ย้อนอดีตที่ผ่านมา ได้ข้อคิดอะไรหลายอย่าง
ตลาดหุ้นไทยนี่กับระเบิดเยอะจริงๆ ขนาดพอร์ตนี้เลือกที่จะไม่ลงทุนในหุ้นตัวใหญ่มากๆ อย่างหุ้นพลังงาน หรือหุ้นธนาคารเลย ซึ่งก็ช่วยทำให้พอร์ตนี้สามารถหลบราคาน้ำมันตกต่ำ และปัญหาหนี้เสียในภาคธนาคารไปได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะรอด สุดท้ายการท่องเที่ยวก็มาโดนโควิดอยู่ดี คือเรียกว่าไม่รู้ว่าจะหลบไปไหนแล้ว กับระเบิดมันเยอะจริงๆ
เมื่อห้าปีที่แล้ว ผมมองว่า หุ้นไทยไม่น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีเท่ากับห้าปีแรกสุดของการลงทุน เพราะห้าปีแรก ตลาดหุ้นไทยสร้างผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวของการลงทุนในหุ้นไปมาก ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ แนวคิดเรื่อง Regress to the means เป็นแนวคิดที่ใช้ได้
ถ้าให้มองต่อไปอีกห้าปี ซึ่งก็คือโค้งสุดท้ายของพอร์ตนี้ ผมก็มองว่าหุ้นไทยไม่น่าจะดีอีกเช่นเดียวกัน คิดว่าน่าจะแย่พอๆ กับห้าปีที่ผ่านมา หรืออาจจะแย่กว่านิดหน่อย ผมมองว่า ประเทศไทยขาดเสน่ห์ในความน่าลงทุนในโลกยุคปัจจุบัน บริษัทในตลาดเต็มไปด้วยบริษัทที่แก่ตัว แบบรอว่าจะโดน disrupt เมื่อไหร่ มากกว่าที่จะมีโอกาสได้ไป disrupt คนอื่น ลองสมมติว่าตัวเองเป็นคนต่างชาติแล้วมองหุ้นทั้งโลก ผมคิดว่าผมน่าจะไม่ได้เลือกลงทุนที่ไทยเลย เพราะไทยดูเป็นประเทศ middle income trap ไม่น่าลงทุน
ปัญหาอีกอย่างของไทยคือ โลกดิจิตอลมันเข้าทางบริษัทด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ซึ่งมันเป็นบริษัทระดับโลก ทำให้เศรษฐกิจของเรามีแนวโน้มจะโดนยึดครองโดยบริษัทต่างชาติ ซึ่งก็พบว่าหลายอุตสาหกรรมตอนนี้ โดนบริษัทต่างชาติยึดไปหมดแล้ว ทั้งเฟซบุ้ก กูเกิล เน็ตฟลิตซ์ ลาซาด้า และ GRAB ไม่มีบริษัทไหนเป็นของไทยเลย ที่น่าหงุดหงิดยิ่งกว่าคือ เราเหมือนจะยังไม่รู้ตัวว่าโดนยึดครอง หรือว่ารู้ตัวแต่ปราศจากแรงจูงใจทางการเมืองที่จะทำอะไร แถมยังไปเชิญเขามาอีก แถมเงิน (tax incentive) ให้อีกต่างหาก อย่างในกรณีที่เราไปเชิญอาลีบาบามาถล่ม SME บ้านเรา ภูมิใจกันใหญ่ที่เขาซื้อทุเรียนเราไป 80 ล้านบาท (แต่มาตั้ง logistic warehouse เอาสินค้าจีนมาถล่มเรามูลค่านับหมื่นล้าน) เพราะว่าเรามี mindset แบบเดิมว่า ถ้าต่างชาติมาลงทุนซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ต้องเป็นเรื่องดี ในขณะที่โลกทุกวันนี้มันเปลี่ยนเกมไปเป็นดิจิตอลหมดแล้ว
อีกอย่างที่น่าห่วงมากคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศ ซึ่งเยอะและไม่ลดลงเสียที ปัญหานี้ทำให้กำลังซื้อในประเทศมีปัญหา คนที่มีหนี้ล้นอยู่จะไม่ใช้จ่าย ฉุดเศรษฐกิจ ทำให้ธุรกิจที่ไม่ได้มีปัญหากลายเป็นมีปัญหาตามไปด้วย คนเป็น NPL ก็จะเพิ่มขึ้นอีก แบงก์ก็จะยิ่งไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ ทำให้เศรษฐกิจยิ่งแย่ลงไปอีก วนไปเรื่อยๆ เป็นงูกินหาง ซึ่งผมมองว่า ที่ผ่านมา เรา passive กับปัญหานี้มากเกินไป ถ้าห้าปีก่อน รัฐหาวิธีเข้าไปจัดการแก้หนี้เสียในระบบอย่างจริงๆ จังๆ ทุกอย่างน่าจะดีกว่านี้ แต่รัฐก็ไม่ได้ทำ ปล่อยไปตามยัติถากรรม ถ้าจะกลับมาแก้ไขตอนนี้ก็ไม่รู้จะทันมั้ย เพราะธนาคารเองช่วงนี้ก็แบกหนี้เสียจากโควิดอีก ทำให้อาการหนักกว่าเดิม ตราบใดที่ไม่มีการแก้ปัญหานี้อย่างจริงๆ จังๆ เศรษฐกิจจะไม่มีทางโงหัวขึ้น เพราะเหมือนคนไข้ที่มีเนื้อร้าย (NPL) อยู่ในระบบ แต่ไม่ยอมผ่าตัด จะให้กินอาหารดียังไง (แจกเงิน) ก็ไม่หาย
นอกจากเศรษฐกิจที่ไม่สดใสแล้ว ประเทศไทยยังมีความเปราะบางด้านสังคมและการเมืองสูงมาก ปัญหาเศรษฐกิจที่ยิ่งเร่งให้เกิดความวุ่นวายทางสังคมและการเมืองมากขึ้นอีก นับเป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งของประเทศไทยในเวลานี้ ยังไม่นับปัญหา aging society เรียกว่ามองไปข้างหน้า ปัญหารุมเร้าเยอะมากจริงๆ ยังหาไม่เจอปัจจัยที่ดีเลย
ผมยอมรับว่าผมมองประเทศไทยค่อนข้างแย่ แต่ก็ไม่ต้องตกใจครับ ถ้าใครยังเชื่อมั่นใน EEC อยู่ว่าจะกลับมาพลิกฟื้นประเทศไทย ก็ไม่จำเป็นต้องมองร้ายเหมือนผม จะว่าไป EEC อาจเป็นความหวังเดียวที่ยังเหลืออยู่ของประเทศไทย แต่โดยส่วนตัว ผมไม่เชื่อว่า EEC จะพลิกเกมได้ เพราะสิ่งที่ EEC ทำเป็นสิ่งที่โลกเคยต้องการเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่ไม่ได้ตอบโจทย์โลกสมัยนี้แล้ว (ความเห็นส่วนตัว อย่าเชื่อมากครับ)
ผมอาจมองเศรษฐกิจไทยค่อนข้างแย่ แต่ตลาดหุ้นไทยผมคิดว่าอาจจะไม่ได้แย่มากเท่า เพราะผมมองว่าปัญหาเงินล้นแบงก์น่าจะยิ่งหนักกว่าเดิม เพราะโอกาสในการลงทุนของคนรวยมีน้อยลง ดอกเบี้ยที่ต่ำอยู่แล้วดูแล้วก็น่าจะต่ำลงไปอีก อาจเห็นดอกเบี้ย 0 หรือ QE ของประเทศไทยในอนาคตก็ได้ ดังนั้นความต้องการของคนไทยที่จะขนเงินมาลงตลาดหุ้นยังมีอีกเยอะมาก ซึ่งจะช่วยหักล้างกับเงินทุนต่างชาติที่หายไปเรื่อยๆ ได้พอสมควร อาจเป็นเหตุผลเดียวด้วยซ้ำที่ผมยังลงทุนในหุ้นไทยอยู่
ปกติแล้ว ตราบใดที่เรายังมองตลาดหุ้นในแง่ดี หมายถึงตลาดที่ต่อให้ผันผวนในระยะสั้นขนาดไหน ก็ยังจะกลับมาสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้อีกในอนาคต การลงทุนแบบ DCA จะยังเป็นทางเลือกที่ดีอยู่เสมอ แต่พอเราไม่ได้มองอนาคตดี อันนี้การลงทุนแบบ DCA ก็อาจไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่ ทางเลือกอื่นในสถานการณ์แบบนี้คือการเปลี่ยนไปลงทุนต่างประเทศแทน หรือไม่ก็ต้องลงทุนแบบ bottom up เป็นหลัก มองหุ้นเป็นตัวๆ ขุดข้อมูลรายตัวหุ้นให้ลึกๆ หาเพชรในกองขี้ให้เจอ ซึ่งก็อาจจะเป็นเจอหุ้นซิ๊ง หุ้นปั่น หุ้น fraud แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่จะต้องแบกรับเพิ่มเพื่อแลกกับผลตอบแทนคาดหวังในระดับสูงเป็นธรรมดา
แต่เอาเถอะ พอร์ตนี้ผมตั้งใจไว้แล้วว่าจะลงทุนให้ครบ 15 ปี the show must go on. ก็ถือว่าเป็นความท้าทายแบบใหม่ก็แล้วกันว่า ถ้าหากเรามองสถานการณ์ไม่ดี แล้วจะเราจัดพอร์ตแบบไหน เพื่อให้พอร์ตออกมาดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยนี้
ทั้งหมดคือมุมมองภาพรวมตลาดที่ผมมองอยู่ในช่วงที่ผ่านมา ทีนี้ก็เหลือแค่ว่าจะเลือกหุ้นเข้าพอร์ตยังไงดี ตอนนี้ผมได้รายชื่อหุ้นใหม่ในพอร์ตเรียบร้อยแล้ว เอาไว้โพสต์น่าเรามาคุยกันต่อว่าแต่ละตัวมาด้วยเหตุผลยังไง