การเงินส่วนบุคคล ทฤษฏีกับชีวิตจริง

ทฤษฏีการเงินส่วนบุคคลสอนว่า คนเริ่มต้นทำงานอย่ารีบผ่อนรถยนต์ ให้ออมเงินให้ได้มากที่สุดก่อน แล้วเอาเงินออมมาซื้อรถยนต์ หรืออย่างน้อยถ้าซื้อไม่ได้ทั้งหมด ก็ซื้อเงินสดส่วนหนึ่ง ผ่อนให้น้อยที่สุด รถยนต์ถอยมาวันแรกราคาก็ตกทันที และเป็นสิ่งที่สุดท้ายแล้วกลายเป็นแค่ซาก

นอกเหนือไปจากกรณีที่บางคนจำเป็นต้องมีรถยนต์ในการดำรงชีวิตจริงๆ และในกรณีที่บางคนต้องซื้อรถยนต์เพื่อช่วยหารายได้ เช่น ทำงานเป็นเซลล์ เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุผลเฉพาะรายบุคคล แต่ก็มีเหตุผลอย่างอื่นที่ทำให้คำแนะนำนี้อาจไม่ใช่คำแนะนำที่ดีเสมอไปด้วย

จำได้ว่า ตอนผมเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ (นานมาแล้ว แต่ไม่อยากบอกว่ากี่ปี เพราะนานมาก อิอิ) รถญี่ปุ่นระดับ Entry-level ราคาคันละประมาณ 4-5 แสนบาท แต่สมัยนี้ราคากระโดดไป 7 แสนบาทแล้ว (ขออนุญาตไม่เปรียบเทียบกับ eco-car เนื่องจาก ของไม่เหมือนกัน และสมัยก่อนยังไม่มี) เหตุผลส่วนหนึ่งเกิดจากภาษีสรรพาสามิตรถยนต์ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ แต่นั่นก็ยังไม่สามารถอธิบายราคาส่วนที่เพิ่มขึ้นได้ทั้งหมด ตัวรถยนต์เองก็แพงขึ้นด้วย แตกต่างจากราคาสินค้าส่วนใหญ่ที่ยิ่งเทคโนโลยีสูงขึ้น ราคามักจะถูกลง ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมต้นทุนการผลิตรถยนต์จึงไม่ได้ถูกลง ทั้งที่ราคาเหล็กก็ตกต่ำมานานหลายปี

ในทางตรงกันข้าม ในช่วงที่ผ่านมา ดอกเบี้ยกลับตกต่ำ ทำให้อัตราดอกเบี้ยกู้ซื้อรถยนต์ไม่ได้แพงมากนัก ถ้าหากพิจารณาถึงราคารถยนต์ที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่า อัตราดอกเบี้ยมาก กลับกลายเป็นว่า คนที่ตัดสินใจกู้เงินซื้อรถยนต์ตั้งแต่สิบปีก่อน นอกจากจะได้กำไรจากการได้ใช้แล้ว เทียบกับคนที่ออมเงินไว้ก่อน ซึ่งได้ดอกเบี้ยน้อยมาก ค่อยเอาเงินสดมาซื้อในอีกสิบปีต่อมา ในราคาที่แพงขึ้นเท่ากับหรือมากกว่าดอกเบี้ยสินเชื่อรถยนต์ คนแรกอาจจะ better off ในทางการเงินมากกว่าซะอีก (โอเคว่า รถที่คนแรกซื้อมาไม่ได้มีราคาเพิ่มขึ้น เพราะกลายเป็นรถมือสอง แต่คนแรกก็ยังได้เปรียบตรงที่มีรถใช้แล้ว ทำให้ไม่จำเป็นต้องควักเงินซื้อรถตอนที่ราคาตลาดแพงขึ้นมาก)

ลองมานั่งคิดดูว่า อะไรทำให้คำแนะนำการเงินส่วนบุคคลนี้ใช้ไม่ได้ค่อยได้ผลในช่วงที่ผ่านมา ก็พบว่า ในช่วงที่ผ่านมามีปัจจัยหลายอย่างที่ผิดปกติไปจากสมมติฐานทางเศรษฐศาสตร์ปกติค่อนข้างมาก

ประการแรก ดัขนีเงินเฟ้อยอดนิยม (CPI) เป็นดัชนีที่สะท้อนความเป็นจริงเกี่ยวกับค่าครองชีพสมัยนี้ได้น้อยลงมาก CPI ของไทยบ่งชี้ว่า ประเทศไทยเงินไม่ได้เฟ้อเลย และถึงขั้นเป็นเงินฟืดด้วยซ้ำ เพราะ CPI วัดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค(ค่ากับข้าว)เป็นหลัก และได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำมากในช่วงหลังๆ ด้วย ในขณะที่สิ่งที่คนสมัยนี้ต้องซื้อเพื่อดำรงชีวิตอาจจะกลายเป็น โทรศัพท์มือถือ รถไฟฟ้า ค่าเรียนพิเศษ ฯลฯ และค่าใช้จ่ายก้อนโตของเราที่ถูกมองข้ามไปคือ ค่าใช้จ่ายซื้อสินทรัพย์ เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา สินค้าอุปโภคมีราคาตกต่ำจริง แต่ราคาสินทรัพย์กลับมีราคาเพิ่มขึ้นทั่วหน้า เรียกได้ว่า เราอยู่ในภาวะ Asset Inflation ทั้งที่ CPI บอกเราว่าเงินฝืด

ในภาวะเงินฝืด เจ้าหนี้จะได้ประโยชน์ เพราะหนี้ส่วนใหญ่กำหนดมูลค่าไว้เป็น norminal (ไม่สนใจเงินเฟ้อ) ถ้าสินค้ามีราคาลดลงเรื่อยๆ เท่ากับว่า เงินจำนวนเท่าเดิมซื้อของได้มากขึ้นในอนาคต การที่เจ้าหนี้ได้รับเงินต้นคืนในอนาคตเท่าเดิม แต่เงินนั้นซื้อของได้มากกว่าเดิม ก็เท่ากับว่า เจ้าหนี้ better off (ลูกหนี้ worse off) ส่วนในภาวะเงินเฟ้อทุกอย่างจะกลับกัน ลูกหนี้เป็นฝ่ายได้ประโยชน์ไป    

แต่ในช่วงที่ผ่านมา CPI ส่งสัญญาณว่าเงินฟืด ทำให้ธนาคารกลางปรับอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง (เจ้าหนี้ได้ประโยชน์อยู่แล้วก็ไม่ควรคิดดอกเบี้ยลูกหนี้แพง)แต่ในความเป็นจริง สินทรัพย์กลับมีราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (Asset Inflation) คนที่ได้ประโยชน์เต็มๆ จึงได้แก่ ลูกหนี้ที่กู้เงินเพื่อไปซื้อสินทรัพย์ เช่น กู้ซื้อรถยนต์ เพราะได้กู้ดอกเบี้ยที่ต่ำ ในขณะที่เอาเงินนั้นไปซื้อรถยนต์ ที่มีราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ไม่ต้องควักเงินซื้อรถแพงๆ ในอนาคต เพราะว่าได้ซื้อไว้ตั้งแต่หลายปีก่อนแล้ว)

ในช่วงที่ผ่านมา คนที่ได้ประโยชน์ในลักษณะเดียวกัน ก็คือบรรดาเจ้าของธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่กู้เงินดอกเบี้ยต่ำๆ มาไล่ซื้อกิจการในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นการซื้อสินทรัพย์ ทำให้พวกเขาร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็ว และง่ายกว่าการทำธุรกิจจริงๆ ที่ภาวะแข่งขันรุนแรง กำไรน้อย เสียอีก เงินทุนที่เอามาซื้อก็กู้มาด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำๆ ต่างจากกลุ่มทุนที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ไม่กู้เงินมาซื้อกิจการ ก็แทบไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากภาวะแบบนี้

ที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมาไม่ได้อยากปลุกใจให้คนก่อหนี้ เพราะเอาเข้าจริงๆ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ในอีกห้าปีข้างหน้า สภาวะแบบนี้จะคงอยู่เหมือนเดิม มันอาจจะไม่ใช่แบบนี้แล้วก็ได้ คนที่ทำตามตำราการเงินส่วนบุคคลเป๊ะอาจกลายเป็นคนที่คิดถูกในอีกห้าปีข้างหน้าแทนก็ได้ไม่มีใครรู้ เพียงแต่อยากชี้ให้เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยต่ำเกินจริง ที่บางคนบอกว่า มีแต่ข้อดีไม่มีข้อเสียเลยนั้น จริงๆ แล้ว ข้อเสียมันอาจแฝงมาในรูปของระบบการให้รางวัลของสังคมที่บิดเบี้ยว ด้วยการสร้างแรงจูงใจให้คนมีพฤติกรรมแบบหนึ่ง และลงโทษคนที่มีพฤติกรรมอีกแบบหนึ่ง ในขณะที่สังคมอาจต้องการให้คนมีพฤติกรรมอย่างหลังมากขึ้นเพื่อช่วยสร้างความแข็งแรงและความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่า  

7 Replies to “การเงินส่วนบุคคล ทฤษฏีกับชีวิตจริง”

  1. “บรรดาเจ้าของธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่กู้เงินดอกเบี้ยต่ำๆ มาไล่ซื้อกิจการในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นการซื้อสินทรัพย์ ทำให้พวกเขาร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็ว และง่ายกว่าการทำธุรกิจจริงๆ ที่ภาวะแข่งขันรุนแรง กำไรน้อย เสียอีก”

    แต่สุดท้ายแล้วกิจการที่ซื้อไป ก็อยู่ท่ามกลางการแข่งขันในสภาวะการทำธุรกิจจริงๆนะครับ ผมจึงมองว่าการที่เจ้าของธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่กู้เงินดอกเบี้ยต่ำๆ มาไล่ซื้อกิจการ เขาน่าจะเล็งเห็นโอกาสในการทำกำไรจากธุรกิจนั้นๆด้วยนะครับ

  2. ตอนนี้มีเงินสดควรจัดการอย่างไรดีครับ
    เงินสด 50% หุ้นไทย 50%

  3. ถ้ายังไม่เจอหุ้นที่น่าซื้อก็ถือเงินสดไว้ก่อนได้ครับ พลีผลามก็ไม่ดีเช่นกัน

  4. ดีครับ พี่โจ๊ก รบกวนถาม หุ้นใดบ้างทีเป็นเจ้าตลาด แต่เพียงผู้เดียว และ ไม่มีคู่แข่งเลย และ เราสามารถ นำเข้า port VI ได้รึเปล่า ขอแบบเจาะลึกครับ มีถึง 10 ต้วไม๊ ? ผมรู้แค่ตัวเดียว นั่นคือ AOT

  5. BDMS CPALL ก็น่าจะเรียกว่าอย่างนั้นได้

    หุ้นไทยมีหุ้นอย่างนั้นไม่ถึง 10 ตัวหรอก ที่จริงพอร์ตที่มีแต่หุ้นแบบนั้นอาจไม่ใช่พอร์ตที่ดี เพราะราคาหุ้นเหล่านี้มักจะแพงเกินไป เราอาจผสม หุ้น B+ ที่มีข้อเสียที่เราคิดว่าเขาน่าจะพัฒนาตัวเองได้ เข้าไปในพอร์ตด้วย จะดีกว่า เพราะหุ้นเหล่านี้ยังไม่แพงเกินไป และยังมีช่องว่างที่จะดีขึ้นได้อีกมาก

    1. พี่โจ๊ก ครับ แล้วเราจะดูยังไง ว่าหุ้นตัวไหน เกรดอะไร ครับ มีวิธีประเมินด้วยตัวเองรึเปล่า ???

  6. เอาจริงๆ ก็เป็นเรื่อง subjective ครับ แล้วแต่คนมอง

    แต่โดยทัวไป ก็ต้องเป็นธุรกิจที่มีกำแพงสูง และมีแนวโน้มอนาคตที่ดีพอสมควร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *