ภาวะตลาด กับ ราคาหุ้นรายตัว

ต้องยอมรับว่า สภาพคล่องในตลาดเงิน นั้นมีอิทธิพลต่อราคาหุ้นในตลาดสูงมาก

สมมติว่า หุ้นที่โตปีละ 5% ในภาวะปกติ อาจได้ พีอีที่ 7 เท่า หุ้นที่โตได้ปีละ 10% อาจได้พีอี 10 เท่า แต่ถ้าหาก เป็นภาวะที่สภาพคล่องในระบบสูงมาก เช่น ดอกเบี้ยต่ำผิดปกติ หรือสถาบันปล่อยสินเชื่อมาก หุ้นที่โตปีละ 5% ก็อาจได้พีอี 14 เท่าไปเลย ในขณะที่หุ้นที่โตปีละ 10% อาจได้พีอีเป็น 20 เท่า เพราะมีแต่คนอยากเอาเงินมาซื้อหุ้น เกิดภาวะราคาหุ้นเพิ่มยกแผง ทั้งที่ กำไรเติบโตเท่าเดิม

ถ้าอยู่ดีๆ ตลาดขึ้นยกแผงแบบนี้ มักได้ยินคนที่ตกรถไฟเพราะซื้อไม่ทัน มีตรรกทำนองว่า ตอนนี้ พีอีตลาด 20 เท่า ก็จริง แต่ก็ยังมีหุ้นที่พีอี 14 เท่าให้เลือกอยู่อีกหลายตัว หุ้นพวกนี้ถือว่ายังไม่แพง เพราะฉะนั้นซื้อได้

ที่ตลกก็คือว่า ก่อนหน้านี้ หุ้นโต 10% พีอี 10 เท่า ก่อนหน้านี้ คนเดียวกันยังบอกว่าแพง แต่ตอนนี้หุ้นโต 5% พีอี 14 เท่า บอกว่าถูก ด้วยเหตุผลว่า พีอียังต่ำกว่าตลาดอยู่

ถ้าหากวันดีขึ้นดี ตลาดหุ้น Crash เพราะสภาพคล่องหดหายไป เราจะงงว่า หุ้นพีอี 14 กับ 20 จะลงแรงคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้พอๆ กัน  เพราะเหตุผลที่มันขึ้นไปตั้งแต่แรกเกิดจากเหตุผลเรื่องสภาพคล่องในตลาดเงิน ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพื้นฐานหุ้น เวลามันลงเพราะสภาพคล่อง มันจึงลงได้มากพอๆ กัน เรียกว่า ลงยกแผง ดังนั้น การซื้อหุ้นที่ยังมีพีอีต่ำกว่าตลาด จึงไม่ใช่วิธีที่ช่วยแก้ปัญหาการตกรถไฟได้เสมอไป ถือเป็นกับดักการลงทุนอย่างหนึ่งเสียด้วยซ้ำ

ด้วยเหตุนี้ ต้องยอมรับว่า ภาวะตลาดโดยรวมนั้นส่งผลต่อ Valuation ของหุ้นรายตัวมากพอสมควร นักลงทุนบางคนจะให้น้ำหนักกับภาวะตลาดมาก ถ้ามองว่า ตลาดโดยรวมเป็นฟองสบู่ พวกเขาก็จะไม่ซื้อหุ้นเลย แต่ถ้าตลาดโดยรวมมีพีอีที่เหมาะสม พวกเขาจะกล้าซื้อทั้งหุ้นที่มีพีอีสูงและพีอีต่ำกว่าตลาด ขึ้นอยู่กับว่าหุ้นเหล่านั้นโตได้มากหรือน้อยแค่ไหน ซึ่งทำให้รูปแบบการลงทุนของนักลงทุนแบบนี้ อาจซื้อหุ้นเป็นจำนวนมากๆ ในบางปี และอาจไม่ซื้อหุ้นอะไรเลยในบางปี ซึ่งจะต่างจากนักลงทุนทั่วไป ที่มักซื้อหุ้นทุกปีไม่ว่าตลาดจะอยู่ในภาวะแบบไหนก็ตาม

จะว่าไปแล้ว คนที่ลงทุนแบบนี้ถือว่าลงทุนได้สอดคล้องกับธรรมชาติตลาดหุ้นอยู่ไม่น้อย เพราะตลาดหุ้นมีลักษณะที่ ถ้าคุณซื้อหุ้นในบางปีนั้น ไม่ว่าจะซื้อตัวไหน สุดท้ายแล้วกำไรแทบจะทุกตัว การเลือกหุ้นง่ายเหมือนปาเป้า (เช่น ปี 2003 ตอน SET 400 จุด) แต่การซื้อหุ้นในบางปีนั้น ต่อให้คุณเลือกหุ้นเก่งขนาดไหน ซื้อหุ้นอะไรก็แทบจะขาดทุนหมด (เช่น ปี 2013 ตอน SET 1640 จุด) หุ้นเกือบทุกตัวเป็นกับดัก จะขาดทุนมากหรือขาดทุนน้อยเท่านั้น อาจเรียกได้ว่า stock selection แทบไม่มีความสำคัญอะไรเลย ซื้อหุ้นให้ถูกปีมีผลมากกว่า

ต้องบอกว่า คนที่จะลงทุนแบบนี้ได้ ต้องมีความมั่นคงด้านจิตใจสูงมาก เพราะการอยู่เฉยๆ ไม่ซื้อหุ้นอะไรเลยในบางปีนั้น เป็นอะไรที่ทนได้ยากมาก เพราะการอยู่เฉยๆ เป็นเรื่องที่ยากที่สุดในตลาดหุ้น และเมื่อซื้อแล้ว ก็ต้องทนถือได้หลายปี ทั้งที่มีกำไรแล้ว เพราะไม่รู้ว่าขายออกไปเร็วแล้วจะได้กลับมาซื้ออีกเมื่อไร เพราะภาวะตลาดไม่มีอะไรแน่นอน ซึ่งก็เป็นเรื่องยากอีกเหมือนกัน

คนที่ยังทำแบบนั้นไม่ได้ อย่างน้อยก็ควรมีคติบางอย่างในการลงทุน เพื่อช่วยป้องกันตัวเอง เป็นต้นว่า เกณฑ์ที่ตัวเราใช้ตัดสินว่าหุ้นถูกหรือแพง ควรเป็นเกณฑ์ที่ absolute คือสอดคล้องกับ earning growth ไม่ใช่เกณฑ์ relative กับตลาด บางคนใช้เกณฑ์ที่ absolute แล้วเห็นว่าซื้อหุ้นอะไรไม่ได้เลย เพราะทั้งตลาดอยู่ในภาวะพีอีสูง ก็ปรับเกณฑ์ของตัวเองขึ้น เพื่อให้ได้ซื้อหุ้นตลอดเวลา แบบนี้เวลาตลาดฟองสบู่แตก ก็เตรียมตัวเจ็บหนักได้เลย

ผมมีแนวคิดอีกอย่างหนึ่งว่า เราควรใช้พีอีตลาดเป็นตัวกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นต่อเงินสดของเราก่อนหรือเปล่า จากนั้นเราจึงค่อยเลือกหุ้นเข้าพอร์ตไปตามวิธีเลือกหุ้นปกติของเรา โดยมิให้มีหุ้นรวมกันในสัดส่วนที่เกินเป้าหมายหุ้นต่อเงินสดที่เราตั้งไว้ตามระดับพีอีตลาด ตัวอย่างเช่น ถ้าดูพีอีตลาดตอนต้นปีแล้วคิดว่าควรมีหุ้น 70% ของพอร์ตก็พอ ก็ลงทุนในหุ้นไปโดยไม่ให้เกิด 70% ของพอร์ต พอสิ้นปีก็มาประเมินใหม่ว่า ตลาดหุ้นโดยรวมถูกหรือแพงแค่ไหน ถ้าเริ่มแพงขึ้น ก็อาจปรับลดหุ้นลงมา ถือเงินสดเพิ่ม แต่ถ้าถูกลง ก็อาจเพิ่มสัดส่วนหุ้นต่อเงินสดให้มากขึ้น ก็อาจเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะตลาดได้

14 Replies to “ภาวะตลาด กับ ราคาหุ้นรายตัว”

  1. ส่วนตัวพี่โจ๊กมีสูตรยังไงบ้างครับ เรื่องสัดส่วน เงินสดกับหุ้น

    1. สำหรับพอร์ต active สัดส่วนตรงนี้คงขึ้นอยู่กับว่าผมสามารถหาหุ้นดีที่ราคายังไม่แพงได้มากแค่ไหน ถ้ามีครบห้าตัวขึ้นไป ก็คงถือเป็นหุ้นเยอะหน่อย ถ้าหาไม่ได้ ก็คงถือเงินสดมาก

      ในบางเวลาที่ตลาดปรับตัวขึ้นมากๆ ถ้ากลัวว่าตลาดจะลงแรงๆ ผมอาจจะขายออกมาบ้างเหมือนกัน แต่ก็จะขายเพียงแค่ส่วนหนึ่งและเป็นส่วนน้อยๆ เท่านั้น จะไม่ขายทั้งหมด เพราะเราอาจคิดผิดได้เสมอ รักษาแผนการใหญ่ของเราไว้ก่อน

  2. คุณโจ๊กครับ

    ต่ออายุสมาชิกแล้ว ยังอ่านไม่ได้เลยครับ

    1. ตอนนี้สถานะดูปกติดี ลองดูอีกทีครับ ถ้ายังไม่ได้ ลองใช้เครื่องอื่นเข้าดูว่าใช้ได้หรือไม่ หากไม่ได้เลย รบกวนติดต่อผมอีกทีครับ

  3. ขอบคุณครับ เคยคิดเหมือนกันว่าเวลาหุ้นลงไม่ว่าหุ้นที่เราเลือกจะpeต่ำกว่าตัวอื่น ก็ไม่เคยรอดในยามที่ตลาดขาลง มันลงยกแผงจริงๆ

  4. แล้ว pe ตลาดเท่าไหร่แพงหรือถูกครับ? เปรียบเทียบกับตลาดเพื่อนบ้านหรือเปล่าครับ? เคยคิดจะลองเปรียบเทียบเพื่อนบ้าน แต่ได้ยินเพื่อนที่จีน เล่าให้ฟังว่าตลาดหุ้นบ้านเค้าแย่มาก CG ต่ำ ประกอบกับจำนวนหุ้นในตลาดจำนวนมาก ทำให้ pe ต่ำซ้ำซาก และก็ได้ยินคล้ายๆกัน ที่เวียดนาม กับอินโดนีเซีย เลยคิดว่าหากจะใช้เป็นบรรทัดฐานคงลำบาก พี่สุมาอี้ มีความเห็นยังไงครับพี่?

    1. เมื่อก่อนนี้เราถูกกว่าเพื่อนบ้าน แต่ปัจจุบันนี้เรียกว่าพอๆ กันครับ

      ส่วนจีนเป็นกรณีพิเศษ เพราะเวลานี้จีนกำลังปราบฟองสบู่สินเชื่ออยู่ ทำให้ตลาดหุ้นพลอยไม่ไปไหนด้วย เพราะตลาดทุนต้องพึ่งพาตลาดสินเชื่อในแง่สภาพคล่องด้วยครับ

  5. ตอนนี้เห็นความสำคัญของภาวะตลาดโดยรวมมากขึ้นแล้วครับ ขอบพระคุณครับ

Comments are closed.