การวิเคราะห์แนวปัจจัยพื้นฐาน ต้องใช้เวลานานมาก กว่าสิ่งที่เรามองไว้จะสะท้อนออกมาให้เห็นในผลประกอบการ ดังนั้นจึงไม่สามารถคาดหวังผลลัพธ์ในรูปแบบของราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นในช่วงสั้นๆ ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลที่ซื้อหุ้นแนวพื้นฐานแล้วหวังว่าราคาหุ้นจะวิ่งขึ้นทันทีในวันต่อมา
ตรงกันข้าม ซื้อหุ้นแนวพื้นฐานแล้วโอกาสที่หุ้นจะขึ้นเลยมีน้อยมาก บ่อยครั้งซื้อแล้วหุ้นลงด้วยซ้ำ จงเตือนตัวเองบ่อยๆ ว่า ผลตอบแทน 1 วัน กับผลตอบแทนในอีก 1 ปี ไม่มีความสัมพันธ์กัน เช่น หุ้นที่ซื้อแล้วพรุ่งนี้เขียว อีก 1 ปีอาจจะติดลบก็ได้ และหุ้นที่ซื้อแล้วพรุ่งนี้แดง อีกหนึ่งปีก็อาจจะเขียวหนักๆ เลยก็ได้
ดังนั้น เมื่อซื้อหุ้นระยะยาวอะไรก็ตาม ทางที่ดี ควรจะปิดหน้าจอ เลิกสนใจไปเลย และอย่าไปฟังเสียงนกเสียงกาให้มาก เอาไว้สัก 6 เดือน หรือหนึ่งปี ค่อยมาเปิดดู เพราะการซื้อไปแล้วก็มานั่งตามดูราคามันทุกวัน เราจะอดใจไม่ได้ที่จะตัดสินผลงานจากผลตอบแทนระยะสั้น ถ้าเขียวเลย ก็อาจขายทิ้ง เพราะมือบอน สุดท้ายขายหมู หรือถ้าแดงเลย ก็อาจจิตตก ขายตัดขาดทุนทันที มาพบเอาอีกหนึ่งปีให้หลังว่า จริงๆ แล้วตัวเองคิดดู กลายเป็น “รู้งี้” ไปอีก
มองยาว ก็ต้องวัดผลระยะยาว ถึงจะถูกต้อง
นอกจากนี้การบริหารเงินหน้าตักที่ซับซ้อนเกินไป เช่น แบ่งเงินซื้อออกเป็นสองก้อน ซื้อทีละก้อน ถ้าลงต่อค่อยซื้อเพิ่มได้อีกก้อนหนึ่ง อะไรทำนองนี้ ดูเหมือนจะดี แต่ทำให้เราต้องพะวง และต้องคอยมานั่งตามหุ้นที่เราซื้อไปแล้วว่าราคาลงไปขนาดไหนแล้ว ควรซื้อเพิ่มหรือยังเป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคของการลงทุน รอคอยให้มากพอ คิดให้รอบคอบ แล้วซื้อตูมเดียวจบ จะดีกว่า ระหว่างทางมันจะลง จะขึ้น ไม่ต้องสนใจ อย่าไปคิดว่าเราจะต้องซื้อตรงก้นเหวให้ได้พอดี เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ อย่าไปเสียเวลากับเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าจะพยายาม หันไปพยายามในเป้าหมายที่เป็นไปได้ดีกว่า ซื้อแล้วก็อาจลงต่อก็ได้ แต่ถ้าเรารอมามากพอ ซื้อได้ในราคาที่สมเหตุสมผลแล้ว ก็ปล่อยมันเถอะ ไม่ต้องเล็งจะซื้อให้ได้ถูกที่สุดหรอก บริหารเงินด้วยวิธีที่ธรรมดาๆ เข้าไว้ดีกว่า
ขอบคุณแง่คิดที่เป็นประโยชน์ครับผม