รีวิวพอร์ต 7LTG ประจำปี

BDMS 

ตัวนี้เป็นดาวค้างฟ้าไปแล้ว เมืองไทยเหมาะจะเป็น Medical Hub จริงๆ และหุ้นตัวนี้ก็เป็นผู้นำของอุตสาหกรรมนี้เสียด้วย

การเติบโตที่ผ่านมาใช้วิธี M&A ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผล เพราะบริษัทออกหุ้นกู้ดอกเบี้ยไม่สูง แต่เอามาซื้อธุรกิจนี้มีผลตอบแทนสูงกว่าเช่นโรงพยาบาลเอกชน แถมเอาโนฮาวที่มีอยู่แล้วมาช่วยปรับปรุงโรงพยาบาลที่ซื้อมาให้ดีขึ้นไปอีก เพื่อเพิ่มมูลค่า

แม้ว่าตอนนี้ M&A จะสร้างการเติบโตได้น้อยลง เพราะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ๆ แทบไม่เหลือให้ควบรวมแล้ว แต่ผมก็ยังเชื่อว่าบริษัทนี้ยังโตได้ระยะยาว เพราะคนแก่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะกลายมาเป็น organic growth ให้กับโรงพยาบาลที่ซื้อมาแล้ว จึงน่าจะยังลงทุนต่อไปได้ แม้ว่าราคาหุ้นจะแพง แต่ต้นทุนของพอร์ตนี้ไม่ได้สูง

ประเด็นเรื่องราคาแพง เอาเข้าจริงๆ แล้ว ยังไม่น่ากลัวเท่าไร บ้านเราดูจะมีนโยบายเอื้อภาคธุรกิจ ดูอย่างไฮเปอร์มาร์เก็ตก็เห็นเปิดเต็มเมืองไปหมด มีคนโวยวายทีไร สักพักก็จะเงียบหายไปทุกที 

MINT 

ทุกวันนี้ MINT แข็งแรงยิ่งกว่าเดิมเสียอีก เพราะนโยบายเพิ่มรายได้นอกประเทศเมื่อห้าปีที่แล้วเริ่มส่งผล ทำให้ปัจจุบันมีรายได้นอกไทยแล้ว 40% เวลาท่องเที่ยวไทยมีปัญหา จึงไม่กระทบมากเท่าสมัยก่อน บริษัทยังพยายามสร้างแบรนด์ของตัวเอง ทำให้ไม่ต้องเสียค่ารอยัลตี้ให้คนอื่นอีกด้วย จนล่าสุดก็คืน Four Seasons ที่ราชดำริไปแล้วหันมาใช้ชื่อ Anantara แทน แม้ว่ารายได้จากการรับบริหารโรงแรมจะยังไม่เยอะเท่าที่วางแผนไว้ (กลยุทธ์ Asset Light) แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนนี้ยังต้องอาศัยเวลา

ชอบบริษัทนี้มากที่มีการวางแผนระยะยาวเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจอยู่เสมอ ไม่ใช่แค่ขยายไปเรื่อยๆ และที่ผ่านมาสิ่งที่พยายามทำ ก็ส่งผลได้จริง

บริษัทเติบโตด้วย M&A เช่นกัน และน่าจะยังโตด้วยวิธีนี้ต่อไปได้อีก บริษัทไม่ได้ซื้อกิจการสุ่มสี่สุ่มห้า เพราะไม่งั้นป่านนี้บริษัทคงจะแย่ไปนานแล้ว นับเป็นอีกบริษัทไทยที่จะก้าวไปสู่ความเป็น ระดับโลกได้อย่างสมบูรณ์แบบในอนาคตด้วย ดูแล้วน่าจะลงทุนต่อไปได้

ส่วนที่อาจเป็นห่วงอยู่บ้างคือธุรกิจอาหาร เพราะ Fast Food ไม่ใช่เทรนด์สมัยใหม่ ผู้บริโภคเริ่มชอบอาหารเอเชีย หรือร้านอาหารที่มีเอกลักษณ์มากกว่าอาหารเชน แต่ประเด็นนี้ก็ยังไม่ได้ถือว่าน่าเป็นห่วงเท่าไร ต้องจับตาดูต่อไปเรื่อยๆ

CPN

ไม่ต้องสงสัยว่าพื้นฐานแข็งแกร่งแน่นอน ทุกวันนี้ห้างเซ็นทรัลแทบจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยแทนวัดไปแล้ว การเป็นผู้ให้เช่าพื้นที่ยังทำให้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยระยะสั้นไม่มากนักอีกด้วย

แต่สิ่งที่ห่วงคือการเติบโต เพราะพื้นที่ผืนใหญ่ๆ ใจกลางกรุงเทพเริ่มหายากแล้ว ในขณะที่การเปิดสาขาต่างจังหวัดก็ไม่ใหญ่พอที่จะสร้างการเติบโตแบบมีนัยสำคัญได้ โอกาสน่าจะเหลืออยู่บริเวณรอบๆ เมืองกรุงเทพ ซึ่งเมืองขยายออกไป และหาที่ดินผืนใหญ่ได้ง่ายกว่า ส่วนการไปเปิดในต่างประเทศนั้น ที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่าไม่ง่าย รายได้ของบริษัทในอนาคตจึงอาจจะเติบโตได้เพียงแค่หลักเดียวเท่านั้น ต้องอาศัยการขายห้างเข้ากองอสังหามาช่วยถึงจะเพิ่มรายได้ให้เยอะๆ ได้ โดยรวมถือว่าน่าจะยังพอลงทุนต่อไปได้

BANPU

ตัวนี้แย่ที่สุดในพอร์ต แม้ว่าความเสี่ยงเรื่องคดีความจะลดลงไปแล้ว และบ้านปูก็มีรายได้จากโรงไฟฟ้าในสัดส่วนที่มากขึ้นจากโครงการหงสา ช่วยให้ลดความเสี่ยงจากถ่านหินไปได้ แต่อนาคตของรายได้หลักคือถ่านหินเอง ก็ยังคงน่าเป็นห่วงอยู่เช่นเดิม ดีมานด์ของถ่านหินโลกมีแนวโน้มยังไม่ดีขึ้น โรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกทยอยปิดตัวลงไปเยอะ ในขณะที่อุปทานก็ยังคงล้นตลาดอยู่ โดยเฉพาะอุปทานจากออสเตรเลีย บริษัทคงทำได้แค่ค่อยๆ เพิ่ม output ขึ้นปีละนิด และลดต้นทุนการผลิต เพื่อทำให้กำไรสูงขึ้น แต่จะหวังให้กำไรเพิ่มจากราคาถ่านหินที่ฟื้นกลับไปดีเหมือนเดิมนั้น คงหวังได้ยาก การหาธุรกิจใหม่ๆ มาชดเชยก็ทำได้ยากเช่นกัน เพราะธุรกิจพลังงานทางเลือกอาจมีขนาดที่เล็กเกินไป มาช่วยเพิ่มรายได้รวมได้ไม่มากเท่าไร ดูแล้วหุ้นตัวนี้คงยังต้องซึม ไปอีกนาน

PS

ผมเชื่อว่าอสังหาเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งของไทยที่น่าจะไปต่อได้ เพราะการสร้างรถไฟฟ้ายังมีอยู่ต่อเนื่อง และอสังหาก็เป็นทางเลือกหนึ่งของการลงทุนในยุคดอกเบี้ยต่ำ แม้ว่าช่วงนี้ตลาดคอนโดจะล้นอยู่ แต่ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาถาวร สักพักน่าจะต้องกลับมาใหม่ได้ เพราะพื้นฐานยังมีอยู่

PS เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่มองอุตสาหกรรมนี้ในแง่ดี เพราะว่ามีข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุนที่ชัดเจน และการที่มีทั้งแนวราบและแนวตั้ง ทำให้มีความเสี่ยงน้อยกว่าผู้นำคอนโดอย่าง LPN เวลาที่ตลาดคอนโดไม่ดี ส่วน LH นั้นพื้นฐานดีแต่ว่าไม่โต ส่วน SIRI นั้น อย่าให้พูดเลยดีกว่า รวมๆ แล้ว PS จึงเป็นตัวเลือกที่ใช้ได้   

การเติบโตน่าจะยังพอมีอยู่ แม้จะไม่เยอะเท่าเดิม โอกาสหลักๆ ก็ยังคงเป็นตลาดในกทม.เช่นเดิม ไม่ใช่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทำให้เห็นว่า หุ้นอสังหาต่อให้บริษัทแข็งแกร่งแค่ไหน เวลาวัฏจักรเป็นขาลง ราคาหุ้นก็ต้องลงแรง ทำให้เป็นหุ้นที่ค่อนข้างเหวี่ยงแรง ไม่เหมาะกับการลงทุนแบบ DCA เท่าไร ดังนั้นหากขาขึ้นรอบหน้ามาถึงอีกครั้ง ก็อาจพิจารณาขายตัวนี้ออกไปก็ได้ แต่ในช่วงนี้ขอเลือกที่จะถือต่อไปก่อน

CPALL

ผมว่าช่วงนี้ CPALL อยู่ในโหมดตุนกำไรสะสม เพื่อลด D/E ให้ต่ำลง หลังจากกู้เงินเยอะมาซื้อแมคโคร ทำให้หุ้นตัวนี้ดูไม่ sexy เหมือนเดิม เพราะทำให้ถูกมองว่า การลงทุนใหม่ๆ ที่มีนัยสำคัญคงยังทำไม่ได้ ซึ่งกว่าจะลดหนี้ได้ตามแผนก็น่าจะยังใช้เวลาอีกหลายปีอยู่เหมือนกัน ทำให้มีแววว่าหุ้นตัวนี้จะอืดไปอีกสักพักใหญ่ๆ เว้นแต่จะออกกองทุนมาลดหนี้แทน เพราะจะปลดภาระหนี้ได้เร็ว  แต่ดูแล้วก็อาจจะยังออกกองทุนไม่ได้ง่ายๆ นักในเวลานี้

ถ้าลดหนี้ได้ ทำให้ดอกเบี้ยจ่ายลดลง กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น อาจจะราวๆ 30-40% พี/อีใหม่ ก็อาจลดเหลือ 25-30 เท่า ซึ่งก็เป็นระดับที่ถือว่า fair เท่านั้น หุ้นตัวนี้จึงไม่ได้มีราคาถูก 

HMPRO

ในแง่ความแข็งแรงไม่น่าห่วง โฮมโปรมีสาขามากพอที่จะทำให้ไม่มีใครมาท้าทายได้แล้ว วัฏจักรเศรษฐกิจเป็นแค่ปัญหาระยะสั้น ค้าปลีกชนิดนี้มาร์จิ้นค่อนข้างดี และเป็นของที่ e-commerce มาทดแทนได้น้อย จึงน่าจะยั่งยืน

แต่ส่วนที่น่าเป็นห่วงคือการเติบโต จังหวัดรองๆ คงสร้างการเติบโตได้ช้า บริษัทจึงหันมาเติบโตด้วยเมกาโฮมมากกว่า แต่ก็ทำให้มาร์จิ้นลดลง เพราะสินค้าวัสดุก่อสร้างกำไรน้อยกว่าสินค้า Home Improvement การไปต่างประเทศผมไม่อยากหวังมาก เพราะคิดว่าจริงๆ แล้วมันไม่ได้ง่าย  แต่ถ้ามองในแง่ราคาหุ้น ถือว่าลงมาเยอะมาก ราคาหุ้นจึงไม่ถึงกับแพงเท่าไร

สรุป

ดูแล้ว สมาชิกปัจจุบันในพอร์ต ยังไม่ดีมากพอ เรื่องปัจจัยพื้นฐานนั้นไม่ได้น่าห่วงเลย แต่ส่วนที่น่าปรับปรุงคือ โอกาสในการเติบโต หลายตัวมีแนวโน้มการเติบโตที่ไม่น่าสนใจมากพอเมื่อพิจารณาในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ดังนั้นถ้าหาตัวใหม่ๆ ที่มีโอกาสเติบโตที่น่าสนใจมากกว่า มาแทนตัวที่มีปัญหานี้ ก็น่าจะเป็นพอร์ตที่ดีกว่า

ตอนนี้ยังคิดไม่ออกว่าจะเป็นตัวไหน หุ้นสื่อสาร หรือหุ้นการเงิน ดูมีอนาคตที่น่าสนใจ และยังช่วยกระจายความเสี่ยงให้พอร์ตให้มากขึ้นได้ด้วย รวมทั้งการพิจารณาหุ้นขนาดกลางและเล็กดูบ้าง ก็น่าจะช่วยให้พอร์ตเติบโตได้ดีกว่า หากตัดสินใจได้เมื่อไรก็คงมีการปรับพอร์ตเกิดขึ้นในปีที่จะถึงนี้ครับ 

Waiting List ของ 7thLTG

ปีที่แล้วมีเป้าหมายหลวมๆ ว่า อยากมีการสลับตัวหุ้นใน 7thLTG ให้เกิดการหมุนเวียนบ้าง ให้ได้ในอัตราราวๆ 1 ตัวต่อปี (ซึ่งจะเท่ากับว่าแต่ละตัวอยู่กับพอร์ตตัวละราวๆ 7 ปี) แต่หลังจากพิจารณาหุ้นใน Waiting List ที่มีอยู่แล้ว ยังไม่พบหุ้นที่น่าสนใจมากพอ ก็เลยเป็นอันว่า ปีนี้คงไม่ได้สลับสมาชิกใหม่นะครับ Continue reading “Waiting List ของ 7thLTG”

CPALL revisited

ไตรมาส 1/57  CPALL สามารถรักษารายได้รวม (นับรวม MAKRO)  ให้เพิ่มขึ้นได้ราว 3% ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างแย่ ซึ่งเฉพาะ CPALL เองนั้น มี Same-store Sales Growth (sss growth) ที่ติดลบ 1% แต่จริงๆ แล้วก็ยังเป็นบวกอยู่เล็กน้อย แต่ติดลบเนื่องจากมีการเปลี่ยนวิธีบันทึกรายได้ยอดขายบัตรเติมเงินใหม่ (เปลี่ยนจากบันทึกเป็นรายได้ กลายเป็นบันทึกเฉพาะค่าต๋ง) และการขยายสาขาจำนวนมากถึง 222 สาขาในไตรมาสเดียว ตลอดจน MAKRO ที่มี sss growth เป็นบวกค่อนข้างมากมา  ซึ่งในแง่นี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ได้ตัดสินใจซื้อ MAKRO ไปด้วย สรุปแล้ว ในแง่ top line ไม่ได้มีอะไรที่น่าเป็นห่วงนัก ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวก็น่าจะกลับมาได้เหมือนเดิม 

ตัว CPALL เองนั้น ยังมี gross margin ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จากสินค้าไพรเวทแบรนด์ที่มีสัดส่วนในร้านเพิ่มขึ้น และสินค้ากลุ่มอาหารที่สร้างกำไรดีต่อเนื่อง แต่การที่มีตัวเลขกำไรสุทธิลดลงอย่างมากนั้น (-15%) ก็มาจากภาระหนี้ที่เกิดจากการกู้เงินมาซื้อ MAKRO เป็นเหตุผลสำคัญ หากตัดภาระดอกเบี้ยออกไป CPALL อย่างเดียวก็ยังมี EBIT ลดลง (-7%) เนื่องจากต้องมีการตัดค่าใช้จ่ายในการรวมกิจการด้วย

ในเมื่อ MAKRO ที่ซื้อมามีผลประกอบการที่ค่อนข้างดีและดีขึ้น ความน่าเป็นห่วงจึงน่าจะอยู่ที่เรื่องหนี้สินเป็นหลักว่าทำอย่างไรจะลดหนี้สินลงให้ได้ ซึ่งในเวลานี้ CPALL มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยอยู่ถึงสองแสนล้านบาท โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการลดความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยของหนี้ลงไปส่วนหนึ่งด้วยการ Refinancing หนี้ใหม่ จากหนี้เป็นดอลล่าร์ กลายเป็นหุ้นกู้และหนี้ธนาคารในประเทศ และยืดอายุของหนี้ให้เป็นหนี้ระยะยาวขึ้นด้วย (อายุเฉลี่ย 6-7 ปี)

แต่ในเรื่องของขนาดหนี้นั้น CPALL คงต้องลดมันลงด้วยกระแสเงินสดจากธุรกิจเป็นหลัก ซึ่ง ณ เวลานี้ บริษัทมี Debt/EBITDA ราว 7 เท่า (เท่ากับใช้เวลา 7 ปี ในการทำกำไรมาใช้หนี้ให้หมด สมมติว่าไม่ได้ขยายสาขาหรือจ่ายเงินปันผลเลย) จึงนับว่ายังเป็นหนี้ที่สูงอยู่  ดังนั้น ถ้าบริษัทจะขยายตัวด้วยการซื้อกิจการเพิ่มอีก ก็จะดูเป็นความเสี่ยงมากกว่า บริษัทน่าจะต้องเน้นการโตด้วยการขยายสาขาต่อไป ซึ่งถ้าทำแบบนั้นไปเรื่อยๆ ก็น่าจะค่อยๆ มีกำไรดีขึ้นเรื่อยๆ ได้ จากการที่ภาระดอกเบี้ยค่อยๆ ลดลงทุกปีและรายได้มีการเติบโต เป็นลักษณะของการค่อยๆ ปรับปรุงงบไปเรื่อยๆ มากกว่า บริษัทไม่จำเป็นต้องลดหนี้ลงทั้งหมดก็ได้ แต่ควรลดหนี้ลงมาให้ D/E ดูเป็นปกติ ซึ่งก็ยังนับว่าต้องใช้เวลาอีกพอสมควรเหมือนกัน

MINT revisited

7thLTG ใกล้ครบปีอีกแล้ว (25 กย นี้) ได้เวลารีวิวหุ้นในพอร์ตว่าทำธุรกิจกันไปถึงไหนแล้ว

สำหรับ MINT บริษัทนี้เมื่อตอนเริ่มต้น พอร์ตเมื่อหลายปีที่แล้ว เราเลือกบริษัทนี้เพราะอะไร  ทุกวันนี้บริษัทก็ยังคงเป็นอย่างนั้นอยู่ MINT เป็นบริษัทที่มีสัญญากับผู้ถือหุ้นว่าจะต้องนำส่งการเติบโตของกำไรในระยะยาวที่อัตรา 15-20% ต่อปี ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีวันหยุด โดยอาศัยการขยายสาขาธุรกิจร้านเชนร้านอาหาร และโรงแรม เป็นกลยุทธ์เติบโตหลัก (ซึ่งเป็นวิธีเติบโตที่ทำได้ง่ายที่สุดแล้ว) ในเวลาเดียวกันก็ต้องรักษาหรือเพิ่มมาร์จิ้นทางธุรกิจด้วย โดยพึ่งพาการขยายตัวที่ใช้เม็ดเงินลงทุนน้อยลง (asset-light, รับจ้างบริหาร, สร้างแบรนด์ที่เป็นของตัวเอง) ให้มากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อปี 2007 MINT มีร้านอาหาร 676 สาขา มีห้องพัก 3, 076 ห้อง ตอนนี้มีร้านอาหาร 1, 568 สาขา และมีห้องพักกว่า 12, 270 ห้องพักแล้ว ต้องถือว่าเป็นบริษัทที่ไม่อยู่นิ่ง มีการเติบโตอยู่ตลอดเวลา และต่อเนื่องยาวนาน เป็นตัวอย่างของหุ้น Long-term Growth

แน่นอนว่า ระหว่างทาง ผลประกอบการของหุ้นตัวนี้ มีความผันผวนสูงมาก เนื่องจาก อยู่ในธุรกิจที่อิงกับการท่องเที่ยว ซึ่งผู้บริโภคมีความอ่อนไหวสูง และเพราะบริษัทมีนโยบายขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี ทำให้ช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ผลประกอบจะออกมาแย่เป็นพิเศษ เพราะบริษัทไม่ได้ชะลอการลงทุนเพื่อลดค่าใช้จ่ายในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี แต่ถ้าหากเป็นนักลงทุนที่รอได้ การที่บริษัทลงทุนแบบต่อเนื่องน่าจะนำมาซึ่งการเติบโตที่สูงกว่าในระยะยาว ดังนั้นใครที่ลงทุนหุ้นตัวนี้ ก็ต้องไม่คาดหวังผลงานเป็นรายไตรมาส และใครที่อยากลงทุนแบบตูมเดียวกับหุ้นตัวนี้ก็น่าจะรอซื้อตอนที่การท่องเที่ยวย่ำแย่มากกว่าช่วงที่ดีๆ นะครับ 

เวลาที่โตไปเรื่อยๆ บริษัทก็ไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะปรับปรุงความสามารถในการทำกำไร ไม่ใช่ขยายไปเรื่อยๆ กำไรบางลงเรื่อยๆ แบบนั้นก็ไปไม่รอด ทุกวันนี้บริษัทที่จำนวนห้องพักที่ไม่ใช่โรงแรมที่เป็นเจ้าของเองกว่าครึ่งแล้ว เทียบกับปี 2008 ที่ยังไม่มีเลย โมเดลบริหารใช้เงินลงทุนน้อยกว่าโมเดลเป็นเจ้าของเอง อีกทั้งบริษัทยังมีโรงแรมนอกประเทศไทยมากขึ้นเป็น 54% แล้วเทียบกับแค่ 6% เมื่อปี 2008 เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงทางการเมืองของประเทศไทย  ถือได้ว่า มีการจัดการความเสี่ยงและหาวิธีปรับปรุงมาร์จิ้นไปด้วย ไม่ใช่รายได้โตอย่างเดียว

สรุปแล้วยังเป็นหุ้นที่ชอบอยู่เหมือนเดิมครับ เคยชอบยังไงก็ชอบอย่างงั้น