ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

บทความชื่อ The Future of Jobs ในนิตยสาร ดิอีโคโนมิสต์ ฉบับวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา ได้ตั้งประเด็นที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าสนใจและเกี่ยวข้องกับการมองเรื่องการลงทุนด้วย 

บทความนี้ได้พูดถึงแนวคิดของ John Maynard Keynes นานมาแล้วเรื่อง ความไม่สมดุลย์ของเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดย Keynes ได้ให้ทัศนะว่า เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะทำให้ความต้องการแรงงานในระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนไปตลอดเวลา ซึ่งในบางยุคบางสมัยอาจนำไปสู่ภาวะการว่างงานของคนจำนวนมากๆ ได้

ที่ผ่านมา โลกไม่เจอปัญหานี้มากเท่าไร เพราะเวลาที่มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้น เช่น เครื่องจักรใหม่ ที่ทำงานแทนคนได้ อัตราการว่างงานก็ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขึ้นเสมอไป เพราะตำแหน่งงานที่หายไปเพราะเครื่องจักรตัวหนึ่ง จะถูกชดเชยด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้เราต้องการแรงงานในรูปแบบใหม่ๆ ที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอีก และเครื่องจักรก็ช่วยปลดปล่อยแรงงานจากงานที่ค่อนข้าง labor ไปสู่งานที่ใช้สมองหรือฉลาดมากขึ้น ทั้งคุณภาพชีวิตของคนและการจ้างงานจึงสามารถเพิ่มขึ้นไปพร้อมๆ กันได้

เราอยู่ในยุคดิจิตอล ที่เทคโนโลยีสารสนเทศกำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมาก ในช่วงแรกๆ คอมพิวเตอร์ช่วยปลดเปลื้องคนจากงานประเภทเสมียนเสียมาก เพราะการเกิดขึ้นของโปรแกรมจำพวกสเปรดชีต แม้ว่าตำแหน่งงานเสมียนจะน้อยลงเพราะเราเอา Microsoft Excel มาบวกเลขแทนเสมียน แต่ตำแหน่งงานด้านไอที อย่างเช่น โปรแกรมเมอร์ ผู้ดูแลระบบ IT Helpdesk ก็เพิ่มขึ้นอย่างมากมายเพื่อมาควบคุมการทำงานของคอมพิวเตอร์ ดังนั้น แม้ว่าตำแหน่งงานอย่างหนึ่งจะลดลง แต่ตำแหน่งงานใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นแทนที่ ทำให้การจ้างงานยังเพิ่มขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการว่างงานจะไม่เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราต้องสามารถพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้กับแรงงาน เพื่อให้เขาสามารถเปลี่ยนจากอาชีพหนึ่งไปสู่อาชีพใหม่ที่เป็นที่ต้องการได้ด้วย (เช่น ให้ประชากรเรียนเสมียนน้อยลง เรียนไอทีมากขึ้น) แต่ในบางกรณี ถ้าโลกไม่สามารถปรับตัวได้ดีพอ ปัญหาการว่างงานเป็นจุดๆ (structural unemployment) ก็จะเกิดขึ้น อย่างเช่นในปัจจุบันที่ประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้วว่างงานสูงมากทั่วโลก แต่ตำแหน่งงานที่ใช้ทักษะหรือความสามารถสูงๆ กลับขาดแคลนอย่างหนัก เพราะเราไม่สามารถพัฒนาประชากรส่วนใหญ่ให้ไปทำงานอย่างใหม่ที่ต้องใช้ทักษะที่สูงขึ้นได้มากพอ

ยุคนี้เทคโนโลยีสารสนเทศกำลังเข้ามาทำงานแทนมนุษย์มากขึ้นทุกวัน ทำให้อาชีพบางอย่างที่คนไม่เคยต้องแข่งขันกับเครื่องคอมพิวเตอร์ จะค่อยๆ ถูกคอมพิวเตอร์เข้ามาทำงานแทนที่มากขึ้น เมื่อก่อนนี้คอมพิวเตอร์เข้ามาทำงานแทนคนในเรื่องการคิดเลขเป็นหลัก แต่ทุกวันนี้ แม้แต่งานขายหรืองานบริการบางอย่างก็สามารถใช้คอมพิวเตอร์ทำแทนได้แล้ว คนในยุคต่อไปจึงต้องพยายามสร้างทักษะให้กับตัวเองในส่วนที่คอมพิวเตอร์ยังทำไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะทำให้ตัวเองสามารถหนีการแข่งขันจากคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเอง

ไอทีในยุคแรกๆ กระทบกับงานเอกสารและงานเสมียนก่อน โดยในช่วงแรกๆ มันจะทำให้ตำแหน่งงานพวกนี้เพิ่มขึ้น เพราะธุรกิจแสวงหาวิธีใหม่ๆ ที่จะใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์เพื่อทำงานเหล่านี้มากขึ้น แต่หลังจากนั้น มันก็จะเริ่มลดลงเมื่อคอมพิวเตอร์สามารถ automate งานแบบนี้ได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น แต่ปัจจุบันนี้ ไอทีเริ่มเปลี่ยนมากระทบงานด้านสื่อ ในช่วงนี้ งานทำนองนี้อาจมีเพิ่มขึ้น เพราะเรากำลังหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะใช้เทคโนโลยีปรับปรุงวงการสื่อให้ก้าวหน้าขึ้น แต่อีกไม่นานนัก มันจะเริ่มกระทบวงการสื่อในแง่ลบ เพราะชาวบ้านที่ไหนก็เริ่มทำตัวเป็นสื่อได้ มูลค่าเพิ่มของคนในวงการสื่อจึงลดลง

เป็นไปได้ว่า ในอนาคต งานที่ยังต้องการมนุษย์ทำอยู่ น่าจะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกเป็นหลัก เช่น นักจิตบำบัด ครูสอนโยคะ ครีเอทีฟ พระ ผู้ฝึกสอนกีฬา หมอฟัน ฯลฯ งานเหล่านี้อาจจะยังไม่เป็นงานที่จ่ายดีในโลกปัจจุบันมากนัก แต่ในอนาคต มันจะเป็นงานที่มีความต้องการของตลาดมาก เพราะเป็นงานที่คอมพิวเตอร์ยังตามมนุษย์ไม่ทัน

ดิอีโคโนมิสต์ ยังได้ให้ไอเดียไว้ด้วยว่า ทุกวันนี้ สินค้าที่เป็นสิ่งของ มักมีราคาต่ำลงอย่างรวดเร็ว เพราะความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการผลิต ทำให้คนที่อยู่อุตสาหกรรมผลิตสินค้า น่าจะมีค่าจ้างขึ้นช้า เพราะมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นได้ยากเนื่องจากของถูกลงแม้ว่าจะผลิตได้มากขึ้นทุกปีก็ตาม ตรงกันข้ามกับอุตสาหกรรมที่ยังต้องใช้คนเป็นหลักอยู่ เครื่องจักรทุ่นแรงได้น้อย น่าจะมีค่าแรงที่เพิ่มขึ้นได้เร็วกว่าภาคส่วนอื่นๆ ตัวอย่างเช่น งานแม่บ้าน งานทำอาหารที่มีรสนิยม วิชาชีพด้านการรักษาพยาบาล หรือธุรกิจสถาบันการศึกษาเป็นต้น

โดยส่วนตัวก็ค่อนข้างเห็นด้วยกับบทความนี้นะครับ ไอทีกำลังเข้าสู่ยุคที่จะเริ่มแทนที่งานระดับ White Collar มากขึ้น จากเดิมที่เข้ามาแทนงานที่ใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะเพิ่มผลิตภาพให้กับธุรกิจทุกชนิดมากขึ้น แต่กำไรอาจจะไม่เพิ่มขึ้นก็ได้ เพราะทำให้ธุรกิจเหล่านั้นกลายเป็นคอมโมดิตี้มากขึ้น แข่งขันราคาสูงขึ้น อุตสาหกรรมที่ดีกลับเป็นอุตสาหกรรมที่ไอทียังเข้ามาแทนที่ได้ยากอยู่ ส่วนใหญ่เป็นพวกธุรกิจบริการที่ซับซ้อน หรือเกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก ค่าแรงและผลกำไรในธุรกิจเหล่านี้น่าจะเพิ่มขึ้น และเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าธุรกิจทั่วไป

5 Replies to “ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี”

  1. กลายเป็นว่าประเทศที่เทคโนโลยีโตไปพร้อมกับ skill ของแรงงานกลับมีอัตราการว่างงานต่ำกว่าซะงั้น (บางทีการที่เศรษฐกิจชะลอตัว หดตัวหรือถดถอย ก็มีข้อดีเหมือนกันนะครับ)

  2. ชอบบทความนี้มากครับ

    ได้มุมมองใหม่ และ นำปใช้ได้ในระยะยาว

    ขอบคุณครับ

  3. “ชาวบ้านที่ไหนก็ทำตัวเป็นสื่อได้ ”

    ทุกวันนี้ podcast ,youtube สะท้อนภาพนี้ชัดมากคับ
    เข้าใจว่า podcast ใน ตปท ค่าตัวพิธีกร ก็ดีใช้ได้เลยคับ

  4. กลุ่มอาชีพต่อไปในอนาคตที่จะโดนผลกระทบอย่างจังจากเทคโนโลยี น่าจะเป็นแรงงานมีฝีมือด้วยนะครับ ซึ่งสมัยก่อนใช้ทั้งเวลาและฝีมือกว่าจะได้งานออกมาแต่ละชิ้น แต่ปัจจุบันนี้ 3D printer พัฒนาขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด จนเริ่มสามารถปริ้นสิ่งของที่มีความซับซ้อนออกมาได้จำนวนมากในเวลาสั้นๆ

  5. ทุกวันนี้มี robot มาช่วยเสริฟอาหารที่ mk แล้วครับ

Comments are closed.