ยุคดอกเบี้ยต่ำ ใครได้ใครเสีย

เราอยู่ในโลกยุคที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก

เราอาจจะมองว่า เป็นเพราะธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะเฟด กดดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็เลยทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่จริงๆ แล้ว ต่อให้ไม่มีเฟด อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ก็ต่ำอยู่ดี Continue reading “ยุคดอกเบี้ยต่ำ ใครได้ใครเสีย”

Factor Investing

เวลาพูดถึง Passive Investing เรามักคิดถึงการลงทุนในกองทุนรวมดัชนี (Index Fund) แต่ในโลกของ Passive Investing เป็นอะไรที่กว้างกว่านั้น

ข้อดีของ Index Fund คือ การกระจายหุ้นในระดับสูงสุด ซึ่งการกระจายหุ้นของ “ของฟรี” อันเดียวที่จะคงเหลืออยู่ในโลกการเงินยุคอนาคต แต่โลกแห่งความเป็นจริง การกระจายหุ้นที่มากจนเกินไป ก่อให้เกิด ก่อให้เกิดประโยชน์ที่ได้จากการกระจายความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมซื้อขายและความยุ่งยากในการจัดการที่เพิ่มขึ้น

มีการวิจัยจำนวนมหาศาลที่พบว่า Continue reading “Factor Investing”

Market Commentary Q3 2016

ตลาดหุ้นในช่วงปีที่ผ่านมาไม่มีอะไรใหม่ เรายังอยู่ในยุคที่เฟดอยากขึ้นดอกเบี้ยมาก แต่ก็ทำไม่ได้ เงินจึงยังอยู่ในตลาดหุ้นเอเชียได้ต่อไป 

เศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะดีขึ้นปลายปีนี้ คงต้องเลื่อนออกไป เพราะ NPL ที่คาดว่าจะลดลงในครึ่งปีหลัง กลับมาน่ากังวลใหม่ ส่งออกก็ยังลบต่อเนื่อง มีแค่การใช้จ่ายของรัฐบาลกับการท่องเที่ยวที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้ 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตลาดหุ้นก็ลงได้จำกัด เพราะสภาพคล่องที่ท่วมมือของทุกคนอยู่ สรุปแล้วหุ้นจึงแพง แต่ลงมากไปก็จะมีคนรีบช้อนขึ้นมาใหม่เพราะมีเงินที่ยังอยากเข้ามาตลาดตลาดอีกมาก แต่ขึ้นไปมากก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะภาพไม่ได้ดูดีขนาดนั้น

โดยส่วนตัวทุกวันนี้ผมสนใจ passive investing มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้อยากรู้แค่ทฤษฎีแต่อยากปฏิบัติได้ดีด้วย เดี๋ยวนี้เวลาจะเขียนบล็อกหุ้นเลยไม่รู้จะเขียนอะไร เพราะเสพข่าวน้อยลง ทำให้ไม่มีวัตถุดิบ ข่าวตลาดนอกจากจะไม่จำเป็นแล้ว ยังเป็นอุปสรรคของ passive investment ด้วย แค่ออกแบบกฎให้ดี แล้วทำไปตามกฎ กลับให้ผลตอบแทนที่ดีได้ เพราะเป็นการตัดอารมณ์ออกไป อันเป็นอุปสรรคอันดับหนึ่งของการลงทุน ผลตอบแทนจึงดีขึ้นได้เพราะความผิดพลาดจำนวนมากถูกตัดออกไปนั่นเอง

สามสิ่งที่มีค่า

ผมสังเกตว่า มีอาชีพอยู่ 3 แนว ที่สังคมมนุษย์ดูจะให้ผลตอบแทนมากเป็นพิเศษ (ส่วนมันจะยุติธรรมหรือไม่นั้น เป็นอีกประเด็นต่างหาก) ถ้าหากจะลงทุนลงแรงไปกับการแสวงหาอาชีพอะไรสักอย่าง ก็น่าจะพิจารณาอาชีพ 3 แนวนี้เป็นพิเศษ

อย่างแรกคือ อาชีพนายทุน แต่ไหนแต่ไรมา ดูเหมือนทุน Capital จะได้ผลตอบแทนมากกว่าแรงงาน Labor เป็นอย่างมาก และก็มีแนวโน้มว่าจะยังเป็นเช่นนั้นต่อไปในอนาคต คำว่าอาชีพนายทุนนั้นหมายถึง การเป็นเจ้าของทรัพย์สินอะไรบางอย่าง แล้วหาค่าตอบแทนจากทรัพย์สินนั้น

ทรัพย์สินที่ดี นอกจากจะต้องทำประโยชน์ได้แล้ว ยังต้องเป็นของที่ unique ด้วย เช่น ที่ดิน หรือทำเล ในบริเวณใด บริเวณหนึ่ง ย่อมมีจำนวนจำกัด เช่น ที่ดินรอบๆ มหาวิทยาลัย มีจำกัด ใช้สร้างหอพักที่อยู่ใกล้ได้ ทำให้มันมีค่า ในขณะที่ เงินสด เป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้น้อยที่สุด เพราะเป็นของเหมือนๆ กัน ไม่มีความ unique นายทุนที่รวยเร็วมักจะไม่ค่อยถือเงินสด แต่จะถือ Wealth เป็นสินทรัพย์ทำเงินอย่างอื่นตลอดเวลา

ผมเคยเจอเจ้าของตึกแถวข้างมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง เขาเปิดร้านเน็ตยังไงก็เจ๊ง คือไม่คุ้มค่าแรง แต่พอตัดสินใจปล่อยตึกให้คนอื่นมาเช่าทำธุรกิจ แล้วตัวเองรอเก็บค่าเช่าอย่างเดียว ก็กำไรทันที แถมเหนื่อยน้อยกว่ามาก นั่นแสดงว่า แวลูทั้งหมดของร้านเน็ตของเขาอยู่ที่ทำเลอย่างเดียว ตัวธุรกิจร้านเน็ตเองกลับไม่เคยสร้างกำไรอะไรเลย ทุนจึงได้ผลตอบแทนมากกว่าแรงงาน เพราะทุนเป็นสิ่งที่มีจำกัด แต่แรงงานเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็มี ทั้งที่เหนื่อยมากกว่า

หุ้นก็เป็นทุนชนิดหนึ่ง ผู้ถือหุ้นก็เหมือนประกอบอาชีพนายทุน คือแทนที่จะเอาเงินฝากในธนาคารไปซื้อรถ ชื้อมือถือ เที่ยวเมืองนอก ก็เอามาซื้อหุ้นแทน เพื่อให้ธุรกิจทำงานหาเงินให้เรา หุ้นที่ดีก็เหมือนกับสินทรัพย์ที่ดีอย่างอื่น คือต้อง unique คือเป็นหุ้นของธุรกิจที่มีอำนาจผูกขาดบางอย่าง มีอะไรที่ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็ทำแข่งได้ ไม่ใช่หุ้นหรือธุรกิจอะไรก็ได้

หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ต่างจากหุ้นของบริษัททั่วไป เพราะต้องซื้อขายแข่งกันในตลาด ถ้าหากเป็นของดี ใครๆ ก็รู้ว่าดี จึงต้องซื้อแพง ทำให้บางทีบริษัทดีจริง แต่เพราะว่าซื้อมาแพงก็อาจจะไม่ได้ผลตอบแทนเยอะอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้น คนที่จะซื้อหุ้นในตลาดหุ้นแล้วได้ผลตอบแทนดี นอกจากจะต้องซื้อธุรกิจที่มีดีแล้ว ยังต้องรู้ก่อนคนอื่น หรืออ่านขาดกว่าคนอื่นด้วยว่าธุรกิจนั้นมีดี เพราะทำให้สามารถซื้อหุ้นนั้นได้ที่ราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ที่ดินก็เหมือนกัน ถ้าซื้อที่ดินรอบรถไฟฟ้า ก็อาจจะไม่ได้อะไร เพราะทำเลดีก็จริง แต่ใครๆ ก็รู้ว่าดี ราคาขายก็ต้องแพง เมื่อซื้อมาแพงก็อาจทำกำไรได้น้อย แบบเดียวกันเลย ดังนั้น ก็ไม่ใช่ว่าอาชีพนายทุนดีแล้ว ใครเป็นนายทุนก็จะรวยหมด คนที่เป็นนายทุนที่ดีคือคนที่อ่านขาดกว่าคนอื่น หรือมีข้อมูลที่ดีกว่าคนอื่นด้วย ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ฟรี

อาชีพหรือวิธีทำมาหากินแบบที่สองคือ อาชีพขายชื่อเสียง ชื่อเสียงเป็นสิ่งที่ทำกำไรได้สูงมาก คนที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ เช่น ดารา เซเลบ จะมีช่องทางทำเงินมากมาย แค่มางานปาร์ตี้ก็ได้เงินแล้ว หรือแค่ยอมให้สินค้าต่างๆ ใช้ชื่อของตัวเองเป็นแบรนด์ก็ได้เงินแล้ว เป็นต้น ไม่ต้องลงมือทำอะไรเองเลย

ผมรู้จักอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง เขารับงานข้างนอกจากบริษัทเอกชนด้วย จริงๆ แล้วเขาไม่ได้ทำงานเหล่านั้นเองเลย เพราะเสียเวลา เขาเอางานนั้นมาให้นักศึกษาทำ แล้วถึงเวลาก็แค่ตรวจๆ แล้วก็เซ็นชื่อเฉยๆ เพราะวิธีนี้ทำเงินเร็วกว่า ชื่อเสียงทำเงินต่อชั่วโมงได้มากกว่าแรงงานมาก อาจารย์ที่มีชื่อเสียงแล้วจึงไม่ทำเอง แต่จ้างคนอื่นทำให้ แล้วก็แค่ลงชื่อ พวกจิตรกรชื่อดังหลายคนก็ทำแบบนี้เหมือนกัน ให้ลูกศิษย์วาดให้ ตัวเองแค่เซ็นชื่อในภาพ ทำเงินได้เร็วกว่า

เหตุผลลึกๆ ที่ชื่อเสียงเป็นสิ่งที่ทำเงิน ก็คือ ความน่าเชื่อถือ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่เราไม่รู้ เราไม่มั่นใจ เรากลัวเสี่ยง เรายิ่งต้องวิ่งหาคนมีชื่อเสียงเพื่อช่วยประกันความปลอดภัยให้เรา ทำให้เราเกิดความอุ่นใจ ซึ่งเรายินดีจ่ายเงินซื้อความสบายใจ สมมติว่า มีน้ำมันพืชสองยี่ห้อให้เลือก ยี่ห้อหนึ่งดัง อีกยี่ห้อไม่รู้จัก เราย่อมหยิบยี่ห้อที่ดัง แม้ว่ามันอาจจะแพงกว่า เพราะเราต้องการความมั่นใจ เราเชื่อถือแบรนด์ พวกธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีแบรนด์ทั้งหลายก็เหมือนกัน ที่จริงแล้ว โรงงานของบริษัทไม่ได้มีค่าอะไรเลย มูลค่าของธุรกิจจริงๆ อยู่ที่แบรนด์ ทั้งนั้น เพราะโรงงานใครก็เปิดได้ แต่แบรนด์ในใจคนจะมีได้มากที่สุดไม่เกิน 3-4 แบรนด์ต่อสินค้าหนึ่งอย่าง มากกว่านี้คนขี้เกียจจำแล้ว แบรนด์ 3-4 แบรนด์แรกของสินค้าทุกชนิดจึงมีค่า

อาชีพขายชื่อเสียงฟังดูเหมือนหาเงินง่ายๆ แต่ที่จริงมันยากตอนที่ยังไม่มีชื่อเสียง เพราะต้องสะสมความประทับใจของลูกค้าวันละนิดละหน่อย จนกลายเป็นฐานของผู้บริโภคจำนวนหนึ่งที่ภักดีต่อเรา หรือมิฉะนั้นก็ต้องกล้ามากกว่าคนอื่น ถึงจะดังเร็ว เช่น อยากเป็นนักร้อง ถ้าร้องอยู่ตามผับก็คงดังช้า แต่ถ้าไปประกวดเดอะวอยซ์แล้วชนะก็อาจดังได้ในเวลาแค่สามเดือน คือเป็นคนที่ไขว่คว้าโอกาสมากกว่าปกติ (แต่ก็ต้องเก่งด้วยนะ)

ถ้าเรารู้แล้วว่าธุรกิจส่วนมากกำไรเพราะว่าความน่าเชื่อถือ หากจะทำธุรกิจอะไรก็ควรมุ่งสร้างแบรนด์ สร้างความน่าเชื่อถือ ไมใช่ตีหัวเข้าบ้าน เพราะอาจจะได้กำไรครั้งเดียว แต่ไม่ยั่งยืนเหมือนกับการธุรกิจที่สามารถสร้างแบรนด์ได้ในระยะยาว

อาชีพแนวที่สามคือ อาชีพแนววิชาชีพ เช่น หมอ นักกฎหมาย นักบัญชี อาชีพพวกนี้ขายแรงงานเหมือนกัน แต่ว่าเป็นแรงงานที่มีทักษะ แม้ว่าผลตอบแทนจะไม่มากเท่ากับสองแบบแรก แต่ก็ค่อนข้างมาก และที่สำคัญคือ โอกาสที่คนธรรมดาทั่วไปจะทำอาชีพเหล่านี้ได้มีมากกว่าสองแบบแรก คือไม่ต้องอาศัยโชคดีมากๆ หรือมีความเก่งบางอย่างที่ทั้งประเทศไม่มีใครทำได้ ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องความขยันมากกว่า เช่น สอบแข่งขันให้ได้ เก็บชั่วโมงให้ครบ เป็นต้น หมอหรือนักกฎหมายก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องดังทุกคนถึงจะได้เงินมาก หมอหรือนักกฎหมายที่ไม่ดังมากก็มีรายได้ที่ดีพอสมควร เหตุผลที่อาชีพพวกนี้มีรายได้ดี เนื่องมาจาก supply มีจำกัด เช่น มีสภาวิชาชีพคอยจำกัดจำนวนคน มีการสอบแข่งขันเพื่อให้มีคนทำอาชีพนี้น้อย ทำให้คนที่ได้ทำทุกคนได้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง อาชีพวิชาชีพเป็นอาชีพที่ดีเสมอมา แต่ในอนาคตก็น่าจะมีแต่ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีตก

ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่ผมบอกว่าสามอาชีพนี้เป็นสามอาชีพที่ได้ผลตอบแทนดี ก็ไม่ได้แปลว่า แค่ทุกคนเลือกทำสามสิ่งนี้แล้วก็ได้จะได้ผลตอบแทนดีทุกคน ของดีต้องได้มายาก กฎข้อนี้ไม่มีวันเปลี่ยน แต่ถ้าหากเราจะลงทุนลงแรงไปกับอย่างเท่าๆ กัน ถ้าอย่างหนึ่งทำให้เรามีโอกาสไปสู่สามสิ่งนี้ ส่วนอีกอย่างหนึ่งไม่ให้โอกาสเลยหรือไม่ได้สิ่งเหล่านี้ติดตัวไปบ้างเลย คุณก็คงเลือกได้ว่าควรจะลงทุนไปกับสิ่งไหนมากกว่า

 

การเงินส่วนบุคคล ทฤษฏีกับชีวิตจริง

ทฤษฏีการเงินส่วนบุคคลสอนว่า คนเริ่มต้นทำงานอย่ารีบผ่อนรถยนต์ ให้ออมเงินให้ได้มากที่สุดก่อน แล้วเอาเงินออมมาซื้อรถยนต์ หรืออย่างน้อยถ้าซื้อไม่ได้ทั้งหมด ก็ซื้อเงินสดส่วนหนึ่ง ผ่อนให้น้อยที่สุด รถยนต์ถอยมาวันแรกราคาก็ตกทันที และเป็นสิ่งที่สุดท้ายแล้วกลายเป็นแค่ซาก

นอกเหนือไปจากกรณีที่บางคนจำเป็นต้องมีรถยนต์ในการดำรงชีวิตจริงๆ และในกรณีที่บางคนต้องซื้อรถยนต์เพื่อช่วยหารายได้ เช่น ทำงานเป็นเซลล์ เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุผลเฉพาะรายบุคคล แต่ก็มีเหตุผลอย่างอื่นที่ทำให้คำแนะนำนี้อาจไม่ใช่คำแนะนำที่ดีเสมอไปด้วย

จำได้ว่า ตอนผมเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ (นานมาแล้ว แต่ไม่อยากบอกว่ากี่ปี เพราะนานมาก อิอิ) รถญี่ปุ่นระดับ Entry-level ราคาคันละประมาณ 4-5 แสนบาท แต่สมัยนี้ราคากระโดดไป 7 แสนบาทแล้ว (ขออนุญาตไม่เปรียบเทียบกับ eco-car เนื่องจาก ของไม่เหมือนกัน และสมัยก่อนยังไม่มี) เหตุผลส่วนหนึ่งเกิดจากภาษีสรรพาสามิตรถยนต์ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ แต่นั่นก็ยังไม่สามารถอธิบายราคาส่วนที่เพิ่มขึ้นได้ทั้งหมด ตัวรถยนต์เองก็แพงขึ้นด้วย แตกต่างจากราคาสินค้าส่วนใหญ่ที่ยิ่งเทคโนโลยีสูงขึ้น ราคามักจะถูกลง ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมต้นทุนการผลิตรถยนต์จึงไม่ได้ถูกลง ทั้งที่ราคาเหล็กก็ตกต่ำมานานหลายปี

ในทางตรงกันข้าม ในช่วงที่ผ่านมา ดอกเบี้ยกลับตกต่ำ ทำให้อัตราดอกเบี้ยกู้ซื้อรถยนต์ไม่ได้แพงมากนัก ถ้าหากพิจารณาถึงราคารถยนต์ที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่า อัตราดอกเบี้ยมาก กลับกลายเป็นว่า คนที่ตัดสินใจกู้เงินซื้อรถยนต์ตั้งแต่สิบปีก่อน นอกจากจะได้กำไรจากการได้ใช้แล้ว เทียบกับคนที่ออมเงินไว้ก่อน ซึ่งได้ดอกเบี้ยน้อยมาก ค่อยเอาเงินสดมาซื้อในอีกสิบปีต่อมา ในราคาที่แพงขึ้นเท่ากับหรือมากกว่าดอกเบี้ยสินเชื่อรถยนต์ คนแรกอาจจะ better off ในทางการเงินมากกว่าซะอีก (โอเคว่า รถที่คนแรกซื้อมาไม่ได้มีราคาเพิ่มขึ้น เพราะกลายเป็นรถมือสอง แต่คนแรกก็ยังได้เปรียบตรงที่มีรถใช้แล้ว ทำให้ไม่จำเป็นต้องควักเงินซื้อรถตอนที่ราคาตลาดแพงขึ้นมาก)

ลองมานั่งคิดดูว่า อะไรทำให้คำแนะนำการเงินส่วนบุคคลนี้ใช้ไม่ได้ค่อยได้ผลในช่วงที่ผ่านมา ก็พบว่า ในช่วงที่ผ่านมามีปัจจัยหลายอย่างที่ผิดปกติไปจากสมมติฐานทางเศรษฐศาสตร์ปกติค่อนข้างมาก

ประการแรก ดัขนีเงินเฟ้อยอดนิยม (CPI) เป็นดัชนีที่สะท้อนความเป็นจริงเกี่ยวกับค่าครองชีพสมัยนี้ได้น้อยลงมาก CPI ของไทยบ่งชี้ว่า ประเทศไทยเงินไม่ได้เฟ้อเลย และถึงขั้นเป็นเงินฟืดด้วยซ้ำ เพราะ CPI วัดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค(ค่ากับข้าว)เป็นหลัก และได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำมากในช่วงหลังๆ ด้วย ในขณะที่สิ่งที่คนสมัยนี้ต้องซื้อเพื่อดำรงชีวิตอาจจะกลายเป็น โทรศัพท์มือถือ รถไฟฟ้า ค่าเรียนพิเศษ ฯลฯ และค่าใช้จ่ายก้อนโตของเราที่ถูกมองข้ามไปคือ ค่าใช้จ่ายซื้อสินทรัพย์ เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา สินค้าอุปโภคมีราคาตกต่ำจริง แต่ราคาสินทรัพย์กลับมีราคาเพิ่มขึ้นทั่วหน้า เรียกได้ว่า เราอยู่ในภาวะ Asset Inflation ทั้งที่ CPI บอกเราว่าเงินฝืด

ในภาวะเงินฝืด เจ้าหนี้จะได้ประโยชน์ เพราะหนี้ส่วนใหญ่กำหนดมูลค่าไว้เป็น norminal (ไม่สนใจเงินเฟ้อ) ถ้าสินค้ามีราคาลดลงเรื่อยๆ เท่ากับว่า เงินจำนวนเท่าเดิมซื้อของได้มากขึ้นในอนาคต การที่เจ้าหนี้ได้รับเงินต้นคืนในอนาคตเท่าเดิม แต่เงินนั้นซื้อของได้มากกว่าเดิม ก็เท่ากับว่า เจ้าหนี้ better off (ลูกหนี้ worse off) ส่วนในภาวะเงินเฟ้อทุกอย่างจะกลับกัน ลูกหนี้เป็นฝ่ายได้ประโยชน์ไป    

แต่ในช่วงที่ผ่านมา CPI ส่งสัญญาณว่าเงินฟืด ทำให้ธนาคารกลางปรับอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง (เจ้าหนี้ได้ประโยชน์อยู่แล้วก็ไม่ควรคิดดอกเบี้ยลูกหนี้แพง)แต่ในความเป็นจริง สินทรัพย์กลับมีราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (Asset Inflation) คนที่ได้ประโยชน์เต็มๆ จึงได้แก่ ลูกหนี้ที่กู้เงินเพื่อไปซื้อสินทรัพย์ เช่น กู้ซื้อรถยนต์ เพราะได้กู้ดอกเบี้ยที่ต่ำ ในขณะที่เอาเงินนั้นไปซื้อรถยนต์ ที่มีราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ไม่ต้องควักเงินซื้อรถแพงๆ ในอนาคต เพราะว่าได้ซื้อไว้ตั้งแต่หลายปีก่อนแล้ว)

ในช่วงที่ผ่านมา คนที่ได้ประโยชน์ในลักษณะเดียวกัน ก็คือบรรดาเจ้าของธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่กู้เงินดอกเบี้ยต่ำๆ มาไล่ซื้อกิจการในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นการซื้อสินทรัพย์ ทำให้พวกเขาร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็ว และง่ายกว่าการทำธุรกิจจริงๆ ที่ภาวะแข่งขันรุนแรง กำไรน้อย เสียอีก เงินทุนที่เอามาซื้อก็กู้มาด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำๆ ต่างจากกลุ่มทุนที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ไม่กู้เงินมาซื้อกิจการ ก็แทบไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากภาวะแบบนี้

ที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมาไม่ได้อยากปลุกใจให้คนก่อหนี้ เพราะเอาเข้าจริงๆ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ในอีกห้าปีข้างหน้า สภาวะแบบนี้จะคงอยู่เหมือนเดิม มันอาจจะไม่ใช่แบบนี้แล้วก็ได้ คนที่ทำตามตำราการเงินส่วนบุคคลเป๊ะอาจกลายเป็นคนที่คิดถูกในอีกห้าปีข้างหน้าแทนก็ได้ไม่มีใครรู้ เพียงแต่อยากชี้ให้เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยต่ำเกินจริง ที่บางคนบอกว่า มีแต่ข้อดีไม่มีข้อเสียเลยนั้น จริงๆ แล้ว ข้อเสียมันอาจแฝงมาในรูปของระบบการให้รางวัลของสังคมที่บิดเบี้ยว ด้วยการสร้างแรงจูงใจให้คนมีพฤติกรรมแบบหนึ่ง และลงโทษคนที่มีพฤติกรรมอีกแบบหนึ่ง ในขณะที่สังคมอาจต้องการให้คนมีพฤติกรรมอย่างหลังมากขึ้นเพื่อช่วยสร้างความแข็งแรงและความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่า  

แนวคิดของนักลงทุนในตลาดที่พัฒนาแล้ว

ทุกวันนี้ ตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ล้ำหน้าไปมาก อาจจะเรียกได้ว่า อยู่คนละยุคกับบ้านเรา ประมาณว่า แนวทางที่เรากำลังเริ่มๆ ผลักดันให้นักลงทุนใช้มากขึ้น กลับเป็นแนวทางที่ประเทศเหล่านี้กำลังมีคนใช้น้อยลงเรื่อยๆ เลยก็ว่าได้

อย่างในสายเทรดเดอร์เวลานี้ machine trading แทบจะเรียกได้ว่ากลายเป็นกระแสหลักของตลาดที่พัฒนาแล้วไปแล้วก็ว่าได้ โวลุ่มของตลาดหุ้นนิวยอร์กทุกวันนี้ก็เป็น machine trading มากกว่า 50% ไปแล้ว จะเรียกว่าเป็นของใหม่ก็คงไม่ใช่ แต่พอจะเรียกว่าเป็นกระแสหลักได้แล้วมากกว่า ย่ิงคิดถึง AI ที่กำลังบูมมากในสหรัฐฯ ตอนนี้ เชื่อขนมกินได้เลยว่า machine trading อาจจะกลายเป็นโวลุ่มเทรดกว่า 90% ในโลกอนาคต เพราะอัลกอริทึมในการเทรดจะถูกพัฒนาให้ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ จนไม่เหลือเหตุผลที่มนุษย์ธรรมดาจะเทรดเองอีกต่อไป

ในสายลงทุน ผมยกให้ Passive Investment เป็นแนวทางที่มาแรงที่สุด ดังจะเห็นได้จาก ทุกวันนี้ กระแสเงินสดไหลเข้า Passive ETFs ในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ กระแสเงินสดไหลกลับกำลังออกจาก Active Funds เพราะตลาดหุ้นสหรัฐฯ พัฒนาไปถึงระดับที่การเอาชนะตลาดเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีสารพัดกองทุนทั้งกองทุนรวม เฮ็ดจ์ฟันด์ ไพร์เวทเอควิตี้ อัลกอริทึ่มเทรด ไฮฟรีเควนซีเทรด หุ้นตัวใหญ่มีนักวิเคราะห์ติดตามเป็นร้อยๆ คน เรียกว่า เต็มไปด้วยคนที่ช่วยกันขุดหา excess returns แล้ว arbritrage จนแทบไม่เหลือช่องว่างอะไรให้ทำกำไรกันง่ายๆ แล้ว Passive Investing จึงได้รับความนิยม เพราะการันตีเสมอว่า เราจะไม่แพ้ตลาด (แม้ว่าจะไม่ชนะด้วยก็ตาม) เพราะการชนะตลาดนั้นทำได้ยากมาก เป็นไปได้อีกเช่นกันว่า ในอนาคต สายลงทุนจะมีแต่คนลงทุนผ่าน Passive ETFs (ปี 2013 index funds ถือครองสินทรัพย์ 20% ของอุตสาหรกรรมกองทุนทั้งหมด และกำลังเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ)

แม้แต่เบิร์กไชฮาร์ดาเวย์ ของวอเรน บัฟเฟต ซึ่งยังทำผลตอบแทนระยะยาว 40 ปีชนะตลาดได้ แต่ถ้าหากคิดเฉพาะช่วงปี 1999-2013 ซึ่งเป็นตลาดหุ้นยุคใหม่ เบิร์กไขส์ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้เพียงปีละ 6.4% เท่านั้น ซึ่งยังชนะ S&P index ที่ 4.7% อยู่ แต่ว่าไม่ได้มาก และแพ้พวก small-cap index (10.5%) แบบทิ้งห่างเลย  ปัจจุบันเรายังพบวิธีเอาชนะ S&P index ได้อยู่ ได้แก่ การลงทุนใน small value stocks หรือเลือกหุ้นด้วย ROE และ momentum เป็นต้น แต่ส่วนต่างผลตอนแทนถือว่าแคบมาก และแคบลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นไปได้ว่า ในอนาคต ส่วนต่างจะหายไปในที่สุด ทำให้ Passive Investing กลายเป็นเทรนด์ที่มาแรงที่สุดในตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว

สำหรับบ้านเรา มีเหตุผลอยู่เหมือนกันที่จะยังคงใช้ Active Investing ต่อไป เพราะตลาดหุ้นบ้านเรายังพัฒนาไปไม่ถึงจุดเดียวกับตลาดหุ้นสหรัฐ ทำให้ช่องว่างในการทำกำไรน่าจะยังเหลืออยู่มากพอสมควร (อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครทำวิจัยเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังมากพอ ทำให้ไม่ทราบเหมือนกันว่าจริงๆ แล้วเป็นอย่างนั้นรึเปล่า)แต่ในอนาคต ถ้าหากเทคโนโลยี หรือโนฮาว์จากต่างประเทศไหลเข้ามาในเมืองไทยมากขึ้นเรื่อยๆ โอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะมีสภาพเดียวกับตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้วก็มีสูง ไม่เสียหายอะไรหากนักลงทุนจะศึกษาเทรนด์การลงทุนในต่างประเทศไว้บ้าง เป็นการเตรียมตัวเพื่ออนาคตครับ      

 

(ภาพประกอบจาก businessinsider.com)

สภาพแวดล้อม กับ กลยุทธ์

คนเรามีความโน้มเอียงที่จะชอบกฎที่ตายตัว แบบว่าใช้การได้ในทุกสถานะ ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องคิดอะไรเองอีก ความเชื่อต่างๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่สังคมมนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการนี้

แต่ในแง่กลยุทธ์ ซุนวูกล่าวว่า เราต้องทำความเข้าใจสภาวะแวดล้อมให้ถ่องแท้ให้ได้เสียก่อน รู้เขา รู้เรา จากนั้นเราจึงจะสามารถกำหนดกลยุทธ์ที่ทำให้เราได้เปรียบมากที่สุด โดยพิจารณาจากสภาพแวดล้อมนั้นๆ เป็นเกณฑ์ ในแง่นี้ มันบอกเป็นทางอ้อมว่า กลยุทธ์ไม่ใช่สิ่งที่ตายตัว แต่ต้องปรับไปตามสภาพแวดล้อมด้วย (แต่กระนั้นก็ไม่ได้แปลว่า กลยุทธ์ไม่มีหลักอะไรเลย ต้องมีหลัก แต่ถ้าสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน หลักก็ต้องเปลี่ยนตาม)

ตลาดทุนยุคนี้มีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปจากยุค 30-50’s ที่เป็นยุคที่หลักการลงทุนของหลายๆ สำนักถูกสร้างขึ้นมา ธุรกิจสมัยใหม่มีความเป็น “โรงงาน” น้อยลง มี intangible value มากขึ้น ตลาดการเงินก็ถูกบิดเบือนโดยนโยบายการเงินมากขึ้น ธนาคารกลางมีแนวโน้มที่จะทำให้ดอกเบี้ยต่ำผิดปกติตลอดเวลา เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นภาพที่ตรงข้ามกับธนาคารสมัยก่อนที่เน้นรัดเข็มขัด เพราะกลัวเงินเฟ้อมากๆ ตอนนี้เงินฝืดน่ากลัวมากกว่า

นั่นหมายความว่า หลักการลงทุนบางอย่างที่เคยใช้ได้ดีในอดีต บางจุดก็ยังคงใช้ได้ดีอยู่ แต่บางจุดที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปมากแล้ว ก็อาจไม่เหมาะสมอีกต่อไป ตัวอย่างเช่น P/BV เป็นอัตราส่วนที่เคยใช้ได้ดีในยุคอดีตที่ธุรกิจส่วนใหญ่มีอาคารโรงงานเครื่องจักรเป็นสินทรัพย์หลัก แต่ทำให้เราหลงทางในยุคปัจจุบัน เพราะธุรกิจสมัยนี้แบรนด์ ทุนมนุษย์ และเทคโนโลยี กลายเป็นส่วนที่มีค่ามากกว่าสินทรัพย์ถาวรของบริษัทอย่างมากมาย แต่มันไม่ได้ถูกใส่ไว้ใน P/BV เลย ในขณะที่ P/E นั้น พอจะใช้ต่อไปได้มากกว่า

ตลาดหุ้นสมัยใหม่ เงินท่วมโลกตลอดเวลา ตลาดมีแนวโน้มจะเป็น High Valuation แบบเรื้อรัง แนวคิดเรื่อง Buy-and-hold ต้องใช้แบบระมัดระวัง เพราะโอกาสที่จะไปซื้อเอาตอนฟองสบู่มีเยอะมาก เพราะหุ้นแพงอยู่เกือบตลอดเวลา ธุรกิจสมัยนี้ยังมีวงจรชีวิตที่สั้นลงเรื่อยๆ การถือลืม มักอันตราย เพราะยุคตกต่ำของธุรกิจมาถึงเร็วกว่าสมัยก่อนมาก คนที่จะ Buy-and-hold ได้ดีต้องเป็นนักรอคอย เพราะต้องรอนานมากๆ กว่าราคาหุ้นจะลงมาถึงจุดที่สมเหตุสมผลจริงๆ ซึ่งบางทีก็ต้องรอนานมากเสียจน ทำให้กลยุทธ์สมัยนี้ไม่เหมาะกับคนส่วนใหญ่ในยุคสมาธิสั้นอีกต่อไป ถ้านักลงทุนระยะยาวเปลี่ยนจากการคิดแต่ว่าจะ buy-and-hold มาเป็นการ reevaluate หุ้นเป็นระยะๆ ถ้ายังดีอยู่ก็ถือต่อได้ ถ้าไม่ดีแล้วก็ต้องขาย ก็น่าจะเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมมากกว่า 

กฎอย่างเช่นการถือหุ้น 100% ตลอดเวลา ก็ดูเป็นกฎที่ไม่เหมาะกับยุคนี้เท่าไร เพราะยุคนี้หุ้นแพงตลอดเวลา แต่เพราะความเป็นฟองสบู่ โอกาสที่อยู่ดีๆ มันจะ crash แรงๆ จึงมีได้บ่อยๆ ถ้าถือหุ้น 100% ตลอดเวลา เวลา crash ทีไร เราก็ไม่เคยมีเงินสดมาซื้อสักที ทำให้เรากลายเป็นคนที่มีหุ้นต้นทุนสูงตลอด ส่วนประเภทถือเงินสด 100% ตลอดเวลารอหุ้น Crash อย่างเดียว ก็ใช่ว่าจะดี เพราะบางทีมันก็ไม่ crash สักที หรือบางทีมันขึ้นไปเยอะมากจนพอมัน crash จริงๆ มันยังลงมาไม่ถึงตอนแรกที่ตัดสินใจว่าจะรอเลย ไปๆ มาๆ  กฎการลงทุนแบบ DCA ดูเหมาะสมดี เพราะถ้าหุ้นแพงตลอดก็ซื้อไว้บ้างแต่เดือนละนิดเดียว ทำให้มีเงินสดเหลือไว้รอโอกาสเฉลี่ยต้นทุนต่ำๆ เมื่อโอกาสมาถึงได้ด้วย  ถือเป็น best of both worlds สำหรับ average person

ที่เล่ามาเป็นแค่การยกตัวอย่างนะครับ ลองพิจารณาวิธีการลงทุนของตัวเองดูว่า มันเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมมากขนาดไหน เผื่อมีอะไรที่จะต้องปรับ เพื่อช่วยให้ผลตอบแทนของเราดีขึ้น

รวยด้วยหุ้น vs ออมด้วยหุ้น

ยุคนี้เป็นยุคที่คนอยากมีอิสรภาพทางการเงิน อยากเกษียณตั้งแต่ยังไม่แก่ และ/หรืออยากเป็นเศรษฐีหมื่นล้าน และตลาดหุ้นก็เป็นตัวเลือกยอดนิยมที่คนใช้ทำให้บรรลุเป้าหมายนั้น

ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะ ตลาดหุ้น”ดู”เป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุด การทำงานประจำเป็นหนทางที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรวยเร็วๆ ส่วนการออกมาทำธุรกิจส่วนตัวก็ดูเป็นงานที่ต้องเหนื่อยแสนสาหัส ในขณะที่ตลาดหุ้นนั้นดูเหมือนเป็นวิธีทำเงินที่ง่ายๆ ซื้อถูก ขายแพง นั่งจิบกาแฟคีย์คำสั่งก็ทำกำไรได้แล้ว Continue reading “รวยด้วยหุ้น vs ออมด้วยหุ้น”

อนาคตของ ADVANC

วิธีเข้าใจธุรกิจของ ADVANC ให้ง่ายขึ้น ลองคิดถึงตอนที่ยังไม่มีการประมูล 4G ก่อน บริษัทนี้มีรายรับปีละประมาณ 1.5 แสนล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจทุกอย่างรวมกันราว 8 หมื่นล้าน (ไม่นับค่าเสื่อม) ทำให้เป็นธุรกิจที่สามารถทำกำไรเงินสดได้ปีละ 7 หมื่นล้านบาท Continue reading “อนาคตของ ADVANC”