ฟันด์โฟลว์

ประเทศที่เลือกใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวนั้น มีข้อดีคือช่วยลดโอกาสที่จะเกิดภาวะฟองสบู่แตกในระยะยาว อันเนื่องมาจากการตรึงค่าเงินไว้ในระดับที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่ข้อเสียของระบบนี้ก็คือ เป็นการเปิดช่องให้เกิดการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนในระยะสั้นได้ และนั่นก็คือ เหตุผลที่ทำไมจึงมีเงินทุนไหลเข้าไหลออกกลับไปกลับมามากๆ ทุกวัน หรือที่เราเรียกว่า Fund Flow นั่นเอง

ว่ากันว่าทุกวันนี้ Fund Flow ที่เข้าออกเพราะการนำเข้าส่งออกสินค้า และการลงทุนทางตรง FDI นั้นมีสัดส่วนรวมกันไม่ถึง 10% ของ Fund Flow ทุกวันในโลก อีกกว่า 90% นั้นคือ Fund Flow ที่เข้าออกเพื่อการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก และสร้างความปวดหัวให้กับธนาคารกลางของทุกประเทศซึ่งมีหน้าที่ต้องดูและเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน

ว่าแต่ว่า อะไรล่ะที่ใช้เป็นเหตุผลในการตัดสินใจของนักเก็งกำไรค่าเงิน อะไรทำให้ค่าเงินของประเทศหนึ่งน่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ในอนาคต?

ตามทฤษฏีอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวนั้น ปัจจัยหลักที่จะทำให้เงินมีค่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศอื่นคือ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของประเทศนั้นๆ และอัตราเงินเฟ้อ

ถ้าหากประเทศหนึ่งกำลังปล่อยให้เงินเฟ้อในประเทศสูงขึ้น ค่าเงินของประเทศน่าจะอ่อนลงได้ในอนาคต เพราะเงินเฟ้อสูง เงินย่อมเสื่อมค่าลง หรือถ้าหากดอกเบี้ยที่แท้จริงในประเทศสูงขึ้น ค่าเงินของประเทศนั่นน่าจะแข็งขึ้นได้ เพราะว่าขนเงินจากประเทศอื่นเข้ามาฝากจะได้ดอกเบี้ยเยอะกว่า ค่าเงินจึงต้องแข็งขึ้นเพื่ออุดช่องโหว่ในการทำกำไรนี้

นอกจากนี้ ถ้าหากรัฐบาลของประเทศนั้นขาดดุลงบประมาณมากขึ้น ค่าเงินมักจะแข็งขึ้นในระยะสั้น เพราะว่าตลาดย่อมคิดได้ว่า รัฐบาลจะต้องกู้เงินเยอะขึ้น เพื่อมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ทำให้ดอกเบี้ยในตลาดของประเทศนั้นสูงขึ้นได้ หรือถ้าหากเศรษฐกิจของประเทศนั้นชะลอตัว เงินมักจะแข็ง (แต่ปัจจัยอื่นๆ ต้องนิ่งนะ) เพราะเศรษฐกิจในประเทศไม่ดี คนใช้จ่ายน้อยลง จะนำเข้าสินค้าลดลง ทำให้ค่าเงินแข็งขึ้นได้ หรือถ้าหากคนขาดความมั่นใจในประเทศนั้น ไม่ว่าจะเพราะปัญหาการเมืองหรืออะไรก็ตาม เงินก็จะอ่อนลงเพราะว่าความต้องการเงินสกุลนั้นเพื่อลงทุนจะน้อยลง ทำให้เงินอ่อนตามหลักดีมานด์ซัพพลายด์ เป็นต้น จะเห็นว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงิน ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นเหตุผลในการเก็งกำไรได้ทั้งสิ้น

เรื่องสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องทราบก็คือ คำว่าเงินเฟ้อหรืออัตราดอกเบี้ยที่มีผลต่อค่าเงินนั้น ไม่ได้หมายถึงเงินเฟ้อหรือดอกเบี้ยปัจจุบัน แต่หมายถึง เงินเฟ้อหรือดอกเบี้ยที่คาดในอนาคต เช่น ถ้าตอนนี้เงินเฟ้อสูง แต่ตลาดคิดว่าเงินเฟ้อจะกำลังจะลดลง แบบนี้เงินน่าจะแข็งในอนาคต ทั้งที่เงินเฟ้อสูงอยู่ ตลาดการเงินเป็นเรื่องของ “ความคาดหวัง” ในอนาคตทั้งสิ้น

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อค่าเงินเหล่านี้ ที่จริงแล้ว เป็นผลกระทบในเชิงจิตวิทยามากกว่า ตัวอย่างเช่น ถ้าดอกเบี้ยกำลังเพิ่ม เงินควรจะแข็งขึ้น เพราะน่าจะมีคนขนเงินเข้ามาฝากธนาคารในประเทศ แต่ถามว่าที่จริงแล้ว เงินที่เข้ามาเหล่านั้นจะเข้ามาฝากเงินจริงๆ และรอจนกว่าจะถึงงวดจ่ายดอกเบี้ยค่อยออกไป เพื่อจะได้รับดอกเบี้ยจริงๆ หรือไม่ คำตอบคือ อาจจะมีเงินส่วนหนึ่งที่เป็นแบบนั้น แต่เงินส่วนใหญ่ที่เข้ามาจะเขามาเพราะว่าเห็นว่าดอกเบี้ยขึ้นเป็นโอกาสในการเก็งกำไรค่าเงินมากกว่าที่จะมารอรับดอกเบี้ยจริงๆ เมื่อค่าเงินเพิ่มขึ้นจนสะท้อนโอกาสนั้นๆ ไปหมดแล้ว เงินเหล่านี้ก็จะออกไปเลย อาจจะไม่เคยเข้ามาฝากหรือซื้อพันธบัตรจริงๆ เลยก็ยังได้ ทั้งหมดเป็นเรื่องของการเก็งกำไรค่าเงินในระยะสั้นๆ มากกว่า (take money and run…)

อีกประเด็นหนึ่งที่มักสงสัยกันก็คือว่า สมมติว่าธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งก็ควรทำให้เกิด Fund Flow ไหลเข้า แต่ทฤษฏีการเงินอีกอันหนึ่งบอกว่า  เพราะดอกเบี้ยขึ้น หุ้นต้องถูกลง (เพราะถือเงินสดไว้ได้ผลตอบแทนสูงขึ้น) แบบนี้เราจะเชื่ออันไหนดี ปรากฎว่า ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ย ตลาดหุ้นมักจะขึ้นมากกว่า เป็นเพราะว่า Fund Flow ส่งผลต่อตลาดหุ้นในระยะสั้น ส่วนเรื่องของ Valuation นั้นส่งผลระยะยาว Fund Flow จึงมักมีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากกว่า ถ้าจะมองสั้น ก็ควรใช้ปัจจัยระยะสั้นอย่างเช่น Fund Flow มาอธิบาย

ทุกวันนี้ เฟด เป็นเหมือนผู้ที่คอยเพิ่มและลดปริมาณเงินทั่วโลก เวลาเฟดลงดอกเบี้ยที เงินดอลล่าร์ก็มีต้นทุนที่ต่ำลง ตลาดสินเชื่อคล่องตัว กู้เงินง่าย นักเก็งกำไรทั่วโลกก็กู้เงินมาเก็งกำไรมากขึ้น ทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาซื้อหุ้นในตลาดเกิดใหม่ต่างๆ มากขึ้นไปด้วย ตลาดหุ้นก็ขึ้นกันทั่วหน้า และเมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ย ก็จะให้ผลในทางกลับกัน

ด้วยเหตุผลเรื่องตลาดการเงินที่ยืดๆ หดๆ ตามเฟดนี้ ทำให้ในระยะสั้นตลาดหุ้นทั่วโลกจึง ขึ้นๆ ลงๆ ไปตามพฤติกรรมของเฟดมากเสียยิ่งกว่าจะขึ้นๆ ลงๆ เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจที่แท้จริงเสียอีก

4 Replies to “ฟันด์โฟลว์”

  1. อย่างนี้กรณีที่เฟดลด QE และเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่เงินทั้งโลกจะหดลง และหุ้นจะตกมาก แล้วสิ่งที่เราควรทำคืออะไรคะ

  2. ได้ความรู้มากขึ้นเลยครับ ขอบพระคุณครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *