กลยุทธ์หุ้นกับตลาดทุนในยุคนี้

ตลาดทุนยุคนี้ ไม่ถือว่าธรรมดา เพราะธนาคารกลางทั่วโลกใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายแบบผิดปกติ (Unconventional) อย่างต่อเนื่องยาวนาน และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงเป็นเรื่องยากที่ใครจะอาศัยประสบการณ์ในการคาดเดาตลาด (ก็ทุกคนยังไม่เคยเจอมาก่อน)​ บางทีก็รู้สึกแปลกใจที่บางคนฟันธงได้ว่า ต่อไปจะเกิดแบบนั้นแบบนี้ เพราะแม้แต่เฟดเองซึ่งมีทรัพยากรในการเข้าถึงข้อมูลมากมาย ก็ยังต้องจับตาดูเศรษฐกิจแบบใกล้ชิด ก่อนที่จะตัดสินใจไปทีละขั้น

นโยบายดอกเบี้ยต่ำผิดปกตินี้ ยังส่งผลต่อตลาดทุน ในแบบที่ไม่ได้อยู่ในตำราการเงินการลงทุน เพราะทำให้ราคาหุ้นในตลาดทุนอยู่ในระดับสูง แทบจะตลอดเวลา เคยมีการวิจัยว่า ดัชนี S&P500 ในช่วงเวลาสิบกว่าปี ตั้งแต่ยุคของกรีนสแปน มีช่วงเวลาที่มันมีราคาต่ำกว่าพื้นฐาน ซึ่งคำนวณด้วยทฤษฏีทางการเงิน เป็นช่วงสั้นๆ แค่ไม่เกินสามเดือนเท่านั้น นอกนั้นมันแพงกว่า Fair Value ของมันอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น หลักการลงทุนที่เคยสอนกันมาในอดีต ก็ดูเหมือนจะใช้ไม่ได้ในยุคนี้ เพราะเท่ากับว่า นักลงทุนจะลงทุนในหุ้นอะไรก็แทบไม่ได้เลย เพราะโอกาสที่จะซื้อหุ้นได้ในรอบสิบกว่าปี มีเพียงไม่เกินสามเดือนเท่านั้น เป็นต้น

ภาวะที่ตลาดสินทรัพย์เป็นฟองสบู่ เพราะนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสุดขีดนี้ นอกจากจะทำให้หุ้นแพงถาวรแล้ว ยังเพิ่มโอกาสที่ฟองสบู่จะแตกได้บ่อยขึ้น เพราะ

เร่งให้เกิดการปล่อยสินเชื่อที่หละหลวม ก่อให้เกิดการเอาสินเชื่อมาเก็งกำไรสินทรัพย์ รวมทั้งยังทำให้เกิดภาวะอุปทานล้น เพราะสินเชื่อถูกนำมาขยายกำลังการผลิตที่มากเกินไป เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นต้นทุนที่ต้องแลกมากับการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ

Note_20151102_194724_01

ถ้าหากเราจะใช้แนวคิดนี้เป็นเกณฑ์อาจมองได้ว่าตลาดหุ้นในยุคนี้มีโอกาสเป็นไปตามภาพนี้ กล่าวคือ ในภาวะปกติ มันแพงแทบจะตลอดเวลา แต่มี Crash เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และเมื่อเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ เพราะธนาคารก็จะแก้ปัญหาด้วยการอัดฉีดเงินในระบบให้มากขึ้นอีก ทำให้ตลาดหุ้นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว เป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ไป (ส่วนจะมีวาระสุดท้าย ที่หุ้นไม่กลับมาอีก เพราะถูกปั้มหัวใจมากเกินไป จนดื้อยา หรือไม่นั้น เกินปัญญาที่ผมจะคาดเดาได้  ) เอาเป็นว่าโมเดลของตลาดหุ้นในยุคนี้ของเราเป็นไปตามภาพนี้ก็แล้วกัน

ถ้าตลาดหุ้นยุคใหม่เป็นแบบนี้จริง วิธีการลงทุนแบบเดิม ที่ซื้อหุ้นต่ำกว่ามูลค่าแบบเคร่งครัด ดูเป็นวิธีที่ไม่เหมาะกับสถานการณ์ เพราะโอกาสที่จะซื้อหุ้นแทบไม่มี แถมซื้อแล้วถือไว้ยาวๆ ก็ไม่ค่อยมีประโยชน์ เพราะหุ้นเด้งเร็ว แต่เด้งแล้วก็ไม่ไปต่อ เพราะหุ้นแพงอยู่แล้ว ตลอดเวลา กลยุทธ์ที่กลับจะดูเข้าท่ามากกว่าคือ กลยุทธ์ของคนที่ปกติแล้วจะไม่ซื้อหุ้นอะไรเลย ถือเงินสด แล้วนานๆ ที เมื่อตลาด Crash รุนแรงมากๆ ก็ค่อยเข้ามาซื้อหุ้นที และพอตลาดหุ้นเด้งแล้วก็ขายทำกำไรออกมาเลย ไม่ต้องเสียเวลาถือหุ้นแพงๆ ให้เสี่ยงเปล่าๆ  แต่รอเวลาที่ตลาดหุ้นจะ Crash รอบใหม่ แล้วก็ทำอย่างเดิมอีก วนไปเรื่อยๆ ส่วนวิธีการของคนส่วนใหญ่ ที่ชอบอยู่ในตลาดหุ้นตลอดเวลา และพยายามซื้อๆ ขายๆ เพื่อกำไรไปเรื่อยๆ กลับเป็นวิธีที่อันตรายมากที่สุด เพราะพร้อมที่จะขาดทุนมากๆ ได้ เวลาที่ตลาดหุ้นลงมาเยอะๆ จริงๆ และตัวเองมีหุ้นเต็มพอร์ต ไม่มีเงินสด

อีกวิธีหนึ่งที่ดูเป็นวิธีที่ Compromised มากที่สุด คือในภาวะปกติ ซื้อเฉลี่ยแบบ DCA ไปเรื่อยๆ ซื้อทุกเดือน แต่ซื้อแค่เดือนละนิดๆ หน่อยๆ (เพราะเวลาส่วนใหญ่หุ้นดูจะค่อนข้างแพง) เก็บเงินสดส่วนใหญ่เอาไว้ รอให้ถึงเวลาที่ตลาดหุ้น Crash มากๆ ที ก็ค่อยเข้าไปเก็บหุ้นเยอะๆ สักที ถ้าเด้งเร็ว ก็ขายส่วนหนึ่งออกมาทำกำไร แล้วเก็บอีกส่วนหนึ่งไว้ถือยาวก็ได้ วิธีนี้ช่วยทำให้เราได้ซื้อหุ้นเยอะๆ ตอนที่หุ้นถูก และในเวลาเดียวกัน ก็เป็นการประกันว่า ถ้าหากรอแล้วหุ้นไม่ลงเลยติดต่อกันยาวนาน อย่างน้อยเราก็ยังได้ลงทุนส่วนหนึ่งผ่านทางพอร์ต DCA ของเราด้วย

ชอบกลยุทธ์ไหนก็ลองดูๆ กันนะครับ

18 Replies to “กลยุทธ์หุ้นกับตลาดทุนในยุคนี้”

  1. คุณโจ๊กคิดว่าการขึ้นดอกของ Fed จะเป็นจุดเริ่มของการสิ้นสุด monetary easing อย่างน้อยก็ในรอบนี้ไหมครับ หรือว่าต้องรอจนกว่าทั้ง ECB และ BOJ หยุดด้วยกันหมด

    1. ไม่แน่ครับ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีมากๆ ก็จะกลับมาได้ใหม่ เสพติดนโยบายไปแล้ว แต่มองว่า ต่อไปจะได้ผลน้อยลงเรื่อยๆ

  2. Market crash ใช้เกณฑ์ ที่กี่ %จาก most recent high ครับ แล้วซื้อเข้าไปที่ประมาณกี่ %ของport dcaดีครับ

    1. ตลาดต้องลงอย่างน้อย 10% ผมถึงจะนับว่าเป็น crash ธรรมดา (ปรับฐาน) ซึ่งน่าจะมีทุกปี ปีละ 1-2 หน

      ส่วนตลาดลง 30% ขึ้นไป ถือว่าเป็น crash ใหญ่ (crisis) น่าจะมีทุก 4-5 ปี (average)

      ส่วนจะซื้อกี่ % ของพอร์ต dca นั้น ผมว่าคิดแยกกันก็ได้ คือ dca ก็ทำไปเรื่อยๆ ส่วนการซื้อเมื่อ crash นั้น อาจจะมองเป็นความเหมาะสมของราคาที่ลดต่ำลงมา คือให้ดูที่ valuation เป็นหลัก ถ้าต่ำลงขนาดที่มั่นใจว่า ต่อให้ติดตอยตรงนี้ ก็ไม่ได้ซื้อของเกินราคา ก็สามารถซื้อมากๆ ได้

  3. ขอบคุณครับ ผมเห็นด้วยเลยครับ
    ดู ๆ ไป ตลาดหุ้นไม่ไปไหน ขึ้น ๆ ลง ๆ ก็ไม่มาก ..
    คงต้องโฟกัส เป็นรายตัว ๆ ไป

  4. กำลังดูๆอยู่ ว่า robot trading จะมีประโยชน์สำหรับสถานการณ์แบบนี้ไหมครับ
    คือ เล่นตามเทรนด์ย่อยๆ แต่มี limit downside เวลา market crash จะมี cut loss point ประมาณ -10% ทำให้เวลาเกิด crisis ก็น่าจะมีเงินสดไว้ช้อนซื้อได้

    1. ขอตอบแบบ Lynch ในโลกที่ผันผวนแบบนี้ ถ้าตั้งใจจะ cutloss ที่ 10% เราจะจบด้วยการขาดทุน 10% กับหุ้นทุกตัวที่เราซื้อ

  5. ผมลงทุนแบบคล้ายๆ Robot กับกองทุนรวมหุ้นไทย, กองทุนหุ้น Global, กองทุนหุ้น Healthcare สมมติว่าตัวละ 1 ล้าน โดยเริ่มซื้อหลังจากที่มีการปรับฐานแรงๆหน่อย (10% ขึ้นไป)

    พอตัวไหนมีกำไร 5% ผมก็จะตัดกำไรออกมาใส่กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นไว้ มูลค่ากองทุนก็จะกลับไปเหลือ 1 ล้านเท่าเดิม ถ้ามูลค่าเพิ่มมาอีก 5% ก็ตัดกำไรออกมาอีกครั้ง ทำไปเรื่อยๆทุกๆ 5%

    พอตลาดมีการปรับฐานแรงๆจนตัวไหนมูลค่าลดลงไปมากกว่า 10% ผมก็จะเข้าไปซื้อเพิ่ม จนมูลค่าของกองทุนที่ถืออยู่กลับมาเป็น 1 ล้านอีกครั้ง

    ผมทำมาสักพักแล้ว ตอนนี้กำไรอยู่ เพราะเริ่มซื้อช่วงที่มีการปรับฐาน และตลาดมันดีดกลับเลยได้ขายตัดส่วนที่กำไรออกมาพักไว้ อยากทราบว่าวิธีการแบบนี้พอไหวในระยะยาวมั้ยครับ

    1. จริงๆ ก็เป็นวิธีที่ดีสำหรับตลาดหุ้นไทยในเวลานี้ คือ เวลาที่เราคิดว่าไปข้างหน้า ตลาดหุ้นจะไปได้ไม่ไกลมาก ก็ควรมีกลไกในการขายทำกำไรบ้าง ส่วนกลไกจะเป็นยังไง ก็แล้วแต่จะออกแบบกัน

  6. ชอบวิธีหลังมากครับ โดนใจ ตอบโจทย์เรื่องอารมณ์-จิตวิทยาของตัวเองได้ดีเลย

  7. จากที่ดูมายาวนานหลายปี สำหรับคนธรรมดา เวลาไม่มาก วิธีซื้อหุ้นเติบโต ทุกเดือน ไม่คำนึงภาวะตลาด เวิคกว่า เพราะ วิธีอื่น เช่น ถ้าใช้ วิธีรอเก็บตอนหุ้นลงมากๆ มักจะไม่รู้ว่า เวลาไหนควรซื้อ เวลาไหนควรขาย ใช้เงินเท่าไหร่ หลุมพรางคันมือ ก็มีมาก กลายเป็นขาดวินัย ไร้ทิศทางไป แต่ถ้าเข้าใจตลาด เฝ้ามองมานานหลายปี เดาจังหวะได้ดี ก็ควรทำไม่ผิดอะไร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *