MINT revisited

7thLTG ใกล้ครบปีอีกแล้ว (25 กย นี้) ได้เวลารีวิวหุ้นในพอร์ตว่าทำธุรกิจกันไปถึงไหนแล้ว

สำหรับ MINT บริษัทนี้เมื่อตอนเริ่มต้น พอร์ตเมื่อหลายปีที่แล้ว เราเลือกบริษัทนี้เพราะอะไร  ทุกวันนี้บริษัทก็ยังคงเป็นอย่างนั้นอยู่ MINT เป็นบริษัทที่มีสัญญากับผู้ถือหุ้นว่าจะต้องนำส่งการเติบโตของกำไรในระยะยาวที่อัตรา 15-20% ต่อปี ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีวันหยุด โดยอาศัยการขยายสาขาธุรกิจร้านเชนร้านอาหาร และโรงแรม เป็นกลยุทธ์เติบโตหลัก (ซึ่งเป็นวิธีเติบโตที่ทำได้ง่ายที่สุดแล้ว) ในเวลาเดียวกันก็ต้องรักษาหรือเพิ่มมาร์จิ้นทางธุรกิจด้วย โดยพึ่งพาการขยายตัวที่ใช้เม็ดเงินลงทุนน้อยลง (asset-light, รับจ้างบริหาร, สร้างแบรนด์ที่เป็นของตัวเอง) ให้มากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อปี 2007 MINT มีร้านอาหาร 676 สาขา มีห้องพัก 3, 076 ห้อง ตอนนี้มีร้านอาหาร 1, 568 สาขา และมีห้องพักกว่า 12, 270 ห้องพักแล้ว ต้องถือว่าเป็นบริษัทที่ไม่อยู่นิ่ง มีการเติบโตอยู่ตลอดเวลา และต่อเนื่องยาวนาน เป็นตัวอย่างของหุ้น Long-term Growth

แน่นอนว่า ระหว่างทาง ผลประกอบการของหุ้นตัวนี้ มีความผันผวนสูงมาก เนื่องจาก อยู่ในธุรกิจที่อิงกับการท่องเที่ยว ซึ่งผู้บริโภคมีความอ่อนไหวสูง และเพราะบริษัทมีนโยบายขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี ทำให้ช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ผลประกอบจะออกมาแย่เป็นพิเศษ เพราะบริษัทไม่ได้ชะลอการลงทุนเพื่อลดค่าใช้จ่ายในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี แต่ถ้าหากเป็นนักลงทุนที่รอได้ การที่บริษัทลงทุนแบบต่อเนื่องน่าจะนำมาซึ่งการเติบโตที่สูงกว่าในระยะยาว ดังนั้นใครที่ลงทุนหุ้นตัวนี้ ก็ต้องไม่คาดหวังผลงานเป็นรายไตรมาส และใครที่อยากลงทุนแบบตูมเดียวกับหุ้นตัวนี้ก็น่าจะรอซื้อตอนที่การท่องเที่ยวย่ำแย่มากกว่าช่วงที่ดีๆ นะครับ 

เวลาที่โตไปเรื่อยๆ บริษัทก็ไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะปรับปรุงความสามารถในการทำกำไร ไม่ใช่ขยายไปเรื่อยๆ กำไรบางลงเรื่อยๆ แบบนั้นก็ไปไม่รอด ทุกวันนี้บริษัทที่จำนวนห้องพักที่ไม่ใช่โรงแรมที่เป็นเจ้าของเองกว่าครึ่งแล้ว เทียบกับปี 2008 ที่ยังไม่มีเลย โมเดลบริหารใช้เงินลงทุนน้อยกว่าโมเดลเป็นเจ้าของเอง อีกทั้งบริษัทยังมีโรงแรมนอกประเทศไทยมากขึ้นเป็น 54% แล้วเทียบกับแค่ 6% เมื่อปี 2008 เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงทางการเมืองของประเทศไทย  ถือได้ว่า มีการจัดการความเสี่ยงและหาวิธีปรับปรุงมาร์จิ้นไปด้วย ไม่ใช่รายได้โตอย่างเดียว

