ทำไมบางคนถึงซื้อหุ้นแล้วไม่ยอมขาย

นอกจากแนว Magic Formula แล้ว การลงทุนแบบ Lump sum มีทางเลือกอะไรอีกบ้าง?

อันที่จริง สมัยก่อน ไม่มีใครลงทุนแบบ Magic Formula หรอก แนวนี้เพิ่งเข้ามาในช่วงหลังๆ เมื่อแนวคิดเรื่อง Quant หรือ System Trade เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ก่อนหน้านี้ การลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานน่าจะได้รับอิทธิพลจากแนว Value Investing มากที่สุด

แนว VI ให้ความสำคัญกับมูลค่าหุ้นที่เหมาะสมอย่างยิ่งยวด ต่อให้หุ้นพื้นฐานดีขนาดไหน ถ้าซื้อเกินราคาก็จะกลายเป็นการลงทุนที่แย่ การที่มีปรัชญาเรื่องไม่ซื้อของเกินราคาเป็นแกนหลัก ทำให้บ่อยครั้งเราไม่สามารถลงทุนเต็มพอร์ตได้ตั้งแต่ Day 1 เพราะตลาดหุ้นไม่ได้มีของถูกให้ซื้ออยู่ตลอดเวลา ซึ่งนับเป็นข้อเสียสำคัญของการลงทุนแนวนี้ เพราะเงินอาจไม่สามารถทำให้เราได้ตลอดเวลา บางทีตลาดหุ้นก็แพงยาวเป็น 5-6 ปีเลยก็มี ถ้าเป็นคนที่เข้มงวดกับหลักการนี้จริงๆ ก็อาจจะไม่ซื้ออะไรเลย 5-6 ปี ซึ่งเสียโอกาสของเงินลงทุนอย่างมาก

ในทางปฏิบัติ นักลงทุนมักรู้สึกแปลกๆ ถ้าจะไม่ซื้อหุ้นอะไรเลย 5-6 ปี สุดท้ายแล้ว ก็มักต้องหลอกตัวเอง ปรับลดเกณฑ์ในผ่อนคลายลง หรือเหตุผลมา justify การเข้าซื้อของตัวเอง  เพราะการถือเงินสดไว้เฉยๆ เป็นสิ่งที่ทรมานมากสำหรับการเป็นนักลงทุน ข้อดีก็คือได้ซื้อหุ้นตลอดเวลา ทำให้เงินทำงานอยู่ตลอด แต่ข้อเสียคือซื้อไม่ถูกจริง สุดท้ายแล้ว ก็มักนำมาซึ่งความเสียหาย ซึ่งคิดแล้วไม่คุ้ม

แต่ถ้าไปดูคนที่เป็น VI แบบระดับตำนานจริงๆ พวกเขามักจะไม่ซื้อหุ้นบ่อยๆ ตัวอย่างเช่น วอเรน บัฟเฟตต์ บางทีก็ไม่ได้ซื้อ position ใหญ่ๆ เลยเป็นสิบปี คนพวกนี้เข้มงวดกับกฎการลงทุนของตัวเองอย่างมาก และมีความสามารถในการรอคอยอย่างยิ่งยวด แต่คนพวกนี้มีอยู่น้อยมากๆ

อนึ่ง การรอนานมากขนาดนั้น แม้จะสร้างความปลอดภัยให้กับการลงทุนให้อย่างสูง แต่ค่าเสียโอกาสของเงินก็มากมายมหาศาล บางทีต้องจอดเงินสดทิ้งไว้เฉยๆ หลายปีๆ โดยที่ไม่ได้อะไรเลย บางทีคิดแล้วก็อาจไม่คุ้มเสมอไป ถ้าอย่างนั้นแล้วพวกนักลงทุนอย่างวอเรน บัฟเฟตต์ จัดการกับเรื่องนี้ยังไง?

มีข้อน่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง คือ นักลงทุนที่เป็นระดับตำนานพวกนี้ มักจะมีนิสัยร่วมกันอีกอย่างหนึ่งด้วยก็คือ ซื้อหุ้นอะไรแล้ว ก็มักจะไม่ขายอีกเลย ต่อให้ราคาหุ้นพุ่งเกินพื้นฐานไปมาก หรือแม้แต่บางครั้งธุรกิจหมดระยะเติบโตไปนานแล้ว ก็ไม่ขายออกมา ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แปลกมากในสายตาของคนทั่วๆ ไป ซึ่งมักจะมองว่า ถ้าหุ้นเกินพื้นฐานไปแล้ว ก็รีบขายออกมาสิ จะได้เอาเงินไปลงตัวอื่นที่ยังถูกอยู่ ทำรอบได้หลายๆ รอบ ผลตอบแทนจะได้ยิ่งสูงขึ้นไปอีก ปล่อยเงินไว้เฉยๆ กับตัวเดิมนานๆ ทำไม

ผมเองก็เห็นแบบเดียวกับนักลงทุนส่วนใหญ่ จนกระทั้งเมื่อ 2-3 ปีมานี้ ที่ผมเริ่มขบคิดเรื่องค่าเสียโอกาสของเงินมากขึ้น ผมจึงเริ่มปิ๊งไอเดียว่าที่จริงแล้วสองเรื่องนี้อาจเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง สาเหตุที่คนกลุ่มนี้มักซื้อแล้วไม่ค่อยขาย เป็นเพราะพวกเขาเจอหุ้นไม่บ่อย ถ้าซื้ออะไรมาแล้วกำไรก็ขายทิ้งหมด เงินสดยิ่งเหลือมหาศาล สุดท้ายแล้วก็จะบีบให้ต้องซื้อหุ้นที่ไม่ถูกจริง เพราะให้เงินทำงานตลอดเวลา ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายที่มากกว่า การถือหุ้นที่ซื้อมาแล้วต่อไป คิดแล้วก็ยังดีกว่า เพราะแม้ว่าหุ้นจะแพงไปแล้ว แต่ธุรกิจก็ยังดำเนินอยู่ ยังหาเงินให้เราอยู่ทุกวัน และวันหน้าก็อาจมีโปรเจ็คใหม่ๆ เพิ่มทำให้ธุรกิจใหญ่ขึ้นอีกด้วย ไหนๆ เราก็ซื้อมาได้ที่ราคาต่ำแล้ว ทำไมเราจะไม่ลุ้นต่อไป ได้ลุ้นต่อไปเรื่อยๆ ในต้นทุนที่ต่ำกว่าคนอื่น มันน่าลุ้นมากกว่าไปหาโอกาสใหม่ๆ ซึ่งอาจแพง และทำให้เสียหายได้ และนี่ยังเป็นเหตุผลด้วยว่า ทำไมคนพวกนี้ถึงต้องการซื้อแต่หุ้นที่พื้นฐานแข็งแกร่งเท่านั้น เพราะมีแต่หุ้นที่มีลักษณะเช่นนี้เท่านั้น ที่เราสามารถลุ้นต่อไปนานๆ ได้ ต่างจากหุ้นพื้นฐานแย่ที่แม้ราคาจะถูกมากๆ แต่การไม่สามารถใช้เป็นที่พักเงินต่อไปในระยะยาวๆ ได้หลังจากที่ราคาหุ้นได้ปรับขึ้นมาจนเกินพื้นฐานแล้ว

นี่ทำให้ผมเริ่มเห็นประโยชน์ของการซื้อหุ้นแล้วไม่ขา่ยอย่างเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรก ซึ่งมันส่งอิทธิพลต่อทัศนคติในการลงทุนของผมในช่วงหลังอย่างมากด้วย ขอค้างประเด็นนี้ไว้ให้ลองขบคิดกันดูน่ะครับ เดี๋ยวจะกลับมาว่ากันต่อในโพสต์ต่อๆ ไป