ผมพบว่า นักลงทุนมักมีตรรกว่า ตัวเราเองไม่เก่ง ไม่ได้มีวิสัยทัศน์อะไร ไม่ใช่เซียนหุ้น ในเมื่อเรามีเงินอยู่ ทำไมเราไม่พึ่งพาสมองของคนอื่นที่เก่งกว่า มีความเชี่ยวชาญเรื่องหุ้นโดยเฉพาะ หรือที่เรียกว่าเป็นกูรู ให้เป็นผู้เลือกหุ้น แล้วเราก็แค่เอาเงินซื้อหุ้นตามคนเหล่านั้น แทนที่จะเลือกหุ้นเองให้ผิดพลาดเสียหายเปล่าๆ
จะว่าไปแนวคิดนี้ ก็ฟังดู make sense มากทีเดียว ซ้ำยังเป็นหลักการของ Capitalist ด้วย คือพยายามเป็นนายทุนอย่างเดียว ทำอะไรอย่าออกแรงเอง นายทุนธุรกิจยังต้องจ่ายค่าแรงให้กับมืออาชีพ แต่นายทุนหุ้นยิ่งสบายกว่า เพราะตื้อขอหุ้นกูรูมาฟรีๆ เลยก็ได้ ไม่มีต้นทุนด้วยซ้ำ จะไปนั่งอ่านหนังสือการลงทุน หาข้อมูล วิเคราะห์เอง ไปทำไมกัน ไม่น่าแปลกใจที่การลงทุนแนว Celebrity Investing หรือคอยซื้อตามเซียน จึงเป็นแนวยอดนิยมตลอดกาล
ถ้าจะลองวิเคราะห์ดูก็เห็นว่า การซื้อหุ้นตามเซียนนั้น ทำให้มีโอกาสที่ซื้อหุ้นแล้ว หุ้นจะขึ้นได้เลยสูงมาก เพราะว่าเซียนย่อมเป็นที่รู้จัก ถ้ามีใครรู้ว่า เซียนซื้อหุ้นอะไร ข่าวก็มักจะกระจายออกไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ทำให้มีคนจำนวนมากมาช่วยกันซื้อหุ้นตัวนั้น เกิดเม็ดเงินไหลเข้าทำให้ราคาหุ้นตัวนั้นขยับขึ้นไปได้ทันที ยิ่งหุ้นขึ้น ก็ยิ่งทำให้มีคนอยากเข้ามาซื้อมากขึ้นอีก ทำให้หุ้นยิ่งขึ้นต่อไปอีก เป็นการป้อนกลับแบบบวก ซื้อหุ้นที่เซียนซื้อ โอกาสที่ซื้อแล้วขึ้นเลย จึงมีสูงมากๆ ทำให้ซื้อหุ้นแล้วมีความสุข ไม่ต้องมานั่งทนรอ ส่วนที่จริงแล้ว หุ้นตัวนั้นจะพื้นฐานหรืออนาคตดีจริงรึเปล่า ไม่ใช่ประเด็น เพราะว่า กว่าพื้นฐานจะแสดงออกมาจริงในงบการเงิน ก็ต้องใช้เวลาเป็นปี ถึงตอนนั้น ทุกคนอาจจะขายหุ้นทำกำไรไปต้องนานแล้ว
แต่จากประสบการณ์ตรง ผมกลับพบเจอคนที่เล่นหุ้นแนวนี้ ล้มเหลวเยอะมาก แม้ว่าจะกำไรทันที แต่ก็เป็นเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง ระยะยาวกลับรักษากำไรเหล่านั้นไว้ไม่ได้ ต่างกับคนที่มีความสามารถในการเลือกหุ้นได้เอง (ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนก็ตาม) กลับเป็นพวกที่มักสร้างผลตอบแทนได้ยั่งยืนกว่า เป็นพวกที่มีความคิดเป็นของตัวเองสูง และออกจะหัวดื้อๆ หน่อยๆ ด้วยซ้ำ บางทีเรื่องที่ฟังดูสมเหตุผล กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ก็ไม่ได้สอดคล้องกันเสมอไป
โดยมาก เวลาเรารู้ว่ากูรูซื้อหุ้นตัวไหน ที่เรามักไม่รู้ด้วยก็คือว่า ต้นทุนของเขาเป็นเท่าไร หรือถ้ารู้ ก็ยากจะตรวจสอบว่าเป็นความจริงหรือไม่ บางทีเราได้ยินต่อมาเป็นสิบทอดแล้ว การที่กูรูบอกว่า หุ้น XYZ เป็นหุ้นดี และเขาซื้อมา 10 บาท ไม่ได้แปลว่า เราซื้อหุ้น XYZ ตามที่ราคา 50 บาทก็เป็นการลงทุนที่ดีด้วย เรื่องนี้นับว่าเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งของการลงทุนในแนว CI เพราะกูรูมักจะซื้อถูกกว่าพวกเราค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่มีใครกลัวในจุดนี้เท่าไรนัก เพราะทุกคนต่างคิดว่า ยังไงฉันขอเข้ามากำไรสักช่วงเดียว ประเดี๋ยวน่าจะออกตัวได้ทัน
คุณมักพบว่า กูรูที่บอกหุ้น มักจะไม่บอกเสมอว่า ตัวเองขายหรือจะหุ้นนั้นเมื่อไร เพราะการบอกอย่างนั้น ก็เท่ากับเป็นการฆ่าตัวตาย ไม่ว่าเขาจะมีเจตนาปั่นหุ้น หรือว่าไม่มีเลยก็ตาม เพราะนอกจากจะทำให้ตัวเขาเองขายหุ้นไม่ทันแล้ว ยังทำให้อาจตกเป็นจำเลยของ กลต. เพราะสร้างความปั่นป่วนให้กับห้องค้า อาจถูกเรียกตัวมาสอบได้เลย โดยมากแล้ว เรามักพบเอาทีหลังเสมอว่า เขาขายหุ้นตัวนั้นไปตั้งนานแล้ว (และหลังจากที่ราคาหุ้นได้ลงมาอย่างมีนัยสำคัญ และมีคนติดหุ้นนั้นเป็นจำนวนมาก แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว)
ผมมองว่าการลงทุนแนว CI เป็นเกมระหว่างเซียนกับรายย่อย ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน กล่าวคือ เซียนได้ประโยชน์จากการที่มีคนมาช่วยซื้อดันราคาหุ้นให้สูงกว่าต้นทุนของเขามากๆ ช่วยทำให้การลงทุนของเขาปลอดภัยมากขึ้น และทำรอบได้เร็วขึ้น เมื่อเทียบกับซื้อหุ้นดีๆ แต่ไม่บอกใครเลย อาจต้องใช้เวลานานกว่าผลประกอบการจะสะท้อนออกมา เทียบกับมีคนมาช่วยซื้อให้หุ้นขึ้นเลยไม่ได้ ในขณะเดียวกัน สาวกก็ได้ประโยชน์ เพราะซื้อหุ้นแล้วขึ้นเลย เนื่องจากชื่อเสียงของกูรู ลงทุนแล้วมีความสุข เพราะซื้ออะไรก็ขึ้น เซียนกับรายย่อยจึงพึ่งพาอาศัยกันเหมือนระบบนิเวศน์
แต่ตอนว่า Exit นั้น เป็นเกมที่เซียนกับสาวกจะต้องชิงไหวชิงพริบกัน ไม่มีคำว่าเพื่อนแล้วในช่วงนี้ ใครลุกทีหลังก็ต้องจ่าย และเป็นความสมัครใจของทุกฝ่ายที่เข้ามาในเกมนี้ตั้งแต่ต้น ไม่ได้มีใครมาจับมือเราส่งคำสั่งซื้อ ซึ่งตอนนี้นี่แหละที่ต่างฝ่ายก็ต่างคิดว่า ตัวเองน่าจะเป็นฝ่ายเอาตัวรอดได้ คือฉลาดกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ในความเป็นจริง จะต้องมีฝ่ายที่ต้องผิดหวังเสมอ
ถ้าเข้าใจกติกานี้ รู้ว่าทุกอย่างมีต้นทุน ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ถ้าใครไม่เข้าใจ คาดหวังว่า ตนเองต้องเป็นฝ่ายได้ฝ่ายเดียว มองโลกเป็นอุดมคติทั้งหมด คิดว่าเซียนหุ้นต้องมีเมตตาต่อสาวกเสมอ เวลาที่เป็นฝ่ายแพ้ในเกมนี้ขึ้นมา จะสร้างความเจ็บปวดทางอารมณ์ให้มหาศาล นอกเหนือไปจากความเจ็บปวดทางการเงิน ซึ่งต้องมีอยู่แล้วใน money game
ชอบบทความนี้มากครับ สะท้อนสังคมนักลงทุนช่วงหลังได้เป็นอย่างดี
ขอบคุณครับ
ขอบคุณมากครับ…จริงๆ แล้วผมก็ชอบดูนะครับว่าเซียนหรือนักลงทุนที่มีชื่อเสียงเค้าถือหุ้นตัวไหนอยู่ แต่ไม่ได้คิดซื้อตามเลย เพียงแต่อยากศึกษาหุ้นที่เซียนท่านนั้นเลือกว่าเค้ามีแนวคิดอย่างไร ผมว่ามันเป็นการประหยัดเวลาในการศึกษาและเรียนรู้พอควรครับ หุ้น 600 กว่าตัวให้ศึกษาทุกตัวคงไม่ไหว พอลองมาดูๆ จะเห็นหลักการเลือกหุ้นของแต่ละท่านเลยครับ ว่าเป็นยังไง เช่นบางท่านเลือกเน้นไปทางงบดี ธุรกิจแกร่ง บางท่านเลือกงบแย่ธุรกิจเต็มไปด้วยข่าว ราคาเหวี่ยงไปมาไม่รู้เหมือนกันว่าเห็นอะไรดีๆในหุ้นตัวนี้ ดูแล้วหวาดเสียวแทน แล้วก็แอบตามๆ(หมายถือตามหุ้นแต่ไม่ได้ซื้อตามนะครับ) ก็พบว่าธุรกิจค่อยๆมีการเติบโตที่น่าสนใจ ซึ่งตรงนี้ผมว่าน่าสนใจในวิธีการมองหุ้นของเซียนท่านนั้นครับ…
555 เซียนกับรายย่อยจึงพึ่งพาอาศัยกันเหมือนระบบนิเวศน์
in fact it is “ระบบนิเวศ” na krub.
Laugh-Out-Loud 5555555555555555555555555555555555555555555555555555555 ;D
เหมือนเพื่อนทำธุรกิจด้วยกันสุดท้ายมักจบแบบไม่สวย
ขอบคุณมากๆ คร้าบๆ :))
ผมมีเพื่อนอยู่คนนึง มันก็เล่นหุ้นตามเซียนแหละครับ
แต่มันบอกว่าของมันคือแนวใหม่ ไม่ใช่หลับหูหลับตาซื้อ
มันจะตามว่าเซียนแต่ละคนซื้ออะไรกันบ้าง แต่มันจะไม่ซื้อในทันที มันจะรอให้ราคาตกลงมาก่อนอย่างน้อง 30% แล้วค่อยซื้อ มันบอกว่ามันรอได้ ตัวไหนไม่ลงมาก็ไม่ซื้อ ผมก็เลยถามเหตุผลมันนะครับว่าทำไมทำแบบนี้ มันก็บอกว่า เซียนแต่ละคนคิดมาดีแล้วถึงจะซื้อ แค่ซื้อตามแต่ต้องซื้อตอนถูกขายตอนแพง
ประมาณว่าฉลาดกว่าเซียนอีกที เหอๆ บางทีเขาก็ลืมไปว่า หุ้นที่ลงมาแล้ว ก็ลงต่อได้อีก
เล่นหุ้นให้ได้กำไร ต้องคำนึงถึง ตัวหุ้น และ ทามมิ่ง ใครลอกเซียน ซื้อตามเซียนย่อมขาดในส่วนทามมิ่ง ทำให้ติดดอยบ่อยๆ ทำให้เจ๊งได้ง่ายๆ แต่การจับจังหวะทามมิ่งโดยลอกเซียน หรือ วิเคราะห็เอง ก็เป็นอะไรที่โคตรยากนะ ผมว่าการฝึกฝนตัวเองให้คิดเองได้ เลือกเองเป็น วิเคราะห์ ทามมิ่ง ได้เองเป็นจะดีกว่า ส่วนหุ้นของเซียนเอาเป็นแค่ตัวประกอบ