ช่วงนี้ผมใช้วิธีเขียนบล็อกล่วงหน้าไว้เยอะๆ แล้วค่อยทยอยปล่อยออกมา ไม่นึกว่าจะต้องมาเขียนหัวข้อฉุกเฉิกในช่วงนี้ มันมาถึงเร็วกว่าที่คิด
โรคระบาดใหญ่ เป็นปัจจัยที่ไม่ได้อยู่ในความคิดของผมเลยก่อนหน้านี้ หรือถ้าจะเคยมีก็อาจเป็นช่วงหลังจากโรคซาร์สใหม่ๆ ซึ่งความกลัวแบบนั้นก็อาจจะอยู่กับเราไปสามสี่ปี แต่พอหลังจากนั้น ไม่เกิดขึ้น เราก็จะเลิกสนใจไปเอง คนเราก็เป็นแบบนี้นะครับ
หรือต่อให้ยังคงระวังเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา ก็ไม่รู้ว่าจะคุ้มกันรึเปล่า อาจทำให้เรากล้าๆ กลัวๆ อยู่เป็นสิบปี คิดแล้วไม่คุ้ม ความเสี่ยงแบบนี้ยังมีอีกหลายอย่าง แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ถ้าต้องระวังหมดทุกเรื่องก็คงไม่ไหว บางอันเกิดนิดเดียวแล้วจบ รีบขายหนีก็เสียโอกาส แต่บางอันก็อาจบานปลายระดับสูงสุด
สรุปแล้วมันคือความเสี่ยงที่นักลงทุนในตลาดหุ้นต้องแบกรับไปนั่นแหละ ป้องกันล่วงหน้าได้ยาก
เมื่อเร็วๆ นี้ดูเหมือนจะเริ่มมีสัญญาณในเชิงบวก เพราะจีนควบคุมไวรัสได้แล้ว และราคาน้ำมันก็ตกลงมาต่ำกว่ายุคซัพไพรม์แล้ว แต่ยุโรปก็เพิ่งเริ่มต้น และดูเหมือนชาวตะวันตกจะยังมองไม่เห็นความน่ากลัวของมัน แบบเดียวกับที่เราก็เป็นในช่วงแรกๆ กว่าข่าวร้ายสุดๆ ของเรื่องนี้จะออกมา คือ ไวรัสกระจายเต็มสหรัฐฯ ตลาดหุ้นก็อาจจะยังตกต่อได้อีกนาน ทรัมป์เองก็ต้องพยายามพยุงตลาดหุ้นไว้ให้ผ่านเลือกตั้งปลายปีนี้ไปก่อนค่อยพัง มิหน่ำซำ้ ถ้าหากไวรัสไปจุดชนวนให้เศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งขยายตัวติดต่อกันมานานที่สุดในประวัติศาสตร์และรอแตกมาตั้งนานแล้ว เข้าสู่ภาวะถดถอยอีก ตลาดหุ้นทั่วโลกก็อาจจะต้องอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่อีกนาน
ก็เหมือนกับทุกรอบที่ตลาดหุ้นตกหนัก ในช่วงแรกๆ ทุกคนก็จะรีบเข้าไปรับ เพราะเป็นการตกลงมาที่มากกว่าปกติที่เคยเห็นอยู่ทุกวัน คนเรามักรู้สึกว่าหุ้นถูกหรือแพงโดยเทียบกับราคาในช่วงใกล้ๆ เช่น เดือนที่แล้ว สองเดือนที่แล้ว ทุกคนเป็น contrarian เข้าไปรับ พอหุ้นเริ่มตกมากกว่านั้นอีก นักลงทุนก็รับไปจนเงินหมด แต่จะยังไม่ขายหุ้น เพราะว่าติดตัวแดงหมดทั้งพอร์ต จำใจขายได้ลำบาก ได้แต่นั่งดูหุ้นตกไปเรื่อยๆ แต่ทำอะไรไม่ได้เลย
พอหุ้นตกต่อไปอีก คราวนี้ราคาหุ้นที่ลงไปเรื่อยๆ จะค่อยๆ บั่นทอนความเชื่อมั่นในตัวหุ้นที่ถืออยู่ ธุรกิจดีแล้วทำไมราคาลง เกิดภาวะจิตตก เริ่มเกลียดหุ้นที่ตัวเองถืออยู่ อยากขายออกมาทั้งที่ขาดทุนมากกว่าเดิม คิดว่าควรตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต แต่นี้จะมีคนไปถามกูรูหุ้นเยอะมากกว่า หุ้นหนูขาดทุนไปแล้ว 70% จะแก้ไขยังไงดี ความคิดของผู้คนจะค่อยๆ เปลี่ยนจากยิ่งตกต้องยิ่งซื้อ กลายเป็นเชื่อว่าหุ้นจะลงไปเรื่อยๆ โบรกเกอร์ก็เริ่มปรับเป้าจากขึ้นมาเป็นลงต่อ ตอนนี้คนจะมีความคิดอีกแบบหนึ่งขึ้นมาว่า ถ้าอย่างนั้น เข้าไปซอร์ตหุ้นดีมั้ย หรือไม่ก็ซื้อ DW หรือไม่ก็ TFEX หรือถ้าใครเงินหมดแล้ว แม้แต่เงินวางประกันยังไม่มี ก็อาจจะคิดเรื่อง short against port ขายหุ้นทั้งที่ขาดทุนหนักอย่างนั้นออกไปก่อน แล้วรอให้ตลาดหุ้นตกลงไปมากกว่านี้ค่อยไปรับกลับคืน แต่ช่วงเวลาแบบนี้การชอร์ตหุ้นทุกรูปแบบเสี่ยงมาก ถ้าโชคดีหุ้นลงต่อในวันที่ทำพอดีก็โชคดีไป แล้วบ่อยครั้ง หุ้นมักจะมี tech rebound เกิดขึ้นระหว่างทาง หรือบางทีก็มีข่าวรัฐออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ ลดดอกเบี้ยพิเศษ ออกแพจเกจพยุงหุ้น รวมไปถึงการออกคำสั่งห้ามช็อตหุ้นเพื่อพยุงตลาด short ผิดวัน ทำให้ขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก หรือแม้แต่การ short against port แล้วหุ้นเด้ง ไม่ยอม cover short กลายเป็นขาดทุนถาวร เป็นต้น
หรือต่อให้เป็นคนที่โชคดีมองถูกตั้งแต่แรกๆ ขายหุ้นออกมาถือเงินสดไว้ ก็จะมีความคิดว่า จะรอให้ตลาดหุ้นตกลงจนถึงจุดต่ำสุดก่อน แล้วจะค่อยกลับเข้าไปใหม่ แล้วก็จะรวย แต่การกะว่าจุดต่ำสุดของวิกฤตจะอยู่ที่ตรงไหนนั้น ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เวลาที่เราไม่มีหุ้น เราจะเป็นกองเชียร์ฝั่งที่อยากให้หุ้นลงต่อ ซึ่งหลายๆ หน เราก็อาจจะคิดถูก หุ้นลงต่อไปเรื่อยๆ จริงๆ สักพัก เราจะเริ่มเชื่อว่าหุ้นจะลงต่อไปเรื่อยๆ ความเชื่อว่าหุ้นจะลงของเรามันจะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อหุ้นลงไปต่ำมากๆ แล้ว เพราะคนที่ทำแบบนั้นได้ เวลาหุ้นเด้งระหว่างทางจะต้องยืนกระต่ายขาเดียวว่าหุ้นจะลงต่อ เป็นการสะสมความเชื่อว่าหุ้นจะลงมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วพอถึงเวลาที่หุ้นมันกลับตัวได้จริงๆ เราจะไม่สามารถเปลี่ยนความเชื่อได้ทัน เพราะเราเคยเชื่อถูกมาแล้วตั้ง 4-5 ครั้งแล้ว จะให้มาเปลี่ยนความคิดว่าหุ้นจะขึ้น มันยาก แล้วเราก็จะมองดูมันกลับขึ้นไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้ซื้ออะไรเลย สุดท้ายกว่าเราจะยอมรับความจริงว่าหุ้นมันขึ้นจริงๆ หุ้นก็อาจกลับตัวขึ้นไปมากแล้ว
ถ้าใครอยากได้คำแนะนำว่าหุ้นจะลงไปต่ำสุดแค่ไหน ผมช่วยไม่ได้จริงๆ เพราะมองไม่ออกเลย ที่ผ่านมาก็มีอะไรหลายอย่างที่ผิดจากที่ผมคาดไว้ เช่น ก่อนหน้านี้ผมคิดว่า ถ้าน้ำมันต่ำเท่ากับช่วงซับไพร์มเมื่อไรน่าจะใกล้ต่ำสุด แต่ตอนนี้มันก็ต่ำกว่าแล้ว (อย่างรวดเร็ว) แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพิ่งจะเริ่มลงเท่านั้น ถ้าเทียบกับภูเขาลูกมหึมาที่ขึ้นมาจากจุดต่ำสุดเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ประสบการณ์ในอดีตเอามาช่วยไม่ได้เลยจริงๆ
แทนที่เราจะพยายามทายจุดต่ำสุดให้ถูก ผมมีคำแนะนำอีกแบบหนึ่ง ลองพยายามตั้งสติดีๆ อะไรที่มันเสียหายไปแล้วก็ช่างมันไปก่อน ลองคิดดูดีๆ ว่าหลังจากวิกฤตไวรัสผ่านพ้นไปหมดแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง แล้วค่อยมองย้อนกลับมาว่าเราควรจะทำยังไงดีกว่า
ประการแรก ไวรัสอาจจะอยู่กับเราได้อีกเป็นปี แต่คงไม่ใช่ตลอดไปแน่นอน อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโดยตรง อาจจะลงต่อจากนี้อีกมากแค่ไหนก็ได้ในระยะสั้น แต่ว่าไม่ตลอดไปแน่นอน ตรงกันข้ามหุ้นเหล่านี้มีโอกาสลงมามากเกินไปแล้ว ลองคิดดูว่าอีก 4-5 ปีข้างหน้า ถ้าไม่มีไวรัสเหลืออยู่เลย เราจะให้ราคาหุ้นเหล่านี้อย่างต่ำเท่าไร โลกที่ไม่มีไวรัสแล้ว ทุกอย่างก็ไม่ได้ดูขี้เหร่ ต่อให้ไม่เลิศที่สุด แต่อย่างน้อยก็น่าจะไปได้เรื่อยๆ แน่ๆ ดอกเบี้ยก็คงยังต่ำเตี้ยติดดินต่อไป หรือตำ่ยิ่งกว่าเดิม เงินล้นโลก เงินไม่มีที่ไปเหมือนเดิม สุดท้ายแล้วเงินก็ยังต้องไหลกลับมาตลาดหุ้นอยู่ดี
ประการต่อมา เมื่อไวรัสจบแล้ว ผลกระทบที่ตกค้างต่อเศรษฐกิจจะมีอะไรได้บ้าง โดยส่วนตัว ผมมองว่าในกรณีร้ายสุด สหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะซบเซา เป็นไปได้ที่เศรษฐกิจโลกจะเติบโตต่ำลง หรือต่อให้เศรษฐกิจโลกไม่ซบเซา แต่ก่อนหน้านี้ไทยก็อยู่ในภาวะต้มกบมาก่อนไวรัสแล้ว จบไวรัสแล้วเราก็อาจจะต้องกลับมาต้มกบกันต่ออีกก็ได้ หุ้นที่น่าสนใจในภาวะแบบนั้นคือหุ้นที่ไม่เน้นการเติบโตสูง แต่เน้นความมั่นคงของรายได้ อาจโตช้าหน่อย แต่ไม่ค่อยขาดทุน และกำไรก็ลดยาก เราอาจต้องปรับพอร์ตของเราให้มีความ conservative มากขึ้น สะสมหุ้นแข็งแรง มากกว่าหุ้นเติบโต
ประการที่สาม หลังวิกฤต อะไรเน่าๆ ที่ซ่อนไว้ในตลาดการเงิน มักโผล่ออกมา ดั้งนั้นผมมีความเป็นห่วงหุ้นที่มีหนี้มากๆ หรือเกี่ยวข้องกับหนี้ เช่น หุ้นที่ต้องแบกหนี้เสีย บริษัทที่หนี้เยอะ การเงินไม่แข็งแรง กระแสเงินสดไม่ดี เงินจม ลูกค้าต้องกู้เงินเท่านั้นถึงจะซื้อของเราได้ เป็นต้น เราอาจต้องตัดหุ้นพวกนี้ออกไปจากเรดาห์ของเรา แม้ว่าหุ้นเหล่านี้จะมีราคาถูกอย่างเหลือเชื่อในเวลานี้ก็ตาม อย่าเห็นแก่ของถูก เน้นคุณภาพไว้ก่อน ราคาเป็นเรื่องรอง
ประการสุดท้าย อันนี้แค่ optional อาจไม่เกี่ยวกับวิกฤตไวรัสเท่าไร ถ้าเป็นไปได้ หุ้นที่เราน่าจะพึ่งพาได้ในอนาคต ควรจะเป็นหุ้นที่ทนทานของ Digital Disruption ด้วย ก็จะยิ่งดี เพราะเรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้อยู่พอดี ไม่ว่าจะมีไวรัสเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม พยายามลืมภาพเก่าๆ ไปบ้าง อย่าคิดว่าหุ้นที่เคยแข็งแรงในอดีตจะต้องแข็งแรงต่อไปในอนาคต ลองคิดถึงโลกที่ทุกคนทำทุกอย่างด้วยสมาร์ทโฟน ธุรกิจอะไรบ้างที่จะไม่ได้รับผลกระทบ
ลองคิดภาพลางๆ ดูว่า การลงทุนของตัวเราหลังจากวิกฤตไวรัสจะเป็นประมาณไหน พอร์ตในฝันของเราควรมีหุ้นอะไรอยู่บ้าง ใครที่ยังพอมีเงินสดเหลืออยู่ ลองดูว่าหุ้นที่เราอยากได้เหล่านั้น มีราคาถูกกว่าราคาที่แพงที่สุดที่เรารับได้ของหุ้นตัวนั้นเมื่อทุกอย่างกลับมาเป็นปกติแล้ว ก็ซื้อไปเถิด ซื้อแล้วก็เลิกสนใจไปเลย ไม่ต้องสนใจว่าจุดต่ำสุดอยู่ตรงไหน แล้วอีกสามปีข้างหน้าค่อยมาดูใหม่ก็ได้ หรือถ้าใครไม่มีเงินสดเหลืออยู่แล้ว สิ่งที่ทำได้คือการปรับเปลี่ยนตัวหุ้นในพอร์ตไปสู่หุ้นที่อยากฝากฝีฝากไข้ช่วงหลังวิกฤตให้มากขึ้น ถึงเราจะผิดพลาดกับการลงทุนรอบนี้ แต่อย่างน้อยเราก็ควรจะได้รับประสบการณ์ที่มากขึ้น ลองทบทวนสิ่งที่เราเชื่อในอดีตว่ามีอะไรที่ผิดพลาดบ้าง นี่คือเวลาที่คนเราจะตาสว่าง ถ้าพ้นวิกฤตไปแล้ว ก็ยังเชื่อแบบเดิม ทำแบบเดิมอยู่ เราก็คือคนที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากวิกฤต หลังจากนี้ไปเราต้องเป็นนักลงทุนที่เก่งกว่าเดิมให้ได้ นั่นอาจเป็นกำไรที่มีค่าที่สุดที่เราได้รับจากวิกฤตรอบนี้ เส้นทางสายหุ้นไม่ได้ประสบความสำเร็จกันง่ายๆ ถ้าลองไปค้นประวัติของพวกเซียนหุ้นดู จะพบว่าล้วนต้องเคยเจ๊งหุ้นก่อนค่อยสำเร็จกันทั้งนั้น บางทีที่คุณล้มเหลวในรอบนี้อาจเป็นเพราะคุณกำลังอยู่บนเส้นทางสู่ความสำเร็จแบบเดียวกันอยู่ก็ได้
ขอบคุณครับ
ตรงกว่านี้มีอีกมั้ยครับ พี่โจ๊ก อ่านแล้วโดนใจสุดๆ ครับพี่… ช่วงนี้ราคาลงแบบไม่สนใจปัจจัยพื้นฐานแล้วครับ ผมเคยผ่านวิกฤติซับไพรม์มา รอบนั้นพอรต์ยังเล็กอยู่ แต่ตอนนี้ก็ถือว่าหนักมากครับ แต่ยังดีที่มีเงินสดอยู่บ้าง …ผมสังเกตุว่าเป็นการลงคล้ายๆกัน คือ ต่างชาติขายหนักมาก และขายทุกวัน ลงวันละ 5-10% เป็นปกติ เพราะ private equity ของต่างชาติพวกนี้ ก็คงจะเจ็บหนักกับตลาดหุ้นที่อเมริกา และยุโรปด้วยเช่นกัน เพราะก็ลงแรงพอๆกับไทย หรือหนักกว่า เลยต้องขายหมด เพื่อพยุงพอรต์การลงทุน
แต่ผมมีคำถามที่กังวลครับพี่โจ๊ก … อเมริกาตอนนี้ใช้ยาแรง แต่เรียกว่าใช้ไพ่ไปหมดแล้วรึป่าวครับ ? ที่ลดดอกเบี้ยลงมาเหลือระดับ 0% และ QE อีกมหาศาล … หรือว่าพอถึงเวลาเดี๋ยวก็หาวิธีใหม่ๆมาได้? เพราะเหมือนว่าใช้ยาแรงแล้วก็ยังเอาไม่อยู่ครับพี่ / ขอบคุณมากครับ ^^
ก็ยังเพิ่มขนาด QE ได้อีกไม่สิ้นสุดนะ ตรงนี้มั้งที่ตอนนี้ Dalio ออกมาเชียร์ทองคำ เพราะอาจเกิดความไม่มั่นใจดอลล่าร์ขั้นรุนแรงได้ (แค่อาจจะ)
ตามทฤษฏีการเงิน ถ้ารัฐหมดเครื่องมือ ก็จะเกิดภาวะ deleveraging เหมือนต้มกบที่ยาวนาน แล้วถ้ายังแย่ไปกว่านั้นอีก ก็จะเกิดภาวะที่คนไม่เชื่อมั่นในเงินกระดาษ แต่ทั้งหมดนี้ผมยังไม่มองไปถึงขนาดนั้นครับ
“ทรัมป์เองก็ต้องพยายามพยุงตลาดหุ้นไว้ให้ผ่านเลือกตั้งปลายปีนี้ไปก่อนค่อยพัง ”
เพิ่งมีคนบอกแบบนี้เป็นคนแรกเลยครับ
ซึ่งก็มีแนวโน้มจะเป็นไปได้สูง เพราะจะเลือกตั้ง ยังไงก็คงอยากให้ตลาดหุ้นกลับมาเร็วที่สุด
ตอนนี้เงินสดผมเต็มมือเลยครับ
คิดเล่นๆ ว่าทรัมป์บอกว่าอเมริกาน่าจะคุมไว้รัสได้กลางปี ถ้าคุมไวรัสได้แล้วช่วงนั้นหุ้นอเมริกาน่าจะขึ้นแรง ก็อาจจะแบ่งเงินมาซื้อหุ้นอเมริกาสัก 10-20 percent แล้วเราค่อยไปขายตอนก่อนเลือกตั้ง
ขอบคุณสำหรับบทความครับ
อีกประเด็นที่ผมเห็นนักวิเคราะห์กลัวกัน ก็คือเรื่องหนี้เสียจากบริษัทต่างๆ ที่ได้ผลกระทบจากไวรัส เช่น สายการบิน โรงแรม
ซึ่งอาจทำให้ธนาคารมีปัญหา แล้วถ้ามีธนาคารมีปัญหาทีนี้จะลามไปใหญ่เลย
ธรรมชาติของราคาหุ้นคือ มันจะหาวิธีลงด้วยตัวของมันเอง มันเป็นไปไม่ได้ที่จะขึ้นอย่างเดียวเป็นสิบปีโดยไม่ถล่มลงมา ขึ้นกับว่าใครถือเงินสด อดใจรอได้มากกว่ากัน ก่อนนี้บรรยากาศสดใส ภัยไวรัสก็เหมือนฟ้าฝ่ากลางแดด ถ้ามีเงินสดตอนนี้ ถือว่า โชคดี