ตลาดหุ้นทั่วโลกตอบรับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในเดือนมีนาคมอย่างค่อนข้างเป็นบวก เป็นสัญญาณที่บ่งบอกอะไรได้หลายอย่าง
การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดส่งผลลบต่อสภาพคล่องในตลาดเกิดใหม่ (EM) แต่การที่ EM ตอบรับในเชิงบวก แสดงให้เห็นว่า ตลอดสองปีที่ผ่านมา ตลาดน่าจะได้เตรียมรับมือไปมากแล้ว ใครที่คิดว่าจะขายหนีดอกเบี้ยขาขึ้นน่าจะขายกันไปเยอะแล้ว พอเฟดขึ้นดอกเบี้ยตามคาด และให้ความเห็นที่ไม่สุดโต่งเกินไปในการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไป EM ก็ถึงกับปรับขึ้น ซึ่งก็น่าจะทำให้เราสบายใจมากขึ้นว่าดอกเบี้ยเฟดขาขึ้นหนนี้ ไม่น่าจะกระทบกับ EM อย่างรุนแรง
อันที่จริง ณ เวลานี้ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในตลาดที่พัฒนาแล้ว (DM) ล้วนแล้วแต่ติดลบทั้งสิ้น เพราะเงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้น แต่ DM ยังขึ้นดอกเบี้ยตามไม่ทัน ในขณะที่ตลาด EM ส่วนใหญ่ยังมีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวกอยู่ ดังนั้นเงินทุนจึงน่าจะยังอยากอยู่ใน EM ต่อไปอีกระยะ เพื่อ enjoy ดอกเบี้ยที่สูงกว่า และถึงแม้ว่าเฟดจะหยุดทำ QE เพิ่มไปแล้ว แต่ทั้ง EU และ JP ก็ยังทำอยู่ และในปริมาณที่มากไม่แพ้กับเฟดด้วย ดังนั้นในระยะสั้นๆ ข้างหน้านี้ สภาพคล่องในตลาดเงินทั้วโลกก็ยังไม่น่าจะตึงตัว
เศรษฐกิจสหรัฐที่ดีขึ้นมาก ยังส่งผลบวกกับภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของ EM อีกต่างหาก เพราะเงินดอลล่าร์ที่แข็งขึ้น จะสร้างกำลังซื้อสินค้าส่งออกให้ตลาด EM ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออก ดังนั้นตราบใดที่เฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรงจนเกินไปจนไปทำให้เศรษฐกิจสหรัฐสะดุด (ซึ่งเฟดก็ไม่ต้องการทำแบบนั้นอยู่แล้ว) สภาวะเช่นนี้จึงน่าจะเป็นสภาวะที่เอื้อหนุนตลาด EM อยู่พอสมควรเลย
ปัจจัยเสี่ยงของโลกมีอยู่เยอะ การก่อการร้าย ปัญหาหนี้ในจีน หรืออนาคตของกลุ่มยูโร เดายากว่ามันจะปะทุขึ้นมาอีกเมื่อไร แต่ที่ผ่านมา เมื่อปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้โผล่ขึ้นมา ตลาดก็มักจะลงแล้วกลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว เหมือนเริ่มจะชาชินกับปัญหาเหล่านี้ไปแล้ว ปัจจัยที่ผมมองว่าน่าจะมีความสำคัญมากกว่าน่าจะเป็นสุขภาพของเศรษฐกิจสหรัฐ ว่าขยายตัวต่อเนื่องตามที่ตลาดคาดหวังหรือไม่ และนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ที่หาเสียงไว้จะทำได้จริงหรือไม่ ตลาดสหรัฐเองขึ้นมารอมาตรการภาษีของทรัมป์นานแล้ว ดังนั้นถ้าหากสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นไปตามที่คิด ภาพดีๆ ทั้งหมดก็อาจเปลี่ยนไปเลย
หันมามองประเทศไทย ฐานะการเงินการคลังของเราค่อนข้างดีกว่า EM อื่นๆ ภาคธุรกิจของเราก็ไม่ได้มีหนี้ต่างประเทศมาก สภาพคล่องในประเทศก็เหลือล้น และยังมีกองทุนที่มีกำลังซื้อหุ้นมากกว่าวิกฤตรอบก่อนๆ มาก พีอีตลาดถือว่ากลางๆ PB ถือว่าต่ำ เงินปันผลราว 3% ถือว่าสูง ถึงแม้ว่าการเติบโตของกำไรของบจ.ปีนี้ไม่ได้โดดเด่นมาก Upside อาจไม่หวือหวา แต่ดูแล้ว ก็ไม่มีเรื่องที่น่ากังวล เราน่าจะรับมือกับแรงกระแทก (ถ้ามี) หรือ Downside ได้ค่อนข้างดี
ดูแล้วยังไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วงเท่าไร อย่างน้อยใน short-term นี้ ตลาดหุ้นไทยก็น่าจะยังพอเอาตัวรอดได้