นั่งนับดู หุ้นในตลาดหลักทรัพย์บ้านเรา ก็มีหุ้นที่เกี่ยวกับธุรกิจทีวีดิจิตอล เยอะมากเหมือนกัน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
ระยะยาวยังเป็นที่สงสัยกันอยู่ว่า ธุรกิจนี้จะทำเงินได้แค่ไหน เพราะ ราคาประมูลสูงกว่าที่คิดกันไว้มาก ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็ไม่ได้น้อยไปกว่าค่าประมูล คู่แข่งขันก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก แถมยุคนี้ยังมีโซเซียลเน็ตเวิร์กและเน็ตเป็นสิ่งทดแทนอีก เทรนด์ทีวีในอเมริกาตอนนี้ก็ดูไม่ดีเลย แต่เชื่อว่าในช่วงปีแรกของการออกอากาศ น่าจะสร้างสีสันให้กับหุ้นกลุ่มนี้ได้พอสมควร ทั้งในแง่สตอรี่ใหม่ๆ และความที่เป็นของใหม่ ทำให้ยังมีโอกาสขยายตัวได้อยู่ ตลาดโฆษณาก็อาจใหญ่ขึ้นด้วย เพราะบริษัทเล็กก็มีโอกาสซื้อโฆษณาทีวีได้มากขึ้น เพราะอัตราค่าโฆษณาถูกลง เจ้าของช่องหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยได้เป็นเจ้าของช่องฟรีทีวีมาก่อนก็มีช่องทางเข้าถึงลูกค้าใหม่ๆ
ลองมาสรุปกันหน่อยว่า แต่ละบริษัทเกี่ยวข้องในส่วนไหนบ้าง
หุ้นที่ได้เป็นเจ้าของสถานีมากที่สุดน่าจะได้แก่ BEC เป็นเจ้าของช่องเด็ก ช่อง SD และ ช่อง HD อย่างละช่อง รวมสามช่อง ซึ่ง BEC มีทีเด็ดตรงที่เป็นผู้นำในการทำละครหัวค่ำ ซึ่งในโลกของฟรีทีวีเดิมนั้น ละครหัวคำ่คือรายการที่ดูดเม็ดเงินโฆษณาได้สูงสุด แต่ก็ไม่รู้ว่ายุทธศาสตร์แบ่งตัวเองออกเป็นสามร่าง (ครอบครัวข่าว ครอบครัวละคร ครอบครัวเด็ก) จะคิดถูกหรือผิดกันแน่ เพราะต้องกระจายทรัพยากรออกไปเยอะมาก ต้องรอดูกันต่อไปสำหรับตัวเก็งตัวนี้
MCOT ได้ช่องเด็ก และ HD ไปอย่างละช่อง รวมสองช่อง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ยังได้เป็นหนึ่งในสี่ผู้ให้เช่าใช้โครงข่าย ซึ่งทีวีดิจิตอลทุกช่องจะต้องมาเช่าเพื่อส่งสัญญาณให้คนที่ดูด้วยเสาหนวดกุ้ง (MUX เจ้าอื่นๆ ได้แก่ Thaipbs, กรมประชาสัมพันธ์, กองทัพบก) ซึ่ง MCOT ได้มาแบบขำๆ เพราะแลกกับการที่ตัวเองจะไม่ได้เป็นผู้ให้สัมปทานแก่ช่อง 3 อีกต่อไป แต่โอนสิทธินั้นไปให้กับ กสทช. แล้วลงมาแข่งขันกับคนอื่นๆ ใน level ที่เท่าเทียมกัน ในส่วนของ MUX ก็ต้องถือว่า MCOT มีแต่รับทรัพย์ เพราะผูกขาดกันอยู่แค่สี่ราย ในขณะที่ ช่องทีวีสองช่องก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าอุตสาหกรรมโดยรวมจะแข่งดุขนาดไหน แต่อย่างน้อยการที่ทำโมเดิร์นไนน์มานาน ก็น่าจะพอมีประสบการณ์
หุ้นอีกตัวที่ได้ 2 ช่องคือ TRUE ได้ช่องข่าว (TNN) และช่อง SD (True DTT) ซึ่งแม้จะไม่เคยทำฟรีทีวีมาก่อน แต่ก็ทำข่าวและทำรายการให้กับเคเบิลทีวีของตัวเองมานานแล้ว ยกช่องที่ทำอยู่แล้วมาฉายได้เลย แต่ปัญหาคือ จะทำให้มีคุณภาพดีขึ้นมาพอที่คุ้มกับที่ประมูลมาได้อย่างไร
กลุ่มเนชั่นเป็นกลุ่มที่ได้สองช่องเหมือนกัน แต่ผ่านหุ้นคนละตัว คือ NMG ได้ SD มาหนึ่งช่องคือ NOW และ NBC ได้ ข่าวมาอีกหนึ่งช่องคือช่อง Nation Channel ซึ่งปกติเป็นช่องดาวเทียมอยู่แล้ว ส่วน NINE ที่เป็นบริษัทในเครือเนชั่นอีกตัวพลาดหวังจากช่องเด็กไป กลุ่มนี้มีความพร้อมในด้านการผลิตรายการสูงอยู่แล้ว
กลุ่มสุดท้ายที่คว้าไปสองช่องคือ GRAMMY ได้ช่อง SD และ HD ไปอย่างละช่อง โดยเอาช่องที่ทำอยู่แล้วคือ GMM ONE มาลงช่อง HD ส่วนช่อง SD เป็นช่องทำใหม่ชื่อ BiG
ที่เหลือที่ได้ช่องเดียวก็มี RS, WORK, MONO, SLC, AMARIN ซึ่งดูเหมือนจะเป็นรายที่ทำช่องดาวเทียมอยู่แล้วทั้งสิ้น ก็ยกมาเป็นทีวีดิจิตอล ทั้งช่อง 8 ของ RS ช่อง Spring News ของ SLC ช่อง Workpoint TV เป็นต้น ส่วน MONO ทำช่องใหม่ แต่ตัวเองก็ทำทีวีดาวเทียมมาก่อนแล้ว คือ ช่องZaa ส่วน Amarin ช่อง Activ มาก่อน แต่คนดูน้อยมาก เลยปรับปรุงผังรายการใหม่หมด ยังไงๆ ทุกช่องก็คงต้องปรับปรุงรายการหมด เพราะกลุ่มเป้าหมายกว้างขึ้น WORK เองทำเกมส์โชว์มากมาย ก็ยังต้องขนละครซีรีย์มาลงเพิ่ม เพื่อความหลากหลาย การหาอะไรมาฉาย 24 ชม.และต้องมีคุณภาพมากพอที่จะโดดเด่นออกมาด้วยไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
ช่องที่เป็นบริษัทนอกตลาดก็ได้แก่ ไทยรัฐ, เดลินิวส์, ทีวีพูล, ช่อง 7, 3เอ (ทำข่าวให้ช่อง 5), PPTV ของหมอปราเสริฐ (ของส่วนตัวไม่เกี่ยวกับ BGH), VoiceTV (ชินวัตร) เป็นต้น
อีกตัวหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือ POST ที่แม้ว่าจะไม่ได้เป็นเจ้าของช่องกับเขาบ้าง แต่ว่าก็เซ็นสัญญาทำข่าวให้กับช่องทีวีพูล (THV) ไปแล้ว โดยได้เวลา 8 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งรายได้กันกับเจ้าของช่อง อาจจะเป็นวิธีที่ดีกว่าด้วยซ้ำที่ไม่ต้องลงทุนเองเยอะ เช่นเดียวกับ SPORT ที่แม้จะไม่ได้ทำสัญญากับเจ้าของช่องไหนเป็นทางการ แต่ก็ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับงานผลิตรายการจากช่องดิจิตอลทีวีจากหลายช่องอยู่เหมือนกัน ส่วน MATI นั้นก็ทำข่าวให้ Workpoint อยู่ ตอนนี้ผู้ผลิตรายการและบุคลากรกลายเป็นทรัพยากรที่ขาดแคลน เพราะช่องออกอากาศมีมากขึ้นอย่างมาก
หุ้นอีกตัวหนึ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ THCOM เพราะ กสทช.บังคับให้ช่องดิจิตอลทีวีทุกช่องต้องออกอากาศผ่านดาวเทียมทุกจานที่ใช้ดาวเทียมของไทยด้วย ทำให้ต้องมาเช่าช่องสัญญาณกับ THCOM ทุกราย สบายไปเลย และรวมไปถึง ผู้ให้เช่าเครือข่ายใยแก้วอย่าง SYMC ที่สามารถนำเสนอบริการให้กับดิจิตอลทุกช่องด้วย
นอกจากนี้ก็ยังมีหุ้นบางตัวที่เกี่ยวข้องกับการผลิตกล่องแปลงสัญญาณ สำหรับบ้านที่ยังใช้เสาหนวดกุ้งและทีวีอนาล็อคแบบเก่าอยู่ เช่น SAMART (กล่อง Strong) หรือ AJD หรือ MCOT เองก็ทำกล่อง แถมยังได้ขายผ่านเซเว่นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม น่าจะมีเหลือแค่ 30% ของทั้งหมดเท่านั้น ไม่ใช่ครัวเรือนใหญ่ และคู่แข่งขันในตลาดนี้น่าจะมีเยอะรายทีเดียว กสทช.ให้ใบอนุญาตคนทำกล่องไปไม่น้อยกว่าสิบเจ้า
ในอนาคต 3-5ปี ฐานผู้ชมจะมีโอกาสขยายตัวมากขึ้นกว่าระบบออกอากาศแบบเดิมรึเปล่าคะ
เนื่องจากราคาประมูลที่สูงกว่าที่คาด จะส่งผลต่อ ROAและROE แต่ละบริษัท(ที่ประมูล)ในระยะ 3ปีและ5ปีขึ้นไป มากน้อยขนาดไหนคะ
ตอบยากครับ ตอนนี้คิดว่ายังไม่มีใครรู้ เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่เรายังไม่เคยผ่านมาก่อน ช่องเยอะขึ้นก็จริง แต่คนก็มีทางเลือกเยอะขึ้นมาก โดยเฉพาะโซเซียลเน็ตเวิร์ก ในขณะที่การแข่งขันแย่งคนดูจะสูงขึ้น เพราะช่องเยอะจนไม่มีใครดูโดดเด่นเหมือนก่อน
ROA,ROE ก็คงต่ำลงโดยเฉลี่ย โดยเฉพาะบริษัทที่ประมูลใหญ่เกินขนาดของตัวเองไปมากๆ ยิ่งในช่วงที่ยังทำกำไรไม่ได้ ก็จะยิ่งมีผลกระทบต่อ ROA, ROE มาก
ผมคิดว่าจะเป็นหายนะของผู้ที่เข้ามาประมูลแบบไม่มีความพร้อม มีแต่ความโลภ ที่เห็นว่าช่วงเวลาไพรม์ไทม์ในอดีตนั้นขาดแคลน
ส่วนผู้ที่มีความพร้อมทั้งคอนเทนต์และเงินทุน เช่น ไทยรัฐ จะเป็นมหาอำนาจสื่อไทย ที่ใหญ่กว่าเดิม
ก็มีแววว่าจะเป็นอย่างนั้นครับ อาจมีบางบริษัทที่ทำกำไรได้ แต่คิดว่าคงเป็นส่วนน้อย
ไทยรัฐกับว๊อยส์น่าสนใจเพราะกลุ่มเป้าหมายชัดเจนแนวทางคอนเท้นก็ชัดเจน น่าจะรุ่งได้ไม่ยาก