0275: Diversity Breakdown

 

 

Solomon Asch นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเยล ทำการทดลองหนึ่งโดยแบ่งคนออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละแปดคน (ในทุกกลุ่ม เจ็ดคนเป็น “หน้าม้า” มีแค่คนเดียวเท่านั้นที่เป็นอาสาสมัครตัวจริง) โดยให้ตอบคำถามที่ง่ายมากๆ เช่น ในภาพข้างต้น กราฟแท่งไหนยาวที่สุด? ในการตอบคำถามแต่ละครั้ง สมาชิกทุกคนในกลุ่มจะต้องขานคำตอบของตัวเองดังๆ ให้คนที่เหลือฟังด้วยเสมอ

ในคำถามแรกๆ หน้าม้าทุกคนเลือกคำตอบที่ถูกต้อง ผลปรากฏว่า อาสาสมัครก็เลือกคำตอบได้ถูกต้องด้วย แต่ในคำถามท้ายๆ หน้าม้าถูกนัดแนะให้พร้อมใจกันเลือกคำตอบที่ผิดเหมือนกันทุกคน ผลปรากฏว่า มีอาสาสมัครมากถึง 35% ที่เลือกคำตอบที่ผิดตามหน้าม้าไปด้วย การทดลองนี้พิสูจน์ว่า การตัดสินใจของเราจะได้รับอิทธิพลจากคนอื่นสูงมาก (แม้แต่ในเรื่องที่ง่ายมากๆ ก็ตาม) ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ใช่แค่ขาวกับดำ คนอื่นจะยิ่งมีอิทธิพลต่อวิจารณญาณของเรามากเป็นพิเศษ และหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องการลงทุนนั่นเอง

เรื่องนี้นับว่าเป็นจุดอ่อนการลงทุนที่กำจัดได้ยากมาก ผมเองเป็นคนที่มีบุคลิกที่ค่อนข้างจะเป็น contrarian อยู่แล้วยังรู้สึกว่ายากเลย เวลาที่ผมค้นพบหุ้นดีๆ สักตัวหนึ่ง แต่ถ้าคนรอบข้างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ดี ผมก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกหวั่นไหวไปด้วย และทำให้พลาดโอกาสที่จะทำกำไรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเมื่อสามารถมองหุ้นตัวนั้นได้อย่างถูกต้อง และการรับฟังความเห็นของผู้อื่น กับการเชื่อคนอื่นเพราะชอบทำอะไรตามๆ กันนั้น เป็นอะไรที่แตกต่างกันเพียงแค่เส้นบางๆ เท่านั้น  

ผมว่าเป็นเพราะนักลงทุนในตลาดมีแนวโน้มอยู่แล้วที่จะเชื่ออะไรตามๆ กันนี่แหละที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นต้องมีฟองสบู่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ และจะไม่มีวันหมดไปตราบใดที่ตลาดหุ้นยังประกอบด้วยหน่วยเล็กๆ ที่เรียกว่าปุถุชนอยู่ บางทีก็เป็นฟองสบู่หุ้นรายตัว บางทีก็เป็นฟองสบู่ทั้งดัชนี ผมสังเกตว่า ณ เวลาหนึ่งๆ ในตลาดหุ้นมักมีหุ้นประมาณ 3-4 ตัวที่เป็น Talk of the Town คือไม่ว่าไปที่ไหนทุกคนก็จะเชียร์แต่หุ้น 3-4 ตัวนี้โดยให้เหตุผลที่ฟังดูเหมือนๆ กันมาก ไม่ค่อยมีความเห็นแตกต่าง และราคาของหุ้น 3-4 ตัวนี้ก็มักจะทะยานขึ้นมาได้อย่างน่าตกใจ และพอเวลาผ่านไป หุ้น Talk of the Town ก็มักจะเปลี่ยนหน้าไปเป็นหุ้นชุดใหม่ เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งหุ้น Talk of the Town แต่ละยุคก็มักจะมี Story ที่น่าสนใจในช่วงเหล่านั้นอยู่จริงๆ แต่พฤติกรรมเชื่ออะไรตามๆ กันได้ช่วยขยายผลให้ราคาหุ้นสามารถปรับตัวขึ้นไปได้มากกว่าเหตุผลที่แท้จริงของมันหลายเท่าตัว       

แนวความคิดที่แตกต่างหลากหลายเป็นกลไกตลาดอย่างหนึ่งที่ช่วยรักษาเสถียรภาพของตลาดไว้ได้โดยที่นักลงทุนทุกคนในตลาดไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล เพราะความเห็นที่แตกต่างจะคอย offset กันเอง (บางคน bullish เกินไป บางคน bearish เกินไป การซื้อขายของคนสองกลุ่มนี้จะหักล้างกัน) แต่เมื่อไรก็ตามที่ความเห็นแตกต่างหายไปจากตลาดเพราะทุกคน shutdown สมองของตัวเองแล้วหันมาทำอะไรตามๆ กันไป (diversity breakdown) กลไกอันนี้จะไม่ทำงาน และ booms กับ bursts ก็จะเกิดขึ้น ดังนั้นที่จริงแล้ว การรณรงค์ให้นักลงทุนทุกคนในตลาดใช้หลักการลงทุนเดียวกันหมด (เช่น รณรงค์ให้นักลงทุนทุกคนหันมาลงทุนระยะยาว) ไม่ว่าหลักการลงทุนนั้นจะดีหรือไม่ กลับไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะเป็นการทำลายความเห็นต่าง ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการรักษาเสถียรภาพให้กับตลาด (ถ้านักลงทุนทุกคนมองยาวเหมือนกันหมด หุ้นจะแพงเกินไปในระยะยาว และถูกเกินไปในระยะสั้น) ตลาดที่ดีควรมีนักลงทุนหลายๆ ประเภทอยู่ด้วยกัน (Growth vs.Value, Short-term vs.Long-term, Momentum vs.Contrarian, Long vs.Short) เพื่อคอยถ่วงดุลกันไว้ ตลาดควรส่งเสริมนักลงทุนทุกแนวอย่างเท่าเทียมกัน(ยกเว้นแนวทางที่ผิดกฏหมาย) มากกว่าที่จะ prefer แนวทางใดแนวทางหนึ่งมากกว่าแนวทางอื่น แนวการลงทุนต้องเป็นไปแบบเสรี ใครคิดว่าวิธีไหนเด็ดสุดก็ขุดเอามาใช้ให้เต็มที่ ตลาดจะพลอยได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากความพยายามแบบสุดๆ ในการสร้างผลตอบแทนของนักลงทุนแต่ละคนมากที่สุด

10 Replies to “0275: Diversity Breakdown”

  1. แย่งซื้อ ขึ้นแรง และข่าวดีทำให้ราคาขึ้นอีกเรื่อยๆ แย่งขาย ลงแรง และข่าวร้ายทำให้ราคาลงอีกเรื่อยๆ

  2. ดีใจจัง ที่กลับมาเขียนเรื่องลงทุนต่อ
    เริ่มเอียนๆกับประวัติศาสตร์ทางการเมืองแล้วครับ เปิดทีวีก้อมีแต่ข่าวการเมือง

  3. การรณรงค์ให้นักลงทุนทุกคนหันมาลงทุนระยะยาว น่าจะเป็นเรื่องดีครับ เพราะคนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นเป็นประเภทลงทุนระยะสั้น เป็นการพยายาม Balance SET ซึ่งยังไงระยะสั้นก็มีเม็ดเงินมากกว่าอยู่ดีครับ และคิดว่าไม่มีทางที่ Long term investor จะมีจำนวนมากกว่า Speculator ครับ (คาดว่านะ คาดว่า…)

  4. อ้าวเหรอ เพิ่งเขียนการเมืองตอนใหม่เสร็จพอดีเลย แต่คิดว่าน่าจะเป็นตอนสุดท้ายแล้ว ถ้าจะมีตอนต่อจากนี้ไปอีกคงเป็นแบบ “เกิดอยากจะเขียน” เพราะคิดว่าตอนที่ผ่านๆ มาน่าจะให้เห็นภาพพัฒนาการของการเมืองไทยได้พอสมควรแล้ว

  5. สำหรับผม ประวัติศาสตร์การเมือง ยังไม่เอียนนะ
    แต่ข่าวการเมืองช่วงนี้นี่ เอียนจริงครับ

  6. ผมชอบบทความการเมืองพี่โจ๊กครับ เพราะแทรกกลยุทธที่แต่ละคนนำมาใช้ บทความที่อื่นๆเขาว่ากันไปตามเนื้อผ้า ไม่ใช่แนวกลยุทธเลย
    ตอนนี้รอพี่เขียนReword systemsด้วยนะครับ(ทวง):D

  7. รอติดตามอ่านทั้งเรื่องการเมือง ทั้งเรื่องการลงทุนเลยค่ะ

  8. @captainbird เรื่อง bad reward system ยังมีนะครับ แต่ไว้นานๆ โผล่มาที ไม่งั้นเครียดครับ เหอๆ

  9. ขอทวงให้พี่ช่วยเขียนแนวการลงทุนแบบ Peter Lync หน่อยครับ ^^

  10. ผมก็ชอบเรื่องการเมืองที่พี่โจ๊กเขียนมากเลยครับ แต่จริงๆชอบทุกแนวแหละ 555+

    ได้อ่านบทความหลากหลายดีครับ

Comments are closed.