สรุปแล้วยังเป็นหุ้นที่ชอบอยู่เหมือนเดิมครับ เคยชอบยังไงก็ชอบอย่างงั้น

18 Replies to “MINT revisited”

  1. ขอบคุณครับ ยาวไปครับสำหรับพอร์ต 7thLTG

  2. ถ้าเทียบกับCentel ที่ดูเหมือนว่ามีรูปแบบธุรกิจคล้ายคลีงกันมาก (แทบจะเหมือนกัน) มีโรงแรม อาหาร.. ในระยะยาวCentelมีโรงแรมbrand ระดับกลาง-ล่าง แต่Mintที่ดูเหมือนจะเน้นระดับบน ถ้าเอาไปผูกกับmega trend เรื่องการท่องเที่ยวที่ฐานลูกค้าระดับกลาง-ล่างที่มีขนาดใหญ่กว่า Centelจะได้เปรียบตรงนี้ไหมครับ

    1. Centel ก็อาจจะมีข้อดีมากกว่าตรงที่ฐานลูกค้าคือระดับกลางล่างซึ่งน่าจะโตได้มากกว่า เช่น ลูกค้าเอเชีย รัสเซีย ในขณะที่ Mint มีโรงแรมในพอร์ตเป็นกลุ่มลูกค้ายุโรปเยอะไป กลุ่มนี้ไม่ค่อยเติบโตเท่าไร

      อย่างไรก็ตาม กลุ่มกลางล่างก็มีคู่แข่งเยอะ ต้องมีดีพอตัวถึงจะต่อสู้ในตลาดนี้ได้

  3. เยี่ยมเลยครับบริษัทนี้ มีสัญญาว่าจะเติบโตระยะยาว 15 – 20% ด้วย ชอบมากครับ

  4. asset-light นี้หมายถึงทรัพย์สินอะไรบ้างครับ

    1. น่าจะหมายถึง สร้างรายได้จากการรับบริหารเป็นหลัก คือรับบริหารมากกว่าลงทุนเอง เพราะค่าบริหารจะมีกำไรสุทธิสูงกว่าครับ

  5. มีอะไรเป็นจุดด้อยที่พี่ไม่ชอบบ้างไหมครับกับบริษัทนี้

    1. ถ้าแนวโน้มผู้บริโภคเปลี่ยน เช่น ชอบกินอาหารฟาร์ดฟู้สน้อยลง หรือชอบกินร้านเชนน้อยลง MINT จะต้องปรับตัวเยอะมาก หรือถ้านักท่องเที่ยวกลุ่มหรูๆ ไม่เติบโต แต่ไปโตที่ระดับกลางล่างเป็นหลัก MINT ก็จะอยุ่ในตำแหน่งที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตเท่าไร

  6. พี่ๆ คับผมสงสัยว่าพวกกองทุนที่จัดตั้งขึ้นมาเนี่ยเค้าเอากำไรจากไหนอะคับในเมื่อต้องจ่ายคืนให้ผู้ลงทุนคืนเมื่อถึงเวลา

    1. กองทุนอะไรครับ กองทุนรวม หรือกองทุนอสังหา หรือกองทุนอะไรครับ

  7. กองทุน rmf อะคับที่เลือกลงทุนในหุ้น

    1. ปกติเค้ามีค่า Management Fee ซึ่งคิดเป็น % ของมูลค่ากองทุน เป็นรายได้ของกองทุนอยู่แล้วครับ

      ส่วนเงินของคนเอามาลงทุน ถ้ามีคนมาขายกองทุนมากๆ กองทุนที่ซื้อหุ้นไว้ก็จะขายหุ้นออกมาเพื่อเอาเงินมาคืนครับ

  8. พี่สุมาอี้มีความคิดเห็นอย่างไรกับการบุกแอฟริการอบนี้ของ mint คับ
    พี่คิดว่าภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้เป็น promising area?

    1. ก็เป็นอะไรที่ดูเสี่ยงๆ อยู่เหมือนกัน ต้องรอดูกันต่อไปครับ

  9. เห็นเครือ erw กับ centel บุกตลาด B- ถึง C

    พี่คิดว่าการที่มินต์ไม่เข้าไปเล่นในฟิลด์นี้ด้วยเป็นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่ดีหรือไม่ดีคับ

    1. ตลาด B,C น่าจะเติบโตได้เยอะกว่า แต่การแข่งขันด้านราคาก็รุนแรงกว่าด้วย ก็คงดีอย่างเสียอย่าง

Comments are closed.