วิธีรวยเร็วๆ ของเจ้าของ บจ.

ผู้ถือหุ้นหลักของ บมจ. หรือก็คือเจ้าของบริษัท อาจสร้าง Wealth ให้กับตนเองได้อย่างรวดเร็ว โดยอาศัยความเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และวิธีการทางการเงินล้วนๆ

ถ้าผู้ถือหุ้นหลักต้องการแบบนั้น พวกเขาอาจขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ให้กับกลุ่มทุนจากภายนอก ซึ่งอาจเป็นในราคาที่มีส่วนลดจากราคาตลาดก็ได้ เพื่อจูงใจกลุ่มทุนเหล่านั้น เมื่อเพิ่มทุนได้แล้ว ก็ทำให้ Balance Sheet ของบริษัทดูแข็งแรงขึ้น (D/E ต่ำ) ทำให้สามารถกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มได้ ยิ่งหากกลุ่มทุนเหล่านั้นมีชื่อเสียงด้วยแล้ว ยิ่งทำให้บริษัทดูน่าเชื่อถือ

เมื่อกู้เงินมาได้ ก็ไม่ต้องเอามาขยายธุรกิจเดิมหรือสร้างธุรกิจใหม่ เพราะทำแบบนั้นต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะผลิดอกออกผล พวกเขาสามารถทำให้ผลประกอบการของบริษัทเพิ่มขึ้นได้ทันทีด้วยการไปซื้อกิจการบริษัทอื่นๆ เพื่อที่จะได้เอางบการเงินมารวมกัน กำไรทางบัญชีก็เพิ่มขึ้นได้ทันที

เมื่อกำไรทางบัญชีสูงขึ้น ก็ย่อมส่งผลต่อราคาหุ้นในตลาดที่จะสูงขึ้นตามการคาดการณ์ของงบการเงินใหม่ ตลอดจนการที่ตลาดอาจจะคาดการณ์ต่อไปได้อีกว่า บริษัทอาจจะซื้อกิจการอื่นๆ เข้ามาเพิ่มอีกในอนาคต ทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปรอเหตุการณ์เหล่านั้น เมื่อนักวิเคราะห์ปรับประมาณการราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้น นักลงทุนรายย่อยก็สนใจอยากเข้ามาซื้อหุ้น ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไป ตอนนี้ก็ถือว่าเจ้าของกิจการได้ตอบแทนกลุ่มทุนที่ช่วยเข้ามาเพิ่มทุนแล้ว เพราะว่ามูลค่าหุ้นที่กลุ่มทุนซื้อไว้ในราคาลด ซึ่งก็มีกำไรอยู่แล้ว ยังเพิ่มขึ้นอีกเพราะราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นด้วย ตอนนี้กลุ่มทุนจะทำอย่างไรก็หุ้นที่ถืออยู่จะขายหรือถือต่อก็เป็นเรื่องของกลุ่มทุนแล้ว เจ้าของกิจการไม่เกี่ยว เพราะได้ตอบแทนในรูปของราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปให้แล้ว ซื้อเจ้าของบริษัทเองก็ไม่ได้ลงทุนอะไรจากกระเป๋าของตัวเองในการปรับราคาหุ้นให้สูงขึ้นครั้งนี้ด้วย

เมื่อราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปมาก นักลงทุนรายย่อยที่เข้าไปซื้อต่างก็มีความสุขกันทั่วหน้า ดูแล้วก็ win-win หุ้นขึ้นใครๆ ก็ชอบทั้งนั้น ยิ่งถ้าเราซื้อหุ้นแล้วหุ้นตัวนั้นขึ้นเลย เรายังรู้สึก bullish กับหุ้นตัวนั้นมากๆ ตอนนี้หุ้นของบริษัทอาจกลายเป็น Darling ของตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว เป็นที่อิจฉาของนักลงทุนคนอื่นๆ ที่ตกรถไฟ ไม่ได้ซื้อไว้ หุ้นติด most gainer ทุกวัน นักวิเคราะห์ที่เชียร์ก็ได้หน้า ชื่นมื่นกันทั่วหน้า เวลานี้ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะทำการเพิ่มทุนอีกครั้ง เพราะนอกจากจะได้ราคาหุ้นเพิ่มทุนที่สูงมากแล้ว (เพราะราคาหุ้นเพิ่มทุนต้อง benchmark กับราคาตลาด) นักลงทุนยังกำลังมีแต่ความรู้สึกที่ดีกับหุ้น ต้องซื้อหุ้นเพิ่มทุนอย่างแน่นอน

เมื่อเพิ่มทุนสำเร็จในราคาพรีเมื่ยม ได้เงินเข้ามาในบริษัท ก็ช่วยให้ฐานทุนแข็งแรงขึ้น D/E ที่เคยสูงก็กลับลดลงมาใหม่ ทำให้บริษัทเหลือวงเงินที่จะขอสินเชื่อกับธนาคารเพิ่มได้อีก ก็สามารถกู้เงินเพิ่มจากธนาคารเพื่อเอามาซื้อกิจการ เพื่อรวมงบ แล้วก็ทำอะไรต่อมิอะไรตามวงจรเดิมไปได้เรื่อยๆ ไม่ต้องอธิบายต่อ เพราะว่ามันก็จะซ้ำๆ วนๆ ไปเรื่อยๆได้ พร้อมกับผลประกอบการและราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นไปอีกทุกรอบที่ทำ

นี่เท่ากับว่าราคาหุ้นของบริษัทในตลาดหุ้น สามารถเพิ่มขึ้นได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องก่อให้เกิดกิจการหรือการจ้างงานอะไรใหม่ๆ ใน real sector เลย เป็นแค่สิ่งที่มีอยู่แล้วทั้งหมด เอางบมารวมกันไปกันมาเท่านั้น แต่ถ้าหากจะถามว่า แล้วบริษัทที่ทำแบบนี้ทำอะไรผิดหรือเปล่า ก็ตอบว่า ไม่ผิด ดูแล้วก็ไม่ได้ทำผิดกฎของตลาดหลักทรัพย์ข้อไหนเลย ผิดกฎหมายหรือไม่ก็ไม่ผิด ผิดจริยธรรมหรือไม่ ก็ไม่ผิดเช่นกัน เพราะไม่ได้โกหกใดๆ ทั้งสิ้น การเข้าซื้อกิจการทุกอย่าง ก็มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่ได้ปิดบังใดๆ การที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปก็เป็นวิจารณญาณของนักลงทุนในตลาดหุ้นเองที่เข้าไปซื้อหุ้นเหล่านั้นเพราะคิดว่ากำไรจะเพิ่มขึ้น เจ้าของก็ไม่ได้เข้าไปทำราคาแต่อย่างใด และไม่ได้เพิ่มแต่ราคาหุ้น เพราะผลประกอบการก็เพิ่มขึ้นด้วยจริงๆ  แล้วจะบอกว่าผิดจริยธรรมได้อย่างไร ดูยังไงก็ไม่ผิด

ถามว่าบริษัทที่ทำแบบนี้เพื่อเพิ่มราคาหุ้น นักลงทุนชอบหรือไม่ชอบ นักลงทุนหลายคนปากอาจจะบอกว่า ไม่ชอบ ผิดจริยธรรมบ้าง อะไรบ้าง (ซึ่งก็ตอบไม่ได้ว่าผิดจริยธรรมเรื่องอะไร) แต่เอาเข้าจริงๆ นักลงทุนก็อยากซื้อหุ้นเหล่านี้มากกว่าหุ้นที่ทำมาหากินแบบเดิมๆ ราคาหุ้นไม่ไปไหน หุ้นพวกนี้ถึงนักลงทุนจะไม่ได้เป็นคนแรกๆ ที่รู้ และมักต้องซื้อหุ้นในราคาพรีเมี่ยมเสมอ แต่ซื้อแล้วก็ขึ้นเลย ไม่ต้องรอ ไม่ต้องเห็นสีแดงให้เจ็บใจ มีแต่สีเขียว ทำไมคนเราจะไม่ชอบ สุดท้ายแล้วยังไงๆ หุ้นที่ทำแบบนี้ก็เป็นที่ชื่นชอบของตลาดอยู่ดี สรุปแล้วไม่มีใครที่ไม่ happy

แต่บริษัทที่ทำแบบนี้บ่อยครั้งก็จะไปไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง เนื่องจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นได้ได้ด้วยการควบรวมกิจการนั้น ต้องอาศัยภาวะตลาดที่เอื้ออำนวยด้วย ถ้า sentiment ตลาดดี แพงแค่ไหนก็วิ่งขึ้น ยิ่งแพง ยิ่งวิ่ง แต่สัจจธรรมอย่างหนึ่งของตลาดหุ้นก็คือ ตลาดหุ้นไม่สามารถขึ้นได้ตลอดไป หรือเป็นสีเขียวทุกวัน ดังนั้น หุ้นที่ทำแบบนี้ก็มักจะสะดุดเวลาที่ตลาดซึม หรือมี big crash ซึ่งนักลงทุนรายย่อยจะเจ็บหนักที่สุด เพราะว่าเป็นคนหลังๆ ที่ซื้อทำให้ต้องซื้อแพงกว่าคนอื่น ถ้าตลาดลงลึกมากๆ หรือซึมยาวมากๆ นักลงทุนที่ขาดทุนก็จะเกิดอาการซึมเศร้า บางทีก็จะออกมาด่า มาแฉ  เจ้าของบริษัท ตามหน้าเว็บต่างๆ เพื่อระบายอารมณ์ ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดต่างๆ จะค่อยๆ สร้างขึ้นมาอธิบายเป็นฉากๆ แต่ถ้าพูดกันอย่างแฟร์ๆ จริงๆ เจ้าของบริษัทผิดอะไรหรือไม่ พวกเขาเอาปืนจ่อให้นักลงทุนซื้อหุ้นของเขาหรือเปล่า ก็เปล่า พวกเขาปกปิดข้อมูลอะไรหรือเปล่า ก็เปล่า ก็เพราะนักลงทุนเองมิใช่หรือ ที่ยินดีเข้ามาซื้อหุ้นประเภทนี้มากกว่าหุ้นประเภทอื่น เพราะมันวิ่งมากกว่า และก็รับรู้อยู่ตลอดว่าบริษัทสร้างสตอรี่อะไรออกมาบ้าง ซึ่งถ้าได้กำไรไปก็คงไม่ได้เอามาแบ่งเจ้าของเพื่อตอบแทนใดๆ แต่พอเวลาวิธีนี้ไปไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง ก็เริ่มจะมาโทษเจ้าของ 

วงการหุ้นมันก็เป็นแบบนี้มาทุกยุคทุกสมัย และมันก็คงเป็นแบบนี้ต่อไป เพราะตลาดหุ้นเป็นเรื่องของเงิน และขึ้นชื่อว่าเงินไม่ก็เคยเข้าใครออกใคร ใครๆ ก็ย่อมอยากได้เงินทั้งนั้น เพียงแต่กระบวนการอาจเปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคสมัย เมื่อมีคนคิดวิธีการทางการเงินใหม่ๆ ที่ซับซ้อนขึ้นและดูดีขึ้นเรื่อยๆ ออกได้ เพราะวิธีแบบเดิม เริ่มไม่ได้รับความนิยม เมื่อมันโดนใช้ซ้ำซากมากเกินไป จนเรียกแขกไม่ได้แล้ว ผมว่า Money Game สมัยนี้มันถูกพัฒนามาจนแทบจะไม่จะเป็นต้องทำอะไรที่ผิดกฎหมายแล้ว และตราบใดที่มนุษย์เรายังอยากรวยๆ เร็วๆ มากกว่ารวยช้าๆ (ซึ่งก็น่าจะเป็นอย่างนั้นตลอดไป) Money Game ใหม่ๆ ก็เป็นสิ่งที่ยังดึงดูดใจผู้คนได้อยู่เสมอ

4 Replies to “วิธีรวยเร็วๆ ของเจ้าของ บจ.”

  1. …ของแบบนี้ประสบการณ์น่าจะช่วยให้เรารู้ทันต่อบจ. แล้วรู้ทันตัวเราเองบ้างไหมครับ

    1. จริงๆ มันเป็นแค่ทางเลือกครับ ถ้าเรายินดีรับความเสี่ยงนี้เราก็เข้าไปลุย แต่ถ้าเราคิดว่าแบบนี้ไม่คุ้ม ก็อยู่ห่างๆ อยู่ที่เราเลือกครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *