มีแนวคิดหนึ่งบอกว่า ค่าเฉลี่ยพีอีระยะยาวของตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก อยู่ที่ประมาณ 15 เท่า ทั้งสิ้น ที่สำคัญ ไม่เกี่ยวกับว่าตลาดนั้นจะเติบโตมากแค่ไหนด้วย เป็นไปได้ว่า 15 เท่า หรือเทียบได้กับ earnings yield 6.7% เป็นผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงของตราสารทุน
ถ้าเราจะเอาแนวคิดนี้มาใช้เป็นตัวชี้วัดความถูกแพงของหุ้น เช่น ถ้าพีอีตลาดสูงกว่า 15 ก็คือ หุ้นโดยรวมยังแพงเกินไป นักลงทุนระยะยาวควรอยู่เฉยๆ แต่เมื่อไรก็ตามที่พีอีต่ำกว่า 15 ถือว่าตลาดหุ้นน่าซื้อ นักลงทุนระยะยาวควรลงทุนให้เต็มพอร์ตไปเลย แบบนี้จะดีมั้ย
โดยส่วนตัว ผมชอบเกณฑ์อันนี้อยู่พอสมควรเลย ข้อดีมากๆ คือ แทนที่เราจะคอยมาเก็งว่าตลาดหุ้นจะลงไปต่ำสุดแค่ไหน เราใช้เกณฑ์นี้ไปเลย ถ้าพีอีตลาดต่ำกว่า 15 ก็ลงทุน ไม่ต้องไปรอ วิธีนี้ช่วยสร้างวินัยในการลงทุนได้ดีเลย
แต่วิธีนี้ก็มีข้อที่ควรพิจารณาหลายอย่าง ในอดีตที่ผ่านมา ไม่ใช่ว่าเมื่อตลาดหุ้นลงไปแตะ 15 เท่าแล้วลงทุน แล้วปีต่อมามันจะเพิ่มขึ้น แล้วเราก็ได้กำไรเลย แต่ตลาดอาจะแตะ 15 แล้วลงไปลึกกว่า แล้วก็ต่ำอยู่อย่างนั้น เช่น เหลือแค่ 10 เท่า อยู่นานหลายปี เช่น 4-5 ปี ก่อนที่จะทะลุ 15 เท่าอีกที นักลงทุนที่เห็นลงไปแตะ 15 ก็เข้าลงทุนเลย ก็ต้องทำใจว่า อาจจะต้องติดดอย เพราะตลาดหุ้นลงต่อไปเหลือแค่ 10 เท่า อีกหลายปี กว่าจะกลับตัวขึ้นไปใหม่ได้ แบบนี้เป็นต้น นักลงทุนเตรียมใจหรือยังที่จะเจอสภาพแบบนั้น
ปัญหาอีกอย่างคือคำว่า พีอี นั้นคือคำนวณมายังไง เช่น เป็นพีอีปัจจุบัน หรืออนาคต หรือปีหน้า หรือเฉลี่ยสิบสองเดือน บ่อยครั้งพีอีอาจลงไปแตะ 15 เท่า ชั่วคราว เพราะกำไรตลาดมีความผันผวนระยะสั้น เราจะถือว่านั้นคือพีอีของกำไรปกติได้หรือไม่ แบบนี้เป็นต้น ถึงเวลาจริงๆ นิยามที่ดิ้นได้ของพีอีอาจทำให้เราลังเลที่จะซื้อ
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเรายอมรับได้ว่าเราอาจจะซื้อจุดต่ำสุดไม่ได้ และยอมรับนิยามที่ดิ้นได้ของพีอี การยึดถือเกณฑ์ทำนองนี้ก็เป็นเรื่องที่ควรกระทำสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่จะรักษาวินัยการลงทุน หาเกณฑ์อะไรก็ดีที่มีความชัดเจนพอประมาณ แม้จะไปสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ดีกว่าไม่มีหลักยึดอะไรเลย ใช้แต่ความรู้สึก สุดท้ายแล้ว สิ่งที่สำคัญเหนืออื่นใดคือความแน่วแน่ที่จะลงทุนไปในระยะยาว เพื่อให้ time value of money ได้แสดงศักยภาพของมันออกมา