MINT revisited

7thLTG ใกล้ครบปีอีกแล้ว (25 กย นี้) ได้เวลารีวิวหุ้นในพอร์ตว่าทำธุรกิจกันไปถึงไหนแล้ว

สำหรับ MINT บริษัทนี้เมื่อตอนเริ่มต้น พอร์ตเมื่อหลายปีที่แล้ว เราเลือกบริษัทนี้เพราะอะไร  ทุกวันนี้บริษัทก็ยังคงเป็นอย่างนั้นอยู่ MINT เป็นบริษัทที่มีสัญญากับผู้ถือหุ้นว่าจะต้องนำส่งการเติบโตของกำไรในระยะยาวที่อัตรา 15-20% ต่อปี ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีวันหยุด โดยอาศัยการขยายสาขาธุรกิจร้านเชนร้านอาหาร และโรงแรม เป็นกลยุทธ์เติบโตหลัก (ซึ่งเป็นวิธีเติบโตที่ทำได้ง่ายที่สุดแล้ว) ในเวลาเดียวกันก็ต้องรักษาหรือเพิ่มมาร์จิ้นทางธุรกิจด้วย โดยพึ่งพาการขยายตัวที่ใช้เม็ดเงินลงทุนน้อยลง (asset-light, รับจ้างบริหาร, สร้างแบรนด์ที่เป็นของตัวเอง) ให้มากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อปี 2007 MINT มีร้านอาหาร 676 สาขา มีห้องพัก 3, 076 ห้อง ตอนนี้มีร้านอาหาร 1, 568 สาขา และมีห้องพักกว่า 12, 270 ห้องพักแล้ว ต้องถือว่าเป็นบริษัทที่ไม่อยู่นิ่ง มีการเติบโตอยู่ตลอดเวลา และต่อเนื่องยาวนาน เป็นตัวอย่างของหุ้น Long-term Growth

แน่นอนว่า ระหว่างทาง ผลประกอบการของหุ้นตัวนี้ มีความผันผวนสูงมาก เนื่องจาก อยู่ในธุรกิจที่อิงกับการท่องเที่ยว ซึ่งผู้บริโภคมีความอ่อนไหวสูง และเพราะบริษัทมีนโยบายขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี ทำให้ช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ผลประกอบจะออกมาแย่เป็นพิเศษ เพราะบริษัทไม่ได้ชะลอการลงทุนเพื่อลดค่าใช้จ่ายในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี แต่ถ้าหากเป็นนักลงทุนที่รอได้ การที่บริษัทลงทุนแบบต่อเนื่องน่าจะนำมาซึ่งการเติบโตที่สูงกว่าในระยะยาว ดังนั้นใครที่ลงทุนหุ้นตัวนี้ ก็ต้องไม่คาดหวังผลงานเป็นรายไตรมาส และใครที่อยากลงทุนแบบตูมเดียวกับหุ้นตัวนี้ก็น่าจะรอซื้อตอนที่การท่องเที่ยวย่ำแย่มากกว่าช่วงที่ดีๆ นะครับ 

เวลาที่โตไปเรื่อยๆ บริษัทก็ไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะปรับปรุงความสามารถในการทำกำไร ไม่ใช่ขยายไปเรื่อยๆ กำไรบางลงเรื่อยๆ แบบนั้นก็ไปไม่รอด ทุกวันนี้บริษัทที่จำนวนห้องพักที่ไม่ใช่โรงแรมที่เป็นเจ้าของเองกว่าครึ่งแล้ว เทียบกับปี 2008 ที่ยังไม่มีเลย โมเดลบริหารใช้เงินลงทุนน้อยกว่าโมเดลเป็นเจ้าของเอง อีกทั้งบริษัทยังมีโรงแรมนอกประเทศไทยมากขึ้นเป็น 54% แล้วเทียบกับแค่ 6% เมื่อปี 2008 เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงทางการเมืองของประเทศไทย  ถือได้ว่า มีการจัดการความเสี่ยงและหาวิธีปรับปรุงมาร์จิ้นไปด้วย ไม่ใช่รายได้โตอย่างเดียว

สรุปแล้วยังเป็นหุ้นที่ชอบอยู่เหมือนเดิมครับ เคยชอบยังไงก็ชอบอย่างงั้น

0243: Growth vs. Value (Results)

สามปีผ่านไปไวเหมือนโกหก…

ในที่สุดก็ครบกำหนดของการทดลอง Growth vs. Value ที่ได้ริเริ่มเอาไว้เมื่อสามปีก่อน (บล็อกนี้อยู่มานานแล้วเหมือนกันนะเนี่ย) 

  ต้นทุน ปันผล ราคาปัจจุบัน คิดเป็นผลตอบแทน
TF 444 54.66 660 61%
WG 46 10.14 48.75 28%
RATCH 42.25 6.5 37 3%
MINT 11 0.656 10.6 2.3%
BGH 30 1.6 24.6 -13%
ERAWAN 4.38 0.12 2.46 -41%

หมายเหตุ

  1. ผลตอบแทนของหุ้นแต่ละตัวคิดจากสูตร (ราคาปัจจุบัน+ เงินปันผล)/ต้นทุน แล้วทำให้เป็นร้อยละ 
  2. MINT มีปันผลเป็นหุ้นด้วยหนึ่งครั้ง ในอัตรา 10ต่อ1 ดังนั้นเงินปันผลหลังจากนั้นจึงได้นำไปคูณ 1.1

ผลตอบแทนเฉลี่ยของพอร์ต Value Stocks =30.7% คิดเป็น IRR 9.3% ต่อปี 

ผลตอบแทนเฉลี่ยของพอร์ต Growth Stocks =-17.2% คิดเป็น IRR -6.1% ต่อปี 

สรุปว่า จากที่ Growth เคยนำอยู่เมื่อผ่านไปหนึ่งปี เมื่อครบสามปี ปรากฏว่า Value พลิกเอาชนะไปนะครับ คงเดาได้ไม่ยากว่าเพราะอะไร เมื่อปีที่แล้วเราเจอวิกฤตที่แรงที่สุดในรอบสิบปีพอดี หุ้นพีอีสูงซึ่งมูลค่ามักจะขึ้นอยู่กับความคาดหวังในอนาคตเป็นหลัก ย่อมได้รับผลกระทบรุนแรงเมื่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง

อนึ่ง ขอย้ำแนวคิดของผมที่เคยเขียนไว้เมื่อสามปีก่อนอีกครั้งว่า ผมเห็นว่าทั้งสองวิธีเป็นวิธีที่การลงทุนที่ไม่ถูกต้อง พอร์ต Value มองแต่ราคา (พีอี) โดยไม่สนใจ Value ส่วนพอร์ต Growth มองแต่สตอรี่ (คุณค่า) โดยไม่เกี่ยงราคา

ที่จริงแล้ว นักลงทุนต้องสนใจทั้งคุณค่าและราคาประกอบกัน ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Value Stocks หรือ Growth Stock อยู่ในโลกนี้ (มีแต่หลักการลงทุนที่เรียกว่า Value Investment เท่านั้น) นักลงทุนต้องตีคุณค่าหุ้นตามโอกาสเติบโตและคุณภาพของกำไรของหุ้นแต่ละตัวซึ่งไม่มีทางเท่ากัน และซื้อลงทุนที่ราคาต่ำกว่าคุณค่าที่เหมาะสมนั้นเสมอ (ไม่ว่านักลงทุนจะกำลังซื้อหุ้นเติบโตหรือหุ้นปันผลก็ตาม)

0219: การทดลองครั้งยิ่งใหญ่

หลังจากที่ผมได้พยายามค้นหาวิธีที่ดีที่สุดสำหรับคนที่ต้องการลงทุนแบบ ระยะยาวในตลาดหุ้นไทยมาได้สักพัก ถึงเวลาแล้วที่ผมจะลองทำการทดลองอะไรบางอย่าง

เป้าหมายของผมคือการออกแบบ “วิธีการลงทุน” ในตลาดหุ้นไทยที่

  1. ให้ผลตอบแทนในระยะยาวเกิน 10% ต่อปีขึ้นไป (คิดแบบ IRR) และเอาชนะตลาดได้
  2. เป็นวิธีการที่ไม่ยาก average person สามารถทำได้ทุกคน
  3. ไม่ต้องติดตามตลาดแบบใกล้ชิด (ข้อนี้สำคัญ)

จากการค้นคว้าของผม ผมคิดว่าวิธีการลงทุนต่อไปนี้น่าจะทำให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

ขั้นตอนแรก คัดเลือกหุ้นไทยจำนวน 7 ตัว โดยพิจารณาจากคุณสมบัติต่อไปนี้เป็นสำคัญ

  1. เป็นธุรกิจที่น่าจะยังมีการเติบโตอยู่ต่อไปในระยะยาว (สำคัญที่สุด)
  2. ต้องเป็นบริษัทที่ established แล้วพอสมควร
  3. ไม่มีหุ้นที่อยู่ใน sector เดียวกันเกิน 3 ตัว

มีการปรับออกเป็นระยะๆ ได้ ถ้าหากเชื่อว่า หุ้นตัวดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวอีกต่อไป

ขั้นตอนที่สอง จากนั้นก็เริ่มทยอยซื้อเดือนละหนึ่งตัว สลับกันไปเรื่อยๆ ด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันในแต่ละครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 15 ปี อย่างเคร่งครัดแบบหุ่นยนต์ ห้ามเปลี่ยนลำดับ และห้ามขายเลยก่อนครบกำหนด 

เพื่อพิสูจน์ศักยภาพของวิธีการนี้ ผมจึงคิดจะสร้างพอร์ตการลงทุนที่ลงทุนด้วยวิธีการนี้ขึ้นมาสักพอร์ต และเพื่อความสนุกสนาน ผมเพิ่งไปเปิดบัญชีใหม่กับโบรกขึ้นมาอีกหนึ่งบัญชี เพื่อใช้สร้างพอร์ตดังกล่าวด้วยเงินจริงๆ ด้วย จะดูว่าอีก 15 ปีข้างหน้า มันจะเป็นยังไง

กฏการลงทุนของพอร์ตนี้

  1. หุ้น 7 ตัวแรกที่จะลงทุนได้แก่ ADVANC, BANPU, BGH, CPN, HMPRO, MINT, PS (ต่อไปสามารถปรับรายชื่อได้ ถ้าเห็นว่าไม่ใช่ธุรกิจที่เติบโตอีกต่อไป หรือหุ้นถูก delist หรือโดน merge)
  2. ซื้อหุ้นหนึ่งตัว ทุกวันที่ 15 ของเดือน (หรือวันทำการถัดไปถ้าตลาดปิด) ตอนปิดตลาด เป็นเงิน 25, 000 บาท (ปัดเศษลงให้ Lot size ลงตัว) หรือไม่เกิน 100 หุ้น โดยซื้อสลับตัวไปเรื่อยๆ ตามตัวอักษร (ในอนาคตหุ้นตัวใหม่มาแทนตัวไหน ก็จะได้ลำดับของตัวนั้นไปแทน)
  3. เมื่อได้รับเงินปันผลให้นำกลับไปลงทุนอีกเสมอ โดยลงทุนครั้งละ 25, 000 บาทเช่นกัน รอซื้อพร้อมเดือนถัดไป หรืออาจสำรองล่วงหน้าไว้ในกรณีที่กำลังจะมีการเพิ่มทุนก็ได้
  4. หุ้นตัวใดที่มีน้ำหนักในพอร์ตมากกว่า 30% จะโดนหยุดซื้อชั่วคราวจนกว่าน้ำหนักจะลดลง
  5. ลงทุนต่อเนื่องเป็นเวลา 15 ปี  

ธุรกรรมทั้งหมดของพอร์ตจะถูกนำมาบันทึกไว้ในบล็อกแห่งนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 2552 นี้เป็นต้นไปครับ

0026: Growth vs. Value (Revisited 1)

ที่จริงตั้งใจจะไม่เขียนเรื่อง Investing ในบล็อคนี้แล้วแต่สืบเนื่องจากหัวข้อ Growth vs. Value ที่เคยโพสต์เอาไว้เมื่อประมาณ 1 ปีที่แล้ว ลองมาดูผลกันว่าหนึ่งปีผ่านไปเป็นยังไงบ้างตามที่ได้สัญญาไว้

ผลตอบแทน=(ราคาปัจจุบัน+เงินปันผลที่ได้รับระหว่างทาง-ราคาเมื่อปีที่แล้ว)/(ราคาเมื่อปีที่แล้ว)

Value Port

TF (508+7.75+10.78-444)/444 = 18.6 %

WG (44+2.5-46)/46 = 1.1 %

RATCH (50+1+1.1-42.25)/42.25 = 23.3 % 

ผลตอบแทนของทั้งพอร์ต(เฉลี่ย) = average(18.6, 1.1, 23.3) = 14.33%

Growth Port

MINT (17.3+0.15-11)/11 = 58.6 %

BGH (39+0.5-30)/30 = 31.7 %

ERAWAN (4.04+0.05-4.38)/4.38 = -6.6 % 

ผลตอบแทนของทั้งพอร์ต(เฉลี่ย)= average(58.6, 31.7, -6.6)= 27.9%

หนึ่งปีผ่านไป Growth Port นำอยู่ครับ แต่อย่าลืมว่าการทดลองนี้ตัดสินที่ปีที่ 3 แต่ติดตามผลทุกหนึ่งปี เอาไว้อีกหนึ่งปีข้างหน้าค่อยมาติดตามกันนะครับ