0283: หุ้นที่ห้ามซื้อ

 

ในวิชาการทางด้านการพนัน มีศัพท์เทคนิคอยู่คำหนึ่งคือคำว่า Parimutuel

การพนันบางอย่างเป็นการพนันแบบ Parimutuel หมายความว่า คุณจะได้ผลตอบแทนเท่าไรไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณแทงถูกหรือไม่อย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับว่ามีคนอื่นที่แทงถูกเหมือนคุณมากน้อยแค่ไหนด้วย ถ้าคุณแทงถูก แต่คนส่วนใหญ่ก็แทงเหมือนกับคุณ อัตราต่อรองจะถูก bid ขึ้นไปสูงเสียจนคนที่แทงถูกแทบจะไม่ได้ค่าตอบแทนอะไรเลย ตัวอย่างของการพนันแบบ Perimutuel ก็คือ ม้าแข่ง รวมถึงการพนันฟุตบอลแบบที่อัตราต่อรองไหลไปเรื่อยๆ ด้วย 

ที่พูดถึงคำๆ นี้ก็เพราะอยากจะบอกคุณว่า ตลาดหุ้น ก็มีลักษณะเป็น Parimutuel ด้วย การเลือกหุ้นของบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดีที่สุด ยังไม่สามารถทำให้คุณประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ เพราะถ้าหากนักลงทุนคนอื่นๆ ในตลาดก็รู้เหมือนกับคุณ ราคาหุ้นจะ bid ขึ้นไปจนเกินพื้นฐานเสมอ การซื้อหุ้นเหล่านั้นที่ราคาเกินพื้นฐานจึงทำให้ขาดทุนมากกว่าที่จะกำไร ทั้งที่หุ้นเหล่านั้นเป็นหุ้นพื้นฐานดี

พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ การลงทุนในตลาดหุ้นไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าเปรียบกับคณิตศาสตร์ก็เหมือนเป็นสมการสองชั้น นอกจากกิจการที่ลงทุนจะเป็นกิจการที่พื้นฐานดีแล้ว นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดจะต้องยังไม่เห็นความดีนั้นด้วย มิฉะนั้นลงทุนไปก็ไม่ได้อะไร เพราะราคาหุ้นที่ลงทุนจะไม่ถูกเมื่อเทียบกับพื้นฐานที่ดีของมัน

ในตลาดหุ้น หุ้นที่เป็นหลุมพรางของนักลงทุนจึงได้แก่หุ้นของบริษัทที่เป็นที่ยอมรับกันเป็นการทั่วไปในตลาดว่ากิจการของหุ้นดีมากเสียจนหาข้อเสียใดๆ ไม่ได้เลย ปกติแล้วหุ้นทุกตัวในตลาดจะมีข้อเสียบางอย่างอยู่ ข้อเสียคือสิ่งที่ช่วยทำให้ราคาหุ้นมีแนวต้าน เมื่อใดก็ตามที่หุ้นตัวใดก็ตามในตลาด สามารถสร้างสตอรี่เพื่อแก้ต่างจุดอ่อนที่อยู่ในความรู้สึกของนักลงทุนทั่วไปในตลาดได้หมดทุกจุด ราคาของหุ้นตัวนั้นก็จะทะยานขึ้นทันทีอย่างกับติดเทอร์โบเนื่องจากหุ้นตัวนั้นจะไม่มีอะไรเป็นแนวต้านอีกต่อไป โดยที่ในความเป็นจริงแล้ว พื้นฐานของหุ้นจะไร้ที่ติขนาดนั้นจริงหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แค่ไร้ที่ติในความคิดของนักลงทุนทั่วไปในตลาด ราคาหุ้นก็จะไร้แนวต้านทันที

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้พบเห็น “หุ้นจรวด” เหล่านี้อยู่เป็นระยะๆ โดยมากแล้วมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดกำลังวิตกกังวลเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากๆ หุ้นบางตัวจะถูกมองและเชียร์กันบ่อยๆ ว่าเป็นหุ้นเพียงไม่กี่ตัวในตลาดที่ธุรกิจของมันจะไม่ได้ผลกระทบใดๆ จากเรื่องที่ทุกคนกำลังกังวลอยู่นั้น เมื่อกระแสจุดติด ราคาของหุ้นเหล่านี้จะวิ่งเร็วยิ่งกว่าติดเทอร์โบกลายเป็นว่าวที่ติดลมบน ยิ่งเรื่องที่ตลาดกังวลทำให้ดัชนีปรับตัวลงมากเท่าไรก็จะยิ่งทำให้หุ้นตัวนั้นมีราคาเพิ่มขึ้นสวนตลาดมากขึ้นไปอีก เมื่อราคาหุ้นแข็งมาก นักลงทุนส่วนหนึ่งจะเข้ามาหลบภัยในหุ้นตัวนั้นเพื่อให้พอร์ตของตัวเองชนะตลาด ทำให้ราคาหุ้นตัวนั้นยิ่งแข็งขึ้นไปอีกเป็นปฏิกิริยาย้อนกลับในเชิงบวก ความที่ราคาหุ้นไม่ลงเลย ทำให้ยิ่งมีนักลงทุนที่อยากเป็นเจ้าของหุ้นตัวนั้นเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นหุ้นแต่ถือแล้วสบายใจยิ่งกว่าพันธบัตร เวลานี้ฟองสบู่ได้ก่อตัวขึ้นมาแล้ว

การซื้อหุ้นเหล่านั้นในช่วงเวลาแบบนั้นเป็นเรื่องอันตรายที่สุด ราคาหุ้นอาจแข็งแกร่งอยู่อย่างนั้นได้เป็นปีๆ แต่ในวันที่ทุกอย่างปรากฏขึ้นมาว่ากิจการของหุ้นนั้นดีจริง แต่ไม่ดีมากขนาดที่จะ justify ราคาหุ้นที่สูงลิ่วขนาดนั้นได้ หุ้นมักจะปรับตัวลงอย่างรุนแรงม้วนเดียวจบจนตั้งตัวไม่ทัน พูดง่ายก็คือตัวใครตัวมันล่ะครับ (the party is over)

ในตลาดหุ้น หุ้นที่ห้ามซื้อเด็ดขาดจึงได้แก่ หุ้นที่ไม่มีข้อเสียใดๆ เลย เหมือนการแท้งม้าตัวที่ทุกคนเชื่อว่าจะเข้าวินจะไม่ได้ประโยชน์อะไร วิธีการเล่นหุ้นแบบหนึ่งที่จะล้มเหลวเสมอคือ ซื้อหุ้นที่นักวิเคราะห์ทุกสำนักแนะนำให้ “ซื้อ” เพราะเมื่อใดก็ตามที่ทุกคนในตลาดเห็นด้วยว่าดีแล้ว ย่อมไม่เหลือใครในตลาดอีกที่อยากได้หุ้นตัวนั้น แต่ยังไม่ได้ซื้อ หุ้นจึงแทบไม่เหลือแรงส่งขึ้นไปได้อีกแล้ว นอกจากรอเวลาที่จะร่วงลงมาเมื่อใครสักคนที่มีหุ้นนั้นเริ่มอยากขายทำกำไรออกมา

นักลงทุนที่ดีต้องทำตัวเหมือนคนที่ยึดอาชีพเป็น “แมวมอง” แมวมองเลือกที่จะทุ่มให้กับคนที่ยังไม่ดังแต่มีแววว่าจะดังเท่านั้น เมื่อคนนั้นกลายเป็นคนดังขึ้นมาชั่วข้ามคืน แมวมองก็จะได้รับผลตอบแทนอย่างมหาศาลจากความ “ตาถึง” ของเขา ในขณะที่ “คนดู” สนใจกันแต่ดาราที่ดังแล้ว ยิ่งดังเท่าไรยิ่งชอบ คนดูจึงต้องเป็นฝ่ายเสียเงินตลอด (ค่าบัตรคอนเสิร์ต ค่าตั๋วหนัง ฯลฯ) หุ้นที่น่าลงทุนกว่าคือหุ้นที่ยังมีอะไรบางอย่างที่ไม่ดีอยู่ แต่เราเชื่อมั่นว่าสิ่งเหล่านั้นสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ในอนาคต ถ้าเราเลือกซื้อแต่ดอกไม้ที่มีคนคัดมาให้เราแล้วเราจะได้ดอกไม้ที่ดีก็จริง แต่เราจะต้องเป็นฝ่ายเสียเงินให้คนคัดดอกไม้เสมอ สู้ทำตัวเป็นคนคัดดอกไม้ในตลาดหุ้นไม่ดีกว่าหรือครับ   จบข่าว

0282: ระยะหวังผล

เวลาซื้อหุ้น คนเราจะมี “ระยะหวังผล” อยู่โดยที่ไม่รู้ตัว…

ระยะหวังผล คือ ระยะที่ในใจของเราเริ่ม “ตัดสิน” ว่า การตัดสินใจซื้อหุ้นครั้งนั้น เราคิดถูกหรือผิด?

ถ้ายังไม่ถึงระยะหวังผล แม้หุ้นยังแดงอยู่ เราก็มักยังไม่รู้สึกอะไร เรายังคงเต็มไปด้วยความหวัง แต่ถ้าหากถึงระยะหวังผลแล้ว ยังแดงอยู่ คราวนี้เราจะเริ่มรู้สึกผิดหวังกับหุ้นตัวนั้น บางคนจะเริ่มโทษตัวเอง บางคนจากที่เคยเสียดายไม่ยอมขาดทุนจะเริ่มเปลี่ยนเป็นขายขาดทุนเท่าไรก็ได้ ขอให้ได้ขาย 

ระยะหวังผลของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนภายในวันเดียว  บางคนสองวัน บางคนสองสัปดาห์ บางคนสามเดือน บางคนหนึ่งปี คนที่หุ้นแดงติดต่อกันสิบปีแล้วยังไม่รู้สึกอะไรเลยก็มีด้วยเหมือนกัน ระยะหวังผลขึ้นกับบุคลิกและสไตล์การลงทุนของแต่ละคน

 

ผมชอบรูปกราฟราคาหุ้นในอดีตของหุ้นปูนใหญ่มาก เพราะมันบอกอะไรเราได้หลายอย่างเกี่ยวกับคำว่าหุ้น  SCC เป็นหุ้นบูลชิพที่มีราคาผันผวนรุนแรงมากยิ่งกว่ารถไฟเหาะตีลังกาเสียอีก ลองจินตนาการเล่นๆ ว่ามีนักลงทุนสองคนซื้อ SCC พร้อมกันที่ลูกศรเบอร์ 1 ในภาพ ถ้านักลงทุนคนแรกมีระยะหวังผลเท่ากับหนึ่งปี ในขณะที่นักลงทุนอีกคนมีระยะหวังผลเท่ากับ 10 ปี นักลงทุนสองคนนี้ซื้อหุ้นตัวเดียวกัน ณ เวลาเดียวกัน ที่ราคาเดียวกันแท้ๆ แต่นักลงทุนคนแรกล้มเหลวอย่างแรงเพราะหนึ่งปีให้หลังราคาหุ้นร่วงลงไปมากกว่า 50% ในขณะที่ นักลงทุนคนที่สองประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะอีกสิบปีให้หลัง ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปเกือบ 500%

ระยะหวังผลไม่ได้มีอิทธิพลแค่เฉพาะความรู้สึกทางจิตใจเท่านั้นแต่ยังมีผลต่อผลตอบแทนของคุณด้วย บอกได้เลยว่านักลงทุนคนแรกที่มีระยะหวังผลเท่ากับหนึ่งปีจะไม่มีวันได้ enjoy กับหุ้น 5 เด้ง เป็นอันขาด เนื่องจากแม้เขาจะยังไม่ได้ขาดขาดทุนออกไปแต่เมื่อหุ้นเริ่มเด้งกลับขึ้นมาผ่านต้นทุนเดิมของเขาในช่วงปี 2545 เขาก็จะรีบขายทิ้งทันที เพราะทนขาดทุนมานาน มันทนทรมานมาก สุดท้ายแล้วเขาจึงไม่ได้ enjoy ช่วง 5 เด้งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ แค่ไม่ถึงสองปีหลังจากนั้น ในขณะที่นักลงทุนที่มีระยะหวังผลนานสิบปีจะไม่มีความรู้สึกอยากขายแบบรุนแรงทำให้ทนถือผ่านต้นทุนไปได้ ความรู้สึกว่าเราสำเร็จหรือล้มเหลวอันเนื่องมาจากระยะหวังมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อและขายหุ้นของเราโดยตรงมันจึงส่งผลต่อผลตอบแทนจริงๆ ของคุณด้วย

แม้ราคาหุ้นจะเอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่ผมก็เห็นว่า นักลงทุนก็ต้องมีระยะหวังผลบ้างเหมือนกัน ไม่ใช่หุ้นทำนิวโลว์ติดต่อกัน 20 ปีแล้วยังปากแข็งบอกว่า ราคาหุ้นทำนายไม่ได้ มูลค่าหุ้นสูงกว่านั้นมาก อย่างนี้ผมว่าก็ดูจะหลอกตัวเองเกินไป แบบนี้ซื้อหุ้นอะไรก็ประสบความสำเร็จทั้งนั้น เรื่องสำคัญก็คือระยะหวังผลควรจะสอดคล้องกับจุดประสงค์ที่เราซื้อหุ้นตัวนั้นเสมอ เช่น ถ้าซื้อหุ้นตัวนั้นเพราะเก็งกำไรด้วยกราฟ อย่างนี้ระยะหวังผลก็ไม่ควรจะนาน ถ้าซื้อแล้วหุ้นลงต่อเนื่อง ก็ควรรีบยอมรับความผิดพลาดจะได้คัดลอสได้โดยเร็ว ส่วนถ้าเป็นการลงทุนในแง่พื้นฐาน ซื้อเพราะมองว่าธุรกิจมี barries สูง ผู้บริหารเก่งและดี เหตุผลทำนองนี้ก็ควรมีระยะหวังผลที่ค่อนข้างนานมาก เพราะในระยะสั้น การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นจะไม่สะท้อนปัจจัยเหล่านี้เลยแม้แต่น้อย ภาวะตลาดหุ้นจะกลบปัจจัยเหล่านี้จนหมดสิ้น ที่พบเห็นได้บ่อยคือนักลงทุนที่ชอบมองพื้นฐานแต่กลับมีระยะหวังผลแค่สองอาทิตย์หรือหนึ่งเดือน แบบนี้เป็นความคาดหวังที่ unrealistic เป็นอย่างมาก เหมือนอย่างที่ ปีเตอร์ ลินซ์ บอกว่า ถ้าบังคับในนักลงทุนดูราคาหุ้นได้แค่หนึ่งครั้งทุกๆ หกเดือน ผลตอบแทนของนักลงทุนส่วนใหญ่จะดีขึ้นได้ทันที โดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะการไม่ดูหุ้นบ่อยๆ เป็นกุศโลบายในการยืดระยะหวังผลที่สั้นเกินไปให้ยาวขึ้นได้นั่นเอง 

0281: ซื้อเฉลี่ยขาลง

เป็นธรรมชาติอยู่แล้วที่นักลงทุนจะชอบซื้อเฉลี่ยขาลง…

ถ้าซื้อหุ้น A ที่ราคา 10 บาท แล้ววันต่อมาหุ้นตกทันทีเหลือแค่ 9 บาท เราจะอยากซื้อเฉลี่ยขาลง เพราะเหมือนได้ซื้อของถูกกว่าเดิม ที่สำคัญ ต้นทุนเฉลี่ยของเราจะลดลงด้วยทำให้เราขาดทุนลดลงจาก 10% เหลือแค่ 5% แบบนี้ใครจะไม่อยากทำ 

แต่เดี๋ยวก่อน โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี จริงอยู่ที่การ ซื้อเฉลี่ยขาลงทำให้เราขาดทุนน้อยลงเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของต้นทุน แต่สิ่งที่เราต้องนำไปแลกคือ Risk Exposure ที่เพิ่มขึ้น พอร์ตของเรามี Exposure ผูกกับหุ้นตัวนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว

ถ้าความซวยยังไม่หยุด หุ้น A ดันหล่นลงต่อไปเหลือแค่ 8 บาท คราวนี้เราจะมองเห็นได้ว่าเงินก้อนที่สองที่ใส่ลงไปไม่ได้ช่วยทำให้เงินก้อนแรกขาดทุนน้อยลงจริงอย่างที่เราคิด ตอนนี้กลายเป็นว่าเราขาดทุนทั้งเงินก้อนแรกและเงินก้อนที่สองด้วย แทนที่จะขาดทุนแค่ 2 บาทจากเงินก้อนแรกก้อนเดียวถ้าตัดใจไม่ซื้อเฉลี่ย ตอนนี้เรากลับต้องมาขาดทุนรวมทั้งหมดมากถึง 3 บาทแทน

เพราะฉะนั้น “การซื้อเฉลี่ยขาลงจึงเป็นการทำให้การขาดทุนเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ลดลงแต่เมื่อคิดเป็นจำนวนเงินแล้วจะสูงขึ้น”

คนที่ชอบการซื้อเฉลี่ยขาลงมักจะแย้งว่า หุ้นดียิ่งตกเราต้องยิ่งซื้อ แต่พวกเขาลืมไปว่าตรรกนั้นจะเป็นจริงก็ต่อเมื่อ เราสามารถเลือกหุ้นได้ถูกต้องทุกครั้ง แต่อย่างที่บอกไปแล้วเมื่อครั้งก่อนว่าแม้แต่คนที่เก่งที่สุดยังเลือกหุ้นถูกแค่ 65% เท่านั้น การลงทุนและธุรกิจเป็นเรื่องที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก การเลือกหุ้นทุกครั้งจึงต้องเผื่อใจเสมอว่า ตลาดอาจเป็นฝ่ายคิดถูกในขณะที่เราคิดผิดเองก็ได้ ฉะนั้นเราต้องเผื่อกรณีที่เราอาจจะวิเคราะห์ผิดพลาดเอาไว้ด้วย มีโอกาสเสมอที่หุ้นที่เราซื้อจะมีพื้นฐานที่แย่ลงเรื่อยๆ อย่าง”ถาวร” ไม่เป็นการบังควรที่จะ เดิมพันกับหุ้นตัวที่ซื้อด้วยการซื้อเฉลี่ยขาลงอย่างไร้ขีดจำกัด

ถ้าคุณซื้อหุ้นแล้วหุ้นลง ที่จริงแล้ว ถ้าคุณมั่นใจว่า ราคาหุ้นที่ซื้อเป็นราคาที่ undervalued แน่ๆ สิ่งที่คุณควรทำมากกว่าคือ การอยู่เฉยๆ เพราะถ้าหุ้นนั้น undervalued จริงๆ สุดท้ายแล้วมันจะต้องกลับขึ้นมาใหม่ได้ การซื้อเฉลี่ยขาลงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่คุณจะเสียหายหนักถ้าหากหุ้นตัวนั้นได้ undervalued จริง บ่อยครั้งที่เราอยากซื้อเฉลี่ยขาลง เพราะเราไม่ชอบที่คนอื่นสามารถซื้อหุ้นตัวนั้นได้ต่ำกว่าเรา (ก็เราเจอหุ้นเด็ดตัวนี้ก่อนพวกเขานี่หน่า)  แต่อย่าลืมว่าผลงานของคุณจะเป็นอย่างไรนั้นมันไม่ได้เกี่ยวกับว่ามีคนอื่นซื้อได้ถูกกว่าคุณหรือไม่เลยสักนิด

ผมไม่ได้ถึงกลับบอกว่าห้ามซื้อเฉลี่ยขาลงเด็ดขาด แต่อยากให้เข้าใจว่าการซื้อเฉลี่ยขาลงไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาหุ้นตกได้อย่างที่คิด แต่เพิ่มโอกาสที่เราจะหมดตัวมากกว่า คุณอาจซื้อเฉลี่ยขาลงบ้างก็ได้ แต่ขอให้ set ลิมิตเอาไว้ทุกครั้งว่าเราสามารถขาดทุนกับหุ้นตัวเดียวได้มากที่สุดแค่ไหน ถ้าซื้อเกินลิมิตนี้แล้วหุ้นยังลงต่อไปอีก ต้องลดความต้องการที่จะเอาชนะลง ยอมรับความผิดพลาดครั้งนั้นเสีย และไม่ซื้อเฉลี่ยเพิ่มอีก คนที่ชอบซื้อเฉลี่ยขาลงส่วนหนึ่งมีความเชื่อว่าหุ้นที่ลงมากๆ แล้วสุดท้ายก็ต้องขึ้น แต่ในความเป็นจริง ไม่ได้มีกฏอย่างนั้นอยู่ในตลาดหุ้น 

Don’t buy into destitution!!

Charles G.Watts สอนก็นักลงทุนว่า อย่าซื้อเฉลี่ยขาลง เพราะแม้ว่า 4 ใน 5 ครั้งหุ้นมักจะกลับมาได้ก็จริง แต่ถ้าเราถือคติยิ่งตกยิ่งซื้อ กำไรทั้งหมดที่ได้มาในสี่ครั้งแรกรวมทั้งทุนของเราจะหายไปกับครั้งที่ 5 แค่เพียงครั้งเดียว คนที่ไม่เคยซื้อเฉลี่ยขาลงจะไม่มีวันหมดตัว  

0280: Stock Selection is not Everything

คุณว่าความสามารถในการเลือกหุ้นให้ถูกตัวมีความสำคัญมากแค่ไหนต่อผลงานการลงทุน?

หลายคนจะเชื่อว่าสำคัญที่สุดเลยทีเดียว เวลาที่เราคิดอย่างนี้ เราจะไม่กล้าเลือกหุ้นด้วยตัวเอง เพราะเรามีความรู้สึกว่าเราเลือกหุ้นไม่เก่ง ผิดบ่อย เราจะเริ่มหาที่พึ่งพิงภายนอก เราจะมองหาใครสักคนที่มีอะไรสักอย่างที่ทำให้เราเชื่อว่าคนๆ นี้น่าจะเป็นที่พึ่งของเราเรื่องการเลือกหุ้นได้ จากนั้นเราก็จะเริ่ม shutdown สมองของเราเอง แล้วหันไปซื้อตาม “กูรูหุ้น” แทน

เวลาคุณเล่นหมากรุกกับแชมป์โลก โอกาสที่คุณจะชนะแชมป์โลกนั้นแทบจะไม่มีเลย แต่สำหรับการลงทุนแล้ว ต่อให้คนที่เชี่ยวที่สุดก็ยังทำผลงานได้ไม่ดีนัก กูรูหุ้นระดับตำนานเลือกหุ้นถูกต้องได้เพียง 60-65% เท่านั้น เพราะการวิเคราะห์การลงทุนเป็นศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนมาเกี่ยวข้องสูงมาก  ในเวลาเดียวกัน คนธรรมดาทั่วไปจะเลือกหุ้นได้ถูกต้องในระดับ 45-55% (ถ้าต่ำกว่านี้จะถือว่าเก่งมาก เพราะแค่ทำตรงข้ามกับที่คิดก็จะรวยไม่รู้เรื่องได้) การเลือกหุ้นเป็นศาสตร์ที่คนเก่งที่สุดกับคนที่แย่ที่สุดไม่ได้ต่างกันอย่างชัดเจน

คนที่คิดว่า การเล่นหุ้นคือการซื้อหุ้นเด็ดทีละตัวด้วยเงินทั้งหมดที่มีอยู่ เมื่อหุ้นวิ่งก็ขายทำกำไรออกมาแล้วเอาเงินทั้งหมดไปซื้อหุ้นเด็ดตัวที่สองอีก ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นเศรษฐีได้อย่างรวดเร็ว มักจะรู้สึกว่าการเลือกหุ้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะการเล่นหุ้นอย่างนั้น ถ้าเลือกหุ้นผิดแค่หนเดียว ก็หมดตัวเลย แต่สำหรับคนที่ลงทุนแบบเป็นการลงทุนจริงๆ ไม่ใช่การวัดดวงเพื่อให้กลายเป็นเศรษฐีชั่วข้ามคืนนั้น มีอะไรที่สำคัญมากกว่าการเลือกหุ้นมาก เราจะต้องพยายามหลีกเลี่ยงการขาดทุนหนักๆ ในระยะยาวให้ได้

ตั้งแต่เกิดมาผมยังไม่เคยพบใครที่เลือกหุ้นได้ถูกต้องตลอดเวลาเลย (ยกเว้นคนที่ชอบคุยทีหลังว่าทายถูก) ต่อให้เรามองได้เก่งแค่ไหนก็มักจะมีอะไรที่ไม่คาดฝันเข้ามาอยู่เสมอ วอเรน บัฟเฟต เพิ่งจะพลาด เพราะประเมินวิกฤตสถาบันการเงินต่ำไป ช่วงแรกๆ เขาบอกว่า ตลาด”คิดไปเอง”ว่าสถาบันการเงินจะมีปัญหารุนแรง แต่ตอนนี้เขาก็ออกมายอมรับแล้วว่าวิกฤตครั้งนี้จะรุนแรงมาก จิม โรเจอร์ ก็พลาดหนักเพราะบอกว่าคอมโมดิตี้จะยังไปได้อีกสิบเท่า ส่วน จอร์จ โซรอส แม้ว่าจะทายถูกว่าปัญหาซับไพร์มทำจะทำให้เกิด Global Recession แต่เขาก็เพิ่งจะขาดทุนหนักจากการเข้าไปเก็งกว่าดอลล่าร์จะอ่อนลงเรื่อยๆ จะเห็นได้ว่าคนที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนมากๆ ไม่ได้เป็นคนที่คิดถูกตลอดเวลา

ที่จริงแล้วมีอะไรบางอย่างที่มีผลต่อความสำเร็จมากกว่าการเลือกหุ้นมาก ตัวอย่างเช่น คนที่เลือกหุ้นถูกแค่ 4 ใน 10 ครั้งอาจจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าคนที่เลือกหุ้นถูก 6 ใน 10 ครั้งก็ได้ เพราะถ้าคนที่เลือกหุ้นถูก 4 ใน 10 ครั้งเลือกจัดสรรเงินส่วนใหญ่ของเขาไว้ในตัวที่เขาเลือกได้ถูก เขาขาดทุนน้อยไปกับตัวที่เขาคิดผิด ในขณะที่ คนที่เลือกหุ้นถูก 6 ใน 10 ครั้งแต่มีนิสัยชอบซื้อเฉลี่ยขาลง เลยทำให้เงินส่วนใหญ่ของเขาจมอยู่ในหุ้น 4 ตัวที่เลือกผิดเพราะราคาหุ้นเหล่านั้นร่วงลงไปเรื่อยๆ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า นิสัยในการลงทุนก็มีอิทธิพลต่อผลตอบแทนของเรามาก ที่สำคัญ “นิสัยการลงทุน” เป็นเรื่องที่ฝึกฝนได้และมีความแน่นอนมากกว่า คนที่มีนิสัยการลงทุนที่ดีจะเอาตัวรอดจากการขาดทุนใหญ่ๆ ได้ทุกครั้ง ต่างกับคนที่มีนิสัยการลงทุนที่ไม่ดี (ตัวอย่างนิสัยการลงทุนที่ไม่ดีก็เช่น chasing stock price, ชอบซื้อเฉลี่ยขาลง, ทุ่มสุดตัวกับหุ้นตัวเดียว,  ขายหมูเร็วบ่อยๆ  เป็นต้น) คนที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนส่วนใหญ่มักเป็นคนที่มีนิสัยการลงทุนที่ดีมากกว่าที่จะเป็นคนเลือกหุ้นได้ถูกต้อง พวกเขาเหล่านี้ค่อยๆ บ่มเพาะนิสัยการลงทุนที่ดีของตัวเองขึ้นมาด้วยประสบการณ์และการนำข้อผิดพลาดในอดีตของตัวเองมาปรับปรุงนิสัยอยู่เสมอ

ถ้าเราเชื่อว่า Stock Selection is not Everything เราก็จะเลิกนิสัยวิ่งตามเซียนของเราเสียได้ ผมเคยเห็นคนมากมายที่อุทิศชีวิตให้กับการสืบว่าเซียนซื้อหุ้นอะไรอยู่ พวกเขาใช้ความพยายามสูงมาก แต่ผมก็ยังไม่เคยเห็นคนเหล่านั้นประสบความสำเร็จเลย พวกเขาอาจได้กำไรในบางครั้ง แต่รวมๆ แล้วมักไม่ประสบความสำเร็จทั้งที่เขาซื้อหุ้นตัวเดียวกันกับเซียนทุกตัว  ผมสังเกตว่าคนที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนมีแนวคิดที่ต่างกันหลายแบบแต่ “ทุกคน” กลับมีลักษณะที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ เป็นคนที่มีความคิดเป็นของตัวเอง พวกเขาชอบเลือกหุ้นด้วยตัวเองไม่ลอกเลียนแบบใครทั้งนั้น ส่วนใหญ่พวกเขาก็เลือกหุ้นผิดบ้างถูกบ้างเหมือนๆ กับเรานั่นแหละ แต่ “นิสัยการลงทุน” ของเขาต่างหากที่ดีกว่าเราพวกเขาจึงประสบความสำเร็จ ผมชอบคำพูดของ Ken Heebner ที่บอกว่า “ผมไม่ได้ประสบความสำเร็จเพราะคิดถูกบ่อยกว่าคนอื่น แต่จุดแข็งของผมอยู่ที่ ผมสามารถยอมรับความผิดพลาดของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว และไม่เคยถล่ำลึกลงไปในความผิดนั้น” ไม่มีใครที่เลือกหุ้นได้ถูกตลอดเวลา เขาประสบความสำเร็จโดยอาศัยการมีนิสัยการลงทุนที่ดี

ถ้าคุณพยายามเลือกหุ้นเองให้ดีที่สุด และลงทุนในหุ้นหลายตัว ผมรับรองว่า ความไม่แน่นอนของหุ้นจะช่วยทำให้ผลงานการเลือกหุ้นของคุณไม่แตกต่างไปจากของกูรูหุ้นมากนักแน่นอนครับ เลือกหุ้นเองดีกว่าครับ สิ่งที่สำคัญมากกว่าการเลือกหุ้นคือ นิสัยการลงทุนของตัวคุณเอง

0273: Cornering the Market

วันที่ 13 มิถุนายน 1996 ธนาคารซูมิโตโมได้ประกาศว่า บริษัทขาดทุนจากการเทรดทองแดงเป็นเงินถึง $1.8 billions นับเป็นการ trading loss ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสี่ในประวัติศาสตร์โลก (ใหญ่กว่ากรณีของธนาคารแบริ่ง)

ในตอนแรก ธนาคารอ้างว่า เทรดเดอร์ของธนาคารคนหนึ่งชื่อ Hamanaka ได้ลักลอบทำธุรกรรมนี้ โดยทำมาแล้วกว่าสิบปี แต่ต่อมาพบว่า แท้จริงแล้ว  Hamanaka ได้ทำธุรกรรมภายใต้การรับรู้ของธนาคาร (aka Rogue Trading) วิธีการของ Hamanaka คือพยายามสร้างความขาดแคลนให้เกิดขึ้นในตลาดทองแดง  เพื่อทำกำไรจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น หรือที่เรียกว่า Cornering the market

ปกติแล้วราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทุกชนิดจะอ่อนไหวต่อสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในช่วงเวลาหนึ่งๆ เป็นอย่างมาก เมื่อใดที่อุปทานตึงตัวแม้เพียงเล็กน้อย ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับตัวสูงขึ้นได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ ยิ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดที่สามารถกักตุนไว้ได้นานๆ อย่างพวกโลหะต่างๆ ด้วยแล้ว การเก็งกำไรด้วยการกักตุนยิ่งช่วยทำให้ราคาผันผวนได้มากขึ้นอีก Cornering เป็นการพยายามดึง supply ส่วนหนึ่งออกไปจากตลาดในปริมาณที่มากพอ เช่น ซื้อเอาไปเก็บไว้ เพื่อทำให้ราคาตลาดปรับตัวสูงขึ้นไปหลายๆ เท่า จากนั้นก็ค่อยๆ ขายทำกำไรออกมา แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะต้องมีสต๊อกส่วนหนึ่ง ที่จะขายออกได้ไม่ทัน ทำให้ขาดทุนอยู่ด้วยก็ตาม แต่เนื่องจากกำไรที่ขายได้ในช่วงแรกๆ สูงมาก เมื่อหักกลบกันแล้ว Cornering จึงทำกำไรสุทธิได้มหาศาล

บางคนอาจสงสัยว่า ทองแดงเป็นสินค้าระดับโลก แล้วธนาคารซูมิโตโมสามารถควบคุม supply ของทั้งโลกได้อย่างไร ที่จริงแล้ว ธนาคารซูมิโตโมเพียงแค่รวมหัวกับเอเย่นต์ทองแดงส่วนหนึ่งในตลาดลอนดอน และบรรดาบริษัททองแดงในจีนอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อซื้อทองแดงออกไปแค่เท่ากับ 5% ของทั้งตลาดเท่านั้น ก็สามารถปั่นราคาทองแดงให้ทยานขึ้นได้แล้ว เคล็ดลับของวิธีนี้ก็คือว่าจะต้องกักตุนให้เสร็จโดยไม่ให้คนอื่นรู้ก่อน เพราะถ้ามีคนรู้ก่อน คนที่รู้จะไม่ยอมขายให้ในราคาถูกๆ แต่จะกักตุนตามบ้าง ทำให้ต้องเก็บในราคาที่แพงเกินไปจนไม่สามารถทำกำไรได้ การเก็บของได้ครบตั้งแต่ข่าวยังไม่รั่วจะทำให้ได้ต้นทุนเฉลี่ยใกล้เคียงกับราคาพื้นฐานที่แท้จริงของทองแดง ดังนั้นแม้ราคาจะร่วงลงมามากในภายหลังก็ไม่น่ากลัวเลย

ต่อเมื่อเก็บได้มากพอแล้ว จึงค่อยอยากให้มีคนรู้มากๆ ยิ่งมากยิ่งดี เพื่อให้คนอื่นกักตุนตาม การเก็งกำไรตามของคนอื่นจะช่วยให้ราคาทะยานขึ้นได้อีก ในช่วงที่ราคาทองแดงทยานขึ้นมาแล้วเป็นเท่าตัว เริ่มมีข่าวลือในวงการว่า นาย Hamanaka กำลังเข้าเก็บทองแดง ช่วงนั้นเขามีฉายาที่รู้กันทั่วไปในตลาดว่า “Mr. Five Percent”

การที่ Hamanaka สามารถควบคุมราคาตลาดได้ ทำให้เขาทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบสิบปี แต่ราคาทองแดงที่ยืนอยู่ในระดับสูงติดต่อกันนานหลายปีก็ได้ดึงดูดให้เหมืองทองแดงขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ในที่สุดข่าว เกี่ยวกับ supply ใหม่ๆ ที่กำลังจะทะลักออกมาจากเหมืองใหม่ก็ได้ทำให้ราคาทองแดงร่วงลงอย่างหนักในที่สุด ในช่วงเวลานั้น Hamanaka ควรระบาย position ออกไปให้เร็วที่สุด (แม้ว่าจะทำให้ต้องขาดทุนไปบ้างก็ตาม) แต่ด้วยความลำพองที่เคยได้กำไรอย่างเดียวติดต่อกันมาเป็นเวลานานมาก ทำให้เขาทำใจไม่ได้ แทนที่เขาระบายของออกทันที เขากับซื้อเพิ่มอีก เพื่อพยายามลด suppply อีกครั้ง แต่ก็ไม่อาจต้าน supply ใหม่ได้ สุดท้ายแล้ว แทนที่เขาจะขาดทุนแค่เพียงเล็กน้อย กลับกลายเป็นการขาดทุนอย่างมหาศาล Hamanaka ถูกตัดสินจำคุก 8 ปี

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงกลไกการสร้างราคาในตลาดว่าทำได้อย่างไร มันทำได้แม้แต่ในตลาดที่มีขนาดใหญ่มากๆ เช่น ทองแดง หากเป็นหุ้นตัวเล็กๆ สภาพคล่องต่ำๆ  ฟรีโฟลตน้อยๆ การเข้าเก็บหุ้นส่วนใหญ่ไว้ในมือโดยคนกลุ่มเดียวเพื่อควบคุมราคาให้เป็นไปตามใจนั้นยิ่งทำได้ง่ายเอามากๆ  สิ่งที่ได้รู้อีกอย่างหนึ่งก็คือทุกวันนี้คนสร้างราคาไม่ใช่อาเสี่ย แต่กลายเป็นนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนไม่ควรหลงระเริงกับราคาที่ทะยานขึ้นอย่างมากมาย เพราะพื้นฐานที่แท้จริงของธุรกิจโดยมากมักไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เหตุผลอาจมีอยู่เพียงนิดเดียว แต่การเกิดขึ้นของภาวะขาดแคลนชั่วคราวในตลาดสามารถทำให้ราคาปรับตัวรุนแรงมากได้ แต่เมื่อถึงวันหนึ่งที่ความเป็นจริงปรากฏออกมาและภาวะเช่นนั้นหายไป ทุกอย่างก็สามารถเปลี่ยนแปลงกลายเป็นหนังคนละม้วนได้ในเวลาแค่ชั่วพริบตาเดียว

0275: Diversity Breakdown

 

 

Solomon Asch นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเยล ทำการทดลองหนึ่งโดยแบ่งคนออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละแปดคน (ในทุกกลุ่ม เจ็ดคนเป็น “หน้าม้า” มีแค่คนเดียวเท่านั้นที่เป็นอาสาสมัครตัวจริง) โดยให้ตอบคำถามที่ง่ายมากๆ เช่น ในภาพข้างต้น กราฟแท่งไหนยาวที่สุด? ในการตอบคำถามแต่ละครั้ง สมาชิกทุกคนในกลุ่มจะต้องขานคำตอบของตัวเองดังๆ ให้คนที่เหลือฟังด้วยเสมอ

ในคำถามแรกๆ หน้าม้าทุกคนเลือกคำตอบที่ถูกต้อง ผลปรากฏว่า อาสาสมัครก็เลือกคำตอบได้ถูกต้องด้วย แต่ในคำถามท้ายๆ หน้าม้าถูกนัดแนะให้พร้อมใจกันเลือกคำตอบที่ผิดเหมือนกันทุกคน ผลปรากฏว่า มีอาสาสมัครมากถึง 35% ที่เลือกคำตอบที่ผิดตามหน้าม้าไปด้วย การทดลองนี้พิสูจน์ว่า การตัดสินใจของเราจะได้รับอิทธิพลจากคนอื่นสูงมาก (แม้แต่ในเรื่องที่ง่ายมากๆ ก็ตาม) ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ใช่แค่ขาวกับดำ คนอื่นจะยิ่งมีอิทธิพลต่อวิจารณญาณของเรามากเป็นพิเศษ และหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องการลงทุนนั่นเอง

เรื่องนี้นับว่าเป็นจุดอ่อนการลงทุนที่กำจัดได้ยากมาก ผมเองเป็นคนที่มีบุคลิกที่ค่อนข้างจะเป็น contrarian อยู่แล้วยังรู้สึกว่ายากเลย เวลาที่ผมค้นพบหุ้นดีๆ สักตัวหนึ่ง แต่ถ้าคนรอบข้างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ดี ผมก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกหวั่นไหวไปด้วย และทำให้พลาดโอกาสที่จะทำกำไรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเมื่อสามารถมองหุ้นตัวนั้นได้อย่างถูกต้อง และการรับฟังความเห็นของผู้อื่น กับการเชื่อคนอื่นเพราะชอบทำอะไรตามๆ กันนั้น เป็นอะไรที่แตกต่างกันเพียงแค่เส้นบางๆ เท่านั้น  

ผมว่าเป็นเพราะนักลงทุนในตลาดมีแนวโน้มอยู่แล้วที่จะเชื่ออะไรตามๆ กันนี่แหละที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นต้องมีฟองสบู่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ และจะไม่มีวันหมดไปตราบใดที่ตลาดหุ้นยังประกอบด้วยหน่วยเล็กๆ ที่เรียกว่าปุถุชนอยู่ บางทีก็เป็นฟองสบู่หุ้นรายตัว บางทีก็เป็นฟองสบู่ทั้งดัชนี ผมสังเกตว่า ณ เวลาหนึ่งๆ ในตลาดหุ้นมักมีหุ้นประมาณ 3-4 ตัวที่เป็น Talk of the Town คือไม่ว่าไปที่ไหนทุกคนก็จะเชียร์แต่หุ้น 3-4 ตัวนี้โดยให้เหตุผลที่ฟังดูเหมือนๆ กันมาก ไม่ค่อยมีความเห็นแตกต่าง และราคาของหุ้น 3-4 ตัวนี้ก็มักจะทะยานขึ้นมาได้อย่างน่าตกใจ และพอเวลาผ่านไป หุ้น Talk of the Town ก็มักจะเปลี่ยนหน้าไปเป็นหุ้นชุดใหม่ เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งหุ้น Talk of the Town แต่ละยุคก็มักจะมี Story ที่น่าสนใจในช่วงเหล่านั้นอยู่จริงๆ แต่พฤติกรรมเชื่ออะไรตามๆ กันได้ช่วยขยายผลให้ราคาหุ้นสามารถปรับตัวขึ้นไปได้มากกว่าเหตุผลที่แท้จริงของมันหลายเท่าตัว       

แนวความคิดที่แตกต่างหลากหลายเป็นกลไกตลาดอย่างหนึ่งที่ช่วยรักษาเสถียรภาพของตลาดไว้ได้โดยที่นักลงทุนทุกคนในตลาดไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล เพราะความเห็นที่แตกต่างจะคอย offset กันเอง (บางคน bullish เกินไป บางคน bearish เกินไป การซื้อขายของคนสองกลุ่มนี้จะหักล้างกัน) แต่เมื่อไรก็ตามที่ความเห็นแตกต่างหายไปจากตลาดเพราะทุกคน shutdown สมองของตัวเองแล้วหันมาทำอะไรตามๆ กันไป (diversity breakdown) กลไกอันนี้จะไม่ทำงาน และ booms กับ bursts ก็จะเกิดขึ้น ดังนั้นที่จริงแล้ว การรณรงค์ให้นักลงทุนทุกคนในตลาดใช้หลักการลงทุนเดียวกันหมด (เช่น รณรงค์ให้นักลงทุนทุกคนหันมาลงทุนระยะยาว) ไม่ว่าหลักการลงทุนนั้นจะดีหรือไม่ กลับไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะเป็นการทำลายความเห็นต่าง ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการรักษาเสถียรภาพให้กับตลาด (ถ้านักลงทุนทุกคนมองยาวเหมือนกันหมด หุ้นจะแพงเกินไปในระยะยาว และถูกเกินไปในระยะสั้น) ตลาดที่ดีควรมีนักลงทุนหลายๆ ประเภทอยู่ด้วยกัน (Growth vs.Value, Short-term vs.Long-term, Momentum vs.Contrarian, Long vs.Short) เพื่อคอยถ่วงดุลกันไว้ ตลาดควรส่งเสริมนักลงทุนทุกแนวอย่างเท่าเทียมกัน(ยกเว้นแนวทางที่ผิดกฏหมาย) มากกว่าที่จะ prefer แนวทางใดแนวทางหนึ่งมากกว่าแนวทางอื่น แนวการลงทุนต้องเป็นไปแบบเสรี ใครคิดว่าวิธีไหนเด็ดสุดก็ขุดเอามาใช้ให้เต็มที่ ตลาดจะพลอยได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากความพยายามแบบสุดๆ ในการสร้างผลตอบแทนของนักลงทุนแต่ละคนมากที่สุด

0254: Mutual Fund Watchdog #2

ซื้อได้แล้วนะครับ กองทุนรวมหุ้นแบบไม่ปันผลของบลจ.ต่างๆ ทุกบลจ.มีหน้าที่สู้กับ TMB50 ซึ่งเป็นกองทุนดัชนีให้ได้ในระยะยาวนะครับ

ของ BBLAM ต้องซื้อต่างหากเพราะฟิลิปไม่ได้เป็นตัวแทนนะครับ

ยังมีบลจ.อื่นอีก แต่ไม่ได้ซื้อ เพราะไม่มีกองทุนหุ้นแบบที่ไม่ปันผลนะครับ ส่วนกองทุนหุ้นบางกองที่มีปันผลที่แนะนำผมกันมา ผมซื้อไว้ดูเองครับ เหอๆ

พอร์ตนี้จะถือแช่ไว้เลย แบบนานแสนนาน Once in a blue moon จะเอาพอร์ตนี้กลับมาดูสักที เราจะได้รู้ว่า บลจ.ไหนสร้าง wealth ให้ผู้ถือหุ้นได้จริงๆ บ้าง

(Please Refer to https://dekisugi.net/2009/12/25/0227-mutual-funds-watchdog/ )

0252: Guru Watchdog

Jim Rogers (Source 1 2 3 )

– ช่วงนี้ผมสะสมดอลลาร์เพิ่มขึ้น เพราะเห็นว่าทุกคนมองดอลลาร์ร้ายกันหมด แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่น้อยกว่าเงินสกุลอื่นๆ ที่ผมถืออยู่ เพราะยังไงๆ ดอลลาร์ก็จะแย่ลงเรื่อยๆ ในระยะยาว ผมแค่อยากจะลองทำกำไรระยะสั้นเท่านั้น แต่ผมไม่ใช่คนเล่นสั้นที่เก่งเลย

– ตอนนี้ ผมยังไม่ซื้อทองคำเพิ่ม เพราะผมถือทองคำอยู่แล้ว แต่จะไม่ขายมันด้วย ถ้าหากทองคำลงไปแตะต่ำกว่าพันเหรียญ ผมก็จะซื้อเพิ่มอีก เพราะภายในปี 2019 ทองคำจะต้องยืนเหนือระดับ $2, 000 ได้อย่างแน่นอน และนั่นไม่ใช่สมมติฐานที่มากเกินไปเลย

– ปีหน้าเราอาจจะเห็นรัฐบาลของบางประเทศประสบปัญหาทางการเงินเพิ่มอีก อาจจะเป็น อาร์เจนติน่า ยูเครน หรือแม้แต่ UK ก็เป็นไปได้ ในช่วงสองสามปีนี้จะต้องมีวิกฤตการเงินอีกอย่างแน่นอน นอกเหนือจากทองคำแล้ว silver และเงินสกุลเอเชียบางประเทศก็น่าสนใจด้วย

– สินค้าเกษตรน่าสนใจมาก เพราะว่าราคาของมันตกต่ำมาเป็นทศวรรษแล้ว ผมว่ามันเป็นสินทรัพย์ที่ราคาถูกที่สุดในตอนนี้ เรากำลังจะมีวิกฤตอาหาร ตอนนี้ข้าวสร้าง all time high ได้แล้ว แต่น้ำตาลยังห่าง all time high อยู่มาก

– ช่วงนี้เป็นช่วงที่แปลกมาก เพราะผมไม่ได้ short อะไรเลย ผมหาไม่เจอว่ามีอะไรที่ราคาแพงมากๆ แต่ถ้าจะให้ short ผมคงเลือก US Government Bond

Marc Faber (Source)

-A stronger dollar will be positive for equities based on historical market data.
-The U.S. market will outperform emerging markets for the first half of 2010.
-Stocks and associated indices may have 10-20% correction, followed by another rally.
-The worst thing you can do for a long-term buy is purchase Treasuries.
-The private sector is de-leveraging while the government levers up. This process is expected to continue

Overall, 2010 will not be one for the record books, as 2009 was. He’s looking at a more normal 5%-10% rate of return for global investors.

Here are Faber’s views on other markets and asset classes:

Asia: “Longer term we’ll have still favorable growth, ” he says. He thinks India and Japan both offer opportunities. In his eyes, this view gained even more credibility after they were not mentioned once during the Barron’s round-table discussion.

Bonds: The bull market in Treasuries that lasted from 1980-2008 is a thing of the past. Near term: after a dismal 2009 the bond market could be in for a rebound. Longer term: look for exit opportunities in Treasuries.

Gold: Still a long-term buy.

Oil: Prices in the $80s make sense since the marginal cost to find a barrel is about $70. Longer term he expects prices to continue rising as demand increases from the developing world.

Agricultural commodities: In the short term, Faber’s favorite commodity is wheat. He advises against buying the wheat ETFs because they’re relatively expensive. Instead, play it through farm land or potash companies, he says.

โทมัส ตัน (ที่มา)

ผู้มีประสบการณ์ในตลาดโภคภัณฑ์ ด้วยเทคนิคและปัจจัยพื้นฐานมากว่า 15 ปี ได้เขียนคำทำนายเศรษฐกิจทุกปี ตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งคราวนั้นทำนายว่า ทองคำจะแตะระดับ 1000 เหรียญได้เป็นครั้งแรก ปีนี้มีคำทำนาย น่าสนใจอีกจนอดไม่ได้ที่จะแปลมาให้อ่านกัน

ผมได้เขียน 10 คำทำนายมา 2 ปีติดต่อกันแล้ว นับตั้งแต่ปี 2008 เดิมทีได้ไอเดียจากคุณ Byron Wien ซึ่งได้เผยแพร่คำทำนายออกมาทุกปีนับตั้งแต่ปี 1980 ขณะที่เขาอยู่ที่ Morgan Stanley แล้วก็ไปอยู่กับ Pequot Capital ตามด้วยปัจจุบัน อยู่ที่ Blackstone.

คำทำนายในปี 2008 ของผมค่อนข้างตรงและได้ทำนายทิศทางหลักๆเกือบทั้งหมด เนื้อหาดีกว่าของคุณ Byron บางอย่าง ผมเรียกว่า เป็นความโชคดีของมือใหม่อย่างผม แต่ในปี 2009 Byron ก็สามารถเอาคืนได้ ด้วยคำทำนายที่ถูกต้องมากกว่า การอ่านลูกแก้วแบบนี้ ไม่มีใครชนะได้ตลอด แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผมว่ามันเป็นเรื่องน่าสนุกที่จะทำ โดยเฉพาะเมื่อมันถูกต้องขึ้นมา ผมตั้งใจจะทำมันทุกๆปี ไม่ว่าปีก่อนผลจะผิดหรือถูกมากกว่า และโดยไม่รอช้า คำ 10 ทำนายของผม มีดังนี้

1. ทองคำ จะแตะระดับ 1500 เหรียญต่อออนซ์ในปี 2010 หรือหมายถึงขึ้นไปอีก 50% จากระดับปัจจุบัน ส่วนโลหะเงินก็จะตามกันไป แตะระดับ 25 เหรียญต่อออนซ์ ส่วนดัชนีหุ้นเหมืองทองคำ HUI จะขึ้นผ่าน 600 เหรียญด้วยเหมืองทองคำ/เงิน ขนาดเล็กๆหลายแห่ง จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 2 – 3 เท่า ทองคำจะถูกจัดเป็นสินทรัพย์เพียงอย่างเดียวที่วางใจได้ ทั้งจากประชาชนทั่วไปและจากธนาคารกลางต่างๆ จากการเสื่อมค่าลงของเงินกระดาษ (fiat money)

2. ดัชนี USD index จะเหลือ 60 จุด การรีบาวน์ของ US ดอลล่าร์ขณะนี้จะอยู่ได้เพียงแค่ช่วงสั้นๆ หลังจากแตะระดับ 80 จุดได้ไม่นาน เพื่อจะบีบและเขย่าขวัญขา Short US ดอลล่าร์จะกลับสู่ trend ขาลงซึ่งจะเป็น trend หลักที่จะเกิดขึ้นในปี 2010 จนกว่าจะถึงระดับ 60 จุด ธนาคารกลางส่วนใหญ่ จะไม่ต้องการถือ US ดอลล่าร์อีกต่อไป แต่พวกเขาก็จะประสบกับความยากลำบากในการที่จะออกจากสถานการณ์เช่นนี้โดยที่ตัวเองจะไม่ได้รับกระทบ หนทางที่ดีที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่าย (ธนาคารกลางอื่น กับ เฟด) คือการที่จะต้องประคองให้มีการลดค่าลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปราว 20% ต่อปี

3. ตลาดหมีใน S&P ที่รีบาวน์อยู่ในตอนนี้ จะขึ้นต่อได้อีกราว 7 เดือน จากเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม แล้วหลังจากนั้น ตลาดจะต้องเผชิญกับหน้าผาสูงชันที่จะมาเขย่าขวัญอีกเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งจะไม่เหมือนกับรูปแบบปกติที่เกิดขึ้นในปีที่มีการเลือกตั้งกลางเทอม ที่ปกติ จะแย่ในช่วงครึ่งแรกของปี และดีขึ้นในช่วงครึ่งหลัง แต่จะกลับไปสอดคล้องกับความคิดและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในวอลล์สตรีท ที่จะสูบ รีดเอาน้ำผลไม้ และโบนัสสำหรับตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนที่ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจระลอก 2 จะเกิดขึ้น

4. หุ้น Citigroup จะลดลงเหลือต่ำกว่า 2 เหรียญอีกครั้ง (ปัจจุบัน 3.30 อดีตก่อนเกิดวิกฤติอยู่ที่เกิน 50) ความยากลำบากในการหาทุนเพิ่มที่เห็นกันอยู่ในตอนนี้ บอกเรามากเกินพอสำหรับสถานการณ์ภัยพิบัติของสถาบันแห่งนี้ นี่เป็นหายนะที่น่าสยดสยองสำหรับ Citi และการตัดสินใจที่แย่ๆ ที่ทำโดยคณะผู้บริหาร จนเดี๋ยวนี้ ใครๆในโลกก็รู้ว่า จุดประสงค์เดียวที่จ่ายเงินคืนแก่ TARP เพราะต้องการจ่ายโบนัสก้อนโตให้แก่แมวอ้วนคณะผู้บริหาร Citi พอร์ทของ Citi ในจำนวนหลายล้านๆ ยังคงเสื่อมค่าลงทั้งส่วนของที่อยู่อาศัยและตลาดอสังหาฯเชิงพาณิชย์ แค่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการล่มสลายในหนี้จำนองและอนุพันธ์ในพอร์ทของมัน ก็สามารถกวาดล้างผู้ถือหุ้นรายย่อยออกไปได้อย่างเร็ว และเมื่อถึงเวลานั้น พวกเขาอาจจะขอความช่วยเหลือจาก TARP อีกครั้ง (TARP เป็นหน่วยงานของสหรัฐ ที่เข้าอุ้มสถาบันการเงินสหรัฐจำนวนมากอยู่เวลานี้)

5. ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐ จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 1.5% ในปัจจุบันเป็น 3% ซึ่งนี่จะเป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจครั้งใหญ่ ของทั้งเฟดและนักลงทุน เฟดทำได้แค่ควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ตลาดหนี้เริ่มได้กลิ่นและเริ่มรู้สึกว่าอะไรบางอย่างกำลังเกิดขึ้นอย่างผิดปกติมากๆในค่าเงิน และหนี้ของสหรัฐ – กระบวนการเทของจะเกิดขึ้นอย่างเร็ว ความกังวลเรื่องเงินฝืดจะกลับกลายเป็นความกังวลเงินเฟ้อแทน และไม่ใช่เงินเฟ้อธรรมดา แต่เป็นภาวะเงินเฟ้ออย่างมาก ( hyperinflation ) ได้เกิดขึ้นแล้ว การร่วงลงอย่างต่อเนื่องของค่าเงิน US ดอลล่าร์, ซัพพลายเงินที่คุมไม่อยู่ และการขาดสภาพคล่องของรัฐบาลที่ไร้ขอบเขต จะทำให้นักลงทุน ไม่สามารถมองเห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ได้ (มองไม่เห็นทางออก) ซึ่งจะแย่กว่าสมัยทศวรรษก่อนของญี่ปุ่น นับจากที่ความยุติธรรมของระบบของเราถูกตั้งข้อสงสัยโดยการออมเพียงน้อยนิดแต่รายจ่ายมหาศาล

6. การรีบาวน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของดัชนี S&P/Case-Schiller จะเกิดแค่ช่วงสั้นๆ ดัชนี Schiller จะร่วงลงมากกว่า 15% ในปี 2010 ต่ำกว่า 120 ตลาดอสังหาฯส่วนที่อยู่อาศัยจะเผชิญกับแรงกดดันที่น่ากลัวเพราะการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ต้องจ่ายเพราะถึงกำหนดการปรับดอกเบี้ยที่ต้องลอยตัวแล้ว โดยหนี้ที่ต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ย (ARM reset)จะทะยอยปรับในช่วงปี 2010-2012 ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจะลามไปตลาดอสังหาฯเชิงพาณิชย์ โครงการขนาดใหญ่ๆจะล้มเหลวในปีต่อไป เหมือนพลุบนท้องฟ้า ข่าวร้ายที่เกิดขึ้นใน 2 ตลาดนี้ อาจต้องใช้เวลาน้อยๆก็ 1 – 2 ทศวรรษในการฟื้นฟู ต้องขอบคุณวิศวกรรมการเงินของวอลล์สตรีท

7. หลังจากซื้อเวลาได้อีกครึ่งปี หุ้นอุตสาหกรรมส่วนบุคคล (PE) จะเผชิญแรงกดดันในปี 2010 โดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง นักลงทุนส่วนบุคคลจะเรียกร้องความโปร่งใสในการแสดงมูลค่าที่แท้จริงของสิ่งที่พวกเขาลงทุนไป แล้วพวกเขาจะเริ่มค้นพบว่า ระบบ leverage หรือการลงทุนที่ใช้อัตราทดมันไม่ work เฮดฟันด์จะทะยอยปิดตัวเพิ่มขึ้นในปี 2010 หลังเศรษฐกิจฟุบรอบ 2

8. จีนจะยังคงอัตราการเติบโตราว 9% ในปี 2010 หลังจากทำได้ 9% ในปี2009 ความพยายามของจีนในการที่จะชวนให้ผู้บริโภคใช้จ่ายมากขึ้น ออมน้อยลง จะยังคงดำเนินต่อไป รัฐบาลกลางจะเริ่มโปรแกรมความปลอดภัยทางสังคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอย่าง Health care ซึ่งจะตามมาหลังการเติบโตต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ปัญหาปวดหัวของจีน คงจะเป็นการหาทางรับมือกับทุนสำรอง 80% ที่มีมูลค่าในเทอมดอลล่าร์และกำลังเผชิญกับการเสื่อมค่าลงทุกวัน

9. เงินเฟ้อจะแตะระดับ 10% วัดจากฐาน CPI ก่อนยุคคลินตัน ใช้เกณฑ์จาก www.shadowstats.com ในการเปรียบเทียบแอปเปิ้ลกับแอปเปิ้ลในปี 1970 มันเป็นการควร ที่น่าจะใช้สูตรคำนวณ CPI เดียวกันคือยุคก่อนสมัยคลินตัน เมื่อเงินเฟ้อหลุดออกจากกรง (การควบคุม) แล้ว อย่างที่ผมเชื่อว่ามันจะเกิดในปี 2010 มันเป็นไปไม่ได้ที่จะไปควบคุมมัน โดยไม่ทำอย่าง Paul Volcker อดีตประธานเฟด (ที่ขึ้นดอกเบี้ยอย่างแรง )ในปี 1980

10. น้ำมันจะแตะระดับ 3 หลัก (100 เหรียญ) อีกครั้งในปี 2010 ราคาปัจจุบันราว 70 เหรียญ กับซัพพลายที่จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันจาก ทราย tar ยังไม่คุ้มที่จะผลิต พลังงานนิวเคลียร์จะได้รับความสนใจ เมื่อซัพพลายยูเรเนียมจากอดีตสหภาพโซเวียตใกล้หมด เทคโนโลยีสีเขียวจะมีการโอ้อวดเกินจริงและมีแผนการณ์อื่นมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง ภัยคุกคามจากโลกร้อนจะถูกขยายจนเกินจริงจากนักการเมืองและสื่อ ประชาชนยังคงจำได้ว่าในปี 1970 ทุกคนได้รับฟังจากนักการเมืองและสื่อว่า อุณหภูมิของโลกกำลังลดลงและเราจะกลับสู่ยุคน้ำแข็ง เพียงแค่ 3 ทศวรรษต่อมา เราถูกบอกในทางตรงกันข้าม เรื่องจริงคือมนุษย์ไม่สามารถควบคุมอะไรเกี่ยวกับอุณหภูมิโลกได้ ไม่ว่าจะร้อนหรือเย็น มันแค่ตัวอย่างที่นักการเมืองตบตา และทำให้เสียงบประมาณมหาศาลไปตลอดทาง

หมอไพศาล

สำหรับภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และตลาดหุ้นในปี 2553 หมอไพศาล พยากรณ์ให้ฟังว่า ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2553 “ตลาดหุ้นจะไม่ดีอย่างแรง” โอกาสปรับตัวลงมาอยู่ระดับ 400 จุดอาจมีให้เห็นได้ ช่วงนี้เหมาะสมมากที่นักลงทุนจะหาจังหวะช้อนหุ้นที่ชื่นชอบเก็บเอาไว้โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ถ่านหิน และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น เนื่องจากพระราหูย้ายเข้ามาอยู่ในราศีธนู ซึ่งบ่งบอกว่าธุรกิจประเภทดังกล่าวจะรุ่งเรืองมาก

หลังจากนั้นตั้งแต่ในเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2553 ตลาดหุ้นจะมีอาการ “ทรงตัว” ก่อนจะทะยานขึ้นไปสู่ “จุดสูงสุด” ในระหว่างเดือนกันยายน – ธันวาคม 2553 ซึ่งมีโอกาสจะทะลุ 700 จุดหรือ 800 จุดได้ ในแง่ของเศรษฐกิจในปี 2553 ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนราคาทองคำมีโอกาสทะลุ 20, 000 บาท ใครมีเงินซื้อทองคำ (แท่ง) เก็บเอาไว้ได้กำไรแน่นอน

=========================================

ไว้จบปี 2010 เรามาดูกันนะครับ

ผลลัพธ์

0249: Analyst Watchdog

ปลายปี สมาคมนักวิเคราะห์จะออกบทวิเคราะห์หุ้นสำหรับปีถัดไป

http://www.saa-thai.org/download/Summary_%20Analysts_Survey_5_52_as_24_Dec_09.doc

หุ้นเด่นที่ทุกสำนักฟันธงตรงกันมากที่สุดประจำปีนี้ได้แก่ (แนะนำหุ้นอยู่ตอนท้ายสุดของบทความข้างบน)

ADVANC, BAY, KBANK, PTTEP, QH, SCB, TASCO

ฉะนั้นเราจะมาทำการทดสอบกันว่า กลยุทธ์ซื้อตามนักวิเคราะห์จะใช้ได้ผลหรือไม่ เราจะมา track ผลตอบแทนของหุ้นเหล่านี้ดู

ข่าวนี้ออกเมื่อวันที่ 24 ธค 2552 เราจะมาดูกันว่าอีก 3m, 6m, 9m, 1yr performance ของหุ้นเหล่านี้จะเป็นเช่นไร (ดูมันทุกช่วงเลย เพราะไม่แน่ใจว่านักวิเคราะห์แต่ละคนให้กรอบเวลาไว้แค่ไหน แต่จะดูช่วงแค่ไม่เกินหนึ่งปีเท่านั้น เพราะเข้าใจว่าทุกวันนี้ไม่มีนักวิเคราะห์คนไหนที่แนะนำหุ้นเป้าหมายยาวกว่าหนึ่งปีแล้ว)

เราจะมาทำแบบนี้กันทุกปีนะครับ (เผื่อว่าถ้ากลยุทธ์นี้ได้ผล จะได้เลิกหาหุ้นเอง รอลอกนักวิเคราะห์ตอนปลายปีแทน ไงล่ะครับ เหอๆ)

(ราคาปิด ณ 24/12/2552 ADVANC 84.5,  BAY 22.1,  KBANK 84.75,  PTTEP 143.5,  QH 2.66,  SCB 86,  TASCO 36.25)

Update: ดูผลการทดลองได้ที่ https://dekisugi.net/archives/10216

0227: Mutual Funds Watchdog

คาใจมากกับข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ที่ระบุว่า ผลตอบแทนห้าปีของกองทุนหุ้น “ทุก” กองทุนในประเทศไทยชนะดัชนีตลาดหลักทรัพย์

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง บลจ.บ้านเราก็ถือได้ว่าเก่งที่สุดในโลก เพราะไม่มีประเทศไหนทำได้ถึงขนาดนี้ ส่วนใหญ่แล้วกองทุนหุ้นส่วนมากชนะดัชนีไม่ได้ในระยะยาวด้วยซ้ำ

สงสัยว่า วิธีการสร้าง Benchmark ของบ้านเรา น่าจะมีอะไรแปลกๆ แน่เลย

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงได้ไปเปิด portal สำหรับซื้อกองทุนทุกบลจ.ในหน้าจอเดียวมา

สิ้นปีนี้ จะลองซื้อกองทุนหุ้นของทุกบลจ.กองทุนละหมื่นบาทดู มา track เองให้เห็นของจริงไปเลย โดยจะขอ track ผลตอบแทนไปเรื่อยๆ 1yr/2yr/3yr…..

สิ่งที่จะวัดคือผลตอบแทนเทียบกับ TMBSET50 ซึ่งเป็น index fund เป็นสำคัญ เอาให้เห็นกันจะจะไปเลยว่า บลจ.ไหนบ้างที่ destroy weath ของผู้ถือหน่วยในระยะยาว เพราะถ้าคุณสร้างผลตอบแทนหลังหักค่าธรรมเนียมแล้ว เอาชนะ TMBSET50 ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ไม่ได้ ก็ควรพิจารณาตัวเองว่า ทำไมลูกค้าต้องจ่ายค่า fee ให้คุณด้วย

กองทุนบ้านเราแทบทุกกอง major holdings จะเหมือน SET50 อย่างมาก ดังนั้นที่จริงแล้วกองทุนส่วนใหญ่ไม่ได้เอาชนะตลาดด้วยการเลือกหุ้นให้ดีกว่าดัชนี แต่ผลงานที่แตกต่างจากดัชนีจึงเกิดมาจากการเพิ่ม/ลดพอร์ตในระหว่างปี หรือก็คือการ timing market นั่นเอง

กองทุนที่ผมคัดเลือกมามอนิเตอร์เป็นกองทุนหุ้น (แบบยืดหยุ่นหรีอพวกประหยัดภาษีไม่เอา) ซึ่งเป็นที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมของบลจ.นั้นๆ และถ้าไม่ปันผลได้ด้วยก็จะดีมาก (เพราะคิดผลตอบแทนง่ายดี ขี้เกียจว่างั้นเถอะ) ดังนี้

KASSET KFEQ, BBLAM BKA, SCBTS3, TMBSET50, ONEAM ONEG, ABERDEEN ABG, MFC TNP, ING INGTEF, TBANK N-SET, TISCOEGF, UOBSAS100, AYFSEQ 

เนื่องจากผมไม่ค่อยคุ้นเคยกับกองทุนเท่าไร ใครคุ้นเคยกับบลจ.ไหนช่วยแนะนำหน่อยว่า กองหุ้นไหนสมควรเป็นตัวแทนที่ดีของบลจ.นั้น ผมจะได้เปลี่ยนตัวให้เหมาะสมกว่า ก่อนวันดีเดย์ วันที่ 4 มค 53