ตัวเลขส่งออกไทย เดือนล่าสุด ค่อนข้างน่าผิดหวังทีเดียว เพราะโตติดลบ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเป็นบวกกันหมด ถ้าหากตัดยอดส่งออกทองคำและพลังงานออกไป ก็อาจติดลบน้อยลง แต่ว่าก็ไม่ควรจะติดลบเลย เพราะที่ผ่านมา ตัวเลขส่งออกไทยมักจะโตได้ดีมาตลอด
เราอาจจะคิดว่า เป็นเรื่องระยะสั้นก็ได้ ถ้าทุกอย่างดีขึ้น ก็อาจจะกลับมาเป็นบวกตามเดิม แต่ ถ้าดูจากตัวเลขส่งออกไทย ในแง่ของ “ส่วนแบ่งตลาดโลก” ในระยะสิบปีที่ผ่านมา แม้ว่าในระยะยาวการส่งออกไทยจะยังโตเป็นบวกอยู่ แต่ปรากฎว่า เรามีส่วนแบ่งตลาดโลกค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ นั่นคือ ทุกประเทศโตหมด ตามยุคการค้าเสรี แต่ว่าเราโตได้น้อยกว่าคนอื่นโดยเฉลี่ย นั่นคือ ส่งออกของไทยอาจกำลังถอยลง ทั้งที่ตัวเลขเป็นบวกก็ตาม
หลังต้มยำกุ้ง ภาคส่งออกเป็นพระเอกมาโดยตลอด เพราะช่วยลากภาคส่วนอื่นของเศรษฐกิจให้ดีขึ้นด้วย ผ่านทางการจ้างงาน ดูเหมือนที่ผ่านมาเราจะใช้ค่าการกดค่าแรง และกดอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยให้สินค้าไทยมีราคาที่แข่งขันได้ในเวทีโลก และวิธีการนี้ก็ใช้ได้ผลมาตลอด
แต่หลังจากใช้วิธีนี้มาเกือบยี่สิบปี มันก็เริ่มจะได้ผลน้อยลงทุกวัน เนื่องจากประเทศที่เคยแย่กว่าเรา เริ่มเปิดประเทศค้าขายมากขึ้น ทำให้เป็นตัวแข่งขันกับเราในเรื่องของทั้งค่าแรงและอัตราแลกเปลี่ยน ความโดดเด่นของเราเลยลดลง ในขณะที่ ที่ผ่านมา เราก็ไม่ได้พยายาม upgrade ตัวเองให้ขึ้นไปอยู่ใน league ที่สูงกว่า เพื่อหนีคู่แข่งระดับล่างมากเท่าที่ควร เพราะเสพติดกับมาตรการการแบบเก่าๆ เกาหลีใต้หรือแม้แต่จีนประสบความสำเร็จในเรื่องการกระตุ้น R&D และ Branding และกำลังจะแซงเราไปเรื่อยๆ หรือแม้แต่ มาเลเซีย ก็เช่นเดียวกัน เรามีความริเริ่มในลักษณะนี้น้อยมาก ยังเน้นการกดค่าแรงเป็นจุดขายอยู่เช่นเดิม
สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยคืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ (แต่มี re-export contents สูง) ถ้าไปดูว่าส่วนใหญ่เป็นอะไรก็จะตกใจว่า เป็นของที่ค่อนข้างตกยุคไปนานแล้ว โลกอิเล็กทรอนิกส์เปลี่ยนเร็ว และเวลาเปลี่ยนก็จะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ลงทุนเครื่องจักรไปแล้วถอนทุนไม่ทัน ก็มันจะปรับตัวไม่ทัน บ้านเราเคยเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์อันดับต้นๆ ของโลก แต่พอคนเปลี่ยนมาใช้พวกแทบเล็ต สมาร์ทโฟน ฮาร์ดดิสก์ก็ล้าสมัยไปอีก ทำให้หลายบริษัทที่ทำพวกนี้ต้องเปลี่ยนอาชีพกันไปเลยทีเดียว ดูแล้วส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ของเราน่าจะเรียกว่าเป็น Sunset Industry ได้เลย
ส่งออกรถยนต์ มีข้อดีมากกว่าตรงที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเป็นคลัสเตอร์ เวลาโรงงานมาตั้ง ก็ต้องพาซัพพลายเออร์มาเปิดโรงงานข้างๆ เพื่อให้ส่งอะไหล่ได้รวดเร็ว ดังนั้นแม้ว่าญี่ปุ่นจะเห็นว่ามีประเทศอื่นน่าเปิดโรงงานมากกว่า แต่ก็จะหนีเราไปไม่ได้ เพราะว่าองคาพยบทั้งหมดอยู่ที่เมืองไทยแล้ว การย้ายไปทั้งหมดยากมาก แต่ถ้าถามว่าจะลงทุนเพิ่มมั้ย ก็อาจจะน้อยลงเมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีประเทศใหม่ๆ เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า และหลายสิบปีที่ผ่านมา จีนยังผลิตรถยนต์ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เริ่มล้น เขาก็จะส่งออกอย่างจริงจัง กลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของไทยได้
ที่ยังดูดีที่สุดน่าจะเป็นการท่องเที่ยว เพราะบ้านเราสถานที่ท่องเที่ยวเยอะ หลากหลาย และไม่เหมือนที่อื่น แม้แต่ตลาดนัดที่ดูสกปรกเต็มไปด้วยแผงลอย ก็กลายเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดคนเอเชียให้มาเที่ยว เพราะเขาบอกว่า บรรยากาศแบบนี้ไม่มีในบ้านเมืองของเขา ช้อปปิ้งแล้วสนุกมาก จะเห็นได้ว่าขนาดบ้านเราจัดสถานที่ท่องเที่ยวแบบทิ้งๆ ขว้างๆ คนบ้านเขาก็ยังแห่กันมา และจัดอันดับให้เป็นเมืองน่าเที่ยวอันดับต้นๆ ทุกปี ขนาดบ้านเมืองเขาจัดการอย่างสะอาดสะอาดยังสู้ไม่ได้เลย แสดงว่าเราคงมีจุดเด่นในเรื่องนี้จริงๆ
น่าเป็นห่วงว่า ภาคส่งออกที่ไม่นับการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหัวรถจักรตัวสำคัญของไทยจะเป็นที่พึ่งพาไปได้อีกนานสักแค่ไหน สิบปีต่อจากนี้ มันจะเป็น Growth Sector อยู่หรือเปล่า และถ้าไม่ เราจะอาศัยรถจักรตัวไหนมาดึงเศรษฐกิจโดยรวมแทน?
ผมมีความเชื่อว่า ภาคส่งออกไทย แม้ว่าจะไม่ถึงกับดูแย่ไปเลย ในอนาคต เพราะยังไงการค้าระหว่างประเทศก็ต้องโตขึ้น เราก็น่าจะยังส่งออกเพิ่มได้บ้าง แต่ว่ามันจะไม่ใช่ภาคที่เราจะฝากผีฝากไข้ได้อีกต่อไป ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมไม่น่าจะโดดเด่นอีกต่อไป และน่าจะเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับภาครัฐ ที่จะต้องกระตุ้นภาคส่วนอื่น ให้ขึ้นมาผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม ไม่อย่างนั้นเศรษฐกิจทั้งระบบจะไปไม่ได้
ภาคส่วนหนึ่งที่จะถูกกระตุ้นได้ง่ายก็น่าจะเป็นภาคการบริโภคเอกชน อันที่จริงนี่น่าจะเป็นเทรนด์ที่เหมือนกันทั่วโลก คือตลาดเกิดใหม่ทุกประเทศจะหันมากระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และกลายมาเป็นหัวรถจักรตัวใหม่ที่ช่วยผลักดันดีมานด์ของเศรษฐกิจโลก มาตรการของภาครัฐที่ช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าของพลเมืองอาจกลายเป็นสิ่งที่ไม่ทำไม่ได้ การควบคุมสินเชื่อส่วนบุคคลก็ควรจะต้องผ่อนปรนมากขึ้น เพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ บ้านและรถยนต์ย่อมเป็นสินค้าที่ได้อานิสงส์ เพราะกระตุ้นแล้วในประเทศได้ประโยชน์โดยตรง ตามปกติแล้ว เมื่อคนมีรายได้ขยับจากระดับล่างไปสู่ระดับชนชั้นกลาง สินค้าที่พวกเขาจะบริโภคมากขึ้นจะรวมไปถึง การศึกษาและ การสื่อสารด้วย
ดังนั้นนักลงทุนอย่างเราก็ควรจะเริ่มมองภาคส่วนเหล่านี้ให้มากขึ้น ว่ามันน่าจะโตได้ดีกว่าเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นการบริโภค มักเป็นแค่มาตรการระยะสั้น คือ ออกมาได้พักหนึ่ง ก็ต้องหยุด เพราะหนี้ครัวเรือนก็จะเพิ่มจนกระตุ้นต่อไปไม่ได้ ต้องชะลอจนหนี้ลดลง ฐานะการคลังก็อ่อนแอลง แต่แล้วสักพักก็จำเป็นต้องกลับมากระตุ้นใหม่ เพราะถ้าไม่ทำ เศรษฐกิจจะไม่เดิน การกระตุ้นการบริโภคจะกลายเป็น norm ไม่ใช่แค่มาตรการพิเศษ แต่จะเป็น norm ที่ผันผวนไปด้วยตลอดทาง เพราะต้องทำๆ หยุดๆ แต่ไม่ทำก็ไม่ได้
อีกช่องทางหนึ่งที่มองเห็นได้ว่าจะเป็นช่องทางกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต ก็คือ การลงทุนโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน ทำอย่างไรจะเอาเงินฝากที่ล้นแบงก์ออกมาลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตได้ ในเมื่อภาคเอกชนค่อนข้างระมัดระวัง เพราะรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี ก็ต้องมีแต่ภาครัฐเท่านั้นที่จะนำร่องในส่วนนี้ โดยการระดมเงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้มากๆ เพื่อสร้าง multiplier ให้กับระบบเศรษฐกิจ การ upgrade ประเทศให้ทันสมัย เพื่อช่วยสร้างกำลังซื้อไปด้วยทางอ้อม เป็นตัวเลือกที่ไม่เลือกไม่ได้ในยุคต่อไป กองทุนอสังหาริมทรัพย์และ REIT ก็เป็นนวัตกรรมทางการเงินที่มาช่วยปลดล็อกสภาพคล่องให้ไหลเข้าสู่การลงทุนที่มากขึ้นที่ดีเยี่ยมในเวลานี้ด้วย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมักให้ผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนต่ำ แต่ผู้ที่ได้รับประโยชน์จริงๆ คือธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ก่อสร้าง อสังหา เป็นต้น
เศรษฐกิจไทยน่าจะต้องเปลี่ยนจากเศรษฐกิจแบบส่งออกนำไปสู่ เศรษฐกิจของการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนเพื่อเพิ่มโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นสิ่งที่ไม่เลือกไม่ได้ครับ
พี่โจ๊กว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจ แบบใหนถึงจะเหมาะสมครับ เพราะส่วนใหญ่ดูประชานิยมจ๋าทั้งนั้นเลยครับ
ขอบคุณกับบทความครับ
ผมเห็นว่าประชานิยมกลายเป็นเทรนด์ของโลกไปแล้วครับ เพียงแต่ว่าควรจะทำมากหรือทำน้อยแค่ไหน และทำยังไงให้ sustainable ครับ มิฉะนั้น ก็ต้องทำแล้วเรียกเป็นชื่ออื่นไป
เพราะว่าโลกของเรามุ่งไปสู่แนวคิดแบบเสรีนิยมมากขึ้น ทำให้รัฐมีแนวโน้มจะต้องเข้ามา redistribute income ให้คนเยอะขึ้น ยังไม่นับว่า คนแก่พึ่งตนเองไม่ได้จะมีมากขึ้น การ redistribute wealth จึงเลี่ยงไม่ได้
เห็นภาพชัดเจน ขอบคุณครับพี่โจ๊กสําหรับบทความดีดี
ขอบคุณครับ
ถ้ามีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ตามความเห็นด้านบนของคุณนริทร์ที่ว่า กลุ่มก่อสร้าง อสังหา ได้รับประโยชน์
แต่ผมก็คิดว่า อาจเกิดปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงาน หรือราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้น จนมีผลให้ ความสามารถในการทำกำไรลดลงด้วยมั้ยครับ
บริษัทที่หาวิธีพึ่งพาแรงงานน้อยลงก็จะได้เปรียบคนอื่นครับ เช่น ใช้ผนังสำเร็จรูป ใช้ระบบไอทีมาช่วยลดการพึ่งพาคน
ถ้าทั้งอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานกันหมด ผมว่ากำไรจะไม่ลดลง เพราะสามารถ pass ไปยังผู้บริโภคได้
เมืองไทย ภาคก่อสร้างค่อนข้างสำคัญในแง่ที่เป็นต้นน้ำ ที่จะนำเงินให้หมุนต่อไปยังภาคส่วนอื่นๆ ครับ
ประเทศไทยเรากำลังเข้าสู่ Middle income trap หรือเปล่าครับ เเละคงอยู่ในนี้ไปอีกนาน
มีอีกวิธีที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ก็คือ เเปรรูปรัฐวิสาหกิจครับ จะปรับขายเข้าตลาดหุ้น หรือจะเปลี่ยนเป็นรูปบริษัทเเล้วใช้หารายได้เข้ารัฐหรือไปหากินต่างประเทศก็ได้
อยากเห็นฟังพี่โจ๊กเเตะ เรื่องข้าวหน่อยครับ ว่าทางออกในการเเก้ไขปัญหานี้ รัฐบาลควรจะทำอย่างไร
ถ้าผมเป็นพระเจ้าทำอะไรก็ได้ ผมจะจ้างชาวนาหยุดปลูกข้าวนะครับ เช่น ให้ชาวนาปัจจุบันมาลงทะเบียน หรือคิดว่าทะเบียนน่าจะมีอยู่แล้ว ใครมีชื่อในนี้ ถ้าหยุดปลูกข้าว จะแจกเงินให้
เป็นการแจกเงินเหมือนกัน แต่เป็นการแจกเงินที่ลด supply ไม่ใช่ เพิ่ม supply ราคาข้าวจะดีขึ้นด้วย ไม่ใช่แย่ลง และคนที่เลิกปลูกก็ได้เงินอีกต่างหาก
แต่นโยบายนี้ออกมาคงจะโดนด่า เพราะบางคนดราม่ากับคำว่ากระดูกสันหลังของชาติจะรับไม่ได้
การจ้างงดปลูก เคยเกิดขึ้นที่อเมริกาในครั้งอดีตครับ.
เพื่อลดซัฟฟลายลง เนื่องจากผลผลิตล้นตลาด.
ก็ตามพี่โจ๊กละครับ. เมืองไทยมีพวกแบบนี้เยอะ เกินไป
น่าจะจับไปคุ้มกำเนิด…
เคยฟังข่าวหัวหน้าชาวนา วิเชียร พวงลําเจียก แล้วเพลียจิต
แกเล่นบอกว่า ชาวนาไม่ให้ทำนา จะให้ทำอะไร ต้องทำนาเท่านั้น เพราะมีแต่ความรู้เรื่องนี้………..มันผิดกับหลักเศรษฐศาสตร์ เต็มๆ -“-
โดนใจกับไอเดียจ้างหยุดปลูกมากครับ
สินค้าเกษตรไทย มีปัญหาวนไปมา ตั้งแต่ผมเด็กๆจนโต เกษตรกรเหมือนโดนหลอกให้อยู่ในวังวน