CPALL revisited

ไตรมาส 1/57  CPALL สามารถรักษารายได้รวม (นับรวม MAKRO)  ให้เพิ่มขึ้นได้ราว 3% ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างแย่ ซึ่งเฉพาะ CPALL เองนั้น มี Same-store Sales Growth (sss growth) ที่ติดลบ 1% แต่จริงๆ แล้วก็ยังเป็นบวกอยู่เล็กน้อย แต่ติดลบเนื่องจากมีการเปลี่ยนวิธีบันทึกรายได้ยอดขายบัตรเติมเงินใหม่ (เปลี่ยนจากบันทึกเป็นรายได้ กลายเป็นบันทึกเฉพาะค่าต๋ง) และการขยายสาขาจำนวนมากถึง 222 สาขาในไตรมาสเดียว ตลอดจน MAKRO ที่มี sss growth เป็นบวกค่อนข้างมากมา  ซึ่งในแง่นี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ได้ตัดสินใจซื้อ MAKRO ไปด้วย สรุปแล้ว ในแง่ top line ไม่ได้มีอะไรที่น่าเป็นห่วงนัก ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวก็น่าจะกลับมาได้เหมือนเดิม 

ตัว CPALL เองนั้น ยังมี gross margin ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จากสินค้าไพรเวทแบรนด์ที่มีสัดส่วนในร้านเพิ่มขึ้น และสินค้ากลุ่มอาหารที่สร้างกำไรดีต่อเนื่อง แต่การที่มีตัวเลขกำไรสุทธิลดลงอย่างมากนั้น (-15%) ก็มาจากภาระหนี้ที่เกิดจากการกู้เงินมาซื้อ MAKRO เป็นเหตุผลสำคัญ หากตัดภาระดอกเบี้ยออกไป CPALL อย่างเดียวก็ยังมี EBIT ลดลง (-7%) เนื่องจากต้องมีการตัดค่าใช้จ่ายในการรวมกิจการด้วย

ในเมื่อ MAKRO ที่ซื้อมามีผลประกอบการที่ค่อนข้างดีและดีขึ้น ความน่าเป็นห่วงจึงน่าจะอยู่ที่เรื่องหนี้สินเป็นหลักว่าทำอย่างไรจะลดหนี้สินลงให้ได้ ซึ่งในเวลานี้ CPALL มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยอยู่ถึงสองแสนล้านบาท โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการลดความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยของหนี้ลงไปส่วนหนึ่งด้วยการ Refinancing หนี้ใหม่ จากหนี้เป็นดอลล่าร์ กลายเป็นหุ้นกู้และหนี้ธนาคารในประเทศ และยืดอายุของหนี้ให้เป็นหนี้ระยะยาวขึ้นด้วย (อายุเฉลี่ย 6-7 ปี)

แต่ในเรื่องของขนาดหนี้นั้น CPALL คงต้องลดมันลงด้วยกระแสเงินสดจากธุรกิจเป็นหลัก ซึ่ง ณ เวลานี้ บริษัทมี Debt/EBITDA ราว 7 เท่า (เท่ากับใช้เวลา 7 ปี ในการทำกำไรมาใช้หนี้ให้หมด สมมติว่าไม่ได้ขยายสาขาหรือจ่ายเงินปันผลเลย) จึงนับว่ายังเป็นหนี้ที่สูงอยู่  ดังนั้น ถ้าบริษัทจะขยายตัวด้วยการซื้อกิจการเพิ่มอีก ก็จะดูเป็นความเสี่ยงมากกว่า บริษัทน่าจะต้องเน้นการโตด้วยการขยายสาขาต่อไป ซึ่งถ้าทำแบบนั้นไปเรื่อยๆ ก็น่าจะค่อยๆ มีกำไรดีขึ้นเรื่อยๆ ได้ จากการที่ภาระดอกเบี้ยค่อยๆ ลดลงทุกปีและรายได้มีการเติบโต เป็นลักษณะของการค่อยๆ ปรับปรุงงบไปเรื่อยๆ มากกว่า บริษัทไม่จำเป็นต้องลดหนี้ลงทั้งหมดก็ได้ แต่ควรลดหนี้ลงมาให้ D/E ดูเป็นปกติ ซึ่งก็ยังนับว่าต้องใช้เวลาอีกพอสมควรเหมือนกัน

20 Replies to “CPALL revisited”

  1. สอบถามคุณนรินทร์ ว่า จากข้อความที่พิมพ์ไว้ ช่วงย่อหน้าที่ 4 ว่า

    ” แต่ในเรื่องของขนาดหนี้นั้น CPALL คงต้องลดมันลงด้วกระแสเงินสดจากธุรกิจเป็นหลัก ซึ่ง ณ เวลานี้ บริษัทมี EBITDA ราว 7 เท่าของหนี้จำนวนนี้ (เท่ากับใช้เวลา 7 ปี ในการทำกำไรมาใช้หนี้ให้หมด…. )

    ผมอ่านดูแล้วแปลความหมายได้แปลกๆอยู่นะครับ

    1. อันนี้คือสมมติว่าเอากำไรมาใช้หนี้อย่างเดียวจนหมด แต่ในความเป็นจริง คงไม่มีบริษัทไหนทำอย่างนั้น เพราะต้องเอากำไรมาลงทุนเพิ่มบางส่วนด้วย และการลดหนี้คงไม่ลดจนหมด แต่ลดจนกว่าจะเข้าสู่ระดับปกติ

    2. ถ้า Working Cap ไม่ได้ Change มาก ก็สามารถ Assume ได้ว่า EBITDA มีค่าประมาณๆ Operating Cash Flow ครับ

  2. เท่าที่อ่านในพรีเซนเทชั่นของบริษัทรายไตรมาส
    เข้าใจว่า SSSG ทั้งปัจจุบันและตลอดเวลาที่ผ่านมา
    ได้มีการแยกยอดขายของบัตรเติมเงินออกแล้วนะครับ
    ดังนั้นเมื่อเทียบกับปัจจุบัน(รวมถึงช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงคือ1q13 & 2q13 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงของ DTAC true and AIS จำไม่ได้ว่าใครก่อนหลัง) ก้อเป็นการเปรียบเทียบแบบapple-to-apple แล้วนะครับ
    คือ 1q14 SSSG (cpall) -1% ก้อถูกต้องจากคำอธิบายเรื่องสภาพอากาศเย็นกว่าและนานกว่าปกติทำให้ยอดขายเครื่องดื่มลดลง
    ป.ล. ถ้าผมเข้าใจผิดพลาดรบกวนแกัไขได้นะครับ

    1. ถ้าฟังคุณเกรียงจาก oppday ล่าสุด แต่เดิมมีการบันทึกแค่ค่าต๋งกับบัตรเงินสดของบางเจ้า แต่ไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่งเปลี่ยนมาบันทึกแต่ค่าต๋งให้หมดทุกเจ้า

    2. แต่เท่าที่ผมย้อนกลับไปดู รายงานของบริษัทที่ออกทุกไตรมาสจะเห็น เครื่องหมาย (*) ไว้ที่ SSSG ว่า excluding T&E (top-up card) ตั้งแต่ก่อนจะมีการปรับปรุงการบันทึกรายการนี้แล้วนะครับ
      และการเปลี่ยนการบันทึกทึกคือมีมาตั้งแต่ 1Q13 & 2Q13 แล้วนะครับ ไม่น่าจะใช่ ไตรมาสที่ผ่านมา (ซึ่งครบจริงๆ คือรายได้ 3Q13 เป็นต้นมาจะไม่มีรายได้ของบัตรเติมเงินรวมเข้าไป)

      ผิดยังไงขอโทษด้วยนะครับ

  3. จริงๆ หยุดปันผลรีบใช้หนี้น่าจะดี แต่หุ้นคงร่วงกราว ทั้งที่ถึงปันผลออกมาก็ไม่กี่เปอร์เซนต์

  4. โอนเงินค่าต่ออายุสมาชิก253บาท ผ่านkbank เมื่อ07/08/57 แต่ยังไม่สามารถอ่านบทความได้ครับ

  5. จากประโยคที่ว่า “บริษัทมี EBITDA 7 เท่าของจำนวนหนี้…”

    ถ้า 7 ปีใช้หนี้หมด ดังนั้น ที่ถูกต้องควรจะเป็น “หนี้มีจำนวนเป็น 7 เท่าของ EBITDA …” หรือเปล่าครับ

    1. โอ้ว เข้าใจล่ะว่าตอนแรกทักทำไม ใช่ล่ะ ผมเขียนผิดครับ จะแก้ไขให้ตามนั้นครับ

  6. ขออีกคำถามนะครับ หากตัดภาระดอกเบี้ยออก ค่าใช้จ่ายในการควบรวมกิจการนั้นหมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาทางการเงินหรือเปล่าครับ

  7. Frontosaa เรื่องนี้ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน ว่าไปตามที่คุณเกรียงชัยพูดใน oppday แต่ไม่เห็นรายละเอียดจริงๆ เพราะเป็นส่วนที่บริษัทไม่จำเป็นต้องเปิดเผย

  8. ต้นทุนของ cpall ในการซื้อ makro ตอนนี้ หลังจากผ่านไป 1 ปี

    ซื้อมา = 787/20 = 39.35 บาทต่อหุ้น
    ดอกเบี้ยและค่าดำเนินการ ผ่านมาประมาณ 1 ปี คิดประมาณ 5% = 39.35*5/100 = 1.97 บาทต่อหุ้น
    ผ่านมา 1 ปี ได้ปันผลมา 0.8 บาทต่อหุ้น ( ไม่นับงวดล่าสุดที่จะได้อีก 0.35 บาทต่อหุ้น )
    เท่ากับว่าต้นทุนปัจจุบันของ cpall = 39.35 + 1.97 – 0.8 = 40.52 บาทต่อหุ้น โดยประมาณ
    คิดอย่างนี้ ถูกหรอคะ

    1. ที่จริงเงินปันผล CPALL เองก็คงควบคุมหรือสั่งการให้ MAKRO ปันผลมากน้อยแค่ไหนก็ได้

      ซื้อมาแล้วคุ้มหรือไม่ คิดตรงๆ ยาก เพราะขึ้นอยู่กับว่า CPALL จะเอา MAKRO มาสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากแค่ไหน ถ้าซื้อมาแล้วอยู่เฉยๆ ก็คงแพงแน่นอน

  9. ขยายสาขาไปเรื่อยๆ ก็น่าจะทำให้ EBITDA เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เข้าไปใกล้กับหนี้ที่ก่อเอาไว้

    แต่จะคุ้มไม่คุ้มขึ้นกับ จะขยายแมคโครได้มากมั้ย

    ถ้าไม่ ก็คือการเอาเงินผู้ถือหุ้นมาเทค โดยผู้ถือหุ้นไม่ได้อะไร

  10. คุณนรินทร์ คิดว่า มีความเป็นไปได้ มาก น้อยแค่ไหน ที่ บ. แม่ เทสโก้ จะขาย กิจการของเขา ในไทย ซึ่งเม็ดเงินคงมีปริมาณ มหาศาลแน่ๆเลย

  11. เห็นข่าวว่า CPALL + TRUE จะจับมือกันซื้อ​​ LH BANK คือ ลองๆ ดูแล้วการซื้อครั้งนี้ในแง่กลยุทธ์ทางธุรกิจแล้วคนได้ประโยชน์ คือ LH BANK กับ TRUE แต่นึกไม่ออกว่า CPALL จะได้ประโยชน์จากดีลนี้ยังไง

    ตรงส่วนนี้พี่โจ๊กมีความเห็นอย่างไรครับ

Comments are closed.