สำหรับคนเล่นหุ้นทั่วๆ ไป อันที่จริง การซื้อหุ้นในมูลค่าหุ้นที่เหมาะสมอาจไม่ใช่เรื่องที่มีประโยชน์เลยด้วยซ้ำ เพราะคนเล่นหุ้นทั่วไป ต่อให้เป็นคนที่คิดว่าตัวเองลงทุนแนววีไอ หรือแนวปัจจัยพื้นฐานก็ตาม อาจถือหุ้นครั้งละไม่นานนัก เช่น 3 เดือน หนึ่งปี หรืออย่างมากก็สามปี เป็นต้น
ในช่วงเวลาที่สั้นขนาดนั้น ราคาหุ้นมักยังไม่ได้วิ่งตามผลกำไร แต่ขึ้นลงตามภาวะตลาดเสียมากกว่า เรียกได้ว่า ภาวะตลาดแทบจะกลบผลของปัจจัยพื้นฐานหุ้นไปเลย เราจึงแทบไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการที่พยายามซื้อหุ้นในราคาไม่เกินพื้นฐาน เสียเวลาเปล่า การถือหุ้นไม่ยาวพอที่จะใช้ประโยชน์จากปัจจัยพื้นฐาน ก็เหมือนใช้เครื่องมือไม่ตรงกับงาน บางทีการเป็นนักเก็งกำไรไปเลย กลับจะดีกว่า นักเก็งกำไรสนใจแค่มองให้ออกว่า หุ้นกำลังเป็นขาขึ้นหรือขาลง โดยไม่ต้องสนใจว่าถูกหรือแพง ถ้ายังเป็นขาขึ้นก็คือซื้อได้ ขาลงต้องขายทิ้ง กลับกลายเป็นวิธีการที่สมเหตุสมผลกับระยะเวลาลงทุนที่ไม่ยาวมากกว่าการมองปัจจัยพื้นฐาน
แต่ถ้าใครคิดจะเป็นนักลงทุนระยะยาวจริงๆ เช่น ซื้อหุ้นคิดจะถือตลอดไป ไม่มีแผนที่จะขายเลย (ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ) แบบนี้พื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญมาก ราคาที่เข้าซื้อเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะถ้ามันต่ำพอเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐาน ต่อให้ระยะสั้นราคาจะผันผวนขนาดไหน สุดท้ายแล้ว หากถือต่อไปเรื่อยๆ ย่อมมีโอกาสได้กำไร เพราะการถือหุ้น ยิ่งนานเท่าไร ราคาหุ้นกับกำไรย่อมสอดคล้องกันมากเท่านั้น
แต่ก็อีกนั่นแหละ การจะหาว่าราคาเข้าซื้อที่เหมาะสมของหุ้นแต่ละตัวเป็นเท่าไร ไม่ใช่เรื่องง่าย มีทฤษฎีมากมายที่ใช้วัดราคาหุ้นได้ แต่ยิ่งมีเยอะก็ยิ่งทำให้ยิ่งสับสน อีกทั้งหุ้นยังเป็นสิ่งที่มีราคาขึ้นกับอนาคตเยอะ ทำให้มูลค่าที่แท้จริงของมันไม่แน่นอน แต่เป็น probability มากกว่า ความคิดที่เชื่อว่ามีสิ่งที่เรียกว่า มูลค่าที่แท้จริงของหุ้น ที่สามารถบอกออกมาได้เป็น x บาทต่อหุ้น นั้นเป็นความคิดที่ผิด เหมือนในวิชาฟิสิกส์ที่บอกว่า โปรตอนที่ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่แน่นอนได้ บอกได้แค่ความน่าจะเป็น (ความไม่แน่นอนของโชดิงเจอร์) ยังไงอย่างนั้น การตีมูลค่าหุ้นเป็นเหมือนศิลปะมากกว่าวิทยาศาสตร์
ไม่ใช่แค่นั้น มูลค่าที่แท้จริงยังเป็นเรื่องส่วนบุคคลด้วย เพราะขึ้นอยู่กับมุมมองเกี่ยวกับอนาคตของหุ้นตัวนั้น มุมมองดีร้ายต่างกัน ย่อมทำให้สมมติฐานเกี่ยวกับอนาคตของหุ้นตัวนั้น เช่น อัตราการเติบโตในอนาคต ของแต่ละคน ต่างกันด้วย ซึ่งย่อมทำให้มูลค่าหุ้นที่เหมาะสมของแต่ละคนไม่เท่ากัน เป็นเรื่องปัจเจกแท้ๆ ไม่มีมูลค่าหุ้นแท้จริงที่เป็นสากล
เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องคำนวณหามูลค่าหุ้นอย่างละเอียด ใส่สูตรเอ็กเซลเป็นหน้าๆ ตรงกันข้าม เราแค่ต้องการวิธีประมาณมูลค่าที่ไม่ยุ่งยากมากนัก แต่ใช้งานได้ดีในทางปฏิบัติมากกว่า
สำหรับการลงทุนระยะยาว ซึ่งอย่างที่ได้อธิบายไปแล้วว่า ควรสนใจซื้อแต่หุ้นที่พื้นฐานแข็งแรงและมีอนาคตดีเท่านั้น ในกรณีนี้ P/E เป็นเครื่องมือดีพอที่จะใช้การได้เป็นส่วนใหญ่แล้ว เพราะบริษัทที่พื้นฐานแข็งแรงควรจะมีกำไรไม่ผันผวนสูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะยาว ดูแล้วไม่ซับซ้อน P/E จึงเพียงพอแล้ว
การใช้ P/E ควรคิดจากกำไรปกติของบริษัทเท่านั้นและ P/E ที่เหมาะสมควรจะสูงต่ำตามโอกาสในการเติบโตที่เป็นไปได้ในอนาคตด้วย การมีความคิดที่ว่า P/E ควรต่ำกว่า X เท่า โดยไม่สนใจว่าบริษัทนั้นจะเติบโตได้มากหรือน้อยในอนาคต เป็นการใช้พีอีที่หยาบเกินไป เหมือนไม่ให้คุณค่ากับความขยันขันแข็งของผู้บริหารที่จะสร้างการเติบโตในกับธุรกิจเลย ยังไงผมก็ชอบผู้บริหารที่กระตือรือร้นมากกว่าคนที่เช้าชามเย็นชาม (ความเห็นส่วนตัว)
อย่างไรก็ตาม มีการพิสูจน์มาแล้วว่า P/E ที่เหมาะสมของทุกตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเติบโตมากหรือน้อย คือประมาณ 15 เท่า ดังนั้นถ้าหากเป็นบริษัทที่พื้นฐานแข็งแรง สมมติว่าเราคิดว่าบริษัทนี้คงไม่โตแล้ว (โตได้ไม่เกินเงินเฟ้อในอนาคต) P/E 15 เท่า ก็ถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสม แต่ถ้าหากคิดว่าน่าจะเติบโตได้มากกว่าเงินเฟ้อหรืออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจด้วย P/E ที่เหมาะสมก็อาจสูงกว่า 15 เท่าได้ อย่างไรก็ดี ธุรกิจส่วนใหญ่มักเติบโตเกิน 20% ติดต่อกันนานๆ ได้ยากมากๆ ปีเตอร์ลินซ์จึงบอกว่า พยายามอย่าซื้อหุ้นที่พีอีเกิน 20 เท่า เพราะถึงแม้อาจมีบริษัทที่โตได้มากขนาดนั้นจริงๆ แต่ความน่าจะเป็นที่เราจะเจอมีน้อย ได้ไม่คุ้มเสียที่จะ bet ด้วยราคาที่แพงขนาดนั้น
นอกจากนั้นควรคิดถึง margin of safety ด้วย คือถ้าเป็นไปได้ก็ควรซื้อให้ต่ำกว่า fair value ยิ่งซื้อได้ต่ำกว่าเท่าไร ก็ยิ่งปลอดภัย และทำให้ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดเยอะขึ้น้ด้วย แต่ก็นั่นแหละ ยิ่งต่อราคามาก โอกาสที่จะไม่ได้ซื้อก็มีมาก ต้องเป็นนักรอคอยที่อดทนมากกว่าคนอื่น ซึ่งการรอก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับนักลงทุน และยังต้องเสี่ยงกับการที่เงินอาจไม่ได้ทำงานให้เราเป็นเวลานานๆ อีกด้วย ควรมี margin of safety มากขนาดไหนขึ้นอยู่กับ risk preference ของแต่ละคน แต่ละคนอดทนรอได้ไม่เก่งเท่ากัน และถ้าต่อราคามากเกินไป ทั้งชีวิตอาจไม่ได้ซื้อเลยก็ได้ ก็ต้องไปชั่งใจกันเอาเอง บางคนขี้เกียจรอ เจอหุ้นชั้นดี พีอี 15 เท่า ก็ซื้อเลย แต่บางคนก็ยินดีที่จะเสี่ยงรอให้ราคาต่ำกว่านั้น เพื่อหวังให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นไปอีก ก็แล้วแต่คน
บางคนบ้าต่อราคาหุ้นมาก ก็เป็นกับดักอีกแบบหนึ่งได้เหมือนกัน เพราะนอกจากจะทำให้พลาดเวลาที่จะได้ลงทุนนานๆ แล้ว บ่อยครั้งยังทำให้เรามีแนวโน้มที่จะเห็นแก่ของถูก ซื้อหุ้นที่พื้นฐานไม่ดี เพียงเพราะว่ามันราคาต่ำมาก เราควรตั้งคำถามด้วยเหมือนกันว่า ถ้าธุรกิจมันดีจริงๆ แล้วราคาหุ้นมันลงไปต่ำมากขนาดนั้นได้ยังไง วอเรน บัฟเฟตต์เองตอนหลังก็ยังออกมาบอกว่า เขาชอบหุ้นดีราคากลางๆ มากกว่าหุ้นถูกที่พื้นฐานไม่ดีเสียอีก
สรุปแล้ว สำหรับนักลงทุนระยะยาว ควรให้ความสำคัญกับคุณภาพของธุรกิจก่อน และซื้อหุ้นเหล่านั้นในราคาที่สมเหตุผล ไม่แพงเกินไป แทนที่จะมุ่งหาหุ้นที่ราคาถูกมากๆ (หุ้นพวกนั้นอาจจะดีในระยะสั้นก็ได้ แต่การถือไว้ยาวๆ กลับไม่ดี) ควรให้ความสำคัญกับการมีวินัยในการลงทุน ถือหุ้นดีราคาสมเหตุผลให้ได้นานที่สุด เพื่อให้มันแสดงศักยภาพของมันออกมา