นักกลยุทธ์บอกว่า การตัดทางเลือกของตัวเอง บางครั้งอาจส่งผลดีมากกว่า
กองทหารที่ทุบหม้อข้าวตัวเอง ทหารย่อมต้องสู้ตาย เพราะทางหนีไม่มีแล้ว การตัดทางเลือกให้ตัวเองจึงกลายเป็นการทำให้ตัวเองให้พลังมากกว่าเดิม
หุ้นก็เหมือนกัน ทางเลือกของหุ้นคือ ซื้อแล้วขายเมื่อไรก็ได้ ง่ายแค่ปลายนิ้ว ฟังดูเหมือนเป็นข้อดีของการลงทุนในหุ้น แต่จริงๆ มันเป็นข้อเสีย
ถ้าซื้อแล้วขายเมื่อไรก็ขายได้เลย เวลาซื้อเราจะไม่คิดเยอะ ไม่ระมัดระวัง ไม่รอบคอบ เพราะถ้าผิด ก็แค่ขายทิ้ง
ถ้าสังเกตให้ดี วอเรน บัฟเฟต จะมีกลยุทธ์ทุบหม้อข้าวเยอะมาก เพื่อหลอกตัวเองให้ซื้อหุ้นแต่ละครั้งอย่างรอบคอบจริงๆ
เป็นต้นว่า เขาหลอกตัวเองว่ามีบัตรเจาะรูอยู่ใบหนึ่ง มีสิบช่อง ถ้าซื้อหุ้นหนึ่งตัว ก็จะเจาะรูทิ้งหนึ่งรู ทั้งชีวิตเจาะได้แค่สิบรู ดังนั้น ทุกครั้งที่ซื้อหุ้นสักตัว จะต้องคิดให้ดีมากๆ ต้องเป็นโอกาสที่ดีมากจริงๆ ถึงจะเอา เพราะเท่ากับว่าชีวิตนี้จะซื้อหุ้นได้น้อยลงไปอีกหนึ่งตัวเลยทีเดียว
นอกจากนี้เขายังหลอกตัวเองก่อนจะซื้อหุ้นว่า สมมติว่าหลังจากนี้ตลาดหุ้นจะปิดไปอีกห้าปี เรายังกล้าซื้อหุ้นตัวนั้นหรือไม่ ถ้ายังกล้าซื้อ เขาถึงจะซื้อมัน นี่ก็เป็นกลยุทธ์ทำนองเดียวกัน
ลองหลอกตัวเองสิว่าหุ้นในตลาดหุ้น ซื้อแล้วขายไม่ได้อีกเลย คุณจะซื้อแต่หุ้นแบบไหน
แน่นอน คุณจะซื้อแต่หุ้นที่พื้นฐานดี เป็นธุรกิจที่ต้องอยู่ได้อีกนานแสนนาน ไม่ซื้อหุ้นเก็งกำไร ไม่ซื้อหุ้นวัฏจักร คุณจะรอให้แน่ใจว่าราคาหุ้นไม่ได้แพงจริงๆ ในระยะยาว และคุณจะไม่ทุ่มซื้อตัวเดียวด้วยเงินทั้งหมด แต่จะกระจายความเสี่ยงให้มากพอ
ในโพสต์ที่แล้วได้ชี้ให้เห็นว่า ถ้าหากเราสามารถซื้อหุ้นอะไรแล้วไม่ต้องขายเลยได้ด้วย จะช่วยทำให้เรามีหุ้นเต็มพอร์ตตลอดเวลาได้ง่าย เป็นการให้เงินได้ทำงานอย่างเต็มทีอยู่ตลอดเวลา แต่หุ้นที่จะถือแล้วไม่ต้องขายได้นั้น ต้องมีลักษณะพิเศษ คือต้องเป็นธุรกิจที่ดีจริงๆ ราคาเข้าซื้อต้องไม่แพง ซึ่งการตั้งกฎกับตัวเองว่า ถ้าซื้อหุ้นอะไรแล้วจะไม่ขาย เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยบังคับตัวเองให้ซื้อแต่หุ้นแบบนี้มาเข้าพอร์ตได้
เอาเถอะ เชื่อว่า ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้คงต้องมีคำถามมากมาย (คำถามเชิงโต้แย้ง) ที่เล่ามาทั้งหมด ยังไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นหลักการลงทุนที่สมบูรณ์ได้ ยังต้องมีวิธีคิดอะไรอย่างอื่นที่มากกว่านี้มาประกอบด้วย เอาไว้มาต่อกันในโพสต์หน้าครับ