เมื่อแรงบันดาลใจกับสภาวะแวดล้อมไปกันคนละทาง

ค่านิยมสมัยใหม่จะสอนให้หันมาออมเงินเพื่อวัยเกษียณ ลงทุนในหุ้น ทำงานอิสระ ทำธุรกิจส่วนตัว เป็นนายของตัวเอง แต่ถ้าเราลองมองสภาวะแวดล้อม กลับพบว่า มันไม่ได้เอื้อกับค่านิยมเหล่านั้นเลย

พอทุกคนเริ่มหันมาตื่นตัวเรื่องการออมเพื่อวัยเกษียณ เพราะสังคมสมัยใหม่เป็นสังคมเมือง อยู่เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น อยู่คนเดียวมากขึ้น ไม่มีใครให้พึ่งพา ทุกคนจำเป็นต้องมีเงินก้อนไว้พึ่งพาตอนแก่ ก็พอเหมาะพอเจอพอดีกับ ยุคดอกเบี้ยเงินฝากต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ออมไปก็แทบไม่ได้ดอกเบี้ย หลังๆ ก็เริ่มหนักข้อขึ้นอีก ถึงขนาดหลายๆ ธนาคารไม่ให้ดอกเบี้ยแล้ว ในต่างประเทศก็ไปไกลถึงขนาดเก็บค่าฝากเงิน ซึ่งทั้งหมดดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องชั่วคราว แต่เป็นแนวโน้มที่จะสุดโต่งขึ้นไปอีกในอนาคต

ค่านิยมสมัยใหม่ ไม่ชอบการทำงานประจำ ที่ต้องคอยทำตามคำสั่ง แต่ให้ทำงานด้วยใจ ทำในสิ่งที่ชอบ จะได้มีไฟ มีจิตวิญญาณ มีความสุขกับการทำงาน แต่สภาพแวดล้อมในสมัยใหม่ ดูเหมือนจะมีช่องว่างให้กับธุรกิจส่วนตัว หรือ SME น้อยลงกว่าสมัยก่อนมาก ธุรกิจขนาดใหญ่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากการควบรวมกิจการ และข้อได้เปรียบจากการประหยัดต่อขนาด ร้านค้าตึกแถวเริ่มหาคนซื้อยากขึ้นทุกวัน เพราะรถติดมากหาที่จอดรถได้ยาก และคนสมัยใหม่ก็ชอบซื้อของในห้างสรรพสินค้ามากขึ้น เพราะสะดวกสบาย ประหยัดเวลา มีที่จอดรถ หาบเร่แผงลอยก็ถูกปราบปราม และร้านสะดวกซื้อก็ขายสินค้าอย่างเดียวกับหาบเร่แผงลอยไปเรื่อยๆ มาตรฐานสินค้าต่างๆ ทำให้บริษัทที่จะส่งออกได้ต้องเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรมากพอที่จะ comply กับมาตรฐานเหล่านี้ได้มากขึ้น ช่องว่างของธุรกิจขนาดเล็กทุกวันนี้จะเหลือแต่ธุรกิจที่ creative มากๆ หรือแฟชั่นมากๆ รายได้ไม่แน่นอน ไม่ยั่งยืน ทุกให้ไม่เหมาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ ถ้าเป็นธุรกิจแบบเก่า ธรรมดาๆ บริษัทเกิดใหม่แทบจะแทรกตัวเข้าไปไม่ได้แล้ว เพราะขนาดคนเก่ายังอยู่ไม่ได้เลย เจ้าของ SME ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ลงทุนเพิ่ม แค่ประคองธุรกิจเดิมไปวันๆ เอาเงินที่ได้ไปซื้อบ้าน ซื้อคอนโด ซื้อทอง ซื้อหุ้น เล่นแชร์ลูกโซ่ แทน เพราะยังดูมีหวังจะได้กำไรมากกว่า การที่สตาร์ทอัพทุกวันนี้ต้องเน้นไปที่การทำลายระบบเก่าทั้งหมดลง (disruptive) ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนว่าตลาดมันแน่นไปหมดแล้ว คนเก่าคุมตลาดได้หมดแล้ว ทำให้ไม่เหลือช่องว่างให้คนใหม่เข้าไปได้แล้ว จนต้องทำลายระบบบทั้งหมดเท่านั้นถึงจะเจาะเข้าไปได้ อาชีพฟรีแลนซ์ก็เป็นอาชีพที่ทำยากขึ้น เพราะทุกคนต้องพะวงกับเงินเก็บในวัยเกษียณ ยากที่จะเข้ามาเสี่ยงกับชีวิตที่มีรายได้ไม่แน่นอน งานประจำกลายเป็นอาชีพที่ดีกว่า ถ้าหากมองในแง่ความจำเป็นที่คนเราจะต้องมีรายได้ประจำแน่นอนไว้สำหรับการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ

คนในยุคเบบี้บูม ดูเหมือนจะโชคร้ายที่เกิดมาพร้อมๆ กันเยอะๆ แต่เอาเข้าจริงๆ กลับเป็นคนยุคที่โชคดี เพราะเกิดหลังสงครามโลก ที่ทำลายทุกอย่างลงไปจนหมด ทุนก่อนหน้านั้นล้มสลายไปแล้ว ทุกคนต้องเริ่มสะสมทุนใหม่พร้อมๆ กัน ทำให้เกิดช่องว่างทางธุรกิจมากมายมหาศาลที่จะต้องช่วยกันสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ คนยุคเบบี้บูมกลับเป็นคนยุคที่ได้เป็นเจ้าของกิจการเยอะมากๆ (แต่คนยุคนั้นกลับมีค่านิยมเรื่องให้ลูกเรียนสูงๆ เพื่อให้ลูกไปทำงานบริษัท ได้เงินเดือนมากๆ) ยุคนั้นเป็นยุคที่ใครเปิดโรงงานได้ รวยแน่นอน เพราะความต้องการสินค้ามีมากกว่าซัพพลายสินค้า แต่พอมาถึงยุค GenME พวกเบบี้บูมที่สร้างฐานมาก่อน ยึดหัวหาดทางธุรกิจไปหมดแล้ว สมัยนี้แค่เปิดโรงงานได้ก็ใช่ว่าจะรอด เพราะไม่รู้จะขายใคร มีแต่คู่แข่ง ไม่มีลูกค้า การสร้างธุรกิจใหม่ในยุค GenME มันยากขึ้น แต่คนยุค GenME กลับมีค่านิยมไม่อยากไปเป็นลูกจ้าง แต่จะพยายามสร้างธุรกิจใหม่แทน ไม่รู้ว่ามันเกี่ยวกับการที่ทุกคนแห่กันนิยมเหมือนๆ กัน ทำให้สิ่งนั้นๆ ได้ผลตอบแทนน้อยลงหรือเปล่า แต่คิดว่าน่าจะมีปัจจัยอื่นๆ ด้วยที่ทับถมกันในเวลานี้พอดี

ดอกเบี้ยต่ำมีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหนึ่งที่สำคัญเลย คือการที่ธุรกิจสมัยนี้มีการลงทุนน้อยลง เพราะชนิดของการลงทุนเปลี่ยนไปจาก capital intensive กลายเป็น asset light หรือ intellectual property ทำให้ความต้องการสินเชื่อมีน้อยลงมาก ในเวลาเดียวกัน ทุนขนาดใหญ่ของเบบี้บูม ก็เหลือเงินเก็บมหาศาลที่ไม่รู้ว่าจะเอาไปวางไว้ที่ไหน เพราะไม่รู้จะลงทุนอะไร เพราะหาคนซื้อของไม่ได้ ซึ่งเกิดจากการกระจายรายได้ที่แย่ลงเรื่อยๆ รายได้ของบริษัทขนาดใหญ่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับรายได้ประชาชาติทำให้คนที่มีเงินมาซื้อสินค้าของบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้มีน้อยลงเรื่อยๆ เพราะรายได้ที่เป็นเงินเดือนของผู้บริโภคมีสัดส่วนที่น้อยลงเมื่อเทียบกับรายได้ขององค์กรขนาดใหญ่ ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ขายของไม่ค่อยได้ เพราะขาดคนซื้อ เศรษฐกิจทั้งระบบก็ฝืดเคือง ของเก่ายังขายยากเลย จะลงทุนใหม่ทำไม ทำให้ยิ่งไม่มีการลงทุน เศรษฐกิจก็ยิ่งฝืด เงินล้นแบงก์ ทำให้ดอกเบี้ยต้องต่ำ เพราะแบงก์หาที่ปล่อยสินเชื่อได้น้อยจึงไม่ต้องการได้เงินฝากเหมือนสมัยก่อน ทุกอย่างวนไปเป็นงูกินหาง

เมื่อฝากเงินไม่ได้ดอกเบี้ย ทำธุรกิจก็มีโอกาสขายไม่ออกมาก เงินก็ไหลไปยังตลาดสินทรัพย์ทุกรูปแบบ ทั้งอสังหาริมทรัพย์ หุ้น ทองคำ คอมโม กลายเป็นการเก็งกำไรสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดการจ้างงาน มีแต่การเปลี่ยนมือไปมากของสินค้า เพื่อหวังกำไรส่วนต่าง เมื่อราคาของเหล่านี้เพิ่มขึ้นไปมากๆ คนที่ต้องการสินค้าเหล่านั้นจริงๆ เช่น ต้องมีบ้านอยู่ คนจนต้องเติมน้ำมัน กลายเป็นคนที่ได้รับผลกระทบค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากแรงเก็งกำไร

การลดดอกเบี้ยของรัฐก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะต้นต่อของปัญหาคือไม่มีโอกาสในการลงทุน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่เพราะดอกเบี้ยแพง กลายเป็นว่านโยบายการเงินกลับไปสร้างปัญหาฟองสบู่ ที่นำไปสู่วิกฤตอยู่เรื่อยๆ ซึ่งทำให้คนต้องอยู่อย่างยากลำบากหลังวิกฤตทุกๆ 10 ปี เพื่อแลกกับการทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจดูดีในระยะสั้น ความต้องการที่จะเก็งกำไรมันสูงมากขนาดที่สินค้าอย่าง bitcoin ที่ไม่มีตัวตนอะไรเลย กลับมีราคาพุ่งขึ้นเรื่อยๆ ได้ดีมากกว่าสินค้าอย่าง ทองแดงหรือน้ำมันเสียอีก เพราะ bitcoin ไม่ต้องติดภาพลบของเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีขึ้น และการที่ดอกเบี้ยถูกกดให้ต่ำลงมากๆ ก็บีบคั้นให้คนแสวงหาวิธีการสร้างผลตอบแทนให้เงินเก็บแบบใหม่ๆ มากขึ้น มองข้ามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นไป ทำให้แชร์ลูกโซ่ได้รับความนิยมขึ้นมา

ปัญหาแบบนี้เป็นปัญหาที่แก้ยากในทางการเมือง เพราะเวลาที่ทุกคนรู้ว่าถ้าปล่อยไว้ เค้กจะหดลงเรื่อยๆ แต่ถ้าปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแล้ว ส่วนแบ่งเค้กของบางภาคส่วนจำเป็นจะต้องหดสั้นลง และภาคส่วนนั้นก็เป็นภาคส่วนที่มีเสียงดังกว่าภาคส่วนอื่นในสังคม ภาคส่วนนั้นก็ยินดีที่จะปล่อยให้เค้กทั้งก้อนหดลงเรื่อยๆ มากกว่า จนกว่าจะถึงจุดที่ไปต่อไม่ได้แล้วจริงๆ ดังนั้นก็คิดว่า คนยุคนี้คงต้องอยู่กับสภาวะแบบนี้ไปอีกนานเลยทีเดียว

15 Replies to “เมื่อแรงบันดาลใจกับสภาวะแวดล้อมไปกันคนละทาง”

  1. ชอบบทความนี้ของพี่โจ้กมากๆครับ ขอบคุณมากๆ 🙂

  2. เป็นบทความที่ดี และ ใช้เวลาเขียนนานทีเดียว

    วันนี้ หาซื้อ ฟิล์มหด และ เครื่องเป่าลมร้อนเพื่อใช้ห่อหุ้ม แพคเกจจิ้งสินค้า ปรากฎว่า ถามพนักงานแม๊คโคร ไม่มีขาย / สอบถามโลตัส ไม่มีขาย / ส่งข้อความทางเฟสบุ๊คหาร้านค้าออนไลน์ จำนวน 4 เพจ พบว่า ไม่มีขาย 2 เจ้า ถามแล้วไม่ตอบ 1 เจ้า อ่านแล้วตอบว่า ขับรถอยู่ไม่ว่างคุย 1 เจ้า / แต่พอ พิมพ์คำว่า ฟิล์มหด ลงในลาซาด้า มีขายถึง 10 เจ้า ส่งใน 3 วัน คลิ๊กชำระเงินผ่านบัตรเดบิต กสิกรได้ทันที

    สรุปว่า ลาซาด้า ชนะขาด และ คุยกับหุ่นยนต์ สะดวกกว่า คุยกับมนุษย์ อย่างมาก

  3. บางภาคส่วนที่เสียงดังกว่าคนอื่น #รู้นะ อิอิ

  4. อยากเห็นบทความเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นของนโยบายรัฐ ทั้งปัจจุบัน และอดีตครับ

    1. เหอๆ อย่าเลยครับ ให้บล็อกนี้เป็นบล็อกการลงทุนอย่างเดียวดีกว่า

  5. ย่อหน้าสุดท้าย นี่รวมถึงต่างประเทศด้วยหรือเปล่าครับ เพราะปัญหาเศรษฐกิจโลกก็คล้ายๆในประเทศ น่าจะต้องเผชิญกับกลุ่มที่ยังดึงยังรั้งอยู่เหมือนกัน

    1. รวมด้วยครับ แต่ปัจจัยฉุดรั้งของแต่ละประเทศอาจจะไม่เหมือนกันทุกอย่าง

  6. บทความเก่าใน coziplace เกี่ยวปรัชญา ประวัติศาสตร์ อยู่ที่ครับ หาไม่เจอ อยากอ่าน

  7. ธุรกิจทุกวันนี้ เป็นจริงอย่างที่คุณนรินทร์ เขียนมาค่ะ

  8. เขียนสรุปไว้ดีมากเลยครับ ขอบคุณที่แชร์มุมมองครับ

  9. เพจ 7thLTG และ index fund หายไปชั่วคราวนะครับ เนื่องจากติดไวรัสครับ ถ้าแก้ไขได้แล้วจะกลับมาในเร็ววันครับ

  10. ด้วยความเคารพ ผมเห็นต่างนิดนึงกับการบริโภคที่ยังไม่กลับมาของประเทศครับ

    ถ้าวิเคราะห์แบบปราศจากอคติ ต้องบอกว่าต้นตอที่แท้จริงของการบริโภคของประเทศที่ชะลอในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาคือ house hold debt ที่อยู่สูงมากๆราว 80%+ เนื่องจากนโยบายรถคันแรกกระตุ้น house hold debt ให้เพิ่มจาก 60% เป็น 80% ในเวลาสั้นๆ

    เมื่อคนเป็นหนี้เยอะ credit market ก็ชะลอตัว แบงค์ไม่กล้าปล่อยกู้เพราะกังวล npl เมื่อ credit market ไม่หมุนเหมือนที่ควรจะเป็น การบริโภคก็ลดลง เมื่อ demand ลดลง การผลิตภาคเอกชนก็ลดลงตาม โรงงานก็ไม่มีความจำเป็นต้องขยายเพราะ demand มันยังไม่แข็งแกร่ง

    หนี้รถซึ่งถือเป็น “สินค้าคงทน” ต้องบอกว่ารุนแรงมากเพราะเมื่อคนเป็นหนี้ก้อนนี้ ต้องใช้เวลา 5-6 ปีเป็นอย่างน้อยในการที่จะ pay off ระหว่างนี้แน่นอนที่สุดว่า purchasing power จะหายไปจากระบบเศรษฐกิจมหาศาล นั่นคือการหมุน 1 รอบของเงิน

    นอกจากนี้คนที่ซื้อรถคันแรกไปต้องถือเอาไว้ 5 ปี เป็นหนี้ จ่ายหนี้และก็ห้ามซื้อขายตามกฏหมาย อันนั้นทำให้สภาพคล่องหายไปมากมายเลยจากระบบเศรษฐกิจ

    กลับกัน เงินก้อนเดียวกัน ราวๆไม่ต่ำกว่า 4-5 แสนล้านบาท ถ้าเอามาหมุนในสินค้าพวก “กึ่งคงทน” หรือ “consumer products” จะสามารถหมุนได้ “multiple times”!!

    ตอนนี้ capacity utilization จากที่ BOT รายงาน on aggregate แล้ว โรงงานไทยตอนนี้ใช้ capacity ราว 60%! นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆครับ!

    ทั้งหมด imply ว่าอะไร

    ก็หมายความว่าโรงงานยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่มากเพราะใช้ capacity ไม่เต็มที่ ดังนั้นเอกชนไม่มี incentive ให้ลงทุนเพิ่มหรือขายกำลังการผลิตตอนนี้

    แล้วเมื่อไหร่ถึงจะดีขึ้น?

    ตอนนี้เริ่มทยอยครบ 5 ปีแล้ว คนเริ่มจ่ายหนี้หมด ดังนั้น balance sheet ของคนไทยจะดีขึ้น (รถคันแรกขายไป 1.2ล้านคัน!) ตอนนี้พูดง่ายๆว่าอยู่ปลายๆช่วง deleveraging ซึ่งอาจจะ long tail หน่อย แต่จะค่อยๆดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปแน่นอนตาม economic cycle

    เมื่อผู้บริโภคเริ่มมีเงินเหลือมากขึ้น house hold debt ลดลง วงจร credit market ก็จะไหลอีกครั้งครับ

    ดังนั้นคนก็จะกินใช้เยอะขึ้น โรงงานจะค่อยๆผลิตมากขึ้น จนกระทั่ง utilization เพิ่มถึง 80% เมื่อไหร่ นั่นคือจุดลงทุนเพิ่มของเอกชนครับ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นทันรัฐบาลหน้าแบบโชคช่วย

    แน่นอนผมเห็นด้วยที่เรากำลังเผชิญ new normal, (ดอกเบี้ยจะไม่กลับไปสูงมากๆอีกแล้วเพราะสภาพคล่องล้นและที่สำคัญราคาน้ำมันจะยืนอยู่ในระดับต่ำไปอีกนานเพราะ shale oil เผลอๆอีกไม่นาน เราน่าจะเห็นการแตกออกของ OPEC ด้วยเมื่อการลดกำลังการผลิตไม่ได้ช่วยพยุงราคาน้ำมันอย่างที่สามชิกต้องการ การโกงโดยการแอบผลิตเกินโควต้าเพื่อเอาเม็ดเงินมา funding budget deficit จะเกิดขึ้นแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว นั่นจะทำให้ inflation จาก cost push มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย ส่งผลดีโดยตรงต่อ “nominal interest rate”) แต่ผมออกจะเห็นต่างกับเศรษฐกิจของประเทศครับที่จะดีขึ้นแน่นอนในอีกไม่นาน

    ถ้า Buffett เคยบอกว่า “Buy America I am” ผมก็จะพูดว่า “Buy Thailand I am” ณ ตอนนี้เช่นกันครับ:)

    1. ไม่มีปัญหาครับ สามารถมองต่างกันได้ ขอให้โชคดีกับการ Buy Thailand ด้วย 🙂

    2. ตัสเลข aggregate utilize

      หาดูได้จากไหนคับ

      ขอบคุณคับ

Comments are closed.