ควรจะต้องปรับตัวลงไปลึกแค่ไหน ก่อนที่มันจะเป็นหุ้นที่น่าลงทุนในระยะยาวก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนจะต้องคิดหรือกะการณ์กันเอาเอง

ข้อด้อยของกลุ่มท่องเที่ยวคือธุรกิจท่องเที่ยวหลายตัว เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง ทำให้แม้ว่าการท่องเที่ยวจะโตต่อเนื่อง แต่บริษัทเหล่านี้ก็อาจทำกำไรได้ไม่ดีเลย หรือขาดทุนเลยก็เป็นได้ เช่น สายการบินโลคอส หรือแม้แต่ธุรกิจโรงแรมด้วย เราจึงมักคิดถึงกันแต่หุ้นสนามบินในกลุ่มนี้ แต่ที่จริงแล้ว มีธุรกิจอีกหลายอย่างที่ไม่ได้อยู่ในหมวดท่องเที่ยว แต่จริงๆ แล้วเป็นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเยอะมาก อีกหลายอย่าง อาทิ หุ้นห้างสรรพสินค้า หุ้นร้านอาหาร หรือแม้แต่กล้องถ่ายรูป เหล่านี้ ล้วนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างแนบแน่น และมีพื้นฐานที่แข็งแรงกว่าสายการบินโลคอส

ธีมที่สามที่คิดถึงคือ aging society ซึ่งเป็นธีมหากินที่ใช้กันมานานหลายปีแล้ว แต่ก็ยังเชื่อว่าเป็นธีมที่จะยังอยู่ไปอีกหลายปี เช่น 20 ปี. บางทีการที่มันถูกพูดถึงมานานมากแล้ว ก็อาจทำให้ราคาของมันคลายความร้อนแรงลงไปบ้าง อาจเป็นโอกาสที่จะลงทุนได้ก็ได้ การที่อุตสาหกรรมนี้จะต้องโตไปเรื่อยๆ อีกนาน กอปรกับธรรมชาติของธุรกิจนี้ที่มี barrier to entry ที่ค่อนข้างแข็งแรง มีอัตราการทำกำไรที่ค่อนข้างสูง ทำให้มันเป็นธีมที่มีความสมบูรณ์แบบในการลงทุนระยะยาวค่อนข้างมากเลย เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในธีมอมตะ

ธีมสุดท้ายที่คิดออกคือ ธีมดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ถ้าให้คิดถึงธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยขึ้น ก็น่าจะหนีไม่พ้น ประกันชีวิต เพราะถ้าดอกเบี้ยในตลาดแพง บริษัทรับประกันชีวิตลูกค้ามาแล้ว ก็นำเงินไปหาดอกผลในตลาดให้ได้ผลตอบแทนที่สูงพอที่จะรับผิดชอบกรมธรรม์ของลูกค้าได้ง่ายกว่าเวลาดอกเบี้ยต่ำมาก (อย่างไรก็ตาม ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ตราสารหนี้เดิมที่บริษัทถือลงทุนอยู่ก่อนแล้ว ก็อาจมีมูลค่าตกต่ำลง เพราะดอกเบี้ยขาขึ้น ด้วย จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง) ส่วนประกันภัยจะไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะประกันภัยส่วนมากทำสัญญาปีต่อปี หรือแม้แต่ธนาคารก็อาจได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นได้ เพราะขึ้นอยู่กับว่าเงินฝากส่วนใหญ่เป็นแบบระยะยาวหรือสั้นเทียบกับสินเชื่อที่ปล่อยไป

ส่วนธุรกิจที่ต้องระวังในธีมนี้คือ ธุรกิจที่ต้องพึ่งพาสินเชื่อมาก เช่น บริษัทที่มีหนี้เยอะมาก หรือบริษัทที่ลูกค้าต้องกู้เงินถึงจะซื้อได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ เวลาดอกเบี้ยสูงขึ้น ทั้งบริษัทและลูกค้าย่อมมีภาระสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อลดลง

5 Replies to “ธีมการลงทุน 2019”

  1. ทำไมพี่โจ้กมองว่ากลุ่มประกันภัยจะไม่ได้ผลบวกจากดอกเบี้ยขึ้นนะครับ กำไรของกลุ่มประกันภัยมาจาก 2 ส่วน
    1. กำไรจากการรับประกันภัย
    2. กำไรจากการลงทุน
    ถ้าดอกเบี้ยสูงขึ้น กำไรจากการลงทุนก็น่าจะสูงตามรึป่าวครับ หรือพี่มองว่าดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จะส่งผลต่อเบี้ยประกันแต่ละปี และกำไรจากการรับประกันภัยจะลดลงยังงั้นรึป่าวครับ

    1. ก็คงมีผลต่อกำไรในส่วนของเงินลงทุนที่ถืออยู่ในปัจจุบัน แต่เป็นผลในทางลบ

  2. คุณนรินทร์ ขอสอบถามหน่อยค่ะ พอดีถือหุ้น lpn ไว้เพื่อกินปันผล ตอนนั้นราคาลงมาเยอะ เหลือ 13 บาท แล้วเห็นจ่ายปันผลดี จึงเข้าไปรับ แต่ตอนนี้ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ราคาปรับลงมาเหลือ 6 บาทกว่า ขอถามเป็นข้อ ๆ นะคะ
    1. คุณนรินทร์คิดว่าควรคัทลอสออกมาดีไหมค่ะ
    2. แล้วมีโอกาสที่ราคาจะปรับตัวลงไปอีกไหมค่ะ
    3. ถ้าดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นมันมีโอกาศที่จะขึ้นถึง 10% ได้ไหม และถ้าถึงผู้ประกอบการจะเป็นอย่างไรค่ะ
    4. สมมุติ ถ้าไม่คัทลอส ถือกินปันผลไปเรื่อย ๆ แล้วราคามีโอกาสที่จะกลับมาแถว 13 บาทได้ไหมค่ะ

    ขอบคุณค่ะ

    1. ถ้าหุ้นลงมามากขนาดนั้นแล้วค่อยคัดลอส บางทีก็ไม่ค่อยมีประโยชน์แล้ว ถือลุ้นไปยังดูน่าสนใจกว่า

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *