Comments on QE tapering

เรากำลังอยู่ในช่วงที่เงินกำลังหดหายไปจาก emerging markets นะครับ และดูเหมือนปรากฏการณ์อันนี้จะดำเนินต่อไปอีกนาน เพราะกว่า Fed จะลด QE จนหมด และค่อยๆ กลับมาขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้กลับไปสู่ระดับที่ดูปกติตามกรอบเวลา ก็น่าจะกินเวลาอย่างน้อยอีกหลายปีทีเดียว

สภาวะแวดล้อมแบบนี้ ไม่ใช่สภาวะแวดล้อมที่เอื้อกับตลาดเกิดใหม่เท่าไรนัก มีคำกล่าวหนึ่งที่บอกว่า ตลาดหุ้นไม่ได้เกลียดข่าวร้าย และตลาดหุ้นเกลียดความไม่ชัดเจน  เพราะถ้ามีข่าวร้าย (Bad News) มากๆ แต่เกิดขึ้นแล้วจบเร็ว ตลาดทุนจะลงแรงๆ พรวดเดียวเพื่อปรับฐาน แล้วจากนั้นจะยืนได้เลย แต่ถ้าเป็นความไม่ชัดเจน (Uncertainty) เช่น ไม่รู้ว่าจะดีหรือร้าย หรือไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไรแน่ แบบนี้ ตลาดหุ้นมักจะซึมจนถึงค่อยๆ ไหลลงในระยะยาว ซึ่งเป็นบรรยากาศที่โหดร้ายต่อนักลงทุนยิ่งกว่าข่าวร้ายเสียอีก

ผมว่าข่าว QE tapering ก็มีลักษณะคล้ายๆ แบบนั้น คือ เรารู้แน่ๆ ล่ะว่า สุดท้ายแล้ว เฟดก็คงจะลด QE ไปให้ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่ขนาดและกรอบเวลาที่จะลด ยังไม่ชัดเจน เพราะยังต้องลุ้นไปตลอดทางว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นเร็วหรือช้าแค่ไหน ตัวเลขยังพลิกได้ตลอด ถ้าฟื้นเร็วเกินคาด เฟดก็กระชับแผนให้เร็วขึ้น แต่ถ้าไม่ฟื้นอย่างที่คิด เฟดก็อาจยืดแผนให้ช้าออกไปอีก ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนที่ยังต้องลุ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งก็อาจจะต้องลุ้นแบบนี้ไปอีกนาน เพราะกรอบเวลาของ QE Tapering นั้นยาวมาก กลายเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นเกิดใหม่ไม่ให้วิ่งไปไหนได้ไกล

ที่ผ่านมา ผมเชื่อว่า มีความชัดเจนในระดับหนึ่งแล้วว่า เฟดจะลด QE ไปเรื่อยๆ แน่นอน ดังนั้นที่ผ่านมา ตลาดเกิดใหม่จึงลงมารอล่วงหน้าไประดับหนึ่งแล้ว ดังนั้นหากต่อจากนี้ไป เฟดลด QE ไปตามแผน ตลาดเกิดใหม่ก็อาจจะลงไม่แรงมากเท่ากับช่วงที่ผ่านมาแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน ภาพที่สภาพคล่องยังเป็นขาลงต่อไปเรื่อยๆ ได้อีกหลายปีอยู่ จะยังกดดันตลาดหุ้นเกิดใหม่ไม่ให้กล้ากลับมาเป็นกระทิงไปอีกนาน

สรุปแล้ว ภาพที่ตลาดหุ้นเกิดใหม่ไม่ไปไหนอีกนานยังมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้สูงอยู่ ควรปรับกลยุทธ์การลงทุนของเราให้เตรียมพร้อมรับสภาพแบบนั้นให้ได้ด้วย ถึงจะเป็นแผนบริหารเงินที่รอบคอบครับ

21 Replies to “Comments on QE tapering”

    1. ถึงหุ้นสหรัฐจะดูแพงแล้วในเวลานี้ แต่ก็คิดว่าน่าจะยังเป็นขาขึ้นอยู่ครับ

  1. น้ำมันก็มี ก๊าซก็มี นวัตกรรมก็มี

    แถมยังมี QE เป็นไม้ตายอีก ตอนเศรษฐกิจพัง

    อำนาจต่อรองสูงมากๆ

  2. กลยุทธตอนนี่ควรทำยังไงคับ
    ถือเงินสดไว้บ้าง หรือ เป็นเวลาสะสมหุ้นที่ราคาลงมา หรือรอๆไปก่อน

  3. ตลาดหุ้นไม่ได้เกลียดข่าวร้าย “และ”ตลาดหุ้นเกลียดความไม่ชัดเจน

    ตรงและ ต้องเป็น “แต่” ป่ะครับพี่

    ขอบคุณกับบทความครับ

  4. สภาวะตลาดหุ้นซึมๆ แล้วหมายถึงว่าเศรษฐกิจ real sector จะซึมตามด้วยรึเปล่าครับ

    1. ปกติ ตลาดหุ้นจะเป็นตัวบ่งชี้อนาคตของเศรษฐกิจได้ เพราะถ้า sentiment ไม่ดี คนจะขายหุ้นก่อน ส่วนเศรษฐกิจภาคจริงจะใช้เวลาอีกนานกว่าจะเห็นผล ดังนั้น ตลาดหุ้นจะเร็วกว่าเศรษฐกิจ

      อีกทั้งถ้าเป็นเศรษฐกิจที่คนเล่นหุ้นเยอะมากๆ และเป็นเศรษฐกิจบริโภค เช่น สหรัฐ ถ้าตลาดหุ้นดี คนจะมีเงินเยอะ ก็จะใช้จ่ายเยอะ ทำให้เศรษฐกิจจริงดีตามไปด้วย

      ดังนั้น ตลาดหุ้นจะบอกอะไรเกี่ยวกับเศรษฐกิจภาคจริงในอนาคตได้

      แต่สำหรับกรณีนี้อาจจะไม่ใช่ เพราะตลาดเกิดใหม่ขึ้นอยู่กับเงินร้อนเยอะ บางทีเงินร้อนเข้าหรือออกก็ส่งผลกับตลาดหุ้นได้เยอะมาก โดยที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจภาคจริงเลย

      ผมว่าเศรษฐกิจภาคจริงของไทย กำลังอยู่ในภาวะชะลอเหมือนกัน เนื่องจากการลดการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในช่วงที่ผ่านมา เพราะกังวลเรื่องหนี้เสีย และปัจจัยการเมืองที่ทำให้บรรยากาศการลงทุนไม่ดี แต่เป็นปัจจัยที่เกิดจากเศรษฐกิจเอง คงไม่ได้เกิดจากตลาดหุ้น ถ้าการเมืองจบ สักพักหนึ่งก็น่าจะกลับมาได้ครับ

      ตลาดหุ้นบ้านเรายังมีลักษณะที่แปลกอีกอย่างคือ เศรษฐกิจภายในประเทศอธิบายการเคลื่อนตัวของ SET ได้น้อยมาก เพราะส่วนประกอบของ SET เป็นหุ้นพลังงานและปิโตรเคมีเยอะมาก ในขณะที่เศรษฐกิจไทยเป็นภาคส่งออกซะเยอะ บางทีเศรษฐกิจไม่ดี แต่หุ้นขึ้นเอาขึ้นเอาก็เป็นบ่อย

    2. ขอบคุณสำหรับคำตอบครับ ผมก็คิดอย่างนั้นเช่นเดียวกัน ตลาดบ้านเรา market cap ค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับตลาดใหญ่ๆ พวกเงินร้อนจากการเกร็งกำไรเข้าออกส่งผลต่อดัชนีตลาดไทยได้ง่าย แต่ก็สงสัยว่าต่างชาติทะยอยขายออกมาเรื่อย แต่ช่วงนี้ดูเหมือนดัชนีตลาดไทย พวกกองทุนคอยพยุงตลาดไว้ ดัชนีเลยไม่ค่อยลงเท่าไร ส่วน GDP growth ของไทย ตั้งแต่ครึ่งปีหลังก็ดูไม่ค่อยสวยเท่าไร ปรับเป้าลงตลอด และดูเหมือนว่ากำลังซื้อในประเทศถดถอยลง จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังไม่นิ่ง ผู้คนระมัดระวังเรื่องการลงทุน จับจ่ายใช้สอย

      1. กองทุนอาจจะเก็งว่าการเมืองใกล้จะจบแล้ว จึงเข้าไปช้อนซื้อไว้ก่อนใคร ซึ่งถ้าหากคิดถูกก็คงกำไร แต่ถ้าคิดผิด การเมืองยังลากยาว ก็อาจจะถล่มกันลงมาอีกรอบ

  5. ขอถามคำถามแบบอ่อนหัด คำถามนึงคับ
    ถ้า Fed ลด QE เมื่อไร นั่นหมายถึง การที่ Fed ดึงเงินกลับ ทำให้ปริมาณเงินในระบบ ของทั้งโลกลดลง ?? อะไรแบบนี้รึเปล่าครับ

    1. สำหรับผมคิดว่าเงินในระบบไม่ลดลงน่ะครับ เพียงแต่ว่าไม่มีเพิ่มมากขึ้นในอัตราเร่งที่มากกว่าปกติจากการอัดฉีดด้วยQE การทำQE คือการอัดฉีด ให้เงินมันล้นๆแบบหลอกๆ แล้วเศรษฐกิจ ก็จะเดินหน้าของมันไปเองจนกระทั่งตั้งตัวได้ ไม่รู้คิดถูกหรือไม่ รอคำตอบคุณสุมาอี้อีกทีครับผม

      1. ตัวแปรสภาพคล่องในประเทศคงไม่ได้ลดลงเท่าไร แต่เนื่องจากเงินฝรั่งอัดฉีดติดต่อกันมานาน 4 ปี ฟองสบู่เก่าจึงยังมีอยู่ คงต้องใช้เวลาพอสมควรในการไล่ฟองสบู่เก่าครับ

    2. ลืมไปอีกอย่างครับ เงินถ้าจะหายไปจากระบบก็มีกรณีเศรษฐกิจพัง ธุรกิจพังเกิดหนี้เสีย NPL เงินเลยล่องหนหายไป ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่ายรึเปล่าครับ เช่นกรณี หนี้ subprime ของอเมริกา

  6. ส่วนตัวตอนนี้มองไปที่ผลประกอบการของบริษัทเป็นหลักอย่างเดียวละครับ ต่อให้ราคามันนิ่งเพราะ qe แต่ถ้าเราซื้อที่ราคาถูกเงินปันผลที่ได้มันจะช่วยเยียวยาเอง สุดท้ายหุ้นไหนที่มีผลประกอบกสรดีๆเดี๋ยวเงินมันก็ไหลเข้ามาเอง

  7. ถ้าเมกาไม่ฟื้นจริง มีโอกาสจะเกิด QE รอบใหม่หรือเปล่าครับ

  8. ผมคิดว่ากลยุทธ์ในการลงทุนหลักๆคือการเลือกหุ้นที่จะโตได้ด้วยผลกำไรของบริษัทมากกว่าโตตามตลาด (Mr.Market ปรับ PE ให้สูงขึ้นตามสภาวะตลาดกระทิง) ดังนั้นช่วงนี้อาจถือได้ว่าเป็นโอกาสสำหรับนลท.ที่ขยันและทำการบ้านครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *