FAMGA – การกระจายรายได้ – การเติบโตทางเศรษฐกิจ

บางส่วนของบทความนี้เป็นเพียงไอเดียที่ผมครุ่นคิดอยู่ในช่วงนี้ ยังไม่มีทฤษฎีทางเศรษฐกิจที่มารองรับ 100%

โลกของเราอยู่ในยุคที่ธุรกิจขนาดใหญ่ได้เปรียบมากขึ้นเรื่อยๆ แนวโน้มนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่หลังจบสงครามโลกครั้งที่สอง และต่อเนื่องยาวนานมากมาจนถึงปัจจุบัน

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทุนเก่าตายไปหมดจากวิกฤตเศรษฐกิจและสงครามโลกอีกสองครั้ง ทุกๆ ธุรกิจเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่พร้อมๆ กัน เป็นช่วงที่มีโอกาสของธุรกิจของเล็กมากมายมหาศาล และคนรุ่นเบบี้บูม ก็เป็นผู้ที่ได้รับโอกาสนี้ กลายเป็นเจ้าของกิจการเอสเอ็มอีกันอย่างมากมาย

พอเข้าสู่ยุคของผมคือยุคเจน X ธุรกิจแข่งขันกันมาได้นานพอสมควรแล้ว ผู้แพ้ก็ล้มหายตายจากไป ผู้ชนะก็แข็งแรงมากขึ้น ธุรกิจที่ยังอยู่รอดได้ก็มีเวลาสะสมทุนมาแล้วนานพอสมควร เป็นยุคที่เด็กจบใหม่มีความฝันที่จะได้ทำงานในบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ เงินเดือนสูงๆ นามบัตรโก้หรู และก็เป็นยุคที่เราเริ่มกังวลกันว่า ธุรกิจขนาดใหญ่จะเริ่มกีดกันธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้แข่งขันไม่ได้

ปัจจุบันเป็นยุคของเจน Y แนวโน้มที่ว่านี้ดูเหมือนจะถอยกลับ เราเริ่มได้ยินคนรุ่นใหม่ไปทำธุรกิจส่วนตัวมากขึ้น เรามีสตาร์ทอัพ แต่ในความเป็นจริง เทรนด์เก่าก็ยังอยู่ มิหน่ำซ้ำ ยังรุนแรงขึ้นกว่าเดิมด้วย เดี๋ยวนี้เราไม่ได้กลัวว่าธุรกิจขนาดใหญ่จะทำลายธุรกิจเอสเอ็มอีแล้ว แต่เรากลัวว่า แม้แต่ธุรกิจขนาดใหญ่เองก็กำลังจะเอาตัวไม่รอด เพราะถูกโจมตีด้วยธุรกิจขนาดมหึมา (mega corporations) ที่เข้ามาไล่ disrupt อุตสาหกรรมดั่งเดิม ที่ธุรกิจขนาดใหญ่ครองอยู่ จนสุดท้ายแล้ว ธุรกิจทุกอย่างอาจกลายเป็นของ mega corporations เพียงไม่กี่เจ้าในโลกนี้

ช่วงหลังๆ ถึงกับมีการคิดคำว่า FAMGA ขึ้นมา ซึ่งมาจากอักษรตัวแรกของห้าบริษัทเทคโนโลยีขนาดยักษ์ Facebook, Apple, Microsoft, Google, Amazon จริงๆ หลังๆ ก็มีคนรวม Alibaba เข้าไปด้วย ซึ่งเป็นตัวย่อที่ฮิตแทนคำว่า BRIC ซึ่งสะท้อนว่า มหาอำนาจตอนนี้อาจไม่ใช่ประเทศแล้ว แต่เป็นบริษัทระดับโลกเหล่านี้ เวลานี้ บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดห้าอันดับแรกของโลกก็เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีทั้งหมด เราเข้าสู่ยุคเริ่มต้นของ FAMGA แล้ว

เมื่อก่อนนี้อุตสาหกรรมสื่อบ้านเรา ผู้ที่กวาดเม็ดเงินโฆษณาไปมากที่สุดก็คือฟรีทีวี ช่อง 3,5,7,9 แต่ตอนนี้ คนเลิกดูทีวี หันมามองเฟซบุ้กทั้งวัน ถ้าเทรนด์ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้ว เม็ดเงินโฆษณาทั้งหมดที่เคยแบ่งๆ กันไปหลายๆ เจ้า จะกลายเป็นของเฟซบุ้กคนเดียว

เวลานี้ทุกคนใช้สมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการของ Apple และ Google เท่านั้น และเราก็กำลังทำทุกอย่างในชีวิตผ่านสมาร์ทโฟน มากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายแล้ว Apple/Google จะเป็น GateKeeper ที่กำหนดว่าใครจะทำธุรกิจกับเราได้บ้าง

การซื้อของออนไลน์มีมานานแล้ว แต่ช่วงหลังๆ มันยิ่งจะเริ่มโตเร็วมากขึ้นกว่ายุคก่อนๆ เสียอีก คนเริ่มหันมาซื้อของออนไลน์แทนที่จะไปซื้อที่ร้านค้า ในสหรัฐฯ การเติบโตของอีคอมเมิร์ซส่วนมากอยู่ในอเมซอนบริษัทเดียว เช่นเดียวกันจีนที่มีอาลีบาบา บริษัทพวกนี้มีคู่แข่งเหมือนกัน แต่ว่าคู่แข่งดูแล้วจะอ่อนแอลง มากกว่าจะแข็งแรงขึ้น เพราะสู่การประหยัดต่อขนาดของสองบริษัทนี้ไม่ได้ และทั้งสองบริษัทก็กำลังแข่งกันขยายไปยังภูมิภาคอื่นของโลกด้วย

ยุคนี้เราอาจพูดถึง Startup บ่อยขึ้น ราวกับว่าผู้คนตัวเล็กๆ จะหันมาทำธุรกิจส่วนตัวกันมากขึ้น แต่เอาเข้าจริงๆ Startup ก็ยังเป็นเรื่องของคนส่วนเล็กๆ ที่มีคุณสมบัติพิเศษ ไม่ใช่เรื่องที่จะมาตอบโจทย์ชีวิตของคนกลุ่มแมสได้ อีกอย่าง การที่ธุรกิจใหม่จะต้อง disrupt เป็นหลัก ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า ช่องว่างในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ มีน้อยลงเรื่อยๆ ถ้าไม่ disrupt ของเก่าให้พังลงมาทั้งหมด ก็เข้ามาไม่ได้ ดูแล้ว Wealth จะยิ่งไหลขึ้นไปสู่ธุรกิจขนาดใหญ่มากขึ้น ไม่ใช่ไหลลงมายังมดตัวเล็กๆ

การที่ megacorps เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยี ส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานอย่างมาก เพราะส่วนมากแล้ว เทคโนโลยีจะช่วยให้ธุรกิจต้องพึ่งพาคนน้อยลงมากกว่าจะมากขึ้น ดังนั้น เศรษฐกิจแบบใหม่จะเป็นเศรษฐกิจที่อาจมีความต้องการแรงงานคนน้อยลง คนระดับล่างและชนชั้นกลางจึงมีรายได้ลดลง และคนระดับบนซึ่งส่วนมากเป็นเจ้าของธุรกิจ น่าจะเป็นคนที่รวยขึ้น ถ้าเป็นบริษัททั่วไป การใช้เทคโนโลยีช่วยลดคนได้ ทำให้ต้นทุนน้อยลง กำไรมากขึ้น ซึ่งก็ดีระดับหนึ่ง แต่ที่ดีที่สุดคือคนกลุ่มเล็กๆ ที่เป็นเจ้าของ megacorps ที่น่าจะรวยขึ้นมากที่สุดกับปรากฎการณ์นี้

เมื่อก่อนนี้ผมไม่เคยคิดว่า การกระจายรายได้จะเกี่ยวข้องอะไรกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่พักหลังๆ ผมเริ่มคิดว่ามันเกี่ยวกัน และเกี่ยวกันมากด้วย ลองคิดดูว่า ถ้าเป็นเศรษฐกิจที่มีการกระจายรายได้ดี หมายความว่า คนรากหญ้าและมนุษย์เงินเดือนมีรายได้มาก เมื่อเทียบกับระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ เช่น รายได้ประชาชาติของคนกลุ่มนี้คิดเป็น 70% ของรายได้ของทั้งประเทศ ในขณะที่นักธุรกิจมีรายได้รวมกันแค่ 30% ถ้านักธุรกิจผลิตอะไรออกมา ก็จะขายได้เยอะ เพราะว่ามีคนซื้อเยอะกว่าคนขายมาก เศรษฐกิจจะไม่ตกหล่มได้ง่าย แต่ถ้าหากความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น เช่น คนรวย 10% แรกมีรายได้รวมกัน 70% ของทั้งประเทศ คนที่เหลืออีก 90% มีรายได้รวมกันแค่ 30% ของทั้งประเทศ คนรวยจะหาธุรกิจทำเพิ่มยาก เพราะของเดิมที่มีอยู่แล้วยังหาคนซื้อไม่ค่อยได้เลย อย่าว่าแต่จะลงทุนอะไรใหม่ๆ เพิ่ม ฉะนั้นอย่าขยายการลงทุนเลยดีกว่า หรือขยายก็ขยายน้อยๆ ปล่อยกำไรให้เหลือเป็นเงินสดค้างอยู่ในบัญชี การบริโภคของคนรวยเองก็น้อยเช่นกัน เพราะคนรวยส่วนใหญ่จะใช้เงินน้อยกว่ารายได้มากๆ อยู่แล้ว เช่น มีรายได้ปีละ 200 ล้าน ให้ใช้จ่ายอย่างมากที่สุดก็อาจจะแค่ 20 ล้าน ที่เหลืออีก 180 ล้านเก็บออมไว้เฉยๆ ในขณะที่ถ้าเป็นรายได้ของคนจนปีละ 5 แสน ก็อาจจะใช้จ่ายหมดทั้ง 5 แสน (ไม่พอไปกู้มาใช้จ่ายเพิ่มด้วยซ้ำ)​ ดังนั้นเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากๆ จะมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะตกหล่ม เพราะดีมานด์ไม่พอกับซัพพลาย การลงทุนไม่เต็มที่ เงินล้นแบงก์ กลายเป็นสภาวะที่แย่ทั้งคนจนและคนรวย

คิดๆ ดูแล้ว เศรษฐกิจในยุคอนาคตน่าจะมีปัญหาอยู่เยอะทีเดียว ใครมีโอกาสหาเงินหาทอง เก็บหอมรอมริบ ก็ควรจะรีบทำให้ได้มากที่สุดตั้งแต่วันนี้ เพราะวันหน้าไม่รู้ว่าโลกของเราจะเป็นอย่างไร

 

3 Replies to “FAMGA – การกระจายรายได้ – การเติบโตทางเศรษฐกิจ”

  1. ผมว่ามันสิ่งที่พี่โจ๊กเขียนมันก็เป็นอย่างนั้น เราๆก็เห็นกันอยู่ ปัจจัยหลายอย่างมันเอื้อให้รายใหญ่ได้ประโยชน์มากขึ้น เขาสร้าง ecosystem หรือ platform ที่เรายากที่จะปฏิเสธที่จะใช้บริการของเขา ผมตามอ่านงานเขียนของพี่แล้วก็นำไปใช้ประโยชน์ในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่มีเทคโนโลยี สร้างผลิตภัณฑ์ที่ผู้คนเสพย์อย่างไม่รู้ตัว และขยายตัวไปได้เพราะมนุษย์เราก็มีพื้นฐานความต้องการคล้ายๆกัน sapien เหมือนกัน ไม่ว่าจะชาติไหน ส่วนเราตัวเล็กๆ รีบค้นหาตัวเองให้เจอ และทำให้ดีที่สุด เมื่อมันดีพอที่คนอื่นอยากให้เงินเพื่อให้เราทำแทนเขา เราก็น่าจะพอมีที่ยืนอยู่ได้ในอนาคต

  2. ดูเหมือนว่าฝ่ายเหนือก็พยายามแก้เกมส์ โดยการหยิบยื่น เงินให้ฝ่ายใต้ใช้ ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจของ demand อยู่ ถึงกระนั้นฝ่ายใต้ก็ยังมิอาจตอบสนอง สิ่งที่ฝ้าย supply ได้พยายามหยิบยื่นให้ จึงได้พยายามยืดเทอมการยืมเงินให้มันยาวสุดๆ เพื่อว่าฝ่ายใต้จะ….ได้ตอบสนอง

    น่าติดตามว่า ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น

Comments are closed.