Private Equity

ช่วงสิบปีที่ผ่านมาถือว่าตลาดทุนพัฒนาไปเยอะมาก มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งอนุพันธ์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุน ETFs ฯลฯ กลุ่มคนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นก็ขยายวงกว้างขึ้นอย่างมากมายเมื่อเทียบกับสมัยก่อน  

แต่ถึงกระนั้น ตลาดทุนบ้านเราก็ยังห่างจากตลาดทุนในประเทศที่พัฒนาแล้วอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ที่เป็นหัวเรือใหญ่ของทุนนิยม กองทุน Venture Capital สำหรับ startup ในบ้านเราก็ยังมีน้อยมาก หรือพวก Hedge Fund ก็ยังไม่มีเป็นต้น

นอกจากพวกนี้แล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่เห็นได้ว่า ตลาดทุนสหรัฐฯ ดูจะกำลังเดินไปในทิศทางที่หันหลังให้มหาชน แทนที่จะเพิ่มขึ้น ก็คือ ความรุ่งเรืองของ Private Equity ซึ่งนับว่าดูจะมีอิทธิพลในตลาดหุ้นทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Private Equity รุ่งเรืองในยุคหลังๆ คือ ความยุ่งยากซับซ้อนของการเป็นบริษัทมหาชน เพราะกว่าบริษัทจะเข้ามาระดมทุนในตลาดได้ ต้องผ่านกฎเกณฑ์ข้อบังคับและขั้นตอนต่างๆ ที่ค่อนข้างโหดของ กลต. เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นบริษัทที่น่าเชื่อถือ ประชาชนทั่วไปลงทุนได้ และพอเข้าตลาดได้แล้ว ก็ยังต้องรักษามาตรฐานต่อไป ต้องทำบัญชีแบบสุดโหดเป็นรายไตรมาส มีค่าใช้จ่ายในการสอบบัญชีแพงลิ่ว ต้องจัดแถลงผลประกอบการ มีฝ่ายตรวจสอบภายใน มีฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ แค่นั้นก็ยังพอไหว แต่บางที ผู้ถือหุ้นรายย่อยก็โหดมาก จะเพิ่มทุน ออกวอแรนต์ ก็ยาก ถ้าผู้ถือหุ้นรายย่อยเข้าใจก็ดีไป ถ้าไม่เข้าใจคัดค้านลูกเดียวก็ทำให้แผนธุรกิจไม่เป็นไปตามที่วางไว้ เหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนของการเป็นบริษัทมหาชน

ฉะนั้นบริษัทในสหรัฐฯ บางทีก็ไม่อยากเข้าตลาด ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากไปขอทุนจาก Private Equity มากกว่า พวกนี้เป็นกองทุนที่ระดมทุนจากเศรษฐี หรือนักลงทุนสถาบัน แล้วก็มาลงทุนกับบริษัทโดยตรงนอกตลาด บริษัทอยากทำอะไรไม่อยากทำอะไร ก็คุยกันให้รู้เรื่อง ถ้า Private Equity เห็นว่าน่าเสี่ยง ก็เข้ามาลงทุน ในเวลาเดียวกัน บริษัทก็มีความคล่องตัวในการบริหารงานมากกว่า เพราะว่าไม่ต้องทำตามกฎเกณฑ์สารพัดของตลาดหุ้น หรือ กลต. เนื่องจากไม่ใช่การระดมทุนกับมหาชน Private Equity เองก็มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงินดีอยู่แล้ว คุยกันง่ายกว่า Private Equity เลยกลายมาเป็นคู่แข่งของตลาดหุ้นในแง่ทางเลือกของการระดุมทุน บริษัทอาจเลือกที่จะของเงินจาก PE แทนที่จะเข้าตลาดหรือชะลอการเข้าตลาดให้นานที่สุด เพราะว่า PE เงื่อนไขที่คล่องตัวมากกว่า 

ไปๆ มาๆ ก็ดูเหมือน PE จะได้เปรียบนักลงทุนในตลาดหุ้นอยู่หลายประตู เพราะสามารถเข้ามาลงทุนในบริษัทที่อยู่ใน stage ที่ก่อนจะเข้าตลาด ไม่ว่าจะตั้งแต่ยังเป็น startup ทำ PP เป็น Bridging Fund หรือเป็นซื้อหุ้น pre-IPO ได้ก่อน เพราะไปคุยกับบริษัทโดยตรงเลย เมื่อถึงวันที่บริษัทพร้อมจะเข้าตลาดแล้ว ราคาหุ้น IPO ก็มักสูงกว่าราคาที่ซื้อไว้มากแล้ว ถ้าจะ exit ในตลาด ก็มีโอกาสทำกำไรได้สูง เพราะมีนักลงทุนในตลาดมาช่วยซื้อต่อ หรือถ้าจะซื้อหุ้นที่อยู่ในตลาดก็ส่งคำสั่งซื้อผ่าน Dark Pools ไม่ต้องเปิดเผยให้คนอื่นรู้ก็ได้ 

PE ส่วนใหญ่มีเป้าหมายที่จะเข้ามาในธุรกิจอะไรก็ได้ แล้วใช้ “นวัตกรรมทางการเงิน” เป็นหลัก ในการเพิ่มมูลค่าของธุรกิจนั้นๆ ให้ได้มากและเร็วที่สุด เสร็จแล้วก็จึง exit ออกไปเพื่อทำกำไร พวก PE ไม่ค่อยสนใจการถือหุ้นเพื่อกินปันผล หรือรอเติบโตไปกับบริษัทแบบออกานิค เพราะว่าเสียเวลาเกินไป ถ้าเข้ามาก็ต้องเข้ามาเพื่อปรับโครงสร้างทางการเงินใหม่เลย เช่น เข้ามาช่วยลด D/E ให้บริษัทมีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำลง พอลดหนี้ธนาคารได้แล้ว งบสวย ก็ exit หรืออาจเข้ามาพร้อมกับกลุ่มผู้บริหาร เพื่อทำ Leveraged Buy-out โดยทำตัวเป็นนายทุน รวมไปถึงการเข้ามาเพื่อแยกหรือรวมกิจการ spinoff บริษัทลูก ซื้อบริษัทคู่แข่ง ฯลฯ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อ up มูลค่ารวมของธุรกิจอย่างรวดเร็ว ด้วยวิธีการทางการเงิน เพื่อเร่งกำไร สิ่งเหล่านี้ นักลงทุนทั่วไปในตลาดหุ้นไม่สามารถทำได้ เพราะว่านักลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเพียงรายย่อย จึงไม่มีอำนาจบริหาร ควบคุมหรือสั่งให้บริษัทปรับโครงสร้างตามที่ตัวเองเห็นสมควรไม่ได้ ต้องสวดมนต์เอาอย่างเดียวว่า เมื่อไรบริษัทจะทำสิ่งที่ควรทำ ถึงรู้ก็ทำไม่ได้ เพราะไม่อำนาจควบคุม

