ยุคดอกเบี้ยต่ำ ใครได้ใครเสีย

เราอยู่ในโลกยุคที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก

เราอาจจะมองว่า เป็นเพราะธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะเฟด กดดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็เลยทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่จริงๆ แล้ว ต่อให้ไม่มีเฟด อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ก็ต่ำอยู่ดี

สาเหตุเป็นเพราะ ความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจในโลกยุคปัจจุบันมีน้อยลงมาก ธุรกิจสมัยใหม่มีลักษณะ capital intensive น้อยลง จากพวกโรงงานอุตสาหกรรม กลายเป็นธุรกิจที่พึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น

เศรษฐกิจโลกเองก็เผชิญกับวิกฤตต่อเนื่องเรื้อรัง ทำให้ดีมานด์ที่ผ่านมาไม่ดีเท่าที่ควร ความต้องการลงทุนก็มีน้อยลง ความต้องการสินเชื่อก็น้อยลงตาม มีแต่คนฝากเงิน แต่แบงก์หาที่ปล่อยสินเชื่อไม่ได้ เงินล้นแบงก์ ธนาคารก็ต้องให้ดอกเบี้ยผู้ฝากเงินน้อยลง

ในยุคที่ดอกเบี้ยต่ำ มันคือยุคที่ดีกับใครก็ตามที่มีโอกาสทางธุรกิจอยู่ในมือ มีช่องทางธุรกิจใหม่ๆ หรือมีช่องทางหาผลตอบแทน เพราะจะสามารถหาแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนการเงินต่ำๆ มาลงทุนได้ แต่แย่สำหรับคนที่ไม่รู้จะทำธุรกิจอะไร มีเงินก็ต้องเอาไปฝากแบงก์ ยอมรับดอกเบี้ยต่ำๆ เพราะยังไงก็ดีกว่าเอาเงินไปฝังตุ่ม

ยุคดอกเบี้ยต่ำเป็นยุคที่ดีสำหรับคนที่เป็นหนี้ เพราะภาระดอกเบี้ยน้อย การเป็นหนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป บางคนก็อาจเป็นหนี้เพราะว่าต้องมีบ้าน ต้องเรียนหนังสือ เป็นต้น ถ้าเรามีเรื่องพวกนี้ ก็กลับเป็นเรื่องดี เพราะเราจะได้เป็นฝ่ายที่ enjoy ดอกเบี้ยต่ำในยุคนี้ ตรงข้ามกับ คนที่เป็นเจ้าหนี้ เช่น คนที่มีเงินเก็บเยอะๆ แต่ไม่ค่อยมีช่องทางหารายได้ใหม่ๆ เช่น คนแก่ที่อยู่ได้ด้วยเงินเกษียณ เพราะต้องพึ่งดอกเบี้ยเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่ได้ดอกเบี้ยน้อยมาก ย่ิงถ้าหากเงินเฟ้อสูงด้วย ก็ยิ่งซวยซ้ำสอง เพราะดอกเบี้ยโตไม่ทันเงินเฟ้อ เงินต้นด้อยค่าลงทุกวัน รายได้ใหม่ที่ปรับตามเงินเฟ้อได้ก็ไม่มี

ถ้าเราดูจากดัชนีเงินเฟ้อของภาครัฐฯ จะเห็นว่ายุคนี้เงินไม่เฟ้อ ออกจะฝืดๆ มากกว่า แต่ถ้าเราสังเกตจากชีวิตประจำวัน จะเห็นว่าจริงๆ แล้วสินค้าบางอย่างราคาไม่เพิ่มขึ้นจริง แต่สินค้าหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าของคนเมือง ชนชั้นกลาง มนุษย์เงินเดือน กลับเป็นสินค้าที่แพงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งสิ้น เช่น บ้าน คอนโด รถยนต์ ร้านอาหารในห้าง จะมีก็แค่สินค้าไอทีแค่อย่างเดียวที่มีราคาถูกลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะสินค้าที่เป็นองค์ประกอบในการคำนวณดัชนีเงินเฟ้อเป็นรายการสินค้าเก่า ไม่ค่อยสะท้อนวิถีชีวิตที่แท้จริงของคนในยุคปัจจุบันเท่าไร พูดง่ายๆ ก็คือ ดัชนีเงินเฟ้อค่อนข้างหลอก และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเงินเฟ้อสมัยนี้เป็นเงินเฟ้อด้านสินทรัพย์ Asset Inflation มากกว่าที่จะเป็นเงินเฟ้อของสินค้าอุปโภคบริโภค

ดังนั้นถ้ายุคนี้ดอกเบี้ยต่ำ แต่ว่าเงินเฟ้อ “จริงๆ” สูง มันก็ช่างเป็นยุคที่ลงโทษเจ้าหนี้เสียจริงๆ กลายเป็นว่า คนฉลาดควรจะมีหนี้ อย่างตำราการเงินที่บอกว่าให้ออมเงินให้ได้เยอะๆ ก่อน แล้วค่อยเอาเงินสดไปซื้อรถ กลับกลายเป็นคำแนะนำที่ผิดในยุคนี้ เพราะดอกเบี้ยน้อยมาก แต่ราคารถเพิ่มขึ้นเร็วกว่า กลายเป็นว่าคนที่เลือกที่จะซื้อรถก่อน โดยการกู้แบงก์ กลับจะได้กำไรมากกว่า เพราะสามารถคว้ารถไว้ได้ในตอนที่ราคายังต่ำ คอนโดก็เป็นภาพแบบเดียวกัน คนที่กู้เงินซื้อคอนโดตั้งแต่เมื่อห้าปีก่อน ตอนนี้กำไรเพราะมูลค่าคอนโดเพิ่มขึ้นมาเป็นเท่าตัว ในขณะที่คนที่เลือกที่จะเก็บเงินก่อน ตอนนี้คงต้องเลือกแผนการซื้อคอนโดออกไปอีก เพราะราคาคอนโดหนีจากห้าปีก่อนขึ้นไปมาก เป็นต้น

ยุคปัจจุบันมันเอื้อต่อคนเป็นหนี้จริงๆ ยังไม่นับคนที่กู้เงินไปซื้อหุ้น แล้วได้กำไรจากหุ้น แม้แต่ธุรกิจเองก็นิยมกู้แบงก์ไปซื้อกิจการมาควบรวม เพราะทำให้ Wealth เพิ่มขึ้นได้เร็วกว่า เป็นการอาศัยประโยชน์จากยุคดอกเบี้ยต่ำ ในขณะที่บริษัทที่อนุรักษ์นิยมมากๆ จอดเงินไว้เฉยๆ ไม่กู้ ไม่ซื้อกิจการ เมื่อเวลาผ่านไปก็สร้าง Wealth ได้น้อยกว่า หรือแทบจะไม่ได้เลย เมื่อเทียบกับบริษัทแบบแรก นี่ก็เป็นตัวอย่างที่มีให้เห็นเยอะแยะมากมายในตลาดหุ้นยุคนี้

พอแค่นี้ดีกว่า เดี๋ยวจะมีดราม่าหาว่าผมสนับสนุนให้คนเป็นหนี้อีก เอาเป็นว่าที่เขียนให้อ่านก็แค่อยากชี้ให้เห็นอะไรบางอย่างตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันเท่านั้น

3 Replies to “ยุคดอกเบี้ยต่ำ ใครได้ใครเสีย”

  1. ขอบคุณมากครับพี่ วันนี้กำลังอ่านหนังสือ 85 ไอเดียลงทุนในตลาดหุ้น ได้ข้อคิดเยอะมากครับ

    สำหรับเรื่องหนี้ นักลงทุนรุ่นพี่สอนผมว่า ในช่วงที่กำลังเริ่มต้นสำสมเงิน ไม่ควรเอาเงินที่หาได้ไปจ่ายหนี้ก้อนใหญ่เช่น บ้าน รถ เพราะจะทำให้ความมั่งคั่งในอนาคตเราลดลง พี่มีคำแนะนำอย่างไรบ้างครับ

    1. ก็เห็นด้วยครับ แต่บ้านอาจจะเป็นข้อยกเว้นอยู่เหมือนกัน เพราะบ้านเป็นการบริโภคกึ่งการลงทุนครับ

  2. สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปมากทีเดียว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *