อนาคตของ ADVANC

วิธีเข้าใจธุรกิจของ ADVANC ให้ง่ายขึ้น ลองคิดถึงตอนที่ยังไม่มีการประมูล 4G ก่อน บริษัทนี้มีรายรับปีละประมาณ 1.5 แสนล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจทุกอย่างรวมกันราว 8 หมื่นล้าน (ไม่นับค่าเสื่อม) ทำให้เป็นธุรกิจที่สามารถทำกำไรเงินสดได้ปีละ 7 หมื่นล้านบาท Continue reading “อนาคตของ ADVANC”

AOT ตรวจสอบตรรกะการเลือกหุ้น

AOT เข้าตลาดเมื่อปี 2547 ราคาจอง 42 บาท ปัจจุบันราคาราว 400 บาท ถือได้ว่าเป็น SuperStock ตัวหนึ่ง (สำหรับช่วง 11 ปีที่ผ่านมา แต่ต่อไปอาจจะเป็นหรือไม่เป็นอีกก็ได้)

ถ้าจะลองถามตัวเองว่า ทำไมตอนนั้นเราไม่ได้ซื้อหุ้นตัวนี้ไว้ ตรรกะในเวลานั้นที่ตัดสินใจไม่ซื้อของเราคืออะไร

การถามคำถามแบบนี้อาจทำให้เรามองเห็นจุดบอดในวิธีคิดของเราเกี่ยวกับการเลือกหุ้น ซึ่งจะข่วยให้มุมมองของเราคมขึ้นในการเลือกหุ้นครั้งต่อไป

เมื่อสิบปีที่แล้ว AOT ไม่ใช่ธุรกิจที่ยากเกินกว่าที่คนธรรมดาจะรู้ได้ว่า ธุรกิจนี้ดี เพราะว่าผูกขาด ดังนั้นความสามารถจึงไม่ใช่ข้อจำกัดในการเลือกหุ้นตัวนี้เลย ไม่ต้องเป็นเซียนก็รู้ว่าดี แต่แล้วทำไมเราจึงไม่ได้ซื้อไว้ ถ้าความสามารถไม่ใช่อุปสรรค์ ความยากมันอยู่ที่ไหน?

ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้ซื้อหุ้นตัวนี้ จำได้ว่า ตอนนั้นผมไม่ชอบหุ้นตัวนี้เพราะมองว่ามีการเมืองในองค์กรเยอะ ผมไม่ชอบหุ้นที่การจัดการไม่ดี นี่ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผมพลาดหุ้นตัวนี้ไป เทียบกับคนที่ให้น้ำหนักเรื่องผู้บริหารน้อยกว่าตัวธุรกิจ พวกเขาก็อาจจะไม่พลาดหุ้นตัวนี้

ผมนึกถึงคำของ วอเรน บัฟเฟต ที่บอกว่า บริษัทที่ดีคือธุรกิจที่เอาคนโง่แค่ไหนมาบริหารก็ได้ เพราะพื้นฐานทางธุรกิจของมันดีมากๆ บางทีการตัดสินจากผู้บริหารมากเกินไป ก็ทำให้เกิดอคติได้ง่ายด้วย เพราะบ่อยครั้ง ความเห็นเรื่องผู้บริหารเป็นเพียงแค่เสียงลือเสียงเล่าอ้าง ซึ่งเกิดจากอคติส่วนตัวได้ง่าย ต่างจากการมองที่ตัวธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ Visible จากภายนอกเลย และมีตัวเลขยืนยันได้มากกว่าแค่ความรู้สึก ก็อาจเป็นไปได้ว่า นี่เป็นจุดอ่อนในการเลือกหุ้นอย่างหนึ่งของผม ถ้าหากผมเปลี่ยนไปให้น้ำหนักที่ตัวธุรกิจให้เยอะขึ้น ตรรกของผมอาจจะดึขึ้นก็ได้ (แค่ตั้งสมมติฐานนะครับ)

จำได้ว่าตอนเข้าตลาดใหม่ๆ AOT มีปัญหาเยอะมาก และเป็นประเด็นการเมืองด้วย เปลี่ยนผู้บริหารไปก็หลายคน ทำให้ผลประกอบการ ไม่ดีเหมือนที่คิดกัน ราคาหุ้นก็ไม่ไปไหน แถมมีบางช่วงที่ต่ำจองด้วย และมันก็ไม่ไปไหนอยู่นานหลายปีเลยทีเดียว การที่ราคาหุ้นไม่ไปไหนนานๆ ก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ถึงแม้ว่าเราจะตัดสินใจซื้อหุ้นตัวนี้ แต่ก็อาจจะถึอไว้ไม่ได้นาน เพราะราคาหุ้นไม่ไปไหนนานๆ จิตจะตก เพราะคนเรามักเอาราคาหุ้นมาตัดสินปัจจัยพื้นฐานโดยไม่รู้ตัว ซึ่งที่จริงมันน่าจะกลับกัน อุปสรรคใหญ่อีกอย่างหนึ่งของการพลาด superstock จึงอาจเป็นเรื่องการที่เราอดทนถือหุ้นไม่ได้นาน เพราะทนราคาที่ผันผวน หรือไม่ไปไหนนานๆ ไม่ได้ แต่ในความเป็นจริง บางทีเวลาหุ้นจะวิ่งมันก็วิ่งรวดเดียวเลย การที่มันไม่ไปไหนก่อนหน้านั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่บอกว่ามันจะไม่วิ่ง แต่เราไปเชื่อมโยงสองสิ่งนี้เข้าด้วยกันเองโดยไม่รู้ตัว นี่เป็นความยากอีกอย่างหนึ่งของการลงทุนเลยทีเดียว

แล้วคุณล่ะ คุณพลาด (หรือไม่พลาด) superstock ตัวนี้ไปเพราะว่าอะไร เล่าสู่กันฟังบ้าง 

วิธีรวยเร็วๆ ของเจ้าของ บจ.

ผู้ถือหุ้นหลักของ บมจ. หรือก็คือเจ้าของบริษัท อาจสร้าง Wealth ให้กับตนเองได้อย่างรวดเร็ว โดยอาศัยความเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และวิธีการทางการเงินล้วนๆ

ถ้าผู้ถือหุ้นหลักต้องการแบบนั้น พวกเขาอาจขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ให้กับกลุ่มทุนจากภายนอก ซึ่งอาจเป็นในราคาที่มีส่วนลดจากราคาตลาดก็ได้ เพื่อจูงใจกลุ่มทุนเหล่านั้น เมื่อเพิ่มทุนได้แล้ว ก็ทำให้ Balance Sheet ของบริษัทดูแข็งแรงขึ้น (D/E ต่ำ) ทำให้สามารถกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มได้ ยิ่งหากกลุ่มทุนเหล่านั้นมีชื่อเสียงด้วยแล้ว ยิ่งทำให้บริษัทดูน่าเชื่อถือ

เมื่อกู้เงินมาได้ ก็ไม่ต้องเอามาขยายธุรกิจเดิมหรือสร้างธุรกิจใหม่ เพราะทำแบบนั้นต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะผลิดอกออกผล พวกเขาสามารถทำให้ผลประกอบการของบริษัทเพิ่มขึ้นได้ทันทีด้วยการไปซื้อกิจการบริษัทอื่นๆ เพื่อที่จะได้เอางบการเงินมารวมกัน กำไรทางบัญชีก็เพิ่มขึ้นได้ทันที

เมื่อกำไรทางบัญชีสูงขึ้น ก็ย่อมส่งผลต่อราคาหุ้นในตลาดที่จะสูงขึ้นตามการคาดการณ์ของงบการเงินใหม่ ตลอดจนการที่ตลาดอาจจะคาดการณ์ต่อไปได้อีกว่า บริษัทอาจจะซื้อกิจการอื่นๆ เข้ามาเพิ่มอีกในอนาคต ทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปรอเหตุการณ์เหล่านั้น เมื่อนักวิเคราะห์ปรับประมาณการราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้น นักลงทุนรายย่อยก็สนใจอยากเข้ามาซื้อหุ้น ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไป ตอนนี้ก็ถือว่าเจ้าของกิจการได้ตอบแทนกลุ่มทุนที่ช่วยเข้ามาเพิ่มทุนแล้ว เพราะว่ามูลค่าหุ้นที่กลุ่มทุนซื้อไว้ในราคาลด ซึ่งก็มีกำไรอยู่แล้ว ยังเพิ่มขึ้นอีกเพราะราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นด้วย ตอนนี้กลุ่มทุนจะทำอย่างไรก็หุ้นที่ถืออยู่จะขายหรือถือต่อก็เป็นเรื่องของกลุ่มทุนแล้ว เจ้าของกิจการไม่เกี่ยว เพราะได้ตอบแทนในรูปของราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปให้แล้ว ซื้อเจ้าของบริษัทเองก็ไม่ได้ลงทุนอะไรจากกระเป๋าของตัวเองในการปรับราคาหุ้นให้สูงขึ้นครั้งนี้ด้วย

เมื่อราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปมาก นักลงทุนรายย่อยที่เข้าไปซื้อต่างก็มีความสุขกันทั่วหน้า ดูแล้วก็ win-win หุ้นขึ้นใครๆ ก็ชอบทั้งนั้น ยิ่งถ้าเราซื้อหุ้นแล้วหุ้นตัวนั้นขึ้นเลย เรายังรู้สึก bullish กับหุ้นตัวนั้นมากๆ ตอนนี้หุ้นของบริษัทอาจกลายเป็น Darling ของตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว เป็นที่อิจฉาของนักลงทุนคนอื่นๆ ที่ตกรถไฟ ไม่ได้ซื้อไว้ หุ้นติด most gainer ทุกวัน นักวิเคราะห์ที่เชียร์ก็ได้หน้า ชื่นมื่นกันทั่วหน้า เวลานี้ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะทำการเพิ่มทุนอีกครั้ง เพราะนอกจากจะได้ราคาหุ้นเพิ่มทุนที่สูงมากแล้ว (เพราะราคาหุ้นเพิ่มทุนต้อง benchmark กับราคาตลาด) นักลงทุนยังกำลังมีแต่ความรู้สึกที่ดีกับหุ้น ต้องซื้อหุ้นเพิ่มทุนอย่างแน่นอน

เมื่อเพิ่มทุนสำเร็จในราคาพรีเมื่ยม ได้เงินเข้ามาในบริษัท ก็ช่วยให้ฐานทุนแข็งแรงขึ้น D/E ที่เคยสูงก็กลับลดลงมาใหม่ ทำให้บริษัทเหลือวงเงินที่จะขอสินเชื่อกับธนาคารเพิ่มได้อีก ก็สามารถกู้เงินเพิ่มจากธนาคารเพื่อเอามาซื้อกิจการ เพื่อรวมงบ แล้วก็ทำอะไรต่อมิอะไรตามวงจรเดิมไปได้เรื่อยๆ ไม่ต้องอธิบายต่อ เพราะว่ามันก็จะซ้ำๆ วนๆ ไปเรื่อยๆได้ พร้อมกับผลประกอบการและราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นไปอีกทุกรอบที่ทำ

นี่เท่ากับว่าราคาหุ้นของบริษัทในตลาดหุ้น สามารถเพิ่มขึ้นได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องก่อให้เกิดกิจการหรือการจ้างงานอะไรใหม่ๆ ใน real sector เลย เป็นแค่สิ่งที่มีอยู่แล้วทั้งหมด เอางบมารวมกันไปกันมาเท่านั้น แต่ถ้าหากจะถามว่า แล้วบริษัทที่ทำแบบนี้ทำอะไรผิดหรือเปล่า ก็ตอบว่า ไม่ผิด ดูแล้วก็ไม่ได้ทำผิดกฎของตลาดหลักทรัพย์ข้อไหนเลย ผิดกฎหมายหรือไม่ก็ไม่ผิด ผิดจริยธรรมหรือไม่ ก็ไม่ผิดเช่นกัน เพราะไม่ได้โกหกใดๆ ทั้งสิ้น การเข้าซื้อกิจการทุกอย่าง ก็มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่ได้ปิดบังใดๆ การที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปก็เป็นวิจารณญาณของนักลงทุนในตลาดหุ้นเองที่เข้าไปซื้อหุ้นเหล่านั้นเพราะคิดว่ากำไรจะเพิ่มขึ้น เจ้าของก็ไม่ได้เข้าไปทำราคาแต่อย่างใด และไม่ได้เพิ่มแต่ราคาหุ้น เพราะผลประกอบการก็เพิ่มขึ้นด้วยจริงๆ  แล้วจะบอกว่าผิดจริยธรรมได้อย่างไร ดูยังไงก็ไม่ผิด

ถามว่าบริษัทที่ทำแบบนี้เพื่อเพิ่มราคาหุ้น นักลงทุนชอบหรือไม่ชอบ นักลงทุนหลายคนปากอาจจะบอกว่า ไม่ชอบ ผิดจริยธรรมบ้าง อะไรบ้าง (ซึ่งก็ตอบไม่ได้ว่าผิดจริยธรรมเรื่องอะไร) แต่เอาเข้าจริงๆ นักลงทุนก็อยากซื้อหุ้นเหล่านี้มากกว่าหุ้นที่ทำมาหากินแบบเดิมๆ ราคาหุ้นไม่ไปไหน หุ้นพวกนี้ถึงนักลงทุนจะไม่ได้เป็นคนแรกๆ ที่รู้ และมักต้องซื้อหุ้นในราคาพรีเมี่ยมเสมอ แต่ซื้อแล้วก็ขึ้นเลย ไม่ต้องรอ ไม่ต้องเห็นสีแดงให้เจ็บใจ มีแต่สีเขียว ทำไมคนเราจะไม่ชอบ สุดท้ายแล้วยังไงๆ หุ้นที่ทำแบบนี้ก็เป็นที่ชื่นชอบของตลาดอยู่ดี สรุปแล้วไม่มีใครที่ไม่ happy

แต่บริษัทที่ทำแบบนี้บ่อยครั้งก็จะไปไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง เนื่องจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นได้ได้ด้วยการควบรวมกิจการนั้น ต้องอาศัยภาวะตลาดที่เอื้ออำนวยด้วย ถ้า sentiment ตลาดดี แพงแค่ไหนก็วิ่งขึ้น ยิ่งแพง ยิ่งวิ่ง แต่สัจจธรรมอย่างหนึ่งของตลาดหุ้นก็คือ ตลาดหุ้นไม่สามารถขึ้นได้ตลอดไป หรือเป็นสีเขียวทุกวัน ดังนั้น หุ้นที่ทำแบบนี้ก็มักจะสะดุดเวลาที่ตลาดซึม หรือมี big crash ซึ่งนักลงทุนรายย่อยจะเจ็บหนักที่สุด เพราะว่าเป็นคนหลังๆ ที่ซื้อทำให้ต้องซื้อแพงกว่าคนอื่น ถ้าตลาดลงลึกมากๆ หรือซึมยาวมากๆ นักลงทุนที่ขาดทุนก็จะเกิดอาการซึมเศร้า บางทีก็จะออกมาด่า มาแฉ  เจ้าของบริษัท ตามหน้าเว็บต่างๆ เพื่อระบายอารมณ์ ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดต่างๆ จะค่อยๆ สร้างขึ้นมาอธิบายเป็นฉากๆ แต่ถ้าพูดกันอย่างแฟร์ๆ จริงๆ เจ้าของบริษัทผิดอะไรหรือไม่ พวกเขาเอาปืนจ่อให้นักลงทุนซื้อหุ้นของเขาหรือเปล่า ก็เปล่า พวกเขาปกปิดข้อมูลอะไรหรือเปล่า ก็เปล่า ก็เพราะนักลงทุนเองมิใช่หรือ ที่ยินดีเข้ามาซื้อหุ้นประเภทนี้มากกว่าหุ้นประเภทอื่น เพราะมันวิ่งมากกว่า และก็รับรู้อยู่ตลอดว่าบริษัทสร้างสตอรี่อะไรออกมาบ้าง ซึ่งถ้าได้กำไรไปก็คงไม่ได้เอามาแบ่งเจ้าของเพื่อตอบแทนใดๆ แต่พอเวลาวิธีนี้ไปไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง ก็เริ่มจะมาโทษเจ้าของ 

วงการหุ้นมันก็เป็นแบบนี้มาทุกยุคทุกสมัย และมันก็คงเป็นแบบนี้ต่อไป เพราะตลาดหุ้นเป็นเรื่องของเงิน และขึ้นชื่อว่าเงินไม่ก็เคยเข้าใครออกใคร ใครๆ ก็ย่อมอยากได้เงินทั้งนั้น เพียงแต่กระบวนการอาจเปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคสมัย เมื่อมีคนคิดวิธีการทางการเงินใหม่ๆ ที่ซับซ้อนขึ้นและดูดีขึ้นเรื่อยๆ ออกได้ เพราะวิธีแบบเดิม เริ่มไม่ได้รับความนิยม เมื่อมันโดนใช้ซ้ำซากมากเกินไป จนเรียกแขกไม่ได้แล้ว ผมว่า Money Game สมัยนี้มันถูกพัฒนามาจนแทบจะไม่จะเป็นต้องทำอะไรที่ผิดกฎหมายแล้ว และตราบใดที่มนุษย์เรายังอยากรวยๆ เร็วๆ มากกว่ารวยช้าๆ (ซึ่งก็น่าจะเป็นอย่างนั้นตลอดไป) Money Game ใหม่ๆ ก็เป็นสิ่งที่ยังดึงดูดใจผู้คนได้อยู่เสมอ

ข้อมูลที่ไม่อยู่ในงบการเงิน

ได้ฟัง Oppday ของ ICHI ไตรมาสล่าสุด มีคนถามคุณตันว่า “ช่วงนี้ชาเขียวไม่ดีเลย มีความคิดจะเพิ่มธุรกิจร้านอาหารบ้างมั้ย”

คุณตันตอบว่า “ไม่ เพราะเป็นเรื่องที่ตัดสินใจมาตั้งแต่วันแรกที่ตั้งบริษัทแล้วว่าจะทำแต่เครื่องดื่ม เพราะธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่ Labor intensive มาก การทำยอดขายให้ได้หนึ่งพันล้านบาท ถ้าเป็นชาเชียวใช้คนแค่หยิบมือควบคุมเครื่องจักรที่ทำงานอัตโนมัติ แต่ธุรกิจอาหารไม่ใช่ ยอดขายหนึ่งพันล้านต้องใช้คนงานเป็นร้อยๆ คน”

ประเด็นที่ผมสนใจคงไม่ได้อยู่ที่ชาเขียวกับร้านอาหารธุรกิจไหนดีกว่ากันแน่ แต่สิ่งที่ทำให้มองเห็นได้คือ เรื่องการมองธุรกิจยังมีอะไรหลายอย่างที่บอกไม่ได้ด้วยการวิเคราะห์แค่งบการเงิน งบการเงินอาจจะบอกว่าบริษัทนี้รายได้เท่าไร กำไรเท่าไร แต่ไม่ได้บอกว่า ที่สามารถทำรายได้ได้เท่านั้นเท่านี้ทั้งที่ใช้สินทรัพย์เท่านั้นเท่านั้น ต่างกับอีกธุรกิจหนึ่งที่ทำรายได้ได้เท่ากันแต่ใช้สินทรัพย์ต่างกันนั้น  เพราะว่าอะไร

เรื่องนี้ทำให้นึกไปถึงธุรกิจอย่าง Beauty ซึ่งมีผลประกอบการที่ยอดเยี่ยมมากใช้ช่วงที่ผ่านมา แต่ถ้าหากจะให้ย้อนกลับไปเมื่อห้าปีก่อน แล้วให้ผมทำนายว่า Beauty จะเป็นบริษัทที่มีผลประกอบการที่ดีหรือไม่ในอีกห้าปีข้างหน้านั้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าจะหาคำตอบว่า Beauty กับ Kamart ตัวไหนมีอนาคตมากกว่ากัน) บอกได้เลยว่า ผมแยกไม่ออก บอกไม่ได้ เพราะเราไม่รู้อะไรอีกหลายอย่างที่ไม่อยู่ในงบการเงิน ไม่รู้ว่าสินค้าของเขาดีแค่ไหน เพราะเราไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายของเขา และบางทีความรู้เหล่านั้น ก็สำคัญมากในการมอง เรียกได้ว่าเป็น key success factor ของธุรกิจเลยด้วยซ้ำ     

ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจและตลาดทุนโลกระดับทศวรรษ

ไฟล์เสียงนี้เล่าถึงภาพใหญ่ของเศรษฐกิจและตลาดทุนโลกระดับทศวรรษ ว่ามีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกับในอดีตอย่างไร และมีสาเหตุมาจากอะไร เพื่อให้นักลงทุนมีความเข้าใจกระแสทุนของโลกได้ดียิ่งขึ้น 

 

https://youtu.be/W8ec0pzrKMU

พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่

สมัยผมยังเด็ก ผมสังเกตว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคไม่เหมือนกับตอนนี้พอสมควรเลย

โดยภาพรวม ผู้บริโภคยุคก่อนค่อนข้างประหยัด (พูดหยาบๆ ว่า งงกว่า)​สมัยนี้มาก ไม่ค่อยกล้าใช้ของเหมือนสมัยนี้ ไปห้างไม่ซื้อของ ห้างมีไว้ตากแอร์ ดูของจนพอใจ แล้ววิ่งไปซื้อจริงตามย่านตึกแถวอีกรอบ เพื่อให้ได้ราคาต่ำสุด

พอซื้อของมาแล้วก็ใช้จนคุ้ม เสื่อมสภาพแล้วก็ทนใช้อยู่อย่างนั้น ถ้าเสียก็เลือกจะซ่อมมากกว่าซื้อใหม่ ทีวีนี่ตบแล้วตบอีกให้ภาพกลับมาใหม่ ใช้จนกว่าจะตบไม่ได้แล้ว อายุใช้งานว่ากันเป็น 15-20 ปี Continue reading “พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่”

กลยุทธ์หุ้นกับตลาดทุนในยุคนี้

ตลาดทุนยุคนี้ ไม่ถือว่าธรรมดา เพราะธนาคารกลางทั่วโลกใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายแบบผิดปกติ (Unconventional) อย่างต่อเนื่องยาวนาน และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงเป็นเรื่องยากที่ใครจะอาศัยประสบการณ์ในการคาดเดาตลาด (ก็ทุกคนยังไม่เคยเจอมาก่อน)​ บางทีก็รู้สึกแปลกใจที่บางคนฟันธงได้ว่า ต่อไปจะเกิดแบบนั้นแบบนี้ เพราะแม้แต่เฟดเองซึ่งมีทรัพยากรในการเข้าถึงข้อมูลมากมาย ก็ยังต้องจับตาดูเศรษฐกิจแบบใกล้ชิด ก่อนที่จะตัดสินใจไปทีละขั้น

นโยบายดอกเบี้ยต่ำผิดปกตินี้ ยังส่งผลต่อตลาดทุน ในแบบที่ไม่ได้อยู่ในตำราการเงินการลงทุน เพราะทำให้ราคาหุ้นในตลาดทุนอยู่ในระดับสูง แทบจะตลอดเวลา เคยมีการวิจัยว่า ดัชนี S&P500 ในช่วงเวลาสิบกว่าปี ตั้งแต่ยุคของกรีนสแปน มีช่วงเวลาที่มันมีราคาต่ำกว่าพื้นฐาน ซึ่งคำนวณด้วยทฤษฏีทางการเงิน เป็นช่วงสั้นๆ แค่ไม่เกินสามเดือนเท่านั้น นอกนั้นมันแพงกว่า Fair Value ของมันอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น หลักการลงทุนที่เคยสอนกันมาในอดีต ก็ดูเหมือนจะใช้ไม่ได้ในยุคนี้ เพราะเท่ากับว่า นักลงทุนจะลงทุนในหุ้นอะไรก็แทบไม่ได้เลย เพราะโอกาสที่จะซื้อหุ้นได้ในรอบสิบกว่าปี มีเพียงไม่เกินสามเดือนเท่านั้น เป็นต้น

ภาวะที่ตลาดสินทรัพย์เป็นฟองสบู่ เพราะนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสุดขีดนี้ นอกจากจะทำให้หุ้นแพงถาวรแล้ว ยังเพิ่มโอกาสที่ฟองสบู่จะแตกได้บ่อยขึ้น เพราะ

เร่งให้เกิดการปล่อยสินเชื่อที่หละหลวม ก่อให้เกิดการเอาสินเชื่อมาเก็งกำไรสินทรัพย์ รวมทั้งยังทำให้เกิดภาวะอุปทานล้น เพราะสินเชื่อถูกนำมาขยายกำลังการผลิตที่มากเกินไป เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นต้นทุนที่ต้องแลกมากับการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ Continue reading “กลยุทธ์หุ้นกับตลาดทุนในยุคนี้”

คุยกัน One Up on Wall Street : บทที่ 1-3

ตอนนี้พูดถึงบทที่ 1-3 ของหนังสือ One Up on Wall Street ซึ่ง Peter Lynch พูดถึงทัศนคติที่สำคัญหลายอย่าง เกี่ยวกับตลาดหุ้น ที่นักลงทุนควรจะมี

คลิปนี้ผมจะเปิดให้ดูเป็นแบบสาธารณะนะครับ แต่หลังจากนี้จะสงวนไว้ฟังกันสำหรับสมาชิก Dekisugi.net เท่านั้น 

[youtube https://www.youtube.com/watch?v=GYPl78oOFt0]

One Up on Wall Street & Beat the Street

ช่วงนี้ผมกำลังเริ่มอ่านหนังสือ One Up on Wall Street ของ Peter Lynch รอบใหม่ จำไม่ได้ว่า เล่มนี้ผมอ่านไปแล้วกี่รอบ แต่ว่าหลายปีที่ผ่านมา ผมอ่านซ้ำบ่อยมาก

สำหรับผมแล้ว หนังสือสองเล่มของปีเตอร์ ลินซ์ คือ One Up on Wall Street และ Beat the Street คือ หนังสือการลงทุนที่ดีที่สุด มันดีมากขนาดที่ว่า ถ้าคุณอ่านหนังสือสองเล่มนี้ให้ละเอียด พยายามทำความเข้าใจทุกแมจเสจ และอ่านซ้ำบ่อยๆ ผมว่า คุณไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือการลงทุนเล่มอื่นๆ อีกเลยก็ยังได้ มันคือคัมภีร์ไบเบิลของการลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน

พอร์ตสาธิต 7thLTG เป็นแนวการลงทุนแบบค่อนข้าง Passive ถ้าใครถามผมว่า แล้วเราควรลงทุนในแนว Active อย่างไรดี ผมจะชี้ให้เขาไปอ่านหนังสือของปีเตอร์ ลินซ์ทั้งสองเล่มเลย เพราะผมเห็นว่า เขาเขียนวิธีการและเทคนิคสำหรับการลงทุนแบบ Active ทุกอย่างเอาไว้ดีแล้ว ครบถ้วน และสมบูรณ์แบบอย่างที่สุด

ข้อเด่นอีกอย่างหนึ่งของหนังสือปีเตอร์ลินซ์คือ เขาเขียนหนังสือแนะนำวิธีลงทุนที่เหมาะกับคนธรรมดาทั่วไป (ใน One Up on Wall Street) หาใช่วิธีสำหรับเซียนหุ้น ซึ่งคนทั่วไป อาจจะปฏิบัติไม่ได้ก็ได้ ส่วนหนังสือ Beat the Street จะเป็นหนังสือที่แนะนำผู้จัดการกองทุน และนักลงทุนทั่วไปที่อยากได้เทคนิคที่ลึกมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญ หนังสือเต็มไปด้วย เกร็ดในการเลือกหุ้นนับร้อยๆ เกร็ด ซึ่งหาไม่ได้ในหนังสือการลงทุนทั่วไป ที่มักมีแต่ปรัชญา หรือแรงบันดาลใจ แต่ดันไม่บอกว่า เวลาปฏิบัติต้องทำยังไง ดูยังไง อย่างเป็นรูปธรรม

ทุกครั้งที่อ่านหนังสือสองเล่มนี้ซ้ำ ผมมักจะเจอประเด็นใหม่ๆ ที่ไม่พบในการอ่านครั้งก่อนๆ อยู่เสมอ เพราะบางครั้ง ประสบการณ์เราเพิ่มขึ้น เราถึงจะเข้าใจข้อความบางส่วนในหนังสือซึ่งเราอาจอ่านแล้วไม่เข้าใจในการอ่านครั้งแรกๆ        

Screen Shot 2558-06-28 at 4.53.18 PM