การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่เสมอ

ทุกวันนี้โลกของเราเข้าสู่ยุค Digital Economy เต็มตัวแล้ว ไม่ใช่ที่เมืองไทย แต่คือที่เมืองไทยด้วย ลองสังเกตุดูจะเห็นว่า ทุกวันนี้เราทำทุกอย่างในชีวิตผ่านมือถือเกือบหมดแล้ว เหลือแค่วิ่งออกกำลังกายแค่นั้นที่ยังทำผ่านหน้าจอไม่ได้ (แต่ก็ยังมีพวกสมาร์ทวอชมาช่วยเก็บข้อมูลการเต้นของหัวใจอยู่ดี)

ปัญหาก็คือในด้านธุรกิจ ไทยเราไม่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจดิจิตอลที่ให้บริการผู้บริโภคของเราเองเลย ไม่ว่าจะเป็นสื่อโซเซียล แฟลตฟอร์มขายสินค้า หรือบริการส่งอาหาร ที่คนไทยใช้ล้วนอยู่ในมือของต่างชาติทั้งหมด ซึ่งที่จริงก็อาจไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่เป็นแบบนี้ แต่คือแทบทุกประเทศที่ไม่ได้มีเทคโนโลยีด้านดิจิตอลเป็นของตัวเอง ในโลกยุคดิจิตอล ประเทศมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีจะยึดอำนาจทุกอย่างไว้ในมือ ซึ่งหลักๆ ก็มีแค่สหรัฐฯ กับจีน ส่วนประเทศที่เหลือก็มีสภาพเป็นแค่เมืองขึ้นทางเศรษฐกิจ ที่คอยป้อนลูกค้าให้เขา โดยที่ประเทศมหาอำนาจเองไม่ได้ต้องการหรือพึ่งพาอะไรอย่างอื่นจากเราเลย

นั่นทำให้ที่่ผ่านมา ผมเลิกลงทุนในหุ้นไทย แล้วหันไปลงทุนหุ้นเทคในอเมริกาแทน ซึ่งก็ไม่ใช่เพราะว่าเป็นคนมีวิสัยทัศน์อะไรหรอก แต่หลายปีที่ผ่านมา ผมหาหุ้นไทยสไตล์ที่ชอบและอยากลงทุนได้น้อยลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็เหลือหุ้นไทยที่ชอบเลย จนต้องปิดพอร์ตไปโดยปริยาย ยังไงผมก็ชอบลงทุนในธุรกิจที่ผมมองเห็นศักยภาพการเติบโตในอนาคต  ไม่ได้ชอบหุ้นปันผลงาม ธุรกิจมั่นคงหมดแล้วอะไรแบบนั้น (ซึ่งใครชอบแบบหลังก็ไม่ได้ผิด มันเป็นแค่ความถนัดของแต่ละบุคคลเท่านั้น)

แต่การข้ามโลกจากการลงทุนจากตลาดที่มีหุ้น old economy ไปสู่ new economy ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ความรู้ใหม่ๆ ยังเป็นเรื่องที่แสวงหากันได้ แต่ที่ยากกว่าก็คือการเปลี่ยนวิธีคิด เพราะเราอยู่กับโลกเก่ามานาน นานจนหลักการลงทุนได้หยั่งรากลึกในใจจนกลายเป็นเหมือนศาสนา พอต้องเปลี่ยนไปสู่สภาวะแบบใหม่ เจอธุรกิจอีกแบบหนึ่งที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิมเลย การจะทำใจยอมรับว่าความเชื่อแบบเดิมไม่ได้เหมาะกับสภาวะแบบใหม่ มันเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก เหมือนการละทิ้งศาสนายังไงอย่างงั้น

ความเป็นจริงก็คือว่า ธุรกิจในโลกใหม่นอกจากจะไม่เหมือนกับโลกเก่าแล้ว หลายๆ อย่างถึงขั้นตรงกันข้ามกันเลยด้วยซ้ำ หุ้นโรงงานเราอาจจะอยากได้หุ้นที่ P/BV ไม่ต่ำ เพราะอย่างน้อยถ้าธุรกิจไม่ดีขึ้นมา แต่เครื่องจักรของโรงงานก็ยังมีมูลค่าขายทอดตลอดต่ำกว่าราคาหุ้นที่เราซื้อมา แต่พอเป็นธุรกิจดิจิตอล อาคารสำนักงานในงบดุลเหล่านั้นแทบไม่มีค่าอะไรเลยถ้าบริษัทปิดตัว บางบริษัทเช่าออฟฟิศเอาด้วยซ้ำ หรือบางธุรกิจ P/BV สูงๆ ยิ่งสะท้อนว่าบริษัทสามารถสร้างสินทรัพย์ที่มองไม่เห็น (แบรนด์ สิทธิบัตร แฟลตฟอร์ม ฯลฯ) ได้มาก ถ้าเอาวิธีคิดแบบเดิมไปเลือกแต่หุ้นที่ P/BV ต่ำๆ ก็เหมือนบังคับให้ตัวเองซื้อแต่หุ้นโลกใหม่ที่คุณภาพต่ำๆ

เราถูกอบรมมาให้ชอบหุ้น P/E ต่ำๆ ยิ่งต่ำยิ่งดี ซึ่งนั่นคือคำสอนที่ make sense สำหรับธุรกิจในโลกเก่าที่กำไรค่อนข้างจะแน่นอน คาดการณ์ได้ง่ายพอสมควร แต่ในโลกดิจิตอล ธุรกิจต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างนวัตกรรมก่อน ซึ่งมีแต่ค่าใช้จ่าย รายได้แทบไม่มี ถ้าเป็นธุรกิจแฟลตฟอร์มก็ต้องสร้างฐานลูกค้าก่อน ทำให้บ่อยครั้งต้องยอมขาดทุน จนถึงวันหนึ่งที่ใหญ่จนคู่แข่งตามไม่ทันแล้ว ลูกค้าหนีไปไหนไม่ได้แล้ว เพราะ network effects บริษัทถึงค่อยเริ่มต้นเก็บเกี่ยวทำกำไร ถ้าเราเอาความคิดแบบเก่าไปจับว่าธุรกิจที่ดีต้องมีกำไร กระแสเงินสดต้องเป็นบวก เราก็จะพลาดหุ้นดีๆ เหล่านั้นในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจไปทั้งหมด แล้วก็ไปซื้อเอาธุรกิจเหล่านั้นในวันที่พวกมันเติบโตเต็มที่แล้ว ซึ่งแพงกว่าช่วงแรกๆ เป็นร้อยเท่า และกลับเป็นช่วงที่อันตรายกว่าด้วยซ้ำ เพราะพวกมันก็พร้อมจะถูก disrupt โดยคลื่นลูกใหม่ได้เสมอ

ในช่วงที่หุ้นเทคโนโลยีกำลังเริ่มต้น (ช่วงต้นของ s-curve) P/E แทบไม่มีความหมายใดๆ เพราะกำไร (หรือที่จริงคือขาดทุน) เหล่านั้นเป็นแค่สิ่งที่ผู้บริหารของบริษัทเลือกเอง เป็นจุด optimal ระหว่างการสร้างเติบโตกับเงินทุนของบริษัท หลายๆ บริษัทสามารถทำกำไรได้เลยในจุดนี้ แต่เลือกที่จะยังไม่ทำ เพราะต้องการสร้าง user ให้เติบโตก่อน แต่เราไปสำคัญผิด คิดว่า P/E ต่ำ (หรือติดลบ) แสดงว่าเป็นธุรกิจที่ไม่มีศักยภาพ (ความคิดแบบเก่า) ทำให้พลาดโอกาสที่จะลงทุนกับบริษัทเหล่านั้นในช่วงแรกๆ ของ s-curve ไปอย่างน่าเสียดาย

การลงทุนในธุรกิจที่สร้างนวัตกรรม สิ่งที่สำคัญกว่าคือการวิเคราะห์ว่าบริษัทกำลังทำอะไรอยู่ นวัตกรรมหรือแฟลตฟอร์มที่บริษัทกำลังสร้างมีศักยภาพในการเติบโตในอนาคตมากแค่ไหน เป็น qualitative analysis แทบทั้งหมด งบการเงินแทบเชื่อถืออะไรไม่ได้ และไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับคุณค่าในอนาคตของธุรกิจเลย แต่การที่เราอยู่กับโลกเก่ามาตลอดชีวิต การที่จะให้เลิกสนใจงบการเงินไปเลย (เกือบ) มันยากมากที่จะทำใจ เหมือนเรากำลังทำสิ่งที่ต้องห้ามบางอย่าง เหมือนทำบาปในศาสนาของเรา

ในโลกเก่า แนวคิดเรื่องการตีแตก เป็นหนึ่งในแนวคิดที่สำคัญมาก จงเข้าใจธุรกิจให้ได้อย่างถ่องแท้ ประเมินความเสี่ยงจนทะลุปรุโปร่ง และเมื่อเจอหุ้นแบบนั้นก็ให้ลงทุนให้หนัก ทำถูกสักครั้งก็จะเปลี่ยนชีวิตเราได้เลย แต่ในโลกใหม่ คุณค่าของหุ้นส่วนใหญ่อยู่ที่อนาคต ไม่มีใครรู้อนาคต การทำนายผลประกอบการในอนาคตเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ บางทีเจ้าของบริษัทเองยังไม่รู้เลย แนวคิดเรื่องการตีแตกหุ้นจึงไม่ใช่เครื่องมือที่เหมาะ โอกาสผิดพลาดมีสูงกว่าถูก และการที่ตลาดหุ้นเทคส่วนมากมีหุ้นให้เลือกเยอะกว่ามากๆ ความจำเป็นที่จะต้องตีหุ้นให้แตก เพื่อให้เวลาคิดถูกแล้วผลตอบแทนของพอร์ตรวมจะได้โตเต็มที่ ก็ไม่จำเป็นขนาดนั้น เราสามารถกระจายความเสี่ยงออกไป เลือกลงทุนในหุ้นหลายๆ ตัวแต่ดีมากทุกตัวย่อมปลอดภัยกว่า bet ทุกอย่างกับหุ้นตัวเดียว ไม่จำเป็นต้องตีแตกกับหุ้นตัวเดียวให้ได้แล้วมาเสี่ยงกับการที่ทั้งพอร์ตต้องมาขึ้นกับหุ้นแค่ไม่กี่ตัว

การที่พอร์ตของหุ้นโลกใหม่สามารถกระจายได้ ความจำเป็นที่จะต้องมานั่งอ่านงบการเงินโดยละเอียดทุกบรรทัดของหุ้นทุกตัวที่ลงทุนก็แทบไม่จำเป็น เพราะถ้าหุ้นบางตัวจะเสียหายหนักไปเพราะว่าผู้บริหารซุกอะไรไว้ มันก็ไม่ได้ทำให้พอร์ตเสียหายหนัก เพราะไม่มีหุ้นตัวไหนที่เราลงทุนในน้ำหนักที่สูงมากในพอร์ตเลย เราสามารถเอาเวลานั่งแกะงบการเงินทีละบรรทัดเหล่านั้นไปศึกษาเรื่องเทคโนโลยี เรื่องตลาด ฯลฯ แทนได้ แต่ก็อีกนั่นแหละ เพราะว่าเราถูกสอนมาตลอดชีวิตให้อ่านรายงานประจำปีอย่างละเอียด เราย่อมรู้สึกผิดไม่มากก็น้อยที่จะบริหารจัดการเวลาของเราให้เหมาะกับตลาดหุ้นยุคใหม่ กลายเป็นอุปสรรคที่เราไม่รู้ตัว

การลงทุนกับหุ้นนวัตกรรม เราสามารถคาดหวังกำไรจากหุ้นแต่ละตัวเป็นหลายเด้งได้ ดังนั้นกลยุทธ์การบริหารพอร์ตที่เหมาะสมคือการถือหุ้นยาวๆ และ ignore ความผันผวนของราคาหุ้นในระยะสั้น เพราะถ้าเราคิดแต่ว่ามีกำไรเมื่อไรจะรีบขาย หรือกลัวหุ้นเหวี่ยงลงตลอดเวลา สุดท้ายแล้วเราจะขายหุ้นพวกนั้นทิ้งหมด เพราะหุ้นนวัตกรรมมีราคาที่ผันผวนมากอยู่แล้วโดยธรรมชาติของมัน ถ้าเราเจอหุ้นที่อีกสิบปีจะโตขึ้นได้ 100 เท่า คนที่จะถือไปถึงวันนั้นได้ ต้องเป็นคนที่คิดว่ายังไงก็ไม่ขาย เพราะถ้าไม่คิดแบบนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะขายตั้งแต่กำไร 1-2 เท่าไปหมดเกลี้ยงแล้ว แต่คนส่วนใหญ่จะไม่สามารถอยู่กับความคิดแบบยังไงก็ไม่ขายได้ เพราะว่าความผันผวนระหว่างทางมันรุนแรงมาก กำไรที่ขึ้นมาตั้งเยอะ ถ้ามันหายไปหมด เราก็จะโทษตัวเองว่าทำไมไม่ขาย ไม่สามารถทนอยู่อย่างนั้นต่อไปเรื่อยๆ ได้ นี่คือความยากที่แล้วจริงของหุ้นเทคโนโลยี

ซึ่งวิธีคิดแบบยังไงก็ไม่ขาย ไม่ค่อยเหมาะกับหุ้นโลกเก่า เพราะหุ้นโลกเก่าส่วนใหญ่แล้วยากมากที่พื้นฐานของบริษัทจะเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ การขึ้นๆ ลงๆ ของกำไรแบบธรรมดาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้มากกว่า ถ้าใครถือแล้วไม่ขาย โอกาสที่หุ้นเหล่านั้นจะขึ้นไปได้เป็นสิบเป็นร้อยเท่ามีน้อยมากจริงๆ ส่วนใหญ่แล้วจะกลับมามาใหม่อย่างถาวรมากกว่า ดังนั้นมีกำไรก็ขายเลยเป็นวิธีคิดที่เหมาะกับโลกเก่ามากกว่า และการที่เราเห็นโลกเก่ามาตลอดชีวิต การที่เราจะเปลี่ยนความคิดเมื่อเปลี่ยนไปลงทุนในโลกใหม่จึงทำได้ยาก เพราะภาพเก่าๆ มันติดตาเราอยู่ กลายเป็นอุปสรรคในโลกใหม่อีกแล้ว

วิธีมองหุ้นในโลกใหม่จึงแตกต่างกับโลกเก่าเป็นอย่างมาก หลายอย่างคือตรงกันข้ามกันเลย การเปลี่ยนวิธีคิดคือเรื่องที่ยากที่สุดแล้วในโลกของการลงทุน ก่อนหน้านี้เคยคิดอยากเผยแพร่เรื่องพวกนี้ให้คนอื่นฟัง แต่ช่วงหลังๆ เริ่มไม่กล้า เพราะไม่รู้ว่าคนเราจะเปลี่ยนวิธีคิดได้จริงรึเปล่า เช่น ถ้าไปบอกคนอื่นว่า หุ้นเทคไม่ควรขายหนีขาลง เพราะนั่นคือต้นเหตุที่ทำให้เราพลาดครั้งที่พวกมันขึ้นอย่างถาวร แล้วถ้าคนอื่นไปทำตาม แล้วเวลาต้องทนกับขาลงจริงๆ พวกเขาจะรับได้มั้ย เวลาหุ้นในพอร์ตลงมันเจ็บปวดมากนะ เขาจะมาด่าเรารึเปล่า เราไม่มีทางรู้เลยว่าจิตใจของใครทนได้แค่ไหน หลังๆ ก็เลยเริ่มคิดว่าเรื่องวิธีลงทุนควรเก็บเอาไว้เป็นวิธีการส่วนตัวดีกว่า  ถ้าจะแชร์กับใครเรื่องหุ้นเทคฯ ก็แชร์เฉพาะข้อมูลหุ้นเฉยๆ ส่วนเขาจะเอาข้อมูลเหล่านั้นไปทำประโยชน์อะไร หรือจะมีวิธีบริหารพอร์ตของตัวเองยังไงก็แล้วแต่เขาเลย วิธีการบางอย่างอาจจะถูกต้องในหลักการ แต่เวลาปฏิบัติจริงๆ ถ้าจิตใจไม่เข้มแข็งพอ ทำไม่ได้ สูญเสียวินัยตลอด หลักการเหล่านั้นก็กลับกลายเป็นหลักการที่ผิดอยู่ดี ตอนหลังผมเชื่อว่า หลักการที่ถูกต้อง ต้องเป็นหลักการที่ปฏิบัติได้ ภายใต้สมมติฐานที่ว่าเราเป็นมนุษย์ปุถุชนที่มีความโลภความกลัวด้วย เพราะต่อให้ถูกต้องยังไง ถ้าทำตามไม่ได้จริงก็ไม่มีประโยชน์

Learn, Unlearn and Re-learn