ช่วงหลังๆ  PE แข่งกันเองมากขึ้น (เป็นไปตามหลักทุนนิยม อะไรกำไรดี คนก็เข้ามาแข่งกันมากขึ้น)​ ดีลง่ายๆ อย่างเช่น bridging finance หรือ pre-IPO ธรรมดา ก็เริ่มกำไรน้อย เพราะมี PE หลายรายเสนอตัวเข้ามาให้บริษัทเลือก อำนาจต่อรองของ PE จึงมีน้อยกว่าสมัยก่อน PE ก็ต้องดิ้นหาวิธีการทำกำไรแบบใหม่ๆ ที่ยังไม่ค่อยมีใครทำ เพราะจะเป็นช่องว่างในการทำกำไรให้ได้มากๆ อย่างเช่น PE อาจหันมาทำดีลโครงการอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น หรือ PE บางแห่งก็เริ่มมี industry ที่เป็น focus ของตัวเอง เพื่อให้เกิด expertise ที่มากกว่า PE ทั่วๆ ไป เป็นต้น ช่วงหลังๆ PE เองก็กลับมาเป็นทางเลือกในการลงทุนให้กับนักลงทุนรายย่อยทางอ้อม เพราะ PE ที่ต้องการเงินจำนวนมากๆ เพื่อมาทำดีลใหญ่ๆ บางทีหาเงินจากเศรษฐีได้ไม่ทัน ก็เอาตัวเองเข้าตลาดหลักทรัพย์ซะเลย นักลงทุนรายย่อยคนไหนอยากได้ข้อได้เปรียบของ PE บ้าง ก็หันมาซื้อหุ้น PE เพื่อลงทุนใน PE ทางอ้อมโดยที่ไม่ต้องมีเงินถุงเงินถังก็ได้เหมือนกัน             

26 Replies to “Private Equity”

  1. ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ ช่วยวิเคราะห์หุ้นรายตัวหน่อยนะครับเพราะว่าตลาดปรับลงมาก ไม่ทราบว่าพื้นฐานเปลี่ยนหรือยังครับ ขอเริ่มจาก Hmpro ที่กำไรชลอลง ยังเป็นหุ้นที่น่าลงทุนอยู่หรือไม่ครับ

  2. ต้องขอโทษคุณโจ๊กด้วยนะครับถ้ามาไม่ถูกเรื่องแต่ชอบหุ้นตัวนี้มากส่วนตัวคิดว่ายังไปได้อีกช่วยComment(hmpro)ด้วยนะครับ ขอบคุณมากๆครับ

    1. ที่จริง hmpro ก็ฟื้นแล้วนะครับ same store sales เป็นบวกแล้ว แต่ราคาตลาดยังไม่ได้ปรับตัวขึ้นตาม

      บางทีราคาหุ้นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เรากังวลเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานมากกว่าตัวปัจจัยพื้นฐานเอง

  3. Hmpro นอกจากดู sssg แล้วต้องดูอะไรด้วยไหมครับ

    1. sssg สำคัญที่สุดในความคิดของผม เพราะบ่งบอกถึงโอกาสที่จะเติบโตได้อีกในระยะยาว อย่างอื่นก็ดูประกอบ ถ้าไม่ได้หลุดจากคำว่าปกติมากเกินไป ก็ไม่น่ามีปัญหา

    2. ถ้ามีตัวเลข ผม ว่า mkt size กะน่าดูพร้อมๆกับ sssg ป่าวคับ

    3. ถ้ามีเลข mkt size ด้วยก็ยิ่งดี จะประเมินขนาดบริษัทในอนาคตได้ง่ายขึ้น แต่ตัวเลขนี้หาค่อนข้างยาก

  4. ช่วงนี้ผมเขียนออกนอกประเทศไทยไปหน่อย ถ้าใครสงสัยเรื่องหุ้นไทย ก็ใช้ถามคำถามเอาก็ได้ครับ

    1. ขอบคุณมากครับสำหรับคำตอบ ว่าแต่คุณนรินร์ติดตามดูจากที่ไหนครับว่า sssg ฟื้นแล้วผมไม่เห็นข่าวเลย จะติดตามจากไหนได้บ้างครับ

  5. ROBINS SF CPN 3 หุ้นนี้ ตัวใดน่าสนใจกว่าครับ เพราะ CPN, ROBINS ขยายสาขาเยอะมาก และนโยบายตัดค่าเสื่อมไม่เหมือนกัน

  6. ณ ไตรมาส 4/57 พลิกเป็นบวก

    https://www.krungsrisecurities.com/images.aspx?filename=..%5Cuploads%5C2015%5C02%5CR_HMPRO_150225.pdf

    แต่เพิ่งเห็นว่าพอไตรมาส 1/58 กลับไปติดลบอีก

    https://www.google.co.th/search?client=safari&rls=en&q=%E0%B9%82%E0%B8%AE%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B8%A3+%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A2+%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%A1+%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%AA+1+/58&ie=UTF-8&oe=UTF-8&gws_rd=cr&ei=EHpdVZyJHsmfugSu24DABg

    ถ้าแบบนี้ก็คงต้องรอหน่อย

  7. VGI ที่ยกเลิกสัญญาโฆษณาในโลตัสกับบิ๊กซี…พี่นรินทร์คิดว่าจะมีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่ออนาคตมากไหมครับ

    1. ก็คงมีผลต่อบริษัทมาก เพราะเป็นดีลใหญ่ แต่ถามว่าเกี่ยวกับโอกาสในการหาดีลใหม่ๆ ในอนาคตหรือไม่คิดว่าไม่น่าเกี่ยวครับ

  8. พี่โจ๊กคิดยังไงกับบริษัทอย่าง KYE ที่เพิ่งประกาศงบปีไปเมื่อวานนี้ครับ? กำไรโตอลังการมาก แต่ผมเข้าใจว่ามาจากเงินปันผลจากบริษัทที่เข้าไปลงทุนเป็นหลัก ยอดขายสินค้าตัวเองโตน้อยมากๆ หุ้นตัวนี้เป็นตัวแรกในชีวิตที่ผมเคยซื้อเมื่อสองปีที่แล้ว แต่ขายไปนานแล้วเนื่องจากยอดขายโตน้อย

  9. MBK ณ ตอนนี้ยังน่าลงทุนมั้ยครับ คุณnarin ถ้าพิจารณาจากผลประกอบการณ์ Q1/2558

    1. MBK ก็ยังมีสินทรัพย์ที่ดีๆในมือ โอกาสที่จะลดธุรกิจที่ไม่ทำเงินลง เพื่อให้กำไรดีขึ้นก็มีอยู่ และโอกาสที่จะร่วมทุนทำห้างใหม่ๆ กับคนอื่นก็มีมาก เพียงแต่ช่วงนี้เศรษฐกิจยังไม่อำนวย

  10. คุณ joke ครับ มีหลายคำศัพท์ในบทความที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนเช่น Bridging Finance, Bridging Funds, dark pools, leverage buyout ช่วยขยายความหน่อยได้ไหมครับ

  11. Bridging Finance/Funds ก็อย่างเช่น บริษัทพร้อมเข้าตลาดได้ทุกอย่างแล้ว แต่ D/E สูงไปหน่อย กลัวเข้าไปแล้วราคาจะไม่ได้ดี ขายหุ้นจองได้ไม่หมด ก็มี Private Equity เสนอตัวเข้ามาให้กู้หรือร่วมทุน เพื่อให้ D/E ต่ำลง พอเข้าตลาดได้แล้ว ฐานะการเงินดีขึ้น ก็ถอนตัวออกไปโดยการขายหุ้นทำกำไร เป็นต้น

    Dark Pool เป็น ตลาดหุ้นเอกชนทางเลือก สามารถส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นมาทางนี้ได้เหมือนตลาดหุ้นหลัก โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นคนส่งคำสั่ง เพราะบางทีพวก Hedge Fund ก็ไม่อยากให้ใครรู้ว่าตัวเองเทรดหุ้นอะไร เพราะอาจจะถูกลอกอัลกอรึธึมได้เป็นต้น

    Leveraged Buyout ก็คือ อยากซื้อกิจการแต่ไม่มีเงิน เห็นว่าบริษัทมีเงินสดในงบเยอะ ก็ไปคุยกับแบงก์ขอกู้เงินมาซื้อบริษัท พอควบคุมกิจการได้แล้วก็เอาเงินสดในบริษัทมาจ่ายหนี้ เหมือนจับเสือมือเปล่า

  12. แบบนี้นี่เอง ค่าตอบแทนบุคคลากรใน PE จึงสูงมาก ๆ ขอบพระคุณสำหรับความรู้ครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *