ในทางทฤษฏีแล้ว เวลาบริษัทประกาศข่าวเพิ่มทุน ราคาหุ้นควรจะลงมากกว่าขึ้น เหตุเพราะ ประการแรก การเพิ่มทุนก่อให้เกิด Dilution Effect ตัวแบ่งกำไรมีมากขึ้น ทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง ถึงแม้ว่า การเพิ่มทุนอาจเป็นการขยายกิจการ แต่กว่ากำไรเหล่านั้นจะเกิดขึ้นจริงๆ ก็ต้องใช้เวลาอีกนาน รวมทั้งยังมีความไม่แน่นอนอีกด้วย ดังนั้นในช่วงที่จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นแล้ว แต่กำไรยังไม่เพิ่ม กำไรต่อหุ้นต้องลดลงแน่ๆ ราคาหุ้นจึงน่จะตอบรับในเชิงลบก่อน
ประการต่อมา เวลาบริษัทมีโครงการธุรกิจใหม่ๆ บริษัทอาจเลือกแหล่งเงินทุนจากการกู้เงิน หรือว่าเพิ่มทุนก็ได้ แต่การที่บริษัทเลือกจะเพิ่มทุนนั้น ย่อมแสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นใจ หรือมั่นใจน้อยกว่าการกู้ เพราะถ้ากู้มาลงทุน เจ้าของย่อมได้ upside ไปทั้งหมด หรืออาจแปลความได้ว่า ฐานะการเงินของบริษัทไม่ดีพอ กู้เงินเพิ่มอีกไม่ได้แล้ว ฯลฯ แบบไหนก็แล้วแต่ล้วนแต่เป็นสัญญาณในเชิงลบทั้งสิ้น ในกรณีนี้ นักลงทุนตีความการเพิ่มทุนในลักษณะของ Signaling อย่างหนึ่ง ที่ออกมาจาก insider (ผู้บริหาร)
แต่ในทางปฏิบัติ เรามักจะเห็นการตอบสนองของราคาหุ้นในทางตรงกันข้ามอยู่บ่อยๆ แทนที่หุ้นจะลง กลับกลายเป็นขึ้น หรือบางทีก็ขึ้นเยอะมากด้วยซ้ำไป ปรากฏการณ์แบบนี้ อาจทำให้เราฉุกคิดได้หลายอย่าง
ถ้าหากผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นหลักของหุ้นตัวนั้น ไม่มีอิทธิพลที่จะควบคุมราคาหุ้นของตัวเองได้เลย ผลน่าจะออกมาเหมือนกับทางทฤษฏี แต่ถ้าควบคุมได้ เราในฐานะเจ้าของบริษัทย่อมอยากให้หุ้นขึ้นไปเยอะๆ ก่อนที่จะเพิ่มทุน เพื่อให้สามารถตั้งราคาหุ้นเพิ่มทุนได้สูงๆ เพราะราคาในกระดานย่อมเป็นสิ่งที่ investors ใช้เป็น benchmark ฉะนั้น การที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปอย่างมาก อาจเป็นหลักฐานที่แสดงว่า ผู้ถือหุ้นหลักมีกำลังภายในมากพอที่จะกำหนดราคาหุ้นในกระดานให้ขึ้นหรือลงตามใจชอบได้ ไม่มากก็น้อย ด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม พูดง่ายๆ ก็คือ หุ้นมีเจ้ามือ
การสร้างราคาในกระดานนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีเอาเงินมาทุ่มซื้อเพื่อลากหุ้นเสมอไป อิทธิพลของผู้ถือหุ้นหลักหรือผู้บริหารอาจมาจากความสามารถในการออกข่าวดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ผิดกติกา จะว่าไปแล้ว ผู้บริหารมีหน้าที่ต้องสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนอย่างเต็มที่ก่อนที่จะประกาศเพิ่มทุน โดยชี้แจงว่าบริษัทมีโครงการลงทุนอะไร และโครงการเหล่านั้นมีความน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่เวลาประกาศเพิ่มทุนออกไปแล้ว จะไม่กระทบราคาหุ้นอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากความไม่ชัดเจนของข้อมูล แต่ก็มีบ่อยเหมือนกันที่ ผู้บริหารเป็นคนพูดเก่งมากเสียจน ไม่ใช่แค่ประคองราคาหุ้นได้เท่านั้น แต่ราคาหุ้นยังทยานขึ้นมากเกินจริง ซึ่งมีโอกาสทำให้ปรับตัวลงภายหลังแบบรุนแรงได้ หลังจากเพิ่มทุนได้แล้ว และกำไรยังไม่มาทันที แต่ผู้บริหารเลิกให้ข่าว เพราะเห็นว่าไม่จำเป็น เพิ่มทุนได้แล้ว
ที่จริงแล้ว การออกข่าวดีเยอะๆ เพื่อปั่นราคาหุ้นให้ปรับตัวขึ้นไปมากๆ ก่อนที่จะประกาศข่าวเพิ่มทุนนั้น จะมองว่าไม่ดีเสมอไปก็ไม่ได้ เพราะในแง่หนึ่ง มันก็เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนเหมือนกัน แต่เป็นบรรดานักลงทุนที่เป็นแฟนพันธ์แท้ของหุ้นตัวนั้นที่ซื้อและถือหุ้นตัวนั้นในระยะยาว เพราะถ้าหากราคาหุ้นนิ่งมานาน แล้วพอประกาศเพิ่มทุนแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ราคาหุ้นก็ร่วงลงแรงๆ นักลงทุนหน้าใหม่ที่ไม่เคยฝากผีฝากไข้กับบริษัทมาก่อนกลับกลายเป็นคนที่เข้าไปช้อนซื้อหุ้นได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่แฟนพันธ์แท้ถือมาตั้งนานเสียอีก ดังนั้นการช่วยออกข่าวให้ราคาหุ้นยกตัวขึ้นไปก่อน จึงเท่ากับเป็นการป้องกันนักลงทุนขาจรได้ซื้อหุ้นตัวนั้นในราคาที่ต่ำกว่าคนที่เป็นแฟนพันธ์แท้ของหุ้นตัวนั้นที่รักกันจริงและอยู่กับบริษัทมายาวนานกว่า ซึ่งในแง่นี้ก็เป็นเรื่องที่ควรกระทำอยู่ไม่น้อย
นักลงทุนเองต่างหากที่จะต้องมีหน้าที่ “สำเหนียก” หรือรู้จักมองสถานการณ์อย่างเข้าใจว่า ก่อนเพิ่มทุน บริษัทต้องมีหน้าที่ทำราคาหุ้นให้ดีที่สุด เพื่อให้ได้ราคาเพิ่มทุนที่ดีที่สุด เพื่อป้องกันผู้ถือหุ้นเก่า (ซึ่งรวมถือรายย่อยด้วย) สาวกหน้าใหม่ของบริษัทควรจ่ายแพงกว่า เราจึงไม่ควรเคลิบเคลิ้มกับข่าวดีในข่าวที่บริษัทต้องการจะเพิ่มทุน เพราะเข้าใจว่า บริษัทมีหน้าที่ต้องปกป้องผู้ถือหุ้นเดิมด้วยการทำให้ราคาหุ้นร่วงลงน้อยที่สุดในช่วงที่จะประกาศเพิ่มทุน
คล้ายๆ บทความนี้นะครับ http://www.dekisugi.net/archives/21075
ชอบคำว่า”สำเหนียก” จัง
ชอบมากครับที่ขาจรควรจะซื้อแพงกว่าแฟนพันธ์แท้ ไม่นั้นต่อไปก็คงไม่มีใครอยากถือหุ้นนานๆ เพราะคนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ว่าเกมของเจ้าของจะเป็นอย่างไร การช่วยผู้ถือหุ้นที่ลงทุนกับบริษัทมานานก็ถือว่าไม่โหดร้ายกันเกินไปครับ
fund flow, qualitative, งบการเงิน, psychology, เกมส์บนกระดาน ครบเครื่องเลยครับ อ่านบทความพี่แล้วผมโตขึ้นเยอะเลย