มอง ICT&Media ในสหรัฐฯ

ผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ น่าจะเป็น Verizon กับ AT&T ตามมาด้วยรายเล็กอื่นๆ อีก 3-4 ราย ธุรกิจนี้เป็น natural monopoly คือ ถ้าปล่อยให้แข่งขันเต็มรูปแบบตามปกติกลับไม่ส่งผลดีต่อประเทศ เพราะการวางเครือข่ายซ้ำซ้อนจะมีเยอะมาก สิ้นเปลืองทรัพยากร สุดท้ายแล้วควรมีแค่ 2-3 ราย เพื่อให้เกิดการแข่งขันบ้าง และในเวลาเดียวกันก็ไม่ทำให้เกิดการลงทุนซ้ำซ้อนมากเกินไป สุดท้ายแล้วบ้านเราก็คงเป็นแบบเดียวกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้ง Verizon และ AT&T เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายพื้นฐานแทบทุกอย่าง ไม่ใช่แค่มือถือ แต่มี โทรศัพท์บ้าน บรอดแบรนด์ และทีวี ด้วย บริการเหล่านี้ต่างก็มี โครงสร้างพื้นฐานบางส่วนที่ทับซ้อนกัน ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ทำให้หมดทุกอย่าง เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนไปแล้วเป็นเงินจำนวนมหาศาลให้ได้รายรับกลับมาให้มากที่สุด

image08

 

จึงไม่น่าแปลกใจถ้าต่อไปผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่ทุกรายของไทย สุดท้ายแล้วจะทำธุรกิจเหล่านี้ครบทุกอย่าง AIS เวลานี้ก็เริ่มบุกธุรกิจบรอดแบรนด์แล้ว (AIS fibre) แถมยังทำกล่อง Internet TV (Play box) ออกมาด้วย

Screen Shot 2558-05-01 at 9.06.22 AM

True เหมือนจะมีครบทุกอย่างแล้ว ทำให้ดูเหมือนพร้อมมากที่สุด แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง ช่องว่างในการเติบโตใหม่ๆ เหลือน้อยลง เพราะได้ exploit ไปหมดแล้ว ส่วน DTAC นั้นดูเงียบที่สุด เพราะเหมือนช่วงนี้กำลังกวาดบ้านภายในองค์กรอยู่

ด้าน  JAS ก็เพิ่งตัดสินใจว่า จะเข้าร่วมประมูล 4G ด้วย ในขณะที่ตัวเองมีบรอดแบรนด์และสถานีดิจิตอลทีวี (Mono) อยู่แล้ว สุดท้ายแล้ว JAS ก็น่าจะมีทุกอย่างเหมือนกัน แต่ไม่รู้ว่าต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกมากขนาดไหน ถ้าสุดท้ายแล้วทั้งสาม (หรือสี่) เจ้าทำทุกอย่าง การแข่งขันระหว่างกันเองก็มีมากขึ้น ผู้ได้ประโยชน์ก็น่าจะเป็นผู้บริโภค

การที่มีกองทุนโครงสร้างพื้นฐานในบ้านเราจะช่วยให้ผู้ประกอบการเหล่านี้มีวิธีในการหาเงินมาลงทุนเพื่อขยายธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนตั้งต้นสูงเหล่านี้ได้มากขึ้น ซึ่งก็หมายถึงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นอีกด้วย ดังนั้นจึงขึ้นกับความต้องการในตลาดว่าเติบโตดีหรือไม่ ถ้าดีด้วย ก็หาทุนง่ายก็จะช่วยให้ทุกบริษัทฉวยโอกาสทางธุรกิจได้แบบเต็มที่ แต่ถ้าหากดีมานด์ไม่ได้ดีเท่าที่ควร รายได้ผู้บริโภคเพิ่มช้า การแข่งกันลงทุนก็อาจกลายเป็นความยากลำบากของผู้ประกอบการทุกราย ยังไม่นับความเสี่ยงเรื่องการกำกับดูแล ที่มีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้องอยู่เรื่อยๆ คนไทยดูเหมือนจะเป็นชาติที่มีความต้องการใช้เทคโนโลยีสื่อสารสูงกว่าประชากรโลกโดยเฉลี่ยเป็นพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่พวกเขาจะมีเงินในกระเป๋ามาซับพอร์ตความต้องการได้แค่ไหนเท่านั้น และอย่าลืมว่าค่าบริการพวกนี้มีแต่ถูกลง ไม่มีแพงขึ้น ดังนั้นถ้าหากคนใช้ไม่เยอะขึ้น การเติบโตจากมาจากไหน?

ส่วนหุ้นสื่อในสหรัฐดูต่างจากบ้านเรามากพอสมควร แต่ไหนแต่ไรมา ฟรีทีวีในสหรัฐฯ ไม่เป็นที่นิยมมากเท่ากับบ้านเรา ส่วนใหญ่เป็นช่องโลคอลของแต่ละรัฐ รายการไม่ค่อยน่าดู อาจเป็นเพราะประเทศใหญ่มาก ลงทุนทำเสาส่งทั้งประเทศไม่คุ้ม สุดท้ายแล้ว เคเบิลทีวีเลยกลายเป็นทีวีที่คนอเมริกันดูเป็นหลัก และการเปลี่ยนฟรีทีวีจากอนาล็อกมาเป็นดิจิตอลในอเมริกาจึงเป็นเรื่องที่แทบจะไม่มีใครสนใจ ต่างจากบ้านเรา ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมา ฟรีทีวีแทบจะผูกขาดสื่อทุกชนิดและมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคสูงมาก (ก่อนหน้านี้ ช่อง 3 และ ช่อง 7 ได้เม็ดเงินโฆษณารวมกันไปมากกว่า 75% ของงบโฆษณาของทั้งประเทศ)​ ซึ่ง cartel นี้กำลังจะถูกทำลายลงด้วยทีวีดิจิตอล ซึ่งมีช่องเยอะกว่ามาก ทำให้ผูกขาดยากขึ้น แต่ก็ยังเป็นโมเดลฟรีทีวีอยู่ดี

ตอนนี้ดูเหมือนทีวีดิจิตอลจะทำให้คนดูทั้งฟรีทีวีเดิม ทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวีค่อยๆ ลดลง แต่ก็ใช่ว่าทีวีดิจิตอลเองจะอยู่ได้ จำนวนช่องที่เยอะมากทำให้คนจดจำไม่ได้ สร้างฐานลูกค้าได้ไม่ใหญ่ เม็ดเงินโฆษณาต่อช่องต่ำ ทำให้งบผลิตรายการต้องลดลงตาม คุณภาพรายการจึงลดลง ซึ่งอาจจะพาให้คนดูทีวีทั้งหมดลดลง และหันไปเสพสื่อทางเน็ตมากขึ้น อันเป็นเหมือนตลาดสหรัฐฯ ที่เวลานี้คนดูทีวีมีแนวโน้มลดลงแล้ว ดูแล้วทีวีจึงไม่ใช่ธุรกิจแห่งอนาคต  เพราะคนดูไม่เพิ่ม แต่การแข่งขันกลับมากกว่าเดิม หลายช่องตอนนี้ก็เริ่มออกมาบอกว่าจะไม่จ่ายค่าสัมปทาน และหลายช่องก็เพิ่มรายการทีวีช้อปปิ้ง เพื่อต้องหารายได้ทางตรงเพิ่มขึ้น ทำให้รายการยิ่งไม่น่าดูขึ้นไปอีก  

 

Apple TV
Apple TV

ช่วงเร็วๆ นี้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในวงการทีวีสหรัฐอีกแล้ว เมื่อคนอเมริกันเริ่มหันมานิยมกล่องทีวีที่ส่งสัญญาณมาทางบรอดแบรนด์ทั้งหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Apple TV, Chromecast เป็นต้น ว่ากันว่ามีครัวเรือนอเมริกันที่มีกล่องทำนองนี้อย่างใดอย่างหนึ่งในบ้าน เกินครึ่งหนึ่งของทั้งหมดไปแล้ว และคนอเมริกันก็เริ่มรู้สึกว่า อยากจ่ายเงินดูเคเบิลทีวีเฉพาะรายการกีฬาเท่านั้น ทำไมต้องจ่ายเงินเป็นแพจเกจเหมารวมทุกช่องด้วย ในขณะที่กล่องอินเตอร์เน็ตพวกนี้ มีต้นทุนต่ำมาก เพราะใช้ประโยชน์จากบรอดแบรนด์ที่มีอยู่แล้วในบ้าน ตัวกล่องก็ราคาต่ำมาก มีช่องให้ดูฟรีเต็มไปหมด ช่องไหนที่มีรายการที่อยากดูจริงๆ ก็ค่อยเลือกสมัครสมาชิกเป็นรายช่องไป ค่าใช้จ่ายก็ต่ำกว่า และเป็นการจ่ายเงินเพื่อสิ่งที่อยากดูจริงๆ เชื่อว่า Internet TV จะกลายเป็นช่องทางหลักใหม่แทนเคเบิลทีวีในอนาคต ซึ่งที่จริงแล้วช่องส่วนใหญ่ก็เป็นรายการเดิมๆ เพียงแต่ย้ายข้ามมาจากระบบเคเบิลทีวีไปสู่อินเตอร์เน็ตเท่านั้น และช่วงเปลี่ยนผ่านก็มักกลายเป็นโอกาสในผู้เล่นรายใหม่เจาะเข้ามาได้ เพราะรีบทำก่อนรายเก่า 

เวลานี้ช่องที่กำลังรุ่งมากคือ ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งหนังแบบ on-Demand อย่างเช่น NetFlix ซึ่ง NetFlix เองก็ไม่ต้องลงทุนโครงข่ายพื้นฐานมาก เพราะเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเป็นเครือข่ายสาธารณะ ตอนนี้ IP Traffic ในสหรัฐฯ เป็น Video Streaming ของ NetFlix มากถึงหนึ่งในสามเลยทีเดียว (จนมีเสียงบ่นจากผู้ให้บริการบรอดแบรนด์ว่าอยากหันมาเก็บเงินจากฝั่ง NetFlix ด้วย แต่ก็คงไม่ง่าย)

Daredevil ซีรีส์ที่ฉายทาง NetFlix เท่านั้น
Daredevil ซีรีส์ที่ฉายทาง NetFlix เท่านั้น

 

เชื่อว่าไม่นานโมเดลแบบ NetFlix จะกลายมาเป็นทีวีในอนาคตของสหรัฐ ราคาหุ้น NetFlix เวลานี้แพงลิบลิ่ว แต่เชื่อว่าไม่นานคู่แข่งก็จะเข้ามา เช่น Amazon หรือ Hulu เป็นต้น หรือแม้แต่ HBO Now สุดท้ายแล้ว NetFlix ก็ไม่ดีเหมือนเดิม เพราะยังไง NetFlix ก็ซื้อ Content มาจากคนอื่น ทำให้ NetFlix เองต้องดิ้นหนีด้วยการผลิตรายการของตัวเองเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีเนื้อหาที่ฉายทางช่องตัวเองเท่านั้น  สุดท้ายการแข่งขันก็ต้องกลับไปที่ Content อีกเหมือนเดิม (Content is King) ซึ่งเป็นเกมที่สร้างความยั่งยืนได้ยาก เพราะยากที่ผู้ผลิตรายการเจ้าไหนจะสร้างรายการที่ฮิตเป็นกระแสออกมาได้แบบต่อเนื่อง (ช่วงนี้ผู้ผลิตรายการข่าวในสหรัฐฯ จะแย่หน่อย คนดูน้อยลง ​แต่ผู้ผลิตละครซีรีย์กำลังเป็นยุคทอง ก็ไม่รู้ว่าอีกหน่อยจะเปลี่ยนไปอีกรึเปล่า) ทำให้เห็นได้ว่าหุ้นสื่อนั้น ลงทุนระยะยาวยาก เพราะยากที่ใครจะสร้างข้อได้เปรียบที่ยั่งยืนได้นานๆ

ยังไงๆ ทีวีบ้านเราก็คงต่างจากสหรัฐฯ คือฟรีทีวี (ที่หารายได้หลักจากโฆษณา) ก็ยังต้องเป็นช่องทางหลักต่อไป เพราะคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นผู้มีรายได้น้อย ต้องมีฟรีทีวีไว้เป็น pass time หลักของคน เพราะเป็นความบันเทิงที่ไม่ต้องเสียเงินเลย (ขนาดฟุตบอลยังจะโดนจับให้ดูฟรี) พวกช่องทีวีที่ต้องจ่ายเงิน สุดท้ายแล้วก็คงเป็นได้แค่ niche market ในไทยเท่านั้น ต่างจากของสหรัฐฯ ซึ่งดูแล้วอนาคตดิจิตอลทีวีในบ้านเราก็ไม่ได้ดูสดใสมากนัก ครั้งจะหันไปมองสื่ออินเตอร์เน็ต เพราะคนไทยน่าจะหันไปเสพสื่ออินเตอร์เน็ตมากขึ้นมากกว่าทีวี ก็พบว่าบริษัทต่างประเทศมีแนวโน้มครอบครองตลาดไปมากกว่า เพราะ Net Traffic ในบ้านเราตอนนี้เข้าใจว่าเป็น Facebook และ LINE รวมกันกว่า 80% 

11 Replies to “มอง ICT&Media ในสหรัฐฯ”

  1. ดูแล้วคนที่มาประมูลทีวี ดิจิตอล มั่นใจมากเกินไปรึป่าวครับ พอทำจริงมีแค่บางช่องที่อยู่ได้ นอกนั้นดูแล้วน่าจะอยู่ลำบาก คนดูมีเท่าเดิมและน่าจะน้อยลงด้วยซ้ำ หรือผู้ประกอบการมองเห็นอะไรที่สามารถไปต่อยอดได้ครับ

  2. GOOG กำลัง enter ธุรกิจมือถือใน usa แล้วครับ

  3. ขอบคุณครับ ได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ ของทางต่างประเทศ

    ชอบครับ ติดตาม ตลอด ๆ

  4. ขอบคุณครับพี่โจ๊กสำหรับข้อมูล

  5. ขอบคุณครับ

    คุณสุมาอี้ คิดว่า ปลายปีนี้ จะเกิดการประมูล 4 จี ได้สำเร็จมั้ยครับ และ คิดว่า บ.ใด จะได้บ้างครับ

  6. เป็นประเด็นการเมืองครับ เดายากจริงๆ ว่าจะเลื่อนอีกรึเปล่า

    เข้าใจว่า slot มีเท่าๆ กับจำนวนผู้ให้บริการรายใหญ่ๆ ดังนั้นก็น่าจะได้กันหมด

  7. อยากให้เขียน scn หน่อยครับ ทราบมาว่าพี่โจ๊กได้ไป cv มา
    ขอบคุณครับ

  8. ขอบคุณครับ รออ่านบทความต่อไป 555

  9. ขอบคุณครับ ภาพ ชัดขึ้นครับ 😀

  10. ปีนี้ 2022 เป็นจริงอย่างที่พี่มองแทบจะทุกอย่างเลยครับ

Comments are closed.