0030: โชว์ห่วย ตอนที่ 1

หุ้นตัวแรกในชีวิตที่ผมซื้อคือหุ้นแมคโดนัลด์ครับ (MCD) ทำไมผมถึงซื้อเหรอครับ อารมณ์เดียวกับคุณวิชาครับ อยากเป็นเจ้าของแมคโดนัลด์

โชคเข้าข้างผมครับ ซื้อไปได้แค่สองสามวันราคาพุ่งขึ้นไปประมาณ 5% กว่า กำไรประมาณ 300 กว่าเหรียญครับ เป็นไงรู้มั้ยครับ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่องเลยครับ กลัวว่าตอนนั่งเรียนอยู่ราคามันจะลงแล้วกำไร 300 กว่าเหรียญนั้นมันจะหายไปหมด แล้วเป็นไงต่อรู้มั้ยครับ มันหายจริงๆ ครับ กลับมาที่พัก ราคามันร่วงครับ จากกำไรกลายเป็นขาดทุนประมาณ 100 กว่าเหรียญ หน้าซีดเลยครับ เป็นการขาดทุนหุ้นครั้งแรกในชีวิตครับ พอวันต่อมาราคามันขึ้นไปใหม่ พอเท่าทุนก็เลยรีบขายทิ้งทันทีเลยครับ

ล่าสุดกลับไปดูราคาหุ้นแมคโดนัลด์ใหม่ ราคา ณ วันนี้สูงจากตอนที่ซื้อประมาณ 2 เท่ากว่าๆ ครับ ผมโง่มั้ยครับที่ขายทิ้ง เหอๆ แต่ก็ยังดีนะครับที่การซื้อหุ้นครั้งแรกในชีวิตไม่ได้ขาดทุน (แต่ก็ไม่ได้กำไร)

ผมว่ายิ่งเล่นหุ้นนานขึ้น ภาวะทนต่อการขาดทุนของนักลงทุนจะค่อยๆ สูงขึ้นได้เองนะครับ เดี๋ยวนี้ถ้าผมติดตัวแดงเป็นร้อยเหรียญจะรู้สึกเฉยมากครับ ชาชินไปแล้ว นี่คือการวกเข้าเรื่องโชว์ห่วยหุ้นตัวที่สองคือ หุ้นปาล์ม (PALM) ที่ทำ handheld computer ไงครับ

ทำไมถึงซื้อเหรอครับ ก็เห็นตอน high สุดเมื่อหลายปีก่อนตอนแนสแดกบูมมันราคาร้อยกว่าเหรียญ แต่ตอนที่ซื้อมันเหลือแค่สองเหรียญ ก็เลยคิดว่ามันน่าจะ bottom แล้วก็เลยซื้อครับ คิดได้แค่นี้จริงๆ ครับ ตอนนั้น

ปรากฏว่ามันไหลลงต่ออย่างเดียวเลยครับ สุดท้ายผมต้องตัดใจขายออกไปที่ 80 เซนต์ครับ ขาดทุนเป็นพันเหรียญเลยครับ แต่ตอนนั้นทนขาดทุนได้มากขึ้นกว่าตอนแรกๆ มากแล้วครับเลยไม่ถึงกับตายครับ อีกอย่าง มันค่อยๆ ไหลลงทุกวัน ไม่ได้ไหลลงพรวดเดียว ก็เลยมีเวลาทำใจนานครับ ไม่ค่อยรู้สึกอะไรแล้วตอนที่ขายออกไปครับ

ในช่วงที่ผ่านมา PALM รวมกิจการกับ Handspring และ Palmsource ครับ เปลี่ยนไปเยอะเลยครับ เห็นราคาตอนนี้ 14 เหรียญกว่าครับ โง่มั้ยครับผม (ที่จริงระหว่างทางมีการสวอปหุ้นด้วยผมเลยไม่แน่ใจว่าจริงๆ หุ้นมันขึ้นมากี่เหรียญกันแน่ แต่ไม่ใช่ก็ใกล้เคียงน่ะครับ ตอนนั้นผมอยู่ก้นเหวของตลาดหุ้นสหรัฐฯ จริงๆ แต่ดันโง่ไม่รู้ตัว)

เรื่องโง่ๆ ของผมยังมีอีกเยอะครับ เล่าไม่หมดครับ เอาไว้วันหลังจะมาเล่าต่อ

0029: ค่า g ที่เหมาะสม

ค่า g หรืออัตราการเติบโตเป็นสมมติฐานที่สำคัญในการวัดมูลค่าหุ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นเติบโต ค่า g ที่แตกต่างกันเพียงนิดเดียวอาจส่งผลต่อมูลค่าของหุ้นเติบโตที่วัดได้เป็นอย่างมาก ดังนั้นนักลงทุนควรใช้ความพยายามในการประมาณค่า g มากเป็นพิเศษเพื่อให้ได้ค่าที่มีความสมเหตุสมผลมากที่สุด

ค่า g ในช่วงปีแรกๆ ที่บริษัทยังมีการเติบโตสูงๆ อยู่ ต้องประมาณจากแผนการลงทุนของบริษัทเป็นสำคัญซึ่งแต่ละบริษัทย่อมแตกต่างกันไป เราควรพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับแผนการลงทุนของบริษัทให้ได้มากที่สุดเพื่อที่จะสามารถประเมินค่า g ในช่วงนี้ให้ได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นมากที่สุด อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งเรามักต้องใส่การประเมินจากความเห็นส่วนตัวลงไปด้วย (as known as “นั่งเทียน”) เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้ของบริษัทมักไม่ละเอียดพอ เช่น บางครั้งบริษัทอาจมีแผนงานที่ชัดเจนแค่ 3 ปีข้างหน้าเท่านั้น แต่เราทราบมาแล้วว่าธุรกิจอย่างเดียวกันกับของบริษัทในประเทศอื่นยังเติบโตในอัตราสูงได้อีกอย่างน้อย 10 ปี เช่นนี้เราก็จำเป็นต้องประมาณค่า g ในปีที่ 4-10 เอาเอง เพื่อให้ท่านนักลงทุนพอมีไอเดียว่าธุรกิจส่วนใหญ่มีความสามารถในการเติบโตในระดับใด ผมขอนำเสนอ EPS growth ต่อปี เฉลี่ย 10 ปี ของ Large Cap Stocks ในสหรัฐฯ จำนวนหนึ่งในยุคทศวรรษที่ 90 มาให้ดูพอเป็นไอเดีย

AT&T -5.77%
Amoco 9.92%
Atlantic Richfield 5.71%
BellSouth 10.29%
Bristol-Myers Squibb 9.58%
Chevron 10.10%
Coca-cola 5.61%
duPont 2.66%
GTE 8.16%
GE 12.31%
GM 0.72%
IBM 5.72%
Johnson&Johnson 14.93%
Eli&Lily 11.21%
Merck 14.56%
Mobil 5.44%
Pepsi 8.23%
Philip Morris 11.43%
P&G 8.26%
Walmart 17.76%

ผมเห็นบางท่านตั้งสมมติฐานว่าบางบริษัทจะเติบโตได้ 20% ต่อปีในช่วง 10 ปีข้างหน้า ผมอยากจะบอกว่านั่นเป็นสมมติฐานที่ทะเยอทะยานมากทีเดียว ถ้าจะให้บริษัทเติบโต 20% ต่อปีติดต่อกันสัก 2-3 ปีนั้นถือว่าไม่ผิดปกติ แต่ถ้าจะให้บริษัทเติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปีติดต่อกัน 10 ปีนั้น ถือว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะเป็นไปได้ จากตัวอย่างที่นำมาแสดงให้ดูมีแต่บริษัทยาและโมเดิรน์เทรดเท่านั้นที่โตเฉลี่ยเกิน 10% ได้ในช่วงเวลาสิบปี เพราะในช่วงยุคที่ 90 เป็นยุคที่นวัตกรรมด้าน biotech และโมเดิร์นเทรดกำลังมีการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด บริษัทเหล่านี้จึงสามารถ enjoy การเติบโตที่สูงกว่า 10% ติดต่อกันนานๆ ได้ มิฉะนั้นแล้ว ธุรกิจทั่วไปที่จะเติบโตได้เกิน 10% ติดต่อกันนานเป็นสิบปีนั้นนับว่าค่อนข้างยากทีเดียวครับ

ส่วนค่า g ในช่วงปีหลังๆ ที่บริษัทเข้าสู่จุดอิ่มตัวแล้วนั้นควรจะต่ำกว่าอัตราการเติบโตของ GDP ของเศรษฐกิจในระยะยาว (2.5-3.5%) เพราะค่า g นี้จะเป็นค่า g เฉลี่ยตลอดกาลจนสิ้นอายุขัยของบริษัท ดังนั้นถ้าค่านี้สูงกว่าอัตราการเติบโตของ GDP ในระยะยาว บริษัทจะโตจนกลืนโลกทั้งใบได้ในที่สุด ส่วนใหญ่แล้วเรานิยมให้ g ในช่วงนี้มีค่าเพียงเท่ากับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในระยะยาวเท่านั้น (2-2.5%)

ข้อคิดอีกอย่างหนึ่งที่อยากจะฝากเอาไว้ก็คือ ถ้าคุณเป็นนักลงทุนระยะยาวตัวจริง คุณควรใส่ใจกับการมองแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลกมากกว่าที่จะสนใจแค่ EPS ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ตัวอย่างเช่น ในทศวรรษที่ผ่านมาโมเดิร์นเทรดเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของคนมากที่สุด หรือในยุคต่อไปกระแสโลกาภิวัฒน์จะส่งผลดีต่อหุ้นอะไรบ้าง เป็นต้น หุ้นของบริษัทที่จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้มักจะเป็นหุ้นที่เหมาะสมที่สุดที่จะถือไว้เฉยๆ ได้ในระยะยาว อย่าพยายามมองหาหุ้นที่มีความมั่นคงสูงๆ เพื่อที่จะถือไว้ในระยะยาว เพราะที่จริงความผันผวนระหว่างทางกลับไม่ใช่ความเสี่ยงที่สำคัญเลยสำหรับการลงทุนระยะยาว หุ้นที่กำไรจะเติบโตได้ไกลที่สุดในระยะยาวต่างหากที่จะเหมาะกับการ buy-and-hold ในระยะยาว ส่วนใหญ่แล้วราคาของหุ้นเหล่านี้ก็มักผันผวนเสียด้วย

0022: Growth Potential

สิ่งที่คนที่เล่นหุ้นเติบโตอยากรู้มากที่สุดไม่ใช่กำไรของบริษัทในอีก 3-5 ปีข้างหน้า แต่เป็นคำถามที่ว่า เมื่อบริษัทขยายกิจการอย่างเต็มที่จนธุรกิจเข้าสู่จุดอิ่มตัวแล้ว บริษัทจะมีขนาดใหญ่แค่ไหน เพราะถ้าหากบริษัทยังอยู่ห่างไกลจากจุดอิ่มตัวเป็นอย่างมาก การซื้อหุ้นเติบโต ณ วันนี้ ที่พีอี 30 เท่าก็อาจจะยังถูกเกินไป

เมื่อครั้งที่ แม็คโคร เปิดสาขาแรกผมก็ไปเดินมาเหมือนกัน ความรู้สึกในตอนนั้นรู้สึกว่า ร้านนี้มันช่างใหญ่เกินตัวเสียจริงๆ คนเดินก็พอจะมีอยู่แต่ก็น้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดของร้าน ตอนนั้นผมคิดว่ากำลังซื้อของคนในประเทศไทยคงรองรับร้านที่มีขนาดใหญ่เกินตัวแบบนี้ได้อีกอย่างมากก็ไม่เกิน 2-3 แห่ง…

ทุกวันนี้ แม็คโคร มีมากกว่า 29 สาขาทั่วประเทศ ยังไม่นับโลตัส คาร์ฟูร บิ๊กซี ซึ่งทุกรายมีสาขามากกว่าแม็คโครเสียอีก เห็นมั้ยครับว่า การประเมิน Growth Potential ของหุ้นเติบโตนั้นมันยากขนาดไหน เพราะเราไม่สามารถหลุดออกจากภาพที่เรามองเห็นแค่ในปัจจุบันได้

สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวจำกัด Growth Potential ของธุรกิจก็คือ economics ของสินค้านั้นเอง เช่น ราคาต่อชิ้น ขนาด น้ำหนักต่อชิ้น ราคาต่อค่าขนส่ง ปริมาณการบริโภค การบ่อยในการบริโภค ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการเติบโตที่เป็นไปได้ของธุรกิจทั้งสิ้น ว่ากันว่าสาเหตุหนึ่งที่ Dell เติบโตจากการขายพีซีผ่านเน็ตได้มากกว่า Amazon มากเป็นเพราะพีซีมีค่าส่งคิดเป็นเปอร์เซนต์ต่อราคาของทั้งชิ้นต่ำกว่าหนังสือมาก การขายคอมพิวเตอร์ทางเน็ตจึงสิ่งที่มีเหตุผลมากกว่าหนังสือ

วิธีหนึ่งที่อาจช่วยให้เราประเมิน Growth Potential ได้ก็คือ การแอบไปดูธุรกิจเหล่านั้นที่เติบโตเต็มที่แล้วในประเทศที่มีธุรกิจเหล่านั้นมาก่อน ข้างล่างนี้คือมูลค่าตลาดในปัจจุบันของบริษัทที่ขายสินค้าบางประเภทในสหรัฐฯ

ชื่อบริษัท……….. ประเภทของสินค้า……………Mkt Cap.
Target…………โมเดิร์นเทรด…………………49 billions
Home Depot…..ของแต่งบ้าน…………………77 billions
Circuit City……. ไอที………………………. 4 billions
Barnes and Noble.. หนังสือ………………… 2.6 billions

บริษัทเหล่านี้มีอายุกว่า 20 ปีแล้วทั้งสิ้น พวกมันจึงได้ใช้เวลาไปมากแล้วพอสมควรในการ “เบ่ง” ตัวเองให้เติบโตอย่างเต็มที่ จะเห็นได้ว่าถ้าคุณอยู่ในธุรกิจหนังสือ ต่อให้คุณเก่งขนาดไหน คุณก็ไม่สามารถเบ่งตัวเองได้เท่ากับธุรกิจโชว์ห่วย เพราะเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ของสินค้าที่คุณเลือกทำเป็นสิ่งที่คอยจำกัดศักยภาพของการเติบโตเอาไว้

ทีนี้มาลองเปรียบเทียบกับของพี่ไทยกันดูบ้าง
ชื่อบริษัท…… ประเภทของสินค้า……….. Mkt Cap.
Big C………. โมเดิร์นเทรด…………. 37 พันล้าน
Homepro…… ของแต่งบ้าน………… 10 พันล้าน
IT………….. ไอที………………… 3 พันล้าน
SE-ED………. หนังสือ ……………..2.5 พันล้าน

ผมพบว่า relative size ของทั้งสองประเทศมีล้กษณะที่ล้อเลียนกันอย่างน่าประหลาด (ยกเว้นร้านขายของแต่งบ้านเท่านั้น) นี่อาจแสดงให้เห็นว่า ราคาในปัจจุบันของหุ้นเหล่านี้วิ่งไปรอที่มูลค่าของบริษัทเมื่อบริษัทเหล่านี้เติบโตเต็มที่แล้ว (ยกเว้นว่าทั้งยวงจะยังเติบโตขึ้นไปได้อีก) จะมีก็แต่ Homepro เท่านั้นที่ยังดูเล็กอยู่มากเมื่อเทียบกับ Home Depot นอกจากนี้ ยังดูเหมือนว่า BigC อาจจะยังโตได้อีกบ้าง แม้ว่าตอนนี้เราจะรู้สึกว่ามันน่าจะอิ่มตัวแล้วก็ตาม

ตราบใดที่สัดส่วนนี้ยังดูไล่เลี่ยกันอยู่ เราอาจรู้สึกอุ่นใจขึ้นบ้างว่าตลาดไม่ได้กำลัง overoptimistic กับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป แต่อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงแค่ Reality Check อย่างหนึ่งเท่านั้น ห้ามมิให้นำสัดส่วนนี้ไปเทียบบัญญัติไตรยางค์เพื่อหาว่าหุ้นตัวไหนยังถูกอยู่บ้างเมื่อเทียบกับจุดอิ่มตัวของมันโดยเด็ดขาด เพราะยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายอย่างที่ทำให้สิ่งที่จะเกิดขึ้นในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันได้มาก ตัวอย่างเช่น คนอเมริกานั้นได้ชื่อว่ามี passion เรื่อง Home Improvement มากกว่าคนชาติอื่นๆ เป็นพิเศษ นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ร้านขายของแต่งบ้านในอเมริกาโตได้มากกว่าปกติก็เป็นได้ (แต่ถึงกระนั้น คนที่ถือ Homepro อยู่ตอนนี้ก็คงรู้สึกใจชื้นเพราะสัดส่วนที่ยังห่างกันนั้นเป็นการห่างกันแบบหลายช่วงตัว)

หมายเหตุ : นี่ไม่ใช่การเชียร์ให้ซื้อโฮมโปร ใครแอบไปซื้อแล้วขาดทุนไม่ต้องมาบ่นกับผมเลยนะจะโดนตีซ้ำ ขอบอก

0018: Growth vs. Value (การทดลอง)

ในตลาดหุ้น ยังมีนักลงทุนสองกลุ่มที่มีแนวการลงทุนที่ไปคนละทาง ได้แก่

1. นักลงทุนแนวเติบโต ที่ชอบหุ้นที่มี Growth Story ที่สวยหรู ถือคติ ของดีจริงไม่ต้องเกี่ยงราคา
2. นักลงทุนแนวคุณค่า ที่ชอบ stable business ที่มี P/E ต่ำๆ ถือคติ พีอีต่ำแปลว่าถูก

ทั้งสองวิธีนี้เป็นวิธีที่แปลกสำหรับผม เพราะดูเหมือนวิธีหนึ่งจะดูแค่คุณค่า (การเติบโต) โดยไม่ดูราคา ส่วนอีกวิธีหนึ่งก็ดูแต่ราคา (พีอี) โดยไม่ดูคุณค่า แต่เอาเถอะ ในเมื่อทั้งสองวิธีนี้เป็นที่นิยมกันในตลาด ผมอยากจะลองทำการทดลองสนุกๆ ว่าวิธีไหนจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากัน ด้วยการทดลองจัดพอร์ตสองพอร์ตๆ ละ 3 ตัว (ซื้อตัวละ 33 % โดยมูลค่าพอร์ต) ตามแนวทางทั้งสองแนวที่ว่านี้ แล้วดูว่าพอร์ตไหนจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากันในที่สุด

พอร์ตด้านซ้ายมือเป็นพอร์ตเติบโต ขอเลือกหุ้นที่มี story หรูสุดตอนนี้ 3 ตัวโดยไม่เกี่ยงราคา ส่วนพอร์ตทางขวาเป็นพอร์ตคุณค่าขอเลือกหุ้น stable business ที่มีพีอีต่ำ 3 ตัว

portfolio.gif

ในวันที่ 18 พย.50, 51 และ 52 เราจะกลับมาดูอีกครั้งว่า ผลตอบแทนเฉลี่ย 1 ปี, เฉลี่ย 2 ปีและเฉลี่ย 3 ปีของทั้งสองพอร์ตนี้จะแตกต่างกันอย่างไร (Capital Gain + Dividend (not reinvested)) วิธีไหนจะแน่กว่ากัน 

ถ้าผมลืมเตือนผมด้วยนะ ทดลองดูสนุกๆ ครับ

0017: Asset Play

มีวิธีการลงทุนแบบหนึ่ง เรียกว่า Asset Play วิธีนี้คือการหาว่าบริษัทเป็นเจ้าของสินทรัพย์อะไรที่มีมูลค่าซ้อนเร้นอยู่หรือไม่ ถ้าราคาหุ้นในกระดานของบริษัทยังไม่ได้สะท้อนค่าของสินทรัพย์นั้น การเข้าไปซื้อหุ้นนั้นไว้ก็ถือว่าเป็นการซื้อของลดราคา

ตัวอย่างยอดนิยมของสินทรัพย์ที่มีมูลค่าแฝงก็คือ ที่ดิน เพราะที่ดินจะถูกลงบัญชีที่ราคาต้นทุนที่ซื้อมา และจะคงที่อยู่อย่างนั้นตลอดไปไม่ว่าจะอีกสักกี่สิบปี ถ้าคุณออกแรงสักนิดด้วยการตรวจดูที่ดินของบริษัทต่างๆ ในตลาดว่ามีอยู่กี่ไร่ นำมาคูณด้วยราคาประเมินของกรมที่ดินในปัจจุบัน คุณอาจพบที่ดินของบางบริษัทที่มีราคาประเมินสูงกว่ามูลค่าตลาดของทั้งบริษัทหักด้วยหนี้สิน หุ้นนั้นเสียอีก หุ้นเหล่านี้คือ Asset Play

ปัญหาสำคัญของการเล่นหุ้นด้วยวิธีนี้ก็คือ เราไม่รู้ว่าเมื่อไรราคาหุ้นในกระดานจะสะท้อนมูลค่าแฝงของสินทรัพย์นั้นเสียที ในบางกรณีผู้บริหารของบริษัทยังดำเนินงานแบบธุรกิจครอบครัวอยู่จึงไม่นำพาต่อหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของการเป็นผู้บริหารของบริษัทมหาชน ได้แก่ การ maximize shareholder’s value แม้พวกเขาจะรู้ดีว่าการขายที่ดินนั้นเสียแล้วย้ายโรงงานไปอยู่ในที่ที่ที่ดินราคาต่ำลงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าของบริษัท แต่ก็ไม่ทำเพราะเป็นความรู้สึกผูกพันกับสมบัติประจำตระกูล อย่างนี้แล้วนักลงทุนรายย่อยที่ไปเข้าไปซื้อหุ้นเอาไว้ก็บอกได้คำเดียวต้องรอจนเหงื่อแห้งครับ

การลงทุนในตลาดหุ้นมีต้นทุนของเงินทุนอยู่ราวปีละ 10% เสมอ ถ้าคุณถือหุ้น Asset Play ไว้เฉยๆ หนึ่งปีแล้วราคาไม่ไปไหน ก็ต้องถือว่าขาดทุนไปแล้ว 10% ไม่ใช่เสมอตัว ยิ่งถ้าต้องรออีก 10 ปี ผู้บริหารคนเก่าจึงจะแก่ตาย ผู้บริหารคนใหม่จึงจะสั่งขายที่ดิน ก็ต้องถือว่า คุณขาดทุนหุ้นตัวนั้นหมดทั้ง 100% แล้ว ดังนั้นถ้าดูแล้วไม่มีความชัดเจนว่าเมื่อไรราคาหุ้นในกระดานจะมีโอกาสสะท้อนมูลค่าที่แฝงอยู่ได้ การเล่นหุ้นด้วยวิธีนี้ก็นับว่าค่อนข้าง “ลมๆ แล้งๆ” ครับ

Asset Play จะได้ผลเฉพาะกับนักลงทุนรายใหญ่ที่สามารถซื้อหุ้นของบริษัทได้ในสัดส่วนที่มากพอที่จะเข้ามาควบคุมบริษัทได้เท่านั้น ถ้าคุณซื้อหุ้นจนเกิน 51% ไล่กรรมการชุดเก่าออกให้หมด ขายที่ดิน นำเงินสดที่ได้ไปใช้หนี้บริษัท เลิกบริษัท แล้วนำเงินที่เหลือเก็บเข้ากระเป๋า แบบนี้คุ้มค่าแน่นอนครับ

คุณอาจเคยได้ยินคำกล่าวที่สวยหรูว่า “ผู้ถือหุ้น คุณคือเจ้าของ” แต่ในความเป็นจริง ถ้าคุณและพวกอีกอย่างน้อย 24 คนมีปัญญาซื้อหุ้นรวมกันได้แค่ไม่เกิน 10% ก็ต้องขอบอกว่า คุณและพวกปราศจากอำนาจในการควบคุมบริษัทมหาชนโดยสิ้นเชิง แค่ขอเรียกประชุมผู้ถือหุ้นยังไม่ได้เลย ดังนั้น การเล่นหุ้นแบบ Asset Play ให้ประสบความสำเร็จดูจะมีข้อจำกัดมากสำหรับคนที่เป็นนักลงทุนรายย่อย ความเห็นส่วนตัวของผมคือ เวลาที่คุณซื้อหุ้น คุณควรซื้อความสามารถในการทำกำไรมากกว่าที่จะซื้อเพราะสินทรัพย์ (ถ้าคุณอยากได้โต๊ะและเก้าอี้สำนักงานเหล่านั้น ไปซื้อที่ชั้น 5 มาบุญครองก็ได้ครับ ไม่ต้องไปซื้อหุ้นหรอก)  เพราะสิทธิในการได้รับส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนที่หุ้นที่ตนเองถืออยู่เป็นสิทธิที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยมีเท่ากับผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่างแน่นอนโดยเสมอภาคกัน

0008: วิธีป้องกันการเจ๊งหุ้น

อยากมีวิธี save ตัวเองจากการเจ๊งหุ้นมั้ยครับ ผมมีวิธีง่ายๆ ที่จะแนะนำ วิธีนี้มีกฏอยู่แค่ 2 ข้อ คือ
1. ห้ามซื้อหุ้นที่ราคาหุ้นเกินพื้นฐานระยะยาวอย่างเด็ดขาด
2. พยายามมีหุ้นให้เต็มพอร์ตตลอดเวลา โดยไม่ให้ขัดกับกฎข้อแรก

ตอนที่ NASDAQ วิ่งขึ้นติดต่อกันนาน 8 ปี ใครบ้างจะอดใจไหวที่จะไม่ซื้ออะไรเลย 8 ปี แรกๆ ก็จะบ่นว่าพีอี 50 เท่าแพง แต่พอสามสี่ปีต่อมาหุ้นก็ยังวิ่งขึ้นไปอีก คราวนี้ก็จะเริ่มบอกว่าพีอี 70 เท่าไม่แพง ในที่สุดเมื่อ market correction (ฟองสบู่แตก) คุณก็จะเจ๊งหุ้น เพราะคุณได้ซื้อหุ้นมาในต้นทุนที่สูงกว่าพื้นฐานระยะยาว

คุณอาจจะเถียงว่า “ไม่เป็นไร ราคาพื้นฐานไม่สำคัญ ผมอาศัยการเข้าเร็วออกเร็ว” แต่ในความเป็นจริง ถ้าคุณเข้าเร็วออกเร็ว คุณก็จะได้กำไรน้อยมาก สุดท้ายแล้วถ้าราคาหุ้นยังวิ่งต่อ คุณก็จะทนไม่ไหวกลับเข้าไปซื้อใหม่อีก 

การเทรดบ่อยๆ เป็นความเสี่ยงที่มองไม่เห็น เพราะหุ้นในพอร์ตของคนที่เทรดบ่อยๆ หุ้นจะมีต้นทุนที่ใกล้เคียงกับราคาตลาดอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อเกิด market crash ขึ้น พอร์ตจะถูกกระทบอย่างเต็มที่ ในขณะที่คนที่ไม่ได้ซื้อบ่อยๆ จะมีเฉพาะหุ้นบางตัวที่เพิ่งซื้อมาใหม่ๆ เท่านั้นที่มีต้นทุนใกล้กับราคาตลาด พอร์ตจึงกระทบน้อยกว่า เพราะตัวทีซื้อมานานแล้วจะยังกำไรอยู่ 

แต่ช่วง 8 ปีที่ NASDAQ วิ่งนั้น นักลงทุนอย่าง วอเรนบัฟเฟต รอดตายเพราะแกไม่ได้ซื้ออะไรใหม่อย่างมีนัยสำคัญเลยตลอด 8 ปี ความยึดมั่นในกฎข้อที่ 1 ทำให้แกรอดตาย

แต่การทำอย่างนั้นก็คงทำให้เสียโอกาสใช่ไหมครับ เพราะถ้าตลาดเป็นฟองสบู่นาน 8 ปี การไม่ซื้ออะไรเลยเป็นเวลา 8 ปี พอร์ตจะมีผลตอบแทนเป็น 0

ด้วยเหตุนี้คุณจึงต้องทำกฏข้อที่ 2 ด้วย คือ มีหุ้นให้เต็มพอร์ตตลอดเวลา เพราะถ้าตลาดเป็นฟองสบู่ แล้วคุณไม่ซื้ออะไรเลย พอร์ตของคุณก็ยังสร้างผลงานให้คุณได้เพราะคุณมีหุ้นเต็มพอร์ตอยู่ พวกมันจะวิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ตามตลาดโดยที่คุณไม่ต้องทำอะไรเลย การขายออกแล้วซื้อตัวใหม่อันตรายกว่าเพราะทำให้คุณต้องรับต้นทุนใหม่ ส่วนการ take profit โดยไม่กลับเข้าไปซื้อใหม่ก็ไม่ดีเหมือนกันเพราะคุณต้องมาถือเงินสดเอาไว้แทนทำให้ได้ผลตอบแทนน้อย การถือหุ้นเต็มพอร์ตไว้เฉยๆ จึงดีที่สุด 

จำไว้ว่าในระยะยาวหุ้นจะขึ้นได้แค่เท่ากับอัตราการเติบโตของกำไรของมันเท่านั้น (โดยเฉลี่ย) ถ้าหุ้นขึ้นไปมากๆ ในระยะสั้นเพราะภาวะตลาด สุดท้ายแล้วพวกมันจะต้องกลับลงมาใหม่ เพื่อให้ในระยะยาวมันขึ้นได้เท่ากับอัตราการเติบโตของกำไรของมันเอง ดังนั้นการถือหุ้นตัวเดิมไว้นานๆ โดยไม่เปลี่ยนตัวไปมาไม่ได้ทำให้รวยช้าหรอกครับ   

0007: Dollar Cost Averaging

Dollar Cost Averaging หมายถึงการทยอยซื้อหุ้นครั้งละเท่าๆ กันเมื่อคิดเป็นจำนวนเงิน เช่น ถ้าตั้งใจจะซื้อหุ้นสัก 12000 บาท แทนที่จะซื้อครั้งเดียว 12000 บาทเลย ก็อาจจะแบ่งซื้อ 1000 บาทต่อเดือนเป็นเวลาหนึ่งปี เนื่องจากเราซื้อด้วยจำนวนเงินเท่าเดิม ถ้าในระยะเวลาหนึ่งปีนั้นหุ้นตัวนั้นเป็นขาลง เราก็จะได้จำนวนหุ้นมากขึ้นเรื่อยๆ สรุปแล้วเราก็จะได้จำนวนหุ้นมากกว่าการซื้อครั้งเดียว ผู้เชี่ยวชาญมักแนะนำให้มือใหม่ลงทุนด้วยวิธีนี้เพื่อลดโอกาสที่จะขาดทุนครั้งละมากๆ หากหุ้นที่ซื้อมีราคาปรับตัวลงอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี อย่าลืมว่าเมื่อหุ้นเป็นขาลงหนึ่งปีได้ หุ้นก็มีสิทธิ์เป็นขาขึ้นหนึ่งปีได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นวิธีนี้แม้จะทำให้โอกาสในการขาดทุนหนักๆ น้อยลง แต่ก็ทำให้โอกาสที่จะกำไรมากๆ ลดลงด้วย เพราะถ้าเราซื้อครั้งเดียวด้วยเงินทั้งหมด แล้วหุ้นเป็นขาขึ้น เราจะได้กำไรมากกว่าการทยอยซื้อ ด้วยเหตุนี้เมื่อพิจารณาทั้งโอกาสและความเสี่ยงแล้ว วิธี Dollar Cost Averaging จึงไม่ได้ให้ risk-adjusted return ที่แตกต่างไปจากการซื้อทั้งหมดในครั้งเดียว (investors are not better off)

ยิ่งในกรณีที่คุณเชื่อว่าหุ้นที่คุณจะซื้อมีโอกาสขึ้นมากกว่าลง เช่น (ขึ้น 70 ลง 30) คุณยิ่งไม่ควรใช้ Dollar Cost Averaging เข้าไปใหญ่เพราะกรณีเช่นนี้กลับทำให้ risk-adjusted return ต่ำลง (ยกเว้นคุณคิดว่าหุ้นที่จะซื้อมีโอกาสลงมากกว่าขึ้นอย่างนี้ DCA จะช่วยได้ แต่ผมว่าถ้าเราคิดว่ามันจะลง เราน่าจะอยู่เฉยๆ มากกว่านะครับ จะเสี่ยงซื้อไปทำไม)

สรุปก็คือ สำหรับนักลงทุนที่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องการลงทุน วิธี Dollar Cost Averaging จะไม่แตกต่างจากวิธีปกติ ส่วนนักลงทุนที่มีความรู้และพยายามเลือกซื้อหุ้นที่ตนเองคิดว่ามีโอกาสขึ้นมากกว่าลงเท่านั้น ไม่ควรใช้วิธีนี้เลยเพราะจะได้ risk-adjusted return ที่ต่ำกว่าเดิม

0006: กระจายความเสี่ยงให้เป็น

โบราณว่า “อย่าใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว” คตินี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในแวดวงการลงทุน หมายความว่า เราไม่ควรลงเงินทั้งหมดไปกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเพียงตัวเดียว

ประมาณยุคปี 70 ได้มีผู้ใช้คณิตศาสตร์พิสูจน์ว่าการซื้อหุ้นหลายๆ ตัวสามารถลดความเสี่ยงได้โดยไม่ทำให้ผลตอบแทนที่คาดหวังลดลงในสัดส่วนที่มากเท่า นายคนนี้มีชื่อว่า Harry Markovitz วิทยานิพนธ์ของนายคนนี้มีความยาวแค่ 16 หน้าเท่านั้น แต่ปฏิวัติวงการการเงินโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม มีนักลงทุนอาชีพจำนวนมากต่อต้านแนวคิดนี้และบอกว่าที่จริงแล้วเราอาจ ใส่ไข่ทั้งหมดลงในตะกร้าใบเดียวก็ได้ ถ้าเราพยายามถือตะกร้าใบนั้นไว้ให้ดีที่สุด หมายความว่า จะลงทุนอะไรนั้น สำคัญที่สุดก็คือเรารู้จริงในสิ่งที่เราลงทุนขนาดไหน ถ้าเรารู้จริง การกระจายความเสี่ยงแทบจะไม่มีความจำเป็นเลย

ผมจะไม่ขอถือหางข้างใดข้างหนึ่ง ทุกวันนี้ผมเชื่อว่าแนวการลงทุนทุกแนวล้วนแล้วแต่มีส่วนถูกทั้งนั้น ไม่มีวิธีไหนที่ถูกหมดหรือผิดหมด ของส่วนใหญ่ในโลกนี้มักเป็นสีเทามากกว่าที่จะเป็นสีขาวหรือสีดำไปเลย ดังนั้นในที่นี้ผมจึงไม่ขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่ขอตั้งข้อสังเกตบางอย่างเกี่ยวกับการกระจายความเสี่ยงแทน ดังนี้

ผมเคยฟังรายการ Talk show เรื่องการลงทุนรายการหนึ่งในโทรทัศน์ พิธีกรถามผู้เชี่ยวชาญว่า ถ้าปีหน้าอัตราดอกเบี้ยจะมีความผันผวนมาก นักลงทุนควรรับมืออย่างไร ผู้เชี่ยวชาญตอบว่า นักลงทุนควรลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง

คำตอบนี้เป็นคำตอบที่ฟังแล้วขัดหูผมยิ่งนัก เพราะเป็นคำตอบที่ผิด ที่ผมบอกว่าผิดไม่ใช่เพราะผมไม่เชื่อ Markovitz แต่ที่ผิดเพราะแม้แต่ Markovitz เองได้ฟังดังนี้ก็จะบอกว่าผิดด้วย อย่าลืมว่าอัตราดอกเบี้ยเป็น systematic risk คือเป็นความเสี่ยงของทั้งตลาด ความเสี่ยงของทั้งตลาดนั้นไม่สามารถถูกทำให้ลดลงได้ด้วยการกระจายความเสี่ยง การกระจายความเสี่ยงจะช่วยลดได้เฉพาะ unsystematic risk เท่านั้น ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงเฉพาะของหุ้นแต่ละตัว เช่น สุขภาพของผู้บริหาร การที่โรงงานอยู่ใกล้โรงเก็บระเบิด โอกาสในการถูกผู้บริโภคฟ้องร้อง ฯลฯ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมว่าการกระจายความเสี่ยงมีประโยชน์อยู่บ้างไม่มากก็น้อย แต่การลงทุนให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่สามารถพึ่งการกระจายความเสี่ยงแต่เพียงอย่างเดียวได้ หุ้นทุกตัวที่เราซื้อจะต้องเป็นโอกาสในการลงทุนที่ดีในตัวของมันเองทุกตัวด้วยไม่ใช่สักแต่ว่าซื้อหุ้นบางตัวเพื่อต้องการให้พอร์ตของเรามีการกระจายความเสี่ยงเท่านั้น ผมถือคติว่า ถ้าคุณพบโอกาสที่ดีมากกว่าหนึ่งในตลาดหุ้น การมีหุ้นหลายตัวย่อมดีกว่าการมีหุ้นตัวเดียว แต่ถ้าคุณหาโอกาสที่ดีได้แค่โอกาสเดียว ผมขอแนะนำให้คุณถือหุ้นแค่ตัวเดียวนั่นแหละ พูดง่ายๆ ก็คือ คุณภาพของโอกาสต้องมาก่อน ส่วนการกระจายความเสี่ยงนั้นถ้าทำได้ก็ดี ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องดันทุรัง จำไว้ว่าส้มเน่าลูกใหญ่หนึ่งลูก กับส้มเน่าลูกเล็ก 5 ลูก ไม่แตกต่างกันมากหรอกครับ

0001: เราควรวัดผลงานการลงทุนของเราอย่างไร

ปี 2546 เป็นปีทองของนักเล่นหุ้น เพราะดัชนี SET index วิ่งติดต่อกันนานถึง 11 เดือนโดยไม่พักเหนื่อยเลย บางท่านได้กำไรมากถึง 50% ภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี และเริ่มมีความคิดที่จะลาออกจากงานเพื่อมาเล่นหุ้นอย่างเดียว เพราะได้มากกว่าการทำงานกินเงินเดือนเป็นอย่างมาก

แต่เรื่องของเรื่องก็คือว่า ปี 2546 ดัชนี SET index ปรับตัวขึ้นไปมากถึง 100% ที่จริงแล้วการที่พอร์ตของคุณวิ่งแค่ 50% นั่นแสดงว่าคุณทำผลงานได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ย

ประเด็นของเรื่องนี้อยู่ที่ว่าเราควรวัดผลงานการลงทุนของเราอย่างไร ควรวัดว่าเราได้กำไรกี่เปอร์เซนต์ (Absolute Return) หรือว่าเราชนะตลาดที่เปอร์เซนต์ (Relative Return)

ที่จริงแล้วเราควรวัดผลงานของเราจาก Relative Return มากกว่า เพราะถ้าเราทำผลงานเป็นบวกได้แต่ได้น้อยกว่าตลาด เราก็ไม่ควรเล่นหุ้นด้วยตัวเอง ควรหันไปซื้อ Index Fund ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนเหมือนดัชนีแทนจะดีกว่า เพราะวิธีนี้ไม่ต้องใช้สมองเลยแต่ทำผลงานได้เท่าตลาดทุกปี

ดังนั้นคนที่เล่นหุ้นด้วยตัวเองทุกคนจึงควรวัดผลงานของพอร์ตโดยเทียบกับตลาด แม้ว่าจะหมายถึงการที่คุณต้องรู้สึกอะไรแบบผิดธรรมชาติไปบ้างตัวอย่างเช่น ในปีที่พอร์ตของคุณขาดทุน 20% แต่ ตลาดปรับตัวลง 40% เป็นปีที่คุณควรจะดีใจจนลิงโลด ในขณะที่ถ้าปีไหนพอร์ตของคุณได้กำไร 50% แต่ตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น 100% คุณก็ควรจะเสียใจ

นอกเหนือจากการวัดผลงานโดยเทียบกับตลาดแล้ว คุณควรตัดสินผลงานของคุณโดยเทียบกับตลาดในช่วงเวลาที่ค่อนข้างยาวอีกด้วย อย่างน้อยก็ควรจะไม่ต่ำกว่าหนึ่งปี อย่าพยายามเอาชนะตลาดให้ได้ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน หรือแม้แต่ทุกไตรมาส เพราะมันจะบีบบังคับให้คุณมองระยะสั้นมากเกินไป อันจะส่งผลเสียต่อผลงานของคุณในระยะยาวได้ จากการวิจัยพบว่า การเลือกซื้อกองทุนโดยดูจากผลงานเมื่อปีที่แล้ว จะไม่ทำให้นักลงทุนประสบความสำเร็จ เพราะกองทุนที่ทำผลงานได้ดีติดอันดับเมื่อปีที่แล้วจะมีชื่อปรากฏอยู่ในอันดับในปีต่อไปน้อยมาก จำไว้ว่าไม่มีหุ้นตัวใดในโลกที่บวกทุกวัน หุ้นที่วิ่งทุกตัวจะบวกบ้างลบบ้าง แต่รวมๆ กันแล้วในระยะยาวบวกมากกว่าลบ ก็เลยทำให้มีราคาสูงขึ้นได้ 

สำหรับผม ผมวัดผลงานของพอร์ตในช่วง 1, 3, 5 ปีที่ผ่านมา ถ้าผลงาน 1 ปี ไม่ดีผมจะเชื่อแค่ 50% ว่าผมไม่ได้เรื่อง ถ้าผลงาน 3 ปีของไม่ดี ผมจะเชื่อว่าผมลงทุนไม่ได้เรื่อง 70% แต่ ถ้าผลงาน 5 ปีของผมแพ้ตลาด ผมจะมั่นใจ 100% ว่าผมลงทุนไม่ได้เรื่อง ส่วนผลงานรายวัน รายเดือน และรายไตรมาส ผมไม่เคยใส่ใจเลยครับ

0000: เรื่องยิ่งใหญ่ที่ใครก็ทำได้

เมื่อได้ยินคำว่าตลาดหุ้นพวกเรามักรู้สึกขยาด และคนส่วนใหญ่ที่เล่นหุ้นก็มักขาดทุน แต่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ก็คือ การลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอนและสูงกว่าการฝากธนาคารเป็นอย่างมาก นักเล่นหุ้นส่วนใหญ่ล้มเหลวเป็นเพราะ พวกเขาต้องการเห็นผลกำไรอย่างรวดเร็ว

คนสองคนที่มีความสามารถในการหารายได้ได้เท่ากันตลอดชีวิต คนที่เลือกเก็บเงินออมส่วนใหญ่ของเขาไว้ในตลาดหุ้นตลอดเวลาจะสามารถทำให้เงินออมของเขาใหญ่ขึ้นได้มากกว่าคนที่เลือกฝากเงินนั้นไว้ในธนาคารเป็นอย่างมาก ถ้าเงินออมของคุณเท่ากับ 20 ล้านบาทเมื่อไร คุณก็จะสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องทำงานอีกต่อไป เพราะเงิน 20 ล้านบาท ถ้านำไปฝากธนาคาร จะได้ดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่าห้าแสนบาทต่อปี   

ถ้าคุณเกิดมาไม่มีจุดเด่นหรือความสามารถพิเศษอะไรเลย คุณก็ยังสามารถสร้างสิ่งมหัศจรรย์หนึ่งอย่างในชีวิตไว้เป็นความภูมิใจเล็กๆ ของคุณได้ด้วยการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นให้ประสบประสบความสำเร็จ สิ่งมหัศจรรย์สิ่งนี้สามารถทำได้โดยไม่ต้องอาศัยความสามารถใดๆ เป็นพิเศษ นอกจากความมุมานะที่มากกว่าคนทั่วไป แค่นั้นก็พอ

พร้อมที่จะไปเอาเงิน 20 ล้านหรือยังครับ ถ้าพร้อมแล้ว ตามผมมาเลย!