เป็นคนส่วนแรกๆ ของโลกที่กำลังเปลี่ยน

วิถีชีวิตของคนจะค่อยๆ ขยับขึ้นไปตามขนาดของจีดีพีต่อหัว อย่างเช่น ถ้าปีนี้จีดีพีโต 3% จำนวนประชากรแทบไม่เพิ่ม วิถีชีวิตของคนในประเทศก็สูงขึ้น 3% โดยประมาณ เพราะจีดีพีคือรายได้ของทุกคนในประเทศรวมกัน

แต่ทว่า ใน 3% ที่ว่านี้ อาจแบ่งออกเป็นรายได้ที่เกิดจากผลตอบแทนของทุน เช่น ค่าเช่า เงินปันผล กำไรทางธุรกิจ ดอกเบี้ย อีกส่วนหนึ่งเป็นรายได้ที่เกิดจากแรงงานและเงินเดือน ซึ่งโดยปกติแล้ว ทั้งสองส่วนนี้น่าจะเติบโตไปด้วยกัน คือประเทศเจริญขึ้น ทั้งนายทุน และมนุษย์เงินเดือน ก็ได้ส่วนแบ่งจากการเติบโตนี้ไปพอๆ กัน แต่ในบางช่วงเวลานั้น สัดส่วนนี้อาจเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากเป็นพิเศษ

หลังปี 2000 เป็นต้นมา พบว่าเมื่อเศรษฐกิจโตขึ้น การเติบโตไปอยู่ในส่วนของผลตอบแทนของทุนมากกว่าเงินเดือน พูดอีกอย่างคือ เงินเดือนของพวกมนุษย์เงินเดือนไม่ค่อยเพิ่มขึ้นเท่าที่ควร ส่วนที่เพิ่มเป็นดอกเบี้ย ค่าเช่า ค่าต๋ง กำไร เงินปันผล เสียมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนกลุ่มที่รวยที่สุดในโลกนั้น รวยขึ้นเยอะเป็นพิเศษ

มีคำอธิบายว่า เมื่อก่อนโลกเปลี่ยนจากยุคเกษตรไปสู่ยุคอุตสาหกรรม ในช่วงแรกๆ นั้น คนตกงานมากขึ้น เพราะว่า เครื่องจักรผลิตสินค้าแข่งกับแรงงานคนได้อย่างมาก ทำให้คนงานตกงาน แต่ต่อมา คนที่อยู่ในภาคเกษตรก็รู้จักการผันตัวเองไปสู่ภาคอุตสาหกรรมด้วยการเรียนรู้ที่จะหันมาทำงานในโรงงาน ในที่สุด รายได้ของผู้ใช้แรงงานก็ขยับขึ้นได้อีกครั้ง และความเป็นอยู่ของทุกคนก็ดีขึ้นด้วยการที่โลกเปลี่ยนจากโลกเกษตรไปสู่โลกอุตสาหกรรมทำให้ผลิตสินค้าได้มากขึ้นเร็วขึ้น โดยที่ทุกคนก็มีเงินมาซื้อสินค้าเหล่านั้นมากขึ้นด้วย เพราะสามารถ reskill ตัวเองจากเกษตรกรมาเป็นคนทำงานในโรงงานได้สำเร็จ ผู้ใช้แรงงานก็รวยตามเจ้าของโรงงานไปได้ในที่สุด

มาตอนนี้เป็นยุคไอที คือไอทีเป็นเทคโนโลยีหลักที่กำลังเปลี่ยนโลก แต่ยังไม่ถึงจุดที่คนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมรู้จักการ reskill ตัวเองไปสู่งานแบบใหม่ๆ ที่ไอทีสร้างขึ้นมาได้มากเท่าที่ควร  ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ เศรษฐีบริษัทไอทีจึงรวยขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่สามารถหาประโยชน์จากไอทีได้ก่อนคนกลุ่มอื่น ในขณะที่คนส่วนใหญ่กลับมีค่าจ้างที่ไม่ไปไหนหรืออาจแย่ลง เพราะประโยชน์ใหม่ๆ ของไอทีกำลังมาแย่งงานคนที่ยังอยู่ในโลกเก่าอยู่ หนทางที่จะทำให้คนเหล่านี้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นได้คือต้องขนย้ายคนพวกนี้ออกจากโลกอุตสาหกรรมไปสู่อาชีพใหม่ๆ ในโลกแบบใหม่ พวกเขาจึงกลับมามีรายได้และวิถีชีวิตที่สูงขึ้นตามเศรษฐีไอทีได้อีกครั้ง

ผมเห็นว่า ตอนนี้โลกของเราทันสมัยขึ้นมากในเรื่องของไอที แต่จะสังเกตเห็นว่า เงินเดือนของคนไม่ได้เพิ่มตามเท่าไร เราได้ประโยชน์จากไอทีในฐานะของผู้บริโภคเสียมากกว่า (ใช้ไอโฟน เล่นเฟสบุ้ค) ไม่ใช่ในฐานะของคนที่มีรายได้จากงานไอที เงินเดือนของเราจึงไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าไร ในขณะที่เราต้องเสียเงินซื้อสินค้าไอทีมากขึ้นด้วยซ้ำ

ผมก็มองไม่ออกเหมือนกันว่า เมื่อถึงยุคที่เราสามารถขนส่งคนงานจากโลกอุตสาหกรรมไปสู่งานไอทีได้แล้ว หน้าตาของอาชีพส่วนใหญ่จะเป็นแบบไหน แต่ระหว่างนี้ ถ้าเรายังขยับตัวเองออกมาจากงานเดิมไม่ได้ เราก็คงติดกับดักของเทคโนโลยี แบบเดียวกับคนที่ทำงานภาคเกษตรในช่วงที่ยังข้ามไปสู่โลกอุตสาหกรรมไม่ได้เช่นเดียวกัน  

ช่วงนี้ผมเห็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ เริ่มทำ Startup มากขึ้น คนกลุ่มนี้อาจเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่พยายามผลักตัวเองออกมาจากมนุษย์เงินเดือน ไปสู่ผู้ที่มีรายได้เป็นผลตอบแทนของทุน คือ เจ้าของกิจการ ซึ่ง Startup ส่วนใหญ่ก็เป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยีเสียด้วย รวมไปถึงคนที่หารายได้อิสระด้วยการขายของในเน็ต ทำเว็บ ทำสื่อออนไลน์ ต่างๆ ก็ล้วนเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่จะพยายาม reskill ตนเองไปสู่โลกแบบใหม่ด้วยเหมือนกัน อีกหน่อยเราคงเห็นคนทำธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ และทำงานฟรีแลนซ์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยอาศัยโซเซียลเน็ตเวิร์กเป็นช่องทางหารายได้  

ปรากฎการณ์อีกอย่างที่ผมเห็นก็คือ การที่คนทั่วไปหันมาเล่นหุ้นมากขึ้น ก็เป็นเหมือนการหนีจากรายได้แบบเงินเดือนซึ่งชะงักงัน ไปสู่รายได้ในรูปแบบของผลตอบแทนของทุนให้มากขึ้น เนื่องจากมีการเติบโตในสัดส่วนที่สูงกว่าเงินเดือน ผมมองว่ามันคือ interim solution สำหรับคนส่วนใหญ่ที่ยัง reskill ตัวเองไม่ทัน ให้ยังสามารถขยับรายได้ของตัวเองให้เพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจได้ทัน ในเมื่อไอทีให้ประโยชน์กับทุน เราก็ต้องหันเข้าหาทุนมากขึ้น แทนที่จะยึดติดกับแรงงานตามเดิมอย่างเดียว มีโอกาสสูงมากที่คนทั่วไปจะเล่นหุ้นมากขึ้นเรื่อยๆ ๆๆๆๆ ไม่ใช่แฟชั่นที่แค่มาสักพักแล้วก็จากไป ผมจะไม่รู้แปลกใจหากพบว่าอีกสิบปีข้างหน้า มนุษย์เงินเดือนเกิน 90% มีพอร์ตหุ้น เพื่อการพึ่งเงินเดือนเป็นรายได้แค่เพียงช่องทางเดียวจะไม่เพียงพอสำหรับคนจำนวนมากอีกต่อไปก็ได้

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ใครที่มีพอร์ตหุ้นอยู่แล้วก็น่าจะดีใจที่เราคือคนกลุ่มแรกๆ ที่ปรับตัวในยุคเปลี่ยนผ่าน ปกติเวลาน้ำไหลจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดเพื่อปรับสมดุล ช่วงแรกๆ น้ำจะไหลแรงที่สุด ส่วนคนหลังๆ ที่มา น้ำอาจไม่ค่อยไหลแล้ว   

 

16 Replies to “เป็นคนส่วนแรกๆ ของโลกที่กำลังเปลี่ยน”

  1. พี่โจ้กครับ ทำไมถึงใช้คำว่า ทุน ในบทความนี้คับ พี่จะหมายถึงการลงทุนหรือเปล่าคับ ?

  2. คุณโจ๊กมองหุ้นไทยจะยังดีอยู่ในระยะยาว10- 20 ปี หรือไม่ค่ะ ได้ อ่านบทความของ ดร นิเวศ.มอง เศรษฐกิจไทย ในอนาคต อาจไม่ดีขึ้นเหมือนที่ผ่านมา ถึงขั้นถดถอย อ่านแล้วไม่สบายใจเลย รบกวนขอความเห็นด้วยค่ะ

    1. ถ้าหวังจะซื้อของดีๆ และ ถูกๆ แบบสิบปีที่แล้ว คงหวังได้ยากแล้ว ตามนั้นครับ

      แต่่ต่อไปจะขึ้นน้อยลง หรือทรงๆ หรือว่าถึงขนาดถดถอยเลย อันนั้นผมก็ยังไม่ทราบเหมือนกัน

  3. ขอบคุณครับ ..

    ชอบมากครับ อ่านแล้วได้เปิดมุมมองดีฮ่ะ …

  4. ขอบคุณครับ
    ขอรบกวนถามคุณนรินทร์เพิ่มเติมว่า สังคมที่เจริญแล้วเช่น ยุโรป ญี่ปุ่น หรือ อเมริกา มี trend ลักษณะนี้เหมือนกับไทยเราไหมครับ? แล้วพอร์ตหุ้นของคนไทยในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า คุณนรินทร์มองว่า น่าจะเป็นพอร์ตรายย่อยซื้อเอง หรือ เป็นพอร์ตที่รายย่อยลงทุนในกองทุนรวมครับ

    1. แต่ละประเทศพัฒนาไปไม่เท่ากันครับ ถ้าเป็นฮ่องกงนี่ ชาวบ้านทั่วไปเล่นหุ้นทุกคน เพราะฮ่องกงเป็น financial hub ทำให้เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวคน ถ้าเป็นสหรัฐ ตอนนี้ครึ่งๆ ครับ ประเทศในยุโรปหลายประเทศแม้ว่าเจริญมากแล้ว แต่คนก็ยัง conservative ด้านการเงินกันอยู่ ส่วนใหญ่จะลงทุนผ่านกองทุนรวมมากกว่าจะเปิดพอร์ตเอง แต่ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ คนเล่นหุ้นยังไงก็มีสัดส่วนประชากรเยอะกว่าเรามากครับ ของเราแม้ว่าจะโตเร็วขึ้น แต่ว่าก็ยังอยู่ในวงจำกัดอยู่

    2. คนไทย นักลงทุนยังเป็น’ส่วนน้อย’ ในหมู่คนที่เล่น หุ้นเลยคับ

  5. ตอนนี้ประมาณการได้มั้ยครับว่า ตัวเลขบัญชีรายย่อย ของคนที่เล่นหุ้นโดยไม่ผ่านกองทุนรวม คิดเป็นซักกี่ % ของคนทั้งประเทศไทย? …ผมว่าเรายังห่างไกลจากประเทศพัฒนาแล้ว ที่คนเล่นหุ้นกันเกินครึ่งประเทศ

    ขอบคุณครับพี่ ^^

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *