ภาวะตลาด – กันยายน 2557

ภาวะตลาดหุ้นไทยในเวลานี้ ถ้าหากจะเรียกว่าเป็นภาวะกระทิง ก็น่าจะได้ หุ้นดีราคาถูกเป็นสิ่งที่หาได้ค่อนข้างยากในเวลานี้ แล้วอะไรทำให้เป็นเช่นนั้น?

ปัจจัยหนึ่งที่ น่าจะมีส่วนอย่างมากก็คือนโยบายการเงินที่ค่อนข้างหลวมผิดปกติของบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วในยุคนี้ ทำให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆ พองโต ซึ่งรวมถึงหุ้นด้วย ตลาดหุ้นในยุคนี้ก็ดูจะมองตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นทางบวกไปหมด เช่น ถ้าตัวเลขออกมาดี ก็มองดี แต่ถ้าตัวเลขออกมาไม่ดี ก็ยังมองดีอีก เพราะมองว่า ธนาคารกลางอาจจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ ออกมา หรือคงมาตรการเดิมต่อไปอีกระยะ ทำให้ตลาดหุ้นดีอีกเหมือนกัน และแม้ว่าสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มลดมาตรการลงไปเรื่อยๆ แต่นักลงทุนก็ยังมองว่ายุโรปน่าจะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพราะเศรษฐกิจยุโรปยังไม่ดีขึ้น ญึ่ปุ่นและจีนก็เช่นเดียวกัน สรุปแล้ว กระแสเงินจึงไม่ได้กลับสหรัฐฯ มากอย่างที่น่าจะเป็น  

ปัจจัยในประเทศก็เอื้อต่อภาวะกระทิงเช่นกัน แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะยังไม่ดีขึ้นชัดเจนนัก แต่เงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ก็ยังคงอยู่ในภาวะล้น คนมีเงินก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร เอาไปขยายธุรกิจก็เสี่ยงเพราะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี โอกาสทางธุรกิจก็มีน้อย ดอกเบี้ยเงินฝากของต่ำเตี้ย เอาเงินออกไปต่างประเทศก็ทำได้จำกัดมาก ทองคำก็ยังดูเป็นขาลง ตลาดอสังหาก็ยังล้นตลาดอยู่ หุ้นจึงกลายเป็นตัวเลือกที่ดูดี เมื่อเทียบกับตัวเลือกอื่นๆที่แย่กว่า แม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ดีก็ตาม ดูอาการของ SET Index แล้วก็รู้สึกเหมือนกับว่า มีเงินอีกจำนวนมากของคนไทยที่ยังต้องการจะใส่เข้ามาในนี้ ถ้า SET ตกหนักๆ ก็พร้อมที่จะเด้งกลับมาได้ตลอด เพราะยังมีเม็ดเงินอีกจำนวนมากที่อยากจะเข้ามาในนี้ แต่ยังไม่ได้เข้า เป็นต้น

และก็ดูเหมือนว่า ปัจจัยทั้งสองประการนี้จะไม่ได้เป็นแค่ปัจจัยระยะสั้น แต่เหมือนเราจะต้องอยู่กับสภาวะแบบนี้ไปอีกนานหลายปี คล้ายๆ กับว่า มันเป็นแนวโน้มของตลาดการเงินยุคโซเซียลเน็ตเวิร์กเสียด้วยซ้ำ คือ ตลาดหุ้นจะแพงอยู่เกือบตลอดเวลา นานๆ ทีก็จะตกหนักๆ สักที แต่ก็ไม่นาน มักจะกลับมาแพงเป็นปกติอีกเหมือนเดิม เป็นเช่นนี้เรื่อยไป

ในภาวะแบบนี้ ใครที่ยึดติดกับการซื้อหุ้นถูกอย่างเหนียวแน่น (Classic VI) ก็จำเป็นต้องถือเงินสดรอ ซึ่งก็มักจะพบว่าต้องรอนานถึงนานมาก และพอหุ้นลงจริงๆ ก็อาจจะลงมาไม่ได้มากนัก คือลงจากแพงมากเป็นแพงธรรมดา แล้วก็เด้งกลับเลย ไม่มีโอกาสได้ซื้ออยู่ดี เป็นต้น กลายเป็นต้องแบกต้นทุนค่าเสียโอกาสในการลงทุนไปมหาศาลจากการถือเงินสดไว้เฉยๆ บางทีก็ปรับทัศนคติลงบ้าง เช่น แทนที่จะรอซื้อหุ้นที่ถูกมากๆ เท่านั้น ก็อาจจะหันมายอมรับการซื้อหุ้นที่ราคาเหมาะสมก็ได้ เป็นต้น ก็อาจช่วยกลยุทธ์ในการลงทุนของเราเหมาะสมกับตลาดหุ้นยุคนี้มากขึ้น หรือถ้าผ่อนปรนขึ้นแล้ว หุ้นก็ยังแพงไปอยู่ ก็อาจใช้วิธีเปลี่ยนวิธีลงทุนจากการซื้อเป็นพอร์ต กลายมาเป็นการซื้อแบบ Dollar Cost Averaging (DCA) แทน เกลี่ยเงินที่ซื้อออกไปในช่วงเวลาที่ยาวมากๆ เพื่อให้สามารถซื้อหุ้นตอนแพงได้ เพราะถือว่าซื้อถัวเฉลี่ยหลายๆ ต้นทุนไป

บางทีก็รู้จักยืดหยุ่นในวิธีการที่ลงทุนเสียบ้าง เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นเรื่องที่ต้องมีเหมือนกัน เพราะเราต้องเข้าใจว่า เราอยู่ในยุคที่นโยบายการเงินโลกผ่อนคลายแบบผิดปกติ การยึดมั่นในหลักการดั่งเดิมอย่างเหนียวแน่นโดยไม่สนใจปัจจัยในเชิงโครงสร้างของตลาดเงินที่เปลี่ยนแปลงไปเลย ก็อาจเป็นวิธีการลงทุนที่ตึงเกินไปครับ   

14 Replies to “ภาวะตลาด – กันยายน 2557”

  1. ถ้าขายหุ้น ส่วนหนึ่งแล้วเอาไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ดีไหมครับ เพราะดูแล้วเหมือนอสังหาจะมีราคาแพงขึ้น

  2. อึมไม่รู้ว่าผมสื่อความหมายตรงกับที่ตั้งใจจะสื่อรึเปล่า

    แค่อยากบอกว่า บางทีสภาวะหุ้นแพงตลอดเวลา เพราะดอกเบี้ยต่ำและทางเลือกมีน้อย มันกลายเป็นสภาวะถาวรของโลกไปแล้ว ดังนั้น หุ้นที่เคยมีราคาเหมาะสม X ก็เปลี่ยนเป็น X++ เพราะดอกเบี้ยต่ำ discount rate ต่ำ Fair Value จึงสูงขึ้น แม้ว่า Free Cash Flow เท่าเดิม

    และธนาคารกลางสมัยนี้ก็ผ่อนคลายตลอด ถ้าดอกเบี้ยต่ำทำให้เกิดวิกฤต ก็จะกลับมาแก้ปัญหาด้วยดอกเบี้ยที่ยิ่งต่ำลงไปอีก ต่างกับสมัยก่อนที่จะขึ้นดอกเบี้ย

    ภาวะแบบนี้ส่งผลกับทุก asset ซึ่งรวมอสังหาด้วย

  3. ขอบคุณครับ

    แม้ว่าสภาพตลาดขณะนี้ที่อาจอยู่ในเกณฑ์หุ้นราคาสูงๆแล้ว ก็ไม่ควรขาย หรือ ทยอยขายบ้าง ใช่มั้ยครับ

    เคยอ่านเจอในที่อื่นๆว่า มี นลท ที่พอร์ตลงทุนใหญ่ๆ ได้แบ่งเงินไปลงทุนหุ้น ในเวียตนาม จีน ญี่ปุ่น เกาหลีบ้าง เพราะเค้าคิดว่า ราคาหุ้นในประเทศดังกล่าวมีราคาถูกกว่า ในไทย คุณนรินทร์มีความคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ ขอบคุณครับ

  4. ก็แน่นอนครับว่าถ้าเรามีทางเลือกที่ดีกว่าก็ย่อมสร้างโอกาสที่ดีกว่า ถ้าตลาดหุ้นเราแพงแล้วยังมีตลาดหุ้นอื่นที่ถูกกว่าอยู่ การแบ่งเงินไปลงทุนก็เป็นการสร้างโอกาสที่ดี

    ส่วนหุ้นไทยควรขายหรือไม่นั้น อันนี้ตอบไม่ถูกครับ บางทีเราแค่รู้ว่าหุ้นแพง แต่ว่าเราไม่สามารถบอกได้ว่า เมื่อไรจะถูก

  5. อยากให้พี่แนะนำการเลือกลงทุนในกองทุนหุ้นต่างประเทศครับว่า
    – ควรดูปัจจัยอะไรบ้าง
    – ลงทุนประเทศไหน หรือ เป็นกลุ่มประเทศ ยุโรป , เอเชีย จะเลือกแบบไหน
    – กลยุทธ์การลงทุนแบบไหนถึงจะเหมาะ
    -อื่นๆ

  6. คุณโจ๊กพอจะวิเคราะห์เรื่องของ Digital Crypto Currency เช่น Bitcoin หรือ Altcoin ว่ามีแนวโน้มอย่างไรกับตลาดการเงินบ้างครับ

  7. แล้วในความเห็นส่วนตัวพี่คิดว่าที่ 1600 จุด เป็นฟองสบู่มั้ยครับ หรือแค่แบบอ่อนๆ ผมเริ่มได้ยินหลายคนเริ่มพูดถึงฟองสบู่

    ขอบคุณมากครับพี่ ^^

    1. P/E ตลาด 18 เท่าก็ถือว่าดุทีเดียว

      โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาด mai ตอนนี้ P/E 80 เท่าแล้ว dividend yield ไม่ถึง 1%

      แต่ฟองสบู่ก็ไม่ได้แปลว่ากำลังจะแตก เราแค่บอกได้ว่าเป็นฟองสบู่ แต่เราไม่มีทางรู้ได้ว่าจะแตกเมื่อไร

  8. พี่พอจะมีวิธีรับมืออย่างไรบ้างครับสำหรับตลาดแบบนี้ เช่น ถือเงินสดบางส่วน หรือยังคงทำแบบเดิมครับพี่…

    แล้วถ้าวิกฤตจะเกิดหรือฟองสบู่ใก้ลจะแตกจะมีสัญญานอย่างไรบ้างครับ
    ขอบคุณมากครับ

    1. ถ้ารู้สึกไม่สบายใจ ก็ลดพอร์ตลงได้ครับ แต่ถ้าเป็น DCA ก็ควรทำตามกฎไปเรื่อยๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

      พวกฟองสบู่แตก บางทีก็ทำนายยากครับ ทายถูก การซื้อขายผิดจังหวะอีก การขายเพื่อหนีวิกฤตนั้น อยากให้ทำเมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ตลอดชีวิตคงไม่เกิน 2 ครั้ง ถ้ากังวลวิกฤตบ่อยเกินไป เราจะถือหุ้นไม่ได้นานครับ

  9. พูดเหมือน คุณวีระ ธีรภัทรเลยคับ ว่า
    ้เงินคนรวยไม่มีที่จะลง

  10. อยากจะเริ่มต้น DCAค่ะ แต่ตลาดใกล้จะ 1600 ควรเริ่ม หรือ รอ ค่ะ

    1. ถ้า DCA ไปเรื่อยๆ 15 ปี หรือทำต่อเนื่องเพื่อวัยเกษียณ เริ่มเมื่อไรก็ได้ครับ สุดท้ายแล้วไม่ต่างกันครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *