Debt Cycle

ตลาดหุ้นโดยรวมนั้นอาจจะผันผวนไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเราอาจจะมองว่าขึ้นอยู่กับความผันผวนของกำลังซื้อ ยอดส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐ ฯลฯ แต่ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อวัฏจักรเศรษฐกิจไม่น้อยเลย หรืออาจจะมากกว่าปัจจัยที่กล่าวมาเสียด้วยซ้ำ นั่นคือ 

วัฎจักรของการปล่อยสินเชื่อ (Debt Cycle)

ในระยะสั้น อัตราการปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์จะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง ถ้าธนาคารใจดีปล่อยสินเชื่อออกมามากๆ เพราะตัวเองก็อยากเติบโตเหมือนกัน ก็จะมีเม็ดเงินไหลเข้าระบบเศรษฐกิจมาก เพราะคนทำการค้ากู้เงินง่าย ก็กู้มาลงทุนกันใหญ่ เศรษฐกิจก็เติบโตสูง เพราะมีคนเอาเงินกู้มาซื้อของเต็มไปหมด ถ้าโดยศักยภาพแท้ๆ ของภาพเศรษฐกิจจริง เศรษฐกิจอาจจะโตได้ 1x หน่วย แต่มีการปล่อยสินเชื่อให้คนเอาเงินไปซื้อของมากขึ้นด้วย เศรษฐกิจก็อาจจะโตได้ถึง 2x หรือ 3x หน่วย เรียกได้ว่า สินเชื่อเป็นตัวคูณที่ทำให้ภาพเศรษฐกิจจริงยิ่งโตได้เกินศักยภาพ (แต่ทั้งนี้ช่วยได้ในระยะสั้นเท่านั้น ระยะยาวเศรษฐกิจก็ยังต้องเติบโตเท่ากับศักยภาพของมันเท่านั้น)

ตรงกันข้าม หากธนาคารพบว่าสินเชื่อที่เพิ่งปล่อยไปเยอะ เริ่มกลายเป็นหนี้เสีย ธนาคารก็ต้องรีบหยุดรูรั่วในฐานะการเงินของตัวเองด้วยการเบรคการปล่อยสินเชื่อ เงินที่เคยคล่อง ก็เริ่มฝืด คราวนี้ถ้าเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง แทนที่จะชะลอที่ 1x ก็จะชะลอที่ 2x หรือ 3x ด้วย เพราะว่ามีธนาคารช่วยเบรคให้แรงขึ้นด้วยการทำให้สภาพคล่องของคนทำธุรกิจฝืดไปหมดจากการลดการปล่อยสินเชื่อ

อาจกล่าวได้ว่า การปล่อยสินเชื่อ มีส่วนสำคัญที่ทำให้วัฏจักรเศรษฐกิจมีความรุนแรงยิ่งขึ้น

แต่นอกจาก Debt Cycle จะส่งผลต่อเศรษฐกิจแล้วสะท้อนมายังตลาดหุ้นทางอ้อมอ ตัว Debt Cycle เองก็ยังส่งผลต่อตลาดหุ้นโดยตรงอีกทางหนึ่งด้วย เพราะเวลาที่ตลาดการเงินฝืดเคือง มันก็กระทบไปถึง โบรกเกอร์ และตลาดตราสารหนี้ด้วย ทุกคนแย่งสภาพคล่องกันเพราะธนาคารไม่ปล่อยเงินกู้ ก็มาแย่งเงินกันในตลาดอื่นๆ โบรกเกอร์เองก็หาเงินกู้มาปล่อยมาร์จิ้นให้นักลงทุนได้น้อยลง และต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้นด้วย ทำให้นักลงทุนกลุ่มที่เล่นมาร์จิ้นเป็นหลักมีสภาพคล่องน้อยลง ก็เอาเงินมาซื้อหุ้นน้อยลง บางคนโดนฟอสเซลอีก ก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมตลาดหุ้นที่แย่ลงเพราะเศรษฐกิจอยู่แล้วให้ตกหนักลงอีก จาก 2x กลายเป็น 4x หรือ 6x ด้วย

Debt Cycle จึงมีผลต่อตลาดหุ้นมากเสียยิ่งกว่า Business Cycle เสียอีก (พวก Austrian Economists เชื่อว่า Debt Cycle สำคัญที่สุด เป็นต้นเหตุของวัฏจักรทั้งหมดเลยด้วยซ้ำ)

ตลาดหุ้นบ้านเรานั้น Debt Cycle มีผลอย่างมาก อย่างแรกเลย ในประเทศด้วยกันเอง ขาใหญ่บ้านเราเล่นมาร์จิ้นกันเยอะมาก ถ้าโบรกปล่อยเงินให้ขาใหญ่มากขึ้น ขาใหญ่ก็มีเงินมาลากหุ้น เพื่อช่วยปลุกให้ทุกคนมองโลกในแง่ดี ตลาดหุ้นก็ขึ้นไปเรื่อยๆ แต่พอโบรกเกอร์ปล่อยมาร์จิ้นลดลง ขาใหญ่ก็ต้องรีบ deleverage ตัวเอง เพื่อป้องกันความเสี่ยง ต้องลด position ลงแบบมีนัยสำคัญ ก็พาให้หุ้นลากลงอย่างรุนแรง

ประการที่สอง Debt Cycle ที่มาจากตลาดการเงินของโลกนั้น ก็ส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยอย่างมาก เมื่อ Fed ทำ QE หรือลดดอกเบี้ย ตลาดเงินดอลล่าร์ในตลาดโลกก็คล่องตัว พวก Hedge Fund ต่างๆ ซึ่งใช้เงินกู้ในการซื้อหุ้นเป็นหลัก ก็หาแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ก็หอบเงินกู้มาซื้อตลาดหุ้นไทยอย่างมากมาย พอ Fed ลด QE หรือขึ้นดอกเบี้ย ต่อให้เศรษฐกิจไทยไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่เป็นเพราะ Fund เหล่านี้จำเป็นต้องรีบคืนเงินที่กู้มาเล่น เพราะกู้มาเป็นส่วนใหญ่และตลาดเงินดอลล่าร์เริ่มตึงตัว รวมทั้งลูกค้าของ Fund เองเงินก็ตึง ต้องดึงเงินกลับเหมือนกัน ก็จำเป็นต้องขายหุ้นไทยจำนวนมหาศาล โดยไม่เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทย เพราะว่าไม่ใช่เหตุผลที่ต้องขาย แต่ต้องขายเพราะต้องลด debt level ของตัวเอง บางคนอธิบายว่า พวกฝรั่ง Panic แต่จริงๆ แล้วเขาไม่ได้ Panic แต่เขาจำเป็นต้องคืนเงินกู้ เพื่อลดความเสี่ยงของตัวเอง

บางคนเชื่อว่า เมื่อเงินไหลออกจากตลาดหุ้นสุดท้ายแล้วก็จะต้องกลับมา เพราะเงินไม่หายไปไหน (ทำนองเดียวกันกับสสารไม่หายไปจากโลก) แต่ที่จริงแล้ว การเพิ่มหรือลดดอกเบี้ยของเฟด นั้นสามารถทำให้ปริมาณเงินทั้งหมดในระบบเพิ่มหรือลดได้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ปริมาณเงินในระบบสามารถยืดหรือหดได้ เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลต่อความเต็มใจที่จะปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินทั้งระบบ และการปล่อยสินเชื่อนั้นทำให้ปริมาณเงิน (M2) ในระบบเศรษฐกิจเพิ่มหรือลดลงด้วย (ทั้งที่ ฐานเงิน หรือ M1 ไม่ได้เพิ่มขึ้นก็ตาม) สภาพคล่องของตลาดเงินดอลล่าร์จึงไม่ได้ทำให้เงินไหลไปไหลมาเท่านั้น แต่ยังทำให้เงินส่วนหนึ่งหายไปจากระบบได้ด้วย

โดยส่วนตัวแล้ว ผมถือว่า สภาพคล่องในตลาดเงินนั้นส่งอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากกว่าตัวเลข GDP มากมายนัก

14 Replies to “Debt Cycle”

  1. ขอบคุณครับ

    พอจะมีแนวทางในการคาดการณ์สภาพคล่องบ้างมั้ยครับ ?

    เท่าที่ผมเข้าใจก็เช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่กำหนดโดย กนง.

  2. ขอเคลียนิดนึงนะครับ M1 คือเงินทั้งหมดในโลก(หรือในประเทศนั้นๆ) M2 คือเฉพาะส่วนที่หมุนเวียนในธุรกิจ

    ถ้า Fed หรือ ธปท. อย่างใดอย่างนึง ขึ้นไป ลดดอกเบี้ย นั่นหมายถึง M2 ก็จะลดลง ผมเข้าใจถูกไหมครับ

    1. พิมผิดครับ ลดดอกเบี้ย M2 ก็จะเพิ่มขึ้นใช่ไหมครับ
      ปล. (M2<=M1)

  3. M1 คือ ธนบัตร และเงินที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับธนาคารกลาง

    ส่วน M2 คือ คือ M1 รวมกับเงินในบัญชีธนาคารของทุกคน

    ถ้าธนาคารกลางลดดอกเบี้ยนโยบาย จะส่งผลทางอ้อมให้ M2 เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นการจูงใจให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้ M2 เพิ่มขึ้นเนื่องจากการปล่อยสินเชื่อ

    1. ขอบคุณครับ
      ผมยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ ระหว่างธนาคารพาณิชย์กับ ธนาคารกลางเท่าไร
      บทความต่อๆ ไป อยากให้คุณนรินทร์เขียนเรื่องระบบธนาคารดูบ้างครับ ^^

  4. พอมีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ที่จะดู M2 ของทั้งโลกหรือเปล่าครับ หรือว่าหลักๆดูแค่ USD, JPY, EUR ก็พอแล้ว

    1. M2 ของทั้งโลก ไม่มีใครเก็บสถิติอย่างเป็นทางการ มีแต่ตัวเลขของของรายประเทศ ที่ธนาคารกลางประเทศนั้น ๆ เป็นคนเก็บ

      แต่เรารู้กันดีว่า มีเงิน offshore อยู่นอกประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเงินดอลล่าร์นอกสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า eurodollar ครับ

  5. อธิบายได้ชัดเจน ประเด็นน่าสนใจมากครับ

  6. เรื่อง margin loan ที่ส่งผลต่อหุ้นนั้นติดตามไม่ยากครับ

    ย้อนกลับไปต้นปีที่แล้ว ถ้าจำได้หรือลองไปหาข่าวเก่ามาดู broker ส่วนใหญ่ออกข่าวว่าใช้ margin loan จนเต็มวงเงินแล้ว

    นั้น imply ได้ว่าราคาหุ้นตอนนั้น”เฟ้อ”ที่สุด หรือ over-value แน่นอน

    ใครเข้าใจก็จะๆม่เสียหายมากนักครับ

  7. ขอบคุณมากครับ เป็นบทความที่ดีมีประโยชน์มากเลยครับ

Comments are closed.