0282: ระยะหวังผล

เวลาซื้อหุ้น คนเราจะมี “ระยะหวังผล” อยู่โดยที่ไม่รู้ตัว…

ระยะหวังผล คือ ระยะที่ในใจของเราเริ่ม “ตัดสิน” ว่า การตัดสินใจซื้อหุ้นครั้งนั้น เราคิดถูกหรือผิด?

ถ้ายังไม่ถึงระยะหวังผล แม้หุ้นยังแดงอยู่ เราก็มักยังไม่รู้สึกอะไร เรายังคงเต็มไปด้วยความหวัง แต่ถ้าหากถึงระยะหวังผลแล้ว ยังแดงอยู่ คราวนี้เราจะเริ่มรู้สึกผิดหวังกับหุ้นตัวนั้น บางคนจะเริ่มโทษตัวเอง บางคนจากที่เคยเสียดายไม่ยอมขาดทุนจะเริ่มเปลี่ยนเป็นขายขาดทุนเท่าไรก็ได้ ขอให้ได้ขาย 

ระยะหวังผลของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนภายในวันเดียว  บางคนสองวัน บางคนสองสัปดาห์ บางคนสามเดือน บางคนหนึ่งปี คนที่หุ้นแดงติดต่อกันสิบปีแล้วยังไม่รู้สึกอะไรเลยก็มีด้วยเหมือนกัน ระยะหวังผลขึ้นกับบุคลิกและสไตล์การลงทุนของแต่ละคน

 

ผมชอบรูปกราฟราคาหุ้นในอดีตของหุ้นปูนใหญ่มาก เพราะมันบอกอะไรเราได้หลายอย่างเกี่ยวกับคำว่าหุ้น  SCC เป็นหุ้นบูลชิพที่มีราคาผันผวนรุนแรงมากยิ่งกว่ารถไฟเหาะตีลังกาเสียอีก ลองจินตนาการเล่นๆ ว่ามีนักลงทุนสองคนซื้อ SCC พร้อมกันที่ลูกศรเบอร์ 1 ในภาพ ถ้านักลงทุนคนแรกมีระยะหวังผลเท่ากับหนึ่งปี ในขณะที่นักลงทุนอีกคนมีระยะหวังผลเท่ากับ 10 ปี นักลงทุนสองคนนี้ซื้อหุ้นตัวเดียวกัน ณ เวลาเดียวกัน ที่ราคาเดียวกันแท้ๆ แต่นักลงทุนคนแรกล้มเหลวอย่างแรงเพราะหนึ่งปีให้หลังราคาหุ้นร่วงลงไปมากกว่า 50% ในขณะที่ นักลงทุนคนที่สองประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะอีกสิบปีให้หลัง ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปเกือบ 500%

ระยะหวังผลไม่ได้มีอิทธิพลแค่เฉพาะความรู้สึกทางจิตใจเท่านั้นแต่ยังมีผลต่อผลตอบแทนของคุณด้วย บอกได้เลยว่านักลงทุนคนแรกที่มีระยะหวังผลเท่ากับหนึ่งปีจะไม่มีวันได้ enjoy กับหุ้น 5 เด้ง เป็นอันขาด เนื่องจากแม้เขาจะยังไม่ได้ขาดขาดทุนออกไปแต่เมื่อหุ้นเริ่มเด้งกลับขึ้นมาผ่านต้นทุนเดิมของเขาในช่วงปี 2545 เขาก็จะรีบขายทิ้งทันที เพราะทนขาดทุนมานาน มันทนทรมานมาก สุดท้ายแล้วเขาจึงไม่ได้ enjoy ช่วง 5 เด้งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ แค่ไม่ถึงสองปีหลังจากนั้น ในขณะที่นักลงทุนที่มีระยะหวังผลนานสิบปีจะไม่มีความรู้สึกอยากขายแบบรุนแรงทำให้ทนถือผ่านต้นทุนไปได้ ความรู้สึกว่าเราสำเร็จหรือล้มเหลวอันเนื่องมาจากระยะหวังมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อและขายหุ้นของเราโดยตรงมันจึงส่งผลต่อผลตอบแทนจริงๆ ของคุณด้วย

แม้ราคาหุ้นจะเอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่ผมก็เห็นว่า นักลงทุนก็ต้องมีระยะหวังผลบ้างเหมือนกัน ไม่ใช่หุ้นทำนิวโลว์ติดต่อกัน 20 ปีแล้วยังปากแข็งบอกว่า ราคาหุ้นทำนายไม่ได้ มูลค่าหุ้นสูงกว่านั้นมาก อย่างนี้ผมว่าก็ดูจะหลอกตัวเองเกินไป แบบนี้ซื้อหุ้นอะไรก็ประสบความสำเร็จทั้งนั้น เรื่องสำคัญก็คือระยะหวังผลควรจะสอดคล้องกับจุดประสงค์ที่เราซื้อหุ้นตัวนั้นเสมอ เช่น ถ้าซื้อหุ้นตัวนั้นเพราะเก็งกำไรด้วยกราฟ อย่างนี้ระยะหวังผลก็ไม่ควรจะนาน ถ้าซื้อแล้วหุ้นลงต่อเนื่อง ก็ควรรีบยอมรับความผิดพลาดจะได้คัดลอสได้โดยเร็ว ส่วนถ้าเป็นการลงทุนในแง่พื้นฐาน ซื้อเพราะมองว่าธุรกิจมี barries สูง ผู้บริหารเก่งและดี เหตุผลทำนองนี้ก็ควรมีระยะหวังผลที่ค่อนข้างนานมาก เพราะในระยะสั้น การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นจะไม่สะท้อนปัจจัยเหล่านี้เลยแม้แต่น้อย ภาวะตลาดหุ้นจะกลบปัจจัยเหล่านี้จนหมดสิ้น ที่พบเห็นได้บ่อยคือนักลงทุนที่ชอบมองพื้นฐานแต่กลับมีระยะหวังผลแค่สองอาทิตย์หรือหนึ่งเดือน แบบนี้เป็นความคาดหวังที่ unrealistic เป็นอย่างมาก เหมือนอย่างที่ ปีเตอร์ ลินซ์ บอกว่า ถ้าบังคับในนักลงทุนดูราคาหุ้นได้แค่หนึ่งครั้งทุกๆ หกเดือน ผลตอบแทนของนักลงทุนส่วนใหญ่จะดีขึ้นได้ทันที โดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะการไม่ดูหุ้นบ่อยๆ เป็นกุศโลบายในการยืดระยะหวังผลที่สั้นเกินไปให้ยาวขึ้นได้นั่นเอง 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *