รวยด้วยหุ้น vs ออมด้วยหุ้น

ยุคนี้เป็นยุคที่คนอยากมีอิสรภาพทางการเงิน อยากเกษียณตั้งแต่ยังไม่แก่ และ/หรืออยากเป็นเศรษฐีหมื่นล้าน และตลาดหุ้นก็เป็นตัวเลือกยอดนิยมที่คนใช้ทำให้บรรลุเป้าหมายนั้น

ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะ ตลาดหุ้น”ดู”เป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุด การทำงานประจำเป็นหนทางที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรวยเร็วๆ ส่วนการออกมาทำธุรกิจส่วนตัวก็ดูเป็นงานที่ต้องเหนื่อยแสนสาหัส ในขณะที่ตลาดหุ้นนั้นดูเหมือนเป็นวิธีทำเงินที่ง่ายๆ ซื้อถูก ขายแพง นั่งจิบกาแฟคีย์คำสั่งก็ทำกำไรได้แล้ว

กระแสคิดบวกยิ่งช่วยส่งเสริมให้คนตั้งเป้าหมายตลาดหุ้นให้สูงๆ ประมาณว่า ทุกคนสามารถเป็นวอเรนบัฟเฟตคนที่สองได้ขอแค่กล้าฝัน ฯลฯ

ความเป็นจริงก็คือว่า ตลาดหุ้นไม่ได้ทำให้คนกลายเป็นเศรษฐีได้เยอะอย่างที่เรามักจะคิดกัน ตลาดหุ้นก็เหมือนกับวิธีรวยวิธีอื่นๆ ในโลกนี้ ที่ต้องมีคนรวยจากมันได้ไม่มากนักเสมอ วิธีรวยง่ายๆ นั้นไม่มีอยู่จริง มันเป็นกฎของสังคม เพียงแค่เพราะตลาดหุ้นไม่ต้องใช้แรงกาย ไม่ได้แปลว่ามันง่าย มันแค่ยากคนละแบบกับการทำธุรกิจเท่านั้นเอง เหมือนการซื้อล๊อตตอรี่ให้ถูกรางวัลที่หนึ่งนั้นไม่ต้องใช้แรงแต่ก็ไม่ได้ง่ายเลย (อาจจะยากกว่าการทำธุรกิจเสียอีก) มีอะไรบางอย่างที่เป็นภาพลวงตาทำให้เราคิดว่าตลาดหุ้นน่าจะง่ายกว่าวิธีอื่นๆ

กฎของธรรมชาติคือหลักทรัพย์ประเภทตราสารทุนจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในระยะยาวประมาณ 10% ต่อปี ต่อให้ทุกคนที่เข้ามาในตลาดหุ้นเก่งทุกคน คิดบวกมากๆ ทุกคน แต่กฎข้อนี้ก็จะยังคงอยู่ ถ้ามีคนจำนวนหนึ่งได้ผลตอบแทนไปมากกว่าค่าเฉลี่ยนี้ คนที่เหลือก็ต้องได้ผลตอบแทนน้อยกว่า เพื่อให้ค่าเฉลี่ยยังอยู่ที่ 10% เหมือนเดิม ตลาดหุ้นเป็นการรบกันของคนจำนวนมากที่ทุกคนต่างต้องการเป็นคนที่ได้กำไรสูงๆ แต่คนที่ได้ผลตอบแทนสูงๆ จริงๆ จะมีจำนวนไม่มากนักเสมอ เพราะมีกฎของธรรมชาตินี้บังคับไว้อยู่ 

แต่ปรากฎการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกว่ามีคนรวยในตลาดหุ้นเยอะเกิดจากสิ่งที่เรียกว่า Survival bias/Selective bias ถ้ามีใครรวยด้วยหุ้นขึ้นมาสักคน ข่าวจะแพร่สะพัดกระจายออกไป สื่อสนใจมาทำข่าว ขอสัมภาษณ์ ถ่ายรูปขึ้นปก นำข่าวมาผลิตซ้ำจนเห็นแล้วเห็นอีก แต่คนที่ขาดทุนหรือบาดเจ็บจากหุ้นนั้น น้อยคนที่จะออกมาป่าวประกาศ หลายคนก็ออกจากตลาดไปเงียบๆ คนแล้วคนเล่า ความไม่สมดุลของการถูกนำเสนอทำให้เราประเมินความน่าจะเป็นที่จะรวยด้วยหุ้นผิดพลาด ในจำนวนคนไทยที่เล่นหุ้นอยู่ 3-4 แสนบัญชีนั้น มีคนที่รวยด้วยหุ้นสำเร็จถึงหนึ่งพันคนหรือเปล่าผมก็ยังไม่แน่ใจ สมมติว่าถึงพันคน คุณก็ต้องเก่งระดับหนึ่งในสี่พันเป็นอย่างน้อยถึงจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ ขนาดตอนเรียนหนังสือ ทั้งห้องมีแค่ 50 คน การจะได้ที่หนึ่งของห้องยังมีโอกาสน้อยเลย อย่าว่าแต่หนึ่งในสี่พัน

โดยส่วนตัว ผมไม่เชื่อว่าทุกคนควรมีเป้าหมายรวยเร็วๆ ด้วยหุ้นเป้าหมายรวยด้วยหุ้นเป็นเป้าหมายที่เหมาะกับแค่บางคนที่เป็นคนส่วนน้อยในสังคมเท่านั้น ผมพูดแบบนี้อาจจะถูกว่าเป็นพวกไม่คิดบวก คนสมัยนี้ต้องคิดว่าเราทุกคนสามารถเป็นที่หนึ่งได้ ฝันให้ไกลถึงดวงจันทร์ ถ้าเป็นไม่ถึงอย่างน้อยก็ยังถึงดวงดวง อะไรทำนองนี้ แต่ผมมองว่า ในตลาดหุ้น การตั้งเป้าหมายที่สูงมากๆ เป็นสิ่งที่มีอันตรายอยู่ด้วย เพื่อมันจะกำหนดวิธีการลงทุนของเราที่แตกต่างจากคนที่ตั้งเป้าหมายตามความเป็นจริง และมันจะส่งผลต่อผลงานของเราในทางลบได้จริงๆ  

เหมือนกับที่ผมจะไม่แนะนำเด็กทุกคนให้ไปเรียนร้องเพลง เพื่อที่จะได้เป็นเบิร์ดธงไชยให้ได้ทุกคน อาจมีแค่เด็กบางคนเท่านั้นที่มีอะไรบางอย่าง เช่น เสียงดี บุคลิกดี ทางบ้านมีทรัพยากรพร้อม เด็กพวกนี้คือเด็กที่สามารถตั้งเป้าหมายที่จะเป็นซุปเปอร์สตาร์อันดับหนึ่งได้ ซึ่งต่อให้ตั้งเป้าหมายแบบนั้นแล้วก็ใช่ว่าจะสำเร็จ โอกาสสำเร็จก็ยังน้อยอยู่ เพียงแค่มากขึ้นกว่าคนทั่วไปเท่านั้น และพวกเขาก็ยังต้องการการทุ่มเททั้งชีวิต เพื่อการเป็นนักร้องอีก หมายความว่าต้องเอาเวลาแทบทั้งหมดไปฝึกตัวเองให้เป็นซุปเปอร์สตาร์ ซึ่งหมายถึงต้องละทิ้งโอกาสที่จะไปเตรียมตัวสอบแอดมินชั่นเพื่อเข้าคณะอย่างหมอ วิศวกร ซึ่งเป็นอาชีพที่เป็นได้ง่ายกว่าการเป็นพี่เบิร์ดมาก มีผลตอบแทนที่ค่อนข้างดี แต่คงสู้พี่เบิร์ดไม่ได้ ( high risk, high return) การตั้งเป้าหมายที่สูงมากๆ จึงไม่ได้มีแต่ข้อดีเสมอไป แต่คุณจำเป็นต้องสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายนั้น ซึ่งบางทีมันก็ไม่คุ้มค่าสำหรับคนธรรมดาทั่วไปที่พวกเขาอาจมีทางเลือกที่มีโอกาสประสบความสำเร็จง่ายกว่ามาก แต่ก็ได้ผลตอบแทนที่ไม่น้อยเลย แม้ว่าจะไม่ได้มากที่สุด คนที่ถูกกล่อมให้ฝันสูงๆ โดยที่ไม่ได้ทุ่มเททรัพยากรทั้งหมด ได้แต่ฝัน เพราะคิดว่าแค่ฝันอย่างเดียวเราก็จะประสบความสำเร็จได้ จะว่าไปแล้วก็เหมือนคนที่ถูกสาป

ถ้าคุณได้มีโอกาสสัมผัสคนที่รวยด้วยหุ้นเป็นการส่วนตัวจริงๆ คุณจะรู้ว่า คนเหล่านั้นไม่ได้ได้มาง่ายๆ หลายคนมีความพยายามที่เกินคนธรรมดา แบบที่ถ้าคุณรู้คุณจะคิดในใจว่า “เออ ให้เขาไปเหอะ พยายามมากขนาดนั้น” บางคนก็มีข้อได้เปรียบอะไรหลายอย่างที่ทั้งขาว ทั้งดำ ทั้งเทาๆ เพียงแต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ถูกตีแผ่ออกมาสู่สาธารณะ เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่คนช่างฝันอยากฟัง ทำให้เกิดภาพลวงตา

ผมยังคิดว่าคนส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเหมาะกับเป้าหมายรวยด้วยหุ้น แต่สำหรับการออมด้วยหุ้นเพื่อเกษียณนั้น ผมคิดว่าเป็นเป้าหมายที่เหมาะกับทุกคน และเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะทำด้วย ในระยะสั้นหุ้นอาจเป็นหลักทรัพย์ที่ผันผวนรุนแรง แต่ในระยะยาวมันเป็นหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ถ้าหากคนเราจะออมเงิน เราจะพลาดโอกาสนี้ไปทำไม ในเมื่อดอกเบี้ยเงินฝากแทบจะเป็น 0 อยู่แล้ว ผมเห็นว่าทุกคนควรมีเงินส่วนหนึ่งที่ออมไว้ในตลาดหุ้น (ส่วนจะมากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่คนด้วย) เพื่อไว้ใช้ในวัยเกษียณ

คนที่จะรวยด้วยหุ้นกับคนที่คิดจะออมด้วยหุ้นนั้นจะมีวิธีคิดที่ต่างกัน และเลือกวิธีการลงทุนที่ต่างกันด้วย คนที่ออมด้วยหุ้นไม่ต้องการวิธีการลงทุนที่โลดโผนโจนทยานมาก เพราะแค่ต้องการทำผลตอบแทนให้ได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้น ไม่อยากให้หลุดกรอบออกไปมากเกินไป แค่เลือกวิธีที่ค่อนข้าง passive มีการกระจายหุ้นค่อนข้างมากเพื่อให้ดูใกล้เคียงตลาด และมีการซื้อแบบทยอยสะสมเพื่อเฉลี่ยต้นทุนไปตามช่วงเวลาด้วย แค่นี้ก็ทำให้ผลตอบแทนเข้าใกล้ค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นในระยะยาวได้แล้ว ไม่ต้องรู้มาก ไม่ต้องเก่งมาก ไม่ต้องโชคดี แต่เป็นคนที่อึด และอาศัยเวลาในการสร้างผลตอบแทน ไม่ใช่อาศัยการเสี่ยงมากๆ แต่ถ้าเป็นคนที่ต้องการรวยเร็วๆ ด้วยหุ้น พวกเขาไม่สามารถทำแบบนี้ได้เลย เพราะว่าจะไม่มีทางบรรลุเป้าหมายได้ทันแน่นอน พวกเขาต้องจับวิธีการที่เสี่ยงมากกว่า เพื่อให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงๆ เช่น ซื้อหุ้นตัวเดียว เน้นเล่นแต่ DW เล่นอนุพันธ์ อัดมาร์จิ้นเต็มพอร์ต ซื้อหุ้นพื้นฐานแย่ๆ เพื่อหวังเทรินอราวด์ เป็นต้น วิธีการเหล่านี้ทำให้บางคนรวยได้จริง แต่มีจำนวนแค่หยิบมือ ส่วนใหญ่แล้วจะกลายเป็นขาดทุนกันมากกว่า

การออมด้วยหุ้นนั้นไม่ได้แปลว่าจะไม่รวย เพียงแต่จะไม่รวยเร็วๆ เท่านั้น ถ้าคุณสามารถอยู่ในตลาดได้นานๆ การทำผลตอบแทนได้ปีละไม่มาก แต่ว่าได้สม่ำเสมอทุกปี ไม่เคยขาดทุนหนักๆ ในระยะยาว การทบต้นจะก่อให้เกิดความมหัศจรรย์ขึ้นเอง โอกาสสำเร็จก็มีมากกว่า เพราะว่าไม่ต้องเสี่ยงมาก เพียงแค่ตัดใจให้ได้ว่า เราไม่จำเป็นต้องรีบรวยก็ได้ ช้าๆ แต่ชัวร์ดีกว่า วิธีไหนที่จะทำให้เรามีโอกาสขาดทุนมากๆ ได้ เราก็จะไม่เลือก สร้างพอร์ตที่ดูคล้ายตลาด เพื่อให้ผลตอบแทนเกาะตลาดไปได้ทุกปี มีการปรับพอร์ตบ้าง แต่อย่าบ่อย และพยายามใช้กฎ(rule-based)ให้มากที่สุด เพื่อลดผลกระทบของการใช้อารมณ์  เราไม่ต้องคิดว่าถ้ากำไรเยอะๆ แล้วจะรีบล้างพอร์ตหุ้นทิ้งหนีไปไหน เพราะยังไงเสียก็ไม่มีที่ไหนให้ผลตอบแทนในระยะยาวได้ดีเท่าตลาดหุ้น สะสมเงินไว้ในตลาดหุ้นนี่แหละ ถ้าเราคิดแบบนี้เราจะไม่เลือกหุ้นเน่า เราจะเลือกแต่หุ้นที่ดีๆ มีการกระจายหุ้นพอสมควร และปรับพอร์ตบ้างแค่นานๆ ครั้ง ไม่ต้องเหนื่อยๆ ใช้เวลากับตลาดหุ้นวันละมากๆ เป็นทัศนคติเกี่ยวกับตลาดหุ้นที่แตกต่างจากแนวคิดแบบรวยด้วยหุ้นโดยสิ้นเชิง

17 Replies to “รวยด้วยหุ้น vs ออมด้วยหุ้น”

  1. เป็นบทความที่ดี คอยเตือนสตินักออมหุ้น ขอบคุณครับ

  2. คุณนรินทร์ เหนือกว่าคำว่าสุดยอดคือคำไหนครับ คำนั้นแหละอธิบายบทความนี้ของคุณ

  3. ขอบคุณมากครับ เป็นบทความที่เตือนสติได้ดีมากครับผม ^ ^

    1. หมดข้อโต้แย้งสำหรับการออมในหุ้นครับ ขอบคุณครับ

  4. จริงด้วย 7 th ตอบคำถามได้ทุกข้อสำหรับคนaverage person ขอบคุณกองทุนนี้มากมายค่ะ^_^

  5. นี้คือบทความ เกี่ยวกับหุ้นที่ดีทึ่สุด
    ของคุณ นรินครับ

    อคติของผู้อยู่รอด